อุทยานแห่งชาติแม่วงก์.....Mae Wong National Park
| ลักษณะพื้นที่ | ความเป็นมา | ทรัพยากรในแม่วงก์ | แหล่งท่องเที่ยว | ดูนก | การเดินทาง | สถานที่พัก |

ลักษณะพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์

picture
อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ตั้งอยู่ที่ กม. 65 ถนนคลองลาน-อุ้มผาง ในเขตอำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร และอำเภอแม่วงก์-แม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาถนนธงชัย ลักษณะของพื้นที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน จนมีหน้าผาที่สวยงามตามธรรมชาติ นอกจากนี้ยัง มีแก่งหินอ่อนทำให้เกิดน้ำตกเล็กๆตามแก่งหินนี้ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ก่อให้เกิดเป็นน้ำตกที่สวยงาม 4-5 แห่ง ทั้งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำวงก์ที่สำคัญ และลำน้ำคลองขลุงบางส่วนไหลลงสู่แม่น้ำปิงและแม่น้ำเจ้าพระยา
อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีเนื้อที่ประมาณ 894 ตารางกิโลเมตร หรือ 558,750 ไร่ มีอาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับอุทยานแห่งชาติคลองลาน จ.กำแพงเพชร
ทิศใต้ ติดต่อกับเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับหมู่บ้านในท้องที่ จ.กำแพงเพชร-นครสวรรค์
ทิศตะวันตก ติดต่อกับเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จ.ตาก
สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนเรียงรายอยู่ตามเทือกเขาถนนธงชัย ลดหลั่นลงมาจนถึงพื้นที่ราบประมาณ 40-50 ลูก ยอดที่สูงที่สุดคือ ยอดเขาดิน มีความสูงประมาณ 1,600 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ต้นกำเนิดของแม่น้ำแม่วงก์ ส่วนพื้นที่ราบมีอยู่น้อยมาก ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณริมแม่น้ำ และเป็นแหล่งแร่ธาตุสำคัญ เช่น แร่ไมก้า
สภาพภูมิอากาศ ของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ แบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ
ฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม
ฤดูฝน ระหว่างเดือนมิถุนายน-ตุลาคม
ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะแก่การไปท่องเที่ยวมากที่สุด

ความเป็นมาของแม่วงก์

ด้วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรีที่ นร.0104/9871 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2526 ถึงปลัด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอให้จัดพื้นที่ป่าแม่วงก์-แม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งมีสภาพธรรมชาติและน้ำตกที่สวยงาม 3 แห่ง สภาพป่าอุดมสมบูรณ์และเป็นป่าต้นน้ำลำธาร กำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2526 ให้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินการสำรวจหา ข้อมูลเบื้องต้น ปรากฏว่าพื้นที่ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูง เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำวงก์ มีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตกแม่กระสา หรือแม่กี ซึ่งสูงประมาณ 200 เมตร และหน้าผาต่างๆ สภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์ไม้และสัตว์ป่านานาชนิด เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามหนังสือรายงานผลการสำรวจที่ กษ. 0713/พิเศษ ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2526
กองอุทยาน แห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ มีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2528 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2528 เห็นชอบให้กำหนดพื้นที่ดังกล่าว เป็นอุทยานแห่งชาติโดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าคลองขลุงและป่าคลองแม่วงก์ในท้องที่ตำบลปางตาไว อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร และป่าแม่วงก์-แม่เปิน ในท้องที่ตำบลแม่เล่ย์ และตำบลห้วยน้ำหอม อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2530 ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 104 ตอนที่ 183 ลงวันที่ 14 กันยายน 2530 นับเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งที่ 55 ของประเทศ

ทรัพยากรในแม่วงก์

ทรัพยากรธรนีวิทยา ประกอบด้วยหินแปรพวกหินไนส์ หินซีสต์ หินแกรนิต หินควอร์ไซต์ หินกรวดมน หินฟิลไลด์ หินแกรโนไดออไรด์ เป็นต้น
ทรัพยากรดิน ประกอบด้วยคินชุดลาดยาว ดินชุดอทัย ดินชุดม่วงค่อม ดินชุดกำแพงเพชร ดินชุดแม่สาย
ทรัพยากรป่าไม้ ชนิดป่าที่พบมี 5 ชนิด คือป่าดงดิบเขา ป่าคงดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ทุ่งหญ้าหรือไร่ร้าง ซึ่งประกอบไปด้วย ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ คือ ไม้สัก ไม้ยาง ประดู่ มะค่า แดง เต็ง และรัง สภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์ เป็นผืนป่าตะวันตกที่ มีความสำคัญในการดำรงชีวิตของพืชและสัตว์นานาชนิด
ทรัพยากรสัตว์ป่า
                  พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 57 ชนิด 48 วงศ์
                  นก 305 ชนิด 53 วงศ์ 
                  สัตว์เลื้อยคลาน 22 ชนิด 11 วงศ์ 
                  สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 7 ชนิด 4 วงศ์
                  แมลง 90 ชนิด 35 วงศ์ 
                  ปลา 10 ชนิด 7 วงศ์ 
              โดยพบสัตว์ป่าสงวนหายาก 2 ชนิดคือ      สมเสร็จ  และ   เลียงผา
              พบนกที่หายาก เช่น   นกภูหงอนพม่า   นกกระเต็นขาวดำใหญ่   นกเงือกคดแดง   นกเงือกกรามช้าง เป็นต้น

แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจในแม่วงก์

picture
บนเส้นทางถนนสายคลองลาน-อุ้มผาง เส้นทางคดเคี้ยวเลี้ยวลดที่มาบรรจบกับทัศนีภาพที่สวยงาม
1. แก่งผาคอยนาง จากถนนคลองลาน-อุ้มผาง ห่างจากที่ทำการ 1,400 เมตร จะมีทางแยกเข้าไปอีก 400 เมตร จะถึงบริเวณแก่งหินขนาดใหญ่มีลำน้ำคลองขลุง ไหลผ่าน ซึ่งเป็นสายหนึ่งที่ไหลลงสู่แม่น้ำปิง จากบริเวณแก่งหิน เดินเข้าไปตามลำน้ำอีกประมาณ 350 เมตร จะถึงน้ำตกผาคอยนางมีทั้งหมด 4 ชั้น เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่สะดุดตา
2. จุดชมวิว กม. 81 จากที่ทำการอุทยานฯ ไปตามถนนคลองลาน-อุ้มผาง อีก 16 กม. จะถึงบริเวณหน้าผาที่สามารถชมทัศนียภาพที่สวยงาม มองเห็นทิวเขาไกลสุด สายตาด้วยความสูง 800 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
3. ช่องเย็น กม. 93 ระยะทาง 28 กม. จากที่ทำการอุทยานฯ ซึ่งป็นจุดสูงสุดของถนนคลองลาน-อุ้มผาง จะถึงบริเวณหน้าผาที่ตั้งอยู่ระหว่างเขาซึ่งทำให้บริเวณแห่ง นี้ มีสานลมพัดผ่านตลอดเวลา ความสูง 1,340 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส จึงพบพันธืไม้ที่ชอบ ความชุ่มชื้นบริเวณนี้ ได้แก่ ต้นพญาเสือโคร่ง กล้วยไม้ เฟิร์น มหาสะดำ( Tree Fern ) นอกจากนี้ ยังพบนกป่าที่สำคัญได้แก่นกเงือกคอแดง นก เงือกกรามช้าง เป็นต้น
4. น้ำตกนางนวล ( กม. 99 ) เส้นทางเดินเท้าจากช่องเย็น กม. 93 เดินเท้าเข้าไปประมาณ 6.4 กม. จะพบกับน้ำตกนางนวล ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของป่าดิบ เขา บางฤดูกาล จะมีดอกไม้ป่าสีชมพู สดสวย ชูช่อเต็มลานหิน น้ำตกนางนวลมีทั้งหมด 4 ชั้น ใช้เวลาในการเดินเท้าไปกลับ ประมาณ 1 วันรวมระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร
เส้นทางเดินป่าที่ท้าทาย เส้นทางเดินป่าสู่น้ำตกที่สวยงาม ยอดเขาตระหง่านฟ้า จุดหมายของนักเดินทางที่ต้องการความท้าทาย การเดินทางต้องเดินเท้าเข้าไปยังพื้นที่ ควรติดต่อ สอบถามข้อมูลกับทางอุทยานฯล่วงหน้า เพื่อความพร้อมในการเตรียมตัวเพื่อเดินทางท่องเที่ยว พักแรมในป่าเป็นเวลาหลายวัน
1. น้ำตกแม่กระสา ธารน้ำที่ไหลจากพื้นที่ป่าตอนบนของแนวเทือกเขาถนนธงชัยมาบรรจบกับบริเวณหน้าผา เกิดเป็นน้ำตกขนาดใหญ่และสวยงาม ชั้นน้ำตกมีทั้งหมด 9 ชั้น ความสูงรวมกัน 900 เมตร ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ โดยใช้เส้นทางเดินเท้าประมาณ 18 กิโลเมตร ไป-กลับ ประมาณ 3 - 4 วัน
2. น้ำตกแม่รีวา จากที่ทำการอุทยานฯ เป็นระยะทาง 21 กม. น้ำตกแม่รีวาเป็นน้ำตกขนาดใหญ่และสวยงาม ชั้นน้ำตกทั้งหมด 5 ชั้น ใช้เวลาในการเดินทางไป-กลับ ประมาณ 3 วัน
3. น้ำตกแม่กี-แม่วงก์ เป็นน้ำตกที่อยู่ในบริเวณเดียวกันกับน้ำตกแม่กระสาและแม่รีวา มีความสูงประมาณ 200 เมตร แบ่งเป็นชั้นๆถึง 9 ชั้น น้ำไหลเกือบตลอดปี การเดินทาง ไป-กลับ ใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 5-6 วัน
4. โมโกจู ดอยโมโกจู เป็นภาษากะเหรี่ยง แปลว่า เหมือนฝนจะตก เนื่องจากคนที่อยู่ตีนเขามองขึ้นมาที่ยอดเขาจะเห็นเมฆหมอกปกคลุมตลอดเวลา จึงเป็น ขุนเขาแห่งความหนาวเย็น เป็นจุดชมทิวทัศน์ที่สวยงามและสูงที่สุดของป่าแม่วงก์และผืนป่าตะวันตกของ ประเทศไทย มีความสูง 1,964 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 50 กิโลเมตร จุดเด่นของยอดเขาคือ แท่งหินคล้ายรูปปิรามิด ใช้เวลาในการเดินทางเท้าเข้าไปยังพื้นที่ ประมาณ 4-5 วัน ช่วงเวลาที่เปิดเส้นการเดินทาง ตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน-กุมภาพันธ์
เส้นทางสู่หน่วยพิทักษ์ฯ แม่เรวา ความกลมกลืนของผืนป่ากับความสวยงามของธรรมชาติ
แก่งลานนกยูง แก่งหินเป็นลานกว้างขนาดใหญ่ ทัศนียภาพสวยงามของแก่งน้ำผสมกับความสมบูรณ์ของป่าเบญจพรรณ มีลำน้ำแม่วงก์ซึ่งมีต้น กำเนิดจากขุนเขาของผืนป่าแม่วงก์ ไหลผ่านตลอดทั้งปี ห่างจากหน่วยพิทักษ์แม่เรวา ประมาณ 1.5 กม. การเข้าลานนกยูงสามารถเดินทาง โดยรถยนต์และทางเท้า
นอกจากน้ำตกแล้ว พื้นที่บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ยังมีแก่งหินปูน น้ำไหลลดหลั่นเป็นชั้นๆ เหมาะแก่การท่องเที่ยว เพื่อการพักผ่อนในเวลากลางวัน และเป็นที่ชมวิวพักทานอาหารในบรรยากาศท่ามกลางหุบเขาอันร่มเย็น

ดูนกในแม่วงก์....Bird Watching

ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่วงก์
บริเวณที่ทำการฯลัดเลาะไปตามลำน้ำคลองขลุงร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้ป่าเบญจพรรณ สามารถพบนกหลายชนิดที่น่าสนใจ ได้แก่
      	       นกกระเต็นขาวดำใหญ่  (Crested Kingfisher)
     	       นกขุนแผน  (Blue Magpie) 
    	       นกจาบคาเคราน้ำเงิน  (Blue-beared Bee-eater)
    	       นกเขียวก้านตองหน้าผากสีทอง  (Golden-fronted Leafbird)
    	       นกบั้งรอกใหญ่  (Green-billed Makoha)
     	       นกกางเขนดง  (White-rumped Shama)
      	       นกกระรางสร้อยคอใหญ่  (Greater Necklaced Laughthrush)
     	       นกโพระดกหูเขียว  (Green-eared Barbet)
      	       นกกระรางหัวหงอก  (White-crested Laughthrush)
      	       นกกระเต็นหัวดำ  (black-capped Kingfisher)
      	       นกกระเต็นอกขาว  (White-throated Kingfisher)  
สองข้างทางจากที่ทำการฯ ไปจนถึงช่องเย็น
ตลอดสองข้างทาง ตั้งแต่ที่ทำการฯ กิโลเมตรที่ 65 ขับรถมาตาม ถนนคลองลาน-อุ้มผางเรื่อยๆ สภาพป่าจะค่อยๆเปลี่ยนจากป่าเบญจ พรรณ เป็นทุ่งหญ้าใหญ่ และป่าดิบเขา ตามระดับวามสูงและสภาพอากาศที่ค่อยเปลี่ยนไป เส้นทางวกเวียนไปตามไหล่เขา ไปจนถึงจุดสูงสุดบริเวณช่องเย็น (กม.93) สามารถพบนกที่น่าสนใจตลอดทาง ซึ่งได้แก่
     	              นกกระรางหัวขวาน  (Hoopoe)
                      นกขมิ้นแดง  (Maroon Oriole)
                      นกจาบคาหัวสีส้ม  (Chestnut-headed Bee-eater)
                      ไก่ป่า  (Red Junglefowl)
  พวกเหยี่ยวและนกอินทรีชนิดต่างๆ เช่น  
                      เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ  (black Baza)
                      เหยี่ยวนกเขาหงอน  (Creste Goshawk)
                      เหยี่วนกกระจอกเล็ก  (Bersa)
                      เหยี่ยวผึ้ง  (Crested Honey-buzzard)
  
  บางครั้งอาจพบไก่ฟ้าหลังเทา(Kalij Pheasant) และนกกระทาดงอกสีน้ำตาล(bar-backed Partridge)
ช่องเย็น กิโลเมตรที่ 93
ความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,340 เมตร สภาพป่าโดยรอบช่องเย็น เป็นป่าดิบเขาที่ยังคงความสมบูรณ์และความหนาแน่นของพันธุ์ไม้ ช่องเย็นเป็นจุด ที่พบนกได้ง่าย และพบได้มากที่สุด (ถ้าสภาพอากาศดี) นกที่พบเห็นได้บ่อยๆ บริเวณรอบๆ บ้านพัก และบริเวณศาลาพักแรม ได้แก่
    	     นกปรอดหัวตาขาว  (Flavescent Bulbul)
                     นกปรอดภูเขา  (Mountain Bulbul) 
                     นกภูหงอนพม่า  (Burmese Yuhina) 
                     นกหัวขวานใหญ่หงอนเหลือง  (Greater Yellownape) 
                     นกตั้งล้อ  (Great Barbet) 
                     นกติ๊ดแก้มเหลือง  (Yellow-cheeked Tit)
                     นกพญาไฟ  (Minivets) 
จากช่องเย็น สามารถเดินไปตามเส้นทางที่เป็นถนนเก่าประมาณ 1-2 กิโลเมตร (เส้นทางไปน้ำตกนางนวล / เส้นทางหลังป้าน " ทางปิดห้ามผ่าน") เป็นอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจมาก เพราะสามารถพบนกที่หายากหลายชนิด ได้แก่
 
     	     นกเงือกคอแดง  (Rofous-necked Hornbill) 
                     นกกาฮัง  (Great Hornbill) 
                     นกเงือกกรามช้าง  (Wreathed Hornbill)  
                     นกพญาปากกว้างหางยาว  (Long-tailed Broadbill) 
                     นกระวังไพรปากแดงสั้น  (Coral-billed Scimitar-babbler)
                     นกหางรำหางยาว  (Long-tailed Sibia) เป็นต้น

การเดินทาง

picture
โดยทางรถยนต์ได้ 2 เส้นทาง คือ
สายแรก กรุงเทพฯ-กำแพงเพชร-คลองลาน สู่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ตามทางหลวงหมายเลข 1117 กิโลเมตรที่ 65 ถนนคลองลาน-อุ้มผาง
สายที่สอง กรุงเทพฯ-นครสวรรค์-ลาดยาว-คลองลาน สู่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ตามเส้นทางแรก คือ ทางหลวงหมายเลข 1117 กม.ที่ 65 ถนนคลองลาน-อุ้มผาง
ระยะทางจากกรุงเทพฯถึงอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ประมาณ 386 กิโลเมตร









สถานที่พัก

บ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีดังนี้
ที่ทำการ
บ้านวงก์วนา 3 อัตราค่าพัก 1,100 บาท/คืน 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ พักได้ 12 คน
บ้านวงก์วนา 4 อัตราค่าพัก 500 บาท/คืน 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ พักได้ 6 คน
บ้านวงก์วนา 5 อัตราค่าพัก 1,100 บาท/คืน 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ พักได้ 20 คน
บ้านวงก์วนา 7 อัตราค่าพัก 800 บาท/คืน 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ พักได้ 9 คน
ช่องเย็น
เป็นเรือนแถว แบ่งเป็นห้องมีจำนวนทั้งหมด 5 ห้อง (ห้องพญาเสือโคร่ง 1-5) ภายในหนึ่งห้องพักมีจำนวน 7 ที่นอน มีห้องน้ำภายในห้องพัก ค่าธรรมเนียมพักแรมเป็นอัตราบริจาคตามความเหมาะสม
พักแรมกางเต๊นท์พื้นที่กางเต๊นท์มี 4 จุด
1. บริเวณที่ทำการ
2. บริเวณแก่งผานางคอย
3. บริเวณช่องเย็น
4. บริเวณแก่งลายนกยูง (หน่วยพิทักษ์ฯ แม่เรวา)
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ถนนคลองลาน-อุ้มผาง กม. 65 อ.คลองลาน จ. กำแพงเพชร 62180 โทร. 055-719010-1
ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้ เขตบางเขน กทมฯ 10900 โทร. 5790529, 5794843

[ HOME ][ Travel ]
[ A m a z i n g Thailand ]

Send mail to      cssc@email.egat.or.th   with questions or comments about this Home Page
This page was created on Wed 29 November 2000 by Somchai Kaemarungsee
Last Modified : 29 November 2000