เรื่องทำความรู้จักกับนามธรรมตอนที่ ๑0
--------------------------------------------------------------------

อตฺตนา หิ สุทนฺเตน นาถํ ลภติ ทุลลภํ
ผู้ที่ตนฝึกดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งซึ่งได้ยาก

พุทธพจน์ดังกล่าวนี้ จะเห็นความสำคัญของการฝึกว่า ผู้ที่ฝึกตนดีแล้วย่อมได้ที่พึ่งซึ่งได้ยากนั้น หมายถึงสภาวะ
จิตของเราที่ได้รับการฝึกอบรม การฝึกอบรมในที่นี้ หมายถึงการฝึกให้ปัญญาเกิดขึ้น เพราะว่าเมื่อปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
ย่อมจะทำลายกิเลสที่ได้สะสมมานั้นให้ลดน้อยถอยลง ดังนั้นพระองค์จึงได้ตรัสว่า ผู้มีตนฝึกดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งซึ่งได้
ยาก คำว่าที่พึ่งซึ่งได้ยากนี้ หมายถึงความบริสุทธิ์ของจิตใจ ซึ่งจะหาซื้อหรือขอหยิบยืมใครมานั้นไม่ได้ ความบริสุทธิ์
ของจิตใจนั้น จะเกิดขึ้นจากการฝึกหัดอบรมให้ปัญญาเกิดขึ้น และปัญญานั่นแหละจะทำให้เรารู้แจ้งแทงตลอดซึ่งความจริง
เมื่อเราได้รู้แจ้งแทงตลอดซึ่งความจริงแล้ว เราก็จะเห็นได้ว่า สิ่งใดมีประโยชน์ หรือสิ่งใดไม่มีประโยชน์ สิ่งที่ไม่มีประโยชน์
นั้นก็ได้แก่ กิเลส ตัณหา ราคะ ซึ่งเราได้สะสมไว้ในวัฏฏะนับชาติไม่ถ้วนนั้น ทำเราให้เกิดความเบื่อความหน่าย
สิ่งเหล่านั้นมันก็จะร่อยหรอลงไป เมื่อมันหมดสิ้นไปตามหลักเกณฑ์ ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสเอาไว้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของสังโยชน์ เมื่อได้ประพฤติธรรมปฏิบัติธรรมถึงหลัก เข้าหลักเขาเกณฑ์ เข้าขั้นนั้นแล้ว
สังโยชน์นั้นก็จะหลุดไปทีละตัวสองตัว เมื่อหลุดเข้าหลักเข้าเกณฑ์แล้ว ผู้นั้นก็จะเปลี่ยนจากโลกียธรรมมาเป็นโลกุตตรธรรม
เปลี่ยนกลับจากปุถุชนธรรมดามาเป็นอริยชนอย่างนี้ ตั้งแต่อริยชนขั้นต้นซึ่งเรียกว่าโสดาและอริยชนขั้นสุดท้ายซึ่ง
เรียกว่าอรหันต์ ซึ่งจะเป็นการสุดสิ้นการเวียนว่ายตายเกิดของเรา เมื่อเราได้ล่วงพ้นเข้าสู่อริยชนตัวสุดท้ายและเมื่อตาย
ไปแล้ว ก็จะไม่มีการเกิดขึ้นมาอีก ทั้งนี้เพราะเหตุว่าการเกิดของคนเราทุกวันนี้นั้น มันเป็นการเกิดขึ้นด้วยแรงกรรม
คำว่าแรงกรรมในที่นี้ ผมหมายถึงทั้งกรรมดีและกรรมชั่วที่เราได้ทำเอาไว้ และการเกิดในที่นี้ผมไม่ได้หมายถึงเพียงเฉพาะ
การเกิดมาเป็นมนุษย์เท่านั้น แต่หมายถึงการเกิดหรือปฏิสนธิในภพหนึ่งภพใดใน ๓๑ ภพภูมินั้น ผู้ที่มาเกิดนั้นเพราะ
ว่าได้มีกรรมให้ก่อขึ้น กรรมที่เราก่อขึ้นมานั้น ก็ก่อขึ้นจากความไม่รู้หรือเรียกว่าอวิชชานั่นเอง เมื่อมันมีกรรมขึ้นแล้ว
มันก็ต้องมีวิบากกรรมและผลวิบากนี่แหละที่ทำให้เราเกิด เมื่อเราเกิดเราก็สร้างกรรมต่อไป เมื่อสร้างกรรมเสร็จแล้ววิบาก
มันก็เกิดขึ้น เหตุนี้แหละวัฏฏะของพวกเราแต่ละคนมันจึงไม่มีสิ้นสุด ในเรื่องนี้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์แก้
ด้วยปัญญา ทำไมถึงได้ว่าพระองค์แก้ด้วยปัญญา พระองค์ไม่ได้เอาลัทธิหรือวิธีการใดๆ มาแก้ เพราะพระองค์รู้แล้วว่า
การเกิดนั้นมันเกิดขึ้นด้วยอวิชชาคือ ความไม่รู้ ฉะนั้นวิธีการของพระองค์จึงทำปัญญาให้เกิดขึ้น ซึ่งปัญญานี้เป็นตัวรู้
แต่อวิชชานั้นเป็นตัวไม่รู้ พระองค์จึงใช้ตัวรู้นั้นเป็นตัวทำลายความไม่รู้ ทำไมพระองค์ทำเช่นนั้น การที่พระองค์ทำเช่นนั้น
แสดงว่าพระองค์แก้ที่เหตุ ไม่ใช้แก้ที่ผลอย่างที่ลัทธิศาสนาบางลัทธิเข้าใจเช่นนั้น การที่แก้ด้วยเหตุนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
ลำบาก ฉะนั้นก็ที่จะเข้าถึงพุทธศาสนาที่แท้จริงนั้น ไม่ใช่จะพรวดพราดก้าวขึ้นไปถึงขั้นนั้นขั้นนี้ เราจะต้องก้าวทีละก้าวที
ละก้าว เพราะว่าปัญญานั้นไม่ใช่จะทำกันได้ปุบปับจะทำกันได้ เราจะเห็นตามประวัติในพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยว
กับพระสูตร เราจะเห็นประวัติของพระบางองค์นั้น ได้สร้างสมอบรมมาในวัฏฏะนับไม่ถ้วน ฉะนั้นเรื่องโลกุตตรกุศลนั้น
มันเป็นกุศลที่แปลกประหลาด ไม่เหมือนกุศลประเภทอื่นๆ ทั้งนี้เพราะว่า กามาวจรกุศลนั้นมันทำแล้ว มันให้ผลวิบากแล้ว
มันก็หมดไปต้องสร้างกันใหม่ มันถึงจะเกิดขึ้น ซึ่งตรงข้ามกับโลกุตตรกุศล โลกุตตรกุศลในชาตินี้เราทำไปได้หน่อยหนึ่ง
พอไปถึงชาติหน้าหรือชาติโน้นต่อไป เราก็สามารถจะทำต่อไปได้ ฉะนั้นอริยบุคคลได้สะสมมาแล้วในอดีตชาติ มาในปัจจุบัน
ชาตินี้ เขาก็ได้ทำต่อไป อ้ายกิเลสที่ยังไม่หมด ยังคั่งค้างอยู่มันก็จะร่อยหรอไปทีละตัวสองตัว นี่ เป็นความหมายของพุทธ
พจน์ดังกล่าว
เมื่อวันก่อนนี้เราได้พูดกันถึง กายุชุกตาเจตสิกและจิตตุชุกตาเจตสิกมาแล้ว วันนี้เราจะพูดกันถึงเรื่อง วิรตีเจตสิก
ซึ่งได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ เจตสิกทั้ง ๓ ตัวนี้ เป็นโสภณเจตสิก ซึ่งเราจะได้รู้ในการ
เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานในภายหลังว่า สิ่งเหล่านี้มันมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันเกี่ยวกับการประพฤติการปฏิบัติธรรม
อย่างไร
วิรตีเจตสิกตัวแรก ก็ได้แก่ สัมมาวาจา สัมมาวาจาในที่นี้ หมายถึง การพูดชอบ การพูดในสิ่งที่เป็นกุศล เว้น
จากวจีกรรม ๔
ฉะนั้นสัมมาวาจา ในที่นี้เราจะเห็นความสำคัญว่า เขาจะเว้นจากมุสาวาทหรือการพูดปด เว้นจาก
ปิสุณาวาทหรือการพูดส่อเสียด เว้นจากผรุสวาทหรือการพูดคำหยาบ และเว้นจากสัมผัปปลาปะหมายถึงการพูด
เพ้อเจ้อ ทั้งนี้เราจะเห็นได้ว่า ผู้ที่มีสัมมาวาจาเจตสิกนี้ เขาจะเป็นคนพูดสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็จะพูดในสิ่งที่มีประโยชน์ ไม่ว่า
ทั้งทางโลกและทางธรรม เขาจะไม่พูดให้ชักนำไปในทางที่ผิด เพราะเหตุสัมมาวาจานี้ มันเป็นเจตสิกประเภทโสภณเจตสิก
สัมมาวาจานี้ ถ้าเราจะพิจารณาถึงรายละเอียดกันแล้ว มันแบ่งออกเป็น ๓ ประการด้วยกัน คือ
๑. กถาสัมมาวาจา ซึ่งได้แก่ การกล่าววาจาที่ดี วาจาที่มีศีลธรรม เพื่อหวังประโยชน์แก่ผู้ฟัง นี่เป็นกถา
สัมมาวาจา เขาไม่ได้พูดเพื่อตัวของเขาเอง แต่เขาพูดเพื่อประโยชน์แก่ผู้ฟัง ฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่าการพูดชนิดนี้หายาก
ในสังคมปัจจุบันนี้ เพราะเหตุไร เพราะคนเหล่านั้นเขาไม่ได้ประพฤติธรรมปฏิบัติธรรม ถ้าเขาได้ประพฤติธรรม
ปฏิบัติธรรมในขั้นสูงๆ แล้ว เขาก็จะเกิดเจตสิกตัวนี้ขึ้น เราจงสังเกตดูว่า ทำไมคนบางคนเราติดอกติดใจในคำพูดของเขา
เพราะอะไร เพราะคำพูดของเขานั้นยังมาซึ่งความสุข ความสงบ ไม่เร่าร้อน ไม่เดือดร้อน นี่เป็นกถาสัมมาวาจา
๒. ทีนี้อีกตัวหนึ่งเรียกว่า เจตนาสัมมาวาจา ได้แก่ ผู้มีเจตนาที่จะสมาทานศีล ว่าจะละเว้นวจีทุจริต ไม่มี
การกล่าวมุสา สำหรับตัวนี้ผู้ที่ถือศีลอย่างพวกที่เข้าวัดเข้าวา เขาจะต้องมีตัวนี้ ถ้าไม่มีตัวนี้เขาจะถือศีลไม่ได้ ศีลนั้นที่
เขาถือ เขาอาจจะรับมาจากพระสงฆ์ก็ได้ แต่พวกเราทุกคนนี่ผมเข้าใจว่า เราไม่ได้รับมาจากพระสงฆ์ คือเรากำหนด
ไม่ประพฤติปฏิบัติให้ล่วงศีลนั้นๆ ด้วยความรู้สึกรับผิดชอบด้วยตัวของเราเอง ซึ่งได้แก่ หิริและโอตตัปปะ อันนี้เรียกว่า
วิรติสัมปทาก็ได้ ผมจะพูดภาษาบาลีผิดหรือถูกไม่รู้นะ แต่ผมเข้าใจว่าเป็นอย่างนั้น เพราะเรากำหนดขึ้นด้วยตัวของเราเอง
ไม่มีใครบังคับ เราจะถือหรือไม่ถือก็ไม่มีใครรู้ของเรา ซึ่งไม่เหมือน เออ ไม่เหมือนเจตนาที่สมาทาน อ้ายนั่นต้องเข้าหมู่
เข้าคณะแสดงว่าฉันนี่เป็นผู้มีศีลนะ แต่ของเรานี่หลบๆ ซ่อนๆ กันอยู่อย่างนี้ เรากำหนดของเราขึ้นมา โดยเจตนาไม่ล่วง
ศีล อันนี้กุศลมันก็ได้เหมือนกัน แต่เราไม่ใช่ไปถือเพื่อสังคม เรามีศีลของเรา เจตนารักษาศีลของเราด้วยตัวของเราเองนี่
ก็เพื่อไม่ให้ไปสู่ทุคติ ป้องกันเอาไว้ นี่ การทำเช่นนี้จะทำได้เฉพาะผู้ที่มีสติเท่านั้น ผู้ที่ไม่มีสติ ไม่สามารถทำเช่นนั้น
ได้เลย
ตัวที่ ๓ ได้แก่ วิรตีสัมมาวาจา ได้แก่ การเว้นจากวจีทุจริต ๔ ซึ่งเว้นจากมุสา เว้นจากปิสุณาวาทคือการ
ส่อเสียด เว้นจากผรุสวาทคือกล่าวคำหยาบ และเว้นจากสัมผัปปลาปะคือกล่าวคำเพ้อเจ้อไร้สาระ
อย่าลืมว่าการที่มีสัมมาวาจาเจตสิกเช่นนี้ ผมเข้าใจว่าแม้แต่ในสังคมโลกปัจจุบันนี้เราก็ต้องการ และนอกจากนั้น
แล้วมันยังเป็นพื้นฐานในการรองรับของศีล ที่เรามีอยู่กับทุกๆ คน ซึ่งบาทของศีลตัวนี้แหละ ถ้าเรามีสัมมาวาจาเจตสิก
แล้ว เราก็เชื่อได้แน่ว่า ศีลของเราเฉพาะวจีกรรมจะไม่มีการด่างพร้อยแต่ประการใด
นอกจากวิรตีเจตสิก นอกจากสัมมาวาจาแล้ว ยังมมีอีกตัวหนึ่งก็ได้เรียกว่า สัมมากัมมันตเจตสิก สัมมากัมมันต
เจตสิกนี้ได้แก่ การประกอบการงานที่ชอบ การงานที่ไม่ทุจริต การงานที่ชอบหรือการงานที่ไม่มีทุจริตนั้นก็ได้แก่
การเว้นจากกายทุจริตทั้ง ๓
เราไม่มีการงานเช่นนั้น เว้นกายทุจริต ๓ นั้น ๑. ก็ได้แก่ การเบียดเบียนสัตว์ที่มีชีวิต
เราไม่มีอาชีพกันเช่นนั้น ๒. การลักทรัพย์ ๓. การล่วงประเวณี ซึ่งไม่ใช่อาชีพของเรา สัมมากัมมันตะนี้ มันมีอยู่
ด้วยกัน ๓ ประการ
ประการที่ ๑ เรียกว่า ยถาพลังสัมมากัมมันตะ ได้แก่ การทำงานโดยชอบ การงานนั้นไม่ทุจริต มีการประกอบ
กุศลเป็นต้น ตามกำลังของตน
อันนี้เราจะเห็นได้ว่า สัมมากัมมันตะตัวนี้เกี่ยวกับการทำกุศลซึ่งเราจะเห็นว่าเรื่องการทำ
กุศลขั้นกามาวจรกุศลนั้น ตามปกติมันเป็นเรื่องของขนบประเพณีที่เราได้ประพฤติปฏิบัติกันมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย แต่บาง
คนที่ทำนั้นก็มีสัมมากัมมันตเจตสิก แต่บางคนก็ไม่มี นอกจากยถาพลังสัมมากัมมันตะแล้ว ยังมีเจตนาสัมมากัมมันตะ
อีกตัวหนึ่ง
๒. เจตนาสัมมากัมมันตะ ตัวนี้หมายถึง เจตนาที่ตั้งใจของเราเอง โดยไม่ต้องประกาศโฆษณาใครเขา ซึ่ง
ไม่เหมือนบางแห่ง หรือบางคน เจตนาตัวนี้เจตนาอย่างไร เจตนาที่จะละกายทุจริตทั้ง ๓ ไม่ให้เข้ามาข้องแวะในชีวิต
ของเราเลย นี่เป็นเจตนาที่หวังผลในทางกุศล โดยไม่มีใครบังคับ มันเกิดขึ้นมาจากจิตใจของเราเองเท่านั้น นอกจากนี้
แล้ว ยังมีอีกตัวหนึ่งเรียกว่า วิรตีสัมมากัมมันตะ
๓. วิรตีสัมมากัมมันตะ ได้แก่ การเว้นจากกายทุจริตทั้ง ๓ ในเมื่อมีอารมณ์ที่ควรจะมาล่วงศีลมา
ปรากฏอยู่เฉพาะหน้า
หมายถึงว่า บางขณะมันมีเหตุการณ์ที่เราจะทำให้ มันมีเหตุการณ์ที่สนับสนุนที่จะให้เรามีการ
ล่วงกายทุจริต ๓ นั้น แต่เรามีสัมมากัมมันตเจตสิกแล้ว เราจะไม่ล่วงศีลข้อนี้
ฉะนั้น ปัญหาในเรื่องการคอรัปชั่นทั้งหลายในปัจจุบันนี้ ที่เกิดขึ้น ก็เพราะว่า เกิดขึ้นโดยว่าขาดสัมมากัมมันตเจตสิก
ตัวนี้ ประเภทวิรตีสัมมากัมมันตะตัวนี้แหละ ปัญหาคอรัปชั่นมันถึงได้เกิดขึ้นแพร่หลายทั่วประเทศในขณะนี้ ฉะนั้น
พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในข้อนี้ เราจะเห็นได้ว่าปัญหาในเรื่องการคอรัปชั่นนั้น ไม่ใช่อยู่ที่
เออ การที่เราจะป้องกันกันด้วยกฏหมายและระเบียบแบบแผน หรืออำนาจใดๆ ไม่สามารถป้องกันการคอรัปชั่นได้
เพราะว่า กฏหมายก็ดี ระเบียบแบบแผนก็ดี ทั้งหลายนั้นออกมาภายหลัง หรือกำหนดว่ามันจะมีสิ่งนั้นๆ บังเกิดขึ้น
และเมื่อมีกฏหมายและระเบียบเช่นนั้นเกิดขึ้นแล้ว ความโลภะของคนนั่นแหละ มันจะหาทางออกซึ่งเลี่ยงกฏหมาย เลี่ยง
ระเบียบแบบแผน นั่น เพราะอะไร เพราะว่า กฏหมายหรือระเบียบแบบแผนนั้น แก้ไขได้เฉพาะการกระทำทางกาย
และวาจาเท่านั้น แต่การคอรัปชั่นนั้น มันเป็นการทุจริตที่เกิดขึ้นทางใจก่อน มันถึงจะวางแผนต่อไปทางวาจาและทางกาย
ฉะนั้นการแก้ปัญหาใหญ่อันนี้ ถ้าไม่แก้ด้วยสภาพของจิตใจแล้ว ไม่มีทางที่จะทำความสำเร็จให้เกิดขึ้น เห็นไหม เป็น
เวลาเพียงไม่กี่สิบปี ปัญหาในเรื่องคอรัปชั่นนี่ ผมยืนยันได้ว่ามันเกิดขึ้นทีหลัง ภายหลังสงคราม ก่อนที่สงครามนั้นมัน
มีกันเล็กน้อยเหลือเกิน ซึ่งถ้าในสมัยราชาธิปไตยสมัยที่มีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีการถือน้ำพิพัฒน์
สัตยา ในชีวิตของผมมีข่าวคอรัปชั่นคนหรือสองคนเท่านั้น แล้วแพร่สะพัดกันไปหมดเลยทั้งบ้านเมือง นี่ไม่มีใครคบค้า
สมาคมเลย และภายหลังสงคราม แม้แต่ขณะที่สงคราม การคอรัปชั่นก็ยังไม่เกิดขึ้นแพร่สะพัดไปแค่นี้ ภายหลังสงคราม
แล้ว เราได้รับวัฒนธรรมต่างๆ จากต่างประเทศ เราลืมเสียซึ่งพุทธศาสนา ไม่มีใครสนใจเรื่องพุทธศาสนา นี่แหละ
มันเป็นรากเหง้าและพื้นฐานของการคอรัปชั่น ความยุ่งเหยิงทางจิตใจเกิดขึ้น
ในสมัยผมเล็กๆ ผมเรียนหนังสือ
ผมยังจำได้จนบัดนี้ ฉะนั้นในชีวิตผมนี่ ผมไม่เคยเลยที่จะเปรอะเปื้อนในตำแหน่งหน้าที่ ทั้งๆ ที่ผมมีอำนาจตามกฏหมาย
ครูสอนอย่างไร หิริตัวหนึ่ง โอตตัปปะตัวหนึ่ง แต่ก่อนเมื่อเล็กๆ สอนทำไมกันแค่นี้ อ้ายหิริโอตตัปปะเอาไปทำไมได้
พอผมโตขึ้นมาทำหน้าที่ราชการ ผมรู้ค่าของมันเหลือเกินว่า หิริ โอตตัปปะนี่ ทำไมผมยืนด้วยขาของผม ด้วยชื่อเสียง
ของผมไม่เคยด่างพร้อยในเรื่องนี้ นี่นั้นอะไร ทั้งๆ ที่ผมก็ไม่มีความอุดมสมบูรณ์ มีแต่เงินเดือนกินเท่านั้น เพราะอะไร
เพราะว่าอ้ายศีลธรรมนี่มันสะกิดใจอยู่เสมอ ไม่ใช่ว่าผมไม่มีโอกาสจะคอรัปชั่นหรือไปทำอะไรอย่างนั้น ไม่ใช่ มันไม่
อยากทำ แม้แต่มีโอกาสก็หลีกเลี่ยงมันไป นี่อ้ายความไม่ต้องการเช่นนี้ มันเกิดขึ้นจากหิริตัวหนึ่ง โอตตัปปะตัวหนึ่ง
นี่ผมจำมาได้จนถึงเดี๋ยวนี้ นั่นอะไร ไม่ใช่เรื่องการฝึกอบรมจิตใจหรอกหรือ การฝึกอบรมจิตใจนั้น เราฝึกอบรมกัน
ด้วยหลักการในพุทธศาสนา และเวลานี้ผมเศร้าใจ และเสียใจในระบบสังคมของเรา เวลานี้กำลังถูกล้างสมองในเรื่อง
ของสังคมนิยม สังคมนิยมทำอย่างไร เขาล้างจิตใจเสียก่อน เขาไม่ได้เอาอำนาจ ทำไมการต่อสู้ทำไมเราไม่ต่อสู้ด้วย
เรื่องสภาพของจิตใจ นี่ การที่เราจะออกกฏหมายไปโฆษณาไม่มีทาง นี่แหละ ผมทิ้งเอาไว้ให้คิดเรื่องของวิรตีเจตสิก
นอกจากสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะแล้ว ยังมีอีกตัวหนึ่งคือ สัมมาอาชีวเจตสิก สัมมาอาชีวเจตสิกนี้หมายถึง
ความเป็นอยู่ชอบ การเลี้ยงชีพชอบ การประกอบอาชีพที่สุจริต เว้นจากการทุจริต ๗ ทุจริต ๗ นี้หมายถึง
กายทุจริต ๓ และวจีทุจริต ๔ ถือเป็นอาชีพ
สัมมาอาชีวะนี้มีอยู่ ๒ ประการ
ประการแรก เรียกว่า วิริยะสัมมาอาชีวะ ได้แก่ ความเพียรในการที่จะกระทำการงานหาเลี้ยงชีพ โดย
ชอบธรรม
ประการที่ ๒ เรียกว่า วิรตีสัมมาอาชีวะ ได้แก่ การงดเว้นกายทุจริต ๓ วจีทุจริต ๔ เกี่ยวกับอาชีพ
เราจะเห็นได้ ความแตกต่างระหว่างสัมมาอาชีวะ ๒ ประเภทนั้น ประเภทแรกวิริยสัมมาอาชีวะนั้น คือเพียรที่
จะทำงานเลี้ยงชีพโดยชอบธรรม ใช้ว่าโดยชอบธรรมนะ ซึ่งก็ได้แก่การปฏิบัติถูกต้องตามกฏหมาย ขนบประเพณี
ระเบียบและวัฒนธรรมต่างๆ แต่วิรตีสัมมาอาชีวะนี่งดเว้นกายทุจริต วจีทุจริต กายทุจริต ๓ วจีทุจริต ๔ เกี่ยวกับ
อาชีวะ เกี่ยวกับอาชีพนี่ ศีลธรรมเข้ามาแล้ว เห็นไหม แม้แต่กฏหมายจะไม่ได้บังคับไว้เช่นนั้น ถ้ามันผิดศีลธรรม
เขาจะไม่ทำ ฉะนั้น ตัวหลังนี้มีความละเอียดอ่อนมากกว่าตัวแรก
เจตสิกทั้ง ๓ ดวงนี้ ได้แก่ สัมมาวาจาเจตสิกก็ดี สัมมากัมมันตเจตสิกก็ดี และสัมมาอาชีวเจตสิกก็ดี มันมีการไม่
ล่วงกายทุจริต เป็นต้น เป็นลักษณะ มีการเว้นกายทุจริตเป็นกิจ มีการไม่ทุจริตเป็นผล มีคุณธรรมคือ ศรัทธาหนึ่ง
หิริหนึ่ง โอตตัปปะหนึ่ง เป็นเหตุใกล้ เห็นไหม ทั้ง ๓ ตัวนี้ คือศรัทธา หรือความเชื่อมั่นในหลักการของพุทธศาสนา
นั่นคือ การเชื่อในกฏของกรรมหรือหลักของกรรมว่า คนใดทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วแล้ว ประกอบด้วยหิริ โอตตัปปะแล้ว
ปัญหาความยุ่งยากในสังคมปัจจุบันนี้มันจะมีขึ้นไม่ได้ แต่เราไม่ได้นึกถึงความสำคัญของธรรมะ เรามาแก้กันในด้าน
หลักวิชา ในหลักวิชานั้นควบคุมกันได้เฉพาะเรื่องการกระทำภายนอก ซึ่งมีกฏหมายและระเบียบแบบแผนควบคุม
กันไว้เท่านั้น เห็นไหม ความลึกซึ้งของธรรมะ ถ้าเรามีความคิดที่ดี ปัญหาเศรษฐกิจในเมืองไทย ไม่ใช่เรื่องที่จะแก้
กันไม่ได้ แต่เราลืมนึกถึงธรรมะ คิดว่าธรรมะนั้นเพียงแต่คนแก่ๆ เขาปฏิบัติกันเท่านั้น แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร
ทำไมเราถึงไม่ลองดึงเอาเรื่องของศรัทธาหรือความเชื่อ ศรัทธาในเวลานี้ประชาชน ๔๓ ล้านคน ไม่ได้อยู่ที่จุดหนึ่ง
จุดใดในเรื่องของผู้บริหาร แต่อยู่กับผู้นำของชาติ นี่ แต่กฏหมายไม่มีใครคำนึงถึง ไม่มีทางใดเลยที่จะแก้กันได้
เพราะว่าคนเราทุกคนมันใหญ่กันทั้งนั้น ฝ่ายประชาธิปไตยก็ใหญ่ ฝ่ายสังคมนิยมก็ใหญ่ ก็ทุกๆ อย่างเราไม่ใหญ่
มันเสีย เรายกกึ่งกลางให้มันเป็นใหญ่ จับพระพุทธเจ้าให้เป็นใหญ่ดูซิ ใครจะมาต่อสู้ แล้วเราก็หันมาดูซิ ใครจะว่า
อย่างไรเวลานี้ อย่าว่าแต่พวกเราเลย แม้แต่พระห่มผ้าเหลืองๆ ยังแย่แล้ว แล้วเราจะไปแก้อะไร ปัญหา หนังสือพิมพ์ลง
วิทยุออกข่าว เอ้า ผู้ใหญ่ขโมยพระ พระแจ้งจับผู้หญิง ผู้หญิงบอกเป็นเมียพระสนุกดี ไหวหรือ ที่ผมพูดไม่ใช่ว่า
พูดเล่นๆ พูดจริงๆ นี่ ปัญหาความยุ่งยากทั้งหลาย ถ้าเราไม่แก้ด้วยจิตใจไม่มีทาง ฉะนั้นการที่จะเข้าถึงจิตใจได้
มีพุทธศาสนาประการเดียวเท่านั้น และพวกเราทุกคนก็ประสบมาแล้วว่า เราแต่ก่อนนี้ เรามีจิตใจยุ่งยาก เพราะเรา
ยังไม่ได้แก้ไขจิตใจของเรา แล้วเดี๋ยวนี้เหตุการณ์มันก็อ้ายอย่างนั้นแหละ ทำไมล่ะ เราถึงได้มีจิตใจไม่ยุ่งยากเหมือน
แต่ก่อนนี้ เพราะเราเอาชนะจิตใจของเราได้ แม้แต่มันไม่ตลอดไปจนถึงขั้นลุกิเลส มันก็ยังระงับชั่วคราว เราก็ยังไม่ทำ
ความเดือดร้อนให้กับตัวเราเองหรือผู้อื่น นี่ มันเป็นอย่างนี้
ทีนี้เมื่อได้พูดมาถึงวิรตีเจตสิกแล้ว ผมก็อยากจะพูดถึงเรื่อง อัปปมัญญาเจตสิก อีก ๒ ดวง อัปมัญญาเจตสิก
อีก ๒ ดวงนี้ก็ได้แก่ กรุณาเจตสิก ตัวหนึ่ง กับ มุทิตาเจตสิก อีกตัวหนึ่ง
กรุณาเจตสิกนี้หมายถึง มีความสงสาร อยากจะช่วยเหลือสัตว์ที่ได้กำลังรับทุกข์อยู่ หรือที่จะได้รับ
ทุกข์ในภายหน้าให้พ้นทุกข์
นี่เป็นความหมายของกรุณาเจตสิก และมีการได้เห็นผู้อื่นเป็นทุกข์ ย่อมมีความสงสาร
อันนี้เป็นลักษณะของเจตสิกตัวนี้ ฉะนั้นจำไว้ว่าเราจะสังคมกับใครก็ดี ถ้าเขาอ้างว่าเขามีความกรุณาแก่เรา เราดู
ซิมันเข้าลักษณะตัวนี้ไหม เจตสิกตัวนี้ไหม ถ้ามันไม่เข้า มันก็ไม่เป็นกรุณาเจตสิกตัวนี้ มีการไม่ชอบเห็นทุกข์ของผู้อื่น
เป็นกิจ นี่เป็นหน้าที่ของกรุณา ไม่ต้องการเห็นใครเป็นทุกข์ ฉะนั้นเราเปรียบเทียบกันในสังคมปัจจุบันนี้ซิ มีไหม มีไหม
เช่นนั้น มีแต่ขอให้คนอื่นทุกข์มากๆ ตัวฉันเองไม่ให้ทุกข์ให้มีแต่สุขเท่านั้น ใช่ไหม แม้แต่ผู้ที่ไม่ได้แต่งตัวเหมือนพวกเรา
โกนหัวห่มผ้าเหลือง ห่มขาว กรุณาหรือ ถ้ากรุณาพวกเราคงไม่ได้ร้องโอดโอยกันตั้งหลายๆ วันหนึ่งตั้งหลายๆ คนเช่นนี้
นี่หรือกรุณา โฆษณาทำไมว่ากรุณา มันไม่ใช่ตัวนี้นี่ มันกลายเป็นคน การเห็นให้คนอื่นเขาได้รับทุกข์นี่ฉันชอบ เขาจะ
ได้มาก้มกราบฉัน จะได้มาทำประโยชน์ให้ฉัน มันไม่ใช่กรุณา นี่ นอกจากนั้นแล้วมันมีความไม่เบียดเบียนกันเป็นผล
นี่เป็นความหมายของคำว่ากรุณา และมีการได้เห็นสัตว์อนาถาอันถูกทุกข์ครอบงำนั้นเป็นเหตุใกล้
ผมพูดถึงเรื่องกรุณานี้แล้ว อยากจะให้พวกเราได้เข้าใจศัพท์บางตัวคือ อวิหิงสา กับ กรุณา อวิหิงสา นี่ ไม่เบียด
เบียนผู้อื่น
ฟังให้ดีนะ อวิหิงสานี่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น แต่กรุณานี่ไม่เบียดเบียนผู้อื่นแล้ว ยังประสงค์จะช่วยผู้อื่นให้
พ้นทุกข์อีก ราคามันมากกว่ากัน เห็นไหม นอกจากนั้นแล้ว นอกจากอวิหิงสากับกรุณาที่จะ compare กันแล้ว ยังมี
อีกตัวหนึ่ง โสกะกับกรุณา โสกะ นี่ เราสูญเสียของที่เรารัก เราก็เศร้าโศก กรุณานี่ เห็นผู้อื่นเขาสูญเสียของที่
เขารัก เราก็ช่วยให้เขาพ้นทุกข์จากความเศร้าโศกนั้น ฉะนั้น เมตตาก็ดี กรุณาก็ดี มันเป็นอพยาปาท คือความไม่
ผูกโกรธ ถ้าเรามี ๒ ตัวนี้แล้ว เวรย่อมไม่มีต่อกัน ที่ว่าเราแผ่เมตตา แผ่เมตตานี่แหละ เป็นความหมายของอันนี้
แต่ก็มีพวกเราบางคนบอกว่าเวรมันมีต่อกันในชาติก่อน มันตามมาเกิดเป็นคนด้วยกันแล้ว ทำอย่างไรถึงจะมีเมตตา
ต่อกันได้ อ้ายเราน่ะมีเมตตาต่อเขา แต่เขาไม่มีเมตตากับเรา เราจะทำอย่างไร พูดกันรู้เรื่องหรืออย่างนี้ ฉะนั้นทาง
ที่ดีที่สุดยอมรับวิบากมันเสียเถอะ ประกอบด้วยปัญญา อุเบกขาเอามาใช้ อย่าไปหวังเลยที่จะเมตตากรุณาต่อเราน่ะ
ไม่มีทางหรอก
นอกจากกรุณาเจตสิกแล้ว ก็มาอีกตัวหนึ่งคือ มุทิตาเจตสิก มุทิตาเจตสิก นี้หมายถึง พลอยยินดีด้วยเมื่อรู้ว่า
เขามีความสุข มีความยินดีต่อสัตว์ที่ได้รับความสุข
ในสังคมในของเมืองไทยเรา ๔๓ ล้านคน ผมว่ามุทิตาเจตสิก
นี่จะหาลำบากสักหน่อย เพราะว่าหลักของเรา ใครดีกว่าไม่ได้ ผลประโยชน์ขัดกันต้องบรรลัย นี่เป็นของแน่แท้ของ
ปัจจุบัน สำหรับมุทิตาเจตสิกนี้ ก็มีความยินดีด้วยสุขของผู้อื่นเป็นลักษณะ จำไว้นะ ผู้ที่จะก้าวไปถึงขั้นโลกุตตรกุศลนี่
ลักษณะของรูปและนามจำไว้ให้ดี แล้วเราจะได้ไม่ต้องมาเถียงกันทีหลัง ไม่ต้องมานั่งสงสัยกัน มุทิตาเจตสิกนี่มีการ
ไม่อิจฉาริษยาเป็นกิจ หรือหน้าที่ มีความปรารถนาให้ผู้อื่นเจริญเป็นผล มีการได้เห็นสัตว์มีสมบัติเป็นเหตุใกล้
เราจะรู้ว่าคนมีมุทิตาหรือไม่ เราสังเกตดูซิ ถ้าคนนั้นพูดถึงคนอื่นเขาดีกว่า มั่งมีกว่า เขาเป็นอย่างไร ถ้าเขาสรรเสริญ
เขาอนุโมทนา อ้ายนี่เขามุทิตา แต่หาลำบากในเมืองไทย
ทีนี้ ยังมีอีกตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวสุดท้ายของเจตสิก และเป็นตัวที่เราแสวงหากันอย่างยิ่ง นั่นคือ ปัญญาเจตสิก
ปัญญาเจตสิกตัวนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ปัญญินทรียเจตสิก ปัญญาเจตสิกนี่หมายถึง ความรู้ในเหตุในผล
แห่งความจริงของสภาวธรรม และทำลายความเห็นผิด หรือ เป็นเจตสิกที่มีความรู้เป็นใหญ่ ปกครอง
สหชาตธรรมทั้งปวง
จาก definition ของปัญญาเจตสิก อันนี้ เราจะเห็นได้ว่า ความรู้ความสามารถของพวก
เราทุกคน ทั้งที่ได้ปริญญาและไม่ได้ปริญญามานั้น ไม่ใช่ปัญญาเจตสิกตัวนี้ ปัญญาตัวนี้ เป็นปัญญาที่รู้ความจริง
ของสภาวธรรม นั่นคืออะไร รูปและนามตัวหนึ่ง และธรรมเป็นตัวทำลายความเห็นผิด อะไรความยึดมั่นถือมั่น
ถ้าเราทำตัวนี้ให้เกิดขึ้นได้ พวกเราก็สบายใจ แต่ตัวนี้มันจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าเราไม่มีสติเป็นเครื่องชักจูงมัน ฉะนั้น
เราจะเห็นได้ว่า ปัญญาเจตสิกนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงหมายถึง ตัวรู้สำหรับจะมาทำลายอวิชชาคือตัวไม่รู้
นั่นเอง เห็นไหม
ทีนี้ ปัญญาเจตสิกนี้ มันก็มีความรู้แจ้งซึ่งสภาวธรรมนั้นเป็น ลักษณะ รู้แจ้งนะ รู้แจ้งนะ ไม่ใช่รู้ตามอ่าน หรือ
สุตมัยปัญญา หรือจินตมัยปัญญา อ้ายนี่มันเป็นการรู้ขั้นภาวนามัยปัญญาซึ่งขั้นสูง ซึ่งคำว่ารู้แจ้งอันนี้แห่งสภาวธรรม
คือรู้อย่างไร รู้ด้วยญาณะของการเจริญวิปัสสนานั่นเอง มีการกำจักความมืดคือ ความไม่รู้เป็นกิจและหน้าที่ มีความ
ไม่หลงเป็นผล คือตัวโมหะนั่นเอง ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว โมหะจะเข้ามาไม่ได้เด็ดขาดเลย และมีสมาธิเป็นเหตุใกล้
หรือพื้นฐานที่เราเรียกกันเสมอๆ ว่า ศีลนั้นเป็นบาทของสมาธิ สมาธิเป็นบาทของปัญญา ปัญญาตัวนี้ไม่ใช่ปัญญที่เรา
จะไปทำมาหากิน ไปคดไปโกงเขา ไม่ใช่ คนละเรื่อง ปัญญาที่จะมองทะลุธรรมออกไป ปัญญานี้ในขั้นต่ำๆ เราแจกแจงออก
ไปดังนี้คือ กัมมสกตาปัญญา คือ ปัญญารู้ว่ากรรมเป็นสมบัติของตน ตัวหนึ่ง ตัวหนึ่งนะ ตัวต้น แต่ผมว่าสังคม
ปัจจุบันนี้ปัญญาตัวนี้หาลำบากนี่ขั้นต้น กัมมสกตาปัญญานี้ ปัญญาที่รู้แจ้งว่ามีกรรมเป็นสมบัติของตนและปัญญาตัวที่
สองคือ ปัญญาที่รู้ว่าขันธ์ ๕ รูปนาม เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่เกิดขึ้นจากผลของการเจริญวิปัสสนาเท่านั้น
ปัญญาตัวที่ ๓ คือ โลกุตตรปัญญา คือ ปัญญารู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจจ์ ๔ นี่ที่ผมพูดมาแค่นี้แล้ว พวกเราก็
อาจจะสงสัยว่าอ้ายตัวต้นนั่นแหละที่เรียกว่า กัมมสกตาปัญญา เรียกว่าปัญญามีความเห็นว่าสัตว์มีกรรมเป็นสมบัติ
ของตนนั่นน่ะ มันมีเป็นประการใด ปัญญาตัวนี้มันแบ่งเป็น ๑0 ประการ ดังนี้คือ
๑. ปัญญารู้เห็นว่า ทานที่บุคคลให้แล้วย่อมมีผล
ตัวที่ ๒ ปัญญารู้เห็นว่า การบูชาย่อมมีผล
ตัวที่ ๓ ปัญญาเห็นว่า การบวงสรวงเคารพเทวดาย่อมมีผล
ตัวที่ ๔ ปัญญารู้เห็นว่า ผลของวิบากของกรรมดี และกรรมชั่วมีอยู่จริง
ตัวที่ ๕ ปัญญารู้เห็นว่า โลกนี้มีอยู่ ผู้ที่จะมาเกิดนั้นต้องมี ไม่ใช่ลัทธิบางลัทธิ
๖. ปัญญารู้เห็นว่า โลกหน้ามีอยู่ และผู้ที่จะไปเกิดนั้นก็มี หมายถึง ๓๑ ภพภูมิ
ข้อที่ ๗ ปัญญารู้เห็นว่า มารดามีอยู่ คำว่ามารดามีอยู่นี่ ถ้าใครไปกระทำความชั่วต่อมารดา นั่นอะไร อนันตริยกรรม
และตัวที่ ๘ ปัญญาเห็นว่า บิดามีอยู่ นั่น การทำความดีหรือความชั่วให้แก่บิดามารดานั้น มันเป็นครุกรรม เราทำ
ความดี มันก็เป็นผลครุกรรมทางความดี ถ้าทำความชั่ว มันก็เป็นผลครุกรรมทางความชั่ว ไม่ใช่ว่าสังคมปัจจุบันนี่พ่อ
แม่ไม่มีความหมาย ไม่มีบุญคุณ อะไร ไม่ใช่อย่างนั้น นี่
ตัวที่ ๙ ปัญญารู้เห็นว่า โอปปาติกสัตว์นั้นมีอยู่จริง เห็นไหม ไม่ต้องมานั่งพิสูจน์ หลับหูหลับตาทำโน่นทำนี่
ประกาศอะไรทำไมมี ว่าเขาไม่มีปัญญาอย่างไรก็ช่างเขาประไรล่ะ เรื่องอะไรของเรานี่
ตัวที่ ๑0 ตัวสุดท้าย คือปัญญาเห็นว่า สมณพราหมณ์ ผู้ปฏิบัติดี ผู้ปฏิบัติชอบ ผู้ที่ประกอบด้วยความรู้ยิ่ง ผู้ที่เห็น
จริงประจักษ์ทั้งโลกนี้โลกหน้า มีอยู่ และประกาศให้ผู้อื่นรู้ในเรื่องของความจริงหรือธรรมะนั้นๆ ( คือ สมเด็จพระสัมมา
สัมพุทธเจ้า ) มีอยู่จริง ไม่ใช่เรื่องแต่งขึ้น
นี่เป็นตัวเรียกว่า กัมมสกตาปัญญา คือปัญญาในขั้นต้นๆ เราไม่ต้องเอาไปถึงขั้นสุดท้ายหรอก เพียงขั้นนี้แหละ
สังคมปัจจุบันส่วนใหญ่ไม่มีเสียแล้ว เมื่อไม่มีเสียแล้วเช่นนี้ ความสงบเรียบร้อยมันจะเกิดขึ้นภายในบ้านเมืองไทย
ซึ่งเป็นพุทธศาสนาได้อย่างไร มีใครนึกถึงไหมว่าที่จะยัดเยียดป้อนให้มันรู้ตั้งแต่เด็กๆ โตขึ้นมันจะได้เข้าใจ เราจะได้
ไม่มีปัญหาในเรื่องสังคมอย่างทุกวันนี้
ตามที่ผมได้กล่าวมานี้ก็เป็นเรื่องของเจตสิก ๕๒ ซึ่งผมได้กล่าวมาตั้งแต่ต้น มันเป็นเรื่องของนามธรรมตัวหนึ่ง
ทีนี้ยังมีเรื่องจิต จิตนี่ผมคิดว่า เออ ผมจะไม่พูดถึงรายละเอียดให้มากนัก เพราะว่าถ้าพูดถึงรายละเอียดจนเกินไปแล้ว
มันอาจจะทำให้เราต้องแบกภาระอันหนักไป
สำหรับจิตนี่ ผมอยากจะให้พวกเราได้รับรู้ไว้เป็นหลักการใหญ่ๆ จิต นี่หมายถึง ธรรมชาติชนิดหนึ่ง ซึ่งรู้อารมณ์
อย่าลืมว่าจิตนี่เป็นวิญญาณขันธ์ ของขันธ์ ๕ จิตเป็นตัวรู้ สิ่งใดที่จิตรู้ นั่นเป็นอารมณ์ เราจงจำไว้ว่า จิตรู้สิ่งใด
สิ่งนั้นแหละเป็นอารมณ์ จงจำไว้ จิตนั้นเป็นธรรมชาติที่ย่อมคิด และมีชื่อเรียกต่างๆ กันดังนี้
ถ้า จิตทำหน้าที่คิด เขาเรียกกันว่า จิต
ถ้า ธรรมชาติใดน้อมไปหาอารมณ์ ธรรมชาตินั่นเรียกว่า มโน ก็คือจิตนั่นเอง แต่เขาก็เรียกต่างๆ กัน
จิตนั้นแหละรวบรวมอารมณ์ไว้ภายใน ล่ะก็เรียกว่า หทัย
ธรรมชาติคือฉันทะที่มีในใจ นั่นเองเรียกว่า มนะ จิตนั่นเองนั่นแหละ
จิตที่เป็นธรรมชาติที่ผ่องใส เรียกว่า ปัณฑระ อ้ายนี่พวกเราอาจจะไม่ค่อยได้ยินสักหน่อย แต่ที่นำมาพูดในที่นี้
เพื่อจะพูดอะไรกันไปเราก็จะได้เข้าใจกันได้
มนะนั่นน่ะเป็นอายตนะ คือเครื่องต่อ เรียกว่า มนายตนะ จิตอีกแหละ เช่น ตาเห็นรูป รูปนั้นก็เป็นรูป ตานั้น
ก็มีปสาทรูป การเห็นนั้นเป็นมนายตนะ นั่นคือ จักขุวิญญาณมันเกิดขึ้น นั่นก็คือจิตอีกนั่นแหละ
มนะซึ่งเป็นอินทรีย์ คือครองความเป็นใหญ่ เรียกว่า มนินทรีย์ หมายความว่า ครองความเป็นใหญ่ ในการ
คิดนึกอะไรทั้งหมด
และธรรมชาติตัวที่ ๘ ธรรมชาติใดที่รู้แจ้งซึ่งอารมณ์ ธรรมชาตินั้นเรียกว่า วิญญาณ เห็นไหม
ที่เรามาเรียกกันว่า วิญญาณขันธ์ วิญญาณที่เป็นประเภทขันธ์ เรียกว่า วิญญาณขันธ์
มนะจัดเป็นธาตุชนิดหนึ่ง รู้แจ้งอารมณ์ เราเรียกว่า มโนวิญญาณธาตุ ซึ่งเราจะได้ประพฤติปฏิบัติกันต่อไป
ในเรื่องเกี่ยวกับธาตุ ๑๘ นั่นแหละ นั่นก็คือจิตตัวนี้ นี่
สภาพของจิตนั้นมันมีครบบริบูรณ์ในเรื่อง สามัญลักษณะ คือมีความเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ไม่มั่นคง ไม่ยั่งยืน
แล้วก็เป็นตัวทุกข์ที่ทนไม่ได้คือทุกขัง และเป็นอนัตตา ซึ่งพร้อมในสามัญลักษณะ แต่ลักษณะพิเศษๆ นั้น มีการ
รู้อารมณ์เป็นลักษณะของจิต เป็นประธานในธรรมทั้งปวงเป็นกิจ มีการเกิดขึ้นต่อเนื่องกันไม่ขาดสายเป็นอาการปรากฏ
มีนามรูปเป็นเหตุใกล้ นี่เป็นควาหมายของจิต
ผมแนะนำให้คุณเพียงเท่านี้ สำหรับในเรื่องนามธรรม และวันอาทิตย์ต่อไป เราก็คงจะนำความรู้เกี่ยวกับธรรมะ
ซึ่งสัมพันธ์กับการประพฤติปฏิบัติมาพูดสนทนากัน ที่ผมพูดมานี้ ในชุด เรื่องทำความรู้จักกับนามธรรม ก็เป็นอันว่าจบ
เพียงแค่นี้

เรื่องทำความรู้จักกับนามธรรมตอนที่ ๑0 จบ