การพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่ง
โครงการพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งทางรถไฟที่ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตลอดรัชสมัย
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น
อาจสรุปได้ว่าก่อให้เกิดผลดีในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญ ดังนี้
1.การขยายตัวของการค้าภายในประเทศ
ผลจากการขยายเส้นทางรถไฟ เข้าไปสู่หัวเมืองในภาคต่าง ๆ
ทำให้การขนส่งสินค้าทำได้สะดวกขึ้น และต้นทุนค่าขนส่งต่ำลงมาก
การค้าจึงขยายตัวขึ้นอย่างกว้างขวาง
ทั้งการค้าภายในและการค้าระหว่างเขต
ดังเช่นในกรณีของการขยายเส้นทางรถไฟสายเหนือ
เมื่อเปิดเดินรถได้ถึงลำปางก็ช่วยแก้ปัญหาความขาดแคลนข้าวของเมืองลำปาง
ซึ่งเคยเป็นมาช้านานลงได้ เนื่องจากเมื่อการขนส่งสะดวกรวดเร็วขึ้น
ทำให้มีการขยายการเพาะปลูกเพื่อการค้ากันมาก
"...ข้าวเจ้าก็มีคนเริ่มทำมากแล้ว
ถ้าเป็นสินค้าออกได้คงจะมีผู้ทำมากขึ้น
แสดงให้เห็นปรากฏได้ว่านครลำปางเคยเป็นจังหวัดที่อดข้าว
ตั้งแต่รถไฟถึงคนทำนามากขึ้น แลในขณะนี้ถึงส่งข้าวออกขาย
แลราคาก็ไม่ขึ้นมากเลย ด้วย เหตุที่เมื่อราคาขึ้นบ้าง
ทางได้ก็ตกเข้ามาทันที"
นอกจากนั้น
เมื่อเส้นทางรถไฟจากลำปางถึงเชียงใหม่เปิดเดินรถได้
ก็ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งสินค้าลดลงอีกมาก
เปิดโอกาสให้มีการค้าระหว่างเมืองเหนือกับกรุงเทพฯ
เพิ่มมากขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งการค้ากับเขตพม่าเป็นหลักเหมือนแต่ก่อน
"ในคราวที่ไปถึงเชียงใหม่คราวนี้
ได้ประชุมพ่อค้าไต่ถามข้อความต่าง ๆ
แลได้วานอุปราชให้ช่วยหาหลักฐานของจำนวนสินค้าให้
คงได้ความดังนี้ สินค้าเวลานี้เดินอยู่เป็น 2 ทาง ทางหนึ่ง
ทางน้ำซึ่งเป็นทางสะดวก
กับทางหนึ่งใช้ต่างบรรทุกของจากปลายรางคือ ที่ปางยางหรือที่ลำปาง
ทั้ง 2 ทางนี้พาหนะยังไม่เพียงพอที่จะขนได้ทันความต้องการ
ทั้งยังแพมากด้วย........ โดยเหตุฉะนี้
พ่อค้าจึงต้องการให้รถไฟถึงมากนัก
เพราะรถไฟคงจะขนของได้ถูกกว่านี้เป็นอันมากแน่ ...ถ้าทำให้ค่าขนน้อยลงได้
เชื่อว่าสินค้าจะเดินหลายเท่านี้
ทั้งจะมีการขนสัตว์ลงทางใต้มากไม่ใช่น้อย "
2. ผลตอบแทนจากการส่งออก
การขนส่งที่สะดวกและต้นทุนต่ำลงมาก
นอกจากจะทำให้การผลิตและการค้าภายในประเทศขยายตัวแล้ว
ยังทำให้มีการขยายการผลิตและส่งออกเพิ่มขึ้นอีกมาก
โดยเฉพาะการขยายการทำนาออกไป
ทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนืออย่างต่อเนื่อง
พร้อมกันไปกับการขยายเส้นทางรถไฟไปสู่ทั้ง 2 ภาคนั้น
"...ยังมีสินค้าอย่างอื่นอีกหลาย
ๆ อย่าง ที่ไม่มียานพาหนะอันสะดวกที่จะส่งไปมา
ก็จะเกิดเป็นสินค้าส่งไปมาได้โดยทางรถไฟ
แลจะเป็นโอกาสชักนำให้ราษฎรทำการเพาะปลูกธัญญาหารเจริญขึ้นถึงส่งเป็นสินค้าได้
เพราะเมื่อทำทางรถไฟไปแล้ว ก็จัดทำคูซึ่งขุดดินขึ้นถมทางรถไฟ
ให้เป็นเหมืองทางไขน้ำเข้ามาได้สะดวก"
นอกจากนั้น
ในกรณีของทางรถไฟสายใต้ซึ่งเชื่อมต่อกับมลายูของอังกฤษนั้น
ก็เป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าส่งออกที่สำคัญ
เพราะมีสินค้าจำนวนมากซึ่งเป็นที่ต้องการ และราคาสูงในตลาดมลายู
"...ได้สังเกตดูสินค้าซึ่งส่งออกไปปาดังเบซาร์โดยขบวนรถรวม
มีไก่ส่งจากพัทลุงในรถเที่ยวหนึ่ง ๆ บรรทุกไปประมาณ 500 ตัว
และได้ทราบ เกล้าฯ ว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ส่งไปเที่ยวเดียวถึง
1,500 ตัว นอกจากนี้ยังมีสุกรที่ต้นสำโรง
โพธารามและบ้านโป่งออกไปอีกบ้าง
การที่สัตว์เหล่านี้ออกไปมากเช่นนี้ก็เพราะราคาของสัตว์เหล่านี้ในแดนสยามตอนใต้
ถูกกว่าราคาในแหลมมลายูของอังกฤษเป็นอันมาก...........ส่วนสินค้าอื่นเช่นข้าวสาร
เกลือ รำ นั้น ออกไปทุกอาทิตย์จากกรุงเทพฯ ด้วยรถพิเศษ"
|