ดอกไม้และทองคำเปลว:

บนเส้นทางความขัดแย้งระหว่างวัดกับเอกชน

 

โดย

อังคนา ทองคำ, รจเรศ ณรงค์ราช, มิ่งขวัญ ศรีคุณารักษ์, อรวรรณ พงศ์พฤกษาพัฒนา

รายงานสำหรับวิชาการเขียนบทความและสารคดี  สอนโดย อ.สุกานดา วรพันธุ์พงศ์

ภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2543

 

"บอกว่าไม่ให้ขาย ไม่ให้ขาย พูดเท่าไหร่ก็ไม่ยอมฟัง มึงอยากขายก็ออกไปขายข้างนอก ไม่ต้องเข้ามาขายในวัดดอกไม้ของวัดก็มี"

ชายวัยกลางคนท่าทางดุดันสวมเครื่องแบบพนักงานรักษาความปลอดภัย ตะโกนไล่ผู้หญิงคนหนึ่งที่ในมือถือดอกไม้ แม้เสียงที่เปล่งออกมานั้นจะคล้ายตะคอกขู่เข็ญ แต่ในแววตากลับแฝงไว้ด้วยความสังเวช อ่อนอกอ่อนใจกับหน้าที่ ที่ต้องแบกรับอยู่

       "ไม่ต้องมายุ่ง หน้าที่ใครหน้าที่มัน ยามก็อยู่ส่วนยาม มายุ่งอะไรกับกู ขายดี ๆ ไม่ได้ไปลักขโมยใครสักหน่อย"  คำโต้ตอบจากแม่ค้า ท่าทางหงุดหงิด สีหน้าบ่งบอกถึงความไม่พอใจอย่างชัดเจน ปากพร่ำด่ากลับไป พร้อมเร่งฝีเท้าให้เร็วขึ้น แทบกลายเป็นวิ่ง มุ่งหน้าสู่ประตูวัด ที่ที่ให้ความปลอดภัยแก่เธอยามเจ้าหน้าที่ของวัดไล่ออกมา

       "ถ้าพี่เข้าไปขายในวัด เขาก็จะไล่พี่ออกมาอยู่ในวัดเขาจับพี่ได้ แต่ถ้าออกมาข้างนอกแล้ว เขาไม่กล้าออกมาจับ เพราะตรงนี้ไม่ใช่เขตวัด"  พี่นกแม่ค้าขายดอกไม้เล่าให้เราฟังถึงความขัดแย้งระหว่างตนกับเจ้าหน้าที่ของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร สถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ อันเป็นที่เคารพนับถือของชนชาวไทยทุกคน

          "พี่ขายดอกไม้มาตั้งแต่เด็กๆ แม่พี่ก็ขาย ยายพี่ก็ขาย จะให้ไปทำอาชีพอย่างอื่นก็ไม่รู้จะทำอะไร ที่อยู่นี่ก็ขายดอกไม้ไปวันๆ ไม่ได้ทำอาชีพอย่างอื่นเลย พอเลี้ยงปากเลี้ยงครอบครัวได้บ้าง รายได้ก็ไม่มากนัก ทำยังไงได้ เรามันคนไม่มีความรู้ เรียนแค่ ป. 4"

                พี่นกนั่งลงที่ธรณีประตูทางเข้าวัด เล่าเรื่องราวต่างๆ ให้เราฟัง สีหน้าและแววตาหม่นหมอง บ่งบอกถึงความเหนื่อยล้า

          "เมื่อก่อนเราขายกันอยู่ดีๆ  2-3 ปีมานี่เอง เขาจ้างอาสาสมัครรักษาดินแดน มาคอยคุมและห้ามไม่ให้แม่ค้าข้างนอกขายดอกไม้ในวัดพวกเราก็ขายหลบ ๆ ซ่อน ๆ มันอยู่อย่างนี้แหละ ถ้าถามว่าพี่กลัวมันหรือเปล่า พี่ไม่กลัวหรอก พี่ก็ทำอาชีพของพี่ ไม่ได้ทำงานผิดกฎหมาย เขาจะมาจับพี่ทำไม"  เสียงเล่าขานจากแม่ค้าขายดอกไม้ อีกคนหนึ่ง ที่เดินมาสมทบการสนทนาของเราภายหลัง

อาชีพขายดอกไม้ ธูป เทียนและทองคำเปลวในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช มีมาช้านาน นับได้เป็นศตวรรษ การขายดอกไม้ถูกถ่ายทอดมาสู่รุ่นลูก รุ่นหลาน สืบต่อมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน เปรียบเสมือนอาชีพคู่บ้านคู่เมือง อาชีพหนึ่ง แต่ไม่มีใครส่งเสริมหรือสนใจใยดี  เพราะไม่ได้เป็นอาชีพที่สร้างเอกลักษณ์ความต่าง หรือความมีหน้ามีตาของเมืองนครเหมือนอาชีพการทำเครื่องถมหรือเครื่องเงินแต่อย่างใด  อาชีพนี้จึงถูกมองข้ามอยู่เสมอ แถมสังคมยังตีค่าและประเมินราคาของพวกเขาไว้ต่ำต้อยนัก

กระแสความขัดแย้งระหว่างแม่ค้าขายดอกไม้ เด็กขายทองคำเปลวและเจ้าหน้าที่ของวัด คุกรุ่นมาเป็นเวลาหลายปีเศษ จากอาชีพที่ทุกคนสามารถทำได้โดยอิสระ กลายเป็นอาชีพต้องห้าม

การขายดอกไม้เช่นนี้ มีให้เห็นอยู่ทั่วไปในสังคมไทย ตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และที่ที่ต้องสักการะกราบไหว้ เช่น ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร, พระพรหมเอราวัณ, พระธาตุดอยสุเทพจังหวัดเชียงใหม่ แต่ไม่ได้เป็นอาชีพต้องห้าม อย่างเช่นการขายดอกไม้ในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

         ภาพการขายดอกไม้ ธูปเทียนและทองคำเปลว อาจสร้างความรำคาญและดูไม่สวยงามนัก ในสายตาของนักท่องเที่ยว พวกเขาอาจดูด้อยค่าในสังคม หากเมื่อเราได้ศึกษาถึงเบื้องหลังของมือที่กำดอกไม้ไว้ เสียงที่บรรยายถึงกรรมวิธีการกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา บางทีคุณค่าของภาพเหล่านั้นอาจเปลี่ยนไป

 

วันแห่งความขัดแย้ง

วี๊ด...วี๊ด...เสียงนกหวีดดังขึ้นท่ามกลางกระแสผู้คน ที่กำลังเดินขวักไขว่ เที่ยวชมร้านขายสินค้าต่างๆ ภายในงานเดือนสิบ บริเวณวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร สายตาทุกคู่มองหาที่มาของเสียง...ผู้ชายในชุดทหารอาสาสมัครรักษาดินแดน(อ.ส.) วิ่งออกมาจากใต้ต้นไม้ ปากตะโกนไล่

          "ออกไป ออกไป อย่าเข้ามาขายในวัด"

แอ๋ว แม่ค้าขายดอกไม้สะดุ้งสุดตัว พลันเร่งหญิงชราที่อยู่ตรงหน้า

          "เร็วหน่อยซิยาย เค้าไล่หนูแล้ว"  หญิงชราท่าทางเงอะงะ ควานมือล้วงเงิน ที่เหน็บอยู่ชาผ้าถุง ส่งให้

          "มีแปดบาทเอง ไอ้หนู"

          "ไม่เป็นไรยาย แปดบาทก็เอา ดีกว่าไม่ได้เลย ไปนะยาย"

              แอ๋วพูดพลางขยับเท้าออกเดิน แต่ไม่ทันการณ์เสียแล้ว บัดนี้ทหารในชุดอาสาสมัครรักษาดินแดน จับแขนเธอตรึงไว้แน่น พลางตะคอกใส่

          "ไป ไปโรงพัก"

          "ไม่ไป กูไม่ได้ทำอะไรผิด กูขายของกูดี ๆ " เสียงตวาดดังไม่แพ้กัน ทำเอาหญิงชราที่ยืนอยู่ข้าง ๆ ตกใจหน้าซีด

          "มึงก็รู้ว่าเค้าไม่ให้ขาย ยังจะทำทำไม แล้วนี่หลอกคนแก่อีกล่ะซิ" อาสาสมัครรักษาดินแดนท่าทางดุดันกล่าว

         "กูไม่ได้หลอกโว้ย ยายเค้าซื้อของกูเอง มึงเอาอะไรมาพูด"

          "ตอแหล ไป ไปโรงพัก"

         "ไม่ไป พ่อแม่พี่น้องเอ้ย ไอ้หน้าตัวเมีย ผู้ชายรังแกผู้หญิง"  แอ๋วตะโกนด่าเสียงดัง ทำให้คนที่หยุดยืนดูอยู่แล้ว มุงเข้ามาแน่นขึ้น

"ปล่อย อย่ามาจับกู" แอ๋วสะบัดมือจนหลุด วิ่งแหวกผู้คนที่มุงดู มายังประตูหน้าวัด

         "ระวังให้ดีเถอะมึง"

                อาสาสมัครรักษาดินแดนตะโกนไล่หลังพร้อมเดินกลับไปที่เก่า

         "ยังไงกูก็จะขาย ขายแ_งมันอย่างนี้แหละ กูขายของกูมาตั้งนานแล้วมึงเป็นใครจะมาห้ามกู"    แอ๋วยังคงพร่ำด่าออกไป

          เมื่อเหตุการณ์สงบลง ทุกคนต่างแยกย้ายไปตามวิถีทางของตน แต่ไฟแห่งโทสะของแอ๋วยังคงคุกรุ่นอยู่จนถึงทุกวันนี้     แม้ภาพเหตุการณ์นั้น จะผ่านมาถึง 2 ปีแล้วก็ตาม แต่ยังเป็นภาพความทรงจำที่ฝังอยู่ในจิตใจมิรู้ลืม พี่แอ๋วเล่าให้เราฟังถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาด้วยท่าทางจริงจัง น้ำเสียงหนักแน่น แววตาที่แฝงไว้ด้วยรอยยิ้มเมื่อเราพบเจอครั้งแรก เปลี่ยนเป็นแข็งกร้าวขึ้นอย่างฉับพลัน ทำเอาคนที่ได้ฟังสลดหดหู่ไปตาม ๆ กัน

          "พี่ไม่รู้จะทำยังไง ทางวัดห้ามไม่ให้ขายดอกไม้ คงกลัวไม่มีคนซื้อดอกไม้ของวัด ดอกไม้ของพี่สวยกว่าสดกว่า ใคร ๆ ก็อยากได้ของดี ๆ ไปถวายพระ"

พี่แอ๋วเล่าต่อด้วยสายตาที่อ่อนลงบ้าง ด้วยแววตาปลอบโยนจากพวกเรา

ความขัดแย้งระหว่างวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารและแม่ค้าขายดอกไม้ หรือแม่ค้าที่เราอาจเรียกว่า แม่ค้าของเอกชน ที่มีมาช้านาน ต่างฝ่ายต่างกลัวตนเองจะสูญเสียผลประโยชน์ จึงไม่มีการตกลงร่วมมือกันยุติปัญหาที่เกิดขึ้น

ทางวัดเห็นว่าการขายดอกไม้ของแม่ค้า เป็นภาพที่ไม่สวยงามและสร้างความรำคาญแก่นักท่องเที่ยว จึงหามาตรการกีดกันโดยการขอความช่วยเหลือจากทางจังหวัด เพื่อส่งอาสาสมัครรักษาดินแดน เข้ามาดูแลจำนวน 2 คน พร้อมด้วยตำรวจอีก 2 นาย และรปภ.อีก 3-4 คน คอยควบคุมแม่ค้าและดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว

แต่สิ่งนี้อาจเป็นเพียงคำสมอ้างของทางวัด เพราะสถานที่แห่งนี้มีผลประโยชน์อันมหาศาลแฝงเร้นอยู่ เงินค่าทำบุญ บริจาคค่าดอกไม้และกระเบื้อง ที่ทางวัดจัดไว้บริการนักท่องเที่ยว หากเป็นช่วงเทศกาล ยอดเงินทำบุญเหล่านี้ มีมูลค่ากว่าล้านบาท ในขณะที่ช่วงเวลาปกติไม่มีเทศกาลใดๆ ก็ยังยืนตัวอยู่ในช่วง 7-8 แสนบาท หากหักค่าใช่จ่ายต่าง ๆ และค่าแรงของพนักงานแล้ว ทางวัดจะมีเงินเก็บไม่น้อยกว่าเดือนละห้าแสนบาท จะด้วยสาเหตุใดก็ตามที่ทางวัดกีดกันไม่ให้แม่ค้าของเอกชน เข้ามาขายดอกไม้ในวัด แต่พวกเขาก็ยังยืนกรานที่จะทำอาชีพนี้ต่อไป

"พี่ทำอาชีพนี้มาตั้งนานแล้ว เมื่อก่อนก็ขายกันอยู่ดี ๆ แต่เมื่อสองปีที่ผ่านมา ทางจังหวัดส่ง อ.ส.  มาอยู่ในวัด คอยไล่ไม่ให้พวกพี่ขายดอกไม้"

พี่จิ๋ม แม่ค้าขายดอกไม้อีกคนหนึ่ง เดินเข้ามาสมทบวงสนทนาของพวกเรา เธอบรรยายถึงอดีตและความขัดแย้งระหว่างตนกับเจ้าหน้าที่ด้วยความจริงจัง

          “พี่เคยโดนเขาไล่จับวันนั้นมีนักท่องเที่ยวมาเลเซียมากับทัวร์คันใหญ่พี่รีบวิ่งเข้าไปขาย อ.ส. เห็นเข้าก็ไล่จับพี่ตะโกนว่า ไปโรงพัก ไปโรงพักพี่รีบวิ่งหนีดอกไม้หล่นกระจัดกระจายไปหมด พี่รีบนั่งลงเก็บดอกไม้ใส่ถาดอ.ส.ไล่มาทันกระชากกระเป๋าพี่ไป  พี่บอกกับเขาว่าเอาไปเลยอยากเอาก็เอาไป เดี๋ยวกูจะไปแจ้งตำรวจว่ามึงมากระชากกระเป๋ากู พี่รีบวิ่งมาจนถึงหน้าประตูวัด ตะโกนด่าเขาสาดเสียเทเสียไม่รู้ว่าไปขุดคุ้ยคำหยาบ ๆ คาย ๆ มาจากไหน พี่รู้ว่าเขาทำตามหน้าที่ แต

                พี่ก็ทำอาชีพบริสุทธิ์  เขาทนพี่ด่าไม่ได้ ก็เลยต้องหลบเข้าไป แม่ของพี่รู้เรื่องเข้า จึงพาลูกพี่มาขอโทษเขา พี่ยกมือไหว้เขาบอกว่าที่ด่าไปเพราะโมโห เขาคงสงสารจึงคืนกระเป๋าให้พี่ เด็กๆ ขายทองคำเปลวก็เคยโดนเขาไล่จับเอา”

ช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นแทบทุกวัน  แต่บัดนี้ค่อยทุเลาลงบ้าง ไม่มี เหตุการณ์รุนแรงใด ๆ เกิดขึ้น นอกจากการปะทะฝีปากกันเล็ก ๆ น้อย ๆ

                “ถ้าเขาเห็นผมกำลังขายทอง เขาจะเอาไม้ไล่ตี  ตีแรง ๆ จนเป็นรอยแดงเลย ผมก็จะวิ่งหนีวนอยู่ในเขตนมัสการพระธาตุนั่นแหละ ถ้าไล่ไม่ทันก็ดีไป  แต่ถ้าเขาจับผมได้ เขาก็จะริบทองของผมหมด” น้องอาร์มเด็กชายอ้วนท้วนสมบูรณ์วัย 14 ปี เล่าให้เราฟังถึงเหตุการณ์ที่เคยหลบหนี รปภ.ของวัด เมื่อแอบเข้าไปขายทอง ด้วยท่าทางสนุกสนาน

ความเป็นเด็กทำให้เขามองไม่เห็นความขัดแย้งและผลประโยชน์อันยิ่งใหญ่ ที่แฝงอยู่เบื้องหลัง เด็ก ๆ กระทำทุกอย่างไปเพียงเพื่อความสนุก เพื่อหาเงินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของตนไปวัน ๆ หนึ่ง            เด็กขายทองคำเปลวเหล่านี้ บริสุทธิ์เกินกว่าที่จะรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ แม้จะรู้เห็นความเป็นมาเป็นไปของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้เข้าใจถึงแก่นแท้ของมัน

                “บางทีนะพี่ ข้างในพระธาตุเจดีย์ ที่เขาเปิดให้ชมปิดแล้ว ผมแอบขายทองอยู่ข้างในต้องปีนหลังคาออกมา” น้องเบิร์ดเด็กขายทองคำเปลวอีกคนหนึ่งเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นให้เราฟัง ด้วยแววตาและท่าทางที่แฝงไว้ด้วยความทะเล้น เหมือนมองเห็นสิ่งนั้นเป็นเรื่องตลกขบขัน เราถามเด็กชายทั้งสองว่าปัจจุบันนี้ยังมีเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นอีกหรือเปล่า น้องเบิร์ดและน้องอาร์มส่ายหน้าพร้อมกัน                         “เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีแล้วพี่ เพราะห้ามยังไงพวกเราก็ไม่เลิก เขาคงเหนื่อย จึงไม่มาไล่จับพวกเรา เพี่อนของผมคนหนึ่ง ขายทองมาตั้งแปดปีแล้ว”

เสียงเล็ก ๆ ถ่ายทอดเรื่องราวในเกลียวอดีตให้เราฟัง แม้วันนี้เหตุการณ์ การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของวัดกับแม่ค้าขายดอกไม้ของเอกชน จะไม่รุนแรงอย่างวันก่อนเก่า แต่ก็ยังกินแหนงแคลงใจกันอยู่เสมือนกองไฟที่กำลังจะมอดดับ หากมีใครสักคนเอาน้ำมันหรือเชื้อเพลิงราดลงบนกองไฟนั้น มันก็พร้อมที่จะลุก เป็นเปลวเพลิงที่โชติช่วงได้ตลอดเวลา

 

ดอกไม้หน้าประตู

มะลิขาวบริสุทธิ์บอบบาง

ดาวเรืองเหลืองอร่ามสดใส

ม่วงกล้วยไม้เหงาเศร้าบาดใจ

ถูกรวมไว้ด้วยไม้ไผ่ก้านเดียว

 

ดอกไม้แต่ละดอก แต่ละชนิด ล้วนมีความบริสุทธิ์สวยงาม ตามแบบฉบับ ตามสไตล์ของตนเอง บางดอกสวยงามนัก เมื่อชูก้านดอกอยู่อย่างโดดเดี่ยว บางดอกจะสวยงามก็ต่อเมื่อเอามารวมไว้กับหมู่บุหงันอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับฝีมือการสรรค์สร้างของธรรมชาติหรือฝีมือการสร้างสรรค์ของมนุษย์

          บัดนี้ดอกไม้ทั้ง 3 ชนิด มะลิ ดาวเรือง กล้วยไม้ ถูกเรียงร้อยไว้รวมกันอย่างกลมกลืนด้วยไม้ไผ่ก้านเล็ก ๆ เพียงก้านเดียว เรียวไผ่เปรียบเสมือนเครื่องประสานสัมพันธ์ให้บุษบงทั้ง 3  อยู่ร่วมกันได้อย่างสวยงาม แต่สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นหากไม่มีมือของผู้สร้างสรรค์

          ป้าเทศหญิงชราวัย 58 ปีนั่งเหลาก้านไม่ไผ่ด้วยความตั้งใจ อยู่หน้าประตูวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เกลาแล้วเกลาอีก คมมีดกระชากเนื้อไม้ ออกห็นยายเห็นแม่ทำ ก็ทำตาม มันทำเป็นเอง เห็นมาตั้งแต่ยังไม่รู้ความ”               

          มะลิส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ กระทบจมูกนักท่องเที่ยวที่เดินผ่านไปมา แต่ดูจะเจือจางนัก เมื่อเทียบกับกลิ่นควันรถ ที่วิ่งกันสับสนอลหม่านอยู่บนท้องถนนหน้าวัด ป้าเทศร้อยดอกไม้ช่อแล้วช่อเล่าผูกติดกับธูป เทียน ทอง วางอย่างเป็นระเบียบไว้ในถาดบนเก้าอี้ตัวเก่าข้างกาย ช่อดอกไม้ตั้งสงบนิ่งไม่รับรู้ถึงทุกข์สุขใด ๆ ของผู้ที่บรรจงแต่งเติมมันขึ้นมา

          ขณะที่มือง่วนอยู่กับการใช้ก้านไม้ไผ่เสียบดอกไม้นั้น สายตาของป้าก็กวาดมองไปยังบริเวณรอบ ๆ ตัว หวัง...ว่าใครสักคนหนึ่งจะเดินผ่านมา แวะซื้อดอกไม้ของตน ภาพเช่นนี้ ไม่ได้มีให้เห็นแต่ป้าเทศ หากเราเดินเข้าไปในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เราก็จะพบเห็นภาพแม่ค้าขายดอกไม้ จับจองอยู่หน้าประตูต่าง ๆ ของวัดอีกมากมาย

แม่ค้าขายดอกไม้หน้าวัด มีจำนวนกว่า 20 คน แทบทุกคนทำอาชีพนี้สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ มีบ้างเพียงบางส่วนที่เพิ่งมาทำ

ป้าเทศบอกกับเราว่า ตนขายดอกไม้มาตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ช่วงแรกก็ตามยายมาขาย ต่อมายึดอาชีพนี้เป็นหลัก จะเลิกก็ทำมานานเกินไป ไม่รู้จะไปทำอะไร

          ป้าเทศเล่าให้เราฟังต่อ มีแม่ค้าหลายคนที่เคยขายดอกไม้แล้วหันไปทำอาชีพอื่น แต่สุดท้ายก็ต้องย้อนสู่เส้นทางเดิม

          “พี่เคยไปขายข้าวแกง ขายผลไม้อยู่ข้างวัด แต่ขายไม่ดี ก็ต้องย้อนมาขายดอกไม้อย่างเก่า”  พี่ชุม หญิงวัยกลางคนร่างสูง เล่าให้เราฟัง

          “เคยไปทำงานชลประทาน เป็นเสมียนเขา สอบบรรจุเป็นข้าราชการไม่ได้ซักที เลยลออกมาเป็นแม่บ้านที่โรงแรมใกล้บ้าน ทะเลาะกับเพื่อนจนต้องออกมาขายดอกไม้อยู่ที่นี่”  พื่แอ๋วหนึ่งในแม่ค้าขายดอกไม้ เล่าถึงชีวิตของตัวเอง

          แม่ค้าขายดอกไม้ในวัดพระมหาธาตุฯส่วนใหญ่ มีความรู้ไม่สูงนัก เรียนจบแค่ชั้นประถม หรือบางคนก็ไม่เคยเล่าเรียนหนังสือ การทำอาชีพนี้ จึงดูเป็นหนทางที่ง่ายที่สุด ในการหารายได้เลี้ยงครอบครัวทีละเล็กละน้อย จนก้านไม้ไผ่นั้นบางได้ที่ ป้าวางมีดลง บรรจงหยิบมะลิในถุงข้างตัวเรียงร้อยลงที่ก้านไม้ไผ่ สลับกับดาวเรืองและกล้วยไม้แสนสวย จนกลายเป็นดอกไม้ช่อใหม่ที่สวยงามและเย้ายวนตายิ่งนัก

          ช่วงเวลา 50 ปี ที่นั่งร้อยดอกไม้อยู่เช่นนี้ ดูเป็นเรื่องปกติธรรมดาและง่ายดาย แต่ใครที่ไม่เคยสัมผัสกับการกระทำเช่นนี้ คงเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญอยู่พอควร ป้าเทศเล่าให้ฟังว่า

“ป้าไม่ได้ไปเรียนร้อยดอกไม้จากที่ไหนพวกเขาจะรับดอกไม้จากแม่ค้าในตลาดท่าวัง เมืองนครศรีธรรมราช มานั่งร้อยขายนักท่องเที่ยว ยามมีนักท่องเที่ยวเดินเข้ามา ก็จะรีบวิ่งเข้าไปหา เพื่อขายดอกไม้ของตน แต่เวลาที่ไม่มีนักท่องเที่ยวหรือลูกค้าเดินผ่านจะนั่งจับกลุ่มคุยกัน หรือไม่ก็นั่งเสียบดอกไม้ไปเรื่อย ๆ รอคอยผู้มาเยือนรายต่อไป

แม่ค้าขายดอกไม้ ต้องออกจากบ้านตั้งแต่ 7 โมงเช้านั่งอยู่จนถึง 5 โมงเย็น หากวันใดนักท่องเที่ยวเยอะ ดอกไม้ขายดี จะได้กลับบ้านเร็วขึ้น วันใดไม่มีลูกค้าก็ต้องนั่งอยู่อย่างนั้นจนย่ำค่ำ

          ในช่วงเที่ยงแม่ค้าขายดอกไม้เหล่านี้ จะจับกลุ่มทานอาหารเที่ยงหน้าประตูวัด ภาพเช่นนี้อาจดูไม่สวยงามนัก สำหรับสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ แต่หากพิเคราะห์ให้ดีจะเห็นถึงความรัก ความผูกพันธ์และไมตรีจิตอันดีที่เกิดขึ้น ทานข้าวเสร็จต่างแยกย้ายกันไปทำหน้าที่ของตัวเอง                          

          วันหนึ่ง ๆ ที่นั่งอยู่ที่นี่ หาความแน่นอนของชีวิตไม่ได้เลย บางวันพวกเขาขายดอกไม้ไม่ได้สักบาทแต่บางวันได้เป็นพัน ๆ บาทก็มี

          ต้นทุนตกวันละ 100 บาท กำไรที่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนของนักท่องเที่ยว เช่น ช่วงเทศกาล งานเดือน 3 เดือน 10 และวันพระ ดอกไม้จะขายดี ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ บางคนได้กำไร 500 ถึง 1,000 บาท แต่ในช่วงที่ไม่มีเทศกาล เช่น ช่วงเดือนพฤษภาคม ถึง สิงหาคม จะไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยว ดอกไม้จึงขายยาก ได้เพียงวันละ 50-60 บาท บางวันก็ขายไม่ได้เลย ดอกไม้ที่เหลือก็ต้องทิ้งไป เผอิญมีนักท่องเที่ยวเข้ามา เราจึงต้องหยุดการสนทนากับพี่แอ๋วไว้เพียงนั้น

 

จากสถิติของนักท่องเที่ยวที่ทางวัดจัดทำไว้ ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเข้ามานมัสการพระบรมธาตุเจดีย์ไม่ต่ำกว่า 3 แสนคน มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ชาวต่างชาติส่วนใหญ่ที่นิยมเที่ยววัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นชาวมาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและเยอรมัน

          ลักษณะของการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติแบ่งเป็น 2 แบบ คือการมาด้วยตนเองและมากับ

บริษัททัวร์

          “พอนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาถึง พี่ก็ยื่นดอกไม้ส่งให้เขา บอกว่า ทะเวนตี้บาท พี่รู้อยู่แค่นั้นแหละ จำจากเขามา บางคนเอาไปไหว้เสร็จแล้วก็ไม่ยอมจ่ายเงิน เขาคิดว่าเราให้เขา พูดกันไม่รู้เรื่อง ในที่สุดก็เสียดอกไม้ฟรี”

พี่จิ๋มแม่ค้าขายดอกไม้อีกคนหนึ่งเล่าถึงวิธีในการขายดอกไม้ให้ชาวต่างชาติ

         ขณะที่เรากำลังยืนคุยกับพี่เขาอยู่นั้นมีชาว ต่างชาติคู่หนึ่งเดินเข้ามาในวัด พี่จิ๋มรีบผละจากพวกเราวิ่งไปขายดอกไม้ แล้วพาชาวต่างชาติ 2 คนนั้นมานมัสการเจดีย์ของพระเจ้าตากสินใกล้ ๆ กับที่เรายืนอยู่ จุดธูปเทียนส่งให้ ชาวต่างชาติทั้ง 2 รับไปด้วยท่าทางงงวย เพราะไม่เข้าใจกับการกระทำของพี่จิ๋ม แต่ก็ทำตามพี่จิ๋มทุกอย่าง เมื่อกราบไหว้เสร็จ ทั้ง 2 ก็เดินออกไป โดยไม่จ่ายเงินค่าดอกไม้ พี่จิ๋มวิ่งตามไป แต่ด้วยเหตุที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ จึงคุยกับนักท่องเที่ยวไม่รู้เรื่อง สุดท้ายก็ต้องเดินบ่นกลับมาหาพวกเรา ที่ยืนดูเหตุการณ์อยู่

          “ช่างมันเถอะไม่ได้ก็ไม่เป็นไร พรุ่งนี้พระเจ้า

              ตากก็ให้ถูกหวยแล้ว” เป็นคำพูดหนึ่งที่หลุดออกมาจากปากพี่จิ่ม เพื่อปลอบใจตนเอง

                

“เมื่อกี้ได้เงินหรือปล่าว” พี่นิวอุ้มเด็กชายตัวเล็ก ๆ เดินเข้ามาถาม แต่ก็มีเพียงอาการส่ายหน้าน้อย ๆ เป็นคำตอบ

          “ถ้าเป็นชั้น ชั้นจะยืนด่ารอบวัด จนมันต้องจ่าย”  พี่นิวพูด ท่าทางโมโห

          “พี่บอกจริง ๆ บางครั้งพี่ก็ขายดอกไม้ให้คนไทยกับชาวต่างชาติ ในราคาที่ไม่เท่ากัน เงินเขาเยอะจะตาย 2 เหรียญของเขา เป็นร้อยของเรา เขาคงไม่เดือดร้อน พี่พอส่งภาษาได้บ้าง จำจากนักท่องเที่ยวมา จึงคุยกับฝรั่งรู้เรื่อง บางทีเขาก็ให้เงินพี่เป็นพันบาท วันนั้นก็สบายไป”

พี่นิวเล่าถึงสิ่งที่เคยทำกับชาวต่างชาติให้เราฟัง   วาบความคิดหนึ่ง รู้สึกสลดใจ กับสิ่งที่ได้ยิน แต่พยายามทำความเข้าใจถึงวิถีชีวิตของพวกเขา บางครั้งอาจต้องทำผิดศีลธรมไปบ้าง เพื่อเลื้ยงปากเลี้ยงท้องและครอบครัวให้อยู่รอด ถ้านักท่องเที่ยวเหล่านั้น ไม่เดือดร้อนมากมายนัก คงไม่เสียหายอะไร...?

มนุษย์ในโลกใบนี้มีทั้งดีและชั่ว  คนเพียง หนึ่งคน ก็มีทั้งสิ่งดีและสิ่งเลวอยู่ในตัว แม่ค้าขาย

ดอกไม้ ก็เป็นเพียงปุถุชนคนหนึ่ง ย่อมมีสิ่งนี้เป็นธรรมดา อยู่ที่ตัวผู้มอง ว่าจะเลือกมองในส่วนไหนของเขา หากเราเลือกพินิจพิเคราะห์ในสิ่งดีของเขาแล้ว อาจมองเห็นคุณค่าของความเป็นคนที่ยิ่งใหญ่ในตัวเขาก็ได้

 

ทองคำเปลวข้างพระ

"ต่อไปถ้าไม่ได้เรียน อาร์มอยากเป็นไกดแต่ถ้าได้เรียน อาร์มอยากเป็นอาจารย์"

ความใฝ่ฝันของเด็กชายขายทอง ร่างอ้วน ผิวขาว ที่ถ่ายทอดสู่เรา น้ำเสียงเจื้อยแจ้วเปี่ยมด้วยความหวัง ขณะนั่งคุยกันใต้ต้นโพธิ์ บริเวณเจดีย์พระเจ้าตากสินมหาราช สิ่งที่น้องอาร์มเล่าให้เราฟัง เป็นความเข้าใจผิดที่บริสุทธิ์ ในสังคมของน้องอาร์มคิดว่า อาชีพไกด์ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ เพียงแค่จำประวัติของสิ่งต่างๆ เล่าให้นักท่องเที่ยวฟังได้ ก็สามารถเป็นไกด์ได้แล้ว แต่ถึงอย่างไรก็เป็นความฝันหนึ่งที่สวยงาม หวัง ว่าวันหนึ่งความฝันของน้องอาร์มจะเป็นความจริงขึ้นมาได้

          ภาพเด็กชายวัย 13 ขวบ วิ่งเร่ขายทองให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในวัด ขายได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็ไม่ปริปากบ่น เว้นว่างจากการขายก็มานั่งพักเหนื่อยรอแขกผู้มาเยือนรายต่อไป  

          น้องอาร์มเล่าถึงฉากชีวิตของตนเองว่า บ้านของตนอยู่ใกล้ ๆ วัด ยายและน้าสาวขายดอกไม้อยู่ที่นี่ น้องอาร์มจึงตามมาขายทองด้วย

          ยังมีเด็กขายทองอีกนับ 10 ชีวิตที่หารายได้จากวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารแห่งนี้ น้องอาร์มเป็นเพียงเด็กชายคนหนึ่งในจำนวนนั้น ที่เป็นตัวแทนถ่ายทอดวีถีชีวิตของตนให้เราฟัง เด็กๆขายทองคำเปลวส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย มีผู้หญิงอยู่บ้าง 2-3 คน เวลาที่ใช้ในการขายทอง จะเป็นช่วงเย็นหลังจากเลิกเรียน วันหยุดราชการ และช่วงปิดภาคเรียน

           "เมื่อก่อนตอนอาร์มเด็ก ๆ ประมาณ 7-8ขวบ พออ่านหนังสือออก อาร์มซื้อหนังสือเล่มเล็ก ๆเกี่ยวกับประวัติพระบรมธาตุมาอ่าน ท่องจำจนขึ้นใจ ข้างในพระธาตุเป็นอย่างไร อาร์มรู้หมดเลย อาร์มบอกคนที่มาเที่ยวได้ บางทีเขาก็ให้นำเที่ยว วันหนึ่งได้เงิน

เป็นร้อยๆ ได้ถึง 600 บาทก็มี"

          น้องอาร์มเล่าให้ฟังด้วยความภาคภูมิใจ คนที่นั่งฟังก็อดชื่นชมด้วยไม่ได้ จิตนาการถึงเด็กชายตัวเล็ก ๆ หน้าตาน่าเอ็นดู กำลังนำคณะทัวร์เที่ยวชมศิลปะโบราณภายในวัด พร้อมบอกเล่าเรื่องราวของสิ่งนั้นๆ ได้อย่างแคล่วคล่อง ริมฝีปากแดงเล็ก ๆ ขยับ ขึ้นลง ถ่ายทอดสิ่งที่จดจำไว้ในสมองสั่งออกเป็นภาษาสู่นักท่องเที่ยว ทุกคนยิ้มแก้มแทบปริ

          บัดนี้น้องอาร์มเจริญวัยขึ้นแล้ว สิ่งต่างๆที่เคยกระทำเมื่อยามเป็นเด็กเล็ก ย้อนเข้ามาสู่ความ

ทรงจำ ถ่ายทอดร้อยเรียงเป็นภาษาสู่ผู้ฟัง ที่นั่งใจจด จ่ออยู่ตรงหน้า หลายสิ่งหลายอย่างที่น้องอาร์ม

เคยทำเมื่ออายุ 8 ขวบ ในเนื้อที่ 25 ไร่ ของวัดพระมหาธาตุ เคยวิ่งเล่น เคยขายทองใต้ฐานเจดีย์ ณ วันนี้สิ่งเหล่านั้นเริ่มจางหายไป ด้วยหน้าที่ทางการเรียน ด้วยวัยที่ย่างเข้ารุ่นหนุ่มและเหตุผลสำคัญคือ การกีดกันจากทางวัด ทำให้น้องอาร์มต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทของตนเอง

          "ตอนนี้ทางวัดไม่ให้เข้าไปขายข้างในแล้ว แต่แอบเข้าไปขายเหมือนกัน ยามเห็นก็ถือไม้แก้วไล่ตี" น้องอาร์มพูดพลางชี้นิ้วไปที่ต้นแก้วข้างกำแพงวัด

           "พวกเราก็วิ่งกัน วิ่งวนรอบวัดเลย กว่าจะหนีออกมาได้ เหนื่อยแทบตาย บางทีเวลายามมาตรวจ เราก็แอบเสา แต่ยามรู้ทัน เราก็แอบที่เสาอีกทางหนึ่ง เราไม่เห็นนึกว่ายามไปแล้ว พอโผล่หน้าออกไปเจอเขา เลยโดนตีไปตั้งหลายที ตีแรงมาก ที่ขาขึ้นเป็นรอยไม้"

 น้องอาร์มทำท่าทางประกอบ หัวเราะพลาง เหมือนกับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเพียงเกมวิ่งไล่จับระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่เท่านั้น เด็ก ๆ ส่วนใหญ่ที่ขายทองอยู่ในวัด เรียนหนังสืออยู่ในตัวเมืองของจังหวัดนครศรีธรรมราช มีเพียงไม่กี่คนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ น้องอาร์มเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1โรงเรียนใกล้ๆบ้าน

          "เพื่อน ๆ ที่โรงเรียนบางคนเขาก็ล้อ ว่าไอ้พวกขายทอง ขายดอกไม้ เขาไม่อยากคบด้วย” น้องอาร์มพูด พร้อมก้มหน้ามองพื้น เงียบไปพักใหญ่ ความเจ็บภายในจิตใจที่ซุกซ่อนอยู่ พลุพลุ่งขึ้นมาอีกครั้ง

          "พวกอ.ส.ก็เหมือนกัน ถ้าเขาเห็นดอกไม้ หรือทองคำเปลวตั้งอยู่ เขาก็เอาทิ้งถังขยะ บางทีก็

เหยียบ เหยียบ เขาทำเหยียดหยามกันมาก ถ้าเขาเป็นเราเขาจะรู้" น้องอาร์มหน้าสลดลงกว่าเดิม แวว

ตาเศร้ามีน้ำคลึงอยู่ภายใน

          ทุกคำพูดที่เราได้ยิน ไม่ได้แสดงถึงความโกรธแค้นขึงขังแม้แต่น้อย แต่เป็นคำบอกเล่าจาก

เด็กผู้ชายคนหนึ่ง ที่มีความคิดมากกว่าเด็กในวัยเดียวกันหลาย ๆ คน สะท้อนความปวดร้าวที่หยั่งรากลึกอยู่ในจิตใจออกมา

ผ้าขาวที่ขึงอยู่ท่ามกลางการสาดเทสีเข้า ใส่ซึ่งกันและกัน จะคงความขาวบริสุทธิ์ไว้ได้

        อีกนานเพียงใด?

 

          “ไข่ดำ” เด็กชายวัย 14 ขวบ ผิวคล้ำ ร่างกายบึกบึน ขายทองมาเป็นเวลา 8 ปี เมื่อก่อนเรียนหนังสืออยู่โรงเรียนมีชื่อของจังหวัดนครศรีธรรมราช จบชั้นมัธยมปีที่ 2 แล้วเลิกเรียน เราถามถึงสาเหตุที่ไม่เรียนต่อ น้องไข่ดำตอบด้วยท่าทางอ้ำอึ้งเหมือนไม่ต้องการกล่าวถึงเรื่องนี้

          "ไม่อยากเรียน เบื่อ ออกมาขายทองสนุกกว่า"   เราเค้นมองลึกลงไปในดวงตาคู่สวย น้องไข่ดำหลุบตาลงต่ำ ไม่มองสบตากับเราอีกเลย

เราพบไข่ดำเมื่อเดินทางไปนมัสการพระบรมธาตุครั้งแรก น้องแอบอยู่ข้างเสา เมื่อเราเดิน

ชมรอบ ๆ ฐานพระเจดีย์ น้องไข่ดำ เดินเข้ามาหายื่นทองส่งให้

          “ทองคำเปลวไหมครับพี่ ใช้ติดที่พระประจำวันหรือพระเหล่านี้” พูดพลางผายมือไปที่พระพุทธรูปที่อยู่รายล้อมฐานเจดีย์

          "พี่จะให้เงินผมเท่าไหร่ก็ได้ เพื่อเป็นทุนการศึกษา" เพื่อนในกลุ่มคนหนึ่งหยิบเงิน 20 บาทส่งให้น้อง แล้วรับทองมา

          นับตั้งแต่วันนั้น เราก็สนใจศึกษาชีวิตของน้อง จนทราบว่าบ้านของเขาอยู่ใกล้ ๆ วัด บิดาทำ

งานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยอยู่ที่วัดแห่งนี้ บางครั้ง เมื่อพ่อมาทำงานจึงได้รับสิทธิพิเศษใน

การขายทอง โดยที่ไม่ถูกไล่จับจากพนักงานรักษาความปลอภัยคนอื่น ๆ ไข่ดำขายทองคำเปลวตั้งแต่เช้าจรดเย็นทุกวัน

          วิถีชีวิตของเขาวนเวียนอยู่อย่างนี้วันแล้ววันเล่า วัดพระมหาธาตุเปรียบเหมือนบ้านหลังที่ 2ของชีวิต ร้านขายพุทธพานิชหน้าวัด เปิดประตูรอรับเด็กชายวัย 14 เดินเข้ามาซื้อทองคำเปลว ในอัตรา10 บาทต่อ 100 แผ่น วันละหลาย ๆ เที่ยว จนกลายเป็นลูกค้าประจำ ที่คนในร้านจำหน้าได้แทบทุกคน เขาจะขายทองจนเติบใหญ่ไหมนะ เป็นคำถามที่เกิดขึ้นในจิตใจ ?

 

ครั้งหนึ่งเราเดินขึ้นไปนมัสการรอยพุทธบาท ที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระมหาธาตุ ฯ พบน้องเด หนุ่มน้อยร่างผอม หน้าตามอมแมม กำลังรอแขกผู้มาเยือน เมื่อเราขึ้นไปถึง น้องเดก็เริ่มอธิบายลักษณะของรอยพระพุทธบาท แนะนำให้เราติดทองตามพระประจำวันเกิด บอกถึงโชคลาภที่จะได้รับ หลังจากนั้นก็ขอเงินค่าทอง แล้วแต่เราจะอนุเคราะห์

          "เพื่อนชวนมาทำครับ จะได้หาเงินไปโรงเรียน ได้วันละ 50 บาทบางวันก็ 60 บาทไม่แน่นอน" น้องเดเป็นเด็กเงียบ ๆ ถามคำตอบคำ ไม่ค่อยกล้าสบตาใคร ขณะที่พูดคุยกัน ก็ก้มหน้าหรือไม่ก็เบนสายตาไปทางอื่น น้องเดขายทองคำเปลวมาตั้งแต่ ป.3 ขายมา 4 ปีกว่าแล้วและคิดว่าจะขายต่อไปเรื่อย ๆ ”            

เงินที่ได้มาก็เอามารวมกันกับเพื่อนร่วมอาชีพอีกสี่ห้าคน แล้วแบ่งเฉลี่ยเท่า ๆ กัน ทำอย่างนี้

อยู่ทุกเมื้อเชื่อวัน

          "ผมเคยถูกตำรวจจับ พาไปโรงพัก เขาจดชื่อเอาไว้ แล้วสั่งไม่ให้ขาย แต่ผมก็แอบมาขายอีก  ถ้าเขาจะจับก็ต้องวิ่งหนี"

          จิตรกรคนใดวาดภาพเด็กตัวเล็ก ๆ ท่าทางตื่นกลัว คอยหวาดระแวงเหลียวซ้ายแลขวา ไม่รู้เมื่อใดคนในชุดทหารจะขึ้นมา ดวงตาที่ตื่นตระหนกระวังภัย สะท้อนถึงความหวาดกลัวที่เกาะกุมหัวใจดวงเล็ก ๆ ตลอดเวลา

          แผ่นทองคำเปลวเล็ก ๆ ที่อยู่ข้างพระแผ่นนี้ ต้องต่อสู้ดิ้นรน ไม่ว่าจะทำเพื่อเงินหรือเพื่อความสนุกสนาน พวกเขาละเอียดอ่อนเกินไปที่จะรับรู้ว่าเขากำลังอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งอันเลวร้าย ความบริสุทธิ์ประดุจทองคำเนื้อแท้  ทำให้โลกนี้น่าอยู่เสมอ

 

ความรุนแรงและการโต้ตอบ

“ดอกไม้ค่ะ ดอกไม้มั๊ยคะ บูชาพระธาตุ พระพวย...ชุดละ 10 บาทค่ะ ไหว้ 2 ที่จะเอาทอง นอกไหมคะทองนอกเพิ่มอีก 10 บาท” เสียงของ แม่ค้าขายดอกไม้ที่ปักหลักอยู่บริเวณประตูทางเข้าวัดยื่นดอกไม้ที่จัดเข้าชุดผูกติดกับธูปเทียนทอง ส่งถึงมือผู้มาเยือน 

“ขอเชิญท่านไปรับดอกไม้ธูปเทียนทองของวัด  ที่ได้จัดบริการไว้ให้ทุกท่าน ได้รับความสะดวก  ท่าน  จะได้บุญกุศลมหาศาล เมื่อร่วมกันทำบุญที่วัด  สละ ปัจจัยคนละเล็กคนละน้อยตามกำลังศรัทธา ท่าน  ก็จะได้บุญกุศลอย่างแท้จริง  กราบเรียนเชิญนะครับ”  

เสียงโฆษกของวัดประกาศดังขึ้นอีกด้านหนึ่ง   แข่งกับเสียงแม่ค้าขายดอกไม้

คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักท่องเที่ยวเอง

                “ตามหลักแล้วทางวัดไม่ให้ขายเลย พวกนี้มันร้ายคนมาเที่ยวยังไม่ทันลงจากรถ มันโยน ดอกไม้ใส่ตัก ถ้าเขาไม่ให้เงิน มันจะขูดรถ”  ลุงคำรณ นาคร

เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของวัดเล่าให้ฟัง แววตาบ่งบอกถึงความเหนื่อยหน่าย ภายหลังปะทะฝีปากกับแม้ค้ามาหมาด ๆ ชายวัยกลางคนร่างเล็ก ผิวคล้ำเกรียมแดด ใช้มือหนาปาดเหงื่อที่เปียกชุ่มบนใบหน้า ในขณะที่ครั้งหนึ่งพี่แอ๋วแม่ค้าขายดอกไม้ใกล้ ๆ กับที่ลุงคำรณประจำอยู่ กล่าวค้านถึงคำกล่าวหาเหล่านี้ โดยที่เราไม่ต้องเอ่ยปากถามไถ่

“พี่ขายดอกไม้มาตั้งนานแล้ว ไอเรื่องที่เขาบอกว่าพวกแม่ค้าไปขูดรถคนที่มาเที่ยววัดนะ พี่ยืนยันได้เลยว่าไม่จริง ถ้ามันมีพี่ก็ต้องรู้มั่ง น้องอย่าไปเชื่อที่มันพูดนะ”

                พี่แอ๋วพูดด้วยสำเนียงกลางที่ไม่ชัดนัก แววตาและท่าทางแฝงไว้ด้วยไฟโทสะ ที่คุโชนอยู่ภายใน

                ลุงคำรณ เล่าถึงเหตุการณ์ ที่เคยปะทะกับแม่ค้าให้เราฟังต่อไปเรื่อย ๆ ไม่มีทีท่าว่าเหน็ดเหนื่อย แต่บางครั้งก็แอบถอนใจท่าทางหม่นหมองลงบ้าง

 “เรื่องทะเลาะกันมีบ่อย พอผมห้ามไม่ให้มันเข้ามาขาย มันก็ด่าผม ว่า ไม่ใช่วัดพ่อ วัดแม่มึง  มึงมีหน้าที่เป็นยามก็เป็นยามกูมีหน้าที่ขายก็ขายก็เพราะผมมีหน้าที่เป็นยามนี่แหละผมถึงต้องมาจับมัน ถ้าวันไหนทัวร์ลง ผมต้องวิ่งไปวิ่งมา ตามมันทั้งวัน ผมวิ่งไปทางนี้มันก็วิ่งไปอีกทาง เหนื่อยครับ” 

จากคำเล่าขานของลุงคำรณครั้งนี้ทำให้นึกย้อนไปถึงวันหนึ่งที่เรามีโอกาสพูดคุย

กับพี่นกแม่ค้าที่ขายดอกไม้อยู่ที่นี้ ตั้งแต่สมัยยังเยาว์วัย

                “ทะเลาะกับยามนั้นเหรอ  มีประจำ แต่พี่ไม่ให้มันจับได้หรอก มันวิ่งไปทางนี้ พี่ก็วิ่งไปอีกทางบางทีก็ให้อีกคนล่อมันไว้ แล้วพี่ก็เข้าไปขายดอกไม้นักท่องเที่ยว”  ละจากความคิดนั้น มาฟังลุงคำรณเล่าถึงความในต่อ  

                “บางทีก็อยากลาออกไปให้รู้แล้วรู้รอด ถ้าลุงควบคุมตัวเองได้ลุงก็คงไม่ทำอะไรมัน แต่นี้มันเล่นด่าถึงโคตร ลุงก็ทนไม่ค่อยได้เหมือนกันจะออกก็ไม่รู้จะไปทำอะไร  สงสารก็สงสารมัน รู้ว่าพวกแม่ค้าก็ต้องหาสตางค์เลี้ยงตัวเอง ยังมีลูก ๆ ของมันอีก ไม่รู้จะทำยังไงดี” ลุงคำรณกล่าวทิ้งท้ายก่อนที่จะลาพวกเราไปปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

                ภายในวัดยังมีสงครามฝีปากเกิดขึ้นทุกวัน เจ้าหน้าที่ของวัด และแม่ค้าแทบทุกคนถูกหน้าที่บีบรัดให้จ้วงจาบซึ่งกันและกัน

                “มีคนมาแอบถ่ายรูปพวกพี่แล้วเขาเอารูปนี้ไปติดบอร์ดอะไรพี่ก็ไม่รู้ ที่ศาลากลางจังหวัด  

เขียนประกาศว่า  ให้ระวังพวกพี่  เป็นพวกขโมยรองเท้า  เผอิญมีคนที่รู้จักไปเห็นเข้าก็เอามาบอก  พวกพี่ไม่ยอมจึงไปแจ้งความ  ผลสุดท้ายคนงานในวัดนี่แหละที่ขโมยไปเอง”

                “รองเท้าดี ๆ  ของคนมาเที่ยว คนงานวัดนั่นแหละที่ขโมย แล้วมาโทษพวกแม่ค้า เด็กขายทองว่าเป็นคนเอาไป พวกนี้เคยเข้าไปที่ไหน อยู่กันแถวนี้ทั้งนั้น”

 พี่นกพูดด้วยสีหน้าเจ็บแค้นชิงชัง น้ำเสียงเข้ม ระคนกับความโกรธ พายุอารมณ์ที่ตกตะกอนนิ่งในบ่อลึกของจิตใจ กำลังก่อตัวขึ้นอีกครั้ง

                 อีกด้านหนึ่งนั้น  คุณถมยา  ทองหมื่น  เจ้าหน้าที่จัดสรรประโยชน์ของวัด  กล่าวว่าทางวัด ไม่เคยถ่ายรูป  ไม่เคยเอารูปถ่ายมาติดประจาน  เหตุการณ์เหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นทางวัดมีแต่ให้ตำรวจหรืออ.ส.เข้ามาจัดการเท่านั้นอย่างอื่นไม่เคยกระทำ คุณถมยายังเล่าถึงการจัดการของวัดต่ออีกว่า

                “ตอนนี้ไม่อนุญาตให้เข้ามาขายในวัดแล้ว เมื่อก่อนเคยมีเด็กขายทองเข้าไปขายทองที่ใต้ฐานพระธาตุ   เที่ยวขโมยรองเท้า  กระเป๋านักท่องเที่ยว”                                                    

“ในส่วนของแม่ค้าขายดอกไม้ ทางวัดเคยแก้ปัญหาให้แล้ว  ซื้อเก้าอี้  ม้านั่ง  โต๊ะหินอ่อน  มา 50ตัว  ให้แม่ค้านั่งขาย  แต่มีข้อตกลงคือห้ามวิ่งขาย  เพื่อความเป็นระเบียบของวัด ต้องแต่งตัวให้เรียบร้อยเป็นพนักงานขายดอกไม้ของวัด แต่ไม่ได้ผลพวกนี้ทำไม่ได้ ไม่วายที่มันจะลุกไปจี้ขาย  คือมันต้องแย่งลูกค้ากัน  ต้องลุกขึ้นไปยัดใส่มือ  นักท่องเที่ยวมาต่อว่าวัด ว่าทางวัดไม่ทำอะไร อยู่ได้ไม่ถึงเดือนมันก็กลับไปขายอย่างเดิมอีกแล้ว ทางวัดก็เลยต้องให้โฆษกประกาศว่าดอกไม้ของวัดก็มี ไม่ต้องซื้อ แล้วแต่จะทำบุญ ถ้าไม่ประกาศอย่างนี้ มันจะโกหกว่าดอกไม้ของวัดไม่มีหรือบางที่มันบอกว่าที่มันขายอยู่นี่แหละเป็นของวัด เราจึงต้องประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวเขารู้”            คุณถมยาบอกด้วยความหนักใจ

                ในขณะที่ป้าเทศ  บรรยายให้พวกเราฟังว่า “เมื่อก่อนทางวัดเคยจัดโต๊ะ ซึ่งทางวัดก็ได้ขอร้องให้นั่งเป็นระเบียบเรียบร้อย  พวกเราก็ทำตามที่เขาสั่งมา  แต่พวกเราขายได้ไม่ถึง 3 เดือนทางวัดก็ไล่ออกมาไม่ให้ขาย เพราะอะไรไม่รู้เหมือนกัน”

                “วัดกับคนขายดอกไม้ เป็นอริกันมาตลอด พวกมันด่าว่ากรรมการโกงเงินวัด เราตกเป็นขี้ปากมันทั้งนั้น เราจะโกงได้อย่างไรในเมื่อเราทำบัญชีการเงินจะจ่ายเงินแต่ละทีก็ต้องมีเจ้าอาวาสหรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสรับรู้และร่วมเซ็นชื่อด้วย” 

คุณถมยา ทองหมื่นกล่าวกับเราด้วยสีหน้าจริงจัง

อีกแว๊บหนึ่งของความคิดใบหน้าของพี่แอ๋วลอยมาในห้วงของจิตนาการ หน้าตาชิงชัง น้ำเสียงประชดประชันยังก้องอยู่ในหู

                “พวกนี้แหละมันโกงวัด เวลาพี่ขายดอกไม้พี่  จะบอกว่า ซื้อของแม่ค้าเถอะ กรรมการวัดรวยแล้ว”

                เราลาคุณถมยากำลังจะออกจากวัด พบป้าคนหนึ่งเป็นพนักงานกวาดขยะของวัดจึงเข้าไป

สนทนาพาทีด้วย ป้าเล่าให้เราฟังว่า

                “พวกแม่ค้านี่แหละปากเสียที่สุด มันเที่ยวประจานว่าพวกป้ากินเงินวัด คำสารพัดที่มันจะสรรหามาพูดได้ ไอ้พวกนี้มันไม่เห็น มันไม่รู้ แต่มันเอามาพูดเสีย ๆ หาย ๆ กับป้านี่ก็มีปากเสียงกันบ้าง ป้าบอกให้ไปขายที่อื่น อย่ามาขายในวัด ถ้าป้าเห็นป้าจะรื้อโยนออกไปข้างนอก พวกนี้มันดื้อ ไม่แน่นะถ้าหนัก ๆ เข้าป้าอาจจะลงไม้ลงมือก็ได้ ด่ากันเป็นยกเลย เอาให้มัน

ตายไปสักข้าง” 

วันข้างหน้าไม่รู้จะเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นอีก ณ อารามหลวงแห่งนี้ รู้เพียงว่าวันนี้แม่ค้าขายดอกไม้และเด็กขายทองคำเปลวต้องฝ่าวันอันขืนข่มบนเส้นทางนี้ไปให้ได้

 

ดอกไม้และทองคำเปลว สู่เส้นทางประสานรอยร้าว

          มีคำกล่าวอยู่คำหนึ่งในสังคมไทยว่า วัดกับบ้านต้องอาศัยกัน วัดอาศัยแรงบ้าน บ้านอาศัยวัดวัดกับบ้านสำราญจึงจะอยู่ด้วยกันได้ คำกล่าวนี้มีส่วนจริงอยู่ทีเดียว สังคมไทยของเราเป็นสังคมของพุทธศาสนา หากคนในสังคมไม่เกื้อหนุนวัดแล้ว วัดจะคงอยู่ได้ยากและวันใดวัดละหน้าที่ในการขัดเกลาจิตใจของคน คนก็อยู่ได้ยากเช่นเดียวกัน

          ถ้าวัดกับบ้านอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข แน่นอนเมืองพุทธของเราก็จะร่มเย็น สงบสุขตามไปด้วย

          วันนี้มีกวีใจร้ายบรรจงขีดเขียนบทละครบทหนึ่ง โดยใช้วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเป็นฉากในการดำเนินเรื่อง โดยมีแม่ค้าและเจ้าหน้าที่ของวัดเป็นตัวเอก เติมแต่งสีสันจนบ้านกับวัดเกิดรอยร้าว ยากที่จะประสานให้เป็นหนึ่งเดียว แม้คำสอนขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มิอาจลดไฟแห่ง โลภะ โทสะ และโมหะตัวนี้

          ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร กล่าวว่า ความร้าวรานนี้เกิดขึ้นมาเป็นเวลาหลายปีจนยากนักที่จะหาทางแก้ไข ทางวัดพยายามพูดคุยกับแม่ค้า เพื่อให้ขายดอกไม้ให้เรียบร้อย แต่พวกแม่ค้าก็ทำไม่ได้

          "แม่ค้าพวกนี้ เป็นแม่ค้าที่ไม่ได้เข้ามาเช่าที่วัด แม่ค้านี่แหละ ที่เป็นปัญหาที่สร้างความไม่เรียบร้อยให้แก่คนที่มานมัสการพระธาตุ ที่ของวัดนี้มันเป็นสิทธิ์ของเจ้าอาวาส ทางวัดเคยคุยกับพวกแม่ค้า เราก็ต้องการให้เขาเรียบร้อย แต่เขาก็อยากขายดอกไม้ เรียบร้อยไม่ได้ จึงมีปัญหากันอยู่ ทุกเรื่องก็ลงที่วัดหมด เรื่องดีก็วัด เรื่องไม่ดีก็วัด"

          วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นวัดที่ถือว่าเป็นนิติบุคคล มิได้ขึ้นตรงต่อกรมศิลปกร มีสิทธิเสรีภาพ การกระทำเฉกเช่นปุถุชนทั่วไป การจัดการต่างๆ ภายในวัด จึงเป็นสิทธิ์ของทางวัดเอง บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายได้ ทางวัดมีกรรมการบริหาร ประกอบด้วยพระสงฆ์และฆราวาส จำนวน 15 ท่าน มีผู้ดูแลจัดสรรผลประโยชน์ของวัดโดยเฉพาะ การแก้ไขปัญหานี้จึงไม่ค่อยได้รับการเยียวยาจากราชการเท่าใดนัก

          เราเดินเข้าไปสอบถามและขอความเห็นจากการท่องเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราช ในเรื่อง

การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างวัดพระมหาธาตุ ฯ กับแม่ค้าขายดอกไม้ ได้รับคำตอบเพียงว่า การท่องเที่ยวมีหน้าที่สนับสนุนส่งเสริม ให้นักท่องเที่ยวรู้จักและมาเที่ยวชมอารามหลวงชั้นเอกนี้เท่านั้น ไม่สิทธิ์ยุ่งเกี่ยวกับกิจการของวัด

"เรารู้ครับว่าทางวัดมีปัญหาอย่างไร แต่วัดพระมหาธาตุฯนี้ เข้าไปแก้ยาก เขามีส่วนดูแลอยู่แล้ว เราได้แค่ส่งเสริมอย่างเดียว เราก็อยากทำให้ดีขึ้นแต่มันอยู่ที่เจ้าหน้าที่ของวัดด้วย พี่บอกได้แค่นี้แหละเดี๋ยวเสีย" คำพูดจากพนักงานการท่องเที่ยวคนหนึ่งที่ไม่อยากกล่าวถึงเรื่องนี้นัก

          มีหลาย ๆ คนเคยพูดว่า การจะแก้ไขปัญหาอะไรนั้น บางครั้งเราก็ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจ พลังและกำลังใจจากหลาย ๆ ฝ่าย หากปัญหานั้นหาทางแก้ยาก เราต้องไม่ดึงดันที่จะแก้ไขมันเพียงผู้เดียว

          ยังมีหลายส่วนที่เฝ้ามองปัญหานี้อยู่ รอวันที่รอยร้าวที่กวีผู้หนึ่งสรรค์สร้างไว้ จะแนบสนิทแต่ก็ได้แต่หวังและรอคอย

          นายสงวน จันทรอักษร รองผู้ว่าจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้ความเห็นกับการแก้ไขปัญหานี้

ว่า หากจะแก้ไขปัญหาให้หมดได้ คงต้องเปลี่ยนระบบการปกครองของวัดใหม่ จากการเป็นนิติบุคคล ต้องปล่อยให้กรมศิลปากรเข้ามาควบคุมดูแล มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปช่วยเหลือ ถึงจะแก้ปัญหาได้ ปัจจุบันนี้ทางจังหวัดทำได้เพียงมองปัญหาอยู่ห่าง ๆ ดีที่สุดคือ การส่งอาสาสมัครรักษาดินแดนเข้าไปตามที่ทางวัดร้องขอมา

          เชื่อว่าปัญหาทุกอย่างมีทางเยียวยาแก้ไข หนทางที่จะประสานรอยร้าวนี้ได้ คงต้องนำหลักคำสอนของพระพุทธองค์มาใช้ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ยังเป็นคำสอนที่ไม่มีวันล้าสมัย ของใกล้ตัวแต่บางครั้ง ถูกมองข้ามไป หากอยากรู้ที่มาของปัญหาก็ต้องรู้ถึงเหตุปัจจัย ที่ทำให้เกิดปัญหานี้ ต้องมองย้อนไปถึงกวี ที่พยายามเขียนละครเรื่องนี้ขึ้น บางทีหนทางแห่งการประสานรอยร้าวอาจง่ายเพียงนิดเดียว

          อย่างที่ครั้งหนึ่ง ทางวัดจัดโต๊ะให้แม่ค้าขายดอกไม้เข้าขายในวัด เหตุการณ์ความขัดแย้งสงบลงได้ไม่นาน สุดท้ายก็ถูกยกเลิกไป โดยไม่ทราบเหตุผลกลใด บัดนี้ยังเป็นปริศนาดำทะมึน ที่เราก็หาคำตอบไม่ได้ ว่าแนวทางการแก้ปัญหาที่ดีข้อหนึ่ง ทำไม? จึงถูกยกเลิก เพราะใคร วัดหรือแม่ค้าขายดอกไม้ ?

          คนที่ตอบคำถามนี้ได้ จะเป็นกวีที่กำหนดบทบาทของตัวแสดงในละครชีวิตเรื่องนี้เพียงผู้เดียวหรือ...?

          หากสุ่มถามชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช หรือคนไทยทั้งชาติ เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างวัดพระมหาธาตุฯ  กับแม่ค้าขายดอกไม้ของเอกชน คิดว่าคำตอบของทุก ๆ คน คงคล้ายคลึงกัน คือไม่อยากให้เกิดความขัดแย้ง เฉกเช่นนี้ขึ้น เราเข้าใจว่าทั้ง 2 ฝ่าย ต่างต้องทำตามหน้าที่ของตน จนไม่สามารถหันหน้ามาพูดคุยกัน ด้วยภาษาดอกไม้ได้ มีเพียงสงครามน้ำลายและการสาดเทสีใส่กัน จนทำให้ปัญหาลุกลามบานปลายออกไป ไม่มีที่สิ้นสุด

          อนาคต...แม้ไฟแห่งความขัดแย้งจะรุนแรงขึ้นหรือมอดสลายดับลงไป แต่ไฟแห่งการต่อสู้ภายในจิตใจของแม่ค้าเหล่านี้ คงไม่มีวัดมอดดับ พวกเขายังต้องกัดฟัน ฝ่าเส้นทางที่เต็มไปด้วยขวากหนามเส้นนี้ไปให้ได้ เขาก้าวไปข้างหน้าด้วยใจที่เปี่ยมล้นความหวังว่า สักวันหนึ่งกวีผู้นั้นจะเปลี่ยนใจประพันธ์ฉากชีวิตของพวกเขาให้สวยงามขึ้นมาสักที

 

ทรรศนะนักท่องเที่ยวและบุคคลรายรอบ

          พี่อนงค์ เจ้าของร้านอาหารหน้าวัดพระมหาธาตุ

          "พี่โดนมาแล้ว ไม่ดีเลย พี่เข้าไปทำบุญ เขาก็เอาดอกไม้มาขาย รำคาญมาก พอเราไม่ซื้อก็ตามจนเราทำอะไรไม่ถูก พี่ตั้งใจจะไปไหว้พระ พอเข้าวัดเจอแม่ค้าล้อมหน้าล้อมหลัง พี่ตกใจรู้สึกไม่ดีเอามาก ๆ "

          "เคยเจออีกครั้งหนึ่ง พี่พาลูกไปไหว้พระ มันเป็นทางแคบ ๆ อยู่ ๆ ก็มีคนเข้ามาข้างหลัง เขาบอกให้เดินไปข้างหน้า 3 ก้าว จะมีพระอยู่ เราก็ทำตาม พอไหว้เสร็จ คนข้างหลังบอกว่าให้เดินตาม ถอยหลังกลับมา เขาบอกไหว้แล้วต้องติดทองด้วย พี่ต้องซื้อทองเขาอีก ทำอย่างนี้ไม่ดีเลย ทางวัดน่าจะจัดการให้เด็ดขาด"

                 เป็นทรรศนะหนึ่ง จากคนที่คุ้นเคยกับวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเป็นอย่างดี

นักท่องเที่ยวจากจังหวัดสงขลา "มันก็เป็นอาชีพของเขานะ แต่ควรจะให้สมัครใจซื้อ ป้าเคยเจอเขายัดเยียดใส่มือ มันไม่ดีเลย เราไม่ซื้อก็คือไม่ รู้สึกไม่ดี ความรู้สึกเรามาสบายใจ เรามาทำบุญ อยู่ ๆ พอรถจอด เขาก็วิ่งมาเลย เขาไม่น่าทำอย่างนั้น ป้าไม่ซื้อของเขานะ เอาของวัดดีกว่า เราทำบุญ

เท่าไหร่ก็ได้"

ป้าคนหนึ่งที่เดินทางมาจากจังหวัดใกล้เคียงนครเมืองพระ ให้ความเห็น

นักท่องเที่ยวจากกรุงเทพมหานคร "พี่รำคาญมากเลย เขามาจี้ให้ซื้อ บอกให้ทำโน่นทำนี่ เจ้ากี้เจ้าการ น่ารำคาญมาก ขายก็แพงคู่ละตั้ง 20 บาท ซื้อของวัดดีกว่า เหมือนเราได้ทำบุญให้วัดด้วย ถ้าเขาเข้ามาขายธรรมดาก็ไม่มีปัญหา ทางวัดน่าจะจัดการอะไรให้มันดีขึ้น"

          ผู้สูงอายุจากสตูล "ยายสงสารเขานะ ยายซื้อดอกไม้ของเขา ไม่เห็นว่าแม้ค้าขายดอกไม้จะทำความเดือดร้อนใด ๆ ให้ยาย"

นักท่องเที่ยวจากกรุงเทพมหานคร "เพิ่งมาที่นี้เป็นครั้งแรกครับ พอเข้ามาแม่ค้าก็ยื่นดอกไม้ใส่ในมือ ตอนแรกก็ไม่คิดอะไร พอมาเห็นว่าของวัดก็มีบริการไว้ แล้วแต่จะทำบุญ ก็รู้สึกไม่ดีครับ".

 

 

Back