ลักษณะของผู้ที่หนักในสัทธาจริต
- ๑. มตฺตจาคตา บริจาคทรัพย์เป็นนิจ
- ๒. อริยานํ ทสฺสนกามตา
ใคร่เห็นพระอริยะ
- ๓. สทฺธมฺมํ โสตุกามตา ใคร่ฟังพระสัทธรรม
- ๔. ปาโมชฺชพหุลตา มากด้วยความปราโมทย์
- ๕. อสฐตา ไม่โอ้อวด
- ๖. อมายาวิตา ไม่มีมารยา
- ๗. ปสาทนีเยสุ ฐาเนสุ ปสาโท
เลื่อมใสในสิ่งที่ควรเลื่อมใส
ลักษณะของผู้ที่หนักในพุทธิจริต
- ๑. โสวจสฺสตา ว่าง่าย
- ๒. กลฺยาณมิตฺตตา มีมิตรดีงาม
- ๓. โภชเน มตฺตญฺญุตา รู้ประมาณในโภชนะ
- ๔. สติสมฺปชญฺญํ ระลึกและรู้สึกตัว
- ๕. ชาคริยานุโยโค ประกอบความเพียร
- ๖. สํเวชนีเยสุ ฐาเนสุ สํเวโค
สลดใจในสิ่งที่ควรสลด
- ๗. สํวิคฺคสฺส โยนิโส ปธานํ
เริ่มตั้งความที่ใจสลดไว้โดยแยบคาย
ลักษณะของผู้ที่หนักในวิตกจริต
- ๑. ภสฺสพหุลตา พูดมาก
- ๒. คณารามตา ยินดีคลุกคลีในหมู่คณะ
- ๓. กุสลานุโยเค อรติ ไม่ยินดีในการประกอบกุสล
- ๔. อนวฏฺฐิกิจฺจตา มีกิจไม่มั่นคง
จับจด
- ๕. รตฺติธูมายนา กลางคืนเป็นควัน
- ๖. ทิวาปชฺชลมา กลางวันเป็นเปลว
- ๗. หุราหุรํ ธาวนา คิดพล่านไปต่าง
ๆ นานา
อัชฌาสัย
- นอกจากจริต ๖ ที่กล่าวแล้ว ยังมีคำว่า
อัชฌาสัย อีกคำหนึ่ง ซึ่งมีความคล้ายคลึงกัน คือ จริต หรือ จริยะ เป็นความประพฤติที่เคยชินจนเป็นนิสัย
ซึ่งมีทั้งดีและชั่ว, ส่วน อัชฌาสัย เป็นความประสงค์ เป็นความนิยม
เป็นความมุ่งหมาย ที่จะให้เป็นไปเช่นนั้น อันหมายความว่าเป็นนิสัย หรือความมุ่งหมายในทางที่ดีงาม
ซึ่งเกิดมาจากจิตใจโดยตรง ไม่เกี่ยวไปในทางไม่ดีไม่งามหรือในทางชั่วเลย อัชฌาสัย
ก็มี ๖ เหมือนกัน ได้แก่
- ๑. อโลภชฺฌาสโย มีความไม่โลภเป็นนิสัย
มีความพอใจในการจำแนกแจกจ่ายทาน
- ๒. อโทสชฺฌาสโย มีความไม่โกรธ
ไม่ประทุษร้ายเป็นนิสัย มีความพอใจแผ่เมตตาแก่สัตว์ทั้งปวง
- ๓. อโมหชฺฌาสโย มีความไม่หลง
ไม่มัวเมาเป็นนิสัย มีความพอใจพินิจถึงคุณ โทษ กุสล อกุสล และพอใจเจริญอัปปมาทธรรม
- ๔. เนกฺขมฺมชฺฌาสโย มีนิสัยไม่ติดในกาม
ไม่ติดในความพยาบาท ไม่ติดในความเบียดเบียน มีความพอ
ใจออกบวช
- ๕. ปวิเวกชฺฌาสโย มีนิสัยชอบสงบ
มีความพอใจออกจากหมู่คณะ แล้วและอยู่ในที่สงัด
- ๖. นิสฺสรณชฺฌาสโย มีความยินดียิ่งในพระนิพพาน
อันเป็นธรรมที่หลุดพ้นจากทุกข์เลยมีความพอใจที่จะ
ให้พ้นจากภพทั้ง ๓
กัมมัฏฐานที่เหมาะแก่จริต
- ผู้เจริญภาวนา จะต้องเลือกกัมมัฏฐานให้ถูกแก่จริตของตน
จึงจะเป็นที่สบาย รู้ง่าย ได้ผลเร็ว ใน
คัมภีร์วิสุทธิมัคค แสดงไว้ว่า
- เริ่มต้นก็กล่าวถึง เสนาสนะที่อยู่อาศัยในการเจริญกัมมัฏฐานของผู้ที่มีราคจริตว่า
เตียงตั่งที่นั่งที่นอน ต้องไม่สวย
ไม่น่าดู ไม่เป็นที่สบาย ให้รกรุงรังสักหน่อยก็ได้ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ควรใช้ของเก่า
ๆ สีซีด ๆ มีขาดมีปะบ้างก็ยิ่งดี อาหารการกินก็จัดให้อย่างชนิดที่สีสรรไม่ชวนดู
กลิ่นและรสก็เป็นอย่างที่ไม่นิยมยินดี สักแต่ว่าให้กินพอให้หนักท้อง
ไปเท่านั้นเอง กัมมัฏฐานก็ต้องเป็นชนิดที่ไม่ให้เกิดความเพลิด เพลินยินดี ทั้งนี้เพราะเหตุว่าผู้ที่มีราคจริตย่อมชอบ
สิ่งที่สวยงามเป็นที่เจริญตาเจริญใจ เมื่อได้พบเห็นสิ่งที่สวยสิ่งที่งาม อันเป็นที่ตั้งแห่งความยินดีเพลิดเพลินแล้ว
ราคะย่อมไหลไปตามอารมณ์นั้น ๆ ได้โดยง่าย จึงต้องให้ได้เห็นสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม
กามฉันทะจะได้ไม่เกิดมาทำให้เป็น
เครื่องขัดขวางแก่การเจริญภาวนา
- เสนาสนะของผู้เจริญกัมมัฏฐานที่มีโทสจริต
ต้องเรียบร้อย สะอาด สวยงาม ประดับด้วยดอกไม้ของ
หอมด้วยก็ยิ่งดี ทุกสิ่งทุกอย่างต้องล้วนแล้วแต่สิ่งที่น่าดู น่าฟัง น่าสูดดม
น่ารับประทาน น่าสัมผัสถูกต้อง จะได้ข่มไม่ให้โทสะเกิดขึ้นมาทำลายสมาธิเสีย
- เสนาสนะของผู้ที่มีโมหจริต ควรให้เป็นสถานที่กว้างขวาง
มีอากาศโปร่ง ได้รับแสงสว่างมาก ถ้าสถานที่แคบ
อากาศทึบ แสงสว่างน้อย ก็จะทำให้ซึมเซา เหงาง่วง ไม่อยากพินิจพิจารณาอะไร ทำให้ขาดวิจารในการประหาณ
วิจิกิจฉา
- เสนาสนะของผู้ที่มีวิตกจริต ไม่ต้องกว้างขวางใหญ่โต
แม้จะกระเดียดไปข้างเล็กสักหน่อย ก็ไม่เป็นไร
และให้เรียบๆ ไม่ต้องตกแต่งให้มีสิ่งที่ชวนชมชวนพิศ มิฉะนั้นวิตกจะพล่านหนักขึ้น
เมื่อไม่พล่านไปอื่น ก็จะวิตกอยู่แต่ในอารมณ์กัมมัฏฐาน
- เสนาสนะของผู้ที่มีสัทธาจริต ก็เพียงขนาดกลาง
ไม่ต้องกว้างใหญ่นัก แต่ก็อย่าให้เล็กจนเกินไป ทุกอย่างให้เป็น
แต่เพียงกลาง ๆ แม้จะไม่น่าดู แต่ก็อย่าให้ถึงกับน่าเกลียด แม้จะไม่น่าฟัง แต่ก็อย่าให้ถึงกับหยาบคายร้ายกาจจนฟัง
ไม่ได้ แม้แต่จะไม่หอม แต่ก็อย่าให้ถึงกับเหม็น เหล่านี้เป็นต้น ก็จะไม่ทำให้ถึงกับฟุ้งซ่านหรือก่อให้เกิดความรำคาญ
คงมีสุขสบายพอควรแก่การเจริญภาวนาไปได้
- โดยเฉพาะผู้ที่มีพุทธิจริตหรือปัญญาจริตนั้น
มิได้เป็นที่ติดใจหรือห่วงใยในเสนาสนะใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากป่า
และโคนไม้ อันเป็นธรรมดาตามธรรมชาติ
- ส่วนกัมมัฏฐานที่เหมาะแก่จริตนั้น
เป็นดังนี้
- ๑. อสุภะ ๑๐ และโกฏฐาส คืออาการ
๓๒ ที่เรียกว่า กายคตาสติ ๑ รวมกัมมัฏฐาน ๑๑ นี้เหมาะสม
แก่บุคคลผู้ที่มี ราคจริต
- ๒. วัณณกสิณ ๔ และ อัปปมัญญา ๔
รวมกัมมัฏฐาน ๘ นี้ เหมาะสมแก่ผู้มี โทสจริต
- ๓. อานาปาณสติ ๑ ย่อมเหมาะสมแก่ผู้ที่มี
โมหจริต และ วิตกจริต
- ๔. อนุสติ ๖ มี พุทธานุสติ เป็นต้นจนถึง
เทวตานุสติ เหมาะสมแก่ผู้ที่มี สัทธาจริต
- ๕. มรณานุสสติ ๑ อุปสมานุสสติ
๑ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ และ จตุธาตุ ววัตถาน ๑ รวมกัมมัฏฐาน ๔ นี้ เหมาะสมแก่ผู้ที่มี
พุทธิจริต
- ๖. ส่วนกัมมัฏฐานที่เหลือทั้งหมด
ได้แก่ ภูตกสิณ ๔ อากาสกสิณ ๑ อโลก กสิณ ๑ และอรูปกัมมัฏฐาน ๔
รวมกัมมัฏฐาน ๑๐ อย่างนี้ ย่อมเหมาะสมแก่บุคคลทั่วไป และแก่ทุกจริต
- ในบรรดาสมถกัมมัฏฐานทั้ง ๔๐ นั้น
เฉพาะกสิณ ๑๐ องค์กสิณ คือ ดวงกสิณสำหรับผู้ที่มีโมหจริต ต้องมีขนาด
กว้างประมาณเท่าลานข้าว แต่สำหรับผู้ที่มีวิตกจริตมีขนาดเล็กเพียงเท่ากระด้งก็พอ
- อนึ่ง ใน อภิธัมมาวตารอรรถกถา
แสดงว่า
- อสุภานิ ทสาหาร สญฺญา
กายคตาสติ
เทเวสุ นปวตฺตนฺติ ทฺวาทเสตานิ สพฺพทาฯ
- กัมมัฏฐาน ๑๒ คือ อสุภะ ๑๐ อาหาเรปฏิกูลสัญญา
๑ กายคตาสติ ๑ ย่อมเจริญไม่ได้โดยประการใด ๆ
ในเทวภูมิ ๖ ชั้น
- หมายความว่า เทวดาทั้ง ๖ ชั้น
เจริญกัมมัฏฐานได้เพียง ๒๘ เว้นอสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ และ
อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ ทั้งนี้เพราะ
- เทวดาเป็นส่วนมาก เมื่อจุติแล้วไม่มีซากศพเหลืออยู่
ร่างกายสูญหายไปเหมือนหนึ่งดับไฟ
- เทวดาที่ยังไม่จุติ ส่วนของร่างกาย
เช่น ผม ขน เล็บ เป็นต้น ก็สวยสดงดงาม ไม่เป็นปฏิกูล
- อาหารก็เป็นทิพย์ เป็นสุทธาโภชน์
บริโภคแล้วก็ไม่มีกาก
- กัมมัฏฐาน ๒๘ ที่เทวดาพึงเจริญภาวนาได้นั้น
คือ กสิณ ๑๐, อนุสสติ ๙ (เว้นกายคตาสติ),
จตุธาตุววัตถานะ ๑, อัปปมัญญา ๔, และอรูปกัมมัฏฐาน ๔
- ตานิ ทฺวาทสเจตานิ อานาปาณสฺสติ
ปิจ
เตรส จ ปเนตานิ พฺรหฺมโลเก นวิชฺชาเร
ฯ
- กัมมัฏฐาน ๑๓ คือ กัมมัฏฐาน ๑๒
ที่เจริญไม่ได้ในเทวภูมิ และอานาปาณสติ ๑ ย่อมไม่มีในรูปภูมิ
- มีความหมายว่า ในรูปพรหม ๑๕ ชั้น
(เว้นอสัญญสัตตา) เจริญกัมมัฏฐานได้เพียง ๒๗ เพราะอสุภะ ๑๐
กายคตาสติ ๑ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ และ อานาปาณสติ ๑ รวม ๑๓ อย่างนี้ ไม่มีในรูปพรหม
๑๕ ชั้นนั้น ด้วยเหตุว่าส่วนของร่างกายแห่งพรหมทั้งหลายนั้น ไม่เป็นปฏิกูล และเมื่อจุติแล้วก็ไม่มีซากศพเหลืออยู่เช่น
เดียวกับเทวดา นอกจากนั้น พรหมก็มีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องบริโภคข้าวปลาอาหาร
และไม่มีลมหายใจด้วย
- ฐเปตฺวา จตุรารุปฺเป นตฺถิ
กิญฺจิ อรูปิสุ
มนุสฺสโลเก สพฺพานิ ปวตฺตนฺติ น สํสโย
ฯ
- ในอรูปภูมินั้น นอกจากอรูปกัมมัฏฐาน
๔ แล้ว กัมมัฏฐานอื่น ๆ อย่างหนึ่งอย่างใด ย่อมไม่มีทั้งนั้น
- ส่วนในมนุษย์ภูมิ ย่อมเจริญกัมมัฏฐาน
๔๐ ได้ โดยไม่ต้องสงสัยเลย
ภาวนา และ นิมิต
- ๖. ปริกมฺม ภาวนา จ อุปจารปฺปนา
ตถา
ปริกมฺม อุคฺคหญฺจ นิมิตฺตํ ปฏิภาคิยํ
ฯ
- ๗. ภาวนญฺจ นิมิตฺตญฺจ ติธา
ติธา วิภาวเย
ตาฬีส กมฺมฏฺฐาเนสุ นโยยํ ปริทีปิโต ฯ
- บริกรรมภาวนา อุปจารภาวนา อัปปนาภาวนา
บริกรรมนิมิต อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต
- พระโยคาวจรพึงยังภาวนาและนิมิตให้เกิด
โดยประเภทอย่างละ ๓ อย่างละ ๓ นี้ ท่านแสดงไว้ใน
กัมมัฏฐาน ๔๐
- มีความหมายดังจะกล่าวต่อไปนี้
- ๑. บริกรรมนิมิต
คำว่า บริกรรมแปลว่า การบำเพ็ญ ท่องบ่น หรือ กำหนดใจ นิมิต แปลว่า เครื่องหมาย
บริกรรมนิมิตจึงรวมแปลว่า เครื่องหมายที่กำหนด เครื่องหมายที่เพ่ง ในที่นี้ก็ได้แก่
กัมมัฏฐาน ๔๐ มี กสิณ
เป็นต้นนั่นเอง
- หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เพ่งกัมมัฏฐานใด
กัมมัฏฐานนั้นแหละเป็นบริกรรมนิมิต เช่น เพ่งปฐวีกสิณ ก็ปฐวีกสิณที่เพ่งนั้นแหละ
คือ บริกรรมนิมิต
- ๒. อุคคหนิมิต แปลว่า นิมิตติดตา
หมายความว่า เมื่อเพ่งปฐวีกสิณจนดวงกสิณนั้นติดตา ไม่ว่าจะลืมตา
อยู่หรือแม้จะหลับตา ก็เห็นดวงกสิณนั้นแจ่มแจ้งชัดเจนทุกกระเบียดนิ้ว จนกระทั่งว่าถ้ามีอะไรติดอยู่หรือมีรอยขีด
อยู่ที่ดวงกสิณนั้นสักนิดเดียว ก็เห็นได้แจ่มชัด เหมือนหนึ่งว่า ลืมตามองเห็นอยู่ฉะนั้น
- ๓. ปฏิภาคนิมิต มีความหมายว่า
นิมิตคือ ดวงปฐวีกสิณนั้นติดตาอยู่เหมือน กัน แต่ว่าสีแห่งกสิณตลอด
จนริ้วรอยหรือตำหนิอย่างใด ๆ ที่ดวงกสิณนั้นจะไม่ปรากฏเลย คงปรากฏว่าดวงกสิณนั้นใส
สะอาด บริสุทธิ์ ดุจ
ดวงแก้วมณี ตลอดจนจะขยายปฏิภาคนิมิตนั้นให้ใหญ่ขึ้นหรือย่อให้เล็กลง ก็ได้ตามความปรารถนา
- ๔. นิมิตทั้ง ๓ ที่กล่าวมาข้างต้น
กล่าวโดยอาศัยกัมมัฏฐานที่มีรูปพรรณสัณฐาน สีสรร วัณณะนั้น
เป็นหลัก เช่น กสิณ และอสุภะ เป็นต้น อันจะต้องเริ่มต้นเพ่งด้วยนัยน์ตา ที่เรียกว่า
บริกรรมนิมิต จึงจะเห็น
ติดตาที่เรียกว่า อุคคหนิมิต ส่วนกัมมัฏฐานที่ไม่มีรูปร่าง เช่น อนุสสติ เป็นต้น
ไม่ได้เริ่มต้นเพ่งด้วยนัยน์ตา
แต่เพ่งด้วยใจ คือ กำหนดใจให้ระลึกนึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น
คุณของพระพุทธ
เป็นต้นที่เพ่งด้วยใจนี้ ก็เรียกว่า บริกรรมนิมิต ครั้นจิตใจซาบซึ้งถึงพระคุณนั้นอย่างชัดเจนแน่แน่วจนกระชับ
จับใจเช่นนี้ ก็เรียกว่าอุคคหนิมิต เหมือนกัน แต่เป็นอุคคหนิมิตติดใจ ไม่ใช่อุคคหนิมิตติดตาเหมือนอย่างก่อน
- ๕. สมถกัมมัฏฐานทั้ง
๔๐ เป็นบริกรรมนิมิต และอุคคหนิมิตทั้ง ๔๐
- ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้น มีได้ในกัมมัฏฐาน
๒๒ เท่านั้นคือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ อานาปาณสติ ๑
- แม้แต่ อัปปมัญญา ๔ และอรูปกัมมัฏฐาน
๔ ที่ถึง อัปปนาภาวนา (คือถึงฌาน) ก็ไม่ถึง ปฏิภาคนิมิต
เป็นได้เพียง อุคคหนิมิต เท่านั้น
- ๖. บริกรรมภาวนา คำว่า
ภาวนา แปลว่า อบรมให้มีขึ้น อบรมให้เกิดขึ้น และให้เจริญยิ่งขึ้นด้วย ดังนั้น
บริกรรมภาวนา จึงรวมแปลว่า อบรมให้มีการกำหนดใจขึ้น อบรมให้เกิดการท่องบ่นในใจขึ้น
การบำเพ็ญให้มีขึ้น
- กัมมัฏฐานที่กำลังเพ่งอยู่นั้นเรียกว่า
บริกรรมนิมิต ภาวนาจิตที่มีบริกรรมนิมิตเป็นอารมณ์นั่นแหละ ได้ชื่อว่า บริกรรมภาวนา
และเมื่อกล่าวโดยอำนาจแห่งสมาธิ ก็ได้ชื่อว่า บริกรรมสมาธิ
- นิมิตที่ถึงกับติดตาติดใจนั้น
เรียกว่า อุคคหนิมิต แต่ภาวนาจิตที่มีอุคคหนิมิตเป็นอารมณ์ ก็ยังคงเรียกว่า
บริกรรมภาวนา (บริกรรมสมาธิ) อยู่อย่างเดิม
- ๗. อุปจารภาวนา
คำว่า อุปจาระ แปลว่า ใกล้ บริเวณรอบ ๆ ดังนั้น อุปจารภาวนา จึงรวมแปลว่า
อบรมใกล้เข้าไปแล้ว หมายความว่าใกล้จะได้ฌานแล้ว ใกล้จะถึงอัปปนาภาวนาแล้ว
- การเพ่งกัมมัฏฐานจนถึงปฏิภาคนิมิตเมื่อใด
เมื่อนั้นแหละได้ชื่อว่า อุปจารภาวนา และเมื่อกล่าวโดยอำนาจ
แห่งสมาธิ ก็มีชื่อว่า อุปจารสมาธิ
- ๘. อัปปนาภาวนา
คำว่า อัปปนา แปลว่า แนบแน่น หมายความว่า แนบอยู่กับอารมณ์นั้นจนแน่นแฟ้น
ไม่โยกคลอน หรือแส่ไปในอารมณ์อื่น อีกนัยหนึ่งแปลว่า ทำลายกิเลสมีนิวรณ์ เป็นต้น
ดังนั้น อัปปนาภาวนา จึงรวมมีความหมายว่า อบรมจนแนบแน่นในอารมณ์ที่เพ่ง กิเลสไม่สามารถมารบกวนได้
- ต่อจากนี้ อุปจารภาวนา เกิดขึ้นแล้ว
ก็เพ่งปฏิภาคนิมิตนั้นโดย อุปจารสมาธิให้เป็นไปอย่างสมบูรณ์ พยายามรักษาจนปฏิภาคนิมิตนั้นแนบแน่น
ไม่ให้หายไปได้แล้ว ฌานจิตก็ย่อมจะเกิดขึ้น ตรงนี้แหละที่ได้ชื่อว่า
อัปปนาภาวนา เมื่อกล่าวโดยอำนาจแห่งสมาธิ ก็มีชื่อว่า อัปปนาสมาธิ
- ๙. กัมมัฏฐานทั้ง ๔๐ เป็นอารมณ์ของบริกรรมภาวนา
ได้ทั้งหมด
- ในกัมมัฏฐาน ๑๐ ได้แก่ อนุสสติ
๘ (เว้นกายคตาสติ ๑ อานาปาณสติ ๑) อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ และ
จตุธาตุววัตถานะ ๑ ย่อมได้เพียงอุปจารภาวนาเท่านั้น อัปปนาภาวนา คือ ฌาน ไม่เกิด
- ส่วนกัมมัฏฐานที่เหลืออีก ๓๐ อันได้แก่
กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ อานาปาณสติ ๑ อัปปมัญญา ๔
และอรูป ๔ ย่อมสำเร็จได้ถึงอัปปนาภาวนา คือ ฌาน
ปลิโพธ
- ผู้ปรารถนาที่จะเจริญกัมมัฏฐาน
จะเป็น สมถกัมมัฏฐานหรือวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็ตาม เบื้องต้นจะ
ต้องตัด ปลิโพธ คือเครื่องกังวลใจต่าง ๆ อันเป็นสิ่งที่ทำให้ ห่วงใย เป็นกังวล
ไม่สงบระงับ ไม่สามารถที่จะตั้งมั่น
อยู่ในอารมณ์กัมมัฏฐานนั้น ๆ ได้ ปลิโพธ มี ๑๐ ประการ คือ
- ๑. อาวาสปลิโพธ ห่วงที่อยู่ที่อาศัย
เช่น เป็นภิกษุก็ห่วงไปว่า ถ้าไปเจริญกัมมัฏฐานเสีย ก็จะมีภิกษุอื่น
มาอยู่กุฏิแทน เมื่อกลับไปก็จะไม่มีที่อยู่ มิฉะนั้นก็เกรงไปว่า ฝนจะรั่ว ปลวกจะขึ้น
- ๒. กุลปลิโพธ ห่วงบริวารว่านเครือ
ตลอดจนผู้อุปถัมภ์ ผู้อุปัฏฐาก เกรงว่าจะห่างเหินขาดตอนกันไปเสีย
- ๓. ลาภปลิโพธ ห่วงรายได้
เกรงว่าลาภผลที่ตนเคยได้อยู่ จะลดน้อยหรือเลื่อนลอยไปเลย
- ๔. คณปลิโพธ ห่วงพวกพ้อง
ลูกน้อง ลูกศิษย์ และมิตรสหายที่เคยสั่งสอน ช่วยเหลือ พึ่งพาอาศัยกันอยู่
- ๕. กัมมปลิโพธ ห่วงการงานที่กำลังทำค้างอยู่
หรือที่จะลงมือทำในเร็ววันนี้ เช่น ปลูกบ้าน ปลูกเรือน
ขุดบ่อ ก่อศาลา สร้างโบสถ์ วิหาร การเปรียญ เป็นต้น
- ๖. อัทธานปลิโพธ ห่วงการเดินทางไกล
กะไว้ว่าจะไปโน่นไปนี่ ต้องมีเวลาเตรียมตัว เตรียมข้าวของ
ทองเงินต่าง ๆ
- ๗. ญาติปลิโพธ ห่วงพ่อแม่
ลูกเมีย พี่น้อง ครูบาอาจาารย์ จะขาดผู้ปรนนิบัติ หรือผู้ปกครองดูแลอุ้มชู
- ๘. อาพาธปลิโพธ ห่วงว่ากำลังไม่สบายอยู่
หรือฤดูนี้เคยไม่สบาย เกรงว่าจะเกิดเจ็บป่วยขึ้น กลัวจะเป็นลม
เป็นไข้ต่าง ๆ นานา
- ๙. คันถปลิโพธ ห่วงการศึกษาเล่าเรียน
ถ้าไปเจริญกัมมัฏฐานเสียเกรงว่าจะเรียนไม่ทันเขา สู้เขาไม่ได้
ถ้าเป็นครูอาจารย์ ก็ห่วงการสอนศิษย์
- ๑๐. อิทธิปลิโพธ ห่วงการแสดงอิทธิฤทธิต่าง
ๆ อันการแสดงฤทธิหรืออภินิหารต่าง ๆ นั้นจำเป็นต้อง
บริหารอยู่เนือง ๆ ต้องหมั่นอบรมสมาธิให้มั่นคงอยู่เสมอ ถ้าละทิ้งไปนานนัก อาจเสื่อมไปจนไม่สามารถแสดงฤทธิ์ได้
- เฉพาะอิทธิปลิโพธนี้ เป็นเครื่องกังวลแก่การวิปัสสนาแต่ฝ่ายเดียวเท่านั้น
หาได้เป็นเครื่องกีดขวางทางสมถะไม่ เพราะการทำสมาธิยิ่งมากเท่าใดก็ยิ่งเป็นประโยชน์แก่สมถะมากเท่านั้น
ส่วนการเจริญวิปัสสนา ถ้าสมาธิแก่กล้าเกินไป ก็ทำให้อินทรียไม่เสมอกัน วิปัสสนาไม่สามารถจะเกิดได้
- เมื่อมีความตั้งใจเจริญภาวนา คือ
เจริญกัมมัฏฐาน จนถึงกับตัดเครื่องกังวลใจดังที่ได้กล่าวนี้ได้แล้ว ยังจะต้องพิจารณาธรรมอีกหลายประการที่เรียกว่า
สปายะ เสียก่อน ดังจะกล่าวต่อไปนี้
สัปปายะ
- สัปปายะ แผลงมาเป็น สปายะ
คือ สบาย นั่นเอง หมายถึงธรรมอันเป็นที่สบายที่เหมาะสมแก่การ
เจริญกัมมัฏฐาน อันเป็นส่วนหนึ่งซึ่งอุปการะให้มีความสงบระงับ ทำให้เกิดสมาธิได้ง่าย
สปายธรรมมีหลายประการ
จำแนกเป็น ๔ บ้าง เป็น ๕ บ้าง ในที่นี้ขอกล่าวว่ามี ๗ ประการ คือ
- ๑. ที่อยู่อันเป็นที่สบาย
ไม่ใกล้ทางสัญจรไปมา ไม่ใกล้บ่อน้ำ อันจะเกิดความรำคาญจากผู้คน
ไปมาจอแจพูดจากันจ้อกแจ้กไม่ขาดสาย แต่ควรเป็นสถานที่ที่วิเวก สงัดจากสิ่งที่รบกวนความสงบ
และ
มีรั้วรอบขอบชิด ไม่ต้องห่วงเรื่องคนร้าย
- ๒. ทางเดินอันเป็นที่สบาย
หมายถึงทางที่จะเดินจงกรม ก็สะดวกสบาย ไม่ถูกแดดมากนัก ทางไปบิณฑบาตทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับ
ก็ไม่ต้องเดินทวนตะวันให้แดดส่องหน้าแสงเข้าตา เพราะ
การถูกแดดมาก ก็จะทำให้เกิดทุกขเวทนา อันเป็นปฏิปักษ์กับสมาธิ
- ๓. การฟังการพูดอันเป็นที่สบาย
หมายความว่า ควรฟังหรือควรพูดในเรื่องที่จะโน้มน้าวจิตใจ
ให้เกิด สัทธา วิริยะ และความสงบระงับ อันจะเป็นคุณแก่การเจริญกัมมัฏฐาน ให้เว้นการฟังการพูดที่ไม่
เป็นสปายะนั้นเสีย
- ๔. บุคคลเป็นผู้ที่สบาย
หมายถึงบุคคลที่จะติดต่อคบหา ควรเป็นผู้ที่มั่นในสีลธรรมชักจูงแนะนำ
ไปในทางที่ให้เกิดความมักน้อย ความเพียร ความสงบระงับ ยิ่งเป็นผู้ที่เคยเจริญกัมมัฏฐานมาแล้ว
ก็ยิ่งจะ
เป็นคุณมาก ให้เว้นจากบุคคลที่ฟุ้งซ่านและมากไปในทางกามารมณ์ ในทางโลกียสุข
- ๕. ฤดูอันเป็นที่สบาย หมายถึง
ความร้อนความเย็นของอากาศตามฤดูกาล เช่น บางฤดูก็ร้อนจัดมาก บางฤดูก็หนาวเสียเหลือเกิน
หรือ กลางวันร้อนจัด แต่กลางคืนก็เย็นมากจนถึงกับหนาว อย่างนี้คงไม่สบายแน่ อาจเกิดเจ็บป่วยได้ง่าย
จำต้องเลือกให้เหมาะสมแก่ความเคยชินของตนที่พอจะทนได้
- ๖. อาหารอันเป็นที่สบาย
หมายถึงว่า ควรบริโภคแต่อาหารที่จะเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ร่างกายเป็นประมาณโดยไม่ต้องคำนึงถึงรสของอาหาร
แม้รสจะดีแต่ว่าเสาะท้องหรือทำให้ท้องขึ้นท้องเฟ้อ ก็ควรงดเสีย เฉพาะภิกษุควรพิจารณาด้วยว่าตำบลนั้น
อัตคัดขาดแคลนจนถึงกับบิณฑบาตได้ไม่พอขบฉันหรือไม่ด้วย ส่วนผู้ที่มีผู้ส่งเสียอาหาร
ก็ให้ทำความเข้าใจ
ว่าอาหาร ที่เป็นชิ้นใหญ่ก็ให้หั่นให้เล็กพอควร ที่เป็นผักก็ตัดหรือม้วนให้พอดีคำที่มีกระดูกหรือก้างก็ให้จัดการ
เอาออกเสียให้หมดด้วย
- ๗. อิริยาบถอันเป็นที่สบาย
หมายถึง อิริยาบถ ๔ เดิน ยืน นั่ง นอน อิริยาบถใดทำให้จิตคิดพล่านไป
ไม่สงบ ก็แสดงว่าอิริยาบถนั้นไม่เป็นที่สบาย จึงไม่ควรใช้อิริยาบถนั้น แต่เมื่อจำเป็นก็ให้ใช้แต่น้อย
มีข้อที่ควร
ระวังในอิริยาบถนอนอยู่ว่า นอนเพื่อกำหนด หรือเพราะร่างกายต้องการพักผ่อนอย่างแท้จริง
ไม่ใช่นอนด้วยอำนาจ
แห่งโกสัชชะ เพราะหน่ายจากความเพียร
กัลยาณมิตร
- กัลยาณมิตร ในที่นี้หมายถึง อาจาริยบุคคล
ผู้เจริญกัมมัฏฐานไม่ว่าจะเป็นทาง สมถะ หรือ วิปัสสนา ควรมีอาจารย์เป็นผู้แนะนำชี้ทางผิดและทางถูกให้
เพราะอาจารย์ก็นับเป็นจำนวน ๑ ใน ๓ ที่โยคีบุคคลจะละ
เสียมิได้ คือ
- อุปนิสฺสย อยู่ในสำนักอาจารย์ผู้สามารถ
- อารกฺข รักษาอินทรียให้สมบูรณ์
- อุปนิพทฺธ ผูกจิตไว้ในอารมณ์กัมมัฏฐาน
- เหตุนี้จึงนับว่า อาจารย์เป็นบุคคลที่สำคัญยิ่ง
ผู้ที่จะเข้าเป็นศิษย์ต้องพินิจพิจารณาให้จงหนัก แต่ไม่ควร
วิพากย์วิจารณ์ไปในทางที่เป็นโทษ เพราะอาจารย์ทุกท่านย่อมพากเพียรเกื้อกูล ให้เป็นคุณแก่ศิษย์ด้วยความ
เมตตากรุณา ในวิสุทธิมัคค แสดงองค์คุณของอาจารย์ไว้ว่า
- ๑. ปิโย เป็นผู้มีสีล เป็นที่รัก
น่าเลื่อมใส เป็นที่รักใคร่ของสรรพสัตว์ เพราะความสมบูรณ์แห่งสีล
- ๒. ครุ เป็นผู้มีใจคอหนักแน่น
น่าเคารพยำเกรง
- ๓. ภาวนีโย เป็นผู้ได้ฝึกฝนอบรมตนมาแล้วด้วยดีทั้งการเรียนและการปฏิบัติ
มีสีลาจารวัตรอันดี
งามควรแก่การยกย่องสรรเสริญ
- ๔. วตฺตา เป็นผู้ที่สามารถแนะนำ
ชี้แจงแสดงแนวทางแห่งการปฏิบัติได้ดี และถูกต้องด้วย
- ๕. วจนกฺขโม เป็นผู้ที่มีขันติอดทนพร่ำสอนศิษย์ไม่เข้าใจก็พยายามให้เข้าใจตามแนวทางแห่งการ
ปฏิบัติ และอดทนต่อการกล่าวล่วงเกินของศิษย์และผู้อื่น ไม่หวั่นไหวต่ออิฏฐารมณ์
และอนิฏฐารมณ์นั้น ๆ
- ๖. คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา
สามารถแสดงวิปัสสนาภูมิให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจได้ด้วยวิธีการที่ สอนน้อยแต่
ให้ทำมาก
- ๗. โน ฐฏฺฐาเน นิโยชเย บอกทางที่ถูกให้
- นอกจากนี้แล้วในมหาฏีกา ยังแสดงคุณสมบัติของผู้ที่ควรเป็นอาจารย์ไว้อีกดังนี้
คือ
- ๑. สทฺธาสมฺปนฺโน โหติ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสัทธา
เชื่อต่อพระปัญญาตรัสรู้ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม ตั้งใจบำเพ็ญประโยชน์ต่อสรรพสัตว์
- ๒. สีลสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยสีล
คือมีมารยาทอันดีงาม
- ๓. สุตสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยการศึกษา
สามารถแสดงแนวทางแห่งการปฏิบัติได้ดี
- ๔. จาคสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยการบริจาค
ยอมเสียสละ มักน้อย สันโดษ ชอบสงัด ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ
- ๕. วิริยสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร
ได้เคยเจริญกัมมัฏฐานมาแล้ว
- ๖. สติสมฺปนฺโน ถึงพร้อมแล้วด้วยสติ
ไม่เผลอ ไม่ประมาท
- ๗. สมาธิสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยสมาธิ
มีจิตตั้งมั่น ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่กระสับ กระส่าย
- ๘. ปญฺญาสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยปัญญา