มะเร็งเต้านมเป็นโรคที่เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขของผู้หญิงทั่วโลก
ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก วงการแพทย์ยังไม่ทราบว่ามะเร็งเต้านมเกิดจากสาเหตุใด
แต่มีข้อมูลที่น่าสนใจว่ามะเร็งเต้านมพบในผู้หญิงสูงอายุมากกว่าผู้หญิงสาว
ในบางรายอาจจะเกิดจากพันธุกรรมก็ได้ เนื่องจากมะเร็งเต้านมเป็นปัญหาสำคัญของสตรีทั่วโลก
จึงข้อนำเรื่องมะเร็งเต้านมในผู้หญิงไทยและผู้หญิงอเมริกันมาเล่าสู่กันฟังครับ
ในปัจจุบันผู้หญิงไทยได้ให้ความสนใจในเรื่องโรคมะเร็งเต้านมมากขึ้น
เพราะเป็นโรคอันดับสองที่ทำให้ผู้หญิงไทยเสียชีวิตในแต่ละปี (โรคอันดับแรกได้แก่ มะเร็งปากมดลูก)
จึงได้มีการจัดตั้ง มูลนิธิกันยรักษ์ ขึ้นเพื่อให้การดูแลรักษาเกี่ยวกับโรคนี้ มูลนิธิดังกล่าวเป็นมูลนิธิสุดท้าย
ที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงก่อตั้งและรับเป็นองค์อุปถัมภ์ มีจุดมุ่งหมายที่จะช่วยให้ผู้หญิงไทย
พ้นภัยจากมะเร็งเต้านม
โดยทั่วไปแล้วผู้หญิงที่จะมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมนั้น มักจะมีอาการปรากฏแล้ว
ทำให้ยากต่อการรักษา บางรายอาจมีอาการรุนแรงจนเสียชีวิตได้ วิธีการที่ดีที่สุดก็คือ ต้องเร่งให้ความรู้
เกี่ยวกับการตรวจสอบมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง เพื่อหาความผิดปกติในเบื้องต้นก่อนที่อาการของโรคจะลุกลาม
โดยผู้หญิงที่ควรจะเริ่มตรวจมะเร็งเต้านมจะมีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป รวมทั้งอยู่ในสภาพที่มีปัจจัยเสี่ยง
ต่อการเกิดมะเร็งเต้านม ได้แก่ ผู้ที่มีประจำเดือนก่อนอายุ 12 ปี หรืออายุ 45 ปี แล้วยังไม่หมดประจำเดือน
ผู้ที่มีลูกคนแรกเมื่ออายุเกิน 35 ปี หรือคนอ้วนที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปี ขึ้นไป ฯลฯ การตรวจดังกล่าว
ก็เพื่อจะได้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของเต้านมตนเอง
การตรวจเต้านมตนเองควรจะเริ่มหลังจากมีประจำเดือน 7-10 วัน โดยการคลำเต้านมตนเองดูว่า
มีก้อนผิดปกติหรือไม่ ถ้าหากตรวจพบก้อนที่เต้านมแล้ว อีก 1-2 เดือน ต่อมาก้อนนี้มีขนาดใหญ่ขึ้น
ก็อาจสงสัยได้ว่า เป็นมะเร็งเต้านม หรือตรวจเต้านมมาตลอดแล้วไม่พบอะไรเลย ในระยะเวลาต่อมา
ก็ตรวจพบก้อนที่เต้านม ก็ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวิเคราะห์ต่อไป การที่ได้มีการตรวจเต้านมตนเองอยู่เสมอๆ
เป็นหลักการสำคัญในการป้องกันโรคมะเร็งเต้านม และช่วยให้การรักษาได้ผลดี
มะเร็งเต้านมเป็นโรคร้ายสำหรับผู้หญิงไทย ถ้าหากได้มีการตรวจวิเคราะห์พบความผิดปกติ
ที่เกิดขึ้นในระยะแรกๆ ก็จะสามารถรักษาได้ง่าย และช่วยให้มีโอกาสรอดจากการเสียชีวิตได้ด้วยครับ
มะเร็งเต้านมในผู้หญิงอเมริกัน
|
---|
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีประชากรหญิงเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก
ทั้งๆ ที่ในอดีตเมื่อ 60-70 ปีที่แล้ว ผู้หญิงอเมริกันเป็นโรคมะเร็งเต้านมในอัตราที่ต่ำมาก
ได้มีการวิเคราะห์หาสาเหตุที่เป็นปัจจัยเสี่ยงกันมากมาย ได้ข้อมูลที่คาดว่าจะเป็นสาเหตุ
ให้เกิดโรคมะเร็งเต้านม ดังนี้
-
อาหาร ชาวอเมริกันในปัจจุบันจะรับประทานอาหารที่มีไขมันมากขึ้น จึงเชื่อว่า
อาหารไขมันนี้จะเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็งเต้านม แต่ก็มีข้อมูลจากการทดลองที่ขัดแย้งกับเรื่องนี้
โดยได้มีการทดลองในอาสาสมัครพยาบาลจำนวนมากกว่า 8,000 คน จำแนกเป็นสองกลุ่ม
กลุ่มแรกให้รับประทานอาหารที่มีไขมันมากกว่าร้อยละ 38 ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งให้รับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ
การทดลองใช้เวลาประมาณ 5 ปี พบว่าสถิติการเกิดมะเร็งเต้านมไม่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามยังมีข้อมูล
ที่พบในกลุ่มผู้หญิงชาวญี่ปุ่นว่า ผู้หญิงญี่ปุ่นที่ดำรงชีวิตอยู่ในประเทศญี่ปุ่น มีการรับประทานอาหารพวกปลาดิบ
และอาหารไขมันต่ำ จะมีอัตราการเกิดมะเร็งเต้านมน้อยกว่าผู้หญิงญี่ปุ่นที่เข้าไปดำรงชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกา
ซึ่งมีการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง
- การศึกษาดังกล่าว แม้จะยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่าอาหารที่มีไขมันสูงทำให้เกิดมะเร็งเต้านม
แต่ก็เชื่อว่าอาหารที่มีไขมันสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม
-
การเปลี่ยนแปลงของวัยเจริญพันธุ์ เมื่อประมาณ 50-60 ปีมาแล้ว ผู้หญิงอเมริกันส่วนมาก
จะมีประจำเดือนในช่วงอายุ 16 ปี และหมดประจำเดือนเมื่ออายุ 45-50 ปี แต่ในปัจจุบันผู้หญิงอเมริกัน
มีประจำเดือนเมื่ออายุประมาณ 12 ปี และหมดประจำเดือนเมื่ออายุ 55-60 ปี การเปลี่ยนแปลงของวัยเจริญพันธุ์
ดังกล่าวจะทำให้ช่วงเวลาของการมีประจำเดือนเพิ่มมากขึ้นด้วย
- การเปลี่ยนแปลงของการมีประจำเดือนจะส่งผลกระทบต่อความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม
เพราะทุกครั้งที่มีประจำเดือนก็จะมีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เต้านมด้วย หากการเปลี่ยนแปลงเป็นปกติ
ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติเกิดขึ้น หรือมีบางอย่างไปกระตุ้นให้การเปลี่ยนแปลง
ของเซลล์เต้านมผิดปกติไปก็อาจเกิดมะเร็งเต้านมได้ ดังนั้นการที่ผู้หญิงอเมริกันมีช่วงเวลาของการมีประจำเดือน
เพิ่มขึ้นก็มีโอกาสเกิดความผิดปกติมากขึ้นเช่นกัน
เนื่องจากมะเร็งเต้านมเป็นปัญหาที่เกิดกับผู้หญิงทั่วโลกและยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร
จึงทำให้การป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็งเต้านมทำได้ค่อนข้างยาก แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่า
การลดปัจจัยเสี่ยงด้านการรับประทานอาหารโดยลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงก็จะช่วยลดอัตราเสี่ยง
ต่อการเกิดมะเร็งเต้านมได้มากด้วยครับ
รศ.บัญญัติ สุขศรีงาม
|