มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://www.oocities.org/Tokyo/Harbor/2093/
จำสั้นๆ i.am/thaidoc



สารพันปัญหาคุณแม่ตั้งครรภ์



ตอนตั้งครรภ์แรก มีอาการตกเลือดมาก หมอบอกว่ารกเสื่อมและหลุดออกประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ลูกก็ปลอดภัยแข็งแรงดีค่ะ ตอนนี้ตั้งใจจะมีลูกอีกคน แต่กลัวเกิดปัญหาเดิมมีโอกาสมากน้อยแค่ไหนคะ ป้องกันได้อย่างไรบ้าง

วชิราภรณ์ สิริรักษาศักดิ์


ปกติรกจะลอกตัวภายหลังเด็กคลอดแต่ถ้ารกเริ่มลอกตัวก่อนเวลา จะทำให้เลือดออกและเกิดการตกเลือดก่อนคลอดได้ ถ้าช่วยคลอดไม่ทันเวลา คุณแม่จะเสียเลือดมาก และเกิดภาวะลิ่มเลือดไม่แข็งตัว ลูกจะเกิดอันตรายจากการที่มีเลือดไปเลี้ยงไม่พอ สาเหตุเกิดจากคุณแม่มีโรคความดันโลหิตสูงแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้รกเสื่อมก่อนเวลา หรือหน้าท้องถูกกระแทกอย่างแรง บางรายเกิดจากสายสะดือสั้น เมื่อลูกเคลื่อนผ่านทางคลอด สายสะดือจะดึงรั้งให้รกเกิดการลอกตัวได้ โอกาสเกิดซ้ำจึงขึ้นกับสาเหตุค่ะ แต่จะเห็นว่าทุกสาเหตุสามารถป้องกันได้ และคุณหมอที่ดูแลครรภ์จึงจะต้องเฝ้าระวังกันเป็นพิเศษ ไม่เป็นข้อห้ามถ้าต้องการจะตั้งครรภ์อีก แต่ต้องฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ และตรวจครรภ์ตามที่คุณหมอนัดทุกครั้งนะคะ

รศ.พญ.เฉลิมศรี ธนันตเศรษฐ


ตอนผ่าท้องคลอดใช้ไหมละลายทุกวันนี้มีปัญหาคือ ปวดบริเวณแผลที่ผ่าตัด เวลาปวดเหมือนเป็นลูกๆ บริเวณที่ท้องยืดหยุ่น ปวดมาก เวลานอนแล้วลุกขึ้นจะมีลักษณะเหมือนตอนคลอดใหม่ๆ (ผ่าตัดมา 4 ปีแล้ว) ไม่ทราบว่าเกิดจากอะไร ถ้าจะมีลูกอีกคนได้มั้ย และจะปวดแบบนี้หรือไม่คะ

วรลักษณ์/โคราช


เข้าใจว่าคงเป็นแผลขวาง เพราะแผลในแนวดิ่งหรือแนวตรงเหนือหัวหน่าว มักไม่ทำให้ปวดแผลในระยะยาว แม้จะทำให้เกิดอาการเจ็บเวลาหายใจในช่วงหลังผ่าตัดใหม่ๆ เพราะมีรอยแผลใกล้ช่องอกมากกว่าแผลขวาง แต่ถ้าแผลหายแล้วมักจะไม่เจ็บ เพราะบริเวณกลางลำตัวมักจะเป็นปลายเส้นเลือดและเส้นประสาท ซึ่งแตกมาจากทั้งสองข้างของกลางลำตัว
แผลขวางจะมีการตัดเส้นเลือดและเส้นประสาท ขณะผ่าตัดคุณแม่มักจะมีอาการชาเหนือแผล ในระยะแรกแต่ในระยะยาวจะมีการงอกใหม่ของเส้นเลือดทำให้มีอาการปวดแปลบๆ เวลาที่เปลี่ยนอิริยาบถหรือเกร็งผนังหน้าท้องซึ่งหมอไม่คิดว่าเกิดจากการใช้ไหมละลาย ถ้าไม่อยากจะผ่าตัดท้องคลอดซ้ำ ลองปรึกษาคุณหมอที่ดูแลครรภ์ว่าจะสามารถคลอดทางช่องคลอด ในครรภ์ต่อมาได้หรือไม่คุณหมอจะมีคำตอบให้ค่ะ

รศ.พญ.เฉลิมศรี ธนันตเศรษฐ


ตอนตั้งครรภ์จะปวดหลังและเป็นตะคริวบ่อย ไม่ทราบว่าเกิดจากอะไร ทำไมหลังคลอดก็ยังไม่หาย

นภิสา/กทม.


ในขณะตั้งครรภ์เนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกายจะบวมขึ้นตลอดจนเอ็นและเนื้อเยื่อ ที่ยึดข้อต่อของกระดูกต่างๆ ผลคือ ข้อต่อต่างๆ จะหลวมกว่าปกติในขณะตั้งครรภ์ จึงเป็นผลให้มีอาการปวดตามข้อโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นแกนรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจากการตั้งครรภ์ ดังนั้นสตรีตั้งครรภ์จึงมีแนวโน้มที่จะปวดหลังได้ง่าย
พร้อมกันนั้นการเปลี่ยนแปลงระดับของเกลือแร่ต่างๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะแคลเซียม จะมีผลทำให้เกิดอาการตะคริวได้บ่อยขึ้นจึงควรทานอาหารที่มีแคลเซียมให้มากขึ้น เช่น นมสด หรือทานยาเสริมแคลเซียมในระหว่างตั้งครรภ์ แม้ภายหลังการคลอดร่างกายมารดาต้องใช้เวลาปรับตัว คืนสู่สภาพเดิมก่อนการตั้งครรภ์ประมาณ 6 สัปดาห์ อาการดังกล่าวจึงอาจยังมีอยู่ในช่วงที่ว่านี้

นพ.ชาญวิทย์ พันธุมะผล


การอัลตราซาวนด์บ่อยๆ และเอกซเรย์ มีผลกระทบอะไรกับลูกในครรภ์บ้าง

คุณแม่คนหนึ่ง


ยังไม่มีรายงานที่ยืนยันแน่นอนว่า อัลตราซาวนด์จะมีผลต่อลูกในครรภ์ แต่ที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรทราบคือ ไม่มีความจำเป็นที่ต้องทำบ่อยในระหว่างการตั้งครรภ์ ตามมาตรฐานสากลจะทำ 2 ครั้งคือ ครั้งแรกในช่วง 3-4 เดือนแรก เพื่อตรวจกรองหาความพิการของเด็ก อีกครั้งก็ช่วง 7-8 เดือนเพื่อดูการเจริญเติบโตว่าสมวัยหรือไม่ และกลับตัวเอาหัวลงหรือยัง รกเกาะต่ำหรือไม่ปริมาณน้ำคร่ำปกติหรือไม่เพื่อเตรียมการคลอดยกเว้นกรณีที่เด็กมีปัญหา อาจต้องทำบ่อยครั้งเพื่อติดตามการประเมินในกรณีที่อาจต้องให้เด็กคลอดฉุกเฉิน ค่านิยมในการใช้อัลตราซาวนด์ทุกครั้ง จึงยังเป็นสิ่งที่ต้องทบทวน
ส่วน X-RAY ขึ้นกับว่าทำในส่วนใกล้ท้องน้อยและถ่ายหลายภาพต่อเนื่องกันหรือไม่ โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกที่เด็กกำลังสร้างอวัยวะต่างๆ มีข้อแนะนำว่าถ้าหลีกเลี่ยงได้ควรหลีกเลี่ยง ตลอดระยะเวลาการตั้งครรภ์ยกเว้นกรณีคุณหมอพิจารณาเป็นผู้สั่งทำเองค่ะ

รศ.พญ.เฉลิมเศรี ธนันตเศรษฐ


ตั้งครรภ์ได้ 5 เดือน แล้วมีตกขาวสีเหลือง คันและมีกลิ่น เป็นๆ หายๆ คุณหมอให้ยามาเหน็บ ทำอย่างไรจึงหายขาดคะ ลูกจะมีอันตรายมั้ย ตอนที่เป็นร่วมเพศได้หรือไม่คะ

รุ่งนภา ผการัตน์สกุล


ภาวะตกขาวสีเหลืองคัน และมีกลิ่น ในระหว่างตั้งครรภ์สาเหตุที่พบบ่อยได้แก่ การอักเสบจากเชื้อรา ทั้งนี้เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสรีระวิทยาภายในช่องคลอดสตรีตั้งครรภ์เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อรา ดังนั้นการที่จะให้ภาวะติดเชื้อราในช่องคลอดหายเด็ดขาดในระหว่างตั้งครภ์จึงเป็นไปได้ยาก จึงควรได้รับการรักษาเมื่อมีอาการ ส่วนลูกนั้นจะไม่ได้รับอันตรายมใดๆ จากภาวะติดเชื้อดังกล่าว
ส่วนในระหว่างที่ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อรานั้นไม่ควรที่จะมีเพศสัมพันธ์เพราะจะทำให้ช่องคลอดถลอก และปวดแสบได้ ส่วนเชื้อราในช่องคลอดอาจจะข้ามไปติดเชื้อบริเวณปลายอวัยวะเพศชายได้อีกด้วย

นท.นพ.วิวัฒน์ ชินพิลาศ


ตั้งครรภ์ได้ 4 เดือนแล้ว ปวดปัสสาวะบ่อยมาก ยิ่งตอนกลางคืนบางทีต้องลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำ 6-7 ครั้ง อยากทราบว่าจะเลิกเป็นแบบนี้เมื่อไหร่คะ มีอะไรผิดปกติรึเปล่า

พัชรพร/ลำปาง

อาการปัสสาวะบ่อยในระยะ 4 เดือนแรกของการตั้งครรภ์สามารถพบได้ เนื่องจากมดลูกที่มีขนาดโตขึ้น จากการตั้งครรภ์กดทับกระเพาะปัสสาวะ ดังนั้นกระเพาะปัสสาวะที่มีมดลูกกดทับอยู่จึงไม่สามารถเก็บปัสสาวะได้มาก เท่ากับภาวะที่ไม่ตั้งครรภ์เป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกอยากปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ ต่อเมื่อมดลูกโตมากขึ้น และไม่กดทับกระเพาะปัสสาวะ อาการดังกล่าวจึงจะหายไป
อย่างไรก็ตาม หากอาการดังกล่าวเป็นมาก และมีอาการปัสสาวะแสบขัดรวมด้วย ควรที่จะตรวจปัสสาวะดูให้แน่ใจว่า ไม่มีภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบติดเชื้อแบคทีเรีย

นท.นพ.วิวัฒน์ ชินพิลาศ


การดื่มน้ำมะพร้าวมีผลต่อการชะระล้างไขที่ติดตัวเด็กจริงหรือไม่ และควรเริ่มดื่มเมื่ออายุครรภ์เท่าไหร่

อัญชัญ คันธะวิชัย


จริงๆ ยังไม่มีการศึกษาหาข้อมูลเปรียบเทียบทางสถิติการแพทย์อย่างจริงจังครับ ดังนั้นคงตอบไม่ได้ แต่โดยหลักวิชาการแล้ว ไขจะติดที่ผิวหนังเด็กในครรภ์ทุกคนอยู่แล้ว และพบว่ายิ่งใกล้กำหนดหรือครบกำหนด ไขจะหลุดจากผิวหนังเด็ก ทำให้แรกคลอดไขจะน้อยลง ซึ่งไขมันที่ติดนี้ก็ไม่มีอันตรายใดๆ ต่อเด็ก รวมทั้งการขจัดออกก็ง่าย เช่น ใช้น้ำมันมะกอกชุบสำลีก็เช็ดล้างออกได้ง่าย ดังนั้นไม่ควรวิตกกังวลให้มากครับ

นพ.มฆวัน ธนะนันท์กูล


เคยอ่านหนังสือเจอว่าควรให้ลูกในครรภ์ได้ฟังเพลงบ้าง ไม่ทราบว่าจะใช้วิธีใดเหมาะสมที่สุดคะ แล้วเราจะสังเกตยังไงว่าขณะนี้ลูกในครรภ์อยู่ในท่าอะไร และเราควรลูบสัมผัสหน้าท้องบ้างหรือไม่ มีวิธีลูบแบบไหนที่จะทำให้ลูกมีความสุขที่สุดคะ

คุณแม่อยากรู้


สำหรับคำถามแรกการฟังเพลงของคุณแม่โดยหวังว่าลูกจะได้ยินด้วยน่าจะส่งผล2 ประการ คือ
1. เสียงเพลงจะผ่านทางหน้าท้อง ผ่านมดลูกและน้ำหล่อเด็กทำให้เด็กในครรภ์ได้ยินโดยตรง
2. เพลงที่คุณแม่ชอบและฟังแล้วมีความสุข ย่อมส่งผลให้จิตใจและร่างกายคุณแม่มีความสุข ระบบไหลเวียนโลหิตปกติดี เด็กก็จะได้ออกซิเจนและสารอาหารได้ดีครับ
เพราะฉะนั้นคุณแม่ควรมีเวลาได้นอนพักในบรรยากาศที่ไม่มีเสียงดังรบกวน และฟังเพลงที่คุณแม่ชอบ ซึ่งถ้าเป็นเพลงเย็นๆ ก็จะส่งผลดี ไม่จำเป็นต้องใช้เสียงดังมากหรือเอาลำโพงมาติดหน้าท้อง เพราะเสียงดังมากจะทำให้เด็กตกใจได้ครับ สรุปคือเสียงที่ฟังควรมีระดับปกติถือว่าเพียงพอครับ
อีกคำถามหนึ่งว่าเราจะสังเกตยังไงว่าลูกอยู่ท่าไหนนั้นง่ายที่สุดคือ ถามคุณหมอหรือพยาบาลที่ตรวจครรภ์และส่วนมากร้อยละ 90 เมื่ออายุครรภ์เกิน 8 เดือนแล้ว เด็กจะอยู่ในท่าศรีษะเป็นส่วนนำครับฉะนั้นถ้าให้เดาก็คงเดาว่าหัวเด็กอยู่ที่หน้าท้องส่วนล่างครับ
ส่วนการลูบสัมผัสหน้าท้องถ้าอยากจะทำก็ย่อมทำได้ โดยทั่วไปเวลามีการลูบสัมผัสผิวหนัง ในเวลาพักผ่อนจะเกิดความสุขของกายและจิตใจของคุณแม่ ย่อมส่งผลถึงลูกดังกล่าวข้างต้นมาแล้ว ดังนั้นไม่ว่าจะลูบบริเวณผิวหนังของแม่บริเวณไหนก็คงส่งผลให้เกิดความสุขเช่นกัน แต่ถ้าลูบบริเวณหน้าท้องแล้วใช้แรงมากอาจกระตุ้นให้มดลูกบีบตัวก่อนกำหนดได้ จึงควรลูบเบาๆ และไม่จำเป็นต้องลูบเฉพาะบริเวณศีรษะของเด็กครับ
จำไว้เสมอว่า ต้องลูบเบาๆ ถ้ามดลูกบีบตัวแข็งขึ้นหมายความว่าไม่ควรลูบอีกต่อไปครับ

นพ.มฆวัน ธนะนันท์กูล


ขอเรียนถามคำถามดังนี้
1. ถ้าท้องแรกคลอดเองธรรมชาติ (ผ่านมาแล้ว 10 ปี) ท้องที่สองเมื่อ 2 ปีก่อน ผ่าท้องคลอด ไม่ทราบว่าท้องที่ 3 จะคลอดธรรมชาติได้หรือไม่คะ
2. ถ้าท้องนี้ต้องผ่าตัดคลอดอีก ก็เท่ากับว่าผ่า 2 ครั้งแล้ว หากดิฉันต้องการมีลูกอีกคนจะมีปัญหามั้ยคะ การผ่าคลอดทำได้กี่ครั้ง กลัวว่าถ้าผ่าครั้งที่ 3 แล้วจะอันตราย

แม่ลูกสาม


1. กรณีนี้ ถ้าอายุเกิน 35 ปี ไม่ควรคลอดเองครับ ถ้าเคยมีประวัติผ่าตัดทำคลอดมาก่อน
ตามที่คุณแม่เคยคลอดบุตรปกติทางช่องคลอดเมื่อ 10 ปี ก่อนและมาผ่าท้องคลอดเมื่อ 2 ปีก่อน เราควรทราบข้อบ่งชี้ของการผ่าตัดคลอดนั้น ยกตัวอย่างเช่น รกเกาะต่ำ หรือคลอดท่าก้นหรือเด็กขาดออกซิเจน ขณะคุณแม่เจ็บท้องคลอด รวมทั้งมีอาการแทรกซ้อนขณะผ่าตัดหรือหลังคลอดอย่างไร ลักษณะแผลที่ผ่าตัดบนมดลูกแบบตรงหรือขวาง ขณะตั้งครรภ์ที่ 3 ถ้าการดำเนินการตั้งครรภ์ทั้งคุณแม่และเด็กในครรภ์อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่มีอาการแทรกซ้อนใดๆ และไม่มีข้อบ่งชี้ซ้ำกับข้อบ่งชี้ที่ต้องผ่าตัดในครรภ์ที่ 2 แผลผ่าตัดบนมดลูกแบบขวาง ขนาดของเด็กในครรภ์อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไปเด็กอยู่ในท่าศีรษะเป็นส่วนนำ สามารถปล่อยให้เจ็บท้องและพยายามคลอดเองทางช่องคลอดได้ ต้องมีความพร้อมของบุคลากรทางแพทย์ ได้แก่ สูติแพทย์ วิสัญญีแพทย์ กุมารแพทย์ พยาบาลห้องคลอด พยาบาลห้องผ่าตัด และความพร้อมของสถานที่และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ได้แก่ ห้องคลอด และห้องผ่าตัด ซึ่งพร้อมจะผ่าตัดฉุกเฉินเมื่อถูกร้องขอ ระยะเวลาจากที่ร้องขอจนเด็กคลอดไม่เกิน 30 นาที ต้องเตรียมจองเลือดไว้ ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ และมีเครื่องมือตรวจติดตามการบีบตัวของมดลูก บันทึกอัตราการเต้นของหัวใจเด็กในครรภ์ วัดความดันโลหิต ชีพจรของมารดาอย่างต่อเนื่อง อาจต้องช่วยทำคลอดศีรษะเมื่อปากมดลูกเปิดหมดและศีรษะเด็กลงต่ำ รวมทั้งระวังภาวะมดลูกแตกตกเลือดในช่องท้องทั้งขณะคลอดหรือหลังคลอด
จากสถิติ ถ้าดูแลคุณแม่อย่างดีแล้ว โอกาสคลอดเองทางช่องคลอดจะประสบความสำเร็จประมาณร้อยละ 50 ครับ

นพ.มฆวัน ธนะนันท์กูล



[ที่มา.. นิตยสารดวงใจพ่อแม่   ปีที่ 4 ฉบับที่ 49 พฤศจิกายน 2542 ]

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21] resolution 800x600