มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://www.oocities.org/Tokyo/Harbor/2093/
จำสั้นๆ i.am/thaidoc



กลิ่นปาก

ทญ.สุมนา สวัสดิ์-ชูโต


กลิ่นปากหรือปากมีกลิ่น คือ อาการที่พ่นลมออกจากปากแล้วมีกลิ่นตามออกมาด้วย เช่นการเรอ หรือแม้แต่การพูดคุย การเรอนั้นมักจะมีกลิ่นออกมาด้วยเสมอ เพราะจะเป็นลมที่มาจากกระเพาะอาหาร มักถือเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเรอบ่อยมากๆ ก็ควรจะตรวจเช็กระบบย่อยอาหารดูบ้าง ส่วนลมปากหรือลมที่ออกจากปาก ขณะพูดคุยนั้น ถ้ามีกลิ่นตามออกมาด้วย คงไม่ใช่เรื่องปกติและมักไม่เป็นที่ชอบพอของคนข้างเคียงและเจ้าตัว จึงมักมีผู้มาขอคำปรึกษาเรื่องการกำจัดกลิ่นปากอยู่บ่อยๆ

สาเหตุของการเกิดกลิ่นปากนั้น พอจะจำแนกออกเป็น 2 สาเหตุใหญ่ๆ คือ สาเหตุภายในช่องปาก และสาเหตุภายนอกช่องปาก

สาเหตุภายในช่องปาก

ส่วนใหญ่เกิดเนื่องจากการไม่รักษาสุขภาพช่องปากหรือสุขภาพในช่องปากไม่ดี เริ่มตั้งแต่การแปรงฟันไม่สะอาด มีคราบอาหารหรือคราบแบคทีเรียเกาะอยู่ตามผิวฟัน หรือลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม ก็จะทำให้มีกลิ่นปากได้

การมีฟันผุ ทำให้เศษอาหารติดค้างและสะสมอยู่ในรูฟันที่ผุ อาหารเหล่านี้จะบูดเน่าและทำให้เกิดกลิ่นขึ้นได้ หรือผู้ที่มีฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน มีหนองปลายรากฟัน ซึ่งหนองก็คือซากและของเสียที่ออกมาจากเชื้อแบคทีเรีย รวมทั้งอาหารที่เชื้อย่อยแล้ว ซึ่งหนองพวกนี้จะมีกลิ่นมาก

โรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์ มีการอักเสบของเหงือก เนื่องจากมีหินปูนและแผ่นคราบแบคทีเรีย ซึ่งทำให้มีการสะสมของเศษอาหาร มีการทำลายของอวัยวะรอบรากฟัน เหงือกอ้าออกจากตัวฟัน เศษอาหารเข้าไปสะสมได้ง่ายขึ้น และแปรงออกได้ไม่หมด นานๆ เข้าก็จะส่งกลิ่นออกมาได้ การแก้ไขคือ ต้องกำจัดหินปูนแผ่นคราบแบคทีเรียออกให้หมด การกำจัดหินปูนนั้น ต้องให้ทันตแพทย์ขูดออกให้ ในรายที่เหงือกอ้าออกมาก (ที่เรียกว่ามีกระเป๋าปริทันต์) และมีหินปูนเข้าไปสะสมอยู่มาก อาจต้องผ่าตัดเปิดเหงือกออกเพื่อที่จะกำจัดหินปูนได้หมด แล้วจึงเปิดเหงือกกลับเข้าไปตามเดิม ยาสีฟันที่โฆษณาว่ากำจัดหินปูนได้นั้นไม่เป็นความจริง ยาสีฟันอาจช่วยลดหรือไม่ทำให้เกิดการสะสมของหินปูน แต่ถ้ามีหินปูนอยู่แล้ว จะกำจัดออกได้วิธีเดียว คือให้ทันตแพทย์ขูดออก จากนั้นจึงดูแลเองด้วยการแปรงฟัน และใช้ยาสีฟัน ตามที่ถูกรสนิยม สำหรับผู้ที่เป็นและเคยรักษาโรคปริทันต์มาแล้ว การแปรงฟันเพียงอย่างเดียวไม่สามารถกำจัดคราบแบคทีเรีย หรือกำจัดคราบอาหารออกได้หมด ต้องใช้เครื่องมือทำความสะอาดเพิ่ม เช่น ไหมขัดฟัน แผ่นเทปรัดฟัน แปรงซอกฟัน เป็นต้น

การแก้ไขคือ อุดฟันซี่ที่มีการผุนั้นเสีย ถ้าผุทะลุโพรงประสาทแล้ว ก็ต้องรักษารากฟันและบูรณะฟันให้เรียบร้อย ถ้าผุมากจนไม่สามารถเก็บฟันไว้ และบูรณะให้ได้ดีเหมือนเดิมก็จะต้องถอนออก แล้วจึงใส่ฟันปลอมทีหลัง ถ้ามีเศษอาหารติดตามซอกฟันโดยที่ฟันไม่ผุ ก็ต้องกำจัดออกโดยใช้ไหมขัดฟัน ซึ่งอาจจะทำได้ทันทีเมื่อรู้สึกมีเศษอาหารติดหรืออย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง หลังหรือก่อนการแปรงฟันก็ได้ ซึ่งท่านจะขอคำแนะนำได้จากทันตแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาให้ท่าน

แผลในช่องปาก ก็ทำให้เกิดกลิ่นได้ เช่น แผลซิทิลิส แผลของเนื้องอกต่างๆ ในช่องปากจะส่งกลิ่นรุนแรงมาก เพราะแผลเนื้องอกนี้จะมีหนองและของเสียต่างๆ มาก การแก้ไขคือ รักษาแผลหรือเนื้องอกนั้นโดยเร็ว เมื่อแผลหายกลิ่นปากก็จะลดลง
นอกจากนี้กลิ่นปากอาจเกิดขึ้นได้ภายหลังการถอนฟัน หรือผ่าตัดในช่องปาก เนื่องจากขณะมีแผลในปาก ผู้ป่วยมักจะใช้ฟันบดเคี้ยวอาหารอย่างปกติได้ไม่ถนัด การรับประทานอาหารอ่อน ทำให้มีอาหารติดฟันได้ง่ายและมากขึ้น แผลที่มีเลือดไหลซึม จะเป็นอาหารอย่างดีของเชื้อโรค เชื้อโรคในช่องปากนั้นมากขึ้น ทำให้เกิดการบูดเน่าของอาหารและเลือด มีกลิ่นเหม็นได้

การแก้ไขคือ ขณะมีแผลในปาก ก็ไม่ควรละเลยทำความสะอาดช่องปาก หลังรับประทานอาหารควรแปรงฟันทันทีเพื่อไม่ให้คราบอาหารเกาะฟันนาน จะแปรงออกได้ง่ายกว่า ควรใช้แปรงปัดเบาๆ ถ้าอ้าปากหรือแปรงฟันไม่ได้ ให้บ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ ทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร ใช้ผ้ากอซชุบน้ำอุ่นพันนิ้ว เข้าไปเช็ดตามฟันเท่าที่จะทำได้ จะทำให้รู้สึกสบายขึ้น ลดกลิ่นปากลงได้ เมื่อแผลหายและแปรงฟันหรือทานอาหารได้ตามปกติแล้ว กลิ่นปากก็จะหายไป

ผู้ที่ใส่ฟันปลอม หรือใส่เครื่องมือต่างๆ ในปาก เช่น เครื่องมือจัดฟัน เครื่องมือกันฟันล้มเก หรือเฝือกสบฟัน เป็นต้น เครื่องมือเหล่านี้ ถ้ารักษาความสะอาดไม่ดีจะทำให้กลิ่นได้ โดยเฉพาะเครื่องมือที่ทำด้วยอคริริก หรือมีส่วนของอคริริก (คล้ายพลาสติก) อยู่ด้วย เนื้ออคริริกจะมีรูพรุน จะดูดซึมของเหลวต่างๆ ได้บ้าง ถ้าล้างไม่สะอาด อาหารก็จะบูดเน่าติดอยู่กับเครื่องมือ ทำให้มีกลิ่นได้ ดังนั้นจึงควรทำความสะอาดเครื่องมือทุกครั้งหลังจากถอดแล้ว และถ้ายังไม่ใส่ต่อควรแช่ไว้ในน้ำสะอาดและก่อนใส่ควรทำความสะอาดอีกครั้ง ฟันปลอมที่ใส่มานานแล้ว ถ้ามีคราบหรือหินปูนเกาะ อาจใช้น้ำยาสำหรับแช่ฟันปลอมโดยเฉพาะ แช่ได้เป็นครั้งคราวหรือนำมาให้ทันตแพทย์ทำความสะอาดให้

บางครั้งกลิ่นปากจะเกิดขึ้นได้จากสภาพหรือสภาวะของร่างกาย เช่น ในเด็กแรกเกิดจนถึงระยะหย่านมมารดา ปากจะมีกลิ่นหอม เมื่อโตขึ้นเริ่มมีกลิ่นมากขึ้น ขึ้นกับระบบการย่อยและเผาผลาญของร่างกาย และจะมากน้อยขึ้นกับสุขภาพช่องปาก ของแต่ละคนด้วย

น้ำลาย ก็มีส่วนทำให้เกิดกลิ่นปากได้ ถ้ามีอัตราการไหลของน้ำลายน้อย น้ำลายก็จะออกมาน้อย ชำระล้างเศษอาหารได้ไม่หมด ก็จะทำให้มีกลิ่นปากได้ จึงมักพบว่ามักจะมีกลิ่นปากตอนตื่นนอน เพราะขณะหลับมีการไหลเวียนของน้ำลายน้อย ผู้ที่มีน้ำลายข้นเหนียวก็จะชำระล้างเศษอาหารได้ไม่ดีเท่าผู้ที่มีน้ำลายใส ดังนั้นถ้ารู้สึกว่าปากแห้งคอแห้ง ควรจิบน้ำบ่อยๆ

ลิ้น ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นสาเหตุของกลิ่นปากได้ การที่ลิ้นเป็นฝ้าเนื่องจากมีการสะสมของเศษอาหารและแบคทีเรีย บนผิวของลิ้นด้านบน ซึ่งจะมีลักษณะเป็นแท่งเล็กๆ เต็มไปหมด วิธีกำจัดฝ้าที่ลิ้น โดยใช้แปรงสีฟันแปรงลิ้นด้วยขณะแปรงฟัน หรือใช้ผ้าหรือไหมขัดฟันขูดออก ปัจจุบันมีผู้ทำไม้ขุดลิ้นขาย ซึ่งก็ทำความสะอาดลิ้นได้ดี แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก การรับประทานอาหารที่มีกาก ก็จะช่วยขัดถูกลิ้นได้ เช่น ฝรั่ง สับปะรด อ้อย

สาเหตุนอกช่องปาก

จะเกี่ยวข้องกับระบบต่างๆ ของร่างกายดังต่อไปนี้

โรคระบบทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งเริ่มแต่จมูก คอ จนถึงหลอดลม ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบลมหายใจและลมที่ออกจากปากจะมีกลิ่นเหม็นได้ เช่นโรคโพรงจมูกอักเสบหรือที่เรียกว่า ไซนัสอักเสบ เกิดจากการมีของเหลว หรือหนองอยู่ในโพรงอากาศของกระดูกใบหน้า ซึ่งมีหลายโพรง การอักเสบจนมีหนองนี้จะทำให้มีกลิ่นออกมา กลิ่นนี้จะออกมาทางจมูกและขณะหายใจ และทางปากขณะพูด ผู้ที่เป็นหวัดเรื้อรังนานๆ จะทำให้โพรงจมูกอักเสบได้ ดังนี้จึงไม่ควรปล่อยให้เป็นหวัดบ่อยๆ หรือเป็นนานๆ ควรรักษาให้หาย ขนาดการรับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อโรค และทำให้หนองหรือการอักเสบหายไปนั้น ควรทานให้ครบตามจำนวนที่แพทย์สั่ง มิฉะนั้นอาการต่างๆ จะไม่หายขาด และกลับเป็นใหม่ได้อีก และอาจทำให้เชื้อโรคดื้อยาได้อีกด้วย

โรคมะเร็งที่โพรงจมูก จะมีกลิ่นเหม็นมาก ผู้ป่วยมักจะรู้ตัวเอง และจะมีหนองไหลออกจากจมูกลงไปในคอเวลาก้มศีรษะซึ่งจะต้องปรึกษาแพทย์

โรคทอนซิลอักเสบ ผู้ที่เจ็บคอขณะที่มีการอักเสบ ผู้ที่เจ็บคอขณะที่มีการอักเสบในลำคอหรือต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรังก็จะมีกลิ่นปากได้ และจะหายไปได้เมื่อคออักเสบ ผู้ที่คอแห้ง ปากแห้งมากๆ ก็ทำให้มีกลิ่นปากได้ วิธีแก้ไขคือให้จิบน้ำบ่อยๆ

ระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง คือ ปอด ผู้ที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง วัณโรคปอดหรือมะเร็งที่ปอด จะมีกลิ่นออกมากับลมหายใจและออกจากปากได้ ผู้ที่สูบบุหรี่นานๆ ก็ทำให้ลมหายใจและลมปากมีกลิ่นได้

ระบบย่อยอาหารเริ่มตั้งแต่ปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้
ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร มีแผลในกระเพาะอาหาร หรือมีหนองอาจมีกลิ่นออกมาขณะพูดหรือเรอได้
ผู้ที่ระบบย่อยอาหารไม่ดี ท้องอืดท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อยเป็นประจำ เมื่อมีลมออกจากกระเพาะก็จะมีกลิ่นตามออกมาด้วย ซึ่งจะมีกลิ่นเหมือนอาหารบูด

ระบบขับถ่าย ผู้ที่ระบบขับถ่ายไม่ดี ท้องผูกบ่อยๆ เมื่อมีลมดันขึ้น หรือเรอออกก็จะทำให้มีกลิ่นได้เช่นกัน
นอกจากนี้กลิ่นปากยังเกิดได้จากการมีสารมีกลิ่นถูกดูดซึมเข้าทางกระแสโลหิต และถูกขับถ่ายออกทางลมหายใจ หรือทางเหงื่อ ทางน้ำลาย ทางปัสสาวะ สารที่ถูกดูดซึมเข้าไปนี้อาจมาจากอาหาร เครื่องดื่ม ยาหรือมีการสะสมของสารที่ผิดปกติในเลือด

อาหารที่ทำให้เกิดกลิ่น เช่นหัวหอม กระเทียม เครื่องเทศ สะตอ การรับประทานอาหารพวกนี้จะทำให้มีกลิ่นปากได้ แต่เมื่อถูกย่อย ดูดซึม และขับถ่ายออกหมดกลิ่นก็จะหายไป แต่ถ้ารับประทานอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้มีกลิ่นปากอย่างต่อเนื่องได้ด้วย
เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด เช่น เหล้า เบียร์ ก็ทำให้มีกลิ่นปาก ยาบางชนิดก็เช่นกันอาจเกิดกลิ่นได้ เช่นยา disufiram ที่ใช้รักษาผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรัง จะทำให้มีกลิ่น aldehyde ออกมา ยาที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคจิตบางตัวก็ทำให้มีกลิ่นได้

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นการรวบรวมสาเหตุที่ทำให้เกิดกลิ่นปาก ท่านที่คิดว่าเป็นผู้ที่มีกลิ่นปาก คงพอจะทราบหรือสำรวจตัวเองได้บ้างว่าเกิดจากอะไร และจะแก้ไขได้อย่างไรและอย่าเพิ่งวิตกกังวลว่า ท่านจะมีโรคร้ายแรงอะไรอยู่ภายในร่างกาย สาเหตุส่วนใหญ่ของกลิ่นปากจะมาจากภายในช่องปาก ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับความสะอาดของเหงือกและฟัน ส่วนที่พบบ่อยภายนอกปากคือ โรคไซนัสและคออักเสบ

บางท่านวิตกกังวลว่าจะมีกลิ่นปาก ทั้งๆ ที่สุขภาพในช่องปากและสุขภาพทั่วไปดีมาก เมื่อมาพบทันตแพทย์ตรวจสภาพช่องปากก็ปกติดี กลิ่นที่ท่านตรวจพบอาจเป็นกลิ่นน้ำลาย หรือกลิ่นอาหารที่รัปบระทานเข้าไป ซึ่งจะมีแค่ชั่วครั้งชั่วคราวแล้วจะหายไปเอง เมื่อถูกดูดซึมหรือขับออกจากร่างกายหมดแล้ว

การตรวจว่ามีกลิ่นปากหรือไม่โดยให้ผู้ป่วยอ้าปาก แล้วพ่นลมออกทางปากเบาๆ ถ้าได้กลิ่นแสดงว่ามีกลิ่นปาก ถ้าจะแยกกลิ่นนี้ว่ามีจากระบบหายใจหรือมาจากช่องปาก โดยให้ผู้ป่วยปิดปากให้แน่น แล้วหายใจออกทางจมูกแรงๆ ถ้าได้กลิ่นอย่างเดิม แสดงว่ากลิ่นนั้นเกิดจากระบบหายใจ แต่ถ้ากลิ่นหมดไป ก็คิดว่ากลิ่นนี้ควรมาจากช่องปาก อาจตรวจให้แน่ใจอีกครั้งโดยอุดจมูก แล้วให้ผู้ป่วยหายใจออกทางปากเบาๆ ถ้ามีอีกแสดงว่าเกิดจากภายในช่องปาก

การใช้น้ำยาบ้วนปาก เพื่อดับกลิ่นปากนี้ มักจะเป็นน้ำยาบ้วนปากที่ผสมน้ำยาฆ่าเชื้อโรค มักใช้เมื่อมีอาการอักเสบ มีการติดเชื้อหรือมีแผลในช่องปากหรือลำคอเท่านั้น ไม่ใช้บ่อยๆ เป็นประจำโดยไม่ได้ดูแลสุขภาพ หรือกำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดกลิ่นปากนั้นออกไป เช่น โรคเหงือกอักเสบ โรคฟันผุ หรือรากฟันเป็นหนอง ถ้าไม่กำจัดต้นเหตุพวกนี้ออกไป กลิ่นปากก็จะไม่มีวันหมดไปได้ และเหตุผลที่ไม่แนะนำให้ใช้น้ำยาบ้วนปาก ที่ผสมน้ำยาฆ่าเชื้อโรคอย่างต่อเนื่อง เพราะยาจะไปทำลายเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ตามปกติในช่องปากให้หมดไป จะทำให้ติดเชื้อราได้ง่ายและถ้าเป็นเชื้อราแล้วการรักษาค่อนข้างยากและหายช้า น้ำยาที่กล่าวถึงนี้ไม่รวมน้ำยาบ้วนปากที่ผสมฟลูออไรด์ ซึ่งทันตแพทย์แนะนำให้อมบ้วนปาก เพื่อป้องกันฟันผุ แต่ควรเลือกชนิดที่ไม่มีน้ำยาฆ่าเชื้อโรคผสมอยู่

ท่านที่มีกลิ่นออกมากับลมหายใจหรือมีกลิ่นปากทั้งๆ ที่สุขภาพในช่องปากดี ควรไปพบแพทย์เพื่อให้ตรวจหาสาเหตุของกลิ่นปากนั้น แต่ถ้าสุขภาพร่างกาย และภายในช่องปากก็ปกติดี การมีกลิ่นปากเพียงเล็กน้อยก็ถือเป็นเรื่องปกติได้ ขอแต่ว่าอย่าถึงกับทำความรำคาญให้กับตัวเองและรบกวนผู้อื่นเป็นใช้ได้



[ที่มา..หนังสือ นิตยสารใกล้หมอปีที่ 23 ฉบับที่ 7-8 กรกฎาคม-สิงหาคม 2542]

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21] resolution 800x600