มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://www.oocities.org/Tokyo/Harbor/2093/
จำสั้นๆ i.am/thaidoc



รักร่วมเพศ

รักร่วมเพศเป็นพฤติกรรมทางเพศระหว่างบุคคลที่เป็น เพศเดียวกัน พบมากที่สุดในจำนวนพฤติกรรมทางเพศที่ผิด ไปจากลักษณะที่คนทั่วไปประพฤติปฏิบัติ เป็นได้ทั้งผู้ชาย และผู้หญิง แต่ชายมากกว่าหญิง สัดส่วนประมาณ 3 ต่อ 1 และสำหรับหญิงมีชื่อเรียกเฉพาะว่า เลสเบี้ยน (Lesbian)

พฤติกรรมทางเพศระหว่างเพศเดียวกันพบในสัตว์เกือบทุกชนิด และในมนุษย์ทุกระดับสังคมทั่วโลก ในจำนวนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เจริญที่สุด เช่น ลิง การสมสู่กับเพศเดียวกันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอ แม้ว่าการสมสู่กับเพศตรงกันข้ามก็มีโอกาสกระทำได้อยู่แล้ว จะเห็นได้จาการที่ลิงตัวผู้ลูบไล้ขนให้กันและกัน การสำรวจอวัยวะเพศ การขึ้นขี่คร่อมกัน การสำเร็จความใคร่ให้กันและกัน การใช้นิ้วสอดเข้าไปในทวารหนัก การโลมเล้าให้เกิดความรู้สึกทางเพศ และการใช้ปากกับอวัยวะเพศ สำหรับมนุษย์รักร่วมเพศ มีกำเนิดมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าจะเป็นเครื่องแสดงว่าสังคมเสื่อมเลย แต่อย่างไรก็ตาม ทัศนคติต่อความประพฤติเช่นนี้ต่างกันตามยุคสมัย ในยุโรปยุคโรมันความประพฤติแบบนี้ทำกันอย่างเปิดเผย และในยุคกรีกไม่เพียงแต่ถือว่าเป็นของธรรมชาติเท่านั้น ยังถือเป็นการแสดงความรักที่สูงส่งกว่าธรรมดาอีกด้วย แต่ในยุคต่อมาซึ่งเป็นยุคของคริตสศาสนาทัศนคติกลับเปลี่ยนแปลงไป รักร่วมเพศถือว่าผิดปกติ เป็นความชั่วและบาป ในสมัยยุคปัจจุบันความคิดเห็นของสังคมมีต่างๆ กัน แต่จิตแพทย์มีความโน้มเอียง จะคิดว่าความประพฤติเช่นนี้เป็นความพอใจส่วนตัวของแต่ละคน ไม่ใช่ความผิดปกติทางจิตใจ

ฟอร์ด (Ford) และ บีช (Beach) ศึกษาสังคม 76 แห่ง พบว่าร้อยละ 64 ยอมรับความใคร่ในเพศเดียวกัน ว่าเป็นของปกติ ส่วนอีกร้อยละ 36 แม้จะไม่ยอมรับแต่ก็มีผู้นิยมกระทำกันอย่างลับๆ ฮอช (Hoch) และ ซูบิน (Zubin) ศึกษาวัฒนธรรมของชนชาติต่างๆ 195 แห่ง พบว่ามีเพียงร้อยละ 14 ที่ไม่ยอมรับความใคร่ ในเพศเดียวกันของผู้ชาย และอีกร้อยละ 11 ไม่ยอมรับความใคร่ในเพศเดียวกันของผู้หญิง นักมนุษยวิทยา จอช เดอเวอรอง (George Devereux) และ รูธ เบเนดิคท์ (Ruth Benedict) พบว่า มีการปฏิบัติรักร่วมเพศในพิธีทางศาสนาของชนเผ่าอินเดียนแดงในทวีปอเมริกาเหนือหลายเผ่า

ระหว่าง ค.ศ.1860-1934 อันเป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษ ประเทศเยอรมันเป็นศูนย์กลาง ของการรณรงค์ต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้ที่นิยมรักร่วมเพศ นายแพทย์แบงเคิร์ท (Bankert) ชาวฮังการี เป็นผู้บัญญัติศัพท์ "โฮโมเซ็กชวล" (homosexual) ขึ้นในปี ค.ศ.1869 อัลริชส์ (Ulrichs) บัญญัติคำว่า "เอินนิ่งส์" (Urnings) ขึ้นมาใช้แทนโฮโมเซ็กชวล ซึ่งหมายถึง "เพศที่สาม" คือ มีจิตใจของผู้หญิง อยู่ในเรือนร่างของผู้ชาย หรือมีจิตใจของผู้ชายในเรือนร่างของผู้หญิง และเฮิร์ชเฟลด์ (Hirschfeld) เป็นผู้ก่อตั้งองคการ เพื่อเรียกร้องสิทธิของผู้นิยมรักร่วมเพศขึ้นในปี ค.ศ.1897 รวมทั้งก่อตั้งสถาบันวิทยาศาสตร์ทางเพศ ขึ้นในปี ค.ศ.1919 เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องเพศทางด้านชีววิทยา มานุษยวิทยา สถิติ และชาติพันธุ์ เป็นต้น

การวิจัยของคินเซ่ย์ (Kinsey) ในสหรัฐอเมริกา พบว่าประชากรเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น ที่มีเพศสัมพันธ์เฉพาะกับเพศตรงกันข้าม ผู้ชายจำนวนร้อยละ 37 และผู้หญิงอย่างน้อยร้อยละ 13 มีประสบการณ์รักร่วมเพศถึงขนาดมีความสุขสุดยอดในระหว่างวัยรุ่นถึงวัยชรา นอกจากนี้ยังมีผู้ชาย อีกร้อยละ 13 และผู้หญิงอีกร้อยละ 8 ที่ความรู้สึกเร้าใจเมื่อเห็นบุคคลเพศเดียวกัน ถึงแม้ว่า จะไม่ได้ปฏิบัติทางเพศด้วยก็ตาม

พวกรักร่วมเพศมิได้มีพฤติกรรมเหมือนกันหมดอย่างที่คนทั่วๆ ไปคิดกัน ตรงกันข้ามคนพวกนี้ มีลักษณะแตกต่างกันมากมาย ตั้งแต่แยกตัวเด่นอยู่คนเดียวจนกระทั่งอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม มั่นคงอยู่กับคู่ของตนเป็นระยะเวลานานจนกระทั่งเปลี่ยนคู่ไปเรื่อยๆ และมีความสัมพันธ์กันอย่างฉาบฉวย จนกระทั่งมีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง คินเซ่ย์เน้นว่าพฤติกรรมรักร่วมเพศอาจเกิดกับสามีภรรยา ที่มีเพศสัมพันธ์ตามปกติก็ได้

โดยทั่วไปคนมักคิดว่า ผู้ชายที่เป็นรักร่วมเพศจะต้องมีลักษณะกระเดียดมาทางผู้หญิง หรือผู้หญิงก็มีลักษณะคล้ายผู้ชาย แต่ความจริงแล้วไม่มีลักษณะภายนอกใดๆ ที่จะบ่งบอกว่า ใครนิยมเรื่องเพศแบบนี้ ความเข้าใจผิดอีกประการหนึ่งคือ คิดว่าผู้ที่นิยมรักร่วมเพศ มักจะใช้เด็กเป็นเครื่องมือ แต่ผลของการศึกษายืนยันว่าไม่ใช่เช่นนั้น ผู้ที่ใช้เด็กเป็นเครื่องมือบำบัดความใคร่มักเป็นคน ที่มีเพศสัมพันธ์กับเพศตรงกันข้ามมากกว่าจะเป็นผู้ชายที่นิยมรักร่วมเพศ

มีทฤษฎีบางทฤษฎีกล่าวว่า รักร่วมเพศเกิดจากความเจ็บปวดทางจิตใจ ความคิดอคติแบบนี้ เกิดจากการที่ผู้ป่วยซึ่งเป็นโรคจิตอาจมีอาการรักร่วมเพศร่วมด้วย หรืออาการนี้อาจทำให้เกิดปัญหา ทางจิตใจตามมา นอกจากนั้นคนพวกนี้ยังเชื่อว่าตนเองป่วยทางจิตหรือได้รับการประณามจากสังคม เช่นนั้นด้วย

ตามธรรมดาสัตว์ทุกชนิดรวมทั้งมนุษย์มักชอบกระทำสิ่งที่ทำให้ตนเองมีความสุขซ้ำๆ ซากๆ ในขณะเดียวกันก็พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ตนเจ็บปวด เช่นเดียวกับผู้ที่นิยมรักร่วมเพศ มิใช่เพราะเขาเกลียดมนุษย์ต่างเพศ การวิจัยของคินเซ่ย์แสดงให้เห็นว่าผู้ที่นิยมรักร่วมเพศ อาจแต่งงานกับบุคคลต่างเพศและมีลูกได้อย่างปกติ พร้อมๆ กับการมีความสัมพันธ์กับบุคคลเพศเดียวกัน

รักร่วมเพศมี 2 แบบ คือ รักร่วมเพศแท้ ซึ่งหมายถึงพวกที่มีการปฏิบัติทางเพศ เฉพาะกับบุคคลที่เป็นเพศเดียวกันเท่านั้น และรักสองเพศ (bisexual) ซึ่งหมายถึง พวกที่มีกิจกรรมทางเพศกับบุคคลทั้งเพศเดียวกันและเพศตรงกันข้าม

รักร่วมเพศชาย

จากการวิจัยโดยแบบสอบถามของคินเซ่ย์เกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศของผู้ชายในปี ค.ศ.1948 ซึ่งยังเป็นที่เชื่อถือกันอยู่ในปัจจุบันนี้พบว่า
1. ผู้ชายจำนวนร้อยละ 37 มีเพศสัมพันธ์กับบุคคลเพศเดียวกันแน่ชัด อย่างน้อยหนึ่งครั้ง ในช่วงระหว่างวัยรุ่นถึงวัยชรา
2. ผู้ชายจำนวนร้อยละ 10 มีเพศสัมพันธ์กับบุคคลเพศเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ เป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี ในช่วงอายุระหว่าง 16 ถึง 55 ปี
3. ผู้ชายจำนวนร้อยละ 4 มีเพศสัมพันธ์กับบุคคลเพศเดียวกันตั้งแต่วัยรุ่น เป็นต้นมา
4. ผู้ชายจำนวนร้อยละ 18 มีประสบการณ์ทางเพศกับบุคคลเพศเดียวกัน และเพศตรงกันข้าม
การปฏิบัติทางเพศของพวกรักร่วมเพศชายก็เหมือนการร่วมเพศระหว่างชายกับหญิง ต่างกันตรงที่ไม่ได้ร่วมเพศด้วยองคชาตกับช่องคลอดเท่านั้น ผู้ชายจะเริ่มต้นการกอดจูบ ลูบคลำ ใช้ปากและลิ้นหรือมือกับอวัยวะเพศของอีกฝ่ายหนึ่งและร่วมเพศทางทวารหนักหรือทางหว่างขา บางรายอาจมีความวิปริตทางเพศอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น การพอใจที่ทำให้อีกฝ่ายเจ็บหรือตัวเองเจ็บ ชอบสะสมเครื่องใช้บางอย่างของเพศตรงกันข้าม เช่น ชุดชั้นในหรือถุงน่อง ชอบแอบดูผู้อื่นร่วมเพศกัน ชอบมีเพศสัมพันธ์หมู่ หรือเพศสัมพันธ์กับเด็ก (เพศเดียวกัน) บางรายความวิปริตเหล่านี้รุนแรงมาก จนถึงเป็นคดีอาชญากรรมก็มี

รักร่วมเพศชายจะมีบทบาททางเพศ 3 อย่าง คือ เป็นฝ่ายกระทำ เป็นฝ่ายถูกกระทำ หรือแบบผสม แต่การร่วมเพศทางทวารหนักค่อนข้างจะมีลักษณะแน่นอนว่าฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายกระทำหรือฝ่ายถูกกระทำ อย่างไรก็ตามรักร่วมเพศชายส่วนใหญ่มักมีบทบาททางเพศแบบผสม คือ จะเป็นแบบใดก็ได้ ตามที่คู่ของตนแต่ละคนพอใจ และมีส่วนน้อยเท่านั้นที่มีบทบาทเป็นหญิงหรือชายแน่นอน พวกที่ชอบมีบทบาทเป็นหญิงเราเรียกว่า ควีน ลักษณะที่สังเกตได้คือ ท่าทางกระตุ้งกระติ้ง กระชดกระช้อย ซึ่งมักจะเกินกว่ากิริยาของหญิงทั่วๆ ไปด้วยซ้ำ ส่วนอีกพวกที่มีบทบาทเป็นชายเราเรียกว่า เกย์ ลักษณะที่บอกได้คือ การมีรูปร่างใหญ่ อกหนา และเป็นนักเพาะกาย รูปร่างของพวกเกย์นี้จะช่วยกระตุ้นอารมณ์เพศ ของคู่ที่ต้องการลักษณะของความเป็นชาย หรือความเป็นพ่อซึ่งเขาไม่มีโอกาสได้ใกล้ชิดในวัยเด็ก

การร่วมเพศทางทวารหนักจะไม่มีอันตราย ถ้ารู้จักกระทำอย่างถูกต้อง โดยใช้ครีมหล่อลื่น และใช้นิ้วนวดก่อนที่จะสอดอวัยวะเพศเข้าไป แต่อย่างไรก็ตาม เพศสัมพันธ์แบบนี้ยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ในบางประเทศ แม้ว่าจะกระทำระหว่างชายกับหญิงก็ตาม

ผู้ชายบางคนนิยมการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าเป็นครั้งเป็นคราว ดังนั้นเขาจึงต้องพยายาม ค้นหาบุคคลประเภทเดียวกันตามสถานเริงรมย์ต่างๆ หรือตามห้องพักผู้ชาย ในเมืองใหญ่ๆ จะมีเกย์บาร์ ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับพบปะสังสรรค์ของพวกผู้ชายเหล่านี้ แต่ก็ดูจะไม่เพียงพอสำหรับพวกรักร่วมเพศ ปัจจุบันพวกเขาจึงพยายามหาวิธีให้พวกตนได้พบปะกันอย่างสะดวก โดยการก่อตั้งสมาคม หรือศูนย์กลางของพวกตนขึ้น

รักร่วมเพศหญิง

เช่นเดียวกับรักร่วมเพศชาย การมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลเพศเดียวกันของผู้หญิง ก็ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม ในสหรัฐอเมริการะหว่างปี ค.ศ.1950 ถึง 1960 เดล มาร์ติน (Del Martin) และฟิลลิส ไลอ้อน (Phyllis Lyon) ได้พยายามก่อตั้งกลุ่มรักร่วมเพศหญิงขึ้นเพื่อสนองความต้องการ ของบุคคลเหล่านี้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ทัศนคติของสังคมดีขึ้น ในอีก 10 ปีต่อมาพวกรักร่วมเพศหญิง ก็ยังคงต้องแอบพบปะกันอย่างลับๆ ในบาร์หรือในการประชุมของพวกเดียวกัน เพราะถ้ามีผู้รู้ความจริงย่อมหมายถึง การสูญเสียงาน ถูกเพื่อนฝูงและญาติพี่น้องรังเกียจ หรือบางทีอาจถูกส่งไปโรงพยาบาลหรือถูกจับเข้าคุก สิ่งเหล่านี้ทำให้ชีวิตของพวกเขามีแต่ความเศร้า วิตกกังวล และหมดความนับถือตนเอง รวมทั้งอาจทำร้ายตนเองได้ แต่อย่างไรก็ตามในสมัยต่อมาพวกรักร่วมเพศหญิงก็ได้ยกฐานะของตนเองขึ้นในสังคม โดยได้ก่อตั้งสมาคมและองค์การต่างๆ เพื่อเรียกร้องสิทธิสตรี และทำงานร่วมกับสตรีธรรมดาต่อสู้ เพื่อความเสมอภาคของสตรีทั่วไป ซึ่งก็ประสบความสำเร็จมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันพวกรักร่วมเพศหญิง ได้รับความเห็นใจจากสังคมมากขึ้น

แม้ว่าปัจจุบันรักร่วมเพศหญิงจะเป็นที่ยอมรับของสังคมมากขึ้น และคนเหล่านี้จะกล้าเปิดเผยตัวเอง มากกว่าสมัยก่อนๆ แต่ความรู้เกี่ยวกับชีวิตของคนพวกนี้ก็ยังเป็นที่รู้จักกันน้อย มีนักวิจัยหลายคน ได้พยายามศึกษาบุคลิกภาพของพวกรักร่วมเพศหญิง เพื่อหาข้อสรุปว่าบุคลิกภาพมีส่วนเกี่ยวข้องกับ การเป็นรักร่วมเพศอย่างไร เช่น ในปี ค.ศ.1942 มาสโลว์ (Maslow) ได้ส่งแบบสอบถามเกี่ยวกับ ความรู้สึกนับถือตนเองและการมีอำนาจเหนือคนอื่นไปให้ผู้หญิง 139 คน ปรากฏว่า ผู้หญิงที่ได้คะแนนสูงสุด 10 คนต่างรายงานว่าตนชอบฝันเฟื่องเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลเพศเดียวกัน หรือมิฉะนั้นก็เคยมีประสบการณ์ทางด้านนี้มาแล้ว ส่วนผู้หญิงที่ได้คะแนนต่ำสุดไม่เคยมีประสบการณ์ หรือมีความคิดเกี่ยวกับรักร่วมเพศเลย ในปี ค.ศ.1969 ฮอปคินส์ (Hopkins) ได้ส่งแบบสอบถามเกี่ยวกับบุคลิกภาพ ไปให้ผู้หญิงที่นิยมรักร่วมเพศ 50 คนกลุ่มหนึ่ง และที่มีเพศสัมพันธ์แบบปกติอีกกลุ่มหนึ่ง พบว่า ผู้หญิงที่เป็นรักร่วมเพศส่วนใหญ่มีความเป็นตัวของตัวเอง เคร่งขรึม มีอำนาจ ชอบทำอะไรที่ผิดแปลก ไปจากธรรมดาพึ่งตัวเองได้ และสำรวมมากกว่าผู้หญิงที่มีความสัมพันธ์ทางเพศแบบปกติ การวิจัยทั้งสองนี้ ดูคล้ายจะแสดงให้เห็นบุคลิกภาพที่มีแนวโน้มจะเป็นรักร่วมเพศ แต่อย่างไรก็ตามในอีกประมาณ 10 ปีต่อมา ออบเบอร์สโตน (Oberstone) และ อะเดลแมน (Adelman) ต่างก็ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบ บุคลิกภาพของพวกรักร่วมเพศหญิงและหญิงปกติด้วยเครื่องทดสอบที่น่าเชื่อถือได้ชนิดหนึ่ง (MMPI) พบว่า บุคลิกภาพของหญิงทั้งสองกลุ่มนี้ไม่มีความแตกต่างกันในทางสถิติ

พฤติกรรมทางเพศของพวกรักร่วมเพศหญิงค่อนข้างจะแตกต่างจากพวกรักร่วมเพศชาย กล่าวคือ บทบาทเพศของแต่ละคนมักจะแน่นอนว่าเป็นชายหรือหญิง มักจะมีคู่ที่ถาวรกว่าพวกรักร่วมเพศชาย และไม่ค่อยสำส่อนทางเพศ แต่ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแยกไปหาคู่ใหม่หรือแต่งงาน อีกฝ่ายอาจเกิดความอิจฉาริษยาคู่แข่ง หรือเกิดความโกรธแค้นอย่างรุนแรงได้ วิธีปฏิบัติทางเพศมีหลายอย่างได้แก่ การใช้มือหรือปากกระตุ้นที่จุดกระสัน เช่น ที่เต้านมหรืออวัยวะเพศ มีการพยายามทำให้เหมือนการร่วมเพศระหว่างชายกับหญิง โดยการใช้นิ้วมือ องคชาตเทียม หรือนอนทับกันพร้อมกับขยับสะโพกเพื่อกระตุ้นอวัยวะเพศของกันและกัน

พฤติกรรมรักร่วมเพศอาจเกิดขึ้นชั่วคราวในระหว่างการพัฒนาทางบุคลิกภาพตามปกติของคนเรา คือ ตั้งแต่ระยะเริ่มเข้าโรงเรียนจนถึงระยะแตกหนุ่มแตกสาวและจะค่อยๆ หายไปเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น หรืออาจเกิดได้ในบางสภาวะ เช่น ในขณะที่อยู่โรงเรียนประจำ ในค่ายทหาร หรือในคุกซึ่งขาดแคลนเพศตรงกันข้าม เมื่อผ่านระยะหรือสภาวะเหล่านี้ไปแล้วเขาก็มัก จะมีพฤติกรรมทางเพศเป็นปกติ

สาเหตุของรักร่วมเพศ

มีหลายประการ

1. สาเหตุทางกรรมพันธ์ คาลแมน (Kallman) ศึกษาคู่แฝด พบว่าในคู่แฝดที่เกิดจากรังไข่ใบเดียวกัน ถ้าคนใดคนหนึ่งเป็นอีกคนจะมีโอกาสเป็นด้วยเสมอ แต่ในคู่แฝดที่เกิดจากไข่คนละใบ ถ้าคนหนึ่งเป็น อีกคนจะมีโอกสเป็นเพียงร้อยละ 11.5
นอกจากนั้นยังมีผู้อื่นอีกที่สนับสนุนว่า ลักษณะดังกล่าวจะต้องเป็นสิ่งที่ติดตัวคนๆ นั้นมาตั้งแต่เกิด หรือเป็นลักษณะประจำตัวของเขาเอง ไม่ใช่มาเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมในภายหลัง ทั้งนี้เพราะคนในสังคมส่วนใหญ่ มีความสัมพันธ์กับคนต่างเพศ และส่งเสริมพฤติกรรมเช่นนี้ด้วย

2. สาเหตุจากสิ่งแวดล้อม
2.1 สาเหตุจากครอบครัว ได้แก่การที่ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับบิดามารดา ที่เป็นเพศเดียวกันกับเด็กไม่ดีจากสาเหตุใดก็ตาม ทำให้เด็กไม่สามารถลอกเลียนลักษณะ และบทบาททางเพศที่ถูกต้องได้ หรือการที่บิดามารดาทะเลาะวิวาทกันเป็นประจำอาจทำให้เด็ก เกลียดกลัวชีวิตรักร่วมเพศที่เขาเห็นตัวอย่าง จึงหันไปหาความสุขทางเพศกับเพศเดียวกัน
การเลี้ยงดูผิดเพศเนื่องจากบิดามารดาไม่ต้องการเพศที่แท้จริงของเด็ก ก็อาจทำให้เกิดปัญหา รักร่วมเพศได้เช่นกัน การเข้าใจผิดในความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดา เช่น การที่เด็กมีโอกาสเห็น บิดามารดาร่วมเพศกันแล้วเข้าใจผิดว่าบิดากำลังทำร้ายมารดา อาจทำให้เด็กหญิงเกลียดกลัวบิดาตลอดจนผู้ชายอื่นทุกคนและหันไปหาความรัก จากเพศเดียวกันซึ่งนุ่มนวลกว่า

2.2 สาเหตุจากสังคม การกระทบกระเทือนใจอย่างรุนแรงจากความสัมพันธ์ ระหว่างวัยรุ่นชายกับหญิงอาจเป็นสาเหตุของรักร่วมเพศได้ เช่น วัยรุ่นชายที่ผิดหวัง ความรักครั้งแรกจากหญิง อาจเศร้าโศกเสียใจมากและมองเห็นชีวิตรักต่างเพศเป็นความปวดร้าวใจ เลยหันเข้าหาเพศเดียวกันเพื่อหลีกเลี่ยงความผิดหวังครั้งที่สอง หรือวัยรุ่นหญิงที่ อารมณ์อ่อนไหวง่าย ถ้าไม่ได้รับความสนใจหรือถูกเยาะเย้ยจากชายที่เธอรัก เธอก็อาจหันไปหาเพศหญิงด้วยกันแทน
มีผู้คิดถึงสาเหตุจากฮอร์โมนเช่นกัน แต่ปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานแน่นอนว่า มีความสัมพันธ์กับรักร่วมเพศ อย่างไรก็ตามเคยมีผู้พบว่า พวกรักร่วมเพศชายมีระดับฮอร์โมนเทสโตสเตอโรนในเลือดต่ำกว่าของคนปกติ และพวกรักร่วมเพศหญิงระดับฮอร์โมนเพศชายในเลือดสูงกว่าของคนปกติ
การรักษา

โดยทั่วไปคนที่เป็นโรครักร่วมเพศไม่ต้องการรักษา นอกจากจะมีปัญหาทางจิตใจ หรือปัญหาทางบุคลิกภาพร่วมด้วย การรักษาแบ่งเป็น 2 ประการ คือ
1. รักษาโรครักร่วมเพศ ได้แก่
ก. จิตวิเคราะห์ เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าใจความขัดแย้งภายในจิตไร้สำนึกของตน อันเป็นสาเหตุของการเกิดรักร่วมเพศ และสามารถรู้วิธีแก้ปัญหาด้วยตนเอง วิธีนี้ได้ผลดีพอควรในคนที่มีความตั้งใจจะรักษา
ข. พฤติกรรมบำบัด ที่รายงานว่าได้ผลคือ อะเวอร์ชั่น เทอราปี (Aversion therapy) วิธีทำคือ ให้ผู้ป่วยดูรูปภาพที่กระตุ้นอารมณ์รักร่วมเพศของตนและในขณะเดียวกันก็ให้ได้รับความเจ็บปวด หรือความรู้สึกไม่สบาย โดยการกระตุกด้วยไฟฟ้า หรือให้อาเจียนโดยการฉีดยาบางอย่าง
2. รักษาปัญหาทางอารมณ์หรือปัญหาบุคลิกภาพ โดยวิธีเดียวกับการรักษาผู้ป่วยอื่นทั่วไป

ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ 1

ผู้ป่วยเป็นรักร่วมเพศหญิงเนื่องจากประสบการณ์กระทบกระเทือนใจในวัยเด็ก และถูกเสริมแรงด้วยประสบการณ์ที่ทำให้เกิดความพอใจในความรักของเพศเดียวกันในวัยต่อมา

ผู้ป่วยเป็นสาวโสด อายุ 25 ปี จบการศึกษาจากต่างประเทศ อาชีพเป็นครูสอนภาษา มาพบแพทย์ด้วยความรู้สึกละอายว่าตนมีความวิปริตทางเพศ จึงต้องการจะรักษาให้หาย และมีชีวิตทางเพศเหมือนคนปกติ

ผู้ป่วยเริ่มมีอาการไม่ชอบเพศตรงกันข้ามเมื่ออายุ 10 ขวบ เนื่องจากในระยะนั้นฐานะทางเศรษฐกิจ ของครอบครัวไม่ดี ทำให้ความเป็นอยู่ในบ้านไม่เหมาะสม กล่าวคือ ทุกคนในครอบครัว ซึ่งได้แก่ พ่อแม่ของผู้ป่วยและลูกๆ อีก 4 คนรวมทั้งผู้ป่วยต้องนอนรวมกันในห้องๆ เดียว อาหารการกินและเครื่องใช้ต่างๆ มีไม่บริบูรณ์ ผู้ป่วยจำได้ว่า คืนหนึ่งตื่นขึ้นมากลางดึก เห็นบิดากับมารดากำลังร่วมเพศกัน ในขณะนั้นผู้ป่วยไม่เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเพศ จึงคิดว่าบิดาทำร้ายมารดา จากนั้นผู้ป่วยก็เริ่มเกลียดบิดา และเกลียดญาติพี่น้องทุกคนที่เป็นชาย พร้อมทั้งรู้สึกรักและสงสารมารดามากขึ้น มีความคิดว่า ผู้ชายชอบข่มเหงรังแกผู้หญิง

ในระยะนั้นมีเพื่อนบ้านผู้หญิงวัยไล่เลี่ยกันมาสนิทสนมเอาอกเอาใจ และซื้อของให้ผู้ป่วยเสมอๆ ทำให้ผู้ป่วยรักและรู้สึกอบอุ่นที่ได้อยู่ใกล้เพื่อนบ้านคนนี้ ผู้ป่วยสนิทสนมกับเธอมากเพราะพ่อแม่ไม่มีเวลา ใกล้ชิดกับผู้ป่วย แต่อีก 2 ปีต่อมาเพื่อนหญิงคนนี้ก็แต่งงานจึงห่างเหินกันไป

หลังจากนั้นไม่นานผู้ป่วยได้มีโอกาสรู้จักกับเพื่อนหญิงอีก 2 คน ซึ่งบังเอิญเป็นรักร่วมเพศ คนแรกสนิทสนมกับผู้ป่วยมาก ได้พยายามสัมผัสและกระตุ้นอารมณ์เพศของผู้ป่วยเสมอ แต่ผู้ป่วยไม่ร่วมมือด้วย เพราะรู้สึกละอายใจว่า เป็นสิ่งไม่ดี จนในที่สุดเมื่อผู้ป่วยต้องไปเรียนต่อต่างประเทศจึงห่างจากเพื่อนคนนี้ แต่โชคร้ายได้พบเพื่อนคนใหม่ที่ต่างประเทศซึ่งเป็นรักร่วมเพศหญิงอีกเช่นกัน เพื่อนหญิงคนนี้มีอารมณ์เพศ รุนแรงกว่าคนแรก เอาใจเก่งและสามารถให้ความสุขทางเพศกับผู้ป่วยได้อย่างมาก จนผู้ป่วยเคลิบเคลิ้ม และเต็มใจประพฤติรักร่วมเพศด้วย ผู้ป่วยมีความสัมพันธ์ทางเพศกับเพื่อนหญิงคนนี้จนกระทั่งจบการศึกษา และกลับประเทศไทย

ที่ประเทศไทยผู้ป่วยรู้สึกเหงาและว้าเหว่ แม้จะมีเพื่อนฝูงหลายคน ทั้งชายและหญิง รวมทั้งหญิงที่เป็นรักร่วมเพศด้วย ทั้งนี้เพราะผู้ป่วยไม่กล้าประพฤติรักร่วมเพศเนื่องจาก เกรงจะทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงของตนเองและวงศ์ตระกูล ทั้งยังเกรงว่าพ่อแม่พี่น้องจะรู้ และเสียใจที่ตนเป็นเช่นนี้ ปัจจุบันผู้ป่วยมีหน้าที่การงานดี ฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวมั่นคง เป็นที่รู้จักกว้างขวางในวงการธุรกิจ และเป็นที่หมายปองของเพื่อนต่างเพศ ผู้ป่วยจึงคิดจะรักษ ความผิดปกติดังกล่าว

ผู้ป่วยมารับการตรวจโดยการสัมภาษณ์และการทดสอบทางจิตวิทยา 2 ครั้ง แต่ไม่ยอมมารับการรักษา โดยพยายามโทรศัพท์มาเลื่อนนัดหลายครั้ง และในที่สุดก็เงียบหายไป แสดงถึงการขาดความตั้งใจจริงที่จะมารักษา

ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ 2

ผู้ป่วยเป็นรักร่วมเพศชาย เนื่องจากได้เรียนรู้บทบาททางเพศอย่างไม่ถูกต้อง และได้รับความกระทบกระเทือนใจจากเรื่องเพศมาตั้งแต่เด็ก

ผู้ป่วยเป็นชายโสด อายุ 19 ปี การศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 อาชีพค้าขาย มารักษาอาการรักร่วมเพศ และอาการทางจิตอย่างอื่นซึ่งเกิดร่วมด้วย ได้แก่ อารมณ์เศร้า และความคิดจะฆ่าตัวตาย

ผู้ป่วยเริ่มรู้สึกว่าตนเป็นรักร่วมเพศ เมื่อ 3 ปีก่อนมาพบแพทย์ เนื่องจากไม่มีความรู้สึกทางเพศกับผู้หญิงเลย แม้หญิงจะมีความสวยขนาดไหนก็ตาม แต่กลับมีความรู้สึกทางเพศกับผู้ชายซึ่งมีร่างกายกำยำ กล้ามเนื้อเป็นมัดๆ แทน ผู้ป่วยเข้าใจว่าอาการนี้เริ่มเกิดเมื่อผู้ป่วยถูกชายแปลกหน้าคนหนึ่งจับหน้าอก ผู้ป่วยได้พยายามแก้ไข โดยทดลองไปเที่ยวผู้หญิงโสเภณี 3 ครั้ง แต่ไม่สามารถร่วมเพศได้สำเร็จเลยสักครั้ง เนื่องจากผู้ป่วย ไม่มีความต้องการทางเพศและรังเกียจผู้หญิงประเภทนี้ด้วย ในระยะ 1 ปีนี้ ความรู้สึกรักร่วมเพศรุนแรงขึ้น จนผู้ป่วยต้องเป็นฝ่ายชวนผู้ชายซึ่งตนเข้าใจว่าเป็นรักร่วมเพศไปหาความสุขด้วยกัน โดยผู้ป่วยเป็นฝ่ายกระทำ ครั้งแรกไม่สามารถบรรลุความสุขสุดยอด แต่อีก 8 ครั้งต่อมาผู้ป่วยได้รับความสุขทุกครั้ง อย่างไรก็ดี แม้ผู้ป่วยจะได้รับความสุขทางเพศมาก แต่ทัศนคติที่มีอยู่เดิมว่าความประพฤติเช่นนี้ผิดปกติ และความรังเกียจอุจจาระ เนื่องจากต้องร่วมเพศทางทวารหนัก ทำให้ผู้ป่วยเกิดความละอายและมีอารมณ์เศร้า หลังร่วมเพศทุกครั้ง รวมทั้งมีความคิดจะฆ่าตัวตายด้วย ในที่สุดเลยพยายามเลิกติดต่อกับเพื่อนชาย ที่เป็นรักร่วมเพศ ใช้วิธีสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองแทน ทำทุกวันวันละ 2-3 ครั้ง โดยจิตนาการถึงเพศชาย

ผู้ป่วยเป็นลูกคนจีน ฐานะเดิมของครอบครัวค่อนข้างดี แต่มาเลวลงเมื่อผู้ป่วยเกิด ผู้ป่วยเป็นลูกคนที่ 4 ในจำนวน 5 คน บิดาเป็นคนดุ ขรึม พูดน้อย เอาจริงเอาจัง และทำโทษลูกบ่อยๆ จนผู้ป่วยกลัว และไม่กล้าเล่นกับบิดาเลย นอกจากนั้นบิดายังยุ่งเรื่องการค้าจนไม่มีเวลาให้ครอบครัว ทั้งยังสุขภาพไม่ดีด้วย ส่วนมารดาเป็นคนใจดี อ่อนหวาน สนิทกับลูกทุกคน แต่มาเริ่มป่วยเป็นโรคมะเร็งเมื่อผู้ป่วยอายุได้ 3 ขวบ และเจ็บออดๆ แอดๆ เรื่อยมาเมื่อผู้ป่วยอายุได้ 8 ขวบ จนถึงแก่กรรมเมื่อผู้ป่วยอายุ 10 ขวบ ตลอด 2 ปี ที่มารดาป่วยหนักผู้ป่วยต้องพยาบาลใกล้ชิดตลอดเวลา เป็นระยะที่ผู้ป่วยสนิทสนมกับมารดามาก จนถึงกับอยากตายตามไปเมื่อมารดาเสียชีวิต อีก 5 ปีต่อมาบิดาก็เสียชีวิตด้วยโรคความดันโลหิตสูง

เนื่องจากฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวไม่ดี ผู้ป่วยจึงได้รับการศึกษาเพียงชั้นประถมปีที่ 4 จากนั้นก็ช่วยพี่ๆ ค้าขายที่บ้าน ปกติผู้ป่วยมีนิสัยจู้จี้ขี้บ่นแบบผู้หญิง มีเพื่อนน้อยเพราะไม่ค่อยไว้วางใจใคร ชอบพูดคุยกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะเวลาใกล้ชิดผู้ชายแล้วมักตื่นเต้น ใจสั่น

เมื่อเล็กๆ ผู้ป่วยและน้องนอนห้องเดียวกับบิดาและมารดา ผู้ป่วยเคยได้ยินเสียงการร่วมเพศ ระหว่างบิดากับมารดาบ่อยๆ ซึ่งผู้ป่วยกลัวมาก ไม่กล้าขยับตัว กลัวบิดามารดาจะรู้ว่าตนตื่นและเห็นเหตุการณ์นั้น เมื่อยังเล็กไม่เคยได้รับเพศศึกษาเลย เคยทดลองร่วมเพศกับพี่สาวคนที่ 2 ครั้งเดียว จำได้ว่าเจ็บ เหตุการณ์เหล่านี้ฝังใจผู้ป่วยตลอดมา

ผู้ป่วยเริ่มมีความรู้สึกทางเพศเมื่ออายุ 11 ปี และมีอารมณ์เพศเมื่อใกล้ชิดเพศชาย หรือได้จับต้องอวัยวะเพศของเพื่อนชายวัยเดียวกัน เริ่มสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองเมื่ออายุ 14 ปี โดยครั้งแรกเพื่อนชายเป็นคนช่วย จินตนาการในครั้งนั้นเป็นเพศหญิง เมื่ออายุ 15 ปี เคยพยายามร่วมเพศ กับเพื่อนบ้านหญิง 3 คน ซึ่งอายุราว 10 ขวบ ก็ทำได้สำเร็จ

ก่อนเกิดอาการ ผู้ป่วยโกรธและน้อยใจอาซึ่งมาช่วยดูแลกิจการค้าหลังจากบิดาเสียชีวิตเป็นอย่างมาก เนื่องจากอาได้พยายามปลุกปล้ำพี่สาวคนที่ 2 ในครั้งนั้นผู้ป่วยมีความคิดจะฆ่าตัวตายด้วย

ผู้ป่วยรายนี้ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นรักร่วมเพศ ร่วมกับมีอารมณ์เศร้าและความคิดฆ่าตัวตาย

ศาสตราจารย์แพทย์หญิงสุวัทนา อารีพรรค

(update 28 พฤศจิกายน 2000)


[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21] resolution 800x600