มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://www.oocities.org/Tokyo/Harbor/2093/
จำสั้นๆ i.am/thaidoc



การรักษาโรคไมเกรน

นพ.ชุมศักดิ์ พฤกษาพงษ์


เป้าหมายของการรักษาไมเกรน คือ การระงับอาการที่เกิดจากโรคกำเริบเฉียบพลัน และป้องกันการเกิดครั้งต่อไปโดยวิธีการต่างๆ

การรักษาแบ่งออกได้เป็นแบบไม่ใช้ยา และแบบใช้ยา


การรักษาแบบไม่ใช้ยา

ฟังดูไม่น่าเชื่อว่า มาตรการต่างๆ บางอย่างทำให้อาการปวดศีรษะจากไมเกรนของคนบางคน หายไปได้ราวกับปลิดทิ้ง เช่น การปรับเปลี่ยนอาหาร อย่างไรก็ตาม ในคนไข้จำนวนมากยังคงมีอาการอยู่ แต่น้อยลงหลังการเปลี่ยนอาหารแล้ว

อาหารที่อาจกระตุ้นอาการมีอาทิเช่น
  • โยเกิร์ต
  • กล้วย
  • ผลไม้แห้ง
  • ถั่วต่างๆ
  • เนยแข็งที่เก็บไว้นาน
  • ผักดอง
  • ผงชูรส และน้ำตาลเทียมแอสพาร์เทม
  • เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์บางอย่าง เช่น ไวน์แดง และเบียร์
นอกจากอาหารแล้ว มาตรการที่เรียกว่า ไบโอฟีดแบ็ค (biofeedback) การนั่งทำสมาธิ และเทคนิคการผ่อนคลายต่างๆ รวมทั้งการออกกำลังกายแอโรบิก ล้วนมีประสิทธิภาพในการป้องกัน การกำเริบของไมเกรนได้ การแทรกแซงทางจิตวิทยาและจิตเวชอาจมีความจำเป็นในบางราย

ในบางประเทศจะมีการจัดตั้งคลินิกพิเศษเพื่อตรวจรักษาคนปวดศีรษะโดยเฉพาะ เนื่องจากคนปวดศีรษะจำนวนมากเทียวไปเทียวมาหาหมออยู่หลายคน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอาการก็ยังไม่ดีขึ้น การรักษาจึงยิ่งซับซ้อน หากได้คลินิกที่ให้ความสำคัญให้เวลา ให้ความรู้ความชำนาญในการจัดการกับอาการนี้ ก็จะช่วยลดความวิตกกังวล ความสิ้นเปลือง บ่อยครั้งทีเดียวที่การรักษาอาการปวดศีรษะในแต่ละคน จะเป็นเรื่องเฉพาะเจาะจง คนหนึ่งก็รักษาอย่างหนึ่งไม่ซ้ำกัน

  • แมกนีเซียม (magnesium)

แมกนีเซียมเป็นธาตุสำคัญของร่างกายและเป็นธาตุที่มีบทบาทในการเกิดโรคไมเกรน ดังจะเห็นจากหลายงานวิจัยที่พบว่าคนที่เป็นไมเกรนมีระดับธาตุแมกนีเซียมในร่างกายต่ำกว่าปกติ ครั้นเมื่อลองฉีดแมกนีเซียมซัลเฟต 1 กรัมเข้าเส้นเลือดให้แก่คนไข้ที่เป็นไมเกรนชนิดเฉียบพลัน 40 ราย ก็พบว่า 21 ราย หายปวดศีรษะโดยส่วนใหญ่ (80%) ของคนที่หายปวดมีระดับแมกนีเซียมในเลือดต่ำ

  • ไรโบฟลาวิน (riboflavin) หรือวิตามินบี 12

มีบางงานวิจัยที่บอกว่า วิตามินบี 12 ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรนได้แต่เป็นงานวิจัยขนาดเล็ก ที่ทดลองกับคนไข้ไมเกรนเพียง 55 ราย

  • สมุนไพร

มีสมุนไพรบางชนิด เช่น feverfew ที่นำมาทดลองแบบวิทยาศาสตร์แล้วได้ผลในเชิงป้องกันไมเกรน จึงมีคนสมองใสนำไปผสมกับแมกนีเซียมและไรโบฟลาวินเป็นสูตรผสมใช้รักษาไมเกรน


การรักษาแบบใช้ยา

แบ่งตามวัตถุประสงค์การใช้ออกได้ เป็น 2 แนวคือ

แนวทางที่ 1 ยาที่ระงับหรือบรรเทาอาการปวดศีรษะจากไมเกรนเฉียบพลัน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่สุดเพราะคนซึ่งกำลังปวดแทบระเบิดอยู่นั้น สิ่งที่เขาต้องการคือ ทำอะไรก็ได้ที่ทำให้อาการปวดศีรษะหายไป

ยาที่เลือกใช้ได้แก่
  • แอสไพริน ซึ่งถ้าจะให้ออกฤทธิ์เร็วๆ ต้องใช้แอสไพรินชนิดใส่น้ำแล้วเป็นฟองฟู่ (effervescent tablet) เช่น อัลกาเซลเซอร์
  • พาราเซทตามอล หรือ อะเซทตามิโนเฟน
  • dextropropoxyphene
  • โคเดอีน (codgine)
  • เออร์กอท (ergot) เฉยๆ หรือ ergotc ผสมคาเฟอีน แต่ยานี้อาจทำให้คลื่นไส้ได้จึงอาจหลีกเลี่ยง โดยเปลี่ยนไปใช้ยาแบบเหน็บทวารหนัก ยานี้มีข้อห้ามใช้ในกรณีหญิงตั้งครรภ์ คนที่เป็นโรคเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจหรือแขนขาตีบตัน
  • dihydroergotamine (DHE-45) เป็นสารที่มีต้นแบบจากเออร์กอท แต่ใช้ฉีดหรือพ่นจมูก ในกรณีที่มีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วยจากไมเกรนเองหรือจากยาก็ให้ใช้ยาแก้คลื่นไส้ เช่น ยากลุ่ม prochlorperazine ได้แก่ compazine หรือ metoclopraminde ยากลุ่ม perphenazine หรือยากลุ่ม chlorpromazine ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้วิธีฉีดเข้ากล้าม
  • ยาแก้ปวด ที่แรงขึ้นหน่อยคือ meperidine ซึ่งมักใช้ในการรักษาแบบฉุกเฉิน เวลาเกิดไมเกรนรุนแรงเฉียบพลันแต่ไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อ
  • ยากลุ่มลดอักเสบ ที่ไม่มีสารสเตียรอยด์ (nonsteroidal anti-inflammatory drugs หรือ NSAID) นอกจากแอสไพรินแล้ว ยังมียากลุ่มที่เรียกย่อๆ โดยรวมว่ายาเอ็นเสด (NSAID) ซึ่งใช้แพร่หลายในกรณีโรคข้ออักเสบแต่นำมาบำบัดไมเกรนรุนแรงระดับปานกลาง ถึงรุนแรงมากได้ เช่น
    1.ยาแนปโปรเซน โซเดียม (naproxen sodium)
    2.แอสไพรินชนิดรับประทานขนาดเม็ดละ 500 มิลลิกรัม หรือชนิดฉีดเข้าเส้น
ยาแก้ปวดเหล่านี้ควรรับประทานหรือฉีดทันทีที่มีอาการเตือน (aura) หรือทันทีที่เริ่มปวดศีรษะ จึงจะทำให้ได้ผลดี

ยาใหม่ๆ สำหรับไมเกรน

จากการที่นักวิจัยทำการศึกษาไมเกรนมาอย่างต่อเนื่องทำให้ทราบว่าขณะเกิดอาการเฉียบพลันขึ้น นั้นมีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีชนิดในสมองโดยเฉพาะจุดซึ่งเรียกว่า 5HT1B/1D serotonin receptor ดังนั้นถ้าใช้ยาที่ไปเกาะกับจุดนี้แล้วอาการปวดจะหายไปหรือบรรเทาลง ยานี้คือ
1. sumatriptan (imitrex) ซึ่งมีทั้งแบบฉีด แบบรับประทานและแบบพ่นจมูก แบบฉีดก็สะดวก คนไข้ฉีดให้ตัวเองได้
ยานี้ห้ามใช้ในคนที่มีความดันโลหิตสูงแล้วควบคุมไม่ได้ โรคหัวใจขาดเลือด และไมเกรนชนิดมีโรคแทรกต่อระบบประสาท
2. zolmitriptan (zomig) และ rizatriptan (maxalt) ซึ่งเป็นยากลุ่ม triptan รุ่นใหม่ออกฤทธิ์เร็วกว่า sumatriptan
แนวทางที่ 2 ยาป้องกันการกำเริบของไมเกรน

สำหรับคนที่มีอาการไมเกรนกำเริบเดือนละ 2 ครั้งขึ้นไปหรือไม่บ่อยเท่านั้นแต่ว่าทุกครั้งที่กำเริบ จะมีอาการรุนแรงและกินเวลานานจนมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันมาก ยาที่ใช้ป้องกันมีอาทิเช่น
  • ยาปิดกั้นเบต้า เช่น propanolol, timolol ขนาด 40-240 มก./วัน
  • ยาปิดกั้นช่องแคลเซียม
  • ยาเอ็นเสด
  • ยากล่อมประสาทกลุ่ม tricyclig antidepressants (TCA)
  • monoamine oxidase inhibitors (MAOIS)
  • ยากลุ่มเออร์กอท
  • alpha agonist
  • antiserotonin agents (SSRI) เช่น fluoxetine (prozac), sertraline (zoloft), paroxetine (paxil)
  • divalproex sodium (depakote)
ที่ไม่อธิบายยากลุ่มต่างๆ โดยละเอียดเพราะจะเป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับท่านผู้อ่าน จึงขอให้เป็นหน้าที่ของหมอในการพิจารณาเลือกใช้

หลักการเลือกใช้ยา

ในกรณีของไมเกรนที่มีอาการปวดศีรษะขนาดเบาจนถึงขนาดปานกลางนั้น ยาแก้ปวดขนานธรรมดา หรือยากลุ่มเอ็นเสดก็เพียงพอแล้ว ส่วนกรณีอาการที่รุนแรงกว่านี้จึงจะพิจารณาใช้ยากลุ่ม triptan หรือเออร์กอท

เมื่อวงการแพทย์เรียนรู้กลไกการเกิดโรคดีกว่านี้ก็จะมีการวิจัยหายาใหม่ๆ ที่ได้ผลดียิ่งขึ้น

(update 6 ธันวาคม 2000)


[ที่มา..หนังสือ นิตยสารใกล้หมอปีที่ 24 ฉบับที่ 10 ตุลาคม 2543]

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21] resolution 800x600