ทญ.สุมนา สวัสดิ์-ชูโต
ฟันจัดเป็นอวัยวะส่วนที่แข็งที่สุดในร่างกายของมนุษย์ ดังนั้นคนส่วนใหญ่จึงมักละเลย
ไม่ค่อยดูแลรักษาและป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับฟัน อาจเป็นเพราะคิดว่า ฟันนั้นแข็งแรง
มีบ่อยครั้งที่พบว่า
การสูญเสียฟันหรือฟันทำถูกทำลายไปเนื่องจากใช้ฟันผิดหน้าที่ เช่น ใช้ฟันเปิดจุกขวดเพราะฟันมันแข็ง
และกัดจุกได้แน่นดี การใช้ฟันกัดของแข็งมากๆ โดยเฉพาะสิ่งที่ไม่ใช่อาหารอาจทำให้ฟันแตกหรือบิ่นได้
ฟันที่จัดว่าแข็งนี้จะถูกทำลายได้โดยง่าย ถ้าเจ้าของไม่ดูแลเอาใจใส่และคอยป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับฟัน
ที่กล่าวว่า ฟันถูกทำลายได้โดยง่ายนั้น เนื่องจากมีสาเหตุมากมายที่จะทำให้สูญเสียฟันไป
สาเหตุที่สำคัญและพบได้บ่อยคือ โรคฟันผุ ซึ่งเป็นโรคที่ทุกคนรู้จักและคุ้นเคยกันดี
น้อยคนนักที่จะไม่มีฟันผุเลย ดังนั้นเราๆ ท่านๆ ก็คงจะมีฟันผุกันอยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย
โรคฟันผุพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ กล่าวคือ พบได้ทุกวัย การผุอาจจะแตกต่างกันบ้าง เช่น
เด็กและวัยรุ่นมักพบบริเวณด้านบดเคี้ยว และซอกฟัน ส่วนในผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุมักพบการผุบริเวณรากฟัน
การลุกลามของโรคนี้จะรุนแรงมากขึ้น หากไม่สนใจเรื่องการดูแลรักษาความสะอาดช่องปาก
การควบคุมเรื่องอาหาร และการดูแลจากทันตแพทย์
สาเหตุที่สองคือ โรคเหงือกหรือโรคปริทันต์ มักพบในผู้ใหญ่ โรคนี้ถ้าละเลยหรือไม่ได้รับการรักษา
จะทำให้สูญเสียฟันได้ ส่วนสาเหตุการเกิดและการป้องกันโรคฟันผุ และโรคปริทันต์จะไม่ขอกล่าวซ้ำในที่นี้
ผู้ที่สนใจจะหาอ่านได้ตามบทความที่เกี่ยวกับทันตสุขภาพหรือจากใบปลิว แผ่นพับตามคลินิกทันตกรรมทั่วไป
สาเหตุที่สาม คือ การสูญเสียฟันเนื่องจากอุบัติเหตุ ส่วนใหญ่จะพบในเด็กเล็กที่อยู่ในวัยกำลังซน
ยังไม่มีความระมัดระวังพอ และในเด็กวัยรุ่นที่อยู่ในวัยคึกคะนอง ชอบเล่นผาดโผนหรือเล่นแรงๆ
โดยประมาทหรือไม่ระวัง ฟันที่มักเกิดอุบัติเหตุหักได้บ่อยๆ คือฟันหน้าตัดบน ส่วนฟันกรามมักถูกทำลาย
เนื่องจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ หรือถูกทำร้ายร่างกาย การรักษาฟันที่ได้รับอุบัติเหตุนี้ขึ้นกับความรุนแรง
ที่เกิดขึ้นกับตัวฟัน ถ้ารุนแรงมากการรักษาก็ยากขึ้นตามไปด้วย หรืออาจถึงขั้นต้องถูกถอนฟันไป
สาเหตุต่อไป คือ ฟันบิ่น หรือ ฟันแตก เนื่องจากเนื้อฟันเหลืออยู่ด้วย จากการที่เคยมีฟันผุ
และได้รับการบูรณะแล้ว ทำให้เนื้อฟันเหลือน้อย เนื่องจากก่อนบูรณะฟัน จะต้องขจัดเนื้อฟันส่วนที่ผุ
และเปื่อยยุ่ยออกให้หมด จึงใช้วัสดุอุดฟันปิดเข้าไปบริเวณฟันส่วนที่กรอออกไป ถ้ารอยผุใหญ่
เนื้อฟันส่วนดีเหลืออยู่น้อย เมื่อต้องรับแรงบดเคี้ยวนานๆ เนื้อฟันส่วนนี้อาจแตกได้
การรักษาในรายเช่นนี้ คือการทำครอบฟัน
สาเหตุที่ทำให้ฟันถูกทำลายอีกสาเหตุหนึ่งคือ การนอนกัดฟัน หรือกัดเน้นฟัน
ผู้ที่ทำงานที่ต้องใช้ความคิดหรือใช้แรงทำงาน อาจเน้นหรือกัดฟันไปด้วยขณะคิดหรือขณะออกแรงการเน้นฟัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกัดแล้วขยับฟันถูกันด้วย จะทำให้ฟันสึก คนที่นอนกัดฟันหรือกัดเน้นฟันขณะทำงาน
ฟันจะสึกเป็นหน้าตัดเรียบและอาจพบฟันแตกหรือบิ่นด้วยก็ได้ การสึกจะค่อยเป็นค่อยไป
ขึ้นกับความรุนแรงของการกัดฟัน และเมื่ออายุประมาณ 40-50 ปี ฟันจะสึกลงอย่างมากจนต้องได้รับการบูรณะ
บางรายสึกจนถึงโพรงประสาทฟัน ส่วนมากจะมาพบทันตแพทย์เนื่องจากเสียวฟัน การป้องกันคือ
พยายามไม่กัดเน้นฟัน หรือถ้านอนกัดฟัน ควรใส่เครื่องมือเพื่อกันไม่ให้เสียดสีกันขณะกัดฟัน
อีกสาเหตุที่พบได้บ่อยคือ ผิวฟันถูกกัดกร่อนไป เนื่องจากอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เป็นกรด
นิสัยบางอย่าง เช่น ชอบอมของเปรี้ยวๆ หรือโรคบางอย่างที่ทำให้อาเจียนบ่อยๆ กรดที่อยู่ในกระเพาะอาหาร
จะออกมากัดกร่อนผิวฟัน การสูญเสียของฟันจากสาเหตุดังกล่าวนี้ ผิวฟันด้านบดเคี้ยวจะเป็นหลุม
เหมือนเบ้าขนมครก วิธีป้องกันคือหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เป็นกรด อาจเคลือบฟลูออไรด์
โดยเฉพาะในช่วงที่อาเจียนบ่อย และต้องดูแลสุขภาพช่องปากเป็นพิเศษเพื่อลดภาวะความเป็นกรดในช่องปากลง
การแปรงฟันที่ไม่ถูกวิธีก็เป็นสาเหตุที่ทำให้สูญเสียฟันได้ การใช้แปรงที่ขนแปรงแข็งเกินไป
ยาสีฟันผสมผงขัดฟันที่หยาบเกินไป และการแปรงฟันตามขวางเป็นสาเหตุที่ทำให้ฟันสึกเป็นร่องได้
โดยเฉพาะบริเวณคอฟันหรือสึกตามทิศทางการแปรงฟัน วิธีการป้องกันคือ ใช้แปรงที่มีขนแปรงนุ่มปานกลาง
จนถึงนุ่ม อย่ากดแปรงแรงมากเกินไป ควรใช้ยาสีฟันชนิดครีม ที่มีผงละเอียดและแปรงในลักษณะปัดลง
ขณะแปรงฟันบนและปัดขึ้นขณะแปรงฟันล่าง
ส่วนสาเหตุสุดท้าย ที่ทำให้สูญเสียเนื้อฟัน และมักจะคาดไม่ถึงคือ ฟันสึกจากการบดเคี้ยวอาหาร
มีงานวิจัยพบว่า เคลือบฟันจะสึกประมาณ 30 ไมโครมิเตอร์ต่อปี หรือประมาณ 0.3 มิลลิเมตร ภายใน 10 ปี
และจะสึกมากกว่านี้ ถ้าใช้ฟันขบเคี้ยวอาหารที่แข็งมากๆ บ่อยๆ มักพบได้เสมอในผู้ที่ชอบใช้ฟันหน้า
ขบกัดเมล็ดผลไม้แห้ง เช่น เมล็ดแตงโม หรือช่างตัดเสื้อที่ชอบใช้ฟันกัดด้าย หรือกัดเข็มเย็บผ้า
วิธีป้องกันคือ หลีกเลี่ยงการใช้ฟันกัดของแข็ง
จะเห็นได้ว่า มีหลายสาเหตุที่ทำให้สูญเสียฟันการสูญเสียอาจค่อยเป็นค่อยไปถ้าไม่สนใจ
อาจถูกถอนฟันไปท้งซี่ได้ ท่านที่มีปัญหาเกี่ยวกับฟัน ขอคำแนะนำได้จากทันตแพทย์ค่ะ
|