มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://www.oocities.org/Tokyo/Harbor/2093/
จำสั้นๆ i.am/thaidoc



อแด๊ปเตอร์ ช่วยคุย

ปัญหานี้คลับคล้ายคลับคลาว่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่ลูกคนแรกเกิด เวลาอยู่กันตามลำพังสองแม่ลูก ดิฉันมักจะเกิดอาการใบ้ ไม่รู้จะคุยอะไรกับลูก เห็นคนอื่นคุยกับลูกจ้อๆ แล้วอิจฉาว่าช่างสรรหาอะไรพูดคุยก็ไม่รู้
นอกจากไม่รู้จะคุยอะไรแล้ว เวลามีเรื่องจะคุยก็เป็นปัญหาอีก เพราะมันจะคุยเป็นภาษาเขียน มากกว่าจะเป็นภาษาพูด หรือที่คุณสามีชอบค่อนขอดว่า "เป็นวิชาการ เต็มไปด้วยหลักการ"

เพราะฉะนั้นลูกๆ จึงไม่ค่อยชอบฟังแม่พูดมากนัก
แต่แล้วเมื่อไม่กี่เดือนมานี้เอง ใช่ค่ะผู้อ่านอ่านไม่ผิดหรอกค่ะว่า ไม่กี่เดือนมานี้เอง ที่ดิฉันเพิ่งจะเรียนรู้วิธีคุยกับลูกให้สนุกทั้งเราและลูก ในขณะที่ลูกสาวคนโต-มะขามอายุ 8 ขวบ และคนเล็ก-มะยมอายุ 6 ขวบ

วันนั้นช่างบังเอิญเหลือเกิน เป็นคืนที่แจ่มใส ดิฉันพาลูกๆ เข้านอน ดิฉันและสามีจะเล่านิทานให้ลูกฟังเสมอ และถ้าหากนิทานนั้นจะมีบทเรียนอะไรอยู่ ดิฉันก็มักจะดึงขึ้นมาย้ำกับลูกๆ อย่างตรงๆ ว่าลูกทำอย่างนั้นๆ นะ ลูกควรจะทำอย่างนี้ๆ นะ ซึ่งผลก็คือ
"อีกแล้ว อีกแล้ว แม่สอนอีกแล้ว"เสียงมะยมทักท้วงใจ ในขณะที่มะขามแกล้งหาวเสียงดัง

แต่คืนนั้น นิทานที่เล่าเป็นเรื่องราวของคนขี้โกหก และดิฉันเองเคยมีบทเรียนจากการโกหก และดิฉันเองเคยมีบทเรียนจากการโกหกอย่างฝังจิตฝังใจ เมื่อนิทานจบลง ดิฉันจึงเล่าเรื่องของตนเองต่อ

เรื่องมีอยู่ว่า ตอนเป็นนักเรียน ดิฉันยืมหนังสือมาจากห้องสมุด แต่เพื่อนทำหาย ดิฉันจึงไปโกหกกับครูบรรณารักษ์ว่าดิฉันคืนแล้ว
"ครูให้แม่ไปนั่งอยู่คนเดียวเงียบๆ นานมาก ขณะที่รอ แม่ก็กลัวว่าครูจะจับได้ แม่กลัวมากขึ้น มากขึ้น จนในที่สุดแม่ก็ไปสารภาพความจริงกับครู"
แม้ว่าครูจะไม่เอาผิด แต่ความผิดในใจก็ไม่ลบเลือนไปง่ายๆ
"นี่แหละลูก เห็นแล้วใช่ไหมว่าการโกหกนี่ไม่ดีเลย เพราะฉะนั้นลูกต้องไม่โกหกพ่อแม่นะจ๊ะ และอีกอย่างก็คือ ลูกๆ ไม่ควรจะมีความลับกับพ่อแม่ด้วย"

น่าประหลาดเหลือเกิน ที่การสอนครั้งนี้ไม่มีใครประท้วง แถมมะขามถึงกับนิ่งอึ้ง สักพักก็เอาหน้าซุกหมอน ดิฉันเอะใจว่าสิ่งที่พูดต้องแทงใจดำลูก ไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่งแน่ ดิฉันเอื้อมมือไปกอดลูกกระชับ แล้วถามว่าเกิดอะไรขึ้น
"หนูมีความลับเรื่องหนึ่ง" ลูกกระซิบที่ข้างหู "หนูจะบอกแม่ แต่แม่อย่าบอกพ่อนะ หนูยืมเงินป้าจู 40 บาทจ้ะ แล้วยังไม่ได้คืนเลย ป้าจูบอกว่าให้หนู"

ผู้อ่านอาจจะรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็ก แต่สำหรับบ้านเราแล้วเป็นเรื่องใหญ่ เพราะดิฉันจะเข้มงวดเรื่องเงินกับลูกมาก ห้ามยืมหรือขอจากใครเลย เรื่องยืมเงินป้าจูนี่ มะขามเก็บเงียบมาเป็นเดือนแล้ว และขณะนี้เขากำลังเผยความลับ (อีกนัยหนึ่งก็คือความผิด) และการที่เขายอมเปิดเผยก็เพราะเขา เข้าใจ สิ่งที่ดิฉันพยายามจะบอกเขาผ่าเรื่องจริงที่เล่าให้ฟัง

จากเหตุการณ์คืนนั้น ดิฉันเรียนรู้ว่าการที่เราจะพูดคุยกับลูกซึ่งเป็นเด็กเล็กๆ ให้เขาสนใจฟัง ในสิ่งที่เราจะบอกเขานั้น เราควรคำนึงถึงเสมอว่าเขาเป็นเด็กตัวน้อย โลกของเขายังใบเล็กนัก อาจจะมีเพียงพ่อแม่ ปู่ย่า หรือตายาย เพื่อนที่โรงเรียน แถมลูกหมาอีกสักตัว ฉะนั้นประสบการณ์ใดๆ ที่ผู้ใหญ่ผ่านพบ ยากที่เด็กน้อยจะเข้าใจ หากจะให้เขาเข้าใจเราก็ต้องมี "อแด๊ปเตอร์" แปลงให้เหตุการณ์นั้นเยาว์วัยลงด้วยเช่นกัน เหมือนเรื่องโทษของการโกหก ที่ดิฉันเกริ่นนำด้วยนิทาน แล้วย้ำด้วยเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นกับ เด็ก คนหนึ่งนั้นเอง (ช่างบังเอิญจริงๆ)

นับตั้งแต่คืนนั้น "อแด๊ปเตอร์" ในหัวดิฉันก็ทำงานตลอด หลายคืนก่อน มะยมตื่นขึ้นมากลางดึก บอกว่าฝันร้ายและนอนไม่หลับ ถ้าเหตุการณ์เกิดขึ้นกับตัวเอง ดิฉันคงลุกขึ้นมาสวดมนต์และนั่งสมาธิ หรือไม่ก็อ่านหนังสือ แต่เราจะบอกกับเด็ก 6 ขวบ ให้ทำแบบนี้ได้หรือ หลังจากมี "อแด๊ปเตอร์" แล้ว ดิฉันก็บอกกับลูกว่า
"มะยมกลับหมอนแล้วกราบนะลูก แล้วนอนต่อ เวลานอนก็นึกแต่เรื่องสนุกๆ" แล้วชวนคุยต่ออีกนิดให้ลืมฝันร้าย
"มะยมรู้ไหมว่า ลูกฝันดีบ่อยๆ นะเพราะลูกชอบละเมอหัวเราะเรื่อยเลย"
"จริงเหรอแม่" มะยมเริ่มสนใจเรื่องของตัวเอง
"จริงสิจ๊ะ เอาละ นอนหลับฝันดีได้"

ขอบคุณ "อแด๊ปเตอร์" ที่ทำให้ดิฉันมีกำลังใจที่จะพูดคุยกับลูกๆ ได้อย่างมั่นใจ โดยเฉพาะปัญหาการดำเนินชีวิตของพวกเขาในวันข้างหน้า ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะสื่อสารให้เข้าใจ

วันนั้น นอกจากจะดีใจที่พบเคล็ดลับการพูดคุยแล้ว สิ่งที่ดีใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าก็คือ การที่ลูกสาวคนโตยอมรับว่า เราพ่อแม่ลูกจะไม่มีความลับต่อกัน เพราะในท่ามกลางความเละเทะ ของสังคมนอกบ้าน ความป่วยไข้ของสถาบันครอบครัวที่นำพาวัยรุ่นของเราลงเหวนั้น อย่างน้อยๆ ดิฉันก็เริ่มปูอิฐก้อนแรกแห่งความไว้วางใจต่อลูกสาวได้สำเร็จแล้ว และเชื่อว่าก้อนต่อๆ ไป ถึงแม้จะยากขึ้นก็คงไม่เกินความพยายามของเราไปได้

ทศสิริ พูลนวล

(update วันที่ 22 กันยายน 2543)


[ที่มา.. life & family   ปีที่ 5 ฉบับที่ 53 สิงหาคม 2543 ]

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21] resolution 800x600