รุจิรา สัมมะสุต
อาหารนับเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ในการครองชีวิต และมีส่วนทำให้สุขภาพของคนสมบูรณ์แข็งแรง
ถ้ารับประทานอาหารได้ถูกต้องและเพียงพอแก่ความต้องการของร่างกาย หรืออาจทำให้เป็นโรคได้
ถ้ามีการรับประทานไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสมตามความต้องการของร่างกายในแต่ละวัย ผู้สูงอายุนับว่าเป็นวัยหนึ่ง
ที่พบว่ามีปัญหาทางโภชนาการและนำไปสู่การเกิดโรค ซึ่งทำความยุ่งยากในการรักษาและครองตนให้มีความสุข
ในบั้นปลายของชีวิต
ผู้สูงอายุเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ซึ่งไม่ใช่โรคแต่เป็นไปตามวัย
และการปฏิบัติตนของแต่ละคน ความเจ็บป่วยมีผลทำให้กระบวนการแก่เกิดได้เร็วขึ้นที่เรียกกันว่า
แก่เพราะโรคหรือแก่ก่อนวัย ตรงกันข้ามคนที่มีการดูแลสุขภาพและการรับประทานให้เหมาะสมตลอดเวลา
จะลดปัญหาการเจ็บป่วยและชะลอความแก่หรือความเป็นผู้สูงอายุไว้ได้นาน มีสุขภาพที่แข็งแรง
และไม่มีโรคภัยมาเบียดเบียน
WHO ให้ความหมายของผู้สูงอายุว่า หมายถึงผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป จากการศึกษาพบว่า
จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจาก 4% ของประชาชนทั้งหมดในปี ค.ศ.1900 เป็น 11% ในปี ค.ศ.1978
และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 14% ในปี ค.ศ.2000 สำหรับประเทศไทย มีรายงานจากสำนักสถิติแห่งชาติ
ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติว่า จำนวนผู้สูงอายุมี 4.5%
ในปี ค.ศ.1970 และจะเพิ่มเป็น 7.5% ในปี ค.ศ.2000 จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากเช่นนี้
จึงจำเป็นที่จะต้องให้ความสนใจ ให้การดูแลในด้านอาหารและโภชนาการเพื่อให้บุคลากรเหล่านั้น
มีสุขภาพที่สมบูรณ์ แข็งแรง มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถทำประโยชน์ให้แก่สังคมในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่
และมีความสุขในบั้นปลายของชีวิต
ความเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อภาวะโภชนาการ ของผู้สูงอายุ
1. ความเสื่อมของสภาพร่างกาย
วัยที่เพิ่มขึ้นและความเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลายอย่างที่มีผลต่อการบริโภคอาหาร
และภาวะโภชนาการ นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงหรือการเสื่อมของประสาททั้ง 5 ซึ่งได้แก่
ตา ฝ้าฟาง มองเห็นไม่ค่อยชัด
หู เริ่มตึง ฟังไม่ค่อยได้ยิน
จมูก ได้กลิ่นที่ผิดไปจากเดิม ทำงานไม่ได้ดี ไม่ได้กลิ่นของอาหารที่จะช่วย
กระตุ้นให้เกิดความอยากรับประทานอาหาร
ฟันและลิ้น ฟันมีการสึกกร่อน หรือหักต้องใช้ฟันปลอม ทำให้เคี้ยวอาหารได้ลำบาก
ถ้าไม่มีการดูแลในด้านการประกอบอาหารให้อ่อนนุ่มก็จะเป็นสาเหตุให้รับประทานอาหารได้น้อย
ประสาทรับรสที่ลิ้นเสื่อมลงไม่ค่อยทราบถึงรสอาหาร หรือมีการรับรสเปลี่ยนแปลงไป
ความชอบรสอาหารแตกต่างไปจากเดิม เช่น บางคนเคยชอบรสเปรี้ยว กลับเปลี่ยนไม่ชอบเมื่ออายุมากขึ้น
หรือชอบรับประทานอาหารที่มีรสขมและรสหวานมากขึ้น บางคนชอบรับประทานข้าวกับผลไม้ เป็นต้น
ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ถ้าไม่ได้รับความสนใจหรือสังเกตจากผู้ใกล้ชิด
จะทำให้ไม่สามารถจัดอาหารให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ และรับประทานอาหารได้น้อยลง
นอกจากนี้ระบบทางเดินอาหารก็มีการเปลี่ยนแปลง น้ำย่อยต่างๆ น้ำดีจากตับอ่อน
รวมถึงการบีบตัวของกระเพาะและลำไส้ทำงานน้อยลง เป็นเหตุให้การย่อย ดูดซึมสารอาหารลดน้อยตามไปด้วย
การขับถ่ายน้อยลง มีอาการท้องผูก ท้องอืด มีแก๊ส แน่น จุกเสียด ทำให้ไม่สบายหลังการรับประทานอาหาร
ปัญหาความเสื่อมลงของสภาพร่างกายเช่นนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การบริโภคอาหารของผู้สูงอายุ
ซึ่งมีทั้งสภาวะโภชนาการเกินและสภาวะโภชนาการขาดได้ ถ้าลูกหลานหรือผู้ดูแลไม่เข้าใจ
ไม่ได้ให้การดูแลในด้านอาหารอย่างใกล้ชิด
2. ภาวะทางเศรษฐกิจ
เมื่ออายุสูงขึ้นการทำงานลดลง เช่น ข้าราชการที่เกษียนอายุเมื่อ 60 ปี
ถ้าไม่มีการเตรียมการหางานอดิเรกทำ ก็กลายเป็นคนว่างงาน รายได้น้อยลง
เงินบำนาญที่ได้รับอาจลดลงจากเงินเดือนที่เคยได้รับเป็นประจำ ความเปลี่ยนแปลงทางการเงิน
ทำให้เกิดความรู้สึกที่ต้องอดออม ถ้ามีเงินออมสะสมอยู่บ้างปัญหาเช่นนี้อาจไม่เกิด
จากรายได้ที่ลดลงเช่นนี้ทำให้ผู้สูงอายุต้องพิจารณาใช้เงินอย่างประหยัด
เนื่องจากกลัวรายรับไม่สมดุลกับรายจ่าย การซื้อหาอาหารมารับประทานก็พยายามหาของถูก
ประกอบกับสายตาที่มองไม่ค่อยเห็น ก็จะไม่สามารถเลือกอาหารที่มีคุณภาพดีได้อย่างถูกต้อง
การรับกลิ่นอาหารที่เก็บไว้นั้นว่าเสียแล้วหรือยัง ถ้ารับประทานอาหารที่เน่าบูด
ก็อาจเกิดปัญหาท้องเสียได้ด้วย อาหารที่ซื้อมารับประทานจึงด้อยทั้งคุณภาพและปริมาณ
จากปัญหาของเศรษฐกิจทำให้กระทบถึงภาวะโภชนาการของผู้สูงอายุดังกล่าว
3. สภาวะทางจิตใจ
ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่ทำงานในตำแหน่งหน้าที่การงานสูง มีลูกน้องหรือคนรู้จักไปมาหาสู่กันเป็นประจำ
เมื่อเกษียนจากงานที่ทำอยู่ ภาระงานและอำนาจต่างๆ ที่เคยมีอยู่หมดไป คนที่เคยไปมาหาสู่ลดจำนวนลง
ถ้าเป็นคนที่ยึดติดในลาภยศ อำนาจหน้าที่ อาจจะเกิดความหงุดหงิดเสียดาย
ไม่สามารถยอมรับความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น ประกอบกับครอบครัวในปัจจุบัน
ไม่ได้อยู่รวมเป็นครอบครัวใหญ่เช่นในอดีต ที่มีพ่อ แม่ ลูกหลานหลายๆ คนอยู่ร่วมกัน
การแยกครอบครัวทำให้ผู้สูงอายุบางคนต้องอยู่ลำพัง ต้องช่วยตนเองทุกด้านรวมถึงการกินอยู่ด้วย
หรือถ้าอยู่ร่วมกันก็อาจจะถูกทอดทิ้งในตอนกลางวัน เพราะต่างก็ออกไปทำงานนอกบ้าน
การถูกทอดทิ้งไม่มีใครดูแลมีผลถึงสภาพของจิตใจและการยอมรับอาหารของผู้สูงอายุได้
และเป็นสาเหตุของการเกิดปัญหาทางโภชนาการในผู้สูงอายุได้
4. ภาวะโภชนาการเดิมที่เป็นอยู่และบริโภคนิสัย
ก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุนั้น พบว่ามีภาวะโภชนาการที่ไม่ดีมาก่อน เช่น เป็นโรคอ้วน มีไขมันสูงในเลือด
ความดันโลหิตสูง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะมีผลต่อเนื่องถึงในวัยสูงอายุได้ด้วย
ถ้าได้มีการดูแลรักษามาอย่างต่อเนื่อง ก็จะสามารถบรรเทาหรือป้องกันภาวะแทรกซ้อน
หรือลดความรุนแรงของโรคได้ระดับหนึ่ง แต่ก็พบว่ามักจะไม่ได้รับความสนใจหรือได้รับการรักษา
ดังนั้นเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ อาการต่างๆ ของโรคจะรุนแรงมากขึ้น มีโรคแทรกได้ง่าย
การรักษาต้องใช้เวลานาน เพราะร่างกายอยู่ในภาวะที่อ่อนแอมากแล้ว
ร่างกายก็มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมตลอดเวลา ดังนั้นปัญหาทางโภชนาการ
สำหรับวัยสูงอายุจึงขึ้นอยู่กับภาวะโภชนาการเดิมที่เป็นอยู่ด้วย
นอกจากนี้ บริโภคนิสัยของผู้สูงอายุแต่ละคนที่เป็นอยู่ ก็เป็นตัวกำหนดให้ทราบถึง
ภาวะโภชนาการของผู้สูงอายุคนนั้นในอนาคตได้อีกทางหนึ่ง เช่น ชอบอาหารที่มีไขมันสูง
ชอบอาหารที่มีรสหวาน หรือรับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด สิ่งเหล่านี้นับเป็นปัจจัยเสี่ยง
ต่อการเป็นโรคหลายอย่างและถ้าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ
ซึ่งมักจะเป็นผู้ยึดมั่น ถือมั่น ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรง่ายๆ ดังนั้น โอกาสที่จะเกิดปัญหา
ทางโภชนาการจึงเกิดขึ้นได้ในอนาคต
5. ความรู้ทางด้านโภชนาการ
ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่ให้ความสนใจทางด้านโภชนาการและหาความรู้เพิ่ม
ทางด้านโภชนาการเมื่อมีอายุมากขึ้น แหล่งความรู้มีมากมายทั้งที่ถูกต้องและที่ไม่ถูกต้อง
ถ้าหากได้รับความรู้ที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะคำบอกเล่าที่ไม่สามารถหาคำตอบได้
หรือผลการทดลองทางการแพทย์มาสนับสนุน อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหา
ทางโภชนาการได้ในระยะยาว ในขณะเดียวกัน ถ้าผู้สูงอายุเปิดใจกว้างรับฟังความคิดเห็น
ยอมรับในข่าวสารต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน และนำมาสู่การปฏิบัติที่ถูกต้อง
ย่อมจะเป็นทางหนึ่งในการช่วยรักษาสุขภาพให้แข็งแรงได้
จากปัญหาที่กล่าวมาเป็นสาเหตุทำให้กระทบถึงภาวะโภชนาการและสุขภาพของผู้สูงอายุ
ซึ่งนำมาสู่ความเจ็บป่วย และไม่สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขในบั้นปลายชีวิตได้
โรคที่พบในผู้สูงอายุ
โรคที่พบในผู้สูงอายุนั้น ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดมาตั้งแต่ในวัยหนุ่มสาว
แต่ไม่ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องจึงทำให้เกิดอาการรุนแรงมากขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ
บางโรคเกิดเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของการบริโภคอาหาร ภายหลังจากเกษียนอายุราชการ
โรคต่างๆที่เกี่ยวข้องกับโภชนาการในอดีตหรือปัจจุบันได้แก่
อ้วนนับเป็นโรคอย่างหนึ่ง ที่เกิดจากการสะสมของพลังงานที่ได้จากอาหารที่รับประทาน
เกินความต้องการของร่างกาย และมีการเก็บสะสมไว้ในรูปของไขมันในระยะนานเข้า
ก็จะปรากฏให้เห็นด้วยการมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมทีละน้อยๆ อายุที่เพิ่มขึ้น
มีโอกาสมีน้ำหนักตัวเพิ่มอยู่แล้วเพราะการใช้แรงงานน้อยลง การรับประทานอาหารยังคงเดิม
ดังนั้น ถ้าไม่ควบคุมการรับประทานอาหาร โอกาสอ้วนย่อมมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
โรคอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงนำไปสู่การเป็นโรคอื่นๆ อีกหลายโรค เช่นโรคเบาหวาน
โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคเกี่ยวกับข้อ ฯลฯ คนทั่วๆ ไปจะมีการเปลี่ยนแปลง
น้ำหนักตัวและสังเกตเห็นว่าเริ่มอ้วนเมื่ออายุประมาณ 35-40 ปี ถ้าให้ความสนใจต่อสุขภาพ
ระวังน้ำหนักตัวไม่ให้เกินมาตรฐานตั้งแต่ก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ ปัญหาของโรคต่างๆที่จะเกิด
ย่อมน้อยลงได้ หรือเมื่อมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานแล้วต้องพยายามควบคุมอาหาร
จัดอาหารที่ให้คุณค่าอาหารสูง แต่พลังงานต่ำ เพื่อช่วยลดน้ำหนักลง
ก็เป็นการช่วยลดปัญหาสุขภาพได้อีกทางหนึ่ง
บางครั้งเราเรียกว่า โรคซีด โรคโลหิตจางเกิดได้เนื่องจากการรับประทานอาหาร
ที่ขาดธาตุเหล็กมาในระยะเวลานาน หรืออาจเกิดจากการสูญเสียเลือดในปริมาณที่ไม่มากนัก
จนไม่สามารถตรวจพบ แต่เกิดเรื้อรังมาเป็นเวลานาน เช่น เลือดออกในลำไส้หรือกระเพาะอาหาร
เป็นต้น โรคนี้ทำให้ผู้สูงอายุซีด ร่างกายอ่อนเพลีย ความต้านทานโรคน้อยลง ทำให้เจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น
การจัดอาหารที่มีเหล็กสูง เช่น เนื้อสัตว์ต่างๆ ให้รับประทานเป็นประจำ เพื่อให้ได้รับเหล็กที่เพียงพอ
สถิติของการเกิดโรคนี้มากที่สุดในช่วงอายุ 45 ปี ความรุนแรงจะมากขึ้น
ถ้าไม่ได้รับการรักษาและดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในการรับประทานอาหารให้ถูกต้อง
เพราะสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรค คือ การรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูง
เกินความต้องการของร่างกาย และการเลือกรับประทานที่ไม่เหมาะสม เช่น อาหารที่มีไขมันสูง
โคเลสเตอรอลสูง รวมถึงการสูบบุหรี่ และการขาดการออกกำลังกาย การป้องกันโรคนี้
ควรเริ่มเมื่อก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น หมูสามชั้น หนังเป็ด
หนังไก่ เครื่องในสัตว์ กะทิ เป็นต้น งดการสูบบุหรี่และมีการออกกำลังกายเป็นประจำ
ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคนี้เป็นผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่ามาตรฐาน ในช่วงอายุเกิน 50 ปี
ผู้สูงอายุที่ชอบรับประทานน้ำตาลมากๆ พบว่า ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้น
มากกว่าคนหนุ่ม-สาว และลดระดับคืนสู่ปกติได้ช้า โรคเบาหวานพบในผู้สูงอายุ
ที่มีการเกิดโรคนี้ในครอบครัวการรับประทานอาหารมากและอ้วน การเป็นโรคนี้จะนำไปสู่
การเป็นโรคหลอดเลือดแข็งและอุดตันได้ง่าย และเป็นสาเหตุการตายของผู้สูงอายุ
เป็นโรคเบาหวานด้วย ดังนั้น การควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ให้อ้วน
เป็นทางหนึ่งที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคได้
ผู้สูงอายุมีการเสียสมดุลของฮอร์โมนทำให้การเผาผลาญอาหารในร่างกายผิดปกติ การดูดซึมสารอาหาร
และแร่ธาตุโดยเฉพาะแคลเซียมเปลี่ยนแปลง นำไปสู่การเกิดโรคกระดูกพรุน ซึ่งเป็นปัญหาหนึ่งที่พบมากในผู้สูงอายุ
ที่ทำให้กระดูกเปราะและหักได้ง่าย
เกิดมากในผู้หญิงอายุเกิน 50 ปี และผู้ชายอายุเกิน 60 ปี การอักเสบต่างๆ ของข้อ
เกิดจากการมีน้ำหนักตัวมากเกินไป ทำให้เป็นอุปสรรคในการเคลื่อนไหวและการช่วยตัวเอง
ของผู้สูงอายุ การจัดอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม เนื้อสัตว์ต่างๆ ถั่วเมล็ดแห้งและผลไม้
ให้ผู้สูงอายุรับประทานเป็นประจำเพื่อช่วยบำรุงความแข็งแรงให้แก่กระดูก
จากตัวอย่างของโรคที่พบในผู้สูงอายุที่กล่าวมา คงทำให้เห็นความสำคัญของโภชนาการ
ที่มีผลกระทบต่อผู้สูงอายุ การให้การดูแลในเรื่องอาหารการกิน เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับสารอาหาร
ในปริมาณที่มากพอต่อความต้องการของร่างกาย นอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรง ยังช่วยชะลอการเกิดโรค
หรือบรรเทาความรุนแรงของโรคได้
|