มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://www.oocities.org/Tokyo/Harbor/2093/
จำสั้นๆ i.am/thaidoc



หัดเยอรมัน อันตราย ที่มิใช่เพียงแค่หวัด


มหันตภัยโรคร้ายที่อันตรายยิ่งกว่า "นาซีเยอรมัน" ก็คือ หัดเยอรมัน นั่นเอง ทำไมหรือ? ทั้งนี้เพราะถ้าไวรัสหัดเยอรมันเกิดขึ้นในมารดาขณะตั้งครรภ์ต่ำกว่า 3 เดือน แล้วทารกน้อยมีโอกาสพิการสูง และความพิการที่เกิดขึ้นรุนแรงยิ่งกว่าถูกฆ่าตายเสียอีก ทารกที่เกิดมาจะตาบอด, หูหนวก, หัวใจพิการ และที่สำคัญคือ สมองพิการปัญญาอ่อน ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ สำคัญยิ่งกว่านั้น คือ เด็กเหล่านี้คลอดออกมาแล้วไม่ตาย แต่จะยังมีชีวิตอยู่เป็นภาระทรมานสำหรับพ่อแม่ ให้ทุกข์กาย ทุกข์ใจ เป็นเวลานานนับสิบปี-ยี่สิบปี จากนั้นจึงจะเสียชีวิตไป โดยไม่ได้รับรู้ถึงความเสียใจของบุพการีแม้แต่น้อย

ทุกๆ วัน ทุกๆ เวลา เป็นเดือนเป็นปีที่พ่อแม่ทุ่มเทให้ จะสูญไปโดยไร้ประโยชน์ แต่ทั้งๆ ที่รู้ว่า เวลาจะสูญเปล่า พ่อแม่ก็ยังต้องยอมอดทนเลี้ยงดูทารกพิการทางกายและสมองคนนี้ ถ้าเสียชีวิตช้า เรียกว่า เป็นกรรมแต่ปางก่อน

แม้ว่าทุกชีวิตที่เกิดมาจะมีจุดสุดท้ายทีเดียวกัน คือเชิงตะกอน แต่เป็นการไม่ยุติธรรมเลยที่ให้ทารกรกเกิดมีทุกข์ทันทีที่ลืมตาดูโลก ทุกข์กายที่ได้รับยังพอทำเนา (เนื่องด้วยตัวเองรับรู้ไม่ได้) แต่ทุกข์ใจของพ่อแม่สิแสนสาหัสยิ่งนัก

หากว่า คนที่อยากมีลูกทุกคนได้รับรู้ความเป็นไปของโรคร้ายนี้ คงเห็นด้วยว่าควรจะป้องกันเอาไว้ก่อน ซึ่งทำได้ง่ายๆ โดยการฉีดวัคซีนขณะยังไม่ตั้งครรภ์ หรือทำแท้งบุตรเมื่อเป็นหัดเยอรมันภายในอายุครรภ์ 3 เดือนแรก

โรคร้ายนี้ ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อกลางศตวรรษที่ 18 200 ปีที่ผ่านมาจึงสามารถแยกเชื้อไวรัสร้ายนี้ได้สำเร็จตอนกลางศตวรรษที่ 20
เหตุที่เป็นเช่นนี้อาจเนื่องมาจากโรคนี้ในผู้ใหญ่มีอาการน้อยมาก และกินระยะเวลาสั้น 2-3 วัน อาการก็หายไปและไม่มีภาวะแทรกซ้อน

เหตุการณ์ที่กระตุ้นเตือนให้มีการศึกษาไวรัสตัวนี้อย่างละเอียดรอบคอบคือ การระบาดของหัดเยอรมันครั้งใหญ่ในปี ค.ศ.1940-1941 (พ.ศ.2483-3484) หัดเยอรมันมีวัฏจักรการระบาดทุกๆ 7-12 ปี โรคร้ายนี้ค่อยๆ ลดความร้ายกาจไปภายหลัง จากที่เราค้นพบวัคซีนจากการที่สามารถแยกเชื้อไวรัสได้ในปี ค.ศ.1961 (พ.ศ.2504) 20 ปี หลังจากที่มีการระบายครั้งใหญ่ของโลกครั้งนั้น

สำหรับในประเทศไทย เคยมีการระบาดเมื่อปี พ.ศ.2510, พ.ศ.2514 และ พ.ศ.2522 ตามสถานรับเลี้ยงเด็กโรงเรียนโรงพยาบาลและห้างร้านบริษัทต่างๆ
คนทั่วไปส่วนใหญ่จะเคยเป็นหัดเยอรมันมาแต่วัยเด็กแล้ว เราจึงพบคนหนุ่มสาวเป็นหัดเยอรมันไม่มากนัก ประมาณร้อยละ15-20 ซึ่งอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยจะมีอาการเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีอาการเลย ภายหลังจากได้รับเชื้อไวรัสร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาภายใน 60 วัน ภูมิคุ้มกันนี้จะคงอยู่นานหลายปี

ลักษณะอาการ

ส่วนใหญ่ตั้งแต่ช่วงอายุวัยรุ่นขึ้นไปจะไม่มีอาการถึงร้อยละ 50 ส่วน ที่มีอาการก็เพียงเล็กน้อย บางทีอาจคิดว่า เป็นไข้หวัดด้วย เพราะมักมีไข้ต่ำๆ ซึ่งเกิดขึ้นมาก่อนหรือพร้อมกับผื่นร่วมกับอาการเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว ไข้จะมีอยู่ 1-2 วันก็จะหาย อุณหภูมิมักไม่เกิน 38.4 องศาเซนติเกรด

ลักษณะสำคัญที่ต้องจำไว้ คือ "ผื่น" ซึ่งจะมีลักษณะเฉพาะ คือ เป็นเม็ดละเอียดสีแดง มองเห็นเป็นปื้นๆ หรือจุดๆ กระจัดกระจาย เริ่มต้นขึ้นที่ใบหน้าก่อนจากนั้นจะลุกลามแผ่กระจายลงมาตามหน้าอก ลำตัว แขนขา จนกระทั่งทั่วร่างกายอย่างรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมงเท่านั้น และจะหายไปภายใน 3 วัน ไร้ร่องรอยเหมือนไม่เคยมีมาก่อน

ลักษณะสำคัญอีกอย่างหนึ่งจะสังเกตพบได้ คือ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณหลังหูโต ซึ่งมักจะเกิดขึ้นมาก่อนมีผื่นประมาณอาทิตย์หนึ่ง แต่จะคงอยู่ต่อไปอีก ภายหลังผื่นหายไปแล้วประมาณ 2 อาทิตย์
นอกจากนี้ ในสตรี อาจมีอาการปวดตามข้อเล็กๆ ร่วมด้วย ส่วนใหญ่จะเป็นหลายๆ ข้อพร้อมกันระยะเวลาที่ปวดอาจจะเป็นวันจนถึง 2 สัปดาห์ แต่มักไม่เกินหนึ่งเดือน

ภาวะการติดเชื้อหัดเยอรมันในทารกแรกเกิด

บุคคลแรกที่ให้ความสนใจ และค้นพบความพิการแต่กำเนิดของทารกแรกเกิด เป็นหัดเยอรมัน ไม่ใช่สูติแพทย์

ในปี ค.ศ. 1940 (พ.ศ.2484) ที่มีการระบาดครั้งใหญ่ บรรดาพ่อแม่ต่างพาทารกจำนวนมากมายที่มีนัยน์ตาดำเป็นฝ้าขุ่นขาวมาหาจักษุแพทย์ ด้วยหวังว่าจะมีทางรักษาแต่ต้องผิดหวังเพราะเป็นความพิการถาวรที่จะคงอยู่ตลอดไป
จักษุแพทย์ GREGG ชาวออสเตรเลียพบว่า นอกจากจะมีเลนส์ตาพิการแล้ว ยังมีหูหนวกและหัวใจพิการด้วย นับเป็นครั้งแรกที่มีความเข้าใจถึงพยาธิสภาพสำคัญ ที่เกิดขึ้น ว่ามี 3 อย่างดังกล่าวข้างต้น

ความจริงแล้ว ความพิการแต่กำเนิดที่เกิดขึ้นมีมากมายกว่านั้น โดยสามารถจำแนกได้ 3 ลักษณะคือ
ลักษณะที่หนึ่ง ความผิดปกติที่เกิดขึ้นชั่วคราว ลักษณะความพิการมีอยู่ได้จนถึงอายุ 6 เดือน ได้แก่ ภาวะตับม้ามโต, ตัวเหลือง, เลือดจาง, เกล็ดเลือดต่ำ, ปอดบวม และกระดูกบาง (จากภาพถ่ายเอกซเรย์)
ลักษณะที่สอง ความผิดปกติที่คงอยู่ตลอดไป ได้แก่ หูหนวก, หัวใจพิการ, ตาบอด (ต้อกระจก, ต้อหิน) และสมองพิการปัญญาอ่อน
ลักษณะที่สาม ความผิดปกติที่ไม่ได้พบในตอนแรกเกิด แต่มาปรากฏภายหลัง ได้แก่ภาวะเบาหวาน,โรคต่อมไทรอยด์, โรคสูญเสียการได้ยิน, ลิ้นหัวใจผิดปกติ, ความดันโลหิตสูงและสมองอักเสบ

พบมากถึงร้อยละ 50-70 ของทารกแรกเกิดที่เป็นหัดเยอรมัน ไม่แสดงความผิดปกติใดๆ เลย แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่งจึงเกิดอาการดังกล่าวข้างต้น เช่น เมื่อเด็กเริ่มเข้าโรงเรียน เด็กจะเรียนไม่รู้เรื่อง เนื่องจากมีความบกพร่อง ในด้านการฟังและการพูด

อัตราการแท้งบุตรพบได้ร้อยละ 4-9 และตายหลังคลอดใหม่ๆ พบร้อยละ 2-3 แม้ว่าความผิดปกติพิการแต่กำเนิดที่เกิดขึ้นจะมีหลายระบบและรุนแรง แต่ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเฉพาะมารดาที่มีการติดเชื้อไวรัสหัดเยอรมันในช่วง 12 สัปดาห์แรก ของการตั้งครรภ์ หากมารดามีอายุครรภ์มากกว่า 16 สัปดาห์ ทารกมักไม่พบความผิดปกติส่วนในระหว่างอายุครรภ์ 13-16 สัปดาห์ความพิการหลายอย่าง ไม่ปรากฏกับเด็กเมื่อแรกคลอด แต่จะมีโอกาสหูหนวกได้ประมาณ 1 ใน 3

การวินิจฉัยโรค

วิธีวินิจฉัยโรคทีแน่นอน ทำได้ด้วยการตรวจเลือด หรือแยกเชื้อไวรัสหัดเยอรมันออกมาเท่านั้น
ส่วนการซักประวัติและการตรวจร่างกาย ก็ช่วยเหลือการวินิจฉัยได้มากทีเดียว
ประวัติที่สำคัญ คือ ประวัติการได้รับเชื้อไวรัสหรือการสัมผัสโรค

เชื้อไวรัสหัดเยอรมันติดต่อถ่ายทอดจากคนที่เป็นโรคได้ทางลมหายใจ โดยมีระยะติดต่ออยู่ในช่วง 7 วัน ก่อนมีผื่นขึ้นจนกระทั่ง 5 วันหลังเกิดผื่นวันแรก หากใครไปสัมผัสคนที่เป็นหัดเยอรมันนอกเหนือเวลาดังกล่าวก็จะไม่มีติดต่อรับเชื้อมา

ประวัติอาการเกิดโรค : ผู้ป่วยจะมีไข้นำมาก่อนเกิดผื่น จึงเรียกว่า โรคไข้ออกผื่น แต่หากไม่มีไข้นำมาก่อนเกิดผื่นก็อาจจะเป็นโรคนี้ได้ นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยก็ได้ เช่น ปวดข้อ, มีก้อนที่หลังหูโต หรือมีจ้ำเลือดเกิดขึ้นตามตัว

ถ้าคนไข้มาในช่วงที่ผื่นขึ้น เมื่อพิจารณาจากลักษณะของผื่น แทบจะบอกได้เลยว่า เป็นหัดเยอรมันหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อร่วมกับการตรวจร่างกายส่วนอื่นด้วย เช่น การตรวจต่อมน้ำเหลืองที่หลังหูหรือท้ายทอยแล้วพบว่าโต
อย่างไรก็ตาม เราจะต้องเจาะเลือดตรวจร่วมด้วยเสมอ เพื่อการวินิจฉัยที่แน่นอน

อัตราเสี่ยงของการติดเชื้อหัดเยอรมันของทารกในครรภ์ ขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ของมารดาเป็นสำคัญ กล่าวคือ
ถ้ามารดาติดเชื้อหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์เพียงเดือนแรก ทารกจะมีอัตราเสี่ยงความพิการประมาณร้อยละ 50
ถ้าติดเชื้อระหว่างเดือนที่สองของการตั้งครรภ์ ทารกมีโอกาสพิการ ประมาณร้อยละ 25
ถ้าติดเชื้อระหว่างเดือนที่สามของการตั้งครรภ์ ทารกมีโอกาสพิการประมาณร้อยละ 10
ถ้าติดเชื้อระหว่างเดือนที่สี่ของการตั้งครรภ์ ทารกมีโอกาสพิการประมาณร้อยละ 5
ถ้ามารดาติดเชื้อหัดเยอรมันภายหลังตั้งครรภ์เกินสี่เดือน (16 สัปดาห์) ขึ้นไป ทารกมีโอกาสพิการน้อยกว่าร้อยละ 1 ซึ่งนับว่าน้อยมากๆ

ดังนั้น จึงไม่มีการพิจารณาทำแท้งให้กับมารดาที่เป็นหัดเยอรมัน ขณะตั้งครรภ์มากกว่า 4 เดือนไปแล้วแต่อนุญาตและแนะนำให้ทำแท้งแก่ มารดาที่ติดเชื้อขณะอายุครรภ์น้อยกว่า 3 เดือนลงมา

ข้อปฏิบัติสำหรับสตรีตั้งครรภ์ที่ไปสัมผัสโรค

การสัมผัสโรคหัดเยอรมันโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น ทำงานหรือรับประทานอาหารร่วมกับผู้ป่วยในระยะติดต่อ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นหัดเยอรมันด้วยเสมอไป

อย่างไรก็ตาม ต้องดูด้วยว่า สตรีผู้นั้นมีอายุครรภ์เท่าไร หากอายุครรภ์มากกว่า 16 สัปดาห์ ก็ไม่ต้องดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้าอายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ ต้อง
1.รีบไปเจาะเลือดตรวจหาภูมิต้านทานต่อไวรัสทันที
2.กรณีทราบว่ามีภูมิต้านทานแล้วไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น เพราะปลอดภัยค่อนข้างแน่นอน

สำหรับกรณีไม่มีภูมิต้านทาน หากอยู่ในสถานการณ์ที่ทำแท้งไม่ได้ ให้ฉีดภูมิคุ้มกัน (Standard Immune Serum Globulin) ทันที ซึ่งระยะเวลาไม่ควรนานเกิน 7 วัน หลังจากสัมผัสโรค
หากอยู่ในสถานที่ที่ทำแท้งได้ และยินยอมทำแท้งตามข้อบ่งชี้ให้รอดูอาการ 2-4 สัปดาห์ แล้วตรวจหาภูมิต้านทานซ้ำ ถ้าระดับภูมิต้านทานสูงขึ้นเกิน 4 เท่า ให้พิจารณาทำแท้งทันที

สำหรับภูมิคุ้มกัน (PASSIVE IMMUNIZATION) ที่ฉีดให้แก่สตรีตั้งครรภ์ ที่สัมผัสโรคนั้นไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อแก่มารดาและทารกได้ทุกราย เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรฉีดให้กับสตรีตั้งครรภ์ระยะ 3 เดือนแรกเพื่อหลังผลด้านการป้องกัน

การรักษา

โรคหัดเยอรมันเป็นโรคที่หายเองได้โดยไม่จำเป็นต้องให้การรักษายกเว้นมีภาวะแทรกซ้อน
สำหรับการรักษาที่อาจจะต้องให้บ้างก็เป็นการรักษาตามอาการเท่านั้น เช่น ลดไข้ แก้ปวด

การป้องกัน

ถือว่าสำคัญที่สุดและทำได้ง่ายๆ เพียงแต่ฉีดวัคซีนให้กับทุกคน ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันหัดเยอรมัน เท่านั้น
ในประเทศไทย นิยมฉีดวัคซีนหัดเยอรมัน 2 ครั้ง ครั้งแรกขณะอายุ 9-12 เดือน ครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 12-16 ปี
สตรีวัยเจริญพันธุ์ เมื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันแล้วควรคุมกำเนิด 3 เดือน เพราะเป็นวัคซีนที่ทำจากเชื้อไวรัสที่ยังมีชีวิตอยู่ และมีรายงานว่า บางรายเกิดการแท้งบุตรขึ้น แต่ถ้าบังเอิญไปฉีดในขณะตั้งครรภ์ ก็ไม่ต้องไปวิตกกังวลเพราะเท่าที่มีรายงานในโลกนี้ ไม่มีทารกรายใดเลยที่พิการด้วยไวรัสวัคซีน
หญิงที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน เมื่อทราบว่ามีการตั้งครรภ์ ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไป จนกว่าจะคลอดบุตรเสียก่อน

การติดเชื้อหัดเยอรมันซ้ำ
หลายคนอาจจะคิดว่า เคยเป็นหัดเยอรมันมาแล้ว คงจะไม่เป็นอีก ความจริงแล้วอาจจะมีโอกาสเป็นหัดเยอรมันซ้ำได้ร้อยละ 3-10
นอกจากนั้น คนที่เคยฉีดวัคซีนมาแล้ว ก็มีโอกาสกลับเป็นซ้ำอีกได้เช่นกัน และพบมากถึงร้อยละ 14-18 นับว่าไม่น้อยทีเดียว
ดังนั้น ทุกคนไม่ควรประมาทเพราะทารกในครรภ์ของสตรีที่เคยฉีดวัคซีนแล้ว และเป็นหัดเยอรมันซ้ำ มีโอกาสติดเชื้อหัดเยอรมันได้เช่นกัน

"หัดเยอรมัน" มหันตรายโรคร้ายที่แฝงมาในลักษณะเรียบง่าย เพียงแค่มีไข้เล็กน้อยร่วมกับออกผื่น 3 วัน ได้สร้างความเสียหายแก่มวลมนุษย์ชาติมากมาย โดยเฉพาะความพิการแต่กำเนิด ตาบอด, หูหนวก, หัวใจพิการและปัญญาอ่อน

คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ควรจะได้ใส่ใจป้องกันโรคนี้เสียแต่เนิ่นๆ ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเลย หากผลที่ได้รับคือ ชีวิตทั้งชีวิตของลูก และความทุกข์ใจของคุณพ่อคุณแม่เอง

พ.ต.ท.น.พ.เสรี ธีรพงษ์


[ ที่มา... นิตยสารแม่และเด็ก   ปีที่ 22 ฉบับที่ 331 กันยายน 2542 ]

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21] resolution 800x600