เจแปนสไตล์ กระแสวัฒนธรรม ครอบงำวัยรุ่น
วันอังคารที่18 มกราคม พ.ศ.2543
เจแปนสไตล์ กระแสวัฒนธรรม ครอบงำวัยรุ่น
แฟชั่นเด็กวัยรุ่นหญิง สไตล์คิกขุ
คนไทยรับอะไรได้ง่ายอยู่แล้ว...คำพูดนี้คงไม่เกินเลยไปนัก
เพราะขณะนี้กระแส วัฒนธรรม หลากหลาย ต่างถาโถม
เข้าสู่สังคมไทย และคนไทย ก็อ้าแขนรับ ด้วยความยินดี
อีกด้วย ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ มีรายงานรอบด้าน
กินข้าว ก็ต้องฟูจิ... ฟังเพลงต้อง เอ็กซ์เจแปน...
ชุดเก่งนะเหรอ ต้องสีลูกกวาด สไตล์คิกขุอยู่แล้ว ว่างๆ
ถ้าไม่มีอะไรทำ นั่งอ่านการ์ตูนโคนันคุง
หรือไม่ก็เล่นเกมเต้นฆ่าเวลาดีกว่า
จะได้ไปแข่งกับเพื่อนได้ อ้อ! ที่พลาดไม่ได้เลย
ทุกคืนต้องเฝ้าอยู่หน้าจอโทรทัศน์รอดูละครญี่ปุ่น
ชื่ออะไรไม่รู้ แต่พระเอกหล่อๆ น่ะ กำลังมันส์เลย...
ญี่ปุ่น
ชนชาติเก่าแก่รากฐานของวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกตามความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่ได้ร่ำเรียนกันมา
แต่พอมาถึง ณ ช่วงเวลานี้ วัฒนธรรมชาวซากุระนี้เอง
กลับกลายมาเป็นวัฒนธรรมชาติใหม่ที่กำลังแทรกซอนเข้ามาทับวัฒนธรรมเก่าๆ
แถบภูมิภาคเอเชีย ไม่เว้นแม้แต่สยามประเทศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมกรุง...กรุงเทพฯ
กระแสญี่ปุ่นได้หลั่งไหลถาโถมเข้ามาอย่างไม่มีทีท่าว่าจะหยุดง่ายๆ
และใครก็ห้ามไม่ได้ ผลผลิตจากสิ่งที่เราเรียกกันว่า
กระแสญี่ปุ่นนี้
ได้เข้ามาสู่ในชีวิตประจำวันของคนหลายคนที่ยินดีรับอะไรใหม่ๆ
เข้ามาไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม
ถ้าเคยแวะเวียนผ่านไปแถวสยามสแควร์
แล้วเดินเข้าไปถึงใจกลางของย่านนั้นที่เรียกกันว่า
เซ็นเตอร์ พ้อยท์ (Center Point) คนที่ไม่เคยไปมาก่อน
อาจนึกเอาว่า ตัวเองกำลังหลงเดินอยู่ในฮาราจูกุ
แหล่งแฟชั่นวัยรุ่นของญี่ปุ่นเสียอีก
ผู้คนแถวนั้นแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าหลากสีสัน ผมสั้นๆ
หลายสี ชี้ไปชี้มาดูยุ่งๆพิกล
คลาคล่ำไปด้วยเด็กชายหญิงวัยสิบต้นๆ ไปจนถึงสิบปลายๆ
จับกลุ่มนั่งกิน นั่งคุย เดินเที่ยว
โฉบไปโฉบมาคล้ายๆเวทีแฟชั่นโชว์อะไรทำนองนั้น
จนบางครั้งลืมนึกไปว่าที่นี่..ประเทศไทย
การ์ตูนญี่ปุ่น
ปฐมกระแสวัฒนธรรมญี่ปุ่น
ย้อนกลับไปเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
ญี่ปุ่นบุกขึ้นฝั่งไทย สันนิษฐานว่า
จุดนี้เองคือการเริ่มต้นเข้ามาของวัฒนธรรมญี่ปุ่น
จากคำบอกเล่าของจุลศักดิ์ อมรเวช หรือ จุก
เบี้ยวสกุลนักเขียนการ์ตูนรุ่นบุกเบิกของเมืองไทย
ที่ว่า สมัยญี่ปุ่นบุกไทยที่จังหวัดประจวบฯ คิดว่า
น่าจะเริ่มที่ทหารญี่ปุ่นหยิบเอาการ์ตูนติดมาด้วย
พอกลับไปก็ทิ้งการ์ตูนเหล่านี้ไว้ที่เมืองไทย
ประมาณปี พ.ศ.2499
ผมไปเดินแถวตลาดหนังสือเก่าย่านสนามหลวงและริมคลองหลอด
เพื่อหาซื้อการ์ตูนฝรั่งมาเป็นแบบการ์ตูน
ก็เห็นการ์ตูนญี่ปุ่นวางขายในสภาพที่ดีบ้าง ขาดบ้าง
ทำนองชั่งกิโลขาย เลยลองซื้อมาดู
เพื่อนำมาศึกษาประกอบกับช่วงนั้น
ทางโทรทัศน์เองเริ่มมีหนังญี่ปุ่นเข้ามาฉาย อย่าง
หุ่นมหัศจรรย์ (ขาว-ดำ), ขบวนการ หรือยอดมนุษย์ต่างๆ
คนไทยก็เริ่มติดมาเรื่อยๆ
นักเขียนการ์ตูนรุ่นบุกเบิก เล่าให้ฟังว่า
จุดกำเนิดจริงๆ
ของวัฒนธรรมญี่ปุ่นในประเทศไทยคงจะเป็นการ์ตูนญี่ปุ่น
ที่ได้รับความนิยมมาเรื่อยๆ จนถึงวันนี้
เหตุผลที่ทำให้การ์ตูนญี่ปุ่นบูมมาก
คงจะเริ่มที่สมัยนั้นพรรคพวกของผมคนหนึ่งเกิดความคิดแต่งการ์ตูนขึ้นมาเอง
โดยเอาภาพมาจากการ์ตูนญี่ปุ่นเก่าๆ
มาแต่งเนื้อเรื่องขึ้นใหม่
แล้วลองนำไปเสนอขายที่โรงพิมพ์
ปรากฏว่ามีคนให้การต้อนรับมาก
เลยกลายเป็นการ์ตูนญี่ปุ่นขึ้นมา แต่คนไทยเขียน เช่น
หน้ากากเสือ
ในสมัยนั้น (ประมาณปี พ.ศ. 2500-2510)
มีร้านหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นอยู่เพียงร้านเดียวชื่อ
ไทยบุนโด ย่านราชประสงค์
ส่งผลให้การแปลการ์ตูนญี่ปุ่นก็เริ่มมีบ้าง
แต่ไม่แพร่หลายมากนัก
หนังสือการ์ตูนผู้หญิงก็เริ่มเข้ามาช่วงนี้
แต่ก็ยังคงรูปแบบเดิม คือเนื้อเรื่องไทยแต่ภาพญี่ปุ่น
ดังนั้นเนื้อเรื่องและชื่อเรื่องจึงไม่เหมือนเดิม
สำหรับการ์ตูนญี่ปุ่นแท้ๆ เริ่มเข้ามาเมื่อประมาณ 30
ปีที่แล้ว ช่วงนั้นช่อง 9
กำลังบุกเบิกตลาดโทรทัศน์การ์ตูนญี่ปุ่น
การ์ตูนที่นำเข้ามาได้แก่ ไอ้มดแดง,มดเอกซ์,
อุลตร้าแมน
เมื่อคนไทยได้เสพเนื้อเรื่อง ที่เป็นของญี่ปุ่นแท้
จึงได้รับการตอบสนองอย่างมาก
ถึงขนาดมีคนไปยืนรอหน้าร้านไทยบุนโด
เพื่อจะกวาดหนังสือการ์ตูนมาแปลให้ได้ทุกเรื่อง
โดยมีโทรทัศน์เป็นตัวเสริมความแรงเข้ามาอีกทางหนึ่ง
ถึงตอนนั้นความนิยมในการ์ตูนญี่ปุ่นที่คนไทยเขียน
จึงหายไป
เหตุผลหลัก คงเป็นเรื่องของความถี่
เพราะตั้งแต่สมัยก่อนจะมีสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจที่บุกเบิกทางด้านนี้
จะผลิตหนังสือออกมาทุกวัน ทุกสัปดาห์
และเมื่อผลิตออกมาถี่มากๆ ก็เหมือนกับการฟังเพลง เพลงๆ
หนึ่งถ้าได้ฟังซ้ำไปซ้ำมาหลายเที่ยว ก็จะรู้สึกว่ามัน
ว่าเพราะได้ หนังสือการ์ตูนเองก็เช่นกัน เบี้ยวสกุล
ให้ความเห็น
ประเด็นข้อดีข้อเสียจากการอ่านหนังสือประเภทนี้
คงจะไม่ต้องกล่าวถึง แต่จะมาพูดถึง 'ความแตกต่าง'
ระหว่างอดีตและปัจจุบันของการ์ตูนญี่ปุ่นว่า
'ความแตกต่าง' นี้ก่อให้เกิดผลเสียอย่างไรบ้าง
ในปัจจุบันนี้
ประเทศที่คนวัยผู้ใหญ่อ่านการ์ตูนมากที่สุดคือ
ญี่ปุ่นและอเมริกา คนจำนวนมากกว่า 60%
ยังนิยมอ่านกันอยู่ ส่วนใหญ่จะเป็นแนวผู้ชาย บู๊
ดุเดือด
และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง
มักมีปัญหาเรื่องการถ่ายทอดจากภาษาญี่ปุ่นมาเป็นภาษาไทย
มันผิดหมด เพราะคนที่แปลไม่รู้เรื่อง
ส่งผลให้เนื้อเรื่องผิดพลาด เห็นได้บ่อยๆ จุก
เบี้ยวสกุล ให้ข้อมูล
เขาชี้ด้วยว่า ปัญหาที่สำคัญอย่างมาก
คือการควบคุมคนอ่าน
อันเนื่องมาจากการหลั่งไหลเข้ามาของกระแสญี่ปุ่นอย่างไม่มีระบบ
ทำให้คนไทยสามารถเลือกอ่านการ์ตูนได้ตามใจชอบ
ไม่มีการแบ่งเรท
ไม่เหมือนกับญี่ปุ่นและอเมริกาที่มีการแบ่งเรทคนอ่านชัดเจน
รวมทั้งมีกฎหมายบังคับเรื่องนี้อย่างเข้มงวด
เมืองไทยยังไม่มีหน่วยงานฝ่ายใดมาดูแลเรื่องนี้
คล้ายกับการชมภาพยนตร์ที่ไม่มีการแบ่งเรทคนดู
อาจก่อให้เกิดอันตรายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเยาวชน จุก กล่าว
กระแสญี่ปุ่นไม่ได้หลั่งไหลเข้ามาเพียงแค่แขนงของหนังสือการ์ตูนเท่านั้น
เมื่อไล่เรียงตามลำดับเวลามาก็พบว่า
สื่อต่อไปที่หนีไม่พ้นอิทธิพลของแดนอาทิตย์อุทัย
นั่นก็คือ สื่อโทรทัศน์
สื่อโทรทัศน์
กระแสแรงอย่างต่อเนื่อง
โทรทัศน์ไทยสถานีแรกที่ตอบสนองความต้องการประเภทนี้คือ
ช่อง 9 อ.ส.ม.ท.
โดยนำเสนอผ่านทางรายการการ์ตูนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
เจาะกลุ่มเฉพาะเด็กและเยาวชน
แต่สำหรับกลุ่มหนุ่มสาวหรือคนทำงานทั่วไป
ทางเลือกใหม่ในการชมภาพยนตร์โทรทัศน์ที่ยังอยู่ในกรอบของวัฒนธรรมญี่ปุ่น
คือละครชุดญี่ปุ่น ซึ่งกำลังได้รับความนิยมสูง
ไม่ว่าจะเป็นทางช่อง 5 หรือไอทีวี
หลายเหตุผล หลายความคิด
ที่ส่งผลให้คนไทยชื่นชอบละครญี่ปุ่นมาก ตติยา
สิงหแพทย์ ผู้ช่วยผู้จัดการแผนกจัดซื้อรายการต่างประเทศ
ของไอทีวี บอกเหตุผลในการเลือกนำละครญี่ปุ่นมาออกอากาศว่า
เป็นนโยบายที่มีมานานแล้วตั้งแต่เริ่มเปิดสถานี
เพียงแต่ในตอนนั้นยังมีปัญหาเรื่องการติดต่อ
เรื่องลิขสิทธิ์ที่ราคาค่อนข้างแพง
ประกอบกับเป็นช่วงที่เพิ่งเริ่มเปิดสถานี
และทางบริษัทญี่ปุ่นเองที่เราติดต่อขอซื้อละคร
ก็เป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับ
จึงทำให้เรื่องนี้กินเวลานานถึง 3 ปี
กว่าจะได้ออกอากาศ
อีกเหตุผลหนึ่งที่ไอทีวีเลือกซีรีส์ญี่ปุ่นมาออกอากาศ
เพราะทางสถานีต้องการขยายกลุ่มคนดูให้เพิ่มขึ้น
และหลากหลาย เช่น กลุ่มวัยรุ่น
โดยจะนำเสนอความบันเทิงผ่านทางรายการละคร
ViVi Lin wrote:
วันอังคารที่ 1กุมภาพันธ์ พ.ศ.2543
Krungthep Turakij Newspaper
http://www.bangkokbiznews.com/2000/02/01/jud/jud0112/jud0112.html
ข้อเท็จจริงของนักร้องญี่ปุ่น
กับการฆ่าตัวตายของวัยรุ่น
หางนกยูง
การฆ่าตัวตายของวัยรุ่นยังเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ในช่วงนี้
แม้โดยสถิติของกรมสุขภาพจิต
ตัวเลขโดยเปรียบเทียบปีต่อปี
จะไม่เพิ่มขึ้นจนน่าเป็นห่วงนัก
แต่จากข่าวที่ปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์
ก็สะท้อนว่าสังคมให้ความสนใจกับแนวโน้มและวิธีการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นมากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
หากสามารถเชื่อมโยงการฆ่าตัวตายไปยังดารานักร้องที่มีอิทธิพลแก่การตัดสินใจของวัยรุ่นได้
ข่าวดังกล่าวก็จะได้รับความสนใจมากขึ้นตามไปด้วย
วันนี้ มีควันหลงจากกรณีการกระโดดตึกของนักเรียนหญิงโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี
มาบอกกล่าวเล่าแจ้งบนพื้นที่นี้
ในรายละเอียดของข่าวดังกล่าวระบุว่า
โดยส่วนตัวเธอชื่นชอบ ฮิเดะ แห่งวง เอ็กซ์เจแปน
อย่างมาก
อาจจะกล่าวว่าอยู่ในระดับคลั่งไคล้เลยทีเดียว ดังนั้น
จึงมีการสันนิษฐานว่า
เธออาจจะเดินตามรอยนักร้องญี่ปุ่นคนนี้ ที่
(เข้าใจกันว่า)เขาฆ่าตัวตายด้วยการแขวนคอ
อย่างไรก็ตาม
ข้อมูลที่ได้รับมาจากผู้สันทัดกรณีรายหนึ่ง
ซึ่งได้มีโอกาสพบปะกับพี่ชายของ ฮิเดะ เมื่อเร็วๆ นี้
ทำให้ทราบว่า จากการชันสูตรของทางการตำรวจญี่ปุ่น
มีผลสรุปออกมาแน่ชัดว่า การเสียชีวิตของ ฮิเดะ
ไม่ใช่การฆ่าตัวตาย
อย่างที่แฟนเพลงในบ้านเราหลายคนเข้าใจ
หากแต่เป็นเรื่องอุบัติเหตุล้วนๆ
พื้นฐานของเรื่องนี้ มีอยู่ว่า ฮิเดะ
มีปัญหาสุขภาพที่กล้ามเนื้อบริเวณคอเป็นประจำ
เขาชอบดัดคอ
และบำบัดด้วยการให้หมอนวดในละแวกเมืองที่อาศัยอยู่
จัดการนวดคลึงบริเวณคออยู่เป็นระยะๆ
จนก่อนวันเกิดเหตุเสียชีวิต
เขาเดินทางมาโตเกียวเพื่อทำงานกับเพื่อนๆ สมาชิกวง
เอ็กซ์เจแปน เป็นเวลาราว 4 วัน โดยที่ระหว่างนั้น
ไม่สามารถหาหมอนวดคอมาบำบัดอาการปวดคอได้
คืนสุดท้ายเมื่อทำงานเสร็จ เพื่อนๆ
จัดการเลี้ยงฉลองการมาพบปะและทำงานกันอย่างเมามาย
โดยที่คาดการณ์ว่า ฮิเดะ อาจจะมีอาการปวดคอกำเริบ
เมื่อเขากลับมายังที่พัก
ฮิเดะจึงจัดการผูกผ้าบนเพดานเพื่อรองรับบริเวณคาง
โดยมีความคิดจะดัดคอด้วยตัวเอง
ทว่าเก้าอี้ที่ใช้เหยียบขึ้นไปบนเพดานเกิดพลิกล้มลงมา
ประกอบกับสภาพเมาสุรา ทำให้ ฮิเดะ
ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ จนต้องเสียชีวิตบนผ้ารองคอ
คล้ายอาการคนผูกคอตายในที่สุด
เหตุผลที่สนับสนุนว่า การเสียชีวิตของ ฮิเดะ
เป็นอุบัติเหตุ ยังมาจากความคิด
และพฤติกรรมของนักร้องญี่ปุ่นคนนี้
(อาจจะรวมไปถึงศิลปินเพลงญี่ปุ่นคนอื่นๆ)
ซึ่งไม่ได้มีพฤติกรรมขวางโลก ก้าวร้าว
หรือแปลกแยกแต่อย่างใด
ดังที่มีผู้วิเคราะห์เนื้อหาเพลงญี่ปุ่นส่วนใหญ่ว่ายังเป็นเนื้อหาด้านความรัก
ความผูกพันแบบน้ำเน่า
ซึ่งแทบไม่มีนัยใดที่บ่งบอกถึงสภาพการเก็บกดทางจิตใจ
และอารมณ์แปรปรวน
ขณะเดียวกัน ด้วยรูปแบบการแสดงออกภายนอก
ทั้งการแต่งกาย
การย้อมสีผม
การกรีดร้องและวิ่งเต้นอยู่บนเวทีคอนเสิร์ต
เป็นเพียงการสร้างภาพความเป็น ฮีโร่
ทางจิตใจแก่แฟนเพลงมากกว่า
เนื่องจากสังคมยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา
ผู้คนญี่ปุ่นต่างมองหา ฮีโร่ หรือผู้นำ ในวงการต่างๆ
อยู่แล้ว ไม่เว้นแม้กระทั่งวงการบันเทิง
นี่จึงเป็นปูมหลังทางวัฒนธรรมของดนตรีญี่ปุ่น
ที่มีความแตกต่างจากดนตรีร็อค เฮฟวี เมทัล
และแม้กระทั่งดนตรีฮาร์ดคอร์ จากฝั่งตะวันตก
ซึ่งการสร้างสรรค์งานมักมาจากสภาพความเก็บกดทางจิตใจ
และการประท้วงต่อค่านิยมเดิมของสังคมเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว
เขียนอธิบายมาถึงบรรทัดนี้
เพื่อเชื่อมโยงประเด็นที่ว่า
กระแสการฆ่าตัวตายของวัยรุ่น
ไม่ได้มาจากการที่วัยรุ่นนึกเอาอย่างดารานักร้องที่ตนชื่นชอบอย่างแน่นอน
ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นที่
นายแพทย์ผู้อำนวยการศูนย์สุขวิทยาจิต กรมสุขภาพจิต
ให้สัมภาษณ์ทางทีวีว่า การฆ่าตัวตายของวัยรุ่น
ไม่ได้มาจากการเลียนแบบ เอาอย่าง จากข่าวที่ปรากฏ
หรือแม้กระทั่ง จากปัญหาความรัก และปัญหาด้านการเรียน
ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นข้อสรุปที่หยาบเกินไป
หากแต่กรณีที่ใครจะตัดสินใจฆ่าตัวตายได้นั้น
โดยสภาพทางจิตใจ
ย่อมมีความสลับซับซ้อนมากกว่าปัญหาทั่วไปเหล่านั้นมากหลายระดับ
ซึ่งอาจจะมาจากความแปรปรวนทางด้านบุคลิกภาพ
หรือมาจากการไม่สามารถจัดการแก้ปัญหาต่างๆ
ที่เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น
หากบุคคลใกล้ชิดรอบข้าง ทั้งครอบครัว, เพื่อนสนิท
และสถาบันการศึกษา มีความเอาใจใส่อย่างเพียงพอแล้ว
สามารถตัดไฟเสียแต่ต้นลม
ไม่ปล่อยให้วัยรุ่นเหล่านั้นคิดสั้นได้
ด้วยการให้คำปรึกษาหรือหาทางแก้ไขเสียแต่เนิ่นๆ
ถึงตรงนี้
สังคมอาจจะต้องมองการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นด้วยมุมมองใหม่
มากกว่าแค่เพียงเรื่องของการเลียนแบบ เอาอย่าง
หรือปัญหาด้านความรักและการเรียน เสียแล้วกระมัง
back