ภาษิตไทย
บอกแต่เพียงว่า
"ไม้อ่อนดัดง่าย
ไม้แก่ดัดยาก"
แต่ไม่ได้บอกว่า
"ไม้อ่อนที่ว่านั้น จะมี
วิธีการและต้องใช้
ศิลปะในการดัด
อย่างไร เพื่อให้ต้นไม้นั้น
เติบใหญ่อย่างมั่นคง
และสวยงาม" และนี่คือปัญหา
ที่พ่อแม่จำนวนไม่น้อย
ต้องมานั่งกุมขมับ
ไม่รู้ว่าจะ "ดัดนิสัย"
ลูกอย่างไร เมื่อลูก
ตนเองแสดงนิสัยที่
ไม่ดีออกมา
|
ไม่ว่าจะเป็น
ชอบหยิบของคนอื่น
เก็บของไม่เป็นที่ ดื้อไม่เชื่อฟัง
เอาแต่ใจอยากได้อะไรก็ต้องได้
ฝ่าฝืนคำสั่งของพ่อแม่เสมอ พูดปดเก่ง ฯลฯ
หรือนิสัยที่น่าหนักใจอีกนานัปาการ
ทั้งๆ ที่พ่อแม่ก็สอนแล้วว่าอะไรควร
อะไรไม่ควร แต่ลูกก็ไม่เปลี่ยนเสียที
จนไม่รู้จะทำอย่างไรดี
ทางแก้ปัญหานี้ไม่ยากเลย
หากพ่อแม่รู้ "เทคนิคการลงโทษ" หรือ
การดัดนิสัยลูกตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ
และลงมือฝึกฝนอย่างจริงจังในภาคปฏิบัติ
ในฐานะพ่อที่เคยผ่าน
ช่วงเวลาแห่งการลงแรง "ดัดนิสัย"
ลูกชาย 2 คนตั้งแต่เมื่อครั้งเขา
ยังอยู่ในวัยเยาว์ผลปรากฏว่า
เทคนิคที่ผมและภรรยานำมาใช้นั้น
ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
จนอาจกล่าวได้ว่าลูกชายทั้งสองของผม
เป็นเด็กดีพอสมควร
มีลักษณะนิสัยที่ยอมรับได้ มีระเบียบวินัย
รู้จักตัดสินใจเลือกในสิ่งที่ถูกต้อง
มากกว่าทำตามใจตนเอง
ผมจึงอยากแบ่งปันเทคนิคการดัดนิสัย
หรือการลงโทษลูก ด้วยหวังว่าจะช่วยให้พ่อแม่
ที่มีลูกวัยซนคลายปัญหาหนักอกนี้ลงได้บ้าง
|
สอนสิ่งที่ถูกก่อนที่ลูกจะทำผิด พ่อแม่จำนวนไม่น้อยไม่ได้สอนลูกว่าอะไรถูกอะไรผิด
แต่จะสอนก็ต่อเมื่อเห็นลูกกระทำสิ่งผิดแล้ว ในความเป็นจริงเราควรจะสอนลูกก่อนแต่เนิ่นๆ
ก่อนที่เขาจะทำผิด โดยสอนจากการคาดเดาอาการล่วงหน้าไว้ก่อน
เราควรจะสอนให้เขารู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นสิ่งต่างๆ จะเป็นอย่างไร
เพื่อให้เด็กเรียนรู้และตัดสินใจได้ถูกต้องเมื่อเขาพบกับสถานการณ์นั้นๆ
เช่น เราควรสอนลูกว่าเมื่อเล่นของเล่นเสร็จ ควรนำมาเก็บไว้ในที่ที่จัดเตรียมไว้ให้
ไม่จำเป็นต้องให้ลูกทิ้งเรี่ยราดแล้วค่อยมาสอนหรือมาวางระเบียบ
โดยเฉพาะเมื่อไม่ได้เตือนเขาแต่เนิ่นๆ เมื่อเขาเริ่มทำบางอย่างจนชินแล้ว
จะทำให้แก้ไขได้ยากกว่าการบอกให้เขาทำถูกต้องแต่แรก
เราควรใช้เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันให้เป็นประโยชน์ในการสอน
การชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องแก่ลูกเพื่อป้องกันมิให้ลูกกระทำผิด
และหากลูกกระทำผิด เราก็จะได้ลงโทษเขาอย่างถูกต้อง
พ่อแม่หลายคนลงโทษลูกโดยไม่เคยบอกเลยว่าสิ่งนั้นผิด
ไม่เคยสอนแนวทางที่ถูกต้องแก่ลูก เมื่อลูกทำผิดก็ลงโทษทันที
การกระทำเช่นนี้เป็นอันตรายต่อเด็ก เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกงงว่า
ทำไมจึงไปลงโทษเขา เพราะเด็กยังไม่เคยรับทราบแนวทางที่ชัดเจน
เมื่อเขาผิด ดังนั้นก่อนลงโทษลูกพ่อแม่ต้องสอนลูกในทุกๆ
เรื่องอย่างละเอียดสอนเขาเป็นเรื่องๆ จนกว่าจะเข้าใจ
เพื่อให้มั่นใจว่าเขารู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด
ลงโทษด้วย "ความรัก" เมื่อลูกไม่เชื่อฟัง
พ่อแม่ควรลงโทษเด็กเพื่อให้เขาเรียนรู้สิ่งที่ถูก สิ่งที่ผิด และควรลงโทษ
เฉพาะเวลาที่เขาไม่เชื่อฟังคำสอน กฎระเบียบ คำสั่งที่เราได้บอกกล่าวเขาไปแล้วเท่านั้น
เพื่อให้เด็กเห็นความสำคัญของการกระทำที่ถูกต้อง ที่สำคัญพ่อแม่ต้องมีแรงจูงใจตีลูก
ด้วยความรักเมื่อเขาทำผิดและมีความห่วงใยชีวิตลูกของเราจริงๆ
ต้องไม่ลงโทษลูกด้วยความโกรธหรือความหงุดหงิดหรือตีเพราะรู้สึกว่า
ลูกขัดใจ แต่ตีเพราะความรักที่เรามีต่อลูกของเรา
ก่อนที่เราจะตีลูกเราต้องนั่งนิ่งๆ สักครู่เพื่อเช็คอารมณ์ความรู้สึกท่าทีของเรา
อย่าปล่อยอารมณ์ความรู้สึกของเราออกมาเราต้องตีเขาด้วยความรักไม่ใช่อารมณ์
ดังนั้นเราจึงต้องระมัดระวังอารมณ์ของเราเป็นพิเศษ การตีลูกด้วยความรัก
จะทำให้ลูกสัมผัสถึงความรักความห่วงใยและความหวังดีต่อชีวิตเขา
เมื่อเขาเติบโตขึ้นเขาจะเรียนรู้ที่จะเชื่อฟังเราอย่างง่ายๆ ทำให้เราลงโทษเขาน้อยลง
จนในที่สุดบ้านของเราจะไม่จำเป็นต้องมีการลงโทษลูกอีกเลย
เพราะเขาจะกลายเป็นคนที่มีเหตุผล มีหลักการ รู้จักผิดชอบชั่วดี
รู้จักเข้ามาสื่อสารมาขอคำปรึกษาหารือ และเมื่อเติบโตขึ้นเขาก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะ
พ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่ลงโทษลูกอย่างไม่ถูกต้อง
บางคนลงโทษลูกด้วยความโกรธ หรือแสดงออกซึ่งอำนาจเหนือชีวิตลูก
ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกต้องเสียไป ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกขมขื่นใจ
และอาจจะเสียคนได้ในที่สุด
อย่าตีลูกด้วยมือให้ใช้ไม้เรียวตี พ่อแม่ควรให้ มือ
เป็นสื่อของความรักและให้ ไม้เรียว เป็นสื่อของความรัก
เมื่อเด็กกระทำผิดจึงควรใช้ไม้ตี เพื่อเด็กจะสามารถแยกออกระหว่างมือแห่งความรัก
และไม้เรียวแห่งการลงโทษได้อย่างถูกต้อง มิเช่นนั้นเด็กจะรู้สึกสับสน
และไม่มั่นใจว่ามือที่เคยตีเขากำลังจะโอบกอดเขาหรือกำลังจะตีเขา
ทางที่ดีเราควรหาไม้เรียวอันหนึ่งเก็บไว้ที่บ้าน ในที่ๆ เราจะสามารถหยิบได้ตลอดเวลา
และอีกอันหนึ่งไว้สำหรับพกไปทุกหนทุกแห่ง เราควรบอกตัวเองและคู่สมรสว่า
ต้องใช้ไม้ตีห้ามใช้มือตีลูกเด็ดขาด
ตีที่ก้น เวลาตีให้เอาลูกโค้งลงที่ตักและตีที่ก้น
เพราะว่าที่ก้นไม่มีรอยให้ใครเห็น และสามารถตีเจ็บๆ ได้เพราะมีเนื้อมาก
เราควรตีที่ก้นจะดีที่สุดไม่ควรตีที่อื่น เพราะจะทำให้เกิดรอยและเด็กจะอับอายผู้อื่น
ตีหนักๆ แรงๆ หนึ่งที การตีควรตีเพียงครั้งเดียว
เนื่องจากวัตถุประสงค์การตีก็เพื่อให้เด็กเจ็บและยอมรับว่าตนเองผิดต้องปรับปรุงตัวใหม่
เด็กไม่ใช่ที่ระบายอารมณ์ การตีเพียงครั้งเดียวจึงเป็นการเพียงพอ
และการลงน้ำหนักในการตีลูกควรให้แรงพอที่เด็กจะมีความรู้สึกเจ็บ
เพื่อที่เขาจะเรียนรู้ว่าตนเองทำผิดและถูกลงโทษ ถ้าหากเราตีเขาเบาเกินไป
ไม่เจ็บ เด็กจะไม่รู้สึกว่าเขาถูกลงโทษ และจะทำให้เขาคิดว่า ตนเองไม่ได้ทำผิด
กอดลูกหลังจากทำโทษเขาแล้ว เมื่อเราตีลูกของเราเสร็จ
เราต้องแสดงความรักตามมาทันที เพราะเด็กจะเกิดความไม่แน่ใจ
และจะอ่านความหมายอย่างไม่ถูกต้องได้ หากเด็กถูกตีแล้วไม่ได้ตามด้วยความรัก
เด็กจะเกิดความสงสัยว่าเราตีเพราะเกลียดไม่ชอบ ซึ่งเป็นธรรมชาติของเด็กอยู่แล้ว
ที่จะคิดว่าที่พ่อแม่ตีนั้นเพราะเขาไม่รัก
ดังนั้นเมื่อเราตีลูกเสร็จแล้ว เราต้องนำเขามาโอบกอด แล้วบอกว่า
เรารักเขาเพื่อทำให้เขามั่นใจในความรักที่เรามีต่อเขา และอธิบายว่า
ที่เราตีเขานั้นเพราะอะไร เพื่อทำให้เขาไม่ตีความผิดไปว่าเราตีเขา
เพราะความเกลียด และถามกลับเพื่อให้เขาตอบด้วยว่าเขาทำผิดอะไรจึงถูกตี
และต่อไปจะต้องปฏิบัติตัวเช่นไร และให้เขาบอกว่าเขายังรักเราอยู่ไหม
การกอดลูกจะทำให้เด็กไม่รู้สึกว่าการที่พ่อแม่ตีหมายความว่าเกลียดชังที่เขาทำผิด
แต่เด็กจะรู้ว่า ที่เขาถูกตีนั้นก็เพราะพ่อแม่รักเขา และอยากให้เขาเป็นคนดี
เมื่อลูกทำผิด ต้องให้เขาตอบว่า "ทำผิดอะไร ?"
พ่อแม่ที่มีสติปัญญาไม่ควรใช้คำถามว่า "ทำหรือเปล่า" เพราะเรารู้ว่าทำแน่ๆ อยู่แล้ว
การถามเช่นนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้ที่จะโกหก โดยตอบว่า "เปล่า"
และไม่ควรถามว่า "ทำไมจึงทำเช่นนั้น ?" เพราะเด็กจะหาเหตุผลข้อแก้ตัวต่างๆ นานา
เพื่อทำให้ตนเองรู้สึกดีขึ้น ทำให้รู้สึกว่าตนเองไม่ได้ทำผิด ทางที่ดีพ่อแม่ควรจะถามว่า
"ทำอะไรผิดให้บอกมา ?" และควรใช้น้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความรัก
ไม่ใช่การจับผิดเพื่อหนุนใจให้เด็กยอมรับความจริง
สอนให้ลูกตอบสนองถูกต้องเมื่อถูกลงโทษ ไม่มีเด็กคนใด
ชอบการถูกลงโทษเพราะมันเจ็บปวดและไม่สบายใจแต่อย่างไรก็ตาม
พ่อแม่ต้องสอนเขาทุกครั้งเสมอว่าการที่เขาถูกลงโทษนั้น จะเป็นผลดีต่อเขาในอนาคต
และการที่พ่อแม่ลงโทษนั้น
ก็ทำด้วยความรักไม่ใช่ความเกลียดชัง เพื่อลูกจะไม่รู้สึกขมทขื่นใจหรือเกลียดชังพ่อแม่ที่ลงโทษเขา
แต่จะมีท่าทีสำนึกผิดและพยายามที่จะปรับปรุงตัวให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป
ให้เด็กรับผิดชอบต่อความผิดที่ตนทำ ถ้าเด็กทำอะไรเสียหาย
ต้องให้เด็กจ่ายคืน เช่น เด็กทำน้ำหกก็ให้เด็กเอาผ้ามาเช็ด ไม่ควรให้คนอื่นมาทำแทน
ฝึกให้เด็กรับผิดชอบสิ่งที่ตนเองทำเพื่อเขาจะเรียนรู้หลักการว่าเขาต้องรับผิดชอบการกระทำของเขา
อีกทั้งยังช่วยให้ครั้งต่อไปเขาจะระมัดระวังมากขึ้น
สอนย้ำทุกครั้งในเรื่องที่เขากระทำผิด พ่อแม่จะต้องสั่งสอนในเรื่องเดิมๆ
ทุกครั้งที่เขากระทำผิดเพื่อที่เขจะได้รับรู้ตรงกันกับพ่อแม่และเกิดความเข้าใจจริงๆ
เพื่อที่จะไม่ทำผิดเรื่องเดิมซ้ำอีก
เสมอต้นเสมอปลายในการลงโทษลูก พ่อแม่ควรคงเส้นคงวา
ในการลงโทษลูกตั้งแต่เขาอายุยังน้อย เมื่อไรก็ตามที่ลูกทำผิดจากข้อตกลงที่กำหนดไว้
เราก็ต้องลงโทษเขาทันที เพื่อให้เด็กเห็นว่า กฎระเบียบที่เราขีดเส้นให้เขานั้น
เป็นสิ่งสำคัญและเขาจำเป็นต้องปฏิบัติตาม การคงเส้นคงวาของพ่อแม่จะช่วยลูกได้
เมื่อเขาเติบโตขึ้น เขาจะเป็นเด็กที่มีระเบียบวินัย รู้หลักการที่ชัดเจนว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด
เราไม่ควรทำร้ายลูกด้วยความไม่คงเส้นคงวาในการลงโทษลูก เช่น
หากรู้สึกอารมณ์ดีก็ไม่ดี แต่หากอารมณ์ไม่ดีก็ดี เพราะการทำเช่นนี้จะทำให้เด็ก
มีความประหวั่นพนั่นพรึงอยู่ในใจว่าพ่อแม่จะเอาอย่างไร ไม่แน่ใจว่า
สิ่งที่เขาทำถูกต้องหรือเป็นที่พอใจของพ่อแม่หรือไม่ เด็กจะเติบโตมาอย่างไม่มีหลักการ
และขาดความมั่นใจในตัวเอง เราต้องไม่ลงโทษ เมื่อเราอึดอัดหรือโกรธ
แต่ลงโทษเพราะเห็นแก่เขาเห็นแก่ชีวิตอนาคตเมื่อเขาเติบโตขึ้น
พ่อแม่ต้องเป็นพันธมิตรกัน พ่อแม่ควรเห็นด้วยกันเสมอในการลงโทษลูก
ไม่ควรขัดแย้งกัน พ่อแม่ไม่ควรแสดงอาการขัดแย้งกันต่อหน้าลูก
ไม่ว่าจะเป็นสายตา กิริยา ท่าทาง น้ำเสียงจะต้องไปในทิศทางเดียวกันในการลงโทษลูก
เราต้องไปตกลงกันก่อนว่าเราจะลงโทษลูกอย่างไรเพื่อเราจะลงโทษได้อย่างคงเส้นคงวา
มิฉะนั้นเด็กจะสับสน ไม่รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก หรือเมื่อเด็กเห็นพ่อแม่ขัดแย้งกัน
เด็กจะจับพ่อแม่มาชนกันเพื่อตัวเขาเองจะไม่ถูกลงโทษ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควร
ต้องไม่ยืดหยุ่น "ไม่" คือ "ไม่" นิสัยของเด็กมักจะชอบตื้อ
จนกว่าจะได้สิ่งที่ตนเองต้องการเพราะรู้ว่าผู้ใหญ่มักจะใจอ่อน จากที่เคยบอกว่าไม่
ก็อาจจะกลายเป็น "ไม่แน่" เช่น ถ้าลูกเห็นของเล่นแล้วบอกว่าอยากได้
เราบอกว่าไม่ เด็กก็รู้ว่าไม่ เด็กจะดื้อต่ออีก หากเราใจอ่อนบอกว่าได้
คราวหน้าเด็กจะทำวิธีเดียวกันอีก ซึ่งเป็นการฝึกให้ลูกมีนิสัย ที่ไม่ถูกต้อง
ดังนั้นพ่อแม่จึงควรยืนหยัดอย่าใจอ่อน เมื่อเขาแสดงอาการดังกล่าว
เราควรเตือนเขาเพียงครั้งเดียว หากไม่เชื่อฟังก็ควรอุ้มเข้าห้องน้ำและตีเลยทันที
เพื่อให้เขาเรียนรู้ที่จะไม่ทำเช่นนั้นอีกในครั้งต่อไป และจะช่วยให้เรา
ไม่ต้องมาเสียเวลาในการเตือนหลายครั้ง
อย่าให้วิธีทำให้เสียหน้า พ่อแม่ต้องตระหนักว่าเด็กก็รู้สึกเสียหน้า
เป็นเด็กไม่ชอบถูกตีต่อหน้าที่ชุมชนเขาจะรู้สึกต่อต้านและโกรธเราเป็นอย่างมาก
หากเราทำเช่นนั้น ดังนั้นพ่อแม่ที่ดีควรให้เกียรติลูก เมื่อลูกกระทำความผิดต่อหน้าชุมชน
ผมแนะนำว่า เราควรอุ้มเข้าห้องน้ำและตีทันที การอุ้มเขาไปทันทีจะทำให้เขารู้ตัวว่า
กระทำผิดและรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเขา หากเราใช้วิธีนี้อย่างคงเส้นคงวา
เด็กจะไม่เกเรต่อหน้าชุมชนอีก หรือในบางครั้งเด็กจะเข้าใจว่า อยู่บ้านพ่อแม่ตี
แต่ถ้าอยู่ต่อหน้าชุมชน พ่อแม่จะเกรงใจคนอื่น ไม่กล้าตีเขา
ดังนั้นเราควรจะใช้วิธีเดียวกันเมื่อเขาเกเรไม่เชื่อฟัง เราต้องอุ้มเขาไปห้องน้ำและตีทันที
และรอเขาร้องไห้เสร็จค่อยอุ้มเขาออกมาใหม่
หนุนใจให้รางวัลเมื่อถูกทำสิ่งดี เราจำเป็นต้องมีความสมดุล
ในการลงโทษเมื่อลูกทำผิดและการชมเชยหนุนใจเมื่อลูกทำสิ่งดี
เพราะหากลงโทษอย่างเดียวโดยปราศจากการหนุนใจ จะทำให้เด็กกลายเป็นเด็กที่หวาดกลัว
คิดว่าตนเองไม่สามารถทำสิ่งใดได้เกรงว่าจะถูกตำหนิหรือถูกลงโทษ
ไม่สามารถทำสิ่งใดๆ ได้ด้วยใจที่มั่นคงเราจำเป็นต้องชมเชยหนุนใจเมื่อเด็กทำถูกต้อง
การหนุนใจของเราจะทำให้เด็กตอบสนองมากกว่าถูกลงโทษ
ไม้อ่อนดัดง่ายแต่ต้องดัดอย่างมีศิลปะ ต้องใช้ความอดทนและต้องใช้เวลานาน
ต้นไม้จึงจะค่อยๆ เติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ที่งดงามสมดังใจหมาย
พ่อแม่ที่รักลูกจึงควรเรียนรู้เทคนิคการลงโทษด้วยความรัก
เพื่อสร้างชีวิตลูกให้เติบโตขึ้นเป็นคนดีสมดังปรารถนา
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
|