มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://www.oocities.org/Tokyo/Harbor/2093/
จำสั้นๆ i.am/thaidoc



เกลื้อนและวิธีป้องกัน


เมื่อเห็นผื่นขาวๆ ตามตัว เช่น อก หลัง หลายคนพอจะทราบว่าคงจะเป็นเกลื้อน แต่ก็ยังไม่มั่นใจเท่าไร ถ้าเป็นหญิงสาวก็ค่อนข้างจะเดือดร้อน เพราะกลัวหมดสวยขาดความมั่นใจก็มาพบแพทย์ จากคนไข้ของหมอที่เป็นเกลื้อนพบว่าหญิงมารับการตรวจและรักษามากกว่าชาย แต่ปัญหาที่ถูกถามบ่อยๆ คือ เมื่อใดจะหาย และทำไมเป็นซ้ำบ่อยๆ และจากที่สังเกตพบว่า นักกีฬามักเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป

เรามาติดตามดูว่าทำไมนักกีฬาจึงเป็นโรคเกลื้อนบ่อยกว่าคนอื่นๆ เมื่อทำการออกกำลังกายไม่ว่าจะเป็น ฟุตบอล แบดมินตัน วิ่ง ยกน้ำหนัก ถีบจักรยาน หรืออื่นๆ ต้องใช้เวลาทำนานพอควรจึงเกิดความสนุก และได้ผลในการทำให้สุขภาพแข็งแรง เมื่อออกกำลังกายนานๆ สิ่งที่เกิดตามมาคือ เหงื่อออกมากทั่วตัว และออกมากบริเวณแผ่นหลัง สีข้าง อก เสื้อผ้าที่สวมใส่จะเปียกโชกไปด้วยเหงื่อ และผู้ที่ออกกำลังกาย หรือนักกีฬาก็ยังคงออกกำลังกายต่อไปอีก จึงเป็นการสวมใส่เสื้อผ้าที่ชุ่มไปด้วยเหงื่ออยู่เป็นชั่วโมง เมื่อผิวเปียกเหงื่อ จึงเกิดความอับชื้นประกอบกับความร้อนที่ออกมาจากร่างกาย ซึ่งเหมาะต่อการเจริญเติบโต ของเชื้อเกลื้อน เมื่อออกกำลังกายทุกวันเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้จะเกิดซ้ำ เชื้อเกลื้อนก็เจริญเติบโตได้ดี มีผลทำให้ผิวเป็นจุดด่างขาวๆ เป็นหย่อมๆ พบมากที่หลัง อก และสีข้าง คนโบราณเป็นคนช่างเปรียบเทียบ จึงเอาสีขาวๆ บนผิวไปเปรียบกับสีของดอกหมาก และเรียกเกลื้อนว่า เกลื้อนดอกหมาก เนื่องจากมีสีขาวๆ คล้ายๆ กัน

นอกจากเกลื้อนดอกหมากที่มีสีขาวตามตัวแล้ว ยังมีเกลื้อนอีกสองสีที่พบในคนทั่วๆ ไป คือ เกลื้อนสีแดง และเกลื้อนสีดำ

เกลื้อนสีแดง มีลักษณะคือ ผิวแดงเป็นหย่อมๆ ขนาดครึ่งถึงหนึ่งเซนติเมตร ผิวแดงจะปกคลุมด้วยสะเก็ดบางๆ มักพบที่บริเวณเนื้อย่นๆ เช่น ขาหนีบ รักแร้ รอบคอ พบในคนที่รักษาสุขภาพดี แต่ผิวมีเหงื่อซึ่งประกอบด้วยสารบางชนิดที่เหมาะ ในการเป็นอาหารของเชื้อเกลื้อน

เกลื้อนสีดำ เป็นผื่นราบสีดำคล้ำ คลุมด้วยสะเก็ดบางๆ ไม่มีอาการคัน ขนาดตั้งแต่ 1-2 mm จนกว้างหลายเซนติเมตร พบบ่อยที่เอว ขาหนีบ รักแร้ ต้นคอ พบในคนที่มีฐานะดีและสุขภาพดี

อย่างไรก็ตาม เกลื้อนทั้งสามสีเกิดจากเชื้อราตัวเดียวกัน คือ MALASSESIA FURFUR ซึ่งตรวจดูได้โดยขูดผิวเบาๆ ให้ได้สะเก็ดแล้วหยดน้ำยา 30% โปแตสเซียมไฮดรอกไซด์ โดยทำบนแผ่น slide ส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ จะพบเชื้อราเป็นไมซีเลียมสั้นๆ ปะปนอยู่กับสปอร์กลม อยู่เป็นกระจุกคล้ายพวงองุ่นเป็นแพ พิสูจน์แน่นอนว่าเป็นเกลื้อน

เป็นเกลื้อนแล้วจะหายหรือไม่ เกลื้อนทุกชนิดเกิดจากเชื้อราดังได้กล่าวไว้แล้ว ดังนั้นจึงต้องรักษาให้หายได้แน่นอน แต่การกลับเป็นซ้ำนั้นเป็นได้เสมอ เหมือนกับเป็นไข้หวัด ซึ่งหวัดหายแล้วก็กลับเป็นได้อีก นอกจากจะรักษาสุขภาพผิวหนังให้แข็งแรง ทำความสะอาดบ่อยๆ ต้มเสื้อผ้าด้วยน้ำร้อนหรือตากแดดร้อนๆ หรือรีดผ้าที่สงสัยติดเชื้อจากผิวหนังที่เป็นเกลื้อน โดยใช้ความร้อนสูงพอ เพื่อฆ่าเชื้อเกลื้อนที่ติดอยู่บนผ้านั้นๆ เกลื้อนที่ก่อปัญหาให้คนทั่วๆ ไปคือ เกลื้อนสีขาว เมื่อเป็นแล้วได้รับยาทาและยารับประทานฆ่าเชื้อเกลื้อนไปหมดแล้ว อาการสีขาวของผิวหนัง ก็ยังไม่หายหมด ต้องรออีก 2-4 เดือน เซลล์สร้างสีจึงเริ่มทำการสร้างผิวหนังได้สำเร็จ เป็นสีผิวดังเดิมของคนๆ นั้น ผู้ป่วยจึงเริ่มรู้สึกว่าหายเป็นปกติ ซึ่งใช้เวลานานมาก

วิธีป้องกันการเป็นเกลื้อน ควรกระทำสิ่งต่อไปนี้
1. ห้องทำงาน ต้องมีอากาศถ่ายเทดี ไม่อับชื้น เปิดพัดลมให้อากาศถ่ายเทเสมอๆ เปิดม่านออกให้ถูกแสงแดดบ้างในบริเวณห้อง
2. ผู้ที่ทำงานในที่โล่งแจ้ง ร้อนและเหงื่อออกมาก เมื่อมีโอกาสพักเที่ยงน่าจะถอดเสื้อออกผึ่งให้เสื้อแห้ง จึงใส่ซ้ำอีกในภาคบ่าย แต่ถ้าเป็นไปได้ควรเปลี่ยนเสื้ออีกตัวในภาคบ่าย อย่าใส่เสื้อหมักเหงื่อเปียกตลอดทั้งวัน เพราะเชื้อเกลื้อนชอบความชื้นแบบนั้น เสื้อผ้าที่เปียกเหงื่อ เมื่อซักควรตากแดดร้อนจัด เพื่อเป็นการทำลายเชื้อโรคด้วย
3. เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน อย่าใช้ปะปนกับคนที่เป็นเกลื้อนหรือเคยเป็นเกลื้อมาก่อน เพราะอาจติดต่อมายังเราได้ จริงๆ แล้วเชื้อเกลื้อนจะตายเมื่อต้มเดือด หรืออบน้ำยาฟอร์มาลีน ดังนั้นเสื้อผ้าที่บุคคลเป็นเกลื้อนสวมใส่ เมื่อตนเองหายเป็นเกลื้อนแล้ว ควรนำไปต้ม หรือรีดด้วยความร้อนจัดเพื่อฆ่าเชื้อจะได้ไม่เป็นซ้ำ ส่วนการอบผ้าด้วยฟอร์มาลีนสัก 24-48 ชั่วโมง จะฆ่าเชื้อที่หลงเหลืออยู่ในห้อง พนักเก้าอี้ โต๊ะทำงานได้เป็นอย่างดี
การรักษา ปัจจุบันการรักษาได้ผลดียิ่ง มีทั้งยารับประทานในรายที่เป็นมาก หรือใช้ยาทาเฉพาะในรายที่เป็นน้อย ยารับประทาน ได้แก่กลุ่ม Ketoconazole ส่วนยาทามีหลายอย่างเช่น น้ำยาล้างรูปไฮโปซัลเฟต Propylene glecol Canesten Daktarin Ketoconazole ครีม แชมพูเซลซั่น แชมพูไนโซรอล ล้วนแต่ได้ผลดีในการรักษาโดยการทาทั้งสิ้น

พญ.เยาวเรศ นาคแจ้ง

(update 8 ธันวาคม 2000)


[ที่มา..หนังสือ นิตยสารใกล้หมอปีที่ 24 ฉบับที่ 10 ตุลาคม 2543]

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21] resolution 800x600