วันนี้คนไข้ที่คลินิกของหมอพิมค่อนข้างมากเป็นพิเศษ หมอพิมนั่งพักที่โต๊ะทำงานหลังจากเหนื่อยมาทั้งวัน
สักครู่ต่อมาพอกำลังจะบอกให้ผู้ช่วยปิดคลินิก หมอพิมเห็นคุณติ๋มเพื่อนบ้านคนหนึ่งเดินเข้าในคลินิก
พร้อมกับอุ้มลูกสาวตัวน้อยมาด้วย
คุณติ๋มยกมือไหว้หมอพิมอย่างงาม
" สวัสดีค่ะคุณหมอ วันนี้ติ๋มพาลูกสาวอายุ 7 เดือนมาตรวจฟัน เอ๊ย! มาตรวจเหงือกค่ะ เร็วไปไหมคะ "
" อ๋อ! สวัสดีค่ะ คุณติ๋มนั่นเอง เชิญนั่งก่อนสิคะ ความจริงเด็กอายุ 7 เดือนออกจะน้อยไปที่จะตรวจฟัน
หรือทำฟันกัน เอาเป็นว่า เรามาคุยกันดีกว่าค่ะ สงสัยอะไรก็ถามหมอก็แล้วกัน "
" ตอนนี้ลูกสาวติ๋มอายุ 7 เดือนแล้ว ฟันน้ำนมของแกยังไม่ขึ้นเลยสักซี่เดียว ติ๋มกลุ้มใจจังค่ะคุณหมอ "
" อย่ากลุ้มใจไปเลยค่ะ คุณติ๋มค่ะ อายุการขึ้นของฟันนี่แตกต่างกันไป ในเด็กแต่ละคน บางคนขึ้นไว
บางคนขึ้นช้า ถ้าพูดถึงเกณฑ์ทั่วๆ ไปฟันน้ำนมซี่แรกที่จะขึ้นคือ ฟันหน้าล่าง 2 ซี่ จะขึ้นเมื่ออายุประมาณ 6-7 เดือน
แต่ก็ไม่ใช่เกณฑ์ตายตัวอะไร จะช้าเร็วแตกต่างกันไปมากมาย อย่างลูกชายของหมอตอนแกอายุ 5 เดือน
ฟันขึ้นแล้ว อย่างนี้สิคะลำบาก ต้องดูแลกันนานๆ หน่อย "
" นั่นสิคะ เพราะฉะนั้นติ๋มไม่ควรไปกังวลอะไรเลย ใจเย็นๆ รอดีกว่า แต่คุณหมอคะ
ติ๋มเลยอยากรบกวนคุณหมอช่วยบอกวิธีดูแลรักษาฟันลูกตั้งแต่ต้นเลยได้ไหมคะ ทุกวันนี้ติ๋มไม่แน่ใจว่า
ถ้าฟันลูกยังไม่ขึ้น เราจะต้องดูแลช่องปากของลูกเรายังไง "
" เป็นคำถามที่ดีจริงๆ คุณแม่บางคนเข้าใจว่าควรเริ่มให้ความสนใจช่องปากของลูกก็ต่อเมื่อฟันขึ้นแล้ว
หรือบางคนยิ่งแล้วไปใหญ่ คือเริ่มสนใจเมื่อลูกเริ่มปวดฟันซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดมาก คุณติ๋มเชื่อไหมคะว่า
จริงๆ แล้ว เราต้องเริ่มใส่ใจกับช่องปากของลูกตั้งแต่แกเพิ่งคลอดใหม่ๆ เลยทีเดียว คิดดูง่ายๆ นะคะ
ว่าลูกเกิดมาปุ๊บก็เริ่มดื่มนม ดื่มน้ำผ่านช่องปากนี้ เราจึงควรรักษาความสะอาดให้แกทุกวัน
ก็เหมือนกับอาบน้ำให้ลูก เรายังต้องอาบน้ำทุกวันเลย
หมอจะบอกถึงประโยชน์ที่ลูกจะได้รับ ถ้าเราทำความสะอาดช่องปากให้ตั้งแต่หลังคลอดใหม่ๆ เลย
จะทำให้แกเคยชินกับการมีเครื่องมือเข้าไปทำความสะอาดในช่องปาก ใหม่ๆ เราเริ่มด้วยผ้ากอซ
หรือผ้านุ่มๆ ชุบน้ำอุ่น พอแกโตขึ้นก็ค่อยเปลี่ยนเป็นแปรงสีฟัน และต่อมาก็คือ เครื่องมือทันตแพทย์
เมื่อพาแกมาหาหมอฟัน
แกจะยอมรับได้ง่าย อ้าปากให้ทำแต่โดยดีทีเดียว นอกจากนี้แกจะได้ชินกับการที่ปากและฟันสะอาด
อยู่ตลอดเวลาด้วย อีกอย่างที่มีผลมากคือ การเช็ดช่องปากเสมอมีผลทำให้ปากสะอาด
ดังนั้นเมื่อฟันเริ่มขึ้นก็จะไม่มีการอักเสบ
คุณติ๋มเคยได้ยินเขาพูดกันไหมคะว่า พอฟันขึ้นเด็กจะต้องเป็นไข้ เดี๋ยวนี้หมดสมัยแล้วค่ะ
ถ้าเราทำความสะอาดช่องปากให้ลูกแต่เนิ่นๆ โดยสม่ำเสมอ เวลาฟันขึ้นก็อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สะอาด
เหงือกจะไม่อักเสบ เด็กจึงไม่จำเป็นต้องตัวร้อนเป็นไข้เลย คุณติ๋มว่าดีไหมคะ "
" โอ้โฮ ดีจริงๆ เลยนะคะ ลิ้นลูกติ๋มเป็นเชื้อราอยู่เรื่อยเพราะติ๋มไม่ทำความสะอาดให้นี่เองเอ!
แต่ว่าวิธีทำความสะอาดที่ถูก ทำอย่างไรคะคุณหมอ "
" ง่ายมากเลยค่ะ เราก็อุ้มลูกเหมือนตอนจะให้นมด้วยมือซ้ายหรือไม่ก็วางลูกลงบนที่นอนก็ได้
แล้วมือขวาเราใช้นิ้วชี้พันด้วยผ้ากอซ หรือผ้าสะอาดชุบน้ำต้มสุกอุ่น แล้วเช็ดให้ทั่วช่องปากคือที่กระพุ้งแก้ม
บนลิ้น ใต้ลิ้น สันเหงือก เพดานปาก ทำอย่างนี้วันละ 2-3 ครั้ง เช้ากับหัวค่ำ หลังมื้อนม "
" เมื่อไรถึงจะเริ่มใช้แปรงสีฟันคะ "
" หมอว่าอายุประมาณ 1 ขวบ จึงค่อยแปรงให้แกด้วยแปรงสีฟันค่ำ แต่ก่อนอายุครบขวบ
เราควรให้เด็กคุ้นเคยกับแปรง โดยหาแปรงสวยๆ ให้แกถือเล่น หรือเอาเข้าปากก็ได้
แกจะลองเอาเข้าปากอยู่แล้ว ตามธรรมชาติ "
" คุณหมอคะติ๋มสงสัยว่า เด็กอายุเท่าไรถึงจะเริ่มทำฟันได้คะ หลานที่บ้านอายุตั้ง 5 ขวบ
ยังไม่เคยมาหาหมอฟันเลย"
" ปกติอายุที่เหมาะสมที่จะเริ่มมาตรวจฟันกันก็ประมาณ 2 ขวบ ซึ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่
ช่วยกันดูแลฟันของลูกมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ และให้ฟลูออไรด์สม่ำเสมอเด็กประเภทนี้วันที่มาหาหมอครั้งแรก
จะทำฟันด้วยการเริ่มจากขั้นตอนง่ายๆ ได้ ซึ่งมักเป็นการป้องกันฟันผุซะมากกว่า เช่นอาจจะขัดฟัน
เคลือบฟลูออไรด์ ดังนั้นเด็กกลุ้มนี้จะมีความประทับใจที่ดีในการทำฟันว่า ไม่เจ็บปวดง่าย แสนง่าย
ต่างจากเด็กประเภทที่ไม่ได้รับการเอาใจใส่เรื่องฟันมาตั้งแต่ต้น พอมาถึงมือหมอก็มักจะเริ่มปวดแล้ว
ซึ่งเด็กวัยเพียง 2 ขวบนี้ การรักษาจะยากลำบากมาก เพราะเด็กยังไม่ให้ความร่วมมือ
บางรายถ้ามีปัญหาในช่องปากที่ต้องสะสางมากจริงๆ อาจจะต้องใช้วิธีการดมยาสลบก็มี
ดังนั้นเราควรเริ่มใส่ใจดูแลช่องปากและฟันของลูก ตั้งแต่แรกคลอดกันทีเดียว"
" สำหรับติ๋ม คงยังไม่สายเกินไปใช่ไหมคะ คุณหมอ "
" ค่ะ
ก็เริ่มเสียตั้งแต่วันนี้เลยนะคะ "
คุณติ๋มกลับไปแล้ว หลังจากที่คุยกับหมอพิม ถึงเรื่องจิปาถะที่ไม่เกี่ยวกับฟันอีกมากมาย
ตามประสาคนช่างคุย
หมอพิมเตรียมตัวกลับบ้าน
จบการทำงานไปอีกวัน ด้วยความรู้สึกที่ดี ถ้าเป็นไปได้
อยากให้คุณติ๋มช่างคุยคนนี้ไปคุยบอกต่อคุณแม่คนใหม่ทั้งหลาย ถึงเรื่องที่หมอพิมคุยไปทั้งหมด
เพราะหมอพิมคิดเสมอว่า เรื่องของฟัน (และที่จริงรวมไปถึงเรื่องอื่นๆ ในชีวิตด้วย)
การป้องกันย่อมดีกว่าการแก้ไข แน่นอน
ท.ญ.วิริยา ออประยูร
|