มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://www.oocities.org/Tokyo/Harbor/2093/
จำสั้นๆ i.am/thaidoc



อยากมีลูกจังเลย


"คุณหมอคะ หนูแต่งงานมาตั้งหลายปีแล้ว ยังไม่เคยท้องเลยค่ะ หนูอยากมีลูกมาก ทำไมไม่ท้องซักทีคะ"
เป็นคำถามของคุณเธอ วัยสามสิบเศษ
พูดถึงสาเหตุของการไม่ท้องนั้น มีอยู่มากมาย ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย
การจะตรวจให้ทราบสาเหตุภายในวันสองวันนั้นคงเป็นไปไม่ได้ แต่การตรวจหาสาเหตุจะค่อยเป็นค่อยไปตามขั้นตอน พร้อมๆ กับการรักษาเพื่อให้ตั้งครรภ์

จนแล้วจนรอดก็ไม่ยอมตั้งครรภ์ซักที แม้ว่าจากการตรวจหาสาเหตุขั้นต้น จะไม่พบอะไรผิดปกติเลย เช่นว่า เชื้อสเปิร์มของสามีก็แข็งแรง ท่อรังไข่ก็มีตกออกมาตามเวลาทุกเดือน แต่ก็ไม่มีวี่แววว่าจะท้องซักกะที

"ทำไมไม่ท้องคะหมอ" เป็นคำถามที่พบได้เป็นปกติจากคุณคนไข้
ฝ่ายหมอเองก็มักจะตอบอยู่ในใจว่า
"ก็นั่นนะซี ทำไมนะถึงไม่ท้อง ในเมื่ออะไรๆ ก็ดูปกติหมด"
แต่หมอมักจะตอบคนไข้ว่า
"ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไรกันแน่"

เมื่อเป็นเช่นนี้ การคาดคะเนถึงสาเหตุว่าทำไมไม่ท้องจึงอยู่ที่ว่าไข่กับสเปิร์มคงจะไม่จ๊ะเอ๋กัน ครับแม้ว่า มีไข่ตกออกมา แล้วก็มีสเปิร์มวิ่งเข้าไป แต่ก็ใช่ว่าทั้งสองจะต้องมาเจอกันเสมอไป เมื่อไม่พบไม่เจอกัน มันก็เลยไม่ท้อง

ปัญหาเช่นนี้ ต้องได้รับการแก้ไขจึงบังเกิดเรื่องของการทำกิฟขึ้นมาไงหละครับ คุณหมอจะเอาไข่กับตัวสเปิร์มมาใส่รวมกันโดยใช้ท่อพลาสติกเล็กๆ สอดเข้าไปทางหน้าท้อง นำเอาทั้งสองอย่างไปปล่อยที่บริเวณส่วนปลายท่อรังไข่ เอาเป็นว่าปล่อยไว้ บริเวณที่ไข่กับสเปิร์มจะเจอกันตามครรลองของธรรมชาติเป๊ะเลย

แต่จนแล้วจนรอดการตั้งครรภ์ก็ไม่เกิดขึ้นทั้งๆ ที่มีไข่มีสเปิร์มแล้วพบกันแล้วที่จุดนัดพบ แถมเจอกันทีเป็นกลุ่ม ไข่ตั้งสามสี่ใบกับสเปิร์มอีกหนึ่งฝูงใหญ่นับได้เป็นล้านตัว แต่ก็ไร้วี่แวววของการตั้งครรภ์ตามมา หลังจากทำกิฟไปแล้วร่วมหลายสัปดาห์ต่อมา
"ทำไม และทำไม"
คงเป็นคำถามคาใจ ใช่ว่าจะเฉพาะตัวคนไข้เอง คุณหอมก็คงจะต้องสงสัยด้วยเช่นกัน
"ว่าทำไม"
จะต้องหาหนทางแก้ไขและนั่นเป็นที่มาของการทำเด็กหลอดแก้วไง

ด้วยเหตุผลที่ว่าในการทำกิฟนั้นแม้จะมีไข่และตัวอสุจิครบเครื่องแล้วก็ตาม แต่คงไม่มีใครสามารถการันตีได้ว่าไข่จะได้รับการปฏิสนธิขจากสเปิร์ม จนเป็นที่เรียบร้อยโรงเรียนจีนอาจจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยก็เป็นได้

อย่ากระนั้นเลย ต้องให้เห็นกันจะจะว่าไข่ได้รับการปฏิสนธิหรือไม่

การเอาไข่มาผสมกับตัวอสุจิแล้วนำไปพักเป็นตัวอ่อนในห้องแล็บ แล้วสุดท้ายก็ทราบว่า มีการปฏิสนธิหรือไม่ในตอนต้นนั้น ทางคุณหมอสามารเลี้ยงตัวอ่อนหลังจากเกิดปฏิสนธิกันแล้ว โดยสามารถเลี้ยงต่อได้แค่สองสามวันเท่านั้นคือ เซลล์ไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว จะมีการแบ่งเซลล์จากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสี่ จากสี่ก็เป็นแปด แล้วก็จบแค่นั้น ขืนเลี้ยงต่อตัวอ่อนก็จะสู้กับสภาพแวดล้อมไม่ไหว จะชิงฝ่อตายไปเสียก่อน เมื่อเป็นเช่นนี้ คุณหมอก็จะเชิญตัวอ่อนที่มีอายุได้แค่สองวันหรือสามวัน ใส่เข้าไปไว้ในโพรงมดลูก

จะว่าไปแล้วอายุของตัวอ่อนเพียงแค่สองสามวันนั้นยังไม่เหมาะสม กับการฝังตัวอยู่ในโพรงมดลูกหรอกครับ มันต้องประมาณห้าวัน หรือต้องอยู่ในวัยที่เหมาะสม คือวัยที่เรียกว่า "บลาสโตซีส"

การใส่คืนตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูกด้วยวัยไม่เหมาะสมดังกล่าว เป็นเหตุให้ความสำเร็จของการทำเด็กหลอดแก้วไม่มากเท่าที่ควร คือประมาณ 20-30% เท่านั้น ได้น้อยกว่าเสีย ขาดทุนมากกว่ากำไร
และการลงทุนแต่ละครั้งก็ใช่ว่าจะน้อยซะเมื่อไหร่ เหยียบแสนบาทกันเลยทีเดียวเชียวหละ คู่สมรสบางคู่เข้าใจแบบง่ายๆ ว่า เสียเงินเยอะขนาดนั้นหมายความว่าต้องได้ลูกอย่างแน่นอน ไม่ถามไถ่เสียให้ดี หมอเองก็ไม่ได้บอกจึงไปกู้หนียืมสินชาวบ้านมาทำเด็กหลอดแก้ว สุดท้ายได้แค่หลอดแก้ว ไม่ได้เด็กตามที่หวัง
เลยชีช้ำกะหล่ำปลี พร้อมหนี้สินอีกจำนวนหนึ่ง

สิ่งเหล่านี้ใช่ว่าทางแพทย์จะสบายใจ
เมื่อตัวอ่อนที่ได้ยังไม่เหมาะสมที่จะฝังตัวในโพรงมดลูกของแม่ การค้นคว้าปรับปรุงก็คงมีเรื่อยมา จนกระทั่งมาวันนี้ ทางแพทย์สามารถเลี้ยงตัวอ่อนได้ จนกระทั่งอยู่ในวัยบลาสโตซีสแล้ว เรียกว่าเป็นวัยที่พร้อมจะอยู่ในโพรงมดลูกแล้วหละ และได้มีการทำกันมามากพอสมควรแล้วด้วย

ก็พบว่าความสำเร็จมีเพียงประมาณ 50% ซึ่งว่าไปแล้วก็ยังไม่มากสมใจปรารถนาเท่าใดนัก เหมือนกับปั่นหัวก้อยโอกาสถูกกินก็เยอะอยู่เหมือนกัน
"ทำไมถึงไม่ท้องล่ะ ในเมื่อดูเหมือนจะพร้อมแล้วทุกอย่าง"
คงเป็นคำถามของใครบางคนและคำตอบก็น่าจะเป็น
"ก็น่านนะซี ทำไมถึงไม่ท้องให้รู้แล้วรู้รอดไปซะที"
ชักจะเบื่อแล้วนา

ครับบางครั้ง ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายทั้งคนไข้และหมอที่ทำการรักษา แล้วจะมีอะไรดีไปกว่านี้มั้ย
คำตอบก็คือว่า
"ตอนนี้ยัง...ยังไม่มีอะไรดีไปกว่าบลาสโตซีส"
หากจะมีมากกว่าขั้นบลาสโตซีสก็เห็นจะไม่ต้องอาศัยมดลูกของแม่เพื่อการตั้งครรภ์อีกแล้ว
นั่นก็หมายความว่า เลี้ยงตัวอ่อนให้เติบโตต่อไปในห้องแล็บไปเลยทีเดียว จะได้เด็กขวดโหลกันก็คราวนี้แหละ

น.พ.พนิตย์ จิวะนันทประวัติ



[ ที่มา... นิตยสารแม่และเด็ก   ปีที่ 22 ฉบับที่ 331 กันยายน 2542 ]

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21] resolution 800x600