คำนำ
( เมื่อพิมพ์ ครั้งแรก )
วิสุทธิมรรค
เป็นปกรณ์พิเศษที่พระเถระชาวชมพูทวีปผู้มีชื่อเสียงรูปหนึ่งได้รจนาขึ้น เมื่อพระพุทธศาสนา
ล่วงไปได้ประมาณ ๑,000 ปี ที่ลังกาทวีป พระเถระรูปนี้คือ พระพุทธโฆสะ เป็นที่รู้จักกันมาในเมืองไทย และในเมือง
ที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งปวง เพราะท่านได้ทำหนังสือทางพระพุทธศาสนาที่เป็นภาษามคธ ( บาลี ) ไว้มาก
งานใหญ่ที่เป็นมรดกตกทอดมาถึงเราทั้งหลาย ก็คือ งานแปลคัมภีร์อรรถกถาพระไตรปิฎกจากภาษาสีหฬ ( ลังกา )
เป็นภาษามคธ หรือ ภาษาบาลี ในเมืองไทยได้เรียนคัมภีร์ที่ท่านทำไว้เป็นภาษามคธตั้งแต่ประโยค ๓ คือ อรรถกถา
ธรรมบท จนถึงประโยค ๙ คือ วิสุทธิมรรค โดยเฉพาะหนังสือวิสุทธิมรรคเป็นเรื่องที่นิยมศึกษากันมาก นับถือว่า
เป็นปกรณ์สำคัญปกรณ์หนึ่ง เพราะท่านพระพุทธโฆสะได้ประมวลธรรมในพระไตรปิฎก มาแสดงไว้เป็นหมวดๆ ตั้ง
แต่ศีล และสมาธิ ปัญญา โดยลำดับ วิธีแต่งเหมือนอย่างแต่งกระทู้ หรือเรียงความแก้กระทู้ธรรมในปัจจุบัน คือ ขยาย
ความย่อให้พิสดาร บทกระทู้ของวิสุทธิมรรค ว่าด้วยไตรสิกขา ซึ่งเป็นหัวข้อใหญ่ในพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น นับว่า
เป็นบทกระทู้ของหัวใจการปฏิบัติธรรมทีเดียว
ท่านพระพุทธโฆสะแต่งอธิบายโดยวิจิตรพิสดารอย่างเป็นระเบียบ
เรียบร้อย ได้อ้างพระพุทธวจนะเป็นอาคตสถานไว้ในที่นั้นๆ ทั่วไป แสดงว่าท่านมีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก
สามารถยกเอาธรรมที่ว่าด้วยศีล มารวมไว้ในหมวดศีล ยกเอาธรรมที่เกี่ยวกับสมาธิรวมไว้ในหมวดสมาธิ ยกเอาธรรม
ที่กล่าวถึงปัญญามารวมไว้ในหมวดปัญญา โดยแยกออกเป็นนิเทศๆ รวมทั้งหมด ๒๓ นิเทศ และประวัติแห่งการแต่ง
วิสุทธิมรรคปกรณ์ของท่านก็คล้ายกับการแต่งสอบไล่ เพราะพระเถระชาวสีหฬได้ออกกระทู้ให้ท่านแต่งดูก่อน
เมื่อท่านทำได้เป็นที่พอใจจึงจะยอมยกคัมภีร์อรรถกถาภาษาสีหฬ ให้ท่านแปลเป็นภาษามคธต่อไป ท่านพระพุทธ
โฆสะได้ทำสำเร็จอย่างรวดเร็วและดียิ่ง เป็นที่พอใจของพระเถระชาวสีหฬทั้งปวง ฉะนั้น คัมภีร์วิสุทธิมรรค
นี้จึงเป็นวิทยานิพนธ์สอบความรู้ของท่านพระพุทธโฆสะ ที่รับรองกันว่า เป็นชั้นเยี่ยมมาตั้งแต่เบื้องต้น และเป็น
ที่รับรองกันในหมู่นักศึกษาตลอดมา
วิสุทธิมรรคปกรณ์นี้ แม้จะได้ใช้เป็นหลักสูตรการศึกษาของพระปริยัติธรรมแผนกบาลีแห่งคณะสงฆ์ประเทศไทย
มานาน แต่สำนวนแปลเป็นภาษาไทยยังมีน้อย และที่เป็นหลักฐานก็มีเพียงบางตอนที่เป็นการแปลเฉลยข้อสอบ
สนามหลวง นักเรียนต้องคัดลอกจากผู้ได้รวบรวมไว้มาศึกษากัน จะอาศัยสำนวนที่แปลกันภายนอกของแต่ละบุคคล
ก็ไม่ค่อยมีความแน่ใจนัก มหามกุฏราชวิทยาลัยได้ปรารภจะให้มีฉบับแปลของมหามกุฏฯ เพื่อเป็นอุปกรณ์การ
ศึกษาและเพื่อให้เป็นหนังสืออ่านได้ทั่วไปสำหรับผู้ที่มุ่งหาความรู้ และ
เป็นคู่มือในการปฏิบัติพระพุทธศาสนา
จึงได้ขอให้ท่านผู้ทรงคุณวุฒิมากท่านช่วยกันแปลและตรวจแก้เพื่อให้เป็นฉบับแปลของมหามกุฏราชวิทยาลัย
มหามกุฏราชวิยาลัย ขอขอบคุณท่านผู้ได้ช่วยแปลช่วยตรวจและผู้ที่ได้ช่วยในการนี้ทุกๆ ท่าน ตั้งแต่เบื้องต้น
จนสำเร็จเป็นฉบับพิมพ์ และขออุทิศน้ำพักน้ำแรงในการทำกิจนี้บูชาคุณท่านพระพุทธโฆสะผู้รจนาวิสุทธิมรรคปกรณ์นี้
และท่านบูรพาจารย์ผู้สืบศาสนาสั่งสอนมาโดยลำดับ จนถึงบุคคลในรุ่นนี้สามารถเรียนแปลออกมาเป็นภาษาไทยได้
มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
สิงหาคม ๒๕0๘