ขออย่าให้ธรรมศาสตร์เป็นเพียงตำนาน

เมื่อเราเข้าไปในธรรมศาสตร์ในปลายทศวรรษ 2500

ธรรมศาสตร์ที่เคยได้ข่าวร่ำลือมาว่า
เป็นสถาบันผลิตนักต่อสู้เพื่อความชอบธรรมนั้น

ดูจะเป็นเพียงตำนาน

เป็นนิยายปรัมปราที่เกิดขึ้นเมื่อนานโพ้นเสียมากกว่า
ในความเป็นจริง
ธรรมศาสตร์ในสมัยของเรา
เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกลไกรัฐที่มีหน้าที่ผลิตปัญญาชน
ออกไปทำงานรับใช้ระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบทุนนิยมบริวารเท่านั้น
แต่ธรรมศาสตร์ก็ไม่ได้หมายถึงผู้กุมนโยบายและบริหารมหาวิทยาลัย,
ข้าราชการ อาจารย์ หรือแม้แต่นักศึกษาส่วนใหญ่เท่านั้น
ธรรมศาสตร์ยังเป็นแหล่งพบปะ
เป็นชุมชนของผู้ที่ยังต้องการเรียนรู้
ผู้กล้าตั้งคำถามและไม่เชื่ออะไรง่ายๆ
ธรรมศาสตร์จึงยังคงเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงต่อไป
แม้แต่ในยุคอับเฉาทางปัญญาของ สฤษดิ์ ถนอม ประภาส
และพวกเราบางคนในชุมชนแห่งนั้น

ก็ได้มีส่วนร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ขึ้นอีกฉากหนึ่ง

จากนักคิด นักเขียน นักทำหนังสือกลุ่มเล็กๆ ถึงสภาหน้าโดม

แลถึงการลุกฮือ 14 ตุลาคมที่ยิ่งใหญ่
เดี่ยวนี้ เพียงชั่วทศวรรษถัดมา
สิ่งเหล่านี้กำลังจะกลายเป็นเพียงตำนานอีกครั้งหนึ่ง
ธรรมศาสตร์ในวันนี้ได้พัฒนาทางด้านความรู้
และวิชาชีพมากขึ้นกว่าเมื่อทศวรรษสองทศวรรษที่แล้วมาก
อาจารย์ดุษฎีบัณฑิตเดินกันเกลื่อน
งานวิจัยกองท่วมหัว
นักศึกษามีหนังสือให้เลือกอ่าน
มีกิจกรรมทางวิชาการให้เลือกฟังมากมาย
แต่สปิริตของการแสวงหาและการต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีกว่า
ยังคงเข้มข้นดีอยู่หรือ?
ขออย่าให้ธรรมศาสตร์เป็นเพียงตำนาน นิยายปรัมปรา
ธรรมศาสตร์ไม่ใช้พิพิธภัณฑ์สำหรับเก็บแต่ซากอดีตที่ตายไปแล้ว
ไม่ใช่หอคอยงาช้างของนักวิชาการที่เรียนรู้สังคมไทยแต่จากหนังสือ
และคำบรรยายในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ
ธรรมศาสตร์คือชุมชนของคนที่ยังมีชีวิตอยู่
คนที่ยังต้องแสวงหา, ต่อสู้เรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด
คืออดีตที่เชื่อมโยงถึงปัจจุบัน
และคือปัจจุบันที่กำลังสร้างอนาคต
ประวัติศาสตร์ไม่ได้เพียงแต่มีไว้ให้เราชื่นชมหรือขมขื่น
ประวัติศาสตร์คือสิ่งที่พวกเราในแต่ละยุคสมัยจะต้องสร้างขึ้น
ให้สวยสดงดงาม
และมีความหมายยิ่งขึ้นไปกว่าครั้งที่แล้วๆ มา...

ฝันของเด็กชายชาวนา โดย วิทยากร เชียงกูล