มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://www.oocities.org/Tokyo/Harbor/2093/
จำสั้นๆ i.am/thaidoc



แพ้อาหาร


"การป่วยจากแพ้อาหารส่วนใหญ่จะไม่รุนแรง ส่วนน้อยที่อาการรุนแรงถึงขนาดคุกคามต่อชีวิต รายที่รุนแรงมักเกิดเมื่อรับประทานอาหารนอกบ้าน และอาหารที่แพ้ก็เป็นอาหารที่ทราบอยู่แล้วว่าแพ้ ปัจจัยอื่นที่ทำให้อาการรุนแรงคือ เคยเป็นโรคหอบหืด ชะล่าใจคิดว่าไม่แพ้ และไปรับการรักษาช้า"

คุณคงเคยได้ยินหรือเคยทราบว่าบางคนรับประทานบางอย่างไม่ได้
อ้างว่าแพ้บ้าง
กินแล้วไม่สบายบ้าง
กินแล้วเกิดผื่นคันบ้าง
ครับ การแพ้อาหารมีได้จริงๆ

ได้มีการสำรวจแล้วพบว่า ราวหนึ่งในสามของผู้ใหญ่เชื่อว่าตนเอง "แพ้อาหารบางชนิด"
วงการแพทย์คาดว่าคนที่แพ้อาหารจริงๆ คงมีไม่ถึง 2% หรอก
ที่เหลือเป็นอาการอย่างอื่น ที่ไม่ใช่การแพ้ในความหมายของแพทย์
ในเด็กเล็ก แพทย์พบว่าแพ้อาหารราว 5% มักพบส่วนใหญ่ภายในขวบแรกของอายุ และจะหายแพ้เมื่อโตขึ้น
โดยทั่วไปใครๆ ก็อาจแพ้อาหารได้ แต่เชื่อไหมครับว่า ความสามารถในการแพ้อาหารนี่ เป็นกรรมพันธุ์ครับ
เด็กที่มีพ่อหรือแม่แพ้อาหารจะมีโอกาสแพ้อาหารเป็น 2 เท่า สูงกว่าเด็กที่พ่อหรือแม่ไม่แพ้อาหาร
แต่ถ้าทั้งพ่อและแม่แพ้อาหารล่ะก็ ลูกเกิดมาจะมีโอกาสสูงถึง 4 เท่าของเด็กที่พ่อแม่ไม่แพ้อาหาร
เรียกได้ว่ารับมรดกทั้ง 2 ทางเลยว่าเถอะ

เด็กหลายรายที่แพ้อาหารจะมีอาการแพ้หรือไวต่อสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ฝุ่น ละอองเกสร หรือสารจากแมว ด้วยหรืออาจเกิดแพ้ภายหลังก็ได้
นอกจากนี้ ในผู้ใหญ่ที่แพ้อาหารก็มักมีประวัติว่า ภูมิแพ้ของทางเดินหายใจ บริเวณจมูก หรือหลอดลม (เช่น หอบหืด) ร่วมด้วยครับ
เรามารู้จักคำจำกัดความของ "การแพ้อาหาร" กันสักนิด
การแพ้อาหาร หมายถึงปฏิกิริยาอันไม่พึงประสงค์ต่ออาหารหรือองค์ประกอบอาหารที่เกี่ยวข้อง กับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
เป็นปฏิกิริยาที่มีต่ออาหารที่ดูแล้วไม่มีพิษมีภัยอะไรกับคนทั่วไป
และต้องเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันนะครับ จึงจะเรียกว่า "แพ้อาหาร" อย่างแท้จริง
สารก่อภูมิแพ้ในอาหารอาจมีหลายตัวในอาหารชนิดหนึ่ง
ส่วนใหญ่เป็นพวกโปรตีนครับ ไม่ใช่พวกคาร์โบไฮเดรตหรือไขมัน
เมื่อผู้ที่แพ้อาหารรับประทานอาหารที่แพ้เข้าไป สารก่อภูมิแพ้ในอาหารนั้นก็จะไปกระตุ้น ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สร้างสารต่างๆ ต่อกันไปแบบปฏิกิริยาลูกโซ่จนเกิดอาการแพ้ ออกมาให้เห็น

อาการแพ้อาหาร

แม้ว่าการแพ้อาหารจะเกิดกับอาหารชนิดใดๆ ก็ได้ ส่วนใหญ่ที่แพ้กันก็มักจำกัด อยู่ในอาหารไม่กี่ชนิดครับ
ที่สำคัญได้แก่ นม, ไข่, ปลา,หอย, กุ้ง, ถั่ว, ข้าวสาลี, เมล็ดวอลนัท เป็นต้น
อาการของการแพ้อาหารมักเกิดภายในไม่กี่นาที จนถึง 2-3 ชั่วโมง หลังจากรับประทานอาหารที่แพ้เข้าไป
แต่ในรายที่แพ้มากๆ เพียงแค่แตะหรือได้กลิ่นก็ออกอาการแล้วครับ
อาการที่พบบ่อยที่สุด ของการแพ้อาหารจะอยู่ที่ระบบทางเดินอาหาร
เริ่มจากบวมหรือคันแถวริมฝีปาก ปาก หรือลำคอ
เมื่ออาหารตกถึงท้องจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือท้องเดิน เกิดขึ้นได้
อาการทางผิวหนัง เช่น คัน, ลมพิษ, ผิวแดงร้อน, หรือผื่นคัน ก็พบได้บ่อย
บางคนอาจมีอาการจามน้ำมูกไหล หรือหายใจติดขัด
แม้ว่าการแพ้อาหารอาจทำให้หอบหืดกำเริบได้แต่โดยทั่วไปแล้ว อาหารจะไม่เป็นเหตุที่พบบ่อยของหอบหืดครับ
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยหอบหืดที่สามารถูกกระตุ้นให้หอบได้จากอาหารมักจะเป็นผู้ที่เสี่ยง ต่อการแพ้อาหารชนิดรุนแรงคุกคามต่อชีวิต
อาการแพ้อาหารชนิดรุนแรงจนช็อกพบได้น้อยครับ
เกิดจากมีการแพ้ที่อวัยวะหลายระบบพร้อมๆ กัน
อาการจะหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น
  • ผื่นคัน ลมพิษ
  • เหงื่อแตก
  • บวมในลำคอ
  • หายใจลำบาก
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • หมดสติ
  • อาจเสียชีวิต
อาการของการแพ้อาหารแต่ละคนไม่เหมือนกัน ครับ
แตกต่างกันไปในแง่ของความรุนแรง, เวลาที่เริ่มมีอาการ ปริมาณอาหารที่รับประทาน และอวัยวะที่เกิดอาการ
แม้แต่ในคนเดียวกันก็อาจแพ้ได้ต่างรูปแบบในการแพ้แต่ละครั้งครับ
อาหารชนิดเดียวกันทำให้เกิดอาการได้ต่างกันมากมายในแต่ละคน
และอาหารต่างชนิดกันก็อาจเกิดอาการต่างกันในคนคนเดียวกันครับ

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยว่าแพ้อาหารอาจไม่ยาก ถ้าผู้ป่วยมีอาการอย่างเดิมทุกครั้ง ที่รับประทานอาหารบางชนิด
เช่น วินิจฉัยว่าเด็กแพ้ถั่ว (พีนัท) เมื่อเด็กเกิดอาการอาเจียน และเป็นลมพิษ เมื่อรับประทานถั่วในโอกาสต่างๆ กัน
แต่ไม่ง่ายอย่างนี้เสมอไปหรอกครับ

อาการป่วยจากอาหารเกิดได้จากสาเหตุต่างๆ กันมากมาย
จึงสมควรปรึกษาแพทย์ให้ช่วยวินิจฉัยแยกแยะโรคครับ
แพทย์จะซักถามจากประวัติเพิ่มรีบหาอาหารที่สงสัยว่าแพ้
หาปริมาณอาหารที่ทำให้เกิดอาการ
หาว่าใช้เวลานานแค่ไหน จากเริ่มรับประทานจนถึงมีอาการ
หาว่าแพ้บ่อยแค่ไหน
และรายละเอียดอื่นๆ ครับ

แพทย์ยังต้องตรวจร่างกายโดยละเอียด และอาจต้องตรวจพิเศษหรือตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมอีก เพื่อที่จะตัดโรคอื่นที่ไม่ใช่การแพ้อาหารออกไป
หมออาจให้ผู้ป่วยจดรายการอาหารที่รับประทานและบันทึกอาการและเวลาไว้ด้วย แพทย์อาจให้งดอาหารที่สงสัยว่าแพ้เป็นเวลาหลายๆ สัปดาห์เพื่อดูว่าอาการหายไปหรือไม่
เมื่ออาการลดลงหรือดีขึ้นอาจให้ลองกลับรับประทานอาหารนั้นดูใหม่ ว่าอาการแพ้กลับมาเป็นอีกไหม
และยังมีการทดสอบอีกหลายชนิดที่แพทย์อาจนำมาใช้เพื่อช่วยยืนยันการแพ้อาหารของผู้ป่วยครับ
ก็คงต้องเหนื่อยกันพอสมควรกว่าจะได้การวินิจฉัยที่แน่นอน

การรักษา

เมื่อวินิจฉัยและยืนยันได้แล้วว่า แพ้อาหารแน่ การรักษาที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลคือ หลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ครับ
ในบางรายเมื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ไประยะหนึ่งอาจหายแพ้ได้
ใช้เวลา 1-2 ปี หลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้พบว่า ราว 1 ใน 3 ไม่แพ้อาหารนั้นอีก
แต่ถ้าแพ้พวกถั่ว (พีนัท) ปลา, กุ้ง,หอย มักจะแพ้ตลอดชีวิต เลี่ยงยังไงก็ไม่หายครับ

ผู้ที่แพ้อาหารควรมีแผนไว้รับเหตุฉุกเฉิน เมื่อเกิดแพ้ขึ้นมาโดยบังเอิญด้วย
เพราะการแพ้อาหารบางทีรุนแรงถึงชีวิต
ผู้ที่มีประวัติแพ้อาหารได้รับคำแนะนำถึงวิธีการฉีดและเมื่อไรจะฉีดยาเอ็พปิเน็ฟริน (อะเดรนาลิน) เมื่อเกิดเหตุการแพ้รุนแรงขึ้น
ยานี้มีขายในรูปบรรจุไว้เสร็จในหลอดฉีดยาครับ ใช้สะดวกมาก
และควรมีติดตัวไว้เสมอสำหรับผู้ที่แพ้รุนแรง
ยาแอนตี้ฮิสตามีน (เช่น ยาแก้หวัด แก้แพ้ พวกคลอเฟนิรามีน) ก็พอช่วยได้กรณีแพ้ไม่รุนแรง
แต่ยาเอ็พปิเน็ฟรินเป็นยาช่วยชีวิตจริงๆ ครับถ้าให้ยาทันเวลา

นอกจากนี้ผู้ที่แพ้อาหารควรมีเครื่องหมาย แขวนคอ ผูกข้อมือ หรือในกระเป๋า ที่จะบอกให้ผู้พบเห็น หรือผู้ช่วยเหลือทราบกรณีเกิดหมดสติ
ในปัจจุบันยังไม่มียาที่มารักษาการแพ้อาหารในระยะยาวได้
การฉีดยาเพื่อลดการแพ้ที่ได้ผลในคนที่แพ้ฝุ่นหรือเกสรดอกไม้นั้นไม่แนะนำให้ใช้รักษาการแพ้อาหาร เพราะไม่ได้ผลและอาจเป็นอันตรายได้

สาเหตุอื่นของปฏิกิริยาต่ออาหาร

ปฏิกิริยาอันไม่พึงประสงค์ต่ออาหารที่ไม่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันจะไม่เรียกว่าแพ้อาหาร
ปฏิกิริยาเหล่านี้ได้แก่
  • อาหารเป็นพิษ
  • ปฏิกิริยาเชิงเมตาโบลิซึ่ม และ
  • อาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ
อาหารเป็นพิษเกิดเมื่อรับประทานอาหารที่มีสารพิษเข้าไป
ในบางกรณี อาหารเป็นพิษมีอาการคล้ายการแพ้อาหารมาก
เช่น ปลาทะเล ที่เก็บรักษาไม่ได้ เชื้อแบคทีเรียในปลาจะสร้างฮีสตามีนขึ้น
เมื่อรับประทานอาหารปลานี้เข้าไปก็จะป่วยมีอาการคล้ายแพ้อาหารมาก
ในกลุ่มปฏิกิริยาเชิงเมตาโบลิซึ่มต่ออาหาร ร่างกายไม่สามารถย่อยบางส่วนของอาหารได้
เช่น บางคนดื่มนมไม่ได้เพราะลำไส้ขาดน้ำย่อยแล็คเตสซึ่งจำเป็นต่อการย่อยน้ำตาลแล็คโตส ที่มีอยู่ในนม
เมื่อดื่มนมหรือผลิตภัณฑ์จากนมเข้าไปก็จะเกิดอาการคลื่นไส้ มีลมในท้องมาก และถ่ายเหลว
ในเด็กเมื่อป่วยจากโรคทางเดินอาหารอักเสบจากเชื้อไวรัส อาจเกิดภาวะย่อยนมไม่ได้ตามมา
แต่เป็นเพียงชั่วคราวครับ สามารถกลับมาดื่มนมและย่อยนมได้ปกติ เมื่อหายดีแล้ว
ปฏิกิริยาบางอย่างต่ออาหารก็ยังไม่ทราบสาเหตุ
สาเหตุทางด้านจิตใจก็อาจมีบทบาทสำคัญในกรณีนี้ครับ

นพ.อมรชัย หาญผดุงธรรมะ

(update 3 พฤศจิกายน 2000)


[ที่มา..หนังสือ นิตยสารใกล้หมอปีที่ 24 ฉบับที่ 2 กุมภาพันธ์ 2543]

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21] resolution 800x600