แม่สังเกตเห็นน้องต้นมีอาการผิดปกติมาหลายวันแล้ว จะฉี่กะปริบกะปรอยเวลาฉี่ก็ร้องไห้เจ็บปวดเหลือเกิน
ที่ทำให้คุณแม่ประหลาดใจก็คือคำตอบของคุณหมอที่บอกว่าน้องต้นเป็นโรคติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ
ที่ประหลาดใจก็เพราะคุณแม่คาดไม่ถึงว่าอาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะจะมีโอกาสเกิดขึ้นกับเจ้าตัวเปี๊ยก
แต่เชื่อมั้ยว่า โดยทั่วไปแล้วทางเดินปัสสาวะติดเชื้อในเด็กนั้น เป็นการติดเชื้อที่พบบ่อยเป็นอันดับสอง
รองจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจโดยมีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะตั้งแต่กรวยไตจนถึงท่อปัสสาวะ
ยิ่งมีการใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปมากขึ้นบางครั้งไม่ทราบว่าลูกขับถ่ายแล้วก็จะมีการหมักหมมของอุจจาระ ปัสสาวะ
เชื้อโรคก็แพร่เข้าร่างกายลูกได้ง่ายขึ้น แต่โรคนี้มักถูกมองข้าม ก็เพราะส่วนหนึ่งเป็นพวกที่ไม่ปรากฏอาการนั่นเอง
แม่น้องต้นมีคำถามหลายข้อที่จะเป็นประโยชน์ต่อคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านด้วยค่ะ
โรคทางเดินปัสสาวะติดเชื้อนี้พบในเด็กเล็กๆ ด้วยหรือคะ
โรคนี้พบได้ทุกเพศและทุกวัยค่ะ ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงผู้ใหญ่ ในเด็กแรกเกิดถึงอายุ 1 เดือน
จะพบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิงซึ่งสาเหตุเกิดจากพบความผิดปกติในทางเดินปัสสาวะมากกว่า
เช่น ท่อปัสสาวะตีบ แต่เมื่ออายุเกิน 1 เดือน จะพบในเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชายประมาณ 3-10 เท่าทีเดียว
และจากการศึกษาในต่างประเทศ พบว่าติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะโดยบังเอิญ หมายถึงว่าไม่มีอาการผิดสังเกต
ในเด็กผู้หญิงพบถึงร้อยละ 5 และในเด็กชายพบเพียงร้อยละ 0.03
เชื้อโรคที่ทำให้ติดเชื้อเป็นชนิดไหนคะ
โดยมากเป็นเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมักเป็นเชื้อโรคชนิดเดียวกับที่พบในลำไส้ค่ะ
แต่ก็เหมือนกันที่เป็นเชื้อไวรัสหรือเชื้อรา แต่ก็พบเป็นส่วนน้อย
เอ
แล้วเชื้อโรคพวกนี้เข้าทางไหนได้บ้างค่ะ
เชื้อโรคจะเข้าสู่ทางเดินปัสสาวะได้ 2 ทางค่ะ คือ
- จากท่อปัสสาวะ ซึ่งเชื้อโรคจะค่อยๆ เข้าไปเจริญเติบโตในทางเดินปัสสาวะ
ส่วนมากจะพบในทางนี้ค่ะ
- จากการติดเชื้อในกระแสโลหิต มักพบในเด็กทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี และเด็กทั้มีภูมิต้านทานต่ำ
แต่พบเป็นส่วนน้อย
แล้วทำไมเด็กบางคนถึงติดเชื้อง่ายนักล่ะคะ
จริงๆ แล้วมีปัจจัยหลายอย่างที่เป็นตัวเสริมทำให้มีการติดเชื้อง่าย ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ
- พบว่าเด็กผู้หญิงมีอัตราเสี่ยงสูงกว่า เพราะมีท่อปัสสาวะสั้นกว่าเด็กผู้ชาย
ทำให้เชื้อโรคที่อยู่บริเวณรูเปิดท่อปัสสาวะเข้าไปในทางเดินปัสสาวะได้ง่าย
- การที่เจ้าตัวเล็กต้องสวนปัสสาวะหรือมีการใส่เครื่องมือทางท่อปัสสาวะ
- ปัสสาวะไหลไม่สะดวก เพราะมีการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ ซึ่งกรณีนี้มักเป็นมาแต่กำเนิด เช่น
หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศในเด็กผู้ชายไม่เปิด หรือเกิดจากการที่มีเยื่อบางๆ ที่ท่อปัสสาวะ (posterior urethral valve)
หรือมีไตและท่อไต 2 อันในข้างเดียวกัน หรือเกิดจากไตเป็นถุงน้ำ ฯลฯ บางรายเกิดจากการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ
ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นภายหลัง เช่น มีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ปัสสาวะไหลไม่สะดวก เพราะรัดผ้าอ้อมแน่นเกินไป
หรืออาจเกิดจากอาการท้องผูก ฯลฯ
เมื่อมีการติดเชื้อ เด็กจะมีอาการอย่างไรคะ
อาการของการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะนั้นขึ้นอยู่กับอายุของเด็ก ตำแหน่งการติดเชื้อ และความรุนแรงของเชื้อโรค
ซึ่งดูได้ดังนี้ค่ะ
แรกคลอด 1 เดือน
อาการของโรค มักมีเชื้อโรคในกระแสโลหิตด้วยจึงมีอาการของโลหิตเป็นพิษเด็กจะมีไข้สูง
หรือตัวเย็นมากผิดปกติอาเจียน ท้องเสีย ตัวเหลือง ร้องกวนงอแง นอนหลับไม่ได้นาน
ซึ่งผิดกับเด็กทั่วไปที่มักจะนอนหลับเป็นส่วนใหญ่ เด็กจะดูดนมไม่ได้มาก ทำให้ต้องดูดนมบ่อย น้ำหนักไม่ขึ้น
หรือน้ำหนักกลับลดลง เด็กบางคนจะซึมหรืออาจมีอากรชักร่วมด้วย
อายุ 1 เดือน 1 ปี
อาการของโรค มักมีอาการคล้ายเด็กอายุต่ำกว่า 1 เดือน จะเริ่มสังเกตเห็นเด็ก
ปัสสาวะบ่อยครั้งกว่าเดิม ร้องกวนเวลาถ่ายปัสสาวะ ปลายจำปี (อวัยวะเพศเด็กชาย) โป่งขึ้น
ปัสสาวะไม่พุ่งแรงเหมือนเด็กปกติหลังถ่ายปัสสาวะเสร็จจะมีปัสสาวะไหลอีกเป็นหยด
หรือมีปัสสาวะไหลซึมอยู่ที่ปลายรูเปิดท่อปัสสาวะตลอดเวลา
อายุเกิน 1 ปี
อาการของโรค มักมีอาการค่อนข้างชัดเจนว่ามีการอักเสบที่ส่วนใด ถ้ากรวยไตอักเสบเฉียบพลัน เด็กมักมีไข้สูง
หนาวสั่น กดเจ็บบริเวณบั้นเอว ปวดท้อง ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะรดที่นอน
ถ้าคุณพ่อแม่ช่างสังเกตสักหน่อยจะพบว่า เจ้าตัวเล็กมักปัสสาวะขุ่นกว่าเดิมหรือมีสีแดงขึ้น เพราะมีเม็ดเลือดแดงปน
และมีกลิ่นฉุนผิดปกติเพราะมีแอมโมเนียเพิ่มขึ้นเมื่อดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ จะพบเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง
และเชื้อแบคทีเรียจำนวนมากถ้านำปัสสาวะไปเพาะเชื้อ
ก็จะทราบชนิดของเชื้อแบคทีเรีย
ในเด็กที่หมอวินิจฉัยว่าอาจเป็นโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ ถ้าเป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี
จะได้รับการตรวจทั้งเด็กหญิงและเด็กชาย ส่วนในเด็กโต หมอจะตรวจพิเศษในเด็กชายทุกคน
โดยวิธีการตรวจ ก็คืออัลตราซาวนด์ระบบทางเดินปัสสาวะ ว่ามีความผิดปกติหรือไม่
และอาจจำเป็นต้องตรวจพิเศษอย่างอื่นอีกด้วยค่ะ
การป้องกัน-รักษาทำได้อย่างไรคะ
การป้องกัน-รักษาก็มีดังนี้ค่ะ
การดูแลทั่วไป เป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้ามไม่ว่าลูก
จะมีการติดเชื้อรุนแรงเพียงใดก็คือ
- ทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนักเพื่อลดปริมาณเชื้อโรคบริเวณนั้น
หมั่นเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกบ่อยๆทำความสะอาดภายหลังการถ่ายอุจจาระโดยระวังไม่ให้กระดาษชำระ
ที่เปื้อนอุจจาระมาโดนบริเวณอวัยวะเพศซึ่งมีรูเปิดท่อปัสสาวะอยู่
- สอนให้ลูกถ่ายปัสสาวะทุกครั้งที่ปวด ไม่กลั้นปัสสาวะไว้
เชื้อโรคจะได้ไม่ค้างในกระเพาะปัสสาวะ
- ไม่ใส่กางเกงคับ หรือใช้ผ้าอ้อมที่คับเกินไป เพราะจะทำให้ปัสสาวะไหลไม่สะดวก
- ไม่นั่งเล่นบนพื้นที่ไม่สะอาดเพราะเชื้อโรคจะแพร่เข้าร่างกายส่วนล่างได้ง่าย
- ดื่มน้ำให้มากขึ้นเพราะร่างกายจะต้องการน้ำมากขึ้นเมื่อมีไข้ซึ่งจะช่วยให้แบคทีเรีย
ออกจากทางเดินปัสสาวะได้เร็วขึ้น
การให้ยาปฏิชีวนะ ให้เมื่อลูกมีไข้สูง ต้องรับประทานให้ครบตามที่หมอสั่ง
ในรายที่เป็นครั้งแรกส่วนใหญ่จะได้ผลดี ไข้จะลดลงในเวลา 48-72 ชั่วโมง
อาการปัสสาวะที่ผิดปกติจะหายไปแพทย์มักให้รับประทานยาประมาณ 10 วัน
ถ้าเป็นการอักเสบที่กรวยไตหรือมีการติดเชื้อในกระแสโลหิตหมอจะพิจารณาให้ยา
ชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้อ ในรายที่เป็นบ่อยหรือมีการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ
หมอจะพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะนานขึ้นและติดตามผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดเพื่อพิจารณาว่า
ควรผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติเมื่อใด
การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะเป็นโรคที่เกิดในเด็กได้ไม่น้อย การลดอัตราการเกิดภาวะติดเชื้อสามารถทำได้
ถ้าคุณพ่อคุณแม่รวมทั้งผู้ดูแลเจ้าตัวน้อย ช่วยเอาใจใส่เรื่องความสะอาด เช่น เปลี่ยนผ้าอ้อมทันที
เมื่อลูกถ่ายอุจจาระซึ่งปัจจุบันมีการใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปมากขึ้น ก็ต้องยิ่งหมั่นสังเกตว่าลูกจะถ่ายอุจจาระเมื่อใด
แล้วจึงรีบทำความสะอาดอย่างถูกวิธี เพื่อไม่ให้เชื้อโรคในอุจจาระมาโดนแถวรูเปิดของท่อปัสสาวะค่ะ
|