วีรกรรมที่ดอนน้อย

การกู้เรือ ล.๑๒๓
นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๘ ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ได้ปฏิบัติการ
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ
การดำเนินการของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้
ได้รับการสนับสนุนอาวุธ ยุทโธปกรณ์ และการฝึกจากภายนอกประเทศ
และส่งผ่านเข้ามายังประเทศไทยตามแนวลำแม่น้ำโขง
ซึ่งเป็นเส้นแดนระหว่างประเทศไทย และ สาธารณรัฐประชาธิปไตย
ประชาชนลาว ทั้งนี้เพราะลักษณะภูมิประเทศและความสัมพันธ์ของประชาชน
ที่อาศัยอยู่ทางริมแม่น้ำโขงทั้งสองฟากเอื้ออำนวยแก่การปฏิบัติการดังกล่าว

เพื่อสกัดกั้นการแทรกซึมทั้งด้านกำลังพล อาวุธและยุทโธปกรณ์
ที่จะเข้ามาโดยผ่านชายแดนตามแนวลำแม่น้ำโขง
กองบัญชาการทหารสูงสุดได้ออกคำสั่งให้กองทัพเรือ
เป็นผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติการในลำแม่น้ำโขง และ
แม่น้ำสายสำคัญอื่น ๆ ภายในประเทศไทยด้วย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๒
จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๓ จึงได้จัดตั้ง
หน่วยปฏิบัติการตามลำแม่น้ำโขงขึ้น กองทัพเรือได้จัดเรือ
ออกทำการลาดตระเวนเฝ้าตรวจตามลำแม่น้ำโขงร่วมกับ
เจ้าหน้าที่ตำรวจน้ำ ศุลกากรและตรวจคนเข้าเมืองตลอด ๒๔ ชั่วโมง
เป็นประจำทุกวันโดยไม่มีวันหยุดเพื่อป้องกันการแทรกซึม
การลักลอบข้ามแม่น้ำของคน และอาวุธจากฝ่ายตรงข้าม
ที่จะส่งเข้ามาสนับสนุนผู้ก่อการร้ายภายในประเทศไทย

เขตพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยปฏิบัติการตามลำแม่น้ำโขง คือ
แม่น้ำโขงฝั่งไทย นับตั้งแต่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย
เรื่อยลงมาผ่านจังหวัดหนองคาย จังหวัดนครพนม
ไปสุดเขตแดนไทยที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
ซึ่งมีระยะทางรวมกันทั้งสิ้น ๘๕๗ กิโลเมตร นับได้ว่าเป็น
ระยะทางในความรับผิดชอบที่ยาวไกลมาก สำหรับอัตรากำลังพลที่มีอยู่


นับแต่หน่วยปฏิบัติการตามลำแม่น้ำโขง ได้ปฏิบัติการลาดตระเวน ในลำแม่น้ำโขงเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ เป็นต้นมา ปรากฏว่า การแทรกซึมส่งคน และการลักลอบส่งอาวุธของฝ่ายคอมมิวนิสต์เพื่อเข้ามาสนับสนุน ผู้ก่อการร้ายภายในประเทศไทย รวมทั้งผู้ค้าของเถื่อนทั้งหลาย กระทำได้ไม่สะดวก ดังนั้น ฝ่ายคอมมิวนิสต์ และผู้เสียงผลประโยชน์ จึงพยายามดักซุ่มโจมตี และหาเรื่องกล่าวร้ายต่อหน่วยปฏิบัติการ ตามลำแม่น้ำโขงโดยตลอดมา แต่เจ้าหน้าที่ของหน่วยปฏิบัติการตามลำแม่น้ำโขง ได้พยายามปฏิบัติการอย่างระมัดระวังและใช้ความอดกลั้นอย่างที่สุด ทั้งนี้ ก็เพื่อรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันดีกับประเทศสาธารณรัฐ ประชาธิปไตยประชาชนลาว แต่เหตุการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๘ หน่วยปฏิบัติการตามลำแม่น้ำโขงได้รับรายงานว่า จะมีการลักลอบนำอาวุธสงครามข้ามแม่น้ำโขงมาขึ้นฝั่งไทย ในเขตรับผิดชอบของสถานีเรือ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย จึงได้สั่งการให้เรือ ล.๑๒๓ ซึ่งมีเรือตรี โชติ แทนศิริ เป็นผู้ควบคุมเรือ (ผค.เรือ) นำเรือออกลาดตระเวน ขณะที่เรือ ล.๑๒๓ ลาดตระเวนมาถึงดอนน้อย ตำบลโพนสา อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย เวลาประมาณ ๑๒.๕๓ น. ได้ถูกฝ่ายประเทศลาว ซึ่งอยู่ที่บ้านห้อม ยิงด้วยอาวุธหลายชนิด ทั้งจรวด อาร์.พี.จี., ปืน ค. และปืนเล็ก มายังเรือ เรือ ล.๑๒๓ ได้ทำการยิงตอบโต้ด้วยอาวุธประจำเรือทุกชนิดเพื่อป้องกันตัว และได้รายงานไปยังสถานีเรืออำเภอศรีเชียงใหม่ ทางสถานีเรืออำเภอศรีเชียงใหม่จึงได้จัดส่งเรือ ล.๑๒๘ มาทำการช่วยเหลือ
เรือ ล.๑๒๓ ได้แล่นกลับลำขึ้นมาเพื่อสมทบกับเรือ ล.๑๒๘
เมื่อเวลาประมาณ ๑๓.๑๕ น. ทั้งนี้เนื่องจากยังไม่สามารถ
แล่นลงไปทางใต้ได้ เพราะทราบว่าฝ่ายประเทศลาว
ได้วางกำลังอยู่อีกหลายจุด เมื่อเรือ ล.๑๒๓ กลับลำแล้ว ผู้ควบคุมเรือ
ได้พยายามนำเรือแล่นส่ายเพื่อหลบอาวุธจรวด อาร์.พี.จี. ซึ่งในขณะนั้น
พันจ่าตรี ปรัศน์ พงษ์สุวรรณ ทำหน้าที่ถือท้ายและติดต่อสื่อสารทางวิทยุ
กระสุนปืนอาร์ก้าได้ผ่านเหนือเกราะ ในห้องถือท้ายถูกตรงหน้าผาก
ของ พันจ่าตรี ปรัศน์ พงษ์สุวรรณ ฟุบหน้าลงเสียชีวิตทันที
กับพังงาถือท้าย ทั้งที่มือยังถือไมโครโฟนสำหรับพูดวิทยุติดต่อ
เป็นเหตุให้เรือพุ่งเข้าเกยตื้นที่ดอนน้อย ซึ่งเป็นเนินทรายบนลำแม่น้ำโขง
อันเป็นเขตแดนของไทย ทหารประจำเรือ ล.๑๒๓ ทุกคน
ยังคงทำการยิงต่อสู้กับฝ่ายประทศลาวอยู่ต่อไป ส่วนผู้ควบคุมเรือ
ได้เข้าไปนำเรือโดยใช้เครื่องยนต์ถอยหลัง เพื่อให้เรือออกจากที่ตื้น
แต่เรือก็ไม่สามารถหลุดออกมาได้ ส่วนเรือ ล.๑๒๘ และ
เรือ ล.๑๒๕ ซึ่งแล่นตามมาช่วยอีกลำหนึ่ง พยายามแล่นเร็ว
เพื่อให้บังเกิดคลื่นของเรือช่วยให้ เรือ ล.๑๒๓ ขยับตัว
และใช้เครื่องถอยหลังออกมาแต่ไม่สำเร็จ การที่จะให้
เรือ ล.๑๒๕ และ ล.๑๒๘ นำเชือกพ่วงไปส่งให้เรือ ล.๑๒๓
แล้วดึงออกนั้นทำไม่ได้เพราะกำลังถูกระดมยิงอย่างหนัก
จึงจำเป็นต้องปล่อยให้เรือ ล.๑๒๓ ติดตื้นอยู่เช่นนั้น ขณะที่เรือเกยตื้นอยู่นั้น
ทหารลาวที่อยู่บนฝั่ง และเรือของฝ่ายประเทศลาวประเภทเรือปรีว้า
(Prevates) จำนวน ๓ ลำ ได้ระดมยิงเรือ ล.๑๒๓ อย่างหนาแน่น
ทหารประจำเรือ คือ จ่าเอกบัญญัติ ฆารกุล ถูกกระสุนได้รับบาดเจ็บสาหัส
ส่วนเรือ ล.๑๒๕ และ ล.๑๒๘ นั้น ได้ช่วยทำการยิงคุ้มกันให้แก่เรือ ล.๑๒๓ อยู่ตลอดเวลา


เวลาประมาณ ๑๕.๒๕ น. หน่วยปฏิบัติการตามลำแม่น้ำโขง เขตหนองคาย ได้ส่งกำลังนาวิกโยธิน ๑ หมู่ โดยมี เรือโท จำลอง ธรรมสุวรรณ เป็นหัวหน้าชุด ขึ้นไปที่ดอนน้อย เพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บกับนำศพ พันจ่าตรี ปรัศน์ พงษ์สุวรรณ ออกมาขณะเดียวกันก็ได้ร้องขอเครื่องบินจากกองทัพอากาศ เข้าสนับสนุน การไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บกระทำได้ไม่ยากนัก เพราะคนเจ็บทั้งหมดยังพอช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ศพของ พันจ่าตรี ปรัศน์ พงษ์สุวรรณ ทำได้ลำบากมาก เพราะ ทหารประเทศลาวทำการยิงด้วยอาวุธทุกชนิดมาอย่างหนาแน่น แต่ทหารนาวิกโยธินก็ได้พยายามจนสุดความสามารถ ก็ไม่สามารถ นำศพออกมาได้ จึงต้องถอนตัวกลับในเวลาประมาณ ๑๖.๑๘ น.
ต่อมาในเช้าวันอังคารที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๘
ฝ่ายเราได้ส่งชุดปฏิบัติการนาวิกโยธิน ๑ หมู่ ซึ่งมีเรือโท จำลอง ธรรมสุวรรณ
เป็นหัวหน้าชุด ขึ้นไปที่ดอนน้อยอีกครั้งหนึ่ง พื่อนำศพผู้เสียชีวิตออกมา
โดยเดินทางไปด้วยเรือพายที่ชาวบ้านให้การสนับสนุน จำนวน ๒ ลำ
ขณะที่คืบคลานเข้าสู่บริเวณจุดที่เรือเกยตื้นอยู่ เมื่อใกล้จะถึงเรือ
เนื่องจากภูมิประเทศเป็นที่โล่งแจ้งเสียเปรียบต่อฝ่ายตรงข้ามเป็นอย่างมาก
จึงทำให้ทหารฝ่ายประเทศลาวตรวจการณ์เห็น และได้ระดมยิงอาวุธทุกชนิด
มาอย่างหนาแน่น จรวด อาร์.พี.จี. นัดหนึ่งได้ระเบิดใกล้ ๆ ชุดปฏิบัติการดังกล่าว
ทำให้สะเก็ดระเบิดถูกลำคอของ จ่าเอก พงษ์ศักดิ์ เกษไชย ได้รับบาดเจ็บสาหัส
จึงต้องถอนตัวกลับชั่วคราว แล้วส่งผู้บาดเจ็บเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหนองคาย


การปฏิบัติการครั้งนี้ทางกองทัพบก และ กองทัพอากาศ ได้เข้าสนับสนุนอย่างใกล้ชิดโดยใช้ปืน ค. ทำการยิงไปบนฝั่งลาว ซึ่งระดมยิงฝ่ายเราตลอดเวลา ส่วนกองทัพอากาศนั้นได้ใช้เครื่องบิน ที.๒๘ จำนวน ๒ เครื่องบินคุ้มกัน โดยใช้ปืนกลอากาศยิงสะกัดเรือปรีว้า ของฝ่ายประเทศลาว ซึ่งพยายามรุกล้ำอธิปไตยของไทยเข้ามาที่ดอนน้อย บริเวณที่เรือ ล.๑๒๓ เกยตื้นอยู่ ทำให้เรือปรีว้าได้รับความเสียหาย ฝ่ายประเทศลาวได้ใช้ปืนกลต่อสู้อากาศยานยิงเครื่องบินฝ่ายเรา อย่างหนาแน่น แต่ฝ่ายเรามิได้รับอันตรายแต่อย่างใด
ต่อมาในคืนวันเดียวกัน เวลา ๒๑.๐๐ น. ฝ่ายเราได้ส่ง
ชุดปฏิบัติการนาวิกโยธินและหน่วยปฏิบัติการพิเศษ
ไปที่ดอนน้อยอีกครั้งหนึ่ง เพื่อนำศพ พันจ่าตรี ปรัศน์ พงศ์สุวรรณ
ออกมา หน่วยปฏิบัติการพิเศษ จำนวน ๖ คน ได้คืบคลานไปบนดอนน้อย
เพื่อไปยังเรือ ล.๑๒๓ เมื่อเข้าไปใกล้จะถึงเรือ ได้แยกกำลัง
ออกเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มละ ๓ คน กลุ่มแรกคอยลาดตระเวนรอบ ๆ ตัวเรือ
ส่วนอีกกลุ่มจะต้องขึ้นไปบนเรือเพื่อนำศพ และอาวุธของเรือ ล.๑๒๓ ออกมา
ซึ่งกลุ่มนี้ต้องเสี่ยงภัยมาก เพราะถ้าข้าศึกรู้ว่ามีใครขึ้นไปบนเรือ
คงจะต้องทำการยิงแน่น และยังมีเรือปรีว้าของฝ่ายประเทศลาว ๓ ลำ
ที่จอดอยู่บริเวณนั้นก็คอยตรวจตราอยู่รวมทั้งที่บนฝั่งลาว
ซึ่งอยู่ห่างจากเรือ ล.๑๒๓ ประมาณ ๒๐๐ เมตร ได้ทำการข่มขวัญพวกเราอยู่มาก
เช่น มีการฉายไปมาที่เรือ ล.๑๒๓ นอกจากนี้ยังแสดงการเคลื่อนกำลังมาเพิ่มเติม
ซึ่งสังเกตได้จากเสียงเครื่องยนต์และไฟของรถยนต์ที่เคลื่อนเข้ามาบริเวณนั้นตลอดเวลา


สำหรับกลุ่มของหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่จะขึ้นไปบนเรือนั้น ได้ขึ้นไปเพียงคนเดียว ทั้งนี้เพราะไม่ต้องการให้เกิดเสียงดัง ผู้ที่ขึ้นไปบนเรือจะต้องมีความกล้าพอสมควร เพราะไม่ทราบว่า ลักษณะของศพเป็นอย่างไร ต้องอาศัยแสงสว่างของดวงจันทร์ช่วย จึงสามารถเห็นศพได้อย่างชัดเจน ลักษณะของศพพันจ่าตรี ปรัศน์ พงษ์สุวรรณ์ เป็นลักษณะของการเสียชีวิตอย่างกล้าหาญคือ มือขวายังถือไมโครโฟน สำหรับพูดวิทยุติดต่อกับเรือ และกองบังคับการหมู่เรือ ตัวหันพิงอยู่กับ เครื่องเรดาร์ของเรือ หน้าของศพหันไปทางท้ายเรือ ตาจ้องถมึง ศพอยู่ในห้องถือท้ายของเรือ ซึ่งมีความกว้างยาวประมาณ ๑.๒๐ x ๑.๒๐ เมตร ด้านข้างทั้งสองมีแผ่นเกราะสูงขึ้นไปประมาณ ๑.๕๐ เมตร ผู้ที่เข้าไปได้นำศพออกมาแล้วให้อีก ๒ คน ที่เหลือช่วยกันรับที่นอกเรือ และช่วยกันนำมาลงเรือเล็กกลับมาถึงกองบังคับการชั่วคราวของ หน่วยปฏิบัติการตามลำแม่น้ำโขงที่บ้านท่ามะเฟืองบนฝั่งไทย เมื่อเวลา ๐๒.๑๕ น. ของวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๘ ใช้เวลาปฏิบัติการทั้งสิ้นประมาณ ๖ ชั่วโมง ฝ่ายเราสามารถ นำศพกลับมาได้ด้วยความเรียบร้อยและทุกคนปลอดภัย
เมื่อนำศพมาได้แล้วหน่วยปฏิบัติการตามลำแม่น้ำโขง ต้องการจะนำ
กลับเข้ากรุงเทพฯ เสียเลย แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย
เห็นว่าศพของพันจ่าตรี ปรัศน์ พงษ์สุวรรณ ควรให้ประชาชนชาวท่าบ่อ
และที่อื่น ๆ ได้เคารพศพบ้าง เพราะเป็นผู้ที่เสียชีวิตด้วยความกล้าหาญ
จึงได้นำศพของพันจ่าตรี ปรัศน์ พงษ์สุวรรณ มาบำเพ็ญกุศลที่วัดอัมพวัน
อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ๑ วัน ในโอกาสเดียวกันนี้ พลเรือเอก สงัด ชลออยู่
ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและรักษาราชการผู้บัญชาการทหารเรือ
ซึ่งได้ไปตรวจเยี่ยมหน่วยปฏิบัติการตามลำแม่น้ำโขง และหน่วยทางบกอื่น ๆ
ที่ทำการสนับสนุนอยู่ที่บ้านท่ามะเฟือง เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๘
ก็ได้ไปเคารพศพที่วัดนี้ด้วย หลังจากนั้น จึงนำศพเดินทางไปยัง
กรุงเทพมหานคร เพื่อตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดเครือวัลย์วรวิหาร

ภายหลังจากที่การชิงศพสำเร็จลง หน่วยปฏิบัติการตามลำแม่น้ำโขง
ก็ได้ดำเนินการต่อในการที่กู้เรือ ล.๑๒๓ ออกจากที่ตื้นของดอนน้อยให้ได้
การปฏิบัติการในครั้งนี้ได้หน่วยปฏิบัติการพิเศษไปทำการสำรวจ
ความเสียหายของเรือพร้อมกับให้นำอาวุธปืนในเรือ ล.๑๒๓
ที่ตกค้างอยู่กลับมา รวมทั้งเอกสารสำคัญต่าง ๆ หน่วยปฏิบัติการพิเศษ
คงแยกออกเป็น ๒ กลุ่ม เช่นเดิม กลุ่มแรกจำนวน ๓ คน ทำการลาดตระเวน
บริเวณรอบเรือ ส่วนอีกกลุ่มจำนวน ๓ คน แยกย้ายกันไปสำรวจความลึกของน้ำ
และขึ้นไปบนเรือเพื่อนำอาวุธและเอกสารสำคัญที่ตกค้างกลับมา
การปฏิบัติการครั้งนี้ใช้เวลาประมาณ ๕ ชั่วโมง


ในวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๘ ได้ส่งชุดปฏิบัติการร่วม ซึ่งประกอบด้วยทหารนาวิกโยธิน ๑ หมู่ หน่วยปฏิบัติการพิเศษ และช่วงซ่อม จำนวนหนึ่งขึ้นไปปฏิบัติการอุดปะเรือ ล.๑๒๓ ซึ่งในการปฏิบัติหน้าที่นี้ ต้องใช้เจ้าหน้าที่พรรคกลินโดยเฉพาะที่มีความรู้ความชำนาญ ในการอุดเรือไฟเบอร์กลาส ตลอดจนการตรวจซ่อมความเสียหายของเครื่องยนต์เรือ เพื่อซ่อมทำให้สามารถแล่นได้ ภายหลังจากที่ได้ทำการซ่อมอุดรูรั่วเรียบร้อย เรือ ล.๑๒๓ ก็พร้อมที่จะลอดลำได้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อที่จะทำการกู้เรือ ในโอกาสต่อไป ส่วนเจ้าหน้าที่อีกส่วนหนึ่งได้ไปถอดอาวุธ เพื่อนำกลับขึ้นฝั่ง ชุดปฏิบัติการร่วมกลับขึ้นฝั่ง เวลา ๒๒.๓๐ น.

วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๘ หน่วยปฏิบัติการตามลำแม่น้ำโขง ได้เตรียมการที่นำเรือ ล.๑๒๕ และ ล.๑๒๘ กลับสถานีเรือ อำเภอศรีเชียงใหม่ ซึ่งเรือทั้งสองลำนี้หลังจากปะทะกับฝ่ายประเทศลาวในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๘ แล้ว ได้มาจอดที่บ้านท่ามะเฟือง เพราะถ้ากลับไปยัง สถานีเรืออำเภอศรีเชียงใหม่ เมื่อวันนั้นอาจถูกซุ่มโจมตีตามเส้นทางอีก การนำเรือทั้งสองลำนี้กลับได้กำหนดให้ออกเดินทางใน วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๘ เรือ ล.๑๒๕ และ ล.๑๒๘ ออกเดินทางจากบ้านท่ามะเฟืองถึงสถานีเรืออำเภอศรีเชียงใหม่ เวลา ๑๐.๓๐ น. ตลอดระยะทางประมาณ ๔๕ กิโลเมตร มีกำลังทางบกป้องกันตามจุดต่างๆ ริมฝั่งลำแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นจุดที่ทางฝั่งลาวมีกำลังอยู่นอกจากนี้ยังมีเครื่องบิน ของกองทัพอากาศบินคุ้มกันตลอดเวบา เหตุการณ์ต่าง ๆ เรียบร้อยไม่มีการซุ่มโจมตีเกิดขึ้น สามารถนำเรือกลับไปถึง สถานีเรืออำเภอศรีเชียงใหม่โดยปลอดภัย
สำหรับการวางแผนกู้เรือ ล.๑๒๓ ซึ่งได้ดำเนินการ ตั้งแต่
วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๘ เป็นต้นมา จนกระทั่งถึง
วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๘ เวลา ๒๑.๐๙ น.
หน่วยปฏิบัติการกู้ซ่อม ซึ่งประกอบด้วย หน่วยทหารนาวิกโยธิน
หน่วยปฏิบัติการพิเศษพร้อมด้วยช่างเทคนิคต่าง ๆ โดยมี
นาวาเอก ยรรยง กุลกำม์ธร ที่ปรึกษาหน่วยปฏิบัติการตามลำแม่น้ำโขง
เป็นผู้อำนวยการ ได้เริ่มทยอยกันลงเรือพาย พร้อมกับนำเครื่องมือต่าง ๆ
ขึ้นไปที่ดอนน้อยอีกครั้งหนึ่ง โดยมี นาวาเอก ยรรยง กุลกำม์ธร
เป็นผู้ควบคุมด้วยตนเองได้สำรวจน้ำในบริเวณที่เรือติดตื้น
พร้อมกับได้อำนวยการต่าง ๆ จนถึงเวลา ๐๐.๐๙ น. ของ
วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๘ เวลาแห่งการรอคอยก็มาถึง
ทุกคนลงมือปฏิบัติหน้าที่ในการกู้เรือซึ่งเป็นไปด้วยความยากลำบาก
เวลาล่วงเลยไปจนถึง ๐๕.๐๐ น. เรือยังไม่ลอยน้ำ ผู้อำนวยการชุดกู้เรือ
ได้วิทยุร้องขอเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ พี ๒๕๐ จากกองบังคับการ
หน่วยปฏิบัติการตามำแม่น้ำโขงเขตหนองคายมาสนับสนุน ๑ เครื่อง
เพื่อสูบน้ำออกจากท้องเรือ และฉีดไล่ทรายที่ท้องเรือซึ่งติดตื้นอยู่
เครื่องมือเหล่านี้ไปถึงยังที่เรือติดตื้น เวลาประมาณ ๐๗.๐๐ น.
เจ้าหน้าที่ได้เดินเครื่องสูบน้ำทันที เพื่อสูบน้ำออกจากท้องเรือ
และฉีดไล่ทรายอยู่ชั่วระยะเวลาไม่นาน เรือ ล.๑๒๓
ก็หลุดจากสันทรายและลอยลำเมื่อเวลาประมาณ ๐๘.๑๕ น.
ขณะเดียวกันหน่วยซ่อมก็แก้ไขเครื่องยนต์ของเรือไปพร้อมกัน
เมื่อเรือลอยลำแล้วได้เดินเครื่องยนต์ทันทีแล้วแล่นเข้าฝั่ง
บ้านท่ามะเฟืองเรียบร้อยเวลา ๐๘.๒๕ น. ท่ามกลางการโห่ร้อง
ของประชาชนที่ไปรอชมอยู่บนฝั่งอย่างน่าภาคภูมิใจ



---------------------------------------------------------------------------------