มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://www.oocities.org/Tokyo/Harbor/2093/
จำสั้นๆ i.am/thaidoc



มือถือแฮนด์ฟรีดีจริงหรือ


ปัจจุบันนี้เมืองไทยมีโทรศัพท์มือถือใช้กันมากมาย ดูเหมือนว่าใครๆ ก็มีมือถือทั้งนั้น ไม่ว่าที่บ้าน ที่ทำงาน ในรถ ในส้วม ในสวนสาธารณะ ในผับ ในโรงหนัง ที่กรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด หรือในหมู่บ้านแม้ว (เห็นในทีวี) ก็มีคนจ้อ ทางมือถือกันทั้งนั้น ดูเหมือนว่าคนเราจำเป็นต้องการคุยกัน มากเหลือเกิน เมื่อก่อนตอนที่ยังไม่มีมือถือผมก็มีความคิดว่า ผู้หญิงจ้อน้อยที่สุดในเดือน
กุมภาพันธ์ แต่ทุกวันนี้เห็นทั้งหญิงและชายจ้อไม่แพ้กันไม่ว่าเดือนไหน การที่เป็นอย่างนั้น คงเป็นเพราะเทคโนโลยีทำให้การโทรติดได้ง่าย มีหน่วยความจำชื่อจำเบอร์กดปุ๊บติดปั๊บฮัลโหลได้ทันที ไม่มีเวลาคิดเรื่องค่าโทร การที่เป็นอย่างนี้จึงทำให้เกิดปัญหาให้คนจ้อมากในขณะขับรถยนต์

เมื่อ 3 ปีก่อนวารสานการแพทย์ชื่อดัง The New England Journal of Medicine ได้ลงบทความทางวิชาการที่ทำการศึกษาเรื่องการใช้โทรศัพท์มือถือกับการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ ทำให้มีความตื่นตัวเรื่องห้ามใช้มือถือขณะขับรถกันมากขึ้น ในบทความนั้น กล่าวว่า การใช้มือถือในขณะขับรถทำให้เกิดอุบัติเหตุได้มากกว่าคนไม่ใช้ถึง 4 เท่าตัว

ในการศึกษานั้นมันขาดไปอย่างหนึ่งคือ ไม่ได้บอกว่าถ้าพูดโทรศัพท์แบบแฮนด์ฟรี คือไม่ต้อง ถือโทรศัพท์เวลาพูดแล้วจะทำให้เกิดอุบัติเหตุน้อยลง หรือไม่ ทำให้เป็นช่องโหว่ให้พ่อค้ามือถืออ้างเรื่อง แฮนด์ฟรีว่าดี ว่าเหมาะกับคนขับรถ การเป็นอย่างนั้น เพราะยังไม่มีการศึกษาว่าการใช่มือหนึ่งจับโทรศัพท์อีกมือ จับพวงมาลัยจะลดความสามารถในการขับรถหรือไม่ เมื่อเทียบกับการจับพวงมาลัยสองมือในขณะพูดโทรศัพท์ อย่างไหนจะปลอดภัยกว่า คือ เรื่องมือกับเรื่องสมาธิของ สมองไหนจะสำคัญกว่ากัน ถ้าหากแฮนด์ฟรีแล้วจ้อก็ยัง เสียสมาธิในการขับรถจน
เกิดเรื่อง แล้วการที่เราฟังวิทยุ ฟังเพลง ฟังธรรม ฟังเทศน์ จส.100 จะทำให้เกิดอุบัติเหตุจนต้องให้รายการร่วมด้วยช่วยกันหาคนช่วยหรือไม่

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา วารสารทางจิตวิทยาชื่อ Journal of Experimental Psychology ได้ตีพิมพ์ผลงานการทดลองของนักจิตวิทยา 2 คนคือ M.A.Recarte และ L.M.Nunes แห่งเมืองแมดริด สองคนนี้ได้ให้คำตอบแก่เราว่า การใช้ความคิดถึงเรื่องหนึ่งเรื่องใดจะมีผลต่อการขับรถด้วย เพราะจิตย่อมเป็นหนึ่งเดียวในขณะใดขณะหนึ่ง

เนื่องจากการมองเห็นหรือการทำงานของตามีความสำคัญต่อการเกิดอุบัติเหตุมาก ผู้วิจัยทั้งสองคนจึงได้ทำการทดลองเฝ้าดูการเคลื่อนไหวของลูกนัยนย์ตาของผู้ถูกทดลอง 12 คน เพื่อดูว่าการใช้ความคิดถึงเรื่องอื่นนอกจากการขับรถจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้มากแค่ไหน เขาทดลองให้ทำกิจกรรมที่ต้องพูดเปรียบกับกิจกรรมที่ไม่ต้องพูดที่ต้องใช้สมาธิประมาณ 30 วินาที ในกิจกรรมพูดเขาให้ออกเสียงอักษร โดยเริ่มจากตัวใดตัวหนึ่งเรียงลำดับเรื่อยไป ในกิจกรรมไม่ต้องพูด เขาให้นึกภาพตัวอักษรแล้วให้ออกเสียงขานรับเมื่ออักษรที่เขาเปิดให้ดูจากสมุดถ้ามันตรงกับที่เขาจินตนาการเอาไว้ เขามีการพลิกแพลงเอาอักษรเป็นตัวเปิดหรือตัวปิดเช่นตัว E เป็นตัวเปิด หรือว่าเป็นตัวปิดเช่น ตัว P

นักวิจัยกลุ่มนี้พบว่า การทำกิจกรรมแบบไม่พูดกับแบบที่ต้องพูดก็ต้องใช้ความพยายามเท่ากัน ทั้งนี้ดูจากขนาดของม่านตาที่ขยายในการจ้องมอง (eye fixation) ในภาวะปกติผู้ขับรถจะต้องใช้เวลา มองกระจกเงามองหลังแค่ 1.4% แต่เวลาทำกิจกรรมที่ต้องพูดทำให้เวลามองกระจกหลังลดลงเหลือแค่ 0.4% เมื่อทำกิจกรรมที่ไม่ต้องพูดมันลดลงเหลือ 0.2% และปกติผู้ที่ขับรถจะใช้เวลามองดูเกย์ความเร็วรถแค่ 4% แต่เวลาทำกิจกรรมที่ต้องพูดการมองจ้อง (eye fixation) ลดเหลือ 1% เมื่อทำกิจกรรมไม่ต้องพูดเช่น คิดอย่างเดียวมันลดลงเหลือน้อยกว่า 1%

นอกจากที่กล่าวมานี้เขาพบว่า กิจกรรมที่ไม่ต้องพูดแต่ใช้ความคิด ยังทำให้มีการเหม่อมอง ใจลอยมองไปข้างหน้าซึ่งเกิดขึ้นน้อยกว่าเมื่อทำกิจกรรมที่พูดเรื่องง่ายๆ

ที่ว่ามานี้หมายความว่า ถ้าคุณจะใช้โทรศัพท์แบบแฮนด์ฟรี คือ ใช้มือถือแบบไม่ต้องถือ สมาธิในการใช้สายตาของคุณก็ลดลง คุณควรจะพูดในเรื่องง่ายๆ ที่ไม่ต้องใช้ความคิดสร้างภาพ สร้างจิตนาการในขณะคุย ไม่ควรจะพูดเรื่องยากๆ เช่น พยายามบรรยายให้เมียช่วยหากระเป๋าเงิน ที่ลืมไว้ที่บ้านว่ามันอาจจะอยู่ที่โน่นที่นี่ หรือ ถ้าฝ่ายเมียโทรไปหาสามีในขณะที่ขับรถ ก็ไม่ควรจะเอาเรื่องที่ต้องคิดมาไปถาม เช่น "ท่อประปาแตกที่บ้านน้ำกำลังรั่ว โกร๊กจะทำอย่างไรดี" การถามอย่างนั้นอาจจะทำให้สามีคิดวาดภาพ เสียสมาธิในการขับรถทำให้เกิดเสียง "โครม" ดังมาทางโทรศัพท์

เขาแนะนำว่าขณะขับรถไม่ควรคิดถึงเรื่องที่ทำให้เร้าอารมณ์เช่น มองเห็นภาพแฟนในชุดวันเกิด คิดถึงฉากรักหวานจ๋อย คิดถึงศัตรูคู่อาฆาตที่กำลังถูกเราต่อยครึ่งปากครึ่งจมูกด้วยสนับมือ มองเห็นตัวเองต่อยหมัดซ้ายขวาหนึ่งสองถูกทุกหมัด คิดแบบนี้มีหวังเกิดเรื่องชนท้ายรถบรรทุกแน่ เขาแนะนำให้คุยกันในเรื่องง่ายๆ ไม่ต้องใช้หลักตรรกวิทยา หรือการคิดคำนวณในการพูดจา ด้วยเรื่องเงินทองบัญน้ำบัญชี

การฟังวิทยุก็ควรฟังเรื่องง่ายๆ ไม่ใช่เอาเทปวิชาการยากๆ มาตั้งอกตั้งใจฟัง หรือฟังรายการ จส.100 มีเสียงโฆษกเสียงสวย บรรยายถึงอุบัติเหตุหวาดเสียว มีเสียงระเบิดรถยนต์ตกจากทาง ต่างระดับในขณะที่การจราจรกำลังคับคั่งเต็มพื้นที่ถนน 90% มีหวัง จส.100 จะทำให้เกิดอุบัติเหตุมากขึ้นเพราะคนฟังต้องใช้จิตนาการ ให้เกิดความเข้าใจ เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงไม่ขับไปทางนั้น

เมื่อไม่นานมานี้ตำรวจไทยเราได้เสนอร่างกฎหมายห้ามการถือโทรศัพท์คุยกันในขณะขับรถยนต์ ซึ่งหลายประเทศก็มีการห้ามกันแล้ว แต่เข้าใจว่ากฎหมายนี้ไม่ครอบคลุมถึงการจ้อแบบแฮนด์ฟรี แต่ผู้ใช้มือถือแบบไม่ต้องถือก็ควรจะสำเหนียกไว้ด้วยว่าการพูดอย่างเดียวก็อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุมากขึ้น ไม่ว่าจะใช้มือเดียวหรือสองมือขับรถนะครับ

นพ.นริศ เจนวิริยะ

(update 6 ธันวาคม 2000)


[ที่มา..หนังสือ นิตยสารใกล้หมอปีที่ 24 ฉบับที่ 6 มิถุนายน 2543]

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21] resolution 800x600