กฎหมายพระสงฆ์ของไทย

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตรากฎหมายคณะสงฆ์ที่เรียกว่า กฎพระสงฆ์ ขึ้นในระหว่าง ปี พ.ศ. 2325-2344 รวม 10 ฉบับ ดังที่ปรากฎอยู่ในกฎหมายตราสามดวง แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นับเป็นกฎหมายคณะสงฆ์ชุดแรก ที่ปรากฎหลักฐานอยู่ถึงปัจจุบัน
ในการตรากฎหมายคณะสงฆ์โดยส่วนรวม ทรงมีพระราชประสงค์ที่สำคัญคือ เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์และสามเณร ประพฤติปฏิบัติตนเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ให้พระราชาคณะ เจ้าอธิการ และเจ้าหน้าที่สังฆการี ทำการกำกับดูแลและลงโทษผู้ที่ประพฤติผิดพระธรรมวินัย ตามสมควรแก่โทษหนักเบา ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ รวมทั้งที่ทรงตราไว้ในกฎพระสงฆ์นี้ด้วย นอกจากนั้น ในแต่ละฉบับจะทรงปรารภเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะกรณี ๆ ไป อันเป็นสาเหตุให้ต้องตรากฎพระสงฆ์ฉบับนั้น ๆ ขึ้นมา
การที่มีกฎพระสงฆ์ขึ้นมานี้ สะท้อนให้เห็นเหตุการณ์ในครั้งนั้น โดยเริ่มจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ. 2310 เกิดสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด ประชาชนพลเมืองเกิดความระส่ำระส่ายไปทั่ว ภิกษุสามเณรเป็นจำนวนมาก ประพฤติปฏิบัติย่อหย่อนในพระธรรมวินัย บรรดาพระราชาคณะ พระอุปัชฌาย์อาจารย์ และเจ้าอาวาสปล่อยปละละเลย ไม่ปฏิบัติตามภาระหน้าที่ การคณะสงฆ์จึงตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม ไม่เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของประชาชนเช่นที่เคยเป็นมาในสมัยก่อน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ในฐานะที่เป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก จึงทรงเร่งรับฟื้นฟูสถานภาพของพระพุทธศาสนาไปพร้อม ๆ กันกับที่ทรงเร่งรีบฟื้นฟูสภาพของบ้านเมือง ให้พ้นจากจุดวิกฤติโดยเร็วที่สุด
กฎพระสงฆ์ที่ทรงตราขึ้นมามีอยู่ 10 ฉบับ เนื้อหาสาระของแต่ละฉบับ จะประกอบด้วยข้อความที่ทรงปรารภถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละเรื่อง ว่าผิดพระธรรมวินัยข้อใด ทำให้พระศาสนาเสื่อมเสียอย่างไร แล้วทรงมีพระบรมราชโองการ ห้ามมิให้ทำเช่นนั้นอีกต่อไป พร้อมทั้งกำหนดโทษทางบ้านเมือง เพิ่มจากโทษทางพระธรรมวินัยอีกส่วนหนึ่ง สาระสำคัญของกฎพระสงฆ์แต่ละฉบับ สรุปได้ดังนี้

กฎพระสงฆ์ฉบับที่ 1

ทรงตราไว้เมื่อปี พ.ศ. 2325 โดยทรงปรารภว่า มีอาณาประชาราษฎร์บางพวก นิยมจัดให้มีเทศน์มหาชาติเพื่อความบันเทิง จึงมักนิมนต์แต่พระนักเทศน์ที่เทศน์แบบตลกคะนอง เป็นการเล่นหัวซึ่งผิดพระธรรมวินัย ผู้ฟังก็ไม่ได้รับอานิสงฆ์อะไรจากการฟังเทศน์นั้น จึงมีพระบรมราชโองการ ห้ามมิให้เทศน์และฟังเทศน์เป็นกาพย์กลอน และกล่าวถ้อยคำตลกคะนอง ภิกษุสามเณรรูปใดฝ่าฝืน ให้นำตัวมาลงโทษพร้อมกับญาติโยมของภิกษุสามเณรรูปนั้น

กฎพระสงฆ์ฉบับที่ 2
ทรงตราไว้เมื่อปี พ.ศ. 2326 โดยทรงปรารภว่า ขณะนั้นพระภิกษุสงฆ์ไม่ได้รักษาพระปาติโมกข์ ตามเยี่ยงอย่างพระอริยสาวก เที่ยวคบหากับฆราวาส ด้วยหวังกามคุณ 5 (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) มิได้เห็นแก่พระศาสนา

กฎพระสงฆ์ฉบับที่ 3
ทรงตราไว้เมื่อปี พ.ศ. 2326  โดยทรงปรารภว่า พระภิกษุสงฆ์ในขณะนั้นละเมิดพระวินัยบัญญัติ คือ ให้อุปสมบทแก่ศิษย์แล้วปล่อยปละละเลย ไม่ได้ให้ศิษย์ ถือนิสัยอยู่ในหมู่คณะของตนก่อน กลับปล่อยให้เที่ยวไปทำการใด ๆ ตามอำเภอใจ จนเกิดมีการซ่องสุมกันทำมารยาว่า รักษาศีลภาวนาให้ผู้คนเลื่อมใสศรัทธา ตั้งตนเป็นผู้วิเศษ สำแดงวิชาความรู้อวดอิทธิฤทธิ์เป็นอุตริมนุสสธรรม โกหกหลอกลวงประชาชน เมื่อได้สมัครพรรคพวกมาก ก็คิดจะชิงราชสมบัติตั้งแต่ยังอยู่ในสมณเพศ
จึงมีพระบรมราชโองการสั่งว่า ต่อไปให้พระราชาคณะแต่งตั้งพระภิกษุ ทั้งในกรุงและหัวเมืองเป็นเจ้าอธิการ ครองอารามละรูป ให้มีตราประจำตำแหน่ง เขียนชื่ออารามที่ครอง ถ้าแขวงใดเมืองใดมีพระภิกษุมาก ให้แต่ละอารามมีพระอันดับได้  9-10 รูป  ถ้ามีพระภิกษุน้อยมีพระอันดับได้ 4-5 รูปขึ้นไป  ถ้าภิกษุสามเณรรูปใดประสงค์จะย้ายจากหัวเมืองเข้ามาในกรุง หรือที่อยู่ในกรุงจะย้ายออกไปหัวเมือง เพื่อศึกษาคันถธุระ วิปัสสนาธุระ หรือปฏิบัติศาสนกิจ ก็ให้เจ้าอธิการออกหนังสือสำคัญ เพื่อนำติดตัวไปโดยเขียน ชื่อตัว ฉายา อายุพรรษา และชื่ออุปัชฌาย์อาจารย์ แล้วประทับตราตำแหน่งกำกับไว้ในหนังสือสำคัญนั้น  ผู้ใดไม่มีหนังสือสำคัญ ห้ามมิให้เจ้าอธิการทุกอารามรับเข้าอยู่ในอารามของตน ให้พระราชาคณะ เจ้าหมู่ เจ้าคณะ เจ้าอธิการ ตลอดจนกรมการเมืองตรวจตราดูแล อย่าให้หลอกลวงคิดประทุษร้ายต่อแผ่นดิน เช่นการที่เกิดขึ้นครั้งนี้ หากพระราชาคณะ เจ้าหมู่ เจ้าคณะ เจ้าอธิการ และกรมการเมืองละเว้นหน้าที่ ถือว่ามีโทษเป็นกบฎร่วมกับพวกโกหกหลอกลวงเหล่านั้นด้วย

กฎพระสงฆ์ฉบับที่ 4 
ทรงตราไว้เมื่อปี พ.ศ. 2326  โดยทรงปรารภว่า
มีพระภิกษุสามเณรบางรูป เป็นพวกโลเล ไม่ศึกษาเล่าเรียนคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ
จึงมีพระบรมราชโองการสั่งว่า ต่อไปให้พระราชาคณะ เจ้าอธิการ ประพฤติปฏิบัติตนตามพระธรรมวินัย ให้เป็นเยี่ยงอย่างที่ดีแก่ศิษย์ ที่อยู่ในสำนัก แนะนำตักเตือนศิษย์ให้ศึกษาเล่าเรียนคันถธุระ หรือวิปัสสนาธุระ แล้วทำบัญชีแสดงจำนวนภิกษุสามเณรผู้ศึกษาคันถธุระและวิปัสสนาธุระ ส่งให้กรมสังฆการี นำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาเพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศล หากภิกษุสามเณรรูปใดกักขฬะ  หยาบช้า  สอนยาก  อุปัชฌาย์อาจารย์ ว่ากล่าวไม่ฟัง สั่งสอนหลายครั้งแล้วไม่ปฎิบัติตาม ให้จับสึกเสีย อย่าให้อยู่ในหมู่คณะ ถ้าผู้ใดไม่ปฎิบัติตามกฎพระสงฆ์นี้ ให้เอาญาติโยมมาลงโทษตามความหนักเบา

        กฎพระสงฆ์ฉบับที่ 5 
ทรงตราไว้เมื่อปี พ.ศ. 2326  โดยทรงปรารภว่า
ภิกษุบางรูปต้องอาบัติปาราชิกข้อเสพเมถุน บางรูปต้องอาบัติปาราชิก ข้ออทินนาทานา
จึงมีพระบรมราชโองการสั่งว่า  ต่อไปให้ภิกษุที่ต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่ง แจ้งให้สงฆ์ทราบภายใน 15 วัน  ถ้าปกปิดไว้ และยังถือว่าตนเป็นภิกษุ เข้าร่วมสังฆกรรมด้วยสงฆ์ทั้งปวงตามตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้ว  เมื่อสงฆ์พิจารณาตัดสินว่า ต้องอาบัติปาราชิกจริง ให้นำตัวมาลงโทษถึงประหารชีวิต และให้ริบราชบาทจับเฆี่ยนตีโบยญาติโยมของภิกษุนั้นด้วย

กฎพระสงฆ์ฉบับที่ 6 
ทรงตราไว้เมื่อปี พ.ศ. 2326  โดยทรงปรารภว่า
ภิกษุสามเณรในขณะนั้น ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย หาเลี้ยงชีพโดยการทำงานรับใช้ตามความพอใจของฆราวาส เพื่อหวังลาภสักการะ ฆราวาสก็ปราศจากปัญญา จึงให้ทานแก่ภิกษุสามเณรลามกในพระศาสนา  ไม่รู้ว่าการให้ทานเช่นนั้น มีผลน้อย
จึงมีพระบรมราชโองการสั่งว่า  ต่อไปห้ามมิให้ภิกษุสามเณรสงเคราะห์ฆราวาส ด้วยการให้ผลไม้ ดอกไม้ ใบไม้ เป็นต้น แล้วทำการเรี่ยไรบอกบุญแก่ผู้ไม่ใช่ญาติ  ห้ามมิให้เป็นหมอนวด  หมอยา  หมอดู  ห้ามมิให้เป็นฑูตนำข่าวสารของฆราวาส และห้ามทำการทั้งปวงที่ผิดพระวินัยบัญญัติ  ผู้ใดต้องอธิกรณ์ร้ายแรงถึงขั้นปาราชิกให้จับสึกเสีย ในด้านฆราวาส ห้ามฆราวาสทั้งปวง ถวายเงิน ทอง นาก แก้วแหวน และสิ่งอันไม่สมควรแก่สมณะ ห้ามใช้สอยภิกษุสามเณรให้ทำการเพื่อตน เช่น ทำเบญจา ทำงานศพ นวด ปรุงยา ดูหมอ  เป็นฑูตนำสาร ผู้ใดฝ่าฝืนให้ลงโทษเฆี่ยนตีตามโทษหนักเบา

กฎพระสงฆ์ฉบับที่ 7 
ทรงตราไว้เมื่อปี พ.ศ. 2326 โดยทรงปรารภกรณีที่พระราชาคณะพวกหนึ่ง ให้นำความกราบทูลว่า เกี่ยวกับปัญหาการกระทำที่ผิดพระวินัย แต่ความจริงแล้วไม่ผิด ผู้ที่คัดค้าน และหาว่าอีกฝ่ายหนึ่งผิดพระวินัยนั้น ไม่รู้พระวินัยดี แต่ถึอดีว่ารู้ดี  ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทกันในหมู่สงฆ์ อันเป็นเหตุให้แตกสามัคคี
จึงมีพระบรมราชโองการสั่งว่า  ต่อไปห้ามมิให้ภิกษุรูปใดนำเรื่องทะเลาะวิวาทของสงฆ์ขึ้นกราบทูล หากเป็นเรื่องสำคัญ ที่กราบทูลให้ทรงวินิจฉัย  ก็ให้เสนอสมเด็จพระสังฆราช  เพื่อทรงหารือในคณะพระราชาคณะเสียก่อน

กฎพระสงฆ์ฉบับที่ 8 
ทรงตราไว้เมื่อปี พ.ศ. 2332  โดยทรงปรารภว่า
พระราชาคณะ เจ้าอธิการปล่อยปละละเลยไม่ดูแลตักเตือนภิกษุ สามเณร ให้ปฏิบัติเคร่งครัดตามพระธรรมวินัย จึงเกิดมีภิกษุ สามเณรลามกเป็นโจรทำลายพระศาสนา  เช่น ชวนกันเข้าร้านตลาดดูสีกา นุ่งห่มเดินเหินอย่างคฤหัสถ์  ดูโขน หนัง ละคร ฟ้อนรำ ขับร้อง เล่นหมากรุก สกา การพนันทั้งปวง ตลอดจนเสพเมถุนกับสีกา
จึงมีพระบรมราชโองการสั่งให้ เจ้าอธิการ อุปัชฌาย์อาจารย์ เอาใจใส่ดูแลมิให้ภิกษุ สามเณร ประพฤติอย่างนั้นต่อไป

         กฎพระสงฆ์ฉบับที่ 9 
ทรงตราไว้เมื่อปี พ.ศ. 2337  โดยทรงปรารภว่า
กรณีที่พระมหาสิน ซึ่งมีสมณศักดิ์เป็นพระครู ได้เสพเมถุนกับข้าหลวงผู้หนึ่งจนมีท้อง  แต่ยังถือตนว่าเป็นภิกษุเข้าร่วมสังฆกรรมอุโบสถตลอดมา เป็นคู่สวดบวชพระสงฆ์ ทำให้สังฆมณฑลมัวหมอง
จึงมีพระบรมราชโองการสั่งให้ พระราชาคณะ  เจ้าอธิการ  เอาใจใส่ตรวจตรากวดขันความประพฤติของพระอันดับทั้งปวง มิให้ติดพันด้วยหญิงในทางชู้สาว ผู้ใดทำผิดพระวินัยถึงขั้นปาราชิก ให้แนะนำให้สึกเสีย ถ้าผู้ใดต้องอาบัติปาราชิกแล้วปกปิดไว้ให้ลงโทษถึง 7 ชั่วโคตร

กฎพระสงฆ์ฉบับที่ 10   
ทรงตราไว้เมื่อปี พ.ศ. 2344  โดยทรงปรารภว่า
พระสงฆ์บางพวกไม่มีหิริโอตัปปะเป็นอลัชชี  เช่น  คบหากันเสพสุรายาเมา ฉันอาหารในเวลาวิกาล เอาบาตรจีวรขายแลกเหล้า เล่นเบี้ย สวดพระมาลัยตลกคะนองเป็นลำนำ
จึงมีพระบรมราชโองการสั่งให้พระราชาคณะ เจ้าอธิการ ชำระภิกษุสงฆ์พวกอลัชชีทั้งหลายให้สึกเสีย และห้ามมิให้ภิกษุ สวดพระมาลัยในงานศพอีกต่อไป