ถ้าแม่เป็นเบาหวานจะมีผลอย่างไรต่อลูกในครรภ์บ้างค่ะ
สลิน/กทม.
|
ถ้าขณะเริ่มตั้งครรภ์เบาหวานยังควบคุมได้ไม่ดี มีรายงานความพิการของลูกสูงขึ้นค่ะ
ดังนั้นว่าที่คุณแม่ที่สงสัยหรือรู้ตัวว่าเป็นเบาหวาน ควรปรึกษาคุณหมอก่อนปล่อยให้ตั้งครรภ์นะคะ
เพราะถ้าปล่อยให้ตั้งครรภ์ ในขณะตั้งครรภ์เบาหวานจะยิ่งควบคุมได้ยากขึ้น
เพราะฮอร์โมนเสริมสร้างกายเติบโตของลูกที่สร้างจากรก จะช่วยเพิ่มระดับน้ำตาลในร่างกายคุณแม่
เพื่อให้มีเพียงพอที่จะส่งผ่านไปถึงลูกส่วนการใช้ยาชนิดรับประทานเพื่อลดการดูดซึมน้ำตาล
จากลำไส้ใช้ไม่ได้ผลและอาจก่อให้เกิดความพิการของลูก ถ้าใช้ในช่วง 3 เดือนแรก
ที่ลูกกำลังสร้างอวัยวะต่างๆ
คุณแม่เบาหวานจึงต้องใช้การฉีดอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้พอเหมาะ
ตลอดระยะเวลาการตั้งครรภ์ควบคู่กับการควบคุมอาการอย่างเคร่งครัด และต้องพักผ่อนให้เพียงพอ
เพราะความเคร่งเครียดทั้งร่างกายและจิตใจจะมีผลต่อการเพิ่มระดับน้ำตาลถ้าควบคุมเบาหวานได้ไม่ดี
คุณแม่มักจะมีโรคแทรก เช่น ครรภ์เป็นพิษ กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน ลูกมักจะตัวใหญ่มาก
และมีน้ำคร่ำมากทำให้คลอดก่อนกำหนดคุณแม่เบาหวานจึงต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด
จากคุณหมอนะคะ
รศ.พญ.เฉลิมศรี ธนันตเศรษฐ
|
ถ้าตั้งครรภ์ได้ 1-2 เดือน แต่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนหัดเยอรมัน ควรต้องปฏิบัติตัวอย่างไร
ลินจง/กทม.
|
ส่วนใหญ่แล้วคุณแม่ยุคนี้จะมีภูมิต้านทานหัดเยอรมัน
เพราะได้รับการฉีดป้องกันตั้งแต่ยังเล็กๆ ดังนั้นการติดเชื้อหัดเยอรมันขณะที่ร่างกายเคยมีภูมิมาแล้ว
จะไม่มีผลต่อลูกในครรภ์ค่ะ ถ้าคุณแม่อยากให้มั่นใจจริงๆ ก็ควรเจาะเลือดตรวจดูระดับภูมิคุ้มกัน
หัดเยอรมันขณะมาฝากครรภ์ แต่ถ้าผลออกมาพบว่าภูมิคุ้มกันมีระดับต่ำมาก ก็ยังไม่ต้องกังวลใจนะคะ
เพราะอาจไม่ได้เกิดจากร่างกายไม่เคยมีภูมิมาก่อน แต่อาจเป็นเพราะภูมิต้านทานที่เคยมี
ลดระดับลงไปมากเนื่องจากไม่ได้มีการกระตุ้นจากการติดเชื้อ หมอขอแนะนำว่าหลังคลอด
ควรจะฉีดวัคซีนซ้ำอีกครั้งค่ะ จะได้มั่นใจว่าร่างกายมีภูมิคุ้มกันหัดเยอรมันอย่างแน่นอนแล้ว
รศ.พญ.เฉลิมศรี ธนันตเศรษฐ
|
ถ้าอยากทราบว่าลูกในท้องเป็นแฝดหรือไม่ มีวิธีตรวจอย่างไรบ้างคะ ถ้าไม่อยากทำอัลตราซาวนด์
นิตยา/สุรินทร์
|
ที่จริงแล้ว ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการใช้การตรวจด้วยเครื่องตรวจคลื่นความถี่สูง ที่ชื่อว่าเครื่องอัลตราซาวนด์
สูติแพทย์ก็มีวิธีการวินิจฉัยการตั้งท้องแฝดอยู่แล้ว ซึ่งเริ่มต้นจากตั้งแต่การซักประวัติการตั้งครรภ์แฝดในครอบครัว
ขนาดของท้องซึ่งจะใหญ่กว่าปกติ สังเกตว่าทารกจะดิ้นมากกว่าปกติ และดิ้นหลายตำแหน่งในเวลาเดียวกัน
ฟังเสียงหัวใจทารกได้มากกว่า 1 ตำแหน่งในเวลาเดียวกัน และมีอัตราที่แตกต่างกัน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การตรวจอัลตราซาวนด์โดยสูติแพทย์ที่มีความชำนาญในปัจจุบัน
เป็นวิธีที่มีความสะดวก แม่นยำ และราคาไม่แพงสามารถทำได้ในโรงพยาบาลทุกแห่ง
จึงทำให้การวินิจฉัยท้องแฝดในปัจจุบันส่วนใหญ่หันมาใช้การทำอัลตราซาวนด์แทนครับ
นท.นพ.วิวัฒน์ ชินพิลาศ
|
วัคซีนที่จะต้องฉีดก่อนตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง และมีระยะคุ้มกันได้แค่ไหนคะ
วิไล เต็มศุภศิริ
|
วัคซีนที่หมอแนะนำให้ฉีดในผู้หญิงก่อนการตั้งครรภ์มีดังนี้
1. วัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันซึ่งจะทำให้ทารกพิการแต่กำเนิด
ในกรณีมีการติดเชื้อนี้ในขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก
วัคซีนนี้มีระยะคุ้มกันตลอดชีวิต แต่พบว่าบางครั้งภูมิคุ้มกันลดหลังการฉีด 10 ปี จึงแนะนำให้ฉีดอีกครั้ง
(มีการฉีดวัคซีนชนิดนี้เป็นปกติในตารางการฉีดวัคซีนของเด็ก) ในช่วงก่อนแต่งงาน
หรือก่อนการตั้งครรภ์อย่างน้อย 3 เดือน
2. วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบชนิดบี ในกรณีที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันควรจะฉีดป้องกันเนื่องจากคนไทย
เป็นพาหะต่อโรคนี้ค่อนข้างมากและโรคนี้สามารถติดต่อได้ง่ายทางปาก ทางเพศสัมพันธ์
และทางบาดแผล ฉีด 1 ชุด 3 เข็มใน 6 เดือน มีภูมิคุ้มกันได้นาน 5 ปี
3. วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักส่วนใหญ่จะได้รับในขณะฝากครรภ์ จึงไม่ต้องกังวลครับ
4. วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ในกรณีที่ยังไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 6-10 สัปดาห์
มีภูมิคุ้มกันได้นาน 10 ปี ควรฉีดก่อนแต่งงานหรือก่อนการตั้งครรภ์อย่างน้อย 3 เดือน
นพ.ชาญวิทย์ พันธุมะผล
|
ท้องลูกคนที่ 2 ได้ 2 เดือนกว่าแล้วก็แท้ง ดิฉันไม่ได้ขูดมดลูก เพราะหลุดออกมาเองจนหมด
ถ้าอยากมีลูกอีกคนควรเว้นระยะห่างนานเท่าไหร่และสาเหตุการแท้งในครั้งนี้น่าจะมาจากอะไรคะ
นภาพร อัศวโชคสุวรรณ
|
ปกติแล้วถ้าคุณแม่แท้งลูกในขณะอายุครรภ์ได้ 2 เดือน และแท้งครบตามประวัติที่ให้มา
มดลูกก็จะกลับสู่สภาพเดิมหรือเรียกตามภาษาชาวบ้านว่ามดลูกเข้าอู่ ในเวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์
การสร้างเม็ดเลือดทดแทนที่เสียไปขณะแท้ง จะใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 2-3 เดือน และการปรับสภาพจิตใจ
เช่น ความเศร้าโศกเสียใจจากการสูญเสียการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่ประมาณ 3 เดือน จะกลับสู่สภาพปกติ
ดังนั้นระยะเวลาห่างประมาณ 3 เดือนจึงเหมาะสมสำหรับการตั้งครรภ์ต่อไป
สาเหตุส่วนใหญ่ของการแท้งในระยะ 3 เดือนแรกเกิดจากความผิดปกติของลูกกว่า 50 เปอร์เซ็นต์
ส่วนภาวะแท้งในท้องต่อไปโอกาสเกิดน้อยมาก เนื่องจากคุณแม่เคยตั้งครรภ์ ซึ่งได้ลูกปกติไปแล้วการแท้งบุตรที่ผิดปกตินั้น
ต้องเกิดขึ้นต่อเนื่องกันเกิน 3 ครั้ง เรียกว่า HABITUAL ABORTION กรณีนี้จำเป็นต้องค้นหาสาเหตุ
เพื่อวางแผนการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
น.พ.มฆวัน ธนะนันท์กูล
|
(จัดทำขึ้น วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2543)
|