ดร.วินัย ดะห์ลัน
นักกีฬาไม่ว่าจะประเภทไหน อยากจะอึดกันทั้งนั้น หากจะเล่นเทนนิส ก็อยากจะให้เล่นอึด
สู้กันสามสี่เซ็ตยังไม่หมดแรง นักเทนนิสจำนวนไม่น้อย ตีดีมากในเซ็ตแรกๆ เสิร์ฟแรง โยกได้เต็มที่
ขึ้นตีวอลเลย์หน้าเน็ตได้เฉียบขาด หากเจอคู่ต่อสู้ฝีมือใกล้เคียงกัน คงไม่สามารถปิดเกมได้ในเซ็ตที่สองหรือสาม
หากเป็นหญิงจะต้องเข้าเซ็ตที่สาม หากเป็นชายอาจต่อเกมไปถึงเซ็ตที่ห้า ถึงตอนนี้คงไม่ใช่เรื่องฝีมือแล้วล่ะครับ
แต่อยู่ตรงที่ใครมีน้ำอดน้ำทนหรืออึดมากกว่า
การแข่งขันฟุตบอลประเภททัวร์นาเม้นต์ก็เหมือนกัน การแข่งขันในลอบลึกๆ แบบน็อกเอ๊าท์
หากเอาชนะกันใน 90 นาทีไม่ได้ จะต้องต่อเกมให้ยาวออกไปโดยการใช้กฎโกลเด้นโกล์หรือประตูทอง
ใครยิงประตูได้ ก็ปิดเกมในทันที แต่หากยิงประตูกันไม่ได้ เห็นจะต้องสู้กันต่ออีกครึ่งชั่วโมง แทบคลานกันไปเลย
การสร้างความอึด จึงเป็นเทคนิคหนึ่งของการฝึกฝน ซึ่งมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน วิธีแรกคือ
การฝึกการออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อทนต่อการใช้พลังงาน กีฬาที่นิยมกันส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็น ฟุตบอล
บาสเกตบอล อเมริกันฟุตบอล เทนนิส แบดมินตัน ล้วนแต่เป็นการใช้พลังงานแบบแอนแอโรบิก
หรือกล้ามเนื้อไม่ใช้ออกซิเจนทั้งนั้น เป็นกีฬาประเภทที่ต้องใช้พละกำลังกันค่อนข้างมาก
ในการแข่งขันนักกีฬาต้องเคลื่อนตัวรวดเร็ว ว่องไว หนักหน่วงเป็นเรื่องของการโหม
การใช้กำลังของกล้ามเนื้อการเผาผลาญสารอาหารแบบสร้างพลังงานสูงโดยการใช้ออกซิเจน
ซึ่งเกิดขึ้นจากการทำแอโรบิกหรือการวิ่งเหยาะใช้เวลานานๆ เกิดขึ้นไม่ได้ในการออกกำลังกายแบบหักโหม
กล้ามเนื้อเร่งเผาผลาญสารอาหารเพื่อสร้างพลังงานอย่างรวดเร็วทำให้เกิดการเผาผลาญพลังงานแบบไม่ใช้ออกซิเจน
มีการสร้างกรดแล็คติกขึ้นในกล้ามเนื้อ หากเกิดกรดขึ้นมาก สลายกรดไม่ทัน จะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อล้า
ร่างกายทนทานไม่ได้ ภาวะกล้ามเนื้อล้าที่เกิดขึ้นนี้เป็นกลไกของร่างกายในการป้องกันตนเอง
หากยังขืนดื้อดึงฝืนออกกำลังหักโหมต่อไปกล้ามเนื้ออาจถูกเผาผลาญให้หมดสภาพไปได้ง่ายๆ
คนที่หักโหมมากๆ ร่างกายจึงป้องกันตนเองโดยสร้างระบบที่ทำให้กล้ามเนื้อทำงานได้ช้าลง การแข่งขันกีฬายืดเยื้อ
จึงทำให้นักกีฬาหลายคนเชื่องช้าลง ใช้แรงได้น้อยลง แสดงอาการเหนื่อยอ่อนอย่างเห็นได้ชัด
นักกีฬาที่ฝึกฝนมาเป็นอย่างดี กล้ามเนื้อจะล้าช้าลง การหายใจอย่างถูกจังหวะ
จะทำให้ร่างกายขจัดสภาพความเป็นกรดออกทางลมหายใจได้ดีขึ้น แต่ถึงจะฝึกฝนอย่างไร
ร่างกายก็ยังเก็บพลังงานได้จำกัด การออกกำลังกายแบบหักโหมเช่นนี้ ร่างกายใช้พลังงานจากไกลโคเจนหรือแป้ง
ที่สะสมไว้ในกล้ามเนื้อและตับเป็นหลัก โดยปกติไกลโคเจนเหล่านี้ หากใช้กันอย่างหักโหม ประมาณสองชั่วโมง
ไกลโคเจนก็ถูกใช้ไปแทบเกลี้ยงแล้ว
การฝึกอย่างถูกวิธี ทำให้ร่างกายรู้จังหวะการใช้ไกลโคเจน การออกกำลังอย่างฉลาดของนักกีฬา
ทำให้ร่างกายเก็บไกลโคเจนไว้ได้นาน นักกีฬาเทนนิสฉลาดๆ หากรู้ว่าคู่แข่งฝีมือจัดจ้าน
จะพยายามหาทางเอาชนะด้วยการออมแรงไว้สำเร็จโทษในเกมท้ายๆ รอจนคู่ต่อสู้หมดแรงแล้ว เป็นต้นว่า
การตีกราวน์สโตรคโต้อยู่ท้ายคอร์ด หลอกล่อให้คู่ต่อสู้ใช้เทคนิคเสิร์ฟและวอลเลย์หรือวิ่งบ่อยๆ
ให้คู่ต่อสู้ใช้แรงให้มากกว่าตนเอง หากเห็นว่าคู่ต่อสู้แผ่วลงเมื่อไหร่ ก็เริ่มโหมปิดเกมเมื่อนั้น แต่นักกีฬาแทบทุกคน
เริ่มรู้จักเทคนิคการออมแรงเหมือนกันหมด นักโภชนาการการกีฬา จึงเริ่มใช้วิธีการใหม่ๆ
ในการสร้างน้ำอดน้ำทนให้กับนักกีฬาของตน วิธีการที่ใช้กันมากในวงการกีฬาแถบยุโรปและอเมริกาคือ
เทคนิคที่เรียกว่า Carbo loading
นักโภชนาการ พบว่า กล้ามเนื้อสามารถเก็บไกลโคเจนหรือแป้งในกล้ามเนื้อและตับได้มากกว่าปกติ
หากให้นักกีฬากินอาหารที่เป็นแป้งมากขึ้นในช่วงก่อนการแข่งขัน ใครที่ชอบกินไขมันหรือโปรตีน
หรือมีความเชื่อว่านักกีฬาจะต้องเสริมโปรตีนมากๆ ลองดูเอาเถอะ นักกีฬาเหล่านี้หมดแรงได้ง่าย
ไม่มีน้ำอดน้ำทนหรือไม่อึด เพราะโปรตีนและไขมัน แทบไม่ได้ช่วยในการสร้างแป้งสะสมในกล้ามเนื้อเลย
นักโภชนาการแถวสแกนดิเนเวีย คือ Bergstrom และคณะ รายงานไว้ตั้งแต่ปี 1968 แล้วว่า
หากให้นักกีฬาออกกำลังกายใช้ไกลโคเจนไปจนกระทั่งกล้ามเนื้อเหลือไกลโคเจนอยู่น้อย
จากนั้นให้อาหารประเภทโปรตีนสูง ไขมันสูงที่มีแป้งต่ำมาก (10%) เป็นเวลาสัก 3 วัน แล้วให้ไปออกกำลังกาย
กล้ามเนื้อที่ขาดไกลโคเจนจะหิวโหยแป้งเป็นอย่างมาก จึงให้อาหารที่มีไกลโคเจนสูงมาก (90%) อีกสามวัน
ช่วงเวลาเช่นนี้กล้ามเนื้อหิวไกลโคเจนอย่างที่สุดจะแสดงปฏิกิริยาหิวโหยโดยการเร่งสะสมไกลโคเจน
ซึ่งนักวิจัยพบว่า กล้ามเนื้อจะสะสมไกลโคเจนได้มากกว่าปกติถึง 2-3 เท่า กลายเป็นนักกีฬาที่อึดไปเลย
การใช้วิธี Carbo loading ของ Bergstrom มีข้อเสียคือ นักกีฬามักรู้สึกไม่สบายตัว คลื่นหัวใจอาจเป็นปัญหา
การใช้กล้ามเนื้อไม่ว่องไวอย่างที่คิด เพราะนักกีฬาโทรมจากการได้รับอาหารโปรตีนสูงอยู่หลายวัน
ในปี 1981 Sherman และคณะ จึงเปลี่ยนแปลงวิธีการที่เหมาะสมกว่า นั่นคือ การให้นักกีฬาเสริมอาหารประเภทแป้งสูง
(70% ของพลังงาน) สักสามวันก่อนการแข่งขัน โดยก่อนหน้านั้นให้นักกีฬารับประทานอาหารอย่างปกติ
ซึ่งมีแป้งให้พลังงานประมาณครึ่งหนึ่ง วิธีการแบบ Sherman ทำให้นักกีฬาปรับตัวได้ดีกว่า และพบว่า
กล้ามเนื้อและตับ เก็บไกลโคเจนได้มากขึ้น แม้จะไม่มากเท่าวิธีของ Bergstrom ก็ตามที แต่ไกลโคเจนที่เก็บได้สูงขึ้นนี้
ทำให้การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อเป็นไปได้คล่องตัวและนานกว่าปกติประมาณ 10-20%
เรื่องราวของโภชนาการกับการกีฬา กลายเป็นเรื่องสำคัญมากไปแล้วในการกีฬาสมัยใหม่
เมื่อครั้งผู้เขียนไปทำหน้าที่ดูแลด้านโภชนาการพิเศษอยู่ในการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์และเฟสปิกเกมส์
ซึ่งจัดที่กรุงเทพฯ เมื่อปลายปี 2541 ต่อต้นปี 2542 ได้พบปะพูดคุยกับนักโภชนาการประจำสมาคมกีฬาหลายชาติ
ได้รู้ว่าสมาคมกีฬาชาติต่างๆ ให้ความสนใจต่อโภชนาการแต่น่าแปลกที่แทบไม่พบ
นักโภชนาการของสมาคมกีฬาไทยเลย
เห็นทีสมาคมกีฬาไทย จะต้องทบทวนนโยบายกันใหม่แล้วล่ะครับ เร่งทบทวนก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ซิดนี่ย์
ในปีนี้นั่นแหละดีที่สุด
|