![]() |
![]() |
![]() |
สะพาน |
สุชาติ สวัสดิ์ศรี เขียน เม.ย. 2515 |
......ก่อนที่พ่อจะรับลุงเฒ่าเข้ามารักษา พ่อบอกกับผมว่าลุงเฒ่ากำลังจะตายในไม่ช้า ลุงเฒ่าแก่มากแล้ว ครั้งนี้เป็นหนที่สามที่พ่อพาแกมารักษา ลุงเฒ่าเคยเช่านาในพื้นที่แถบนี้ทำมาตั้งแต่ก่อนที่ครอบครัวของเขาจะย้ายมาอยู่ที่นี่ พ่อบอกว่า บริเวณริมคลองด้านตะวันตกเหมาะที่จะปลูกบ้านตั้งรกราก เราถูกทางกองทัพไล่ที่มาพร้อมกับครอบครัวหลายครอบครัว ทางกองทัพเตรียมจะใช้พื้นที่บริเวณนั้นสร้างท่าอากาศยาน และขยายลานบินให้กว้างขึ้น พ่อย้ายบ้านมาปลูกบริเวณริมฝั่งคลองอีกฟากหนึ่งซึ่งเป็นที่ดินของคนรู้จักกัน ติดกับแนวชายคลองที่เป็นเขตที่ดินของกรมชลฯ พ่อปลูกบ้านแบบเก่ายกพื้นใต้ถุนสูงเพื่อใช้เป็นที่นั่งเล่นและทำฝากั้นแบ่งเป็นห้องสำหรับคนไข้ที่มารักษา ชาวบ้านละแวกนั้นจะนั่งเรือหรือไม่ก็เดินตามชายคลองมาหาพ่อ พ่อเป็นหมอเสนารักษ์เพียงคนเดียวในแถบถิ่นนี้ กระท่อมชาวนาและบ้านไม้มุงหลังคาสังกะสีปลูกกระจัดกระจายเป็นหย่อมตามละเมาะไม้เขียวขจีริมฝั่งคลอง ชาวบ้านป่วยไข้จะมาหาพ่อตอนที่พ่อเลิกจากงานประจำที่โรงพยาบาล รักษาเสร็จแล้วก็กลับไป ไม่มีใครมานอนพักอยู่ในบ้านของเราบ่อยนัก ห้องข้างล่างจึงมักว่างเปล่าเสมอ มองจากห้องนี้ออกไปทางหลังบ้านจะเห็นทุ่งนากว้างโล่ง มีละเมาะไม้เขียวขึ้นเซมแทรกเป็นหย่อมเป็นย่านเวลาลมพัดแรง กอไผ่ที่ขึ้นเขียวอยู่ข้างบ้านจะเอนลู่เลียดลำสั่นเป็นจังหวะฟังแล้ววังเวง มองจากกลางนาเข้ามา มีบ้านของเราแลดูโดเดี่ยวอยู่หลังเดียว ส่วนทางฝั่งคลองนานๆทีจะมีเรือไปพายไปมา แม่ค้าจากรังสิตเอาสัมสูกลูกไม้ใส่เรือมาร้องขายเป็นประจำ เวลาไปทำงานตอนเช้า พ่อจะนั่งเรือพายไปขึ้นยังฝั่งอีกฟากหนึ่ง แล้วเดินไปขึ้นรถรับส่งของกองทัพ หรือไม่บางทีพ่อก็จะขี่จักรยานไปทำงาน |
......เมื่อลุงเฒ่าถูกเจ้าของนาบอกเลิกให้เช่านา ลุงเฒ่าขายควายที่มีตัวเดียวให้เพื่อนบ้านที่ทำนาอยู่ใกล้กัน แล้วก็เลิกทำนาไป ลุงเฒ่ากลายเป็นที่รู้จักของผมกับผู้คนในละแวกบ้านนี้อีกครั้งหนึ่ง เมื่อแกหันมารับจ้างพายเรือส่งคนข้ามฟาก ทุกคนที่ข้ามไปทำงานในกองทัพ ล้วนคุ้นเคยกับท่าทางและความอารีของลุงเฒ่าเป็นอย่างดี ลุงเฒ่าเป็นที่ต้องการของพวกเราเสมอ เพราะแกเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่เชื่อมสองฝั่งฟากคลองเข้าด้วยกัน |
......ชีวิตส่วนนี้เป็นชีวิตที่ลุงเฒ่าไม่ได้เล่าบอกใคร แต่พวกเราต่างคิดเอาเองว่าแกมีความสุขและชีวิตมีความหมาย |
......ลุงเฒ่ารับส่งผมกับพ่อข้ามคลองแห่งนี้เป็นประจำ แต่ก่อนเราเคยพายเรือข้ามกันเอง เมื่อมีลุงเฒ่ามารับหน้าที่ แกก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนที่ต้องเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกัน ค่าข้ามเรือเที่ยวละ 10 สตางค์ |
......ลุงเฒ่าสามารถเก็บหอมรอมริบไว้จนพอปลูกกระท่อมหลังคาจากหลังเล็กๆ แกใช้ที่ดินริมฟากคลองฝั่งเดียวกับที่พ่อปลูกบ้าน อาศัยทางเดินริมคลอง กระท่อมของลุงเฒ่าอยู่ไม่ห่างจากบ้านเราเท่าใดนัก และที่ตรงนั้นคือศูนย์กลางที่คนจากหมู่บ้านทางด้านเหนือและด้านใต้ ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปจะเดินมาตามฝั่งคลองเพื่อขึ้นเรือของแกข้ามฟากไปทำธุระในเมือง เด็กๆ ในหมู่บ้านก็ต้องขึ้นเรือของแก เพราะโรงเรียนตั้งอยู่ทางฝั่งตรงข้าม |
......ครั้งเมื่อยังข้ามฟากไปโรงเรียน ผมเคยถามแก |
......"บ้านเดิมของลุงอยู่ที่ไหนล่ะ" |
......"ท่าเรือ ที่อยู่ติดกับทางสระบุรีโน่นไง ไกล... ต้องขึ้นรถไฟไปไกล" |
......"ทำไมลุงถึงย้ายมาอยู่ที่นี่ล่ะ" |
......"เจ้าของที่นาเขาเอาที่คืน แต่ที่นาแถวนั้นเวลาน้ำมาก มันทำเอานาล่มแทบทุกปี ข้าเลยอยากเสี่ยงมาเช่านาแถวนี้ทำ" |
......"ลุงเกิดที่นั่นเลยหรือ" ผมถาม |
....."ใช่ เกิดที่นั่นแหละ" |
......ลุงเฒ่ามองเหม่อไปไกล "เมียข้าตายตั้งแต่ซื้อควายตัวที่สอง... ไม่มีลูก" |
......ลุงเฒ่าอยุ่คนเดียวก่อนเราย้ายบ้านมาอยู่ฝั่งเดียวกับแก แกหุงหาอาหารกินเอง อาศัยผักบุ้ง ตำลึง และกระถินที่ปลูกไว้ข้างรั้วก็พอเป็นมื้อทำกินไปได้ทั้งวัน บางวันแม่ก็ให้ผมเอาแกงใส่ปิ่นโตไปให้แก แกก็เก็บกระถินกับยอดตำลึงงามฝากตอบมาให้ทุกครั้ง บั้นปลายของลุงเฒ่ามีความสุขอยู่ที่ทุกคนในหมู่บ้านตามแนวฝั่งคลองต่างรู้จัก - ทักทายแก หรือไม่ก็ตะโกนเรียกแกเวลาต้องการข้ามฟาก ลุงเฒ่ามีแมวอยู่ตัวหนึ่ง แกรักของแกมาก เวลาข้ามฟากจะเอามันนั่งข้ามไปด้วย และเวลาคอยคนข้ามอยู่ที่ริมท่า แกก็จะตบหัวลูบหลังมันเล่น หรือไม่ก็ปล่อยให้มันไปเดินเล่นบนฝั่ง |
......"แมวมันดีกว่าคน ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน มันก็อยู่ของมันได้" แกมักจะพูดกับหลายคนเช่นนั้น |
......ครั้งแรกเมื่อพ่อพาลุงเฒ่าเข้ามารักษาอยู่ที่ห้องชั้นล่างอาการป่วยของลุงเฒ่ายังไม่หนักหนาเท่าไร แกป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ซึ่งพ่อบอกกับผมว่ อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ทั้งนี้เนื่องจากกินอาหารไม่เป็นเวลา และพักผ่อนไม่เพียงพอ ถ้าเชื้อไข้หวัดใหญ่ระงับไว้ได้ทัน - ป้องกันไม่ให้ไข้ขึ้นสูง พ่อว่าอาการก็ไม่น่าเป็นห่วง พ่อพาลุงเฒ่ามารักษาอยู่ห้องชั้นล่างดูแลให้แกอบอุ่นและพักผ่อนเต็มที่ คอยระวังไม่ให้กลายเป็นปวดบวม เพื่อที่เชื้อไข้หวัดใหญ่จะได้กลายเป็นหวัดธรรมดา และหายไปเองในที่สุด |
......หลังจากการป่วยครั้งแรก ลุงเฒ่าก็แข็งแรงเป็นปกติ และกลับไปทำหน้าที่รับส่งคนข้ามฟากตามเดิม |
......วันเวลาผ่านไป--หมู่บ้านตามฝั่งคลองเริ่มมีคนอพยพ จากฟากตรงข้ามเข้ามาอยู่มากขึ้น ตามชายคลองค่อยๆ มีบ้านใหญ่น้อยปลูกเรียงรายตามใจตนเอง ขี้เหล็กและสะแกที่ขึ้นอยู่สองข้างทางริมฝั่งถูกโค่นลง เพื่อให้มีที่ว่างสำหรับผู้อพยพเข้ามาใหม่ ที่นาบางแห่งเริ่มปล่อยให้ว่างจนมีหญ้าคาขึ้นรกอยู่เต็ม เพราะเจ้าของที่เรียกนาคืน บางเจ้าเตรียมปลูกเพิงเป็นตลาด และแบ่งขายเป็นที่ดินจัดสรรต้อนรับผู้ที่อพยพเข้ามาใหม่ ขอบฟ้าด้านตะวันตกที่เคยเห็นแต่หมู่ไม้เขียวขจี-มองเห็นทุ่งกว้างโล่งไปจรดเมืองปทุมฯ เริ่มมีรั้วกั้นเขตบอกกรรมสิทธิ์การเป็นเจ้าของที่ดิน ที่นาบางแห่งยกคันคูขึ้นสูงเพื่อใช้ดินมาถมเป็นพื้นเวลาสร้างบ้าน ท่าอากาศยานฝั่งตรงข้ามมีผู้คนคึกคักมากขึ้น ตึกใหม่ๆ ถูกสร้างขึ้นแทนสลัมข้างวัดที่ถูกไฟไหม้ ตึกเหล่านั้นเปิดไฟนีออนสว่างจ้าตลอดคืน หลังโรงเรียนเลิกในตอนใกล้ค่ำ ผมกับเด็กรุ่นเดียวกันมักจะเดินไถลไปจับแมงดาที่ขึ้นมาเล่นไปตามถนนสนุกสนานไปตามประสาเด็ก ไม่คิดไม่รู้อะไรมากไปกว่าสนุก ฝรั่งที่ลงจากเครื่องบินลำโตกลายเป็นเป้าความสนุกในการมองดูของเราด้วย เมื่อตึกของสายการบินพาณิชย์หลายแห่งก่อสร้างเสร็จ หมู่บ้านทางริมฝั่งคลองด้านเหนือของสนามบินก็เริ่มมีสถานโสเภณีเปิดบริการเป็นครั้งแรก ตอนพลบค่ำทุกวันจะเห็นผู้หญิงเขียนคิ้วทาปาก หน้าตาทั้งสวยและไม่สวยข้ามฟากมาพร้อมกับเรา และพร้อมกับคนแปลกหน้าอีกหลายคนที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน ริมทางรถไฟซึ่งอยู่ไม่ไกลจากทางเข้า -- ออกท่าอากาศยาน มีกะเทยสองสามคนแต่งตัวเป็นผู้หญิงเริดหรู เดินเตร่ไปมาตามเงามืดและรับจ้างบริการข้างทางรถไฟนั่นเอง ครั้งแกเรามองภาพแปลกๆ ที่ปรากฏด้วยความคึกคะนอง แต่แล้วในไม่ช้าภาพเหล่านั้น ก็กลายเป็นความซ้ำซากจำเจและหลีกเลี่ยงไม่ได้เหมือนเช่นอีกหลายสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป |
....."รู้ไหมลุง เขาว่ามีหนังจอเล็กมาตั้งที่กรมทหาร" ผมบอกลุงเฒ่าครั้งหนึ่งขณะนั่งเรือแกกลับบ้าน "ไอ้เล็กลูกตาแจ้งเคยเข้าไปดู เห็นมันคุยบอกว่ามีหนังคาวบอยมาฉายทุกวัน" |
....."ไม่รู้สิ...ข้าไม่เคยดู เห็นใครๆ เขาว่ายุคพระศรีอาริย์กำลังใกล้เข้ามา" แกตอบ มือกำพายแน่นคอยคัดท้ายหลบคลื่นจากเรือหางยาวที่เริ่มเข้ามาวิ่งตามลำคลองซึ่งเคยสงบมาช้านาน |
......"เห็นพ่อบอกผมว่า เขาเรียกโทรทัศน์" ผมพูด "ลุงไม่เคยเข้าไปดูบ้างเลยหรือ" |
......"ไม่ละ เดี๋ยวไม่มีใครคอยรับคนข้ามฟาก เดี๋ยวนี้คนมันมากไปดูบ้างเลยหรือ" |
......"ทำไมลุงไม่หาใครมาช่วยพายแทนล่ะ" |
......"ไม่ล่ะ ข้าทำเองได้ ขี้เกียจหน่อยก็ตอนไอ้พวกหนุ่มฟากโน้นมันข้ามมาเที่ยวอีปี้ดฟากนี้ แต่มันต้องการข้า ข้าเองก็เต็มใจ แล้วเอ็งล่ะ เดี๋ยวนี้ไม่เห็นมาฟังนิทานเลย" |
......ประโยคสุดท้ายดูเหมือนลุงเฒ่าจะพูดกับตัวเอง |
......เมื่อพ่อพาลุงเฒ่ามารักษาที่บ้านเป็นหนที่สอง คนในหมู่บ้านเริ่มพูดกันถึงสะพานที่ทางอำเภอตกลงจะสร้างขึ้นไม่ห่างจากที่ตั้งกระท่อมของลุงเฒ่า การตกลงใจสร้างครั้งนี้ ทางกองทัพเห็นชอบด้วย เพราะมีโครงการจะย้ายกองบัญชาการและหน่วยช่างทหารไปอยู่นอกเมือง ไม่ห่างจากคลองประปาและคลองเปรม ทางอำเภอจะสร้างถนนตัดเป็นตาข่าย 4 สายโดยให้ทะลุถึงกันทั้งหมด ทั้งทางหลักสี่ รังสิต และตัดตรงไปถึงปทุมธานีด้วย อีกทั้งกะว่าที่ดินแถบนั้นจะมีราคาแพงขึ้นเนื่องจากมีถนนตัดผ่าน บรรดาพ่อค้าที่ดินและเจ้าของที่นาล้วนยินดี กับการก่อสร้างครั้งนี้ เมื่อเชื่อมคลองสองฟากให้รถวิ่งเข้ามาถึง ที่ดินก็จะมีราคาสูงและเหมาะจะจัดสรรให้คนในเมืองอพยพเข้ามาอยู่มากขึ้น การสร้างสะพานเริ่มลงเสาเมื่อลุงเฒ่า ยังนอนรักษาตัวครั้งที่สองอยู่กับพ่อ พ่อบอกว่าอาการของแกไม่ดีขึ้น แต่จิตใจแกเข็งแกร่งเหมือนมีพลังบางอย่างมาฉุดดึงทำให้แกฟื้นไข้ครั้งนี้อย่างรวดเร็ว เช้าวันหนึ่งพร้อมๆ กับที่ผมขึ้นรถไฟเข้าไปเรียนหนังสือในเมือง ผมได้เห็นลุงเฒ่าออกมาพายเรือรับ - ส่งคนข้ามฟากตามปกติ พ่อเตือนแก-ว่าไม่ควรทำงานออกแรงหักโหมเกินไป เพราะการป่วยครั้งหลังนี้มีอาการของโรคหัวใจแทรกปรากฏ อยู่ด้วย พ่อแนะว่าแกควรย้ายมาอยู่กับเราที่บ้าน เพราะห้องข้างล่างยังว่าง และจะให้แกอยู่ช่วยงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ แต่ลุงเฒ่าตอบว่า |
......"พ่อหมอ... ข้ามีเวลาไม่มากแล้ว" ลุงเฒ่ากล่าวพร้อมกับชี้มือไปที่เสาเข็มกลางลำคลอง |
......"ข้าไม่มีเวลา..." แกกล่าวต่อไป "เดี๋ยวนี้มีสะพาน อีกไม่ช้าก็จะมีถนนตามมา มีถนนอีกไม่น่าน ก็จะมีรถ ข้าไม่รู้จะว่ายังไง... เดี๋ยวนี้บ้านเมืองเปลี่ยนไป โตเร็วเกินไป และดูแปลกเกินไปสำหรับข้า ผู้คนก็ดูแปลกๆ กันไปหมด ข้าไม่ค่อยรู้จักใครเขาแล้ว พวกเขารีบไป-รีบมา อีกไม่ช้า- -" |
......ผมไม่ได้กลับมาบ้านบ่อยนัก บางทีเป็นเดือนหรือหลายเดือนจึงกลับมาเยี่ยมบ้านสักครั้ง และทุกครั้งที่มา หมู่บ้านริมคลองของเราก็ค่อยๆ เปลี่ยนโฉมไปทีละน้อยแทบไม่รู้ตัว ความทรงจำในวัยเด็กของผมไม่เหลืออีกแล้ว ความเปลี่ยนแปลงก้าวเข้ามาพร้อมกับวัยเด็กที่สูญหาย หลังบ้านที่เคยเป็นทุ่งนาโล่งตลอด--- ตรงที่ดวงอาทิตย์ลับของฟ้าเวลายามเย็น เราเคยมองเห็นกองฟางและป่าไผ่นวลเขีวยสลับกับหมู่ไม้พันธุ์อื่นเป็นแนวราบระเส้นขอบฟ้า มาบัดนี้ไม่มีให้เห็นอีกแล้ว เพราะมีป้ายโฆษณาสินค้าถูกตั้งขึ้นมาบัง ชาวนาส่วนใหญ่ถูกยกเลิกที่เช่าและกลายไปเป็นกรรมกรขายแรงงานให้บริษัทรับเหมาก่อสร้าง หรือไม่ก็ไปทำงานตามโรงงานตั้งแต่รังสิตจนถึงประตูน้ำพระอินทร์ ชีวิตของพวกเราเปลี่ยนรูปจากสังคมหมู่บ้านริมคลองเป็นสังคมหมู่บ้านชานเมือง เสาไฟฟ้าแรงสูงที่โยงระยางไปตามฝั่งคลองนำเอาสิ่งที่เรียกว่า ความเจริญมาสู่เราเช่นเดียวกับเสาโทรทัศน์ที่งอกขึ้นบนหลังคา มองดูคล้ายกระโดงเรือหรือพันธุ์ไม้ชนิดใหม่ที่นำเอาความสะดวกสบายตามวิธีการของคนเมืองมาสู่ชีวิตในหมู่บ้าน |
......"ลุงคงไม่อยากให้หมู่บ้านของเราเจริญ..." ผมถามลุงเฒ่าครั้งหนึ่งขณะนั่งเรือของแกมาขึ้นรถเข้าเมือง |
......"เปล่าเลย หลานเอ๋ย ข้าน่ะแก่แล้ว ข้าเองบอกไม่ได้หรอกว่า อยากหรือไม่อยาก ข้าพอรู้ว่า ถนนทุกสายมันจำเป็น สะพานทุกแห่งก็จำเป็นเหมือนกัน มันมีวิญญาณให้คนเดินทางไปมาหาสู่กัน แต่กับข้า - - มันไม่จำเป็นกับข้า ข้ามันพ้นยุคไปแล้ว ไม่มีความหมายอะไรหรอก ถ้ามาคราวหน้าบางทีเอ็งคงอยากเดินขึ้นสะพานมากกว่ามาลงเรือของข้า" |
......ผมไม่ได้กลับมาเยี่ยมบ้านเสียนาน -- นานมาก ผมอาศัยวัดเป็นที่พักพิงจนเรียนจบมหาวิทยาลัย และวันนั้นที่ผมกลับมาทุกสิ่งทุกอย่างก็แปลกไปยิ่งกว่าเดิม สะพานซึ่งแต่ก่อนเป็นเพียงโครงสร้างเสาเข็ม บัดนี้ได้เชื่อมต่อเป็นรูปสะพานคอนกรีตเสร็จเรียบร้อย ทางอำเภอได้สั่งให้คนงานรื้อกระท่อมมุงจากของลุงเฒ่าโดยอ้างว่า กระท่อมแกกีดขวางทางเดินขึ้นลง ก่อนแกล้มเจ็บลงครั้งหลัง พ่อบอกว่าเป็นวันเดียวกับที่ทางอำเภอได้กำหนดให้เป็นวันทำพิธีเปิดสะพาน ลุงเฒ่าตื่นก่อนฟ้าสางเพื่อทำหน้าที่รับส่งคนข้ามฟากตามปกติ สะพานคอนกรีตที่สร้างเสร็จแล้วมองเห็นอยู่เหนือหัวของแกไม่ไกล ลุงเฒ่าคอยรับคนอยู่จนแดดสายและคอยอยู่ทั้งวันจนกระทั่งค่ำมืด ก็ยังหาใครมาลงเรือของแกไม่ได้แม้คนเดียว เส้นทางข้ามเรือกับสะพานอยู่ไม่ไกลกัน ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ |
......ค่ำวันนั้น มีคนเห็นลุงเฒ่าตีแมวที่แกเลี้ยงเป็นครั้งแรก แมวตัวที่ผมเคยเห็นนั่งกับแกเวลาพายเรือข้ามฟาก กับตัวที่แกตีจะเป็นตัวเดียวกันหรือเปล่า ผมไม่ทราบ |
......"ลุงเฒ่าจะตายแน่หรือพ่อ" ผมถาม |
......"แกเป็นมะเร็ง" พ่อตอบ |
......"แกจะอยู่ไปอีกนานไหม" |
......"แกคงเสียใจที่แมวของแกหายไป" |
......"แกจะตายไหม" |
......"ไม่รู้สิ มีคนบอกว่าแมวของแกไปเดินอยู่บนสะพาน" |
......ก่อนผมกลับเข้าเมืองในวันนั้น ผมยังจำได้ที่ลุงเฒ่าเคยพูดกับผม |
......"แมวมันดีกว่าคน ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน มันก็อยู่ของมันได้" |