|
ผมมีลูกชาย 2 คน ลองถามตัวเองว่า คิดหวังไว้อย่างไร ก็ตอบได้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ
อยากเห็นลูกเป็นคนที่มีความมั่นคงภายในจิตใจ มีความภาคภูมิในตัวเอง เป็นคนที่รักในการเรียนรู้
และมีความสามารถที่จะเรียนรู้ได้อย่างไม่หยุดนิ่ง กล้าคิด กล้าแก้ปัญหาด้วยสติสัมปชัญญะ
และศรัทธาในคุณธรรมความดีงาม สุดท้ายเขาควรเป็นผู้ค้นพบตัวเอง รู้ซึ้งในความถนัด
และความสามารถที่ตนมีอยู่จริง และพัฒนาศักยภาพนี้ให้เต็มสมบูรณ์ขึ้นมาได้
ความคิดหวังนี้ไม่ต่างไปจากของพ่อแม่ทุกคน พร้อมกันนั้นก็เป็นความหวัง
ที่ยังไม่สามารถหลับตาลงได้ด้วยความเบาใจ พ่อแม่ท่านอื่นก็คงเช่นกัน
|

|
มนุษย์พัฒนาได้ด้วยการศึกษาเรียนรู้ จากการศึกษาที่สร้างปัญญา จนทำให้รู้จัก
ที่จะสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีงามขึ้นมาได้ ปัญหาที่เราประสบกันอยู่ก็คือ
เรามีแต่การศึกษาที่สร้างความทุกข์ สร้างความบีบคั้นจากการแข่งขัน
การศึกษาที่คนแพ้ต้องถูกคัดออก ถูกทำลายความมั่นใจในตนเอง
การศึกษาที่บ่มเพาะให้คนเห็นแก่ตัวด้วยระบบที่มีที่ว่างเฉพาะสำหรับคนที่รู้จักเอาตัวรอดเท่านั้น
เป็นที่ว่างสำหรับคนจำนวนน้อยนิดที่มีโอกาสมากกว่า แล้วผลักไสให้คนจำนวนมาก
กลายเป็นเบี้ยล่างรองรับความไม่เป็นธรรมทั้งหลายทั้งปวง ด้วยการศึกษาประเภทที่ว่านี้
ลูกหลานของเราจึงอ่อนแอลงทุกวัน ขาดมโนธรรมกันมากขึ้นทุกที พากันติดกับดักของสังคม
บ้างก็ติดสิ่งมอมเมายั่วยุ เช่นนี้ คนเป็นพ่อแม่จึงมีแต่ความกังวลใจ
ยิ่งมองไปในอนาคต ซึ่งสังคมเราได้ดึงเอาทรัพยากรของวันข้างหน้ามาใช้ไปแล้ว
อย่างชนิดทำลายล้าง ปัดทิ้งภาระมหาศาลไปไว้ให้กับลูกหลานที่จะต้องแบกรับต่อไป
อนาคตที่คงจะเต็มไปด้วยปัญหาหนักหนาสาหัสกว่าที่เผชิญกันอยู่ในปัจจุบันหลายเท่า
ภารกิจของคนเป็นพ่อแม่จึงไม่ใช่เพียงการดิ้นรนเอาตัวรอดไปวันๆ หรือยังเสพสุขอยู่อย่างขาดสำนึก
สิ่งสำคัญที่สุดคือ การให้การตระเตรียมที่ดีพอสำหรับลูกหลาน เพื่อให้พวกเขามีความเข้มแข็ง
พร้อมที่จะรับมือกับปัญหาทุกสิ่งทุกอย่างในวันข้างหน้าได้
ดังนั้น สิ่งที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นคือการศึกษาชนิดที่สร้างปัญญา
การศึกษาที่นำไปสู่การพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งกาย ใจ สติ ปัญญา และจิตวิญญาณ
การศึกษาที่ทำให้คนทุกคนสามารถดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างเท่าเทียม มีอิสรภาพ มีคุณค่าและมีความสุข
ลำพังการศึกษาในโรงเรียนในระบบอย่างที่เป็นอยู่ แม้อาจมีการพยายามพัฒนาอยู่บ้าง
แต่คงพึ่งพาได้เป็นบางส่วนเท่านั้น คำตอบที่แท้จริงของวันนี้จึงต้องการการสร้างทางเลือก
ทางการศึกษาขึ้นใหม่ด้วยการลงมือกันเอง แม้เราไม่ได้คิดจะพาลูกหลานหนี
หรือทำตัวแปลกแยกกับสังคม แต่ก็มีความจำเป็นที่กลุ่มครอบครัวที่ใฝ่หาการศึกษา
ที่แท้จริงให้กับลูกหลานจะต้องคิดพึ่งตนเอง แนวความคิด โรงเรียนครอบครัว (Family School)
จึงเกิดขึ้น เป็นความร่วมมือร่วมใจของกลุ่มครอบครัว มีการจัดสรรแบ่งภาระหน้าที่กัน
ไปตามสถานภาพอย่างยอมรับในเงื่อนไขข้อจำกัดที่เป็นจริงของกันและกัน
เป็นโรงเรียนที่มีปรัชญาการศึกษามีอิสระในการจัดการศึกษาของตน
ขณะเดียวกันก็มีความสัมพันธ์กับการศึกษาในระบบเดิมตามความจำเป็น
บางคนอาจคุ้นเคยกับเรื่องราวของโรงเรียนบ้าน (Home School) ที่พ่อแม่จัดการศึกษา
ให้กับลูกของตนเองที่บ้านเมืองไทยเรายังมีคนที่กล้าทำน้อยมาก อาจเพราะกฎหมายของเรา
ที่ผ่านมายังไม่เปิดช่องให้ (สังคมไทยยังปิดกั้นในเรื่องเสรีภาพทางการศึกษา
ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามธรรมชาติของมนุษย์) แต่ในนานาประเทศ
จะมีการศึกษาในรูปแบบต่างๆ หลากหลาย เป็นการศึกษาทางเลือกให้กับประชาชนคู่ขนาน
ไปกับการศึกษากระแสหลัก เฉพาะในสหรัฐอเมริกามีมากกว่า 1 ล้านครอบครัวที่เลือกจัดการศึกษา
ให้ลูกของตนเองอยู่ที่บ้าน แทนที่จะส่งเข้าโรงเรียนในระบบ
โรงเรียนครอบครัว (Family School) มีรากฐานความคิดความเชื่อเช่นเดียวกับโรงเรียน
(Home School) ที่เรียกต่างกันก็เพื่อแสดงถึงลักษณะการจัดการศึกษาให้ลูกหลานร่วมกัน
ของกลุ่มครอบครัว
แทนที่จะต่างบ้านต่างจัดมีความเป็นชุมชนมากกว่าความเป็นปัจเจกชน ทำให้สามารถแบ่งปัน
ทรัพยากรและความรู้ความสามารถแก่กัน และเด็กๆ ก็มีเพื่อนมีกลุ่มสังคมมากขึ้น
ภาพในจินตนาการเบื้องต้นขณะนี้ก็คือ โรงเรียนครอบครัวจะเป็นหน่วยการศึกษาขนาดเล็ก
ในความปักใจร่วมกันของครอบครัวกัลยาณมิตรประมาณสัก 10 ครอบครัว
มีเด็กนักเรียนที่เป็นลูกหลานของตนเองประมาณ 10-20 คน สถานที่เรียนอาจใช้บ้าน ตึกแถว
หรือแม้ขออาศัยศาลาวัดเป็นอาคารเรียนประจำ แต่เวลาส่วนใหญ่จะเป็นกระบวน
การเรียนรู้ตามธรรมชาติ เป็นห้องเรียนเคลื่อนที่พากันไปยังแหล่งความรู้ พบครูที่มีอยู่เต็มแผ่นดิน
ครูประจำของโรงเรียนนี้จะมีเพียง 2-3 คน ทำหน้าที่ประสานงานและสร้างสรรค์กิจกรรม
เพื่อการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ เป็นหลัก พ่อแม่หรือเพื่อนของพ่อแม่บางท่านทำหน้าที่เป็นครูสอน
บางเรื่องบางวิชาได้ด้วย ในบางวิชาก็ไปขอเรียนร่วมกับบางโรงเรียนในระบบ
ในลักษณะที่เป็นโรงเรียนพี่โรงเรียนน้องกัน
โรงเรียนครอบครัวจะมีปรัชญาการศึกษาเพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์อย่างเป็นองค์รวมมากกว่า
เป็นการศึกษาแบบสายพานลำเลียงฝึกคนป้อนสู่ระบบการผลิตอย่างเชื่องๆ มีการจัดหลักสูตร
การเรียนการสอน การวัดผลประเมินผลเป็นของตนเอง ทั้งยังสามารถเทียบโอน
ผลการเรียนกับการศึกษาในระบบปกติได้ด้วยถ้าต้องการ
การจัดการศึกษาในแบบโรงเรียนครอบครัวตามที่กล่าวในทางกฎหมายมีโอกาส
ที่จะเป็นจริงแล้ว ด้วยคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติได้กำหนดนโยบายที่จะผลักดันเรื่องนี้
เอาไว้อย่างชัดเจน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ก็ให้ความคุ้มครอง
ในเรื่องนี้เอาไว้แล้ว พร้อมทั้งบทบัญญัติใน ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งกำลังอยู่
ในระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ก็กำหนดเรื่องนี้ไว้อย่างเป็นรูปธรรมเช่นกัน
นอกจากให้สิทธิ์พ่อแม่สามารถจัดการศึกษาให้กับลูกหลานตนเองได้ ยังให้สามารถเทียบโอน
ผลการเรียนกับการศึกษาในระบบ ทั้งรัฐจะต้องจัดงบประมาณให้การสนับสนุนแก่พ่อแม่
เท่าเทียมกับเด็กที่เข้าเรียนในโรงเรียนตามปกติด้วย
ขณะนี้มีครอบครัวกลุ่มหนึ่งได้เริ่มต้นเดินหน้าในเรื่องนี้แล้ว มีการประชุมแลกเปลี่ยน
ความคิดเห็นกันและเตรียมหลักสูตร เตรียมการในเรื่องต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
โดยหวังที่จะเห็นโรงเรียนครอบครัวแห่งแรกเกิดขึ้นอย่างช้าที่สุดภายในต้นปี 2543
พ่อแม่ที่สนใจสามารถเข้ามาร่วมได้ด้วยการติดต่อที่โทร.237-0080 ต่อ 217 (ยุทธชัย เฉิมชย)
มาเริ่มต้นด้วยกัน สร้างความใฝ่ฝันให้เป็นจริง เพื่อลูกหลานของเราเอง
ยุทธชัย เฉลิมชัย
|
|