มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://www.oocities.org/Tokyo/Harbor/2093/
จำสั้นๆ i.am/thaidoc



อาการเหล่านี้เป็นอาการของภรรยาที่มีสามี "ทำงานหนัก"
ทำให้มีเวลากับภรรยาและครอบครัวค่อนข้างน้อย
จึงก่อให้เกิดความไม่เข้าใจ ความไม่ไว้วางใจในสิ่งที่สามีทำ
นำมาซึ่งพฤติกรรม "ทอนกำลัง"


 งาน VS ภรรยา เธอรักใครมากกว่า ?


ภรรยาจำนวนไม่น้อยเก็บอาการเหล่านี้ไว้ด้วยใจที่ไม่เป็นสุข
วิตกกังวล...ไม่รู้ว่าเวลานี้สามีของตนทำอะไร อยู่ที่ไหน อยู่กับใคร
เหงา...สัปดาห์หนึ่งมี 168 ชั่วโมง สามีมีเวลาพูดคุยกับเราและลูกๆ สูงสุดไม่ถึง 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
น้อยเนื้อต่ำใจ...สงสัยเราจะไม่งดงามสะสวยเหมือนเมื่อ 15 ปีก่อน เขาจึงไม่เคยพาเราออกงาน
โกรธไม่พอใจ...วันๆ เอาแต่ออกไปพูดคุยกับชาวบ้าน ทำงานรับใช้ประชาชน กิจกรรมเพื่อสังคมเต็มไปหมด ไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย แต่มาทำท่าเหนื่อยเมื่อกลับมาถึงบ้าน
ไม่ไว้วางใจ...สามีของเรารักใครมากกว่ากัน รักเรา หรือรักงาน ???

อาการเหล่านี้เป็นอาการของภรรยาที่มีสามี "ทำงานหนัก" ทำให้มีเวลากับภรรยา และครอบครัวค่อนข้างน้อย จึงก่อให้เกิดความไม่เข้าใจ ความไม่ไว้วางใจในสิ่งที่สามีทำนำมาซึ่งพฤติกรรม "ทอนกำลัง"

ภรรยานักการเมืองคนหนึ่งไม่พอใจสามีเวลาออกไปหาเสียง ออกไปพบปะประชาชน จนแทบไม่มีเวลาให้กับครอบครัว เมื่อสามีกลับมาถึงบ้านก็มักจะชวนทะเลาะในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อยู่เสมอ และเกิดความรู้สึกว่าไม่อยากให้สามีทำงานดังกล่าว ทั้งๆ ที่งานนั้นเป็นงานรับใช้สังคม เสียสละเพื่อประโยชน์ของคนส่วนมากจนสามีรู้สึกอึดอัด ทั้งเหนื่อย ทั้งหนักใจ และเสียใจที่ภรรยาไม่เห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ

เมื่อภรรยาทอนกำลังสามีมากขึ้น ความขัดแย้งระหว่างกันทวีสูงขึ้น ในที่สุดก็อาจนำไปสู่การที่สามีต้องตัดสินใจว่าจะเลือก "งานที่เป็นอุดมการณ์" หรือเลือก "ภรรยา" ที่เราตกลงปลงใจจะใช้ชีวิตร่วมกัน
หากเลือกงานก็สุญเสียครอบครัว...ทั้งๆ ที่ไม่อยากเสีย
หากเลือกครอบครัวก็เสียงาน...ทั้งๆ ที่ไม่อยากเสียเช่นเดียวกัน

ในความเป็นจริง ทางออกในเรื่องเช่นนี้ "จำเป็น" ต้องเลือกด้วยหรือ ?

ผมคิดว่า ทางเลือกทั้งสองนี้ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเลย หากสามีและภรรยาทุกคู่ทำให้ "งาน" กับ "ครอบครัว" เดินไปในเส้นทางเดียวกันได้ โดยทั้งสองคนเปลี่ยนมุมมองและวิธีปฏิบัติต่อเรื่องดังกล่าวเสียใหม่

มุมมองภรรยา...แต่งงานคือ "แต่งกับงาน" ของเขา

ผู้ชายในฐานะสามี เปรียบเสมือนคนไต่เขา เขากำลังขึ้นสู่ที่สูง บางครั้งก็ต้องลุยเข้าไปในป่ารก สิ่งที่จะช่วยให้เขาไต่ถึงยอดเขาได้เร็วที่สุด มิใช่สัมภาระอันหนักอึ้ง แต่คือคนๆ หนึ่งที่ช่วยดันหลังเมื่อปีนที่สูง ช่วยกันหาทางออกเมื่อหลงทางในป่ารก ช่วยเตรียมอาหารและที่พักยามพลบค่ำ ช่วยทำแผลเมื่อบาดเจ็บ ช่วยกันคิดวางแผนในวันถัดไป ฯลฯ เขาต้องการคนเช่นนี้แหละที่จะ "สนับสนุน" เขาให้ฝ่าหันสู่เส้นชัย แห่งความสำเร็จได้ตามต้องการ

ภรรยาจึงควรเป็น "ผู้สนับสนุนสามี" สู่หลักชัยมิใช่เป็นสัมภาระ ที่ถ่วงรั้งยิ่งเดินยิ่งหนัก ยิ่งเดินยิ่งทุกข์ยากลำบาก

ภรรยาควรจะเปลี่ยนทัศนคติในการมองสามีและมองตนเองเสียใหม่ หากต้องการมีความสุขในชีวิตครอบครัวเริ่มด้วยความคิดที่ว่า "เมื่อเราตัดสินใจแต่งงานกับเขา เราตัดสินใจ "แต่งกับงาน" ของเขาด้วย" โดยมีความเข้าใจโลกแห่งความเป็นจริงว่า งานและความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน คือความปรารถนาที่สูงส่งยิ่งของสามีในฐานะหัวหน้าครอบครัว สิ่งที่สามีต้องการคือ การสนับสนุนจากสมาชิกในครอบครัวมิใช่การทอนกำลัง ภรรยาจึงควรเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของสามี โดยทำหน้าที่เป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุน เพื่อให้สามีประสบความสำเร็จ ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเสริมจุดอ่อนของสามี ช่วยทำในสิ่งต่างๆ เพื่อสามีจะไม่ต้องเสียเวลาทำ มีทัศนคติ และมองสามีในแง่บวกเสมอ พูดจากให้กำลังใจสามีอยู่เสมอ

ผมซาบซึ้งและประทับใจภรรยาของผมมาก เธอเป็น "ผู้สนับสนุน" แผนงานและเป้าหมายต่างๆ ในชีวิตของผม ช่วยให้ผมทำงานได้มากขึ้น และประสบความสำเร็จตามความตั้งใจ เธอได้มาช่วยเสริมในบทบาทต่างๆ ของผมเพื่อให้ผมทำงานได้มากขึ้นและเสียเวลาน้อยลง ความประทับใจในการเป็นผู้สนับสนุนความสำเร็จในหน้าที่การงานประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ

ความเข้าใจ...ผมไม่อาจคาดเดาอนาคตของชีวิตครอบครัวผมได้ หากภรรยาไม่เข้าใจว่าผมกำลังทำอะไรอยู่ เพราะหน้าที่การงานของผมนั้น มีหลากหลายด้าน ต้องพบปะผู้คนมากมาย ทำให้มีเวลาสำหรับครอบครัวค่อนข้างน้อย แต่สิ่งหนึ่งที่ผมได้รับเสมอมาก็คือ กำลังใจจากภรรยา ความยิ้มแย้มแจ่มใสทุกครั้ง ที่ผมกลับถึงบ้าน ไม่ว่าผมจะกลับดึกดื่นค่ำมืดเพียงใด ภรรยาก็จะเข้าใจ และดูแลเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพร่างกาย เสื้อผ้า อาหาร และถามไถ่ถึงการงานที่ผมทำด้วยความห่วงใยเสมอ การที่ภรรยา เข้าใจในงานที่ทำแม้ตนเองไม่ได้เข้าร่วมก็เพียงพอที่จะเป็น "ยาชูกำลัง" เยี่ยมยอดให้สามีมีความกระตือรือร้นในการทำงาน เพื่อสู่เส้นชัยแห่งความสำเร็จในหน้าที่การงาน

มุมมองสามี...แต่งงานคือ
การเชิญภรรยาเป็นหุ้นส่วน "งาน" ที่ทำ

ในทางตรงกันข้าม ครอบครัวผมจะไม่ราบรื่นหากผมในฐานะ "สามี" ไม่ได้ปฏิบัติตนอย่างดีให้สมกับที่ภรรยาไว้วางใจ สิ่งที่ผมอยากแนะนำให้สามีที่มี "งานยุ่ง" ถึง "ยุ่งมากเป็นพิเศษ" ปฏิบัติต่อภรรยาเพื่อเป็นแนวทางสานชีวิตให้ยั่งยืนก็คือ

มองภรรยาเป็น "คู่ชีวิต" ไม่ใช่ "แม่บ้าน" สามีบางรายวางตำแหน่งภรรยา เป็นเพียง "แม่บ้าน" โดยมอบหมายการจัดการดูแลบ้าน งานเลี้ยงบุตร ให้เป็นหน้าที่ของภรรยา และคิดว่าภรรยาพึงพอใจอยู่เพียงเท่านั้น ตามบทบาทหญิงไทยที่มีมาแต่โบราณ ความคิดเพียงเท่านี้เป็นเหตุ ให้เกิดความขัดแย้งในครอบครัวเพราะจะเกิดการแยกส่วนระหว่าง "งานของภรรยา" กับ "งานของสามี" ภรรยาจะรู้น้อยมากว่าสามีทำอะไร แต่ละวันใช้เวลาอย่างไร สามีจะเล่าถึงงานที่ตนเองทำให้ภรรยาฟังน้อยมาก และยิ่งกว่านั้นจะไม่เคยขอคำปรึกษา จากภรรยาเลย ภรรยาย่อมเกิดความรู้สึกว่า ตนเองถูกตัดออกจากโลกการทำงานของสามี เกิดความรู้สึกว่าตนเองไม่ได้เข้าไปนั่งอยู่ในใจของสามีเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าน้อยลงอันเนื่องมาจากความไม่รู้และอาจเป็นเหตุให้เกิดการอิจฉา บุคคลที่ทำงานใกล้ชิดสามีของตนยิ่งกว่าตน ในที่สุดจะเป็นเหตุให้ความสัมพันธ์ ระหว่างกันไม่ราบรื่น

ทางออกที่สมดุลก็คือ การเห็นภรรยาเป็นคู่ชีวิต หรือเป็นหุ้นส่วนชีวิตของกันและกัน สามีควรพูดคุยกับภรรยาเรื่องหน้าที่การงานของตนอย่างสม่ำเสมอ ขอคำแนะนำหรือความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ จากภรรยา เพื่อทำให้ภรรยารู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จด้านการทำงานของสามี ในขณะเดียวกันภรรยาก็ควรที่จะปรับตัวให้ทันกับการงานของสามีด้วย และไม่ใช่สนใจแต่งานในหน้าที่แม่บ้านของตนเองเท่านั้น นอกจากนั้นสามีก็ควรทำหน้าที่ภรรยาเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้เกิดความรู้สึกผูกพัน และมีความเข้าใจกันและกันอย่างแท้จริง สิ่งนี้จะทำให้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ไม่ต้องระแวงสงสัยกันอีกต่อไป ปัญหาความสัมพันธ์ระหองระแหงในประเด็นนี้ก็จะค่อยๆ หมดไป

ผมอยากปิดท้ายด้วยข้อคิดของบุคคลคนหนึ่ง เขาได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า "ไม่มีสิ่งใดน่าตื่นเต้นมากกว่าการสนับสนุนภรรยาที่มีสติปัญญาและให้ภรรยาสนับสนุนเรา การแต่งงานคือ การเป็นหุ้นส่วนชีวิตที่ต่างเป็นแรงบันดาลใจให้กันและกัน อันจะนำมาซึ่งความงอกงามในชีวิตของทั้งสองคน"

ชีวิตสมรสจะเป็นชีวิตที่มีความสุขมากที่สุด หากทั้งสามีและภรรยา เป็นหุ้นส่วนชีวิตของกันและกัน ภรรยาสนับสนุนการทำงานของสามี สามีสนับสนุนการทำงานของภรรยา การสนับสนุนซึ่งกันและกัน จะช่วยทวีคูณความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน แม้ว่าจะทำคนละหน้าที่ คนละบทบาท และมีความสำคัญมากน้อยแตกต่างกันก็ตาม

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์



[ ที่มา... นิตยสารแม่และเด็ก   ปีที่ 22 ฉบับที่ 334 ธันวาคม 2542 ]

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21] resolution 800x600