มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://www.oocities.org/Tokyo/Harbor/2093/
จำสั้นๆ i.am/thaidoc


เช็กพัฒนาการกันหน่อย

พญ.วินัดดา ปิยะศิลป์


พัฒนาการดี…สมองดี

อย่างที่ทราบกันแล้ว่า การเจริญเติบโตของสมองเด็กจะมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา ในด้านการเจริญเติบโตและการทำงานในด้านต่างๆ อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีแรก ทำให้เกิดการเรียนรู้และมีทักษะเกิดขึ้นมากมาย สิ่งต่างๆ ที่เข้ามาสู่ชีวิตของเด็กจึงมีความหมาย ต่อการสร้างและพัฒนาเซลล์สมองทั้งสิ้น

พัฒนาการของเด็กเกิดจากการสั่งการของสมอง ไม่ว่าจะเป็นการก้ม หยิบ จับ วิ่ง เดิน มองเห็น กินอาหารหรือแม้แต่การรับรู้รส ล้วนเกิดจากการทำงานของสมองทั้งสิ้น หากสมองมีปัญหาพัฒนาการของเด็ก ก็จะไม่เป็นไปตามวัย

ทางการแพทย์พิสูจน์ได้ว่า ถ้าทารกได้รับความกระทบกระเทือนจากการคลอด จนทำให้เซลล์สมองทำงานได้น้อยลงบางส่วน แต่ทารกนั้นได้รับการกระตุ้นพัฒนาการที่เหมาะสมในทุกๆ ด้าน จะส่งผลทำให้มีการปรับเปลี่ยนในสมอง มีการสร้างเซลล์เสริมส่วนอื่นมาช่วยในส่วนที่ถูกทำลายไป แม้ในบางรายอาจมาทดแทนการทำงานได้ไม่ทั้งหมดก็ตาม

ความรู้ในเรื่องพัฒนาการของเด็กโดยเฉพาะในช่วง 5 ปีแรก จึงเป็นรากฐานสำคัญในการค้นหาเด็ก ที่มีพัฒนาการบกพร่องหรือช้ากว่าเด็กปกติ จะด้วยสาเหตุใดก็ตาม เพื่อดึงเด็กๆ เหล่านี้ออกมาฝึกเข้ม เน้นที่ความสามารถในด้านต่างๆ ตั้งแต่แรก ปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมต่างๆ ให้เหมาะสม โดยหวังว่าจะกระตุ้นให้สมองปรับเปลี่ยนทำงานให้เหมาะสม

การที่เด็กจะเรียนรู้และพัฒนาความสามารถต่างๆ ขึ้นมาได้นั้นต่างต้องอาศัยการทำงานของสมองทั้งสิ้น หากจะดูว่าสมองว่ามีปัญหาบกพร่องหรือไม่ พ่อแม่ก็สามารถดูได้ โดยการตรวจเช็กพัฒนาการของลูกว่า ทำได้ตามความสามารถของเด็กปกติหรือไม่ ถ้าตรวจดูแล้วว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติก็สบายใจไปได้เปลาะหนึ่ง แต่ถ้าตรวจแล้วพบว่าลูกมีพัฒนาการที่ช้ากว่าเด็กอื่น ก็ต้องนำลูกมาพบกุมารแพทย์ตรวจดูซ้ำในรายละเอียด และค้นหาสาเหตุที่ทำให้พัฒนาการของลูกล่าช้าต่อไปค่ะ


พัฒนาการ 5 ปีแรก ของลูกน้อย

พัฒนาการในช่วงวัยที่สำคัญในช่วง 5 ปีแรกนั้น มีดังนี้ค่ะ

อายุ 2 เดือน : เริ่มชันคอและ สามารถยกหัวขึ้นได้สูง 45 องศาในท่านอน คว่ำ ในท่านั่งสามารถตั้งศีรษะได้ชั่วครู่ ชอบมองหน้าคนมากกว่าสิ่งของ สงบ อารมณ์ตัวเองได้โดยการดูดนิ้วมือและยิ้ม ให้คนที่คุ้นเคย มีปฏิกิริยาตอบโต้ด้วยการ เคลื่อนไหวร่างกาย สื่อสารด้วยเสียงร้อง สนใจต่อเสียงและหันไปหาต้นเสียงได้ถูก ทิศทาง เรียนรู้สิ่งต่างๆ ผ่านทางสัมผัสได้ มาก ความสามารถในการมองเห็นได้ดี ในระยะห่าง 8-10 นิ้ว สนใจในสิ่งที่ เคลื่อนไหวและมองตามได้มากขึ้น

อายุ 4 เดือน : ร่างกายเติบโต มีน้ำหนักมากกว่าเมื่อแรกเกิดถึง 2 เท่า ชันคอได้ดีในท่านั่ง และสามารถยกหัวขึ้น ได้สูง 90 องศาในท่านอนคว่ำโดยใช้แขน ยันมือทั้ง 2 ข้างเริ่มคลายออกจากท่ากำมือ เมื่อแรกเกิดและสามารถจับขวดนมได้เอง ไขว่คว้าของเล่นใกล้ๆ ได้มีท่าดีใจเมื่อเห็น คนคุ้นเคยและแสดงความดีใจ ยิ้มตอบ ทักทายได้ ส่งเสียงอ้อแอ้ตอบรับและ หัวเราะเสียงดังเมื่อดีใจ ให้ความสนใจกับ ความเคลื่อนไหวรอบตัว เริ่มมองตามสิ่งของ และเรียนรู้จักการคาดเดาสิ่งที่จะเกิดตามมา ได้บ้าง

อายุ 6 เดือน : คืบตัวไปข้างหน้า พลิกคว่ำพลิกหงายได้เอง นั่งเองโดยไม่ต้อง ช่วยจับได้ชั่วครู่ เริ่มใช้ฝ่ามือหยิบของและ ใช้เพียงมือข้างเดียวก็ทำได้ มองเห็นสิ่งต่างๆ ทั้งระยะสั้นๆ และระยะไกล ใช้สองตา ประสานการทำงานได้ดี ยิ้มให้กับเงา ในกระจก ชอบเล่นน้ำลายและพยายาม ทำเสียงได้หลากหลาย รู้จักชื่อของตนเอง และหันไปตามเสียงเรียก ชอบสำรวจ สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวและทำซ้ำๆ เมื่ออยาก เรียนรู้จักสิ่งนั้นๆ
เช็กสมองจากพัฒนาการ
ด้านต่างๆ

เราสามารถตรวจสอบการทำงานของสมองลูก จากการดูพัฒนาการของเขา โดยดูจากว่าพัฒนาการ ด้านต่างๆ เหล่านี้ เหมาะสมตามวัยหรือไม่
  • การทำงานของกล้ามเนื้อใหญ่ เช่น การใช้แขน ขาในการคีบ คลาน ยืน เดิน เป็นต้น
  • การทำงานของกล้ามเนื้อเล็ก เช่น การใช้มือ การใช้ลูกตา เป็นต้น
  • ความสามารถในการเข้าใจภาษาและการพูดจา สื่อสารว่าเหมาะสมเป็นไปตามวัยหรือไม่
  • การช่วยเหลือตนเอง เช่น การทานข้าว อาบน้ำ แปรงฟัน เป็นต้น ถ้าถึงวัยที่ควรจะทำได้แล้ว แต่ยังทำไม่ได้ น่าสงสัย
  • ความสามารถในการเข้าสังคม เช่น การทักทาย การจ้องหน้า สบตา การเล่น เป็นต้น
  • พัฒนาการทางอารมณ์ เช่น จากเด็กที่ควบคุม อารมณ์ไม่ได้ หยุดยั้งตัวเองไม่ได้เมื่อมีสิ่งใดมา กระทบเปลี่ยนไปเป็นเด็กที่มีความยับยั้งตัวเอง ได้เหมาะสม อารมณ์มั่นคง สดชื่น
  • พัฒนาการในการเรียนรู้ เช่น ความเข้าใจสิ่งต่างๆ จากสิ่งง่ายๆ มาเข้าใจสิ่งที่ซับซ้อนหรือเป็น นามธรรม เป็นต้น
ฯลฯ

อายุ 9 เดือน : สภาพร่างกายมีน้ำหนักเพิ่มจากเมื่อแรกเกิดถึง 3 เท่า หมั่นเขี้ยว คันเหงือก มีความสามารถในการกัด ขบ เคี้ยวสิ่งต่างๆ ทานอาหารกึ่งแข็งกึ่งเหลวได้ สามารถคลานเหนี่ยวตัว เกาะยืน และนั่งเองได้มั่นคง ใช้นิ้วมือได้ดี ชอบเอานิ้วไปแหย่ตามรูหรือใช้หยิบของต่างๆ มองเห็นได้ไกลขึ้น เริ่มแสดงตัวเป็นเจ้าของสิ่งต่างๆ รวมทั้งตัวแม่ รู้จักปฏิเสธ สามารถแสดงอารมณ์ได้เหมาะกับความรู้สึก เช่น ร้องไห้เมื่อโกรธ หัวเราะเมื่อดีใจ ร้องไห้เมื่อคนแปลกหน้าเข้ามาใกล้ๆ ส่งเสียงได้ซ้ำๆ ฟังรู้ภาษา เข้าใจภาษาท่าทางง่ายๆ ได้ เช่น เข้าใจสีหน้าแม่เวลาแม่ห้ามไม่ให้ทำ สนใจในสิ่งของและมองตามของที่ตกพื้น รู้จักวิธีหยิบของเล็กใหญ่ จำตัวเองและแม่ได้จากภาพในกระจกเงา ค้นหาสิ่งที่ซุกซ่อนได้และสนุกในการเล่นซ่อนของ

อายุ 12 เดือน : สามารถเกาะยืนและตั้งไข่ยืนเองได้ชั่วครู่ จูงให้เดินได้ ใช้นิ้วหัวแม่มือหยิบจับของได้ดี รู้จักดึงของเข้าหาตัว นั่งยองๆ ได้คล่อง ให้ความร่วมมือในการแต่งตัว ตบมือและเลียนแบบท่าทางต่างๆ ได้ เช่น สาธุ บ๊ายบาย ส่งจูบ อยากทำอะไรด้วยตัวเอง จะเริ่มตักข้าวเข้าปากได้ ทานอาหารข้าวเป็นอาหารหลักได้ 3 มื้อ และเรียกคำที่มีความหมายได้ 1 คำ เช่น แม่ ยาย นม เป็นต้น รู้จักสมาชิกในบ้านเมื่อบอกชื่อ แยกแยะคนแปลกหน้าได้แม่นยำ รู้จักแก้ปัญหาง่ายๆ ได้ ชอบสำรวจสิ่งรอบตัวเมื่อมั่นใจว่าปลอดภัย และแสดงความกังวลเมื่อไม่เห็นแม่หรือรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย

อายุ 2 ปี : น้ำหนักประมาณ 11-12 กก. ช่วงนี้น้ำหนักของเด็กจะขึ้นช้าลง คือ 2 กิโลกรัม ทุก 1 ปี เดินและวิ่งได้คล่องตัว ขึ้นบันไดโดยใช้มือจับราว ใช้มือได้คล่อง สามารถใช้ช้อนตักอาหารเข้าปากได้คล่อง แต่ยังมีข้าวหกอยู่บ้าง รับรู้กฎเกณฑ์ในการทานข้าว ชอบช่วยตัวเอง ถอดกางเกงได้ พยายามจะแปรงฟันและทำสิ่งต่างๆ เลียนแบบผู้ใหญ่ พูดได้มาก เข้าใจคำถึง 50 คำ และพูดเป็นพยางค์ได้ เช่น ไปเที่ยว ไม่เอา กินข้าว เป็นต้น แยกห่างจากแม่ได้นานขึ้น แต่เมื่อไม่แน่ใจก็ยังร้องหา สำรวจและเรียนรู้ผ่านการเล่นและการช่วยเหลือตัวเองได้ดี

อายุ 3 ปี : น้ำหนักประมาณ 13-14 กก. ขึ้นบันไดสลับเท้าได้คล่องแต่ยังต้องจับราวเป็นบางครั้ง เล่นของเล่นเลียนแบบชีวิตจริงได้ เข้าใจวิธีการเล่นและนำมาเปรียบเทียบกับสิ่งต่างๆ เช่น เอารถพลาสติกมาแล่น เอาค้อนเด็กเล่นมาทำท่าตอกตะปู ใช้นิ้วมือได้ดีโดยเล่นชิ้นเล็กๆ ต่อท่อนไม้ในแนวสูงได้ 6-8 ท่อน เริ่มใช้ตากะระยะและวางแผนการเล่นได้ พูดได้มาก รู้จักคำ 250 คำ และสามารถพูดออกมาเรียงเป็นประโยค มีประธาน กิริยา กรรมได้ถูกต้อง สนใจการเล่นได้นาน และสามารถแบ่งของเล่น เล่นพร้อมเด็กคนอื่นได้แต่ยังไม่ได้เล่นด้วยกัน ยังหวงของ แต่สามารถเรียนรู้ที่จะแบ่งปันกับผู้อื่น อารมณ์มั่นคง ไม่ร้องไห้หาแม่ และสามารถแยกจากแม่ หรือออกจากบ้านได้นานขึ้น แต่งตัวเอง ถอดรองเท้า ใส่เสื้อ บอกว่าจะไปเข้าห้องน้ำและช่วยตัวเองในการทำความสะอาดได้ แต่ต้องช่วยบ้าง เรียนรู้ที่จะไว้ใจผู้อื่นและเลียนแบบตามได้

อายุ 4-5 ขวบ : ร่างกายจะเติบโตกว่าช่วงปีที่ผ่านมา อวัยวะต่างๆ ประสานและสัมพันธ์กันได้ดีและแข็งแรงมากขึ้น สามารถควบคุมระบบต่างๆ ของร่างกายได้ดี สามารถยืนทรงตัวด้วยขาข้างเดียวได้นานหลายนาที สามารถพูดเป็นประโยคยาวๆ ได้ อยากรู้อยากเห็น สนใจกับเรื่องราวทุกอย่าง เต็มไปด้วยจินตนาการ ชอบตั้งคำถาม เริ่มมีพัฒนาการทางดนตรีอย่างเห็นได้ชัด รู้จักควบคุมเสียงได้ดีขึ้นและร้องเพลงทำนองสูงๆ ต่ำๆ ได้ สามารถต่อไม้บล็อกได้สูงกว่า 10 ชั้น รู้จักเล่นกับเพื่อนวัยเดียวกันแล้ว เพราะมีเพื่อนในโรงเรียน

เลี้ยงเด็กแบบนี้…ไม่ดีแน่

ถ้าคนเลี้ยงเด็กมัวแต่คอยตามใจทำทุกอย่าง ให้เด็กไปเสียหมด เด็กอยากได้อะไรให้หมดเลยทั้งที่ ไม่เหมาะสมการเลี้ยงแบบนี้นอกจากจะทำให้เด็กกลาย เป็นคนใจร้อน ไม่รับผิดชอบ ไม่ช่วยเหลือตนเองแล้ว ยังไม่รู้จักอดทน รอคอย ใจร้อนเกินกว่าที่จะทำอะไรซ้ำๆ จนพัฒนาจนเกิดเป็นความสามารถติดตัวขึ้นมาได้ เรียนรู้อะไรก็ไม่ลึกซึ้งเพราะใจที่ร้อน ร่วมกับความขี้เกียจ ไม่อดทน ทำอะไรผิดพลาดนิดหน่อยก็หยุดทำไปเลย เพราะทนกับความผิดหวังเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้ หรือถ้า คนเลี้ยงใจร้อน ไม่อดทนกับเด็ก ดุด่าว่ากล่าวเด็กมาก จะทำให้เด็กรู้สึกกลัว ไม่กล้าทำอะไรผิดจากคำสั่ง ไม่กล้าทำ ไม่มั่นใจ กลัวความผิดพลาดไปเสียหมด ฯลฯ
คนใกล้ตัว… สำคัญต่อพัฒนาการ

จะเห็นว่าพัฒนาการในเด็กหลายๆ อย่างมิได้เกิดขึ้นมาพร้อมกับตัวเด็ก เช่น การเรียนรู้ในด้านภาษา มิใช่จะรอว่าพอ เด็กอายุ 1 ปี เด็กจะพูดได้ 1 คำ ที่มีความ หมาย หรืออายุ 2 ปี เด็กจะเข้าใจความ หมายของคำ 50 คำ และพูดเป็นพยางค์ได้ หรือพออายุ 3 ปี เด็กจะพูดเป็นประโยคได้ หรือแม้แต่การใช้ทั้งฝ่ามือหยิบของ จนอายุ 1 ปี ก็จะสามารถใช้ 2 นิ้วหยิบจับของได้ คล่อง เป็นต้น การเข้าในภาษาพูดหรือการ
รู้จักใช้มือได้คล่อง หรือการเข้าสังคม รู้จักเล่นร่วมกับผู้อื่น จะพัฒนาและเรียนรู้ได้ ต้องอาศัยคุณภาพของคนที่อยู่กับเด็ก ที่จะกระตุ้นให้เด็กรู้จักแสดงความสามารถออกมาซ้ำๆ ในหลากหลายสถานการณ์ จนเกิดเป็นทักษะที่ติดตัวไปในที่สุด

คุณภาพของคนที่อยู่ใกล้เด็กจึงมีความสำคัญต่อพัฒนาการของเขาอย่างยิ่ง ถ้าคนที่อยู่ใกล้แสดงความรักเด็กอย่างตรงไปตรงมา โดยตอบสนองความต้องการของเด็กอย่างสม่ำเสมอ ไม่เร็วหรือช้าเกินไป สิ่งใดที่เด็กต้องการ แต่ไม่เหมาะสมหรือเป็นอันตรายก็ไม่ให้ แม้เด็กจะร้องไห้คร่ำครวญปานใดก็ตาม หรือสิ่งใดที่เหมาะสมก็ให้เขาไปเลยโดยไม่ปล่อยให้เด็ก ต้องโวยวายเรียกร้องเสียก่อน

ผู้ที่อยู่ใกล้เด็กต้องคอยชี้ชวน คอยเล่นสนุกกับเด็กอย่างเหมาะสมและจัดสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเด็กให้น่าสนใจ น่าหยิบ น่าจับ น่าไขว่คว้า ทำให้เด็กอยากเล่น ซึ่งจะเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ ระหว่างมือกับสายตาในการกะระยะ การมอง ฯลฯ นอกจากนี้ ควรมีอารมณ์ดีเสมอต้นเสมอปลาย และสามารถพัฒนาเด็กตามลักษณะเด่นของเขาได้ ให้กำลังใจและโต้ตอบกับสิ่งที่เด็กทำ ซึ่งจะส่งเสริมทำให้เด็กพยายามที่จะทำซ้ำๆ จนกลายเป็นทักษะติดตัวได้

แต่ถึงเวลาเอาจริงเอาจังในเรื่องที่จะให้เด็กรับผิดชอบช่วยเหลือตนเองให้มากที่สุด ก็ต้องสามารถควบคุมเด็กได้ในทุกสถานการณ์หากคนที่อยู่กับเด็กมีลักษณะเช่นนี้จะพัฒนาเด็กได้

เล่นเพื่อพัฒนาลูก

คุณพ่อคุณแม่ค่ะ หมออยากเน้นให้ลงไปเล่นกับลูกให้สนุก เล่นให้มากๆ ในหลากหลายสถานการณ์ เพื่อเป็นพื้นฐานที่จะกระตุ้น พัฒนาความสามารถของเขาในด้านต่างๆ และให้ลูกช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด เพื่อคุณจะได้มีเวลาพอที่จะสังเกตรายละเอียดในความสามารถของเด็กทุกรูปแบบ และนำมาตรวจสอบกับพัฒนาการที่มีอยู่ในสมุดบันทึกสุขภาพส่วนตัวของลูก นอกจากจะทำให้คุณรู้พื้นฐานพัฒนาการของลูกและการทำงานของระบบสมองของลูกแล้ว ยังเป็นหนทางที่จะทำให้คุณเข้าใจลูก ซึ่งอาจมีความสามารถที่ซ่อนเร้นอีกมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะให้คุณไปเร่งลูกให้ทำสิ่งต่างๆ เกินความสามารถนะคะ

ความสามารถพิเศษที่ซ่อนเร้น

ลองสังเกตลูกดูสิคะ เด็กบางคนมีทักษะในการจับรายละเอียดท่วงทำนองเพลง คีย์ของเพลงได้แม่นยำ บางคนจับสำเนียงเลียนเสียงภาษาพูดได้ดีบ้าง บางคนมีความสามารถในการสื่อสาร ใช้ภาษาได้คล่อง หลายคนมีระบบร่างกายที่คล่องแคล่วอยู่ในตัว ความสามารถที่พิเศษหลายๆ อย่างของเด็กจะไม่แสดงออกมาเลย ถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจหรือให้เด็กไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม

การเฝ้าสังเกตพัฒนาการของลูกน้อย นอกจากจะช่วยให้เรามองเห็นปัญหาของลูกได้เร็ว และให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมได้ทันท่วงทีแล้ว ยังเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาศักยภาพเด็ก ของเราให้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ขึ้นไปได้สูงสุดเต็มความสามารถของพวกเขาที่มีอยู่อีกด้วยค่ะ

และนี่เป็นการพัฒนาศักยภาพของเด็กรุ่นใหม่โดยแท้จริง


[ที่มา.. นิตยสารดวงใจพ่อแม่   ปีที่ 4 ฉบับที่ 41 มีนาคม 2452 ]

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21] resolution 800x600