ดอน กีโฮเต้ ยังไม่ตาย

 
.......มิเกล เด เซรบานเตส ซาเบดรา ผู้แต่งนิยายเรื่อง ดอน กีโฮเต้ มีชีวิตอยู่ในยุคเดียวกับเชคสเปียร์ กวีชาวอังกฤษ และก็เช่นเดียวกัน ประวัติชีวิตส่วนใหญ่ของเขายังอยู่ในความคลุมเครือไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัด ทราบแต่ว่า เขาเกิดที่เมืองเล็กๆ ใกล้กรุงมาดริด เมื่อ ค.ศ. 1547 ครอบครัวมีฐานะค่อนข้างยากจน แต่มีศักดิ์ศรี ได้รับการศึกษาขั้นต้นที่มาดริด จนอายุ 22 ปี จึงเดินทางไปยังประเทศอิตาลี เข้าร่วมรบในสงคราม ระหว่างพวกมัวร์และพวกคริสเตียน จนได้รับบาดเจ็บที่หน้าอกและที่มือซ้าย หลังจากนั้นยังได้ร่วมในสงครามอื่นๆ อีกหลายครั้ง จนกระทั่งเดินทางกลับสเปน
.......ระหว่างเดินทางกลับมายังสเปน เขาถูกโจรสลัดชาวมัวร์จับไปขาย ตกเป็นทาสอยู่ในอาฟริกาถึงห้าปี ในที่สุดก็ได้รับการปลดปล่อยกลับมายังสเปน แต่ที่สเปนนี้เอง เขาถูกลงโทษจำคุกอีกสองสามครั้ง เพราะถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม ค.ศ. 1597 เขาถูกลงโทษด้วยข้อหาบ่อนทำลายศาสนจักรอันศักดิ์สิทธิ์ ชีวิตของเขามีแต่ความลำบากยากจน ทว่าเขาก็ยังมีความกระตือรือร้นและกำลังใจอยู่เสมอ เซรบานเตสใช้ช่วงเวลาสุดท้ายที่เมืองมาดริด และได้พิมพ์เผยแพร่นิยายภาคแรกของ ดอน กีโฮเต้ ในปีค.ศ. 1605 ต่อจากนั้นก็เริ่มเขียนหนังสืออีกอย่างไม่หยุดยั้ง และนำเอา ดอนกีโฮเต้ ภาคสองออกดีพิมพ์ในปีค.ศ. 1615
.......ระยะเวลาที่ห่างกันเพียงสิบปี ระหว่าง ดอน กีโฮเต้ ภาคแรก และภาคที่สองนั้นมีความหมายในเชิงประวิติศาสตร์สังคมที่ส่งผลต่องานวรรณกรรม เซรบานเตสเขียน ภาคแรกในช่วงปลายยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาอันรุ่งเรือง จักรวรรดิสเปนมีอำนาจครอบคลุมไปทั่วโลก จัดเป็นยุคทองทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และศิลปวัฒนธรรม เนื้อหาจึงเอ่ยถึงอุดมคติและจินตนาการอันยิ่งใหญ่ของ ดอน กีโฮเต้ ผู้ละทิ้งหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อลามันช่า เพื่อออกไปเผชิญโชคเยี่ยงอัศวิน คอยพิทักษ์ความยุติธรรม และช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอกว่า แต่ที่สุด เขาก็ถูกพ่อค้าสองสามคนทำร้าย และถูกนำตัวกลับมายังหมู่บ้าน
.......ในหนังสือภาคสอง เซรบานเตส สะท้อนสภาพเสื่อมโทรมของจักรวรรดิสเปน เมื่อเริ่มเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า บาร็อคโก อันเนื่องมาจากศึกสงครามและดินแดนอาณานิคมที่ครอบครองอยู่มากมายที่ทำให้สเปนต้องรับภาระหนักทางเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนมีแต่ความลำบากยากแค้น เนื้อเรื่องของ ดอน กีโฮเต้ ภาคสอง จึงสะท้อนให้เห็นบรรยากาศที่ตึงเครียด เศร้าหมอง การดูถูกเหยียดหยามที่ดอนกีโฮเต้ ได้รับระหว่างผจญภัยในดินแดนต่างๆ ทำให้เขารู้สึกเจ็บช้ำ และท้อแท้ เหนื่อยอ่อนต่อการจึดถืออุดมคติ และความฝันอันสูงสุดของเขา ในที่สุด เขาต้องกลับไปหมู่บ้านอย่างพ่ายแพ้ ยอมรับสภาพความเป็นจริงที่เจ็บปวดและขมขื่น ต่อมาไม่นานเขาก็สิ้นชีวิตลง
.......ดอน กีโฮเต้ คือนิยายที่สร้างชื่อเสียงอันยืนยงให้แก่เซรบานเตส ตั้งแต่บัดนั้นมา จนกระทั่งปัจจุบัน นักวรรณคดีทั่วโลกต่างยกย่องความเป็นอัจฉริยะของเขาที่สามารถ ทำให้ชายชราผู้เสียสติกลายมาเป็นละคร อมตะแห่งโลกวรรณคดี
.......เดล วาสเซอร์มัน นักเขียนบทละครชาวอเมริกัน ไดรับความบันดาลใจการเรื่องราวของ ดอน กีโฮเต้ และมิเกล เดเซรบานเตส ผสมผสานกัน แรกเริ่มเดิมที เขาเองก็เช่นเดียวกับคนทั่วไปในโลกตะวันตก ที่คุ้นเคยกับชื่อของดอน กีโฮเต้ โดยไม่เคยอ่านนิยายที่เซรบานเตสเขียน อย่างน้อยในพจนานุกรมภาษาอังกฤษ คำว่า quixote ก็มีปรากฏอยู่ และมักถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ เพื่อระบุถึงความคิด การกระทำ หรือลักษณะของคนที่เพ้อฝัน หรือพยายามทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
.......เมื่อเดินทางไปยังประเทศสเปนในปี 1959 วาสเซอร์มัน อ่านพบข่าวหนังสือพิมพ์ซึ่งออกในกรุงมาดริดว่า เขามาเพื่อค้นคว้าเกี่ยวกับการนำวรรณกรรมเรื่อง ดอนกีโฮเต้ ไปทำเป็นบทละคร ภายหลังจากงุนงงอยู่พักใหญ่ เขาก็เริ่มด้วยการหยิบเอา ดอนกีโฮเต้ ภาคสองขึ้นมาอ่านด้วยความรู้สึกล่วงหน้าว่า เรื่องราวอันเข้มข้นลึกซึ้งของอัจฉริยบุรุษผู้ฟั่นเฟือนนี้ ยากเกินกว่าจะนำมาถ่ายทอดในรูปของบทละคร
.......แต่แล้ว จากการที่เขาได้ขุดค้นลงไปในประวัติชีวิตของเซรบานเตส วาสเซอร์มัน ก็เริ่มประทับใจในเรื่องราวชีวิตที่ผ่านประสบการณ์มามากมายหลายแบบ เคยเป็นทั้งทหาร นักแสดง คนเก็บภาษี นักเขียนบทละคร ซ้ำยังถูกขังคุกนับครั้งไม่ถ้วน ท่ามกลางความล้มลุกคลุกคลานเหล่านี้ อะไรเล่าทำให้ เขาสามารถผลิตงานเช่น ดอน กีโฮเต้ ได้ในบั้นปลายของชีวิตที่ดูมีแต่ความเสื่อมโทรมล้มเหลว คงต้องอาศัยวิญญาณอันทรงพลังของความเป็นมนุษย์นั่นเอง ที่กลั่นกรองและ บันดาลให้เขาทำงานชิ้นสำคัญนี้ได้จนสำเร็จและกลายมาเป็นวรรณคดีที่ยืนยงของโลก
.......เมื่อได้ข้อสรุปเช่นนี้ เดล วาสเซอร์มัน จึงเริ่มเขียนบทละคร
.......แรกสุด เขาเขียนเป็นบทละครสำหรับออกอากาศทางโทรทัศน์ ความยาว 90 นาที ได้รับการต้อนรับจากผู้ชมอย่างดีเยี่ยม ถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญของปีนั้น ทั้งยังได้รับรางวัลทางการละครอีกมากมาย แต่วาสเซอร์มัน กลับยังไม่พอใจนัก ด้วยเห็นว่าโทรทัศน์มีข้อจำกัดบางประการซึ่งทำให้ละครไม่บรรลุจินตนาการและความตั้งใจที่เขาใฝ่ฝันไว้ เขาจึงนำบทประพันธ์นี้มาเขียนขึ้นใหม่ สำหรับแสดงบนเวทีของบรอดเวย์ ตามที่มีผู้มาเสนอเขา
.......ทว่าวาสเซอร์มันก็ยังไม่รู้สึกลงตัวกับการเขียนครั้งใหม่นี้ จนกระทั่งผู้ร่วมงานคนหนึ่งเสนอว่า ต้องทำออกมาเป็น "ละครเพลง" จึงจะได้รสชาติตามที่ต้องการ วาสเซอร์มัน เห็นด้วยกับความคิดนี้และได้ที่สุดก็เริ่มสิ่งที่เขาเรียกว่า "การผจญภัย" ของเขาอีกครั้ง เป็นการผจญภัยไปในอาณาบริเวณของการเสาะแสวงรูปแบบ กลวิธี และปรัชญา เพื่อสร้าง แมน ออฟ ลามันช่า ให้ออกมาสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เขาและเพื่อนร่วมงานจะฝันไปให้ถึงได้
.......ความลึกซึ้งของบทละครที่พูดถึงวิญญาณภายในของมนุษย์ ที่ดิ้นรนฝ่าฟันข้อจำกัดทั้งมวลประดามีในโลกนี้ เพื่อไปให้ถึงความฝันอันยิ่งใหญ่ ทำให้นายทุนบรอดเวย์หลายคนลังเลว่าละครจะเป็นปัญญาชนมากเกินไป กว่าที่จะได้ลงโรง ณ โรงละครเฮาเวิร์ด เบย์ ก็เล่นเอาพวกเขา ล้มลุกคลุกคลานไม่ผิดกับชีวิตของเซรบานเตสเองทีเดียว
.......ในคืนเปิดการแสดงรอบแรก ปฏิกิริยาตอบสนองจากผู้ชมทำให้บรรดาผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของละคร ถึงกับอุทานออกมาว่า "พวกเขามิได้เพียงเข้ามาชมการแสดงละครเรื่องหนึ่งเท่านั้น หากกำลังเข้าร่วมพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ที่พวกเราเองก็มิได้คาดคิดมาก่อนว่าจะตรึงผู้ชมได้ถึงขนาดนี้"
.......แมน ออฟ ลามันช่า ได้รับรางวัล "ละครเพลงยอดเยี่ยมแห่งปี 1966" จาก New York Srama Critics Award นักวิจารณ์ประจำหนังสือพิมพ์ฉบับสำคัญๆ ทั้งหลายต่างกล่าวขวัญถึงละครเรื่องนี้อย่างยกย่องว่าเป็นการปลุกวิญญาณของดอน กีโฮเต้ ให้กลับฟื้นคืนมาได้อย่างสง่างาม ทรงพลังเต็มไปด้วยจินตนาการบรรเจิด และที่สำคัญ คือ ด้วยความสัตย์ซื่อต่อความใฝ่ฝันอันเป็นอมตะ ที่ส่งทอดจากศตวรรษที่สิบเจ็ดมาสู่คนรุ่นหลัง ด้วยเลือดเนื้อของศิลปะการละคร ศิลปะที่เซรบานเตสรักและผูกพัน แม้จะไม่เคยประสบความสำเร็จจากละคร 40 เรื่องที่เขาเขียนขึ้น ตลอดเวลาที่เขามีชีวิตอยู่เลยก็ตาม
 

เก็บความจากบทความ ดอน กีโฮเต้:

อัจฉริยบุรุษแห่งลามันช่า, พรหม ศิริสัมพันธ์, นิตยสารถนนหนังสือ สิงหาคม 2530