ดร.วินัย ดะห์ลัน
พักหลังๆ มานี้พวกเราคงได้ยินชื่อ แมกนีเซียม ซึ่งเป็นธาตุตัวหนึ่งมากขึ้น
ผู้เขียนเจอคำถามเกี่ยวกับแมกนีเซียมอยู่บ่อยๆ เพราะมีคนเห็น การเสริมธาตุแมกนีเซียม
เข้าไปในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายตัว บางครั้งไปซื้อแคลเซียมมาแท้ๆ
แต่กลับได้แมกนีเซียมเสริมเข้ามาด้วย เลยอยากจะรู้ว่า แมกนีเซียมมีหน้าที่ทำอะไร
ในทางโภชนาการหากอยากรู้ว่า ธาตุตัวไหนสำคัญกับชีวิตอย่างไร ต้องดูตอนที่ขาด แมกนีเซียม
ก็เหมือนกันมันเป็นธาตุตัวหนึ่งที่จำเป็นต่อกลไกการดำเนินชีวิตของคนเรา นักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์พบว่า
มีโรคอยู่หลายโรคที่เกี่ยวข้องกับการขาดแมกนีเซียม เป็นต้นว่า เบาหวาน โรคไต และภาวะฮอร์โมนธัยรอยด์สูง
ใครที่ขาดแมกนีเซียมแล้วเกิดเครียดนานๆ หรือออกกำลังกายหักโหม หรือท้องร่วงจะยิ่งทำให้
ภาวะการขาดแคลเซียมเกิดรุนแรงเข้าไปใหญ่ อาการของการขาดแคลเซียมที่ร่างกายแสดงออกมา ได้แก่
คลื่นไส้ กล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย ไม่มีแรง กล้ามเนื้อกระตุก ความคิดสับสนหรือแม้กระทั่งเกิดภาพหลอน
แมกนีเซียมเป็นแร่ธาตุที่ทำหน้าที่ช่วยการทำงานของเอนไซม์หลายชนิดในร่างกาย
ทั้งยังเกี่ยวข้องกับการทำงานที่เป็นปกติของเซลล์ประสาทและกล้ามเนื้อ อย่างนี้นี่เองที่ทำให้
การขาดแมกนีเซียมทำให้เกิดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับทั้งกล้ามเนื้อและประสาท
หน้าที่ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของแมกนีเซียมคือ มันทำงานร่วมกับธาตุแคลเซียม ฟอสฟอรัส
ในการสร้างกระดูก เด็กที่ขาดแคลเซียมอย่างรุนแรงจะเจอปัญหาร่างกายแคระแกรนขึ้นได้
กระดูกสร้างขึ้นได้อย่างไม่สมประกอบ เติบโตได้ไม่เต็มที่หรืออาจจะเจอปัญหากระดูกผุตั้งแต่วัยรุ่นเข้าก็ได้
แต่โชคดีตรงที่เราเจอเด็กเล็กๆ ที่ขาดแมกนีเซียมได้น้อยมาก
อันที่จริงร่างกายต้องการธาตุแมกนีเซียมไม่มากนัก เพียงแค่ 250-350 มิลลิกรัม
ก็น่าจะเพียงพอแล้ว การสำรวจที่ทำกันในเด็กพบว่า เด็กไม่ค่อยขาดแมกนีเซียม
เพราะอาหารของเด็กมีแมกนีเซียมเพียงพอ การศึกษาที่ทำโดยคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย
แคลิฟอร์เนียที่ดาวิส พบว่า เด็กเล็กๆ มีโอกาสขาดแมกนีเซียมได้ยากมาก เพราะได้รับเพียงพออยู่แล้ว
จากอาหาร อย่าหลงไปเสริมแมกนีเซียมในเด็กให้มันวุ่นวายเลย
มีรายงานภาวะแมกนีเซียมสูงเกินไปในเด็กจนเกิดปัญหาได้บ้างเหมือนกัน แต่คงไม่ต้องห่วง
เพราะเรื่องนี้พบยากเช่นเดียวกัน เหตุที่เด็กเกิดปัญหาพิษจากแมกนีเซียมเป็นผลมาจาก
แม่ทำการเสริมแมกนีเซียมมากเกินไปในช่วงการตั้งครรภ์ เสริมแมกนีเซียมเพราะหลงเชื่อคำโฆษณา
ของผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ให้ข้อมูลกระทั่งทำให้บางคนหลงเข้าใจว่า หากตั้งครรภ์ต้องเสริมแมกนีเซียม
เพื่อช่วยให้ทารกเจริญเติบโตดี
ผลที่ตามมาจากการที่แม่เสริมแมกนีเซียมมากเกินไปก็คือ เด็กที่คลอดออกมา
มีภาวะแมกนีเซียมเป็นพิษซึ่งเผอิญรายงานไม่ได้บอกว่าเด็กแสดงอาการอย่างไรบ้าง
แต่กล่าวถึงว่าเด็กมีอาการผิดปกติหลายอย่างทางร่างกายเมื่อตรวจสอบแล้วก็พบว่า
ในเลือดมีแมกนีเซียมสูงมากเป็นผลมาจากแม่เสริมแมกนีเซียมมากเกินไปนั่นเอง
ดังนั้นใครที่คิดจะเสริมอาหารชนิดไหนน่าจะได้บอกแพทย์ที่ดูแลรักษาเราอยู่ให้ได้ทราบด้วย
อย่าได้หลงเข้าใจว่าสารอาหารปลอดภัยเป็นอันขาด จำไว้เถอะครับว่ายิ่งคิดว่าปลอดภัยก็ยิ่งต้องควรระวัง
เพราะความปลอดภัยมักจะทำให้เราประมาทอยู่บ่อยๆ
อันที่จริง ผู้เขียนไม่แนะนำให้ซื้อหาแมกนีเซียมมารับประทานหรอกครับเพราะมันไม่จำเป็น
คนที่เป็นผู้ใหญ่แม้จะมีความเสี่ยงที่จะขาดแมกนีเซียมอยู่บ้าง แต่การขาดยังพบได้ไม่บ่อยนัก
ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากร่างกายได้รับแมกนีเซียมไม่เพียงพอจากอาหารนั่นแหละครับ
ดังนั้นในทางที่ดีควรจะเสริมแมกนีเซียมจากอาหาร ยกเว้นแต่เมื่อพบว่า
ร่างกายขาดแมกนีเซียมเข้าจริงๆ ก็ให้เสริมแมกนีเซียมได้
ใครที่คิดจะเสริมแมกนีเซียมคงต้องระวังกันหน่อย เพราะเคยมีรายงานอยู่บ้างเหมือนกันว่า
ผู้ที่เสริมแมกนีเซียมสูงมากเกินไปอย่างเช่นสูงถึง 500 มิลลิกรัมต่อวัน ต่อเนื่องกันเป็นเวลานานๆ
อาจจะเจอปัญหาท้องร่วงรวมไปถึงปัญหาอื่นทางด้านระบบทางเดินอาหารเข้าได้
วิธีง่ายๆ ในการป้องกันการขาดแมกนีเซียมคือ รับประทานอาหารที่มีแมกนีเซียมมากพอ เป็นต้นว่า
การรับประทานถั่วเปลือกแข็งหรือประเภทนัททั้งหลาย ซึ่งจะมีแร่ธาตุแมกนีเซียมค่อนข้างสูง ถั่วเมล็ดเปียก
ไม่ว่าจะเป็นถั่วลันเตา ถั่วฝักยาวก็มีแมกนีเซียมไม่น้อยเหมือนกัน คิดจะเสริมแมกนีเซียมด้วยวิธีง่ายๆ
คือเลือกรับประทานถั่วงอกหัวโต ซึ่งเป็นถั่วงอกที่มาจากถั่วเหลือง ผลไม้ที่มีแมกนีเซียมค่อนข้างมากคือ กล้วย
ข้าวกล้องเองก็มีแมกนีเซียมไม่น้อย พักหลังๆเมื่อผู้คนในบ้านเรานิยมรับประทานข้าวกล้องมากขึ้น
ก็ย่อมต้องได้รับแมกนีเซียมมากขึ้น ลองเลือกวิธีการเสริมข้าวกล้องปนเข้าไปกับข้าวขาว
ที่รับประทานกันอยู่ทุกวันก็ได้ครับ
อาหารอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นแหล่งที่ดีของแมกนีเซียมคือ ผักใบเขียวเข้ม ผักกลุ่มนี้มีแมกนีเซียม
อยู่ในสีเขียวของคลอโรฟิลนั่นเอง แมกนีเซียมเป็นธาตุที่จำเป็นต่อการสร้างสีเขียวของพืช
ดังนั้นหากเลือกรับประทานผักใบสีเขียวเข้มบ่อยๆ ร่างกายก็น่าจะได้รับแมกนีเซียมเพียงพอ
ไม่จำเป็นต้องไปซื้อหาแมกนีเซียมมาเสริมให้วุ่นวาย
อย่างไรก็ตามมีพวกเราบางคนคิดอยากจะรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเสียเหลือเกิน
เสริมผลิตภัณฑ์นั้นเสริมได้ครับ แต่น่าจะดูว่าความจำเป็นมันมีมากน้อยแค่ไหน
หากคิดจะเลือกผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมากกว่าเลือกอาหารธรรมดา เอาเป็นว่าให้เสริมแมกนีเซียม
ในรูปของแมกนีเซียมออกไซด์หรือแมกนีเซียมคาร์บอเนตไม่ให้เกิน 50-100 มิลลิกรัม
อย่าไปเสริมให้มากไปกว่านั้น เปลืองสตางค์เปล่าๆ อาจแถมโทษให้อีกต่างหาก
|