|
จริงหรือไม่ที่......
- โรคกระดูกพรุนเป็นโรคของคนอายุมาก
- ผู้ชายไม่ต้องกังวลกับปัญหาเรื่องกระดูกพรุน
- ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน จะเริ่มมีปัญหาเรื่องกระดูกพรุน
- การป้องกันปัญหากระดูกพรุนต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก
- น้ำอัดลมมีผลให้กระดูกพรุน ฯลฯ
|
ลองมาเริ่มไขข้อ ข้องใจกับ รศ.น.พ.สังคม จงพิพัฒน์วณิชย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูก
โรงพยาบาลจุฬาฯ
|
"กระดูกพรุน" เป็นโรคของคนอายุมากจริงหรือ ?
|
คนเราเริ่มสะสมแคลเซียม องค์ประกอบสำคัญของกระดูก ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา
เพราะฉะนั้นจะบอกว่า "โรคกระดูกพรุน" เป็นเรื่องของคนอายุมาก...ไม่ได้ คนเข้าใจผิดเยอะเลยหมายความว่า
ถ้าเราเตรียมตัวไม่ดีตั้งแต่เด็กๆ โรคจะมาเห็นผลตอนอายุมาก มีโรคหลายโรค ถ้ารับประทานอาหารให้ถูกหลักตั้งแต่เด็ก
สามารถป้องกันโรคนั้นได้ เช่น โรคต่อมลูกหมาก โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งในอเมริกาน่าสนใจมาก
เขาวิจัยเด็กที่ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ และเสียชีวิตจากโรคต่างๆ โดยดูที่หลอดเลือดหัวใจแล้วพบว่า
ไขมันเริ่มสะสมในเส้นเลือดตั้งแต่ อายุ 2 ขวบ ยืนยันให้เห็นว่า โรคต่างๆ สะสมตั้งแต่วัยเยาว์ ทำนองเดียวกับเรื่องของ "แคลเซียม"
ถ้าสะสมไม่ดี ย่อมส่งผลเสียในเวลาข้างหน้า
|
ร่างกายมีโอกาสสูญเสียแคลเซียมได้ตลอดเวลา
|
อาหารที่รับประทานเข้าไป บางอย่างดูดซึมที่ลำไส้ สาร อาหารบางอย่างดูดซึมเข้าไปที่เลือด โดยเฉพาะ "แคลเซียม"
เมื่อร่างกายดูดซึมแล้วจะไปเก็บที่กระดูก กระดูกเป็นตัวเก็บแคลเซียมดีที่สุด แคลเซียมบางส่วนสูญเสียไปทางผิวหนังโดยเหงื่อ
แต่เหงื่อก็พาแคลเซียมออกไปได้ไม่มาก นอกจากนี้แคลเซียมยังสูญเสียออกไป ทางปัสสาวะ และอุจจาระ ได้อีกเล็กน้อย
แต่ไม่ต้องห่วงสมดุลระหว่างร่างกายและแคลเซียม มีความเกี่ยวข้องกันอย่างลงตัว ร่างกายจะตรวจสอบตัวเองโดยอัตโนมัติ
ว่าร่างกายได้แคลเซียมมาเท่าไร สูญเสียไปเท่าไร สะสมเท่าไร ถ้าแคลเซียมในเลือดต่ำ ร่างกายไม่เคยยอม
และจะพยายามทำทุกวิถีทางให้แคลเซียมในเลือดปกติ คุณสมบัติตรงนี้เองให้ทั้งผลดีและผลเสีย
ผลดี : ถ้าแคลเซียมในเลือดต่ำ และเรารับประทานอาหารที่มีแคลเซียมเข้าไปร่างกายจะพยายาม
ดูดซึมแคลเซียมนั้นไว้ทั้งหมด ไม่ยอมปล่อยให้แคลเซียมถูกขับออกจากร่างกาย นี่คือความเยี่ยมยอดอย่างหนึ่งของร่างกายมนุษย์
เมื่อขาดสารอาหารชนิดใด แล้วเรากินเข้าไปเพียงนิดเดียวร่างกายจะดูดซึมมหาศาล ไม่ยอมปล่อยให้ผ่านออกจากร่างกายไป
แต่ถ้าเรากินสารอาหารนั้นเกินความต้องการร่างกายก็จะขับออกโดยอัตโนมัติ
ผลเสีย : ถ้าแคลเซียมในเลือดต่ำ และเราไม่ได้รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมเข้าไปอย่างพอเพียง
ร่างกายจะดึงแคลเซียม ออกมาจากกระดูก บ่อเกิดแห่งโรคกระดูกพรุน
|
อะไรช่วยให้ร่างกายสะสมแคลเซียม
|
นอกจากอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมสูงย่อมช่วยให้ร่างกายมีแคลเซียมให้ดูดซึมอยู่แล้ว "ฮอร์โมน" บางชนิด
ก็มีผลต่อการสะสมแคลเซียมของร่างกาย ฮอร์โมน "แคลซิโตนิน" ทำให้กระดูกไม่ถูกย่อยสลาย
แพทย์ใช้สำหรับรักษาคนไข้กระดูกโปร่งบางโดยเฉพาะ "วิตามิน ดี" ก็ช่วยมากทำให้ลำไส้ดูดซึมแคลเซียม
และช่วยให้แคลเซียมไปเกาะที่กระดูก วิตามินดีมีมากในแสงแดด คนไทยไม่มีโรคขาดวิตามินดียกเว้นคนเป็นโรคบางโรค!
โรคชนิดไหนกันล่ะ?
นี่คือคำตอบ..... วิตามิน ดี ไม่ว่าร่างกายจะได้จากแสงแดดหรืออาหาร เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะยังไม่ทำงาน
ตัวมันเองยังไม่ออกฤทธิ์ทันทีจะออกฤทธิ์ก็ต่อเมื่อถูกเปลี่ยนที่ตับและเปลี่ยนอีกที ที่ไต ผลผลิตตัวสุดท้ายที่เปลี่ยนที่ไต
เป็นตัวที่ออกฤทธิ์ดีที่สุดทำให้แคลเซียมดูดซึมได้ดีกระดูกแข็งแรง คนที่จะเป็นปัญหาขาดวิตามินดี คือคนที่เป็นโรคตับอักเสบ
โรคตับเรื้อรัง ทำให้วิตามินดีไม่ถูกเปลี่ยนที่ตับเช่นเดียวกับคนที่เป็นโรคไต คนกลุ่มนี้ต้องเสริมวิตามินดี
เพื่อช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียม จึงจะเป็นผลดีต่อความแข็งแรงของกระดูก
นอกจากนี้ "วิตามิน ดี" จะละลายก็ในไขมันร่างกายจึงต้องการไขมันด้วยเช่นกัน
จะหลีกเลี่ยงไม่รับประทานอาหารประเภทไขมันทั้งหมด ก็ไม่ถูกควรรับประทานบ้างแต่น้อย
|
"สเตียรอยด์" ฮอร์โมนเจ้าปัญหา
|
ฮอร์โมนชื่อดังอีกชนิดหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับแคลเซียม คือ "สเตียรอยด์" ที่ใช้ในการรักษาโรคภูมิแพ้
โรคอักเสบต่างๆ แต่ปัญหาคือ สเตียรอยด์ทำให้กระดูกโปร่งบาง กระดูกผุง่าย
"สเตียรอยด์" ได้ฉายาว่าเป็นยาผีบอกขนานหนึ่ง ทำอะไรได้สารพัดนึก คนที่เจ็บไข้ได้ป่วยส่วนใหญ่
ชอบให้หมอฉีดยาด้วยกันทั้งนั้น บางแห่ง...ยาที่ฉีดแล้วลดไข้ได้ดีที่สุดคือสเตียรอยด์ ฉีดปั๊บ ไข้ลงปุ๊บ ฉีดเสร็จ พ่อแม่พอใจ
บอกหมอคนนี้เยี่ยม ยังไม่ทันออกจากร้าน....ไข้ลด ฤทธิ์ของ "สเตียรอยด์" อีกอย่างที่บางคนชอบเอาไปใช้คือทำให้รู้สึกดี
อยากกินอาหาร รู้สึกสบาย จิตใจสบาย ไม่โกรธใคร หรือที่เรียกว่า well being นิยมใช้กันแพร่หลาย
แต่ผลข้างเคียงของการใช้สเตียรอยด์ คือ กระดูกโปร่งบาง และทำให้ไม่เจริญเติบโตในเด็ก
รศ.น.พ.สังคม เล่าถึงคนไข้กรณีหนึ่ง ให้ฟังว่า มีเด็กคนหนึ่งมาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ มาด้วยโรคภูมิแพ้
แต่เด็กกลับมีลักษณะใบหน้ากลมอ้วนแป้น ที่เรียกว่ามีใบหน้าแบบ moon face มีไขมันสะสมที่หลัง
อันเป็นผลเนื่องมาจากสเตียรอยด์สะสม เพราะไปรักษาโรคภูมิแพ้ที่สถานบริการแห่งหนึ่ง
ซึ่งให้ยาสเตียรอยด์กินมานานเป็นแรมปี ในที่สุดพบว่ากระดูกโปร่งบางและสูญเสียการเจริญเติบโตทั้งหมด
"สเตียรอยด์" ถ้ากินนานเกินหนึ่งสัปดาห์ จะมีฤทธิ์กด ต่อมหมวกไต ซึ่งต่อมหมวกไตนี้มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนหลายตัว
ที่เป็นประโยชน์กับร่างกาย (ช่วยดูดซึมโซเดียม โปตัสเซียม) และสร้างสเตียรอยด์ด้วยเหมือนกัน
การที่ร่างกายได้รับสเตียรอยด์จากภายนอกเป็นเวลานานทำให้เลือดมีสเตียรอยด์สูงไปด้วย
เมื่อ "ต่อมหมวกไต" เห็นว่า ในเลือดมีสเตียรอยด์สูงแล้ว ต่อมหมวกไตก็จะไม่ทำงาน ร่างกายคนเราเป็นอย่างนั้น
ถ้าฮอร์โมนในร่างกายลดลง ต่อมที่ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนจะเร่งตัวเอง เพื่อผลิตฮอร์โมนชนิดนั้นๆ
ถ้าเรากินจากภายนอกเข้าไปมาก ต่อมได้รับข้อมูลผิด มันจะหยุดโดยอัตโนมัติและในที่สุดก็จะไม่ทำงาน
ผลก็คือ เกลือแร่ โปตัสเซียม โซเดียม สูญเสียไปจากร่างกายอย่างรวดเร็ว เพราะต่อมหมวกไตไม่ผลิตฮอร์โมน
ที่จะช่วยดูดซึมไว้ บางคนจึงมีอาการช็อกและเสียชีวิต นี่คือความสำคัญของต่อมหมวกไต
นอกจากนี้ การรับสเตียรอยด์เข้าสู่ร่างกายเป็นระยะเวลานาน ยังมีผลไปกดภูมิต้านทานของร่างกายอีกด้วย
แรกๆ ดูเหมือนดี มีอาการแบบที่เรียกว่า "เวล บีอิ้ง" แต่นานไป ภูมิต้านทานของร่างกายจะลดลง
ส่งผลให้ร่างกายติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ติดเชื้อง่ายได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะด้วยแบคทีเรียหรือไวรัส
|
"ฮอร์โมนเพศ" ฮอร์โมนสำคัญช่วย กระดูกแข็งแรง
|
"เอสโตรเจน" คือฮอร์โมนที่มาจาก รังไข่ในเพศหญิง ฮอร์โมนตัวนี้ช่วยความ แข็งแรงของกระดูก
พอถึง "วัยทอง" เอสโตรเจนจากรังไข่จะลดลง ปัญหาคือ กระดูกจะโปร่งบาง เพราะสูญเสียแคลเซียม ใน "วัยทอง"
ถ้ารังไข่ไม่ดี รังไข่ฝ่อ รังไข่ไม่ทำงาน ต้องกินเอสโตรเจนเพิ่ม ผู้ชายไม่มีรังไข่ แต่มี "ไข่"
ซึ่งทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพศชาย ฮอร์โมนตัวนี้ทำหน้าที่เหมือนเอสโตรเจน ถ้าไม่มี กระดูกก็โปร่งบางเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าหญิงหรือชายก็ต้องเอาใจใส่ต่อความแข็งแรงของกระดูกเหมือนกัน
|
ได้แคลเซียมแล้ว ต้องออกกำลังกายช่วย
|
การ "ออกกำลังกาย" เป็นหลักการทั่วๆ ไปสำหรับการรักษาสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพหัวใจหรือสุขภาพกระดูก
กระดูกจะแข็งแรงหรือไม่แข็งแรง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแคลเซียมอย่างเดียว ขึ้นอยู่กับ "การออกกำลังกาย" ด้วย
การทำให้กระดูกต้องรับน้ำหนัก จะทำให้แคลเซียมไป สะสมที่กระดูกได้ดี
ตัวอย่างการวิจัยที่เปิดเผยออกมาไม่นานนี้ จากการศึกษานักบินอวกาศช่วยยืนยัน
"เขาเอานักบินอวกาศที่อายุมากที่สุด อายุเกือบ 50 ปี ขึ้น ไปในอวกาศ เพื่อศึกษาเรื่องภาวะกระดูกพรุน
ในชั้นที่ไม่มีแรงดึงดูดของโลก ร่างกายไม่ต้องรับน้ำหนัก กระดูกไม่ต้องรับน้ำหนัก กินอาหารอย่างดี
พบว่านักบินอวกาศไม่จำเป็นต้องเป็นคนแก่ แค่รุ่นหนุ่มรุ่นสาวทั้งหลายถึงจะกินอาหารอย่างดีเมื่อลงมาสู่พื้นโลก
ได้อาทิตย์สองอาทิตย์หรือเดือนหนึ่งพบว่ากระดูกโปร่งหมด ร่างกายเสียแคลเซียม ไปอย่างรวดเร็วไปทางปัสสาวะ
แปลกไหม ร่างกายคนเราประหลาดมากเลย คุณรับน้ำหนักเยอะ คุณใช้งานเยอะ ผมให้แคลเซียมคุณเยอะ
คุณทำงานน้อย ผมให้แคลเซียมคุณน้อยเพราะฉะนั้น การออกกำลังกาย เป็นการช่วยสุขภาพได้ทั้งตัว"
การออกกำลังกายช่วยให้เลือดไปสมองเยอะ ทำให้สมองได้ออกซิเจนเต็มที่ ทำให้เซลล์ทุกเซลล์ในร่างกายได้ออกซิเจน
หน้าตาจึงผ่องใส การออกกำลังกายติดต่อกันอย่างน้อย 30 นาที การแพทย์พบว่าช่วยป้องกันโรคหัวใจ
สำหรับคนอายุมาก ควรเน้นการเดินเร็ว มากกว่าออกกำลังกายด้วยการวิ่งหรือการออกกำลังกาย
ที่ทำให้ข้อต่อของร่างกายต้องรับน้ำหนักมาก เพราะจะทำให้ข้อเสื่อม การรำมวยจีนเป็นการออกกำลังกายที่ดีสำหรับคนสูงอายุ
นอกจากจะฝึกสมาธิ ยังทำให้ข้อต่อของร่างกายได้เคลื่อนไหว คนอายุมากมักมีปัญหาเรื่องกระดูกและข้อเสื่อม
ข้อยึดติด กระดูกแข็ง หลังบิดไม่ไป การรำมวยจีน และน่าจะรวมไปถึงการรำไทย ให้ผลดีต่อความแข็งแรงของกระดูก
ที่สำคัญเมื่อออกกำลังกายไปได้ระยะหนึ่ง ถ้าหยุดพักแล้วสักครู่ ยังรู้สึกออกกำลังกายต่อไปไม่ไหว อย่าฝืน
เพราะการออกกำลังกายมากไป ก็ไม่ดี
|
30 ก็สายเกินไปที่จะสะสม แคลเซียม
|
การศึกษาพบว่า ร่างกายมนุษย์สะสมแคลเซียมตั้งแต่ยังเป็นทารกในครรภ์มารดา และยังพบด้วยว่า :-
- เด็กแรกเกิด-9 ขวบ มีความสามารถในการสะสมแคลเซียม 100 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว/วัน
- เด็กอายุ 10 ขวบ : 100-150 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว/วัน
- ช่วงวัยรุ่น : 200-400 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว/วัน
- ชายและหญิงอายุ 18 ปี : 50-100 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว/วัน
- ผู้ใหญ่อายุ 30 ปี : 0 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว/วัน ซึ่งหมาย ความว่า ใครก็ตามที่อายุ 30 ปี
ร่างกายจะไม่สะสมแคลเซียมอีกแล้ว
และหลังจากอายุ 30 ปีเป็นต้นไป ร่างกายจะเริ่มสูญเสีย แคลเซียมมากขึ้นเป็นลำดับ(ตามการแก่ตัว)
การเติมแคลเซียมให้ร่างกายหลังจากอายุ 30 ปี เป็นสิ่งจำเป็น แต่เป็นการเติม....เพื่อไม่ให้กระดูกพรุนมากขึ้นเท่านั้นเอง
|
แคลเซียมกับ "ความสูง"
|
ความสูงของคนเราเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดขณะที่อยู่ในท้องแม่ ภายใน 9 เดือน ร่างกายยืดออก 50 เซนติเมตร
หลังจากนั้นจะพบสถิติความสูงชุดหนึ่ง ที่เป็นดังนี้ :-
"แคลเซียม" มีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก การวิจัยพบว่า ในท้องที่ที่เด็กกินนมน้อย
การเจริญเติบโตของร่างกายก็จะน้อยกว่าในท้องที่ที่เด็กกินนมเยอะ การเจริญเติบโตก็ ดีกว่า
แต่ยังต้องพิจารณาอีกหลายปัจจัยประกอบ ปัจจัยแรกคือ พันธุกรรม ความสูงของลูกประมาณได้ด้วยการนำความสูง
ของพ่อรวมกับของแม่แล้ว หารสอง บวก-ลบได้ 10 เซนติเมตร
ปัจจัยที่สอง สิ่งแวดล้อม ต้องดูเรื่องโภชนาการ ฐานะเศรษฐกิจ ฮอร์โมน โรคภัยไข้เจ็บ
และสุขภาพจิตภายในครอบครัว สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก
|
หินปูนเกาะกระดูกคอ กินแคลเซียมมากไปหรือไม่
|
ไม่ใช่การกินแคลเซียมมากไป แต่เป็นการเสื่อมของกระดูกเอง เสื่อมเสร็จ ก็มีกระดูกงอกมาทดแทน
กระดูกที่งอกเป็นแคลเซียมจริง แต่ไม่ใช่แคลเซียมเกิน ผลเสียคือ กระดูกส่วนเกินมักไปกดเส้นประสาททำให้ชา
แขนขาไม่มีแรง ไปจนปวดกล้ามเนื้อ สาเหตุที่แท้จริงไม่ทราบแน่ชัด ตอบยาก แต่พอสันนิษฐานได้ว่า
เกิดจากการใช้กระดูกบริเวณนั้นมากเกินไป เช่นการเอี้ยวคออย่างรุนแรง รวดเร็ว ซึ่งเกิด ขึ้นบ่อยครั้งมากๆ
ไม่ใช่ห้ามเอี้ยว คอ เอี้ยวคอได้ แต่ให้ทำไปตามปกติ อย่าไปทำแบบรวดเร็ว รุนแรง อย่าเอาอะไรมาเทินหัว
หรือเอาศีรษะไปดันกับอะไร หนัก "พวกนักรักบี้ ผมยังสงสัย เขาชนกันบ่อยๆ ไม่รู้อายุมากจะเป็นยังไง
นักวิ่งเห็นชัด พอแก่แล้วข้อเข่าไป ข้อเท้าไป มวยปล้ำทั้งหลายที่บิดคอกันไปมา ไม่รู้โตขึ้นจะเป็นยังไง" รศ.น.พ.สังคมกล่าว
|
"ตะคริว" เกี่ยวกับแคลเซียมหรือไม่
|
เวลาที่แคลเซียมในเลือดต่ำ กล้ามเนื้อจะเกร็งตัว มี อาการเหมือนชัก บางทีมือหงิกงอ
เพราะฉะนั้น "แคลเซียม" อาจมีส่วนที่มีส่วนโดยตรง คือเรื่องของเกลือแร่ : โซเดียม (เกลือแกง ที่เรากิน)
โปตัสเซียม (มีในผลไม้ทุกชนิด,ผัก) ซึ่งช่วยในเรื่องระบบประสาท เป็นตัวพาประจุไฟฟ้าไปตามเส้นประสาท
โซเดียมและโปตัสเซียมต้องสมดุลกัน ถ้าไม่สมดุลก็เกิดตะคริว และที่เกี่ยวเนื่องกันอีกประเด็น
คือคนที่ไม่เคยออกกำลังกาย แล้วจู่ๆ ออกกำลังกายอย่างหักโหม กล้ามเนื้อก็จะบีบตัว ตึงตัว และหดตัว
เป็นสาเหตุของตะคริวได้เหมือนกัน
|
น้ำอัดลม กาแฟ เหล้า บุหรี่ ตัวทำลายกระดูก?!
|
มีการศึกษาเด็กในประเทศเม็กซิโก โดยเจาะเลือดเด็กที่ดื่มน้ำอัดลมทุกวัน เทียบกับเด็กที่ไม่ได้ดื่มน้ำอัดลม
พบว่า แคลเซียมในเลือดของเด็กกลุ่มที่ดื่มน้ำอัดทุกวัน มีระดับต่ำกว่า เมื่อเทียบกับเลือดของกลุ่มที่ไม่ได้ดื่มน้ำอัดลม
น้ำอัดลมทำให้เกิดอะไรได้?
ผู้วิจัยพบว่า ในน้ำอัดลมมีสารฟอสเฟต ปกติกระดูกคนเราจะมีแคลเซียมกับฟอสเฟตเกาะกัน
รวมตัวกันแล้วไปเกาะที่กระดูก ทำให้กระดูกแข็งแรง ในน้ำอัดลมมีฟอสเฟตสูง เมื่อร่างกายได้รับฟอสเฟตสูง
ก็จะสั่งการให้ลดระดับแคลเซียมในร่างกาย ให้ต่ำลงโดยอัตโนมัติ
"อาจไม่ใช่ปัจจัยเดียว เดี๋ยวจะไปคิดว่า เป็นเหตุผล เดียวที่ทำให้เกิดโรคกระดูกโปร่งบาง
ต้องร่วมกับปัจจัยอื่นที่พร้อมจะทำให้เกิดโรค กระดูกโปร่งบางด้วย เช่น กินน้อย ไม่ได้ออกกำลังกาย
แล้วก็ไปกินน้ำอัดลม" รศ.น.พ.สังคม ให้ความเห็น
แต่ถ้าถามว่า "น้ำอัดลม" มีผลดีกับร่างกายไหม?
ข้อมูลทางวิชาการพบว่า ดื่มน้ำอัดลมก็เหมือนดื่มน้ำตาล...น้ำตาลชนิดเดียวกับที่ใช้เติมกาแฟ
และใช้ทำขนมหวานซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เกิดโรคมากมาย น้ำอัดลมไม่ใช่สิ่งที่ร่างกายต้องการ
เราบริโภคกันด้วยความอยากแต่ประโยชน์ไม่มี แถมแพงกว่าน้ำมันเสียอีก งานวิจัยอีกชิ้นที่ออกอากาศทางโทรทัศน์
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่นำ "ฟัน" คนแช่ไว้ในน้ำอัดลมยี่ห้อหนึ่ง แล้วพบว่าน้ำอัดลมมีฤทธิ์เป็นกรด กัดฟันได้เล็กน้อย
จึงไม่ดีสำหรับคนเป็นโรคกระเพาะอาหารเครื่องดื่มประเภท "กาแฟ" ถ้าดื่มมาก ก็ทำให้แคลเซียมเสียได้เหมือนกัน
เช่นเดียวกับ "บุหรี่" และ "เหล้า" อะไรก็ตาม ที่มีกาเฟอีน มีผลต่อการทำลายแคลเซียมทั้งสิ้น
แพทย์ไม่เคยแนะนำเครื่องดื่มชูกำลังเลยแต่จะแนะนำ "อาหารชูกำลัง" ซึ่ง ก็ไม่ต้องไปซื้อหายี่ห้อแพงๆ "อาหารชูกำลัง"
ก็คืออาหารที่บริโภคกันตามปกติที่สำคัญบริโภคให้ครบห้าหมู่
รศ.น.พ.สังคม แนะนำผู้เป็นห่วงสุขภาพกระดูก ส่งท้ายว่า ควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมให้เหมาะสม
ออกไปเจอแสงแดดอ่อนๆ กันบ้าง และที่สำคัญอย่าลืมออกกำลังกาย
วลัญช์ สุภากร
|