นุ่มนิ่ม
พ่อแม่สมัยใหม่มักเชื่อในเรื่องไม่ตีลูก ทุกคนพากันมองการตีลูกเป็นเรื่องล้าสมัย
ไม่มีประโยชน์และยังทำลายจิตใจเด็ก แต่ก็คงต้องยอมรับเหมือนกันแม้จะยึดมั่นในการไม่ตีลูกแค่ไหน
บางครั้งบางเวลาก็ทำใจไม่ได้ และเผลอลงมือลงไม้กับลูก
ความจริงการตีลูกไม่ใช่ไม่ดี อย่างน้อยก็เป็นการรวบรวมสติเด็กให้มาสนใจความผิดที่ตัวเองทำ
เพราะเด็กอาจไม่รู้ตัวเองว่ากำลังทำอะไรผิดหรือถึงรู้บางทีอาจทำไปเพราะความพลั้งเผลอ
หรือทำเพราะต้องการที่จะเรียกร้องความสนใจหรือที่ร้ายที่สุดต้องการที่จะลองดี
ขอยกตัวอย่างเด็กเกือบจะทุกคนชอบถ่มน้ำลายเวลาเล่นกับเพื่อน หรือกับพี่น้องแม้คุณจะเคยเตือน
แต่ก็ยังทำจะทำอย่างไรดี หรือชอบพูดคำหยาบโดยหลุดออกมาขณะทะเลาะกันนี่ก็เคยสอนแล้ว
เด็กดีไม่ควรพูดคำหยาบแต่ก็ยังไม่ฟัง
เมื่อเห็นถ่มน้ำลายหรือพูดคำหยาบคุณกรากเข้าประชิดตัวและตีๆๆๆ ตีจนลูกคุณร้องและวิ่งหนี
ถ้าคุณตีลูกเช่นนี้ การตีคงไม่ได้ผลเพราะลูกคุณบางทีอาจมองว่าเขาถูกตีเพราะอารมณ์คุณไม่ดี
มากกว่าเขาทำความผิด นี่ถ้าอารมณ์คุณดีเขาคงไม่ถูกตี และเขาเคยเห็นเพื่อนที่พูดคำหยาบและไม่ถูกตี
เขาโชคไม่ดีเลยที่มีพ่อแม่โมโหร้ายและไม่รักลูก
จะดีกว่าไหมถ้าเข้าประชิดตัวแล้วคุณจับตัวเขาเขย่าแล้วแจ้งความผิดให้เขาทราบหลังจากนั้นถึงตี
และเมื่อเขาได้สติให้เขาขอโทษและรับปากจะไม่ทำอีก (ซึ่งก็ทำอีกแน่นอนแต่อย่างน้อยเขาจะรู้ว่า
การถ่มน้ำลายหรือพูดคำหยาบเป็นสิ่งไม่ดีและมีความผิดทำให้บางครั้งเขาอาจสะกดใจได้)
แต่ทีนี้คุณคงถาม ถ้าไม่ตีเขาเลยควรทำอย่างไรคำตอบก็เห็นจะเป็นให้ดูวิธีตีลูกที่ถูกต้องและปฏิบัติตามนั้น
คือให้ทำเลียนแบบทุกอย่างยกเว้นใช้ไม้เรียว
ทำอย่างนี้จะดีกว่าไหมเอ่ย คุณกรากเข้าประชิดดึงลูกคุณออกมาจากวง (ซึ่งจะทำให้เขาเริ่มรู้สึกว่า
สิ่งที่เขาทำไปกำลังเป็นเรื่องใหญ่และร้ายแรง) จ้องไปที่ตาเขา (ซึ่งจะทำให้เขารู้ว่าคุณกำลังเอาจริง)
เขย่าตัวเขาแรงๆ (ให้เขารู้สึกว่าคุณไม่พอใจมาก) ต่อจากนั้นจึงแจ้งข้อหาและขอโทษ
ซึ่งก็มีวิธีลงโทษลดหลั่นกันไป
โดยอาจเริ่มจากการยึดของเล่น คือถ้าเขากำลังเล่นกับของเล่นที่เขาเพิ่งได้ใหม่ๆ และกำลังเห่อ
ก็ให้บอกเขาว่าไม่ให้เขาเล่นของเล่นเป็นเวลาวันหรือสองวัน หรืออาจเพิ่มเป็นสามหรือห้าวันตามที่เห็นสมควร
หรืองดให้เขากินขนม หลังกินข้าวหรือตัดเบี้ยเลี้ยงหรือพักดูโทรทัศน์ชั่วคราว คือพยายามเลือกอะไรที่น่าจะทำให้รู้สึกตัว
อย่าลืมหลังลั่นคำประกาศิตให้เขากล่าวขอโทษและให้เขาสัญญาจะไม่ทำอีก เพื่อให้เขารู้การทำอะไรผิด
จะต้องมีการลงโทษไม่จำเป็นที่การขอโทษและการสัญญาจะเพียงพอสำหรับการลงโทษ
ทีนี้ลองมาดูการลงโทษอีกแบบกันบ้าง นั่นคือ การกักบริเวณซึ่งนิยมกันไม่น้อย
ในหมู่พ่อแม่ที่ไม่ต้องการตีลูก
การกักบริเวณคือ หลังดึงตัวออกมาแล้วและแจ้งโทษแล้ว มีการออกคำสั่งให้ลูกไปนั่งคนเดียว ณ
ที่ใดที่หนึ่งโดยมากจะเป็นจุดที่ใช้ลงโทษอยู่แล้วและมีเก้าอี้ประจำวางอยู่ตรงนั้น หรืออาจเป็นในห้องของเด็ก
โดยคุณเองพาเขาขึ้นไปและบอกเขาเมื่อถึงเวลาว่าคุณจะขึ้นมารับ
การลงโทษวิธีนี้มีข้อเสียคือ ถ้าเป็นการลงโทษหนแรกหรือหนสอง ลูกคุณตีโพยตีพายคือ
เมื่อรู้จะไม่ถูกตีแน่นอน ก็จะถือโอกาสออกอาการโยเยอ้อนให้พ่อแม่เห็นใจ
ถ้าคุณเจอแบบนี้ (ซึ่งก็จะต้องเจอแน่นอน) ให้คุณนั่งอยู่กับเขาโดยนั่งเงียบๆ ไม่พูดด้วย
ไม่เอาอกเอาใจอะไรทั้งสิ้น จนกระทั่งหมดเวลาลงโทษทำเช่นนี้เพื่อให้เขารู้ เมื่อถูกลงโทษจะต้องรับโทษ
และการดิ้นรนไม่ยอมรับโทษเป็นความผิดเหมือนกัน ที่อาจจะทำให้เขาถูกลงโทษหนักขึ้นอีก
จะเห็นว่าการทำโทษด้วยวิธีที่กล่าวมานี้ล้วนทำแบบทันควันและเด็ดขาดข้อที่ควรหลีกเลี่ยงที่สุด
คือเมื่อเห็นลูกคุณทำอะไรผิดร้ายแรงแล้วไม่ลงโทษ ซึ่งจะทำให้เขาเข้าใจผิดว่าการทำอะไรผิด
อาจได้รับการยกเว้นไม่ลงโทษ
และพ่อแม่ไม่ควรคาดโทษลูก คือขู่ลูกว่าถ้าทำอีกจะต้องโดนลงโทษแน่ เพราะเขาจะทำแน่นอน
เนื่องจากเขายังไม่ค่อยเข้าใจว่าทำแบบนั้นผิดจริงหรือไม่จริง
มีสิ่งหนึ่งที่พ่อแม่ควรยอมรับนั่นคือ การลงโทษลูกนั้นจะต้องมีตลอดเวลา เพราะเด็กมีธรรมชาติ
อยากรู้อยากเห็นชอบทดลองทำโน่นทำนี่ การทำอะไรผิดจึงเป็นเรื่องธรรมดา
เมื่อรู้เช่นนี้จึงควรทำใจ การพยายามไม่ตีลูกเป็นเรื่องดีแล้วและถ้าจะให้ดีกว่านั้น คือการรักษาจิตใจ
ให้เยือกเย็นเวลาเห็นลูกทำอะไรผิด จะได้ไม่มีอารมณ์
อีกประการคือต้องรู้จักป้องกันไม่ให้ลูกถูกลงโทษเช่น พยายามเก็บเครื่องแก้วและของมีค่าในที่มิดชิด
ถ้าลูกต้องสัมผัสกับสิ่งของเหล่านี้ควรสอนเขาให้รู้จักค่าของมันและการดูแลของ
เช่นเดียวกันเวลาเด็กเล่นกันก็ควรชำเลืองสายตาคอยดูแลเพื่อให้เด็กรู้ว่ามีผู้ใหญ่คุมอยู่น่ะ
และอื่นๆ อีก แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าคุณพยายามจับผิดลูกของคุณ
แต่คุณให้การดูแลเอาใจใส่เขาต่างหาก
|