มุมความรู้และบริการต่างๆ
รายการหนังสือ
หน้าที่ 1

ผู้ที่ติดตามข่าวต่างประเทศคงทราบกันดีว่าในขณะนี้โลกกำลังระอุอุ่นด้วยไอแห่งสงครามอันมีต้นเหตุมาจากประเทศสหรัฐอเมริกาและอิรักที่มีประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซนเป็นผู้นำ

สำหรับสาเหตุความนัยนั้นเกิดจากเมื่อครั้งเกิดสงครามอ่าวเปอร์เซียเมื่อปี ค.ศ. 1990 ในครั้งนั้นอิรักรุกรานคูเวตและถูกกองกำลังของสหประชาชาติภายใต้กำลังหลักที่มาจากประเทศสหรัฐอเมริกาโจมตีอิรักจนย่อยยับในปี ค.ศ. 1991 รวมทั้งหลังจากสงคราวอ่าวเปอร์เซีย อิรักถูกจับตาควบคุมจากสหรัฐอเมริกามาโดยตลอดทั้งนี้เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเกรงว่าอิรักจะสะสมอาวุธร้ายเพื่อก่อสงครามอีก โดยการตรวจสอบการสะสมอาวุธของประเทศอิรักนั้นกระทำโดยคณะผู้ตรวจสอบขององค์การสหประชาชาติซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลายชาติรวมทั้งจากสหรัฐอเมริกา หากพบว่ามีการสะสมอาวุธก็จะทำลายเสีย

ในปี ค.ศ. 1997 คณะผู้ตรวจสอบอาวุธรายงานว่าอิรักพยายามปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับโครงการสร้างอาวุธร้ายต่างๆ รวมทั้งยังกีดกันการเข้าไปตรวจสอบตามสถานที่ต่างๆที่คณะผู้ตรวจสอบสงสัยโดยอ้างว่าไม่ยินดีต้อนรับผู้ตรวจสอบชาวอเมริกันที่อยู่ในคณะ และขอให้เปลี่ยนตัวเป็นผู้ตรวจสอบจากชาติอื่นแทน

บิลล์ คลินตัน ประธานาธิบดี
ของสหรัฐอเมริกา

ฝ่ายสหรัฐอเมริกาไม่พอใจต่อถ้อยแถลงของอิรักและตอบโต้อิรักว่าที่กีดกันผู้ตรวจสอบชาวอเมริกันเนื่องจากมาผู้ตรวจสอบชาวอเมริกันที่อยู่ในคณะมีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับการตรวจสอบแหล่งอาวุธเคมีและชีวภาพเป็นอย่างดี รวมทั้งหัวหน้าคณะผู้ตรวจสอบอาวุธยังเป็นชาวอเมริกันอีกด้วย หากตัดบุคคลเหล่านี้ออกจากคณะก็จะทำให้อิรักตบตาคณะผู้ตรวจสอบได้สะดวกขึ้น พร้อมทั้งยืนกรานไม่เปลี่ยนผู้ร่วมคณะและพยายามที่จะใช้กำลังกดดันอิรักให้ยอมรับการตรวจสอบแหล่งซุกซ่อนอาวุธอย่างไม่มีเงื่อนไข

ริชาร์ด บัตเลอร์ หัวหน้าคณะผู้ตรวจสอบ
อาวุธของสหประชาชาติกำลังคุยกับคนนำ
ทางขณะอยู่ในกรุงแบกแดด ในขณะที่
ทางอิรักพยายามปกปิดข้อมูลจาก
ผู้ตรวจสอบคณะนี้

สงครามได้ตั้งเค้าทะมึนขึ้นเนื่องจากทั้งสหรัฐอเมริกาและอิรักต่างแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อกัน และสหรัฐถึงกับระดมสรรพกำลังมุ่งสู่อ่าวเปอร์เซียเพื่อเตรียมใช้กำลังเข้าตัดสินปัญหา ในขณะที่หลายชาติซึ่งเป็นสมาชิกถาวรขององค์การสหประชาชาติ เช่น รัสเซีย ฯลฯ ไม่เห็นด้วยกับการก่อสงคราม

นายโคฟี อันนัน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติได้พยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อที่จะใช้วิธีทางการทูตเข้าแก้ปัญหาแทน โดยเดินทางเข้าประเทศอิรักเพื่อเจรจากับซัดดัม ฮุสเซน และมีเค้าว่าจะประสบความสำเร็จโดยซัดดัม ฮุสเซนยอมให้คณะผู้ตรวจสอบเข้าตรวจสอบอาวุธได้อย่างเต็มที่ ส่วนประธานาธิบดีบิลล์ คลินตันแห่งสหรัฐอเมริกาก็ยอมถอยมาก้าวหนึ่งโดยจะไม่โจมตีอิรักหากอิรักปฏิบัติตามข้อตกลงที่ให้ไว้กับนายอันนันโดยไม่บิดพลิ้ว

โคฟี อันนัน (ซ้าย) เลขาธิการองค์การ
สหประชาชาติและซัดดัม ฮุสเซน (ขวา)
ประธานาธิบดีอิรัก

ส่วนสาเหตุที่คลินตันต้องการจะใช้กำลังถล่มอิรักให้ได้นั้น ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าเป็นเพราะว่าสหรัฐอเมริกาต้องการสลายศักยภาพทางการทหารของอิรักเพื่อไม่ให้เป็นภัยในภายหลัง ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาเชื่อว่าในหลายปีมานี้อิรักน่าจะสะสมอาวุธร้ายไว้ได้มาก ไม่ว่าจะเป็นอาวุธเคมี อาวุธชีวภาพ ตลอดไปจนถึงอาวุธนิวเคลียร์หรือที่เรียกว่า นุก (nuc ย่อมาจาก nuclear weapon หรืออาวุธนิวเคลียร์) และที่สหรัฐอเมริกาค่อนข้างจะคร้ามเกรงก็คืออาวุธชีวภาพและอาวุธเคมีนั่นเอง

อาวุธชีวภาพ

อาวุธชีวภาพ (biological weapon) คืออาวุธที่ได้จากสิ่งมีชีวิต ซึ่งครอบคลุมถึงตัวสิ่งมีชีวิตเอง สารพิษจากสิ่งมีชีวิต หรือแม้กระทั่งฮอร์โมนหรือสารอื่นใดที่สิ่งมีชีวิตผลิตขึ้นมา หากจะพูดให้เข้าใจได้ง่ายก็คืออาวุธเชื้อโรคหรืออาวุธสารพิษที่สกัดจากจุลินทรีย์นั่นเอง อาวุธชีวภาพนี้เป็นอาวุธที่ผลิตได้ง่าย แม้โรงนาเล็กๆสักหลังก็ยังสามารถดัดแปลงมาใช้เป็นแหล่งผลิตอาวุธชีวภาพได้

มนุษย์รู้จักผลิตอาวุธเชื้อโรคหรืออาวุธชีวภาพนี้โดยเลียนแบบจากการสังหารหมู่ตามธรรมชาติ นั่นคือการเกิดโรคระบาดนั่นเอง โรคระบาดที่ร้ายแรงสามารถคร่าชีวิตผู้คนได้นับล้านๆคนอย่างที่เกิดมาแล้วอย่างเช่นการเกิดโรคไข้ทรพิษหรือที่เรียกว่า มฤตยูดำ ระบาดในยุโรปเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 14 ประมาณว่ามีผู้เสียชีวิตไปถึง 75 ล้านคน หรือการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ระบาดไปทั่วโลกเมื่อปี ค.ศ. 1918-1919 มีผู้เสียชีวิตไปราว 22 ล้านคน จะเห็นได้ว่าฤทธิ์เดชของเชื้อโรคนั้นไม่ได้ด้อยกว่าระเบิดปรมาณูเลย

เมื่อโรคระบาดมีอำนาจคร่าชีวิตผู้คนได้เป็นจำนวนมาก จึงมีผู้คิดเลียนแบบธรรมชาติโดยเพาะโรคร้ายบางชนิดไว้ใช้เพื่อการสงคราม โดยอาจใช้ตัวจุลินทรีย์เองหรืออาจสกัดเอาเฉพาะสารสำคัญที่เป็นพิษต่อมนุษย์ก็ได้ เท่าที่มีหลักฐานปรากฏ การใช้อาวุธชีวภาพเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในอาณาจักรโรมันเมื่อพันกว่าปีมาแล้ว โดยชาวโรมันนำสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคตายไปทิ้งไว้ที่แหล่งน้ำของข้าศึก เมื่อข้าศึกบริโภคน้ำจากแหล่งน้ำนั้นก็เกิดอาการป่วย เป็นการตัดกำลังรบและทำลายขวัญของฝ่ายตรงข้ามได้เป็นอย่างดี

ส่วนอาวุธชีวภาพในยุคปัจจุบันนั้นก็ยังเป็นหลักการเดิม เพียงแต่พัฒนาวิธีการให้ใช้งานสะดวกและได้ผลมากขึ้น โดยมีการเลี้ยงเชื้อโรคที่ต้องการเป็นจำนวนมาก จากนั้นเก็บรักษาไว้จนกว่าจะถึงเวลาที่ต้องใช้งาน วิธีการใช้นั้นก็อาจโปรยลงมาจากเครื่องบินหรือนำไปทำเป็นหัวรบของขีปนาวุธยิงสู่พื้นที่เป้าหมาย

เนื่องจากการผลิตอาวุธชีวภาพทำได้ไม่ยากนัก ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีสูง รวมทั้งยังมีต้นทุนในการผลิตไม่แพง แม้ประเทศที่ยากจนก็สามารถผลิตขึ้นมาได้ ดังนั้นอาวุธชนิดนี้จึงถูกเรียกอย่างขำๆว่าเป็น นุกของคนยาก ซึ่งแท้ที่จริงแล้วฤทธิ์เดชของมันไม่น่าขำเลยแม้แต่น้อย

สหรัฐอเมริกาเชื่อว่าอิรักมีการผลิตอาวุธชีวภาพขึ้นมาอย่างลับๆ เพราะสามารถผลิตขึ้นมาที่ไหนก็ได้ ยากแก่การตรวจสอบของคณะผู้ตรวจสอบ รวมทั้งจากประวัติที่ผ่านมา เคยมีการตรวจพบแหล่งอาวุธชีวภาพในอิรักเมื่อปี ค.ศ. 1985 ซึ่งมีทั้งอาวุธเชื้อโรคและอาวุธสารพิษที่ผลิตจากเชื้อโรค ได้แก่ โรคแอนแทรกซ์ (anthrax) อันเป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่ง, พิษบอตทูลินัม (botulinum toxin) อันเป็นสารพิษที่ได้จากแบคทีเรีย, พิษอะฟลาทอกซิน (aflatoxin) อันเป็นสารพิษที่ได้จากรา, และไรซิน (ricin) อันเป็นสารพิษที่ได้จากเมล็ดละหุ่ง เมื่ออิรักเคยผลิตอาวุธเหล่านี้มาแล้ว การจะผลิตขึ้นมาใหม่อีกจึงไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด

และก็เป็นจริงดังคาด ในปี ค.ศ. 1991 ก่อนที่จะเกิดสงคราวอ่าวเปอร์เซีย อิรักได้ยอมรับต่อคณะผู้ตรวจสอบอาวุธขององค์การสหประชาชาติว่ามีการวิจัยเกี่ยวกับอาวุธเชื้อโรคแอนแทรกซ์ ซึ่งจากการยอมรับของอิรักในครั้งนั้นเองทำให้ต่อมาเมื่อสหรัฐอเมริกายกพลเข้าโจมตีอิรักในสงครามอ่าวเปอร์เซียเกิดความกังวลต่ออาวุธเชื้อโรคนี้และหาทางป้องกันโดยฉีดวัคซีนป้องกันโรคแอนแทรกซ์ให้แก่ทหารที่ส่งเข้าประจำการในอ่าวเปอร์เซีย

ต่อมาในปี ค.ศ. 1995 อิรักก็ได้ยอมรับต่อคณะผู้ตรวจสอบอาวุธขององค์การสหประชาชาติอีกว่าอิรักมีอาวุธเชื้อโรคแอนแทรกซ์อยู่ในครอบครอง รวมทั้งยังมีอาวุธชีวภาพอื่นๆอีกด้วย เราลองมาดูกันว่าอิรักครอบครองอาวุธชีวภาพอะไรไว้บ้าง และอาวุธเหล่านี้มีประสิทธิภาพเพียงใด

แผนที่แสดงที่ตั้งของประเทศอิรัก
พร้อมทั้งแสดงเมืองอัลฮากัม (Al Hakum)
อันเป็นเมืองที่อยู่ใกล้กรุงแบกแดดซึ่ง
ถูกใช้เป็นแหล่งผลิตอาวุธชีวภาพ
แหล่งผลิตแห่งนี้ถูกคณะผู้ตรวจสอบ
ขององค์การสหประชาชาติตรวจพบในปี
ค.ศ. 1995 และถูกทำลายในปี
ค.ศ. 1996

อาวุธเชื้อโรคแอนแทรกซ์

อาวุธเชื้อโรคมักเตรียมมาจากเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคระบาดรุนแรง และหนึ่งในเชื้อโรคที่มีศักยภาพสูงในการนำมาผลิตเป็นอาวุธเชื้อโรคได้แก่โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax)

โรคแอนแทรกซ์เป็นโรคระบาดร้ายแรงในปศุสัตว์ เช่น แพะ แกะ วัว และม้า ฯลฯ ในสมัยก่อน ผู้ที่เป็นโรคนี้มักได้แก่ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับปศุสัตว์และอุตสาหกรรมขนแกะ ทั้งนี้โดยได้รับเชื้อมาจากสัตว์อีกทีหนึ่ง แต่หลังจากที่มีการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคแอนแทรกซ์และการพัฒนาระบบสุขาภิบาลที่ดีแล้ว โรคนี้ก็เป็นโรคที่สามารถควบคุมได้และไม่ค่อยปรากฏผู้ที่เป็นโรคนี้อีก ในสหรัฐอเมริกา ผู้ป่วยด้วยโรคแอนแทรกซ์รายล่าสุดเป็นสัตว์แพทย์ซึ่งต้องทำงานคลุกคลีกับสัตว์ที่เป็นโรคและเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1992

แต่การที่ไม่ค่อยมีผู้ป่วยด้วยโรคแอนแทรกซ์ไม่ได้แปลว่าโรคแอนแทรกซ์ไม่มีพิษสงแต่อย่างใด เพราะแท้ที่จริงแล้วโรคแอนแทรกซ์นี้จัดเป็นเชื้อโรคอันตรายตัวหนึ่งทีเดียว

โรคแอนแทรกซ์เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า แบซิลลัส แอนทราซิส (Bacillus Anthracis) ซึ่งเป็นแบคทีเรียประเภทแกรมบวก (gram positive bacteria, เป็นวิธีการทางห้องทดลองที่ใช้ในการจำแนกประเภทแบคทีเรียโดยการย้อมสี) แบคทีเรียชนิดนี้มีการสืบพันธุ์โดยการสร้างสปอร์ สปอร์ของแบคทีเรียนี้เปรียบได้กับละอองเรณูของเกสรดอกไม้ซึ่งสามารถล่องลอยไปในอากาศได้แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก เล็กจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น และเมื่อตกไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม สปอร์นี้ก็จะเจริญเป็นแบคทีเรียและแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว อีกทั้งสปอร์ของเชื้อแอนแทรกซ์นี้มีการสร้างเกราะหุ้มอีกด้วย จึงทำให้ทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี

ภาพเชื้อโรคแอนแทรกซ์ถ่ายจาก
กล้องจุลทรรศน์

โรคแอนแทรกซ์เป็นโรคที่มีระยะฟักตัวค่อนข้างสั้น คือราว 1-5 วัน แต่โดยทั่วไปมักเป็น 2 วัน ทำให้การระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็ว ผู้ที่รับเชื้อแอนแทรกซ์เข้าไปสามารถเกิดได้ 2 ทาง คือ สปอร์ของเชื้อแอนแทรกซ์ซึ่งลอยอยู่ในอากาศหรือตกอยู่ตามพื้นดินเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบเลือด กับอีกวิธีหนึ่งคือการหายใจเอาสปอร์เข้าไป ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ

นายวิลเลียม โคเฮน รัฐมนตรีกลาโหม
ของสหรัฐอเมริกากำลังถือห่อ
น้ำตาลทรายหนักราว 2 กิโลกรัมอยู่ในมือ
โคเฮนกำลังเปรียบเทียบให้เห็นว่าเชื้อโรค
แอนแทรกซ์ปริมาณเท่าห่อนี้ก็สามารถคร่า
ชีวิตผู้คนได้ถึง 3 ล้านคน

โรคแอนแทรกซ์ที่ติดเชื้อทางบาดแผลจะมีอัตราตายราวร้อยละ 20 แต่หากติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจจะมีอัตราตายสูงถึงร้อยละ 80 หมายถึงว่าผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้ 100 คนจะมีโอกาสรอดเพียง 20 คนเท่านั้น ดังนั้นจึงเป็นโรคที่เหมาะที่จะนำมาผลิตเป็นอาวุธชีวภาพ การรักษาสามารถทำได้โดยการใช้ยาปฏิชีวนะ แต่ต้องรีบรักษาแต่เนิ่นๆ หากปล่อยไว้จนอาการของโรคแสดงออกมาอย่างชัดเจนแล้วการรักษามักไม่เป็นผล

เมื่อผู้ป่วยติดเชื้อแอนแทรกซ์ในระบบทางเดินหายใจ อาการเริ่มแรกจะคล้ายไข้หวัด มีน้ำมูกไหล หลังจากนั้นไม่นานอาการจะรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยจะช็อก หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด

ภาพแผลที่เกิดจากการติดเชื้อ
แอนแทรกซ์ทางผิวหนัง ภาพ A
อาการที่เห็นนี้เป็นอาการในขั้นต้น
แม้จะได้รับการรักษาโดยใช้ยา
ปฏิชีวนะและทำความสะอาดบาดแผลแล้ว
แต่อาการและก็ยังลุกลามต่อไปอีกระยะ
หนึ่ง ภาพ D และ E เป็นสภาพของ
แผลหลังได้รับการรักษา 10 วันและ 15
วันตามลำดับ

การป้องกันสามารถทำได้โดยฉีดวัคซีนป้องกันล่วงหน้า โดยต้องฉีดวัคซีน 1 ชุด รวม 6 เข็มในเวลา 2 ปี จากนั้นต้องฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิเป็นประจำปีละครั้ง หลังฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้วราว 3 สัปดาห์ ร่างกายจึงค่อยสร้างภูมิคุ้มกัน หากเป็นกรณีฉุกเฉินที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ทันให้สวมหน้ากากป้องกันก๊าซพิษเพื่อป้องกันการติดเชื้อแอนแทรกซ์ในระบบทางเดินหายใจ

การใช้เชื้อโรคแอนแทรกซ์เป็นอาวุธสามารถทำได้โดยการนำเชื้อแอนแทรกซ์ที่เพาะเลี้ยงไว้และเก็บในรูปสารละลายมาฉีดพ่นโดยเครื่องบิน หรือใช้ทำเป็นหัวรบ ซึ่งญี่ปุ่นเคยใช้อาวุธเชื้อโรคแอนแทรกซ์นี้กับชาวจีนมาแล้วเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2

มีรายงานว่าอิรักมีระเบิดซึ่งบรรจุเชื้อแอนแทรกซ์อยู่ในครอบครอง 50 ลูก รวมทั้งมีหัวรบเชื้อแอนแทรกซ์สำหรับติดขีปนาวุธเพื่อโจมตีจากระยะไกลอีก 4 ลูก แต่นักวิเคราะห์คาดว่าอิรักอาจมีมากกว่านี้อีก ผู้ที่อยู่ในพื้นที่แพร่กระจายของสปอร์จะหายใจเอาสปอร์เข้าไปในปอดและทำให้เกิดการติดเชื้อ นอกจากนี้ สปอร์ของแอนแทรกซ์ยังทนทานต่อสภาพแวดล้อมมาก สามารถพักตัวอยู่ในดินได้นานนับปี ดังนั้นสปอร์ของแอนแทรกซ์ตกอยู่ในพื้นที่ใด พื้นที่นั้นจะไม่สามารถใช้ทำกสิกรรมหรือปศุสัตว์ได้อย่างน้อย 2-3 ปี

เชื้อแอนแทรกซ์สามารถนำไป
บรรจุในหัวรบของขีปนาวุธ
เพื่อใช้โจมตีเป้าหมายในระยะ
ไกลได้

ทางฝ่ายสหรัฐอเมริกาค่อนข้างจะให้ความสำคัญกับอาวุธเชื้อโรคของอิรักชนิดนี้ ทั้งนี้ เนื่องจากสหรัฐเองก็เคยพัฒนาอาวุธเชื้อโรคแอนแทรกซ์มาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1950-1970 ดังนั้นจึงตระหนักถึงฤทธิ์เดชของมัน อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญของสหรัฐอเมริกาเองประเมินว่าประเทศของตนขาดการเตรียมพร้อมในการรับมือกับสงครามชีวภาพ หากถูกอิรักถล่มด้วยขีปนาวุธหัวรบแอนแทรกซ์จริงๆพลเมืองชาวอเมริกันคงจะล้มตายเป็นจำนวนมาก

และหากอิรักจะโจมตีใครด้วยขีปนาวุธหัวรบแอนแทรกซ์ เป้าหมายแรกก็น่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาเพราะเป็นไม้เบื่อไม้เมากันอยู่ และนี่เองที่น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สหรัฐอเมริกาเองค่อนข้างจะร้อนใจอยากถล่มอิรักเพื่อทำลายแหล่งยุทธศาสตร์ของอิรัก รวมทั้งในขณะเดียวกันก็เพิ่มมาตรการป้องกันขึ้น โดยในขั้นแรกนี้ กระทรวงกลาโหมของสหรัฐได้ออกมาตรการฉีดวัคซีนป้องกันโรคแอนแทรกซ์แก่ทหารอเมริกันทุกหมู่เหล่าตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. 1997 รวมแล้วประมาณ 2,400,000 นาย และสั่งให้ดำเนินการผลิตวัคซีนอย่างรีบเร่ง ทั้งนี้ ดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่ทหารที่ต้องเข้าประจำการในแถบอ่าวเปอร์เซียก่อนเป็นกลุ่มแรกเพราะถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง