มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://www.oocities.org/Tokyo/Harbor/2093/
จำสั้นๆ i.am/thaidoc



ฟันปลอม ปี 2000

พญ.ฉวีวรรณ ภักดีธนากุล


ถ้าเราต้องเสียฟันแท้ไปเนื่องจากถูกถอนหรือเนื่องจากอุบัติเหตุ หรือฟันแท้หายไปตั้งแต่เกิด เราต้องใส่ฟันปลอมทดแทน เพื่อช่วยในการทำหน้าที่พูด และเคี้ยวอาหาร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อก่อนนี้ถ้าเราต้องใส่ฟันปลอม ก็จะมีทางเลือกเพียง 2 ทาง คือ การใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้หรือชนิดติดแน่นเท่านั้น แต่ในสหัสวรรษหน้า หรือในปี 200 นี้ น่าจะเป็นยุคของฟันปลอมชนิดที่ใส่ทับรากเทียม เนื่องจากฟันปลอมชนิดถอดได้ เป็นหันปลอมที่ต้องมีเหงือก หรือส่วนของเพดานปลอม ซึ่งจะทำความรำคาญให้กับผู้ใส่เป็นอย่างมาก เพดานปลอมจะทำให้การรับรู้รส การรู้สึกร้อนเย็นของอาหารเสียไปด้วย แม้ว่าฟันปลอมจะมีตะขอที่จะช่วยยึดให้ฟันปลอมติดอยู่ได้เวลาใช้งาน แต่ประสิทธิภาพการเคี้ยวอาหารก็ยังไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากฟันปลอมจะกระดก หรือขยับได้ระหว่างการใช้งาน

ส่วนฟันปลอมชนิดติดแน่นจะดีกว่าฟันปลอมชนิดถอดได้ตรงที่เหมือนฟันธรรมชาติมากขึ้น เพราะส่วนที่ช่วยยึดฟันปลอมนั้นจะทำเป็นครอบฟัน โดยทำทับฟันหลักข้างเคียง ซึ่งมีขนาดและลักษณะเหมือนฟันทำให้ไม่มีส่วนเหงือกปลอมหรือตะขอ การใช้เคี้ยวอาหารก็ดีกว่า ข้อเสียก็คือ ราคาแพงกว่าฟันปลอมชนิดถอดได้ ทำความสะอาดยากกว่าเพราะไม่สามารถถอดออก และต้องใช้เครื่องมือทำความสะอาดเป็นพิเศษ ฟันที่ใช้เป็นหลักยึด จึงมีโอกาสผุหรือเป็นโรคเหงือกอักเสบได้ง่าย

การทำฟันปลอมทับรากฟันเทียม จึงเป็นทางเลือกใหม่ สำหรับฟันปลอมในยุคนี้ เนื่องจากเป็นการใส่ฟันที่ทำให้รู้สึกเหมือนไม่ได้ใส่ ประสิทธิภาพการเคี้ยวอาหารก็ดีใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อย่าง หรือฝรั่งกรอบๆ ที่เราชอบก็ไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป

รากเทียมที่ว่านี้จะมีรูปร่างคล้ายรากฟันธรรมชาติ อาจจะมีลักษณะเป็นทรงกระบอกตรงหรือปลายสอบให้เหมือนรากฟัน ทำด้วยโลหะไทเทเนียม ซึ่งเป็นโลหะที่ได้รับการพิสูจน์ และรับรองแล้วว่า ไม่เป็นอันตรายและไม่เกิดปฏิกิริยาใดๆ ต่อร่างกายของเรา ทันตแพทย์จะทำการฝังรากฟันเทียมไว้ในกระดูกขากรรไกร รอเวลาประมาณ 6 เดือน เพื่อให้กระดูกเชื่อมกับรากฟันไทเทเนียม จากนั้นจึงทำฟันปลอมยึดไว้กับส่วนบนของรากฟันเทียม โดยฟันปลอมที่ทำนี้จะมีรูปร่างเหมือนฟันแท้ ไม่ต้องมีเหงือกปลอม หรือตะขอให้เป็นปัญหา

โลหะไทเทเนียมมีผิวเรียบ เป็นมันวาว ทำความสะอาดได้ง่าย คราบอาหารเกาะติดได้ยากจากการศึกษาผลการใช้ พบว่า รากฟันเทียมจะไม่ทำให้เกิดโรคเหงือกอักเสบ เนื่องจากไม่มีเยื่อหุ้มรากฟัน นอกจากนี้โลหะ ไทเทเนียมที่ใช้ก็ไม่สึกกร่อนอีกด้วย

แม้ว่าการฝังรากเทียมในประเทศไทยจะเพิ่งมีแพร่หลายไม่ถึง 10 ปี ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องใหม่ แต่ในต่างประเทศมีการทำมาแล้วเกิน 20 ปี มีการศึกษา ทดลอง ค้นคว้ามากมาย และจากรายงานการศึกษาในผู้ที่ใส่ฟันปลอมชนิดนี้ ชี้ให้เห็นว่า การฝังรากฟันเทียมมีความสำเร็จสูงมาก จากรายงานขณะนี้ ก็มีโอกาสสำเร็จเกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ และหากการฝังรากเทียมเกิดล้มเหลว ฟันโยก หรือฟันปลอมแตกหัก ก็เพียงแต่ถอนออกแล้วก็ทำใหม่ได้อีก

ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การทำรากเทียมไม่ได้ผล ก็คือ การสูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำเพราะผู้ป่วยประเภทนี้ จะมีปัญหาการละลายตัวของกระดูกรอบรากฟันมากกว่า เนื่องจากการไหลเวียนของเลือดไม่ดี

รากฟันเทียมนี้สามารถใส่แทนฟันที่ถอนไปได้ทุกซี่ ไม่ว่าจะเป็นซี่เดียว หลายซี่หรือทั้งปาก แต่ก็จะมีความยากง่ายต่างกัน โดยปกติกระดูกขากรรไกร บริเวณที่จะฝังรากเทียมควรจะมีความหนาพอสมควร แต่หากว่า กระดูกบริเวณนั้นมีการละลายตัวไปทำให้สันเหงือกยุบ ก็จะต้องเติมกระดูกเทียมลงไปเพื่อเป็นที่ให้รากเทียมยึดอยู่ได้

โดยปกติการผ่าตัดฝังรากเทียมทำได้ไม่ยาก ทันตแพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่ระหว่างทำซึ่งให้เวลาไม่เกิน 1-2 ชั่วโมง ต่อการฝังรากเทียมหนึ่งตัว สามารถทำได้ในคลินิกทันตกรรม ที่มีระบบการทำความสะอาดเครื่องมือที่ได้มาตรฐาน หลังจากนั้นจะปิดแผลเอาไว้ ผู้ป่วยสามารถใส่ฟันปลอมได้ แต่อาจจะต้องดัดแปลงให้เหมาะสม ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนพักในโรงพยาบาล หลังการผ่าตัดฝังรากเทียมครั้งแรก จะต้องรอให้กระดูกยึดรากเทียมนั้นเสียก่อน ช่วงนี้จะกินเวลาไม่เกิน 6 เดือน แล้วจึงจะทำฟันปลอมให้ได้ ผู้ที่จะทำรากเทียมนี้ควรจะมีสุขภาพดี ไม่มีโรคประจำตัวที่เป็นข้อห้ามในการผ่าตัด การทำรากเทียมในผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ อาจจะทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ส่วนในคนไข้เบาหวานที่สามารถควบคุมได้และอยู่ในความดูแลของแพทย์ ก็สามารถที่จะทำได้

การทำฟันปลอมทับรากฟันเทียมนี้ เป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่ เครื่องมือมีราคาแพง ทำให้ค่าใช้จ่ายสูง ขั้นตอนมาก ต้องใช้เวลานานกว่าจะทำฟันปลอมเสร็จ ในประเทศไทยมีการนำมาใช้หลายแห่งแล้ว ทั้งโรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชน หากท่านมีปัญหาในการใส่ฟันปลอมชนิดอื่นๆ และคิดว่าอยากทำฟันปลอมทับรากเทียมก็คงไม่ต้องรอให้ถึงปี 2000 ท่านสามารถไปรับคำปรึกษาได้จากทันตแพทย์ทั่วไป



[ที่มา..หนังสือ นิตยสารใกล้หมอ ปีที่ 23 ฉบับที่ 11 พฤศจิกายน 2542]

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21] resolution 800x600