มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
ถ้าที่นี่ขัดข้อง ไปที่นี่ก็ได้ครับ http://i.am/thaidoc หรือ http://hey.to/yimyam



ทำอย่างไร ลูกกินยากจัง


คำถามที่พ่อแม่มักจะมองหาคำตอบให้กับตัวเอง ก็คือ ทำอย่างไรลูกน้อยถึงจะหย่านมได้ อาหารชนิดไหนจะมีคุณค่าต่อการเติบโต รวมถึงปัญหาในการป้อนอาหารให้แก่เด็ก เพราะการส่ายหน้าปฏิเสธอาหารบางประเภทมักจะเกดขึ้นบ่อยครั้ง หลายครอบครัวเจอปัญหาที่ว่าลูกๆ ปฏิเสธการทานผัก พ่อแม่บางคนก็มักจะเริ่มทำเสียงสูงขึ้น ดังขึ้น และอาจใช้ความรุนแรงอย่างอดไม่ได้ เทคนิคการป้อนอาหารต่างๆ นานา ก็เริ่มงัดออกมาใช้ ไม่ว่าจะให้ดูวิดีโอขณะป้อน ใส่อาหารเข้าไปในขนม หรือคลุกเข้ากับขนมหวาน เพื่อให้ผ่านไปอีกหนึ่งมื้อ

นอกจากนี้พ่อ-แม่มักจะคิดกังวลตลอดเวลาว่า ควรจะปล่อยให้ลูกทานเอง หรือต้องป้อนให้ควรจะทำตัวเป็นแบบอย่างในเรื่องการกินอาหารหรือไม่ ต้องแนะนำลูกหรือไม่ว่าอาหารแบบไหนมีประโยชน์ หรือว่าควรจะปล่อยให้พวกเขา เรียนรู้เองว่าจะต้องทานอะไรอีกทั้งควรจะให้อาหารเสริมจำพวกวิตามินหรือไม่ จริงๆ แล้วการให้อาหารเด็กเป็นเรื่องปกติทั่วไป คำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับว่าเราสนใจในการหาข้อมูลและคำแนะนำมากขนาดไหน หลายความคิดต่างมีความแตกต่างกัน อยู่ที่ว่าเราเลือกที่จะถามและเชื่อใคร ?

จากรายงานล่าสุดใน Lancel พบว่าประมาณ 10% ของเด็กอายุ 6 ขวบ มักจะอ้วนพุงพลุ้ยและจะเพิ่มมากขึ้น ถึง 15% ในเด็กอายุ 15 ปี เท่ากับว่า 20% ของเด็กจะมีน้ำหนักมากกว่าน้ำหนักตามเกณฑ์เมื่อเทียบกับส่วนสูงของเด็ก ซึ่งสาเหตุสำคัญเกิดจากพฤติกรรมในการกินของเด็ก เช่น เด็กมักจะกินไปด้วยในขณะที่นอนดูทีวี รวมทั้งขาดการออกกำลังกาย

ปัญหาของการให้อาหารแก่เด็กๆ ในบางครั้งก็เกิดจากทัศนคติในเรื่องอาหารที่ว่า อาหารเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของสังคม เราจะเห็นว่า หลายครั้งที่เราใช้อาหารเป็นตัวแสดงถึง ความรักที่มีต่อผู้อื่น เช่น เราจะให้ขนมแก่คนที่ใกล้ชิดและรักมากที่สุด เราฉลองวันสำคัญด้วยอาหารมื้อพิเศษ โดยไม่ได้คำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการ และหากว่าลูกดื้อดึงปฏิเสธที่จะทานอาหารที่พ่อแม่หยิบยื่นให้ กลับกลายเป็นว่าเด็กๆ กำลังปฏิเสธความรักของพ่อแม่

ความคิดกังวลเกี่ยวกับอาหารที่จะป้อนให้แก่เด็ก เป็นเรื่องที่มีการคิดให้ซับซ้อนกันมากในปัจจุบัน ทั้งที่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องง่ายๆ ที่จะทำให้เด็กมีสุขภาพดีได้ด้วยวิธีการที่พ่อ-แม่ที่มีสุขภาพดีเคยได้รับมา และนำมาใช้ในการเลี้ยงดูลูกของตน

คุณแม่ท่านหนึ่งเล่าว่า "เมื่อเด็กโตขึ้นมาหน่อยก็จะเริ่มให้เด็กดื่มนมจากถ้วย ป้อนเนื้อหมูชิ้นเล็กๆ ให้ โดยไม่ต้องมีเครื่องช่วยหรืออุปกรณ์หลอกล่อเด็ก เช่น ช้อนเปลี่ยนสีได้เมื่อตักอาหาร้อน และเสริมด้วยการให้ทานน้ำมันตับปลาและน้ำส้มคั้น"

คุณแม่บางท่านบอกว่า เขาใช้วิธีการผสมขนมปังป่นลงไปในขวดนม ซึ่งต้องขยายรูปากขวดให้กว้างขึ้น เพื่อให้ขนมปังสามารไหลออกมาได้โดยไม่จำเป็นต้องป้อนอาหารที่มีราคาแพงแก่เด็กแต่อย่างใด

เมื่อเริ่มมีการหย่านม พ่อ-แม่สามารถป้อนผักที่คลุกเข้ากับไข่แดงได้ โดยจะแยกไข่ขาวออก จนกว่าเด็กจะสามารถเคี้ยวได้เอง จึงจะนำไข่แดงและไข่ขาวมาคลุกเข้ากัน และหากว่าครอบครัวมีประวัติ ในการเป็นโรคภูมิแพ้ การให้ไข่คลุกนี้ต้องรอจนกว่าเด็กจะอายุครบ 6 เดือน

ก่อน 6 เดือน เป็นโอกาสเหมาะที่จะให้เด็กได้ลองทานอาหารคาวหลายๆ ชนิด เราต้องเริ่มต้นที่ความอดทนของคนป้อน เพราะบางครั้งเด็กมักจะไม่ยอมทาน บ้างก็เล่นอาหารและชามข้าว ผู้ใหญ่บางคนสร้างนิสัยการให้รางวัลด้วยการให้ขนมหวาน ซึ่งจะทำให้เด็กทานอาหารได้ยากขึ้น จริงๆ ธรรมชาติ ของเด็กๆ นั้นพวกเขาจะทานอาหารได้เองเมื่อรู้สึกหิว

เด็กที่จะสามารถเริ่มทานอาหารคาวได้ แต่เดิมมีข้อแนะนำว่าควรจะมีอายุระหว่าง 4-6 เดือน แต่ครอบครัวอเมริกันในปัจจุบัน เห็นว่าควรจะเริ่มเมื่อเด็กมีอายุครบ 6 เดือน แต่บางคนก็มีความคิดแตกต่างกันไป โดยเห็นว่าควรเริ่มที่ 4 เดือน เพราะเป็นการสร้างความคุ้นเคย ในการทานอาหารให้แก่เด็ก แม้ว่าจะไม่ได้มุ่งเน้นว่าอาหารที่ทานเข้าไปจะต้องบำรุงสุขภาพได้ เพราะเด็กช่วงนี้จะได้รับสารอาหารจากนมอย่างเพียงพอแล้ว และเมื่อเด็กอายุถึง 6 เดือน สารอาหารที่มีอยู่ในนมไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายแล้ว เด็กก็จะสามารถทานอาหารได้อย่างรวดเร็ว

มีข้อสังเกตว่าเด็กอายุ 1-2 ขวบ มักเป็นโรคโลหิตจางเนื่องจากขาดสารอาหารเพราะยังไม่ยอมทานอาหาร การป้องกันโรคโลหิตจาง คือการให้เด็กได้ทานเนื้อแดง ควบคู่ไปกับผักหรือผลไม้ เพราะผักและผลไม้จะช่วยดูดซับธาตุเหล็กในเนื้อได้ดีขึ้น การให้เด็กดื่มน้ำผลไม้ในเวลาอาหารเช้านั้น จะเป็นการช่วยดูดซับธาตุเหล็กเฉพาะมื้อเช้าเท่านั้น จึงน่าจะเพิ่มน้ำผลไม้เข้าไปในมื้ออื่นๆ เพื่อช่วยดูดซับได้ตลอดทั้งวัน

อีกสาเหตุหนึ่งพบว่าเด็กที่ดูดนมแม่ที่เป็นมังสวิรัติมีอัตราเสี่ยงที่จะเป็นโรคโลหิตจางได้มาก เพราะนมจากเต้ามีธาตุเหล็กน้อยกว่านมปรุงแต่ง จึงควรเสริมธาตุเหล็กจากแหล่งอื่นๆ เข้าไป เช่น จากถั่วหรือให้เด็กดื่มนมปรุงแต่งในขณะที่ทานอาหารควบคู่ไปกับการดูดนมแม่ (สำหรับเด็กที่ยังไม่สามารถหย่านมได้)

และอย่าคิดว่าการให้เด็กลดความอ้วนโดยทานอาหารประเภทพร่องมันเนยหรือไขมันต่ำ จะดีสำหรับเด็กเหมือนที่เป็นอาหารที่ดีสำหรับผู้ใหญ่ เพราะอาหารไขมันต่ำจะให้พลังงานแก่ร่างกายน้อย จนเป็นผลให้เด็กไม่สามารถเติบโตได้เท่าที่ควรจะเป็น

คำถามอีกข้อหนึ่งที่น่าสนใจคือควรจะปล่อยให้เด็กทานข้าวเองและเลือกว่าจะทานอะไร ด้วยตัวเองตามลำพังหรือทานพร้อมกับผู้ใหญ่ ซึ่งธรรมชาติอย่างหนึ่งของเด็กๆ นั้น เขาจะเรียนรู้ได้ด้วยการเลียนแบบผู้อื่นหากไม่มีใครให้เลียนแบบก็จะพยายามเรียนรู้ด้วยตัวเอง และในที่สุดเขาจะปฏิเสธสิ่งที่ตนเองไม่ชอบ และแน่นอนว่าจะต้องเลือกกินแต่ขนมหวานที่เขารู้สึกว่าถูกใจ ใช่เลย ฉะนั้นการเลี้ยงเด็กท่ามกลางคนในครอบครัวที่จะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็กๆ ได้ จึงถือเป็นเรื่องที่ควรปฏิบัติอย่างยิ่ง

สมาชิกในครอบครัวควรจะทำตัวเป็นแบบอย่างด้วยการทานอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารอย่างสมดุล อย่าไปเน้นที่หน้าตาของอาหารหรือสรรพคุณตามที่มีการโฆษณา และอย่าลืมว่าพ่อแม่ ไม่ควรจะยอม เมื่อลูกปฏิเสธอาหารที่จัดให้แล้วให้อย่างอื่นแทนโดยเฉพาะเพราะนั่นเท่ากับเป็นการให้รางวัล (แทนที่จะเป็นการทำโทษ) สิ่งเหล่านี้จะสร้างให้เกิดพฤติกรรมการทานยากตามมา

และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ให้ระลึกอยู่เสมอว่าพวกเขาเป็นเด็ก ควรจะได้รับการเลี้ยงดู ด้วยการเอาใจใส่และอ่อนโยน จำไว้ว่าปฏิบัติต่อเขาอย่างสุภาพอย่าไปดุด่าว่ากล่าว เมื่อเขายังทานอาหารไม่ได้ตามที่พ่อแม่คาดหวังไว้

"ไม่มีเด็กคนไหนจะยอมอดอาหาร แต่พ่อแม่ต้องพยายามไม่หลอกล่อด้วยของหวาน แล้วในที่สุดลูกจะทานอาหารอย่างที่คุณต้องการจะหยิบยื่นให้"


  • อย่าเร่งให้เด็กหย่านมจนกว่าจะอายุครบ 4 เดือน เพราะระบบการย่อยอาหารของเด็ก ยังไม่แข็งแรงพอ หลังจากเด็กมีอายุได้ 4 เดือน คุณสามารถให้เด็กทานมะเขือเทศ ฟักทอง ฯลฯ
  • ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าการให้ผลไม้มากเกินไปจะทำให้อาหารผ่านตัวเด็กเร็ว และจะทำให้เด็กขาดสารอาหาร
  • ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป คุณสามารถให้อาหารประจำวัน สามารถนำมาผสม กับอาหารจำพวกธัญพืช แต่น้ำนมจากอกแม่เป็นอาหารหลักสำหรับเด็กในขวบปีแรก
  • ช่วงเวลาตั้งแต่ 8-9 เดือนให้อาหารจำพวกผักปลอกเปลือก ขนมปังแท่ง หรือผลไม้ปลอกเปลือก เพื่อให้เด็กได้หัดเคี้ยวและพัฒนาความสามารถ ในการรับรู้ความรู้สึก แต่ต้องระวังการสำลักด้วย
  • ตั้งแต่ 9 เดือน ถึง 1 ขวบ เด็กจะสามารถรับรสชาติและมีความสุข กับการทานอาหารได้ ถ้าอาหารไม่ถูกสับอย่างละเอียดและไม่ได้มีการ ใส่เครื่องปรุงมากจนเกินไป

เรียบเรียงจาก More Broccoli Please (If only…) /Junior

ชมพู่

(update วันที่ 5 กันยายน 2543)


[ ที่มา... นิตยสารแม่และเด็ก   ปีที่ ปีที่ 23 ฉบับที่ 342 สิงหาคม 2543 ]

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21] resolution 800x600