ปัญหาใหญ่ที่ป้าแต้วกำลังปวดหัวมากๆ ก็คือ หนุ่มต้อขอว่าเทอมหน้าจะกลับบ้านเองด้วยรถเมล์
บอกว่าในบรรดาเพื่อนที่ห้องชั้น ม.3 ก็มีต้อนี่แหละเป็นคนเกือบสุดท้ายที่พ่อแม่ยังมารับกลับบ้าน
คนอื่นๆ เขาขึ้นรถเมล์กลับเองกันหมดแล้ว "อายเพื่อนมันนะแม่ มันว่าไอ้ลูกแหง่"
ป้าแต้วแกไม่ได้ตั้งใจจะให้ลูกต้องอับอายเพื่อนอย่างนั้นหรอก แต่ทำไงได้เล่า
สำหรับนักงานคุณลุงอยู่เยื้องกับโรงเรียนแค่ป้ายรถเมล์เดียว คุณพ่อเลิกงานตอน 5 โมงครึ่ง
คุณลูกเลิก 3 โมงครึ่ง เลิกก่อนก็นั่งเล่นกับเพื่อนๆ คอยคุณพ่อก่อน จะได้ไม่ต้องโหนรถเมล์ให้เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า
แต่ปีนี้ลูกโตขึ้น มันก็สมควรอยู่ที่จะอนุญาตให้กลับเอง
แต่เป็นปัญหาอยู่ตรงที่ว่า กลับไปแล้วจะทำอะไร กว่าพ่อแม่จะเลิกงานและไปถึงบ้านก็เกือบสองทุ่ม
ห่วงหลายเรื่อง
ป้าตุ๊เคยพูดเรื่องนี้ว่า "ลูกหล่อนเป็นหนุ่มแล้วนะ สาวรับใช้บ้านหล่อนก็เอ๊าะๆ หล่อนไม่กลัวเหรอว่า
หลายชั่วโมงที่อยู่กันเองจะไม่มีอะไร" ถึงแม้ไม่อยากคิดอกุศล แต่มันก็ไม่อาจวางใจได้
แล้วที่คุณพ่อเคยแอบเห็นตลับวิดีโอโป๊โผล่แพล็มออกมาจากกระเป๋านักเรียนใบบางๆ ของหนุ่มต้ออีกล่ะ
กลับบ้านเร็วๆ ทุกวัน เกิดชวนเพื่อนมามั่วสุ่มทำบ้านเป็นโรงหนังเอ๊กซ์อาร์ขึ้นมา จะทำอย่างไรแล้วที่ร้ายก็คือ
พวกเด็กๆ วัยรุ่นน่ะรู้กันดีว่า ที่ที่จะมีเซ็กซ์กันในหมู่วัยรุ่นสมัยนี้ไม่ใช่ที่โรงแรมม่านรูด เบาะหลังของรถหรือที่ไหนๆ แล้ว
มันก็บนเตียงนอนที่บ้านใครคนใดคนหนึ่งนั่นแหละ
หรือกลับมาก่อน แล้วเกิดหนุ่มต้อแอบแวะ "สมาคมผู้รักสุขภาพอนามัย" หน้าปากซอยล่ะ
สมาคมบ้านนี่รถมอเตอร์ไซค์จอดเพียบ วัยรุ่นมาตีสนุ้กกันแน่นขนัดทุกเย็น เอาไงดี
มันชวนให้กังวลไปหมด
ที่แน่ๆ ก็คือ คุณครูประจำชั้นหนุ่มต้อเคยเชิญผู้ปกครองไปประชุมแล้วเล่าว่า มีสถิติในสหรัฐอเมริกาว่า
เด็กวัยรุ่นที่ต้องอยู่คนเดียวหลังเลิกเรียน มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า ใช้แอลกอฮอล์ สูบกัญชา บุหรี่
และการเรียนตกต่ำ ฯลฯ มีปัญหาสารพันได้มากกว่าเด็กที่มีผู้ใหญ่อยู่ด้วย เด็กผู้หญิงยิ่งมีความเสี่ยงมากกว่าเด็กผู้ชาย
เพราะมีเรื่องภัยทางเพศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
คุณครูบอกว่า ในเมืองไทยยังไม่มีการสำรวจในเรื่องนี้ แต่เท่าที่ฟังเรื่องสหรัฐอเมริกา
ป้าแต้วก็เสียววูบเพราะโอกาสเสี่ยงของเด็กไทยก็ไม่ค่อยต่างกัน
แล้วจะทำอย่างไรดี กับเวลาหลังเลิกเรียนของหนุ่มต้อ
ในที่สุดป้าแต้ว คุณพ่อ และหนุ่มต้อก็ต้องหันหน้ามาชนกัน
พ่อกับแม่เปิดใจกับลูก พ่อแม่แคร์ความเป็นไปของลูก บอกให้รู้ว่าโอกาสเสี่ยงมีอะไร มากน้อยแค่ไหน
(แต่ป้าแต้วเล่าว่าไม่ยอมพูดเรื่องสาวอ้อย ที่ช่วยทำงานบ้าน กลัวเป็นการชี้โพรงให้กระรอก
? ได้แต่เตือนอ้อมๆ
เรื่องสาวๆ) เพราะฉะนั้น ลูกเองก็จะต้องตระหนักในเรื่องนี้
ชวนลูกหากิจกรรม (ที่มีผู้ใหญ่ดูแล) ในช่วงหลักเลิกเรียน อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 วัน
ไปช่วยหน้าต้อมขายของที่ซูเปอร์มาร์เก็ต เข้าสโมสรฟุตบอล เรียนดนตรีที่โรงเรียนข้างบ้าน
ฝึกสนทนาภาษาอังกฤษ ฯลฯ สรุป
หนุ่มต้อเลือกไปเรียนตีแบตมินตันกับครู
กำหนดกติการ่วมกันว่า ทันทีที่กลับถึงบ้าน ลูกต้องโทรศัพท์ถึงพ่อแม่ ถ้าจะไปไหนต้องบอกก่อนว่าไปอย่างไร
กับใครไปทำอะไร และเมื่อไรกลับ ถ้าที่นั่นมีเบอร์โทรศัพท์ต้องบอกด้วย และถ้าเปลี่ยนแผนก็จะต้องโทร.มาบอกกันก่อน
หนุ่มต้อรับคำด้วยดี เรื่องนี้ในหลายประเทศมีรายงานว่า เด็กที่พ่อแม่สามารถรู้ข่าวคราวและติดต่อได้
ในเวลาหลังเลิกเรียนจะมีปัญหาน้อยกว่าเด็กที่เลิกเรียนแล้ว พ่อแม่ไม่รู้จะติดต่อได้อย่างไร
ในกรณีฉุกเฉิน ตกลงกันว่า ลูกจะแก้ปัญหาได้อย่างไร เช่น นอกจากหมายเลขโทรศัพท์ของพ่อแม่แล้ว
ของญาติพี่น้องหรือผู้ใหญ่คนอื่นๆ ต้องเขียนไว้ในที่ที่ลูกหาได้ง่าย พอๆ กับหมายเลขฉุกเฉินอื่นๆ อย่าง
สถานีตำรวจ ดับเพลิง รถพยาบาล ฯลฯ หรือ การปิดประตูบ้าน การเปิดเตาแก๊สทำอาหาร เป็นต้น
พ่อแม่ลูกตกลงกันได้ด้วยดี ทีนี้ก็เป็นเรื่องการติดตามในภาคปฏิบัติแล้วล่ะ คุยกันแล้วป้าแต้วสบายใจขึ้น
ดูลูกเป็นผู้ใหญ่พอใช้ แต่ที่แน่ๆ ป้าแต้วบอกว่า ตัวป้าแต้วและคุณลุงต้องไม่เถลไถล
พ่อแม่อยู่พร้อมหน้า ปัญหากับลูกก็น้อยลง
พัฒนา สุจริตวงศ์
|