มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://www.oocities.org/Tokyo/Harbor/2093/
จำสั้นๆ i.am/thaidoc



วัยหมดระดู


สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านใกล้หมอทุกท่าน เรื่องในคอลัมน์ของผมวันนี้ดูจะ "เพศนิยม" ไปหน่อยเพราะเป็นอะไรที่เกี่ยวกับสุภาพสตรีตรงๆ เลย แต่สุภาพบุรุษที่กำลังอ่านอยู่ ก็อย่าเพิ่งวางนะครับ เพราะแม้ว่าสิ่งนี้ไม่มีวันเกิดกับตัวท่านก็จริงอยู่ สาระเนื้อหาจะเป็นประโยชน์ที่ท่านอาจช่วยคนข้างเคียงของท่านได้มากทีเดียว ลองติดตามดูซิครับ

วัยหมดระดู หรือเรียกกันทั่วไปว่า หมดประจำเดือน นั้นเป็นช่วงเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในชีวิตช่วงเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ในชีวิตช่วงหนึ่งทีเดียวสำหรับผู้หญิง เปลี่ยนจากวัยเจริญพันธุ์หรือวัยทื่มีบุตร ได้ไปสู่วัยที่มีบุตรไม่ได้อีกต่อไป
วัยนี้รังไข่จะไม่ตกไข่จะสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนน้อยลงมาก ทำให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงตามมาหลายอย่างครับ

นี่ก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะหยุดสิ่งซึ่งเป็นนิสัยไม่ดีต่อสุขภาพหันมาเริ่มนิสัย หรือพฤติกรรมที่เป็นประโยชน์ที่เสริมสร้างสุขภาพกันครับ เป็นต้นว่า
-หยุดสูบบุหรี่
-รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ที่ถูกหลักโภชนาการ
-ปรับน้ำหนักตัวให้เหมาะสม
-ออกกำลังกายมากขึ้น
-ควบคุมความดันโลหิตให้ดี
-ควบคุมระดับไขมันในเลือด

อาการของวัยหมดระดู

เมื่อระดูหรือรอบเดือนมาผิดปกติ ไม่สม่ำเสมอท่านอาจคิดว่าท่านกำลังจะหมดระดู ท่านควรตระหนักไว้ด้วยว่า รอบเดือนอาจไม่มาหรือมาผิดปกติจากสาเหตุอื่นๆ ได้อีกมาก ยังไม่ควรด่วนสรุปว่ากำลังจะเข้าวัยหมดระดู แม้ว่าท่านจะมีอายุอยู่ระหว่าง 45-55 ปีก็ตาม
อายุ 45-55 ปี เป็นอายุที่ผู้หญิงส่วนใหญ่หมดระดูครับ ท่านควรปรึกษาแพทย์ เกี่ยวกับอาการผิดปกติของท่าด้วย

ควรปรึกษาแพทย์ในกรณีต่อไปนี้ครับ
-รอบเดือนมาบ่อยกว่าทุก 21 วัน
-รอบเดือนมามากกว่า 7 วัน
-ปริมาณเลือดระดูมากผิดปกติ
-มีเลือดคล้ายระดูออกมาเมื่อยังไม่ถึงกำหนดระดูมา

อาการของวัยหมดระดูอาจแบ่งออกเป็นระยะๆ ตั้งแต่เริ่มต้นดังนี้

1. ระยะเริ่มแรก ระยะนี้จะตรงกับช่วงที่รังไข่ทำงานน้อยลง ไม่มีการตกไข่ แต่ยังมีการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนอยู่บ้าง
อาการที่ปรากฏคือ ความผิดปกติของรอบเดือนมาไม่ตรงกำหนดมักห่างออกไป ปริมาณเลือดระดูน้อยลงและอาจหายไปเลย มีเหมือนกันครับที่บางรายอาจมีระดูออกมาก

2. ระยะหมดระดู ตรงกับช่วงที่เอสโตรเจนจากรังไข่ลดลงมาก จนไม่เพียงพอที่จะกระตุ้น เยื่อบุโพรงมดลูกให้เจริญเติบโตจึงทำให้หมดระดู
อาการที่เกิดคือ อาการร้อนวูบวาบที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ผิวหนังบริเวณส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะแถวศีรษะ คอ และหน้าอกจะมีเหงื่อออก รู้สึกร้อนขึ้น อาจเป็นอยู่แค่ไม่กี่วินาทีหรือนานหลายนาที อาจเกิดขึ้นครั้งเดียว หรือหลายครั้งในหนึ่งวัน มักเกิดบ่อยตอนกลางคืนครับเลยทำให้นอนไม่หลับได้
อาการร้อนวูบวาบนี้จะหายไปเองใน 1-2 ปี หลังหมดระดู แต่บางคนอาจเป็นนานกว่า 5 ปี ก็มี

3. ระยะเปลี่ยนแปลง ของอวัยวะสืบพันธ์และทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง ระยะนี้เป็นผลจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงมาก จนทำให้เกิดการห่อเหี่ยวของอวัยวะต่างๆ มดลูกและผนังช่องคลอด จะหย่อนมากขึ้น เยื่อบุช่องคลอดแห้ง เนื่องจากผนังช่องคลอดบางตัวลง ความชุ่มชื้นน้อยลง
ปัจจัยนี้ทำให้เกิดอาการเจ็บขณะร่วมเพศ และอาจทำให้ช่องคลอดติดเชื้ออักเสบง่ายขึ้น เยื่อบุท่อปัสสาวะจะบางทำให้รู้สึกแสบเวลาปัสสาวะ อาการปัสสาวะขัด ปัสสาวะเล็ดก็พบได้บ่อยครับ

4. ระยะสูงอายุ เป็นผลต่อเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงในวัยหมดระดู ที่สำคัญคือ โรคกระดูกพรุนและโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด
ยังมีปัญหาอื่นๆ และปัญหาทางจิตใจอีกครับ เช่น
- หงุดหงิด
- ซึมเศร้า
- เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ใจสั่น
- ปวดศีรษะ วิงเวียน
- นอนไม่หลับ
- ตามัว ฯลฯ

รักษาได้ไหม ?

คำถามนี้คงเป็นคำถามที่ท่านอยากทราบคำตอบมากที่สุด
ได้ครับ รักษาได้
คุณควรปรึกษาแพทย์ดู แพทย์จะอธิบายชี้แจงให้คุณหายข้อข้องใจได้ ผมจะลองให้แนวทางการรักษาพอสังเขปดูนะครับ

  • ระดูมาผิดปกติ
โดยทั่วไปในช่วงก่อนหมดระดูประจำเดือนหรือรอบเดือนจะมาไม่สม่ำเสมอครับ สาเหตุเป็นเพราะความผิดปกติของการตกไข่หรือไม่มีการตกไข่
เมื่อแพทย์ตรวจจนแน่ใจแล้วว่าไม่ได้เกิดจากสาเหตุอื่นก็อาจให้ยารักษาแก่ท่านได้เลย เป็นยาประเภทฮอร์โมน ให้ติดต่อกัน 3-6 เดือนแล้วหยุดสังเกตอาการ
หากรอบเดือนผิดปกติอีกก็ให้การรักษาใหม่หรืออาจให้ยาจน "หมดระดู" จริงๆ

  • อาการร้อนวูบวาบ
อาการนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วอาจตามมาด้วยอาการหนาวเย็น บางคนก็ใจสั่น หงุดหงิด ร่วมด้วย อาการจะเป็นมากในหน้าร้อนช่วงอากาศชื้น อยู่ในสถานที่คับแคบ ดื่มชา กาแฟสุรา หรือรับประทานอาหารที่รสจัด
แพทย์จะใช้ยาฮอร์โมนประเภทเอสโตรเจนรักษาครับ อาจใช้ร่วมกับฮอร์โมนประเภทโปรเจสเตอโรน ยารักษาความดันโลหิตสูงพวกโคลนิดีน หรือโปรปรานอลอล ก็ช่วยลดอาการร้อนวูบวาบได้
คุณอาจช่วยอีกทางหนึ่งโดยการสวมเสื้อผ้าเบาบางที่ไม่เก็บความร้อน การดื่มน้ำเย็นๆ ก็อาจช่วยลดความรู้สึกร้อนลงได้ครับ

  • อาการเหี่ยวของอวัยวะสืบพันธุ์
การรักษาที่ดีที่สุดคือให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนครับ มีทั้งชนิดเม็ดรับประทาน ชนิดแผ่นปิดผิวหนัง และชนิดครีมทาช่องคลอด คุณอาจใช้สารหล่อลื่น ทางช่องคลอดก่อนร่วมเพศ วิธีนี้จะช่วยลดอาการเจ็บขณะร่วมเพศได้มากเช่นกัน

  • อาการทางระบบปัสสาวะ
อาการปัสสาวะแสบ ขัด ปัสสาวะบ่อย บรรเทาได้ด้วยยาครับ ยาที่ได้ผลมากที่สุดคือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน ยาบรรเทาปวดของทางเดินปัสสาวะไม่ค่อยได้ผลครับ

  • โรคกระดูกพรุน
โรคนี้เป็นปัญหามากพอสมควรทำให้กระดูกหักง่าย โดยเฉพาะกระดูกข้อสะโพกครับ
ผมขออธิบายเสริมตรงนี้นิดหนึ่งครับเกี่ยวกับความหนาแน่น หรือมวลของกระดูกคนเรา เริ่มตั้งแต่วัยเด็กมวลของกระดูกจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนสูงสุดเมื่ออายุ 25 ปี จากนั้นมวลหรือความหนาแน่นก็จะคงที่อยู่ระยะหนึ่ง แล้วจึงค่อยๆ เริ่มลดลงครับ และลดลงอย่างรวดเร็ว ในผู้หญิงที่ขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ไม่ว่าขาดจากสาเหตุใดก็ตาม นี่คือเกิดโรคกระดูกพรุน

ปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนคือ
- ภาวะไม่มีระดูจากขาดเอสโตรเจน (ไม่ว่าสาเหตุใด)
- รับประทานแคลเซียมน้อย
- สูบบุหรี่
- วิถีชีวิตที่ไม่ค่อยมีการออกแรง
- ความผอม
- มีประวัติในครอบครัวว่าเป็นโรคกระดูกพรุน
จากการศึกษาวิจัยพบว่า ยาฮอร์โมนเอสโตรเจนร่วมกับการเสริมแคลเซียม ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนได้ผลดีครับ
กรณีไม่ใช้เอสโตรเจนเพราะมีปัจจัยเสี่ยงด้านอื่นก็ควรติดตามภาวะกระดูกพรุน โดยการวัดความหนาแน่นของกระดูกครับ

  • โรคหัวใจและหลอดเลือด
โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุนำ (สูงสุด) ของการตายของผู้หญิงครับ
เมื่อเลยอายุ 40 ปี แล้วความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือดในผู้หญิงจะสูงกว่าในผู้ชายมาก แต่พอถึงอายุ 70 ปี ก็ลดลงกลับมาเสี่ยงเท่าๆ กันครับ
พบว่าผู้หญิงที่ขาดเอสโตรเจนตั้งแต่อายุยังน้อยความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อโรคหัวใจ และหลอดเลือดก็เกิดเร็วขึ้นด้วย จึงมีความเชื่อว่า การใช้เอสโตรเจน จะช่วยลดความเสี่ยงของผู้หญิงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดลงได้
แต่ทั้งนี้ก็ต้องควบคุมภาวะที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพที่ผมกล่าวไว้ ตั้งแต่ตอนต้นเลยไปด้วยครับ

ความเสี่ยงของการใช้เอสโตรเจนมีไหม ?

ครับ นี่ก็เป็นคำถามติดอันดับท็อปฮิตเหมือนกัน เหคุผลที่พบบ่อยที่สุดของผู้หญิงที่ไม่ยอมรับเอสโตรเจน และแพทย์ที่ไม่สั่งจ่ายยานี้ก็คือ กลัวมะเร็งครับ

มะเร็งเต้านม มีการถกเถียงและโต้แย้งกันมากครับว่า เอสโตรเจนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมหรือเปล่า
บางรายงานว่าเพิ่มเล็กน้อยก็คงต้องติดตามค้นคว้ากันต่อไปนะครับ

มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก การให้เอสโตรเจนอย่างเดียว โดยไม่ให้โปรเจสเตอโรน ทำให้เยื่อบุมดลูกหนาตัว และเสี่ยงต่อมะเร็งมากขึ้น แต่เมื่อให้เอสโตรเจนร่มกับโปรเจสเตอโรนแล้ว ความเสี่ยงนี้จะถูกลบล้างไปได้ครับ ซ้ำยังช่วยป้องกันมะเร็งนี้เสียด้วย

ครับก็คงต้องแนะนำว่าให้ปรึกษาแพทย์ช่วยตัดสินใจครับ จะได้พิจารณาปัจจัยรอบด้านโดยรอบคอบเสียก่อนนั่นเอง

นพ.อมรชัย หาญผดุงธรรมะ



[ที่มา..หนังสือ นิตยสารใกล้หมอ ปีที่ 23 ฉบับที่ 11 พฤศจิกายน 2542]

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21] resolution 800x600