มุมความรู้และบริการต่างๆ
รายการหนังสือ
หน้าที่ 2

พิษบอตทูลินัม

พิษบอตทูลินัม (Botulinum toxin) เป็นสารพิษจากจุลินทรีย์ที่มีมีความเป็นพิษสูงมาก พิษบอตทูลินัมนี้เกิดจากแบคทีเรียที่มีชื่อว่า คลอสทริเดียม บอตทูลินัม (Clostridium botulinum) อันเป็นแบคทีเรียที่ทำให้อาหารกระป๋องเน่าเสียและอาหารเป็นพิษ ผู้ที่เคยไม่สบายเพราะรับประทานอาหารกระป๋องที่หมดอายุแล้วหรืออาหารกระป๋องที่เสียแล้วคงทราบพิษสงของแบคทีเรียตัวนี้ดี แต่นั่นเป็นเพียงพิษในธรรมชาติซึ่งค่อนข้างเจือจาง ต่างกับพิษซึ่งถูกผลิตขึ้นให้มีความเข้มข้นเพื่อใช้เป็นอาวุธชีวภาพ เพียงพิษขนาดเพียงแค่จุดเล็กๆเท่านี้ . ก็สามารถคร่าชีวิตคนได้ถึง 10 คน

แบคทีเรียคลอสทริเดียม บอตทูลินัม
ที่ใช้ในการผลิตพิษบอตทูลินัม ภาพ
ถ่ายจากกล้องจุลทรรศน์ ส่วน
แบคทีเรียคลอสทริเดียม เพอร์ฟริงเกนส์
ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกันเพราะอยู่ในสกุล
เดียวกัน

พิษชนิดนี้สามารถซึมเข้าทางผิวหนังได้โดยทางเยื่อชุ่ม เช่น เยื่อบุทางเดินหายใจ ฯลฯ ดังนั้นจึงสามารถแพร่พิษได้ทั้งการฉีดพ่นพิษให้กระจายในอากาศเพื่อให้ผู้เคราะห์ร้ายสูดเข้าไปหรือใส่ในแหล่งน้ำบริโภค อีกทั้งยังเป็นพิษที่ไร้สี ไร้กลิ่น ผู้รับพิษเข้าไปจึงไม่มีทางรู้ตัวจนกว่าพิษจะเริ่มแสดงอาการในร่างกาย

พิษบอตทูลินัมออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท อาการของผู้ที่ได้รับพิษจะเริ่มด้วยอาการตาพร่า กล้ามเนื้ออ่อนแรง คลื่นไส้อาเจียน ในที่สุดระบบประสาทจะถูกทำลายและผู้ป่วยจะเสียชีวิตในที่สุด เนื่องจากปริมาณสารพิษที่ผู้ป่วยได้รับจากอาวุธชีวภาพนั้นสูงกว่าปริมาณที่ทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษทั่วไปมาก ดังนั้นร่างกายจึงไม่สามารถขับสลายสารพิษได้เองตามธรรมชาติ การแก้พิษต้องทำได้โดยใช้ยาแก้พิษ (antitoxin)

การป้องกันสามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีน แต่เนื่องจากพิษบอตทูลินัมยังแบ่งเป็นชนิดย่อยอีกหลายชนิดขึ้นกับสายพันธุ์ของแบคทีเรียที่ใช้ผลิต ดังนั้นจึงเป็นการยากในทางปฏิบัติที่จะเตรียมการป้องกันประชาชนเป็นการล่วงหน้าเพราะยังไม่ทราบว่าศัตรูจะแพร่พิษบอตทูลินัมชนิดใด ส่วนในกรณีฉุกเฉินสามารถป้องกันได้โดยใส่หน้ากากป้องกันก๊าซพิษเพื่อป้องกันไม่ให้หายใจเอาพิษเข้าไป

พิษบอตทูลินัมนี้ยังไม่เคยมีรายงานว่าถูกใช้ในการสงครามมาก่อน แต่มีรายงานว่าอิรัก รวมทั้งอิหร่าน ซีเรีย ลิเบีย และเกาหลีเหนือก็มีอาวุธชีพภาพชนิดนี้อยู่ในครอบครองและพร้อมที่จะใช้งาน

คลอสทริเดียม เพอร์ฟริงเกนส์

คลอสทริเดียม เพอร์ฟริงเกนส์ (Clostridium perfringens) นี้เป็นแบคทีเรียที่อยู่ในสกุล (genus) เดียวกับคลอสทริเดียม บอตทูลินัม โดยคลอสทริเดียม เพอร์ฟริงเกนส์นี้เป็นแบคทีเรียที่ทำให้อาหารกระป๋องเน่าเสียและเกิดอาการอาหารเป็นพิษได้เช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น หากแบคทีเรียชนิดนี้เข้าไปอาศัยอยู่ในแผลที่สกปรกและอากาศเข้าไม่ถึงแล้ว พิษของมันจะทำให้เกิดก๊าซขึ้นในบาดแผล ทำให้แผลบวมเบ่งและเนื้อเน่าตาย (gas gangrene) ซึ่งแพทย์จำเป็นต้องตัดอวัยวะที่เกิดแผลเนื้อเน่าตายนี้ทิ้งไป มิฉะนั้นพิษจะแพร่เข้าในระบบโลหิตและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

ก๊าซที่เกิดขึ้นใต้ผิวหนัง (บริเวณที่ศรชี้)
อันเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
คลอสทริเดียม เพอร์ฟริงเกนส์

เมื่อครั้งที่องค์การสหประชาชาติเช้าทำลายแหล่งผลิตอาวุธชีวภาพที่เมืองอัลฮากัมใกล้กรุงแบกแดดในปี ค.ศ. 1996 ก็ได้พบคลังเก็บเชื้อแบคทีเรียคลอสทริเดียม เพอร์ฟริงเกนส์นี้ด้วย มีข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธชีวภาพชนิดนี้ไม่มากนัก แต่สันนิษฐานว่าอิรักน่าจะใช้วิธีสกัดสารพิษจากแบคทีเรียแล้วนำไปทำเป็นอาวุธชีวภาพโดยวิธีการใช้งานน่าจะคล้ายคลึงกับวิธีแพร่พิษบอตทูลินัม

พิษอะฟลาทอกซิน

อะฟลาทอกซิน (aflatoxin) เป็นสารพิษที่ผลิตจากเชื้อราในสกุลแอสเพอร์จิลลัส เช่น แอสเพอร์จิลลัส เฟลวัส (Aspergillus flavus) เชื้อราชนิดนี้มีอยู่ในธรรมชาติ ชอบขึ้นบนสินค้าเกษตรที่เก็บรักษาไม่ดีพอ ทำให้มีความชื้นเจือปนสูง เช่น ข้าวโพด ถั่ว ฯลฯ รวมทั้งขึ้นได้ดีในถั่วป่น พริกป่น ที่ใช้ใส่ในอาหาร อะฟลาทอกซินอันเป็นสารก่อมะเร็ง ทำให้เกิดมะเร็งมะเร็งในตับ

ข้าวโพดที่มีราแอสเพอร์จิลลัส เฟลวัส
เจริญอยู่ (บริเวณที่มีศรชี้) ราชนิดนี้
จะผลิตอะฟลาทอกซินซึ่งเป็นสาร
ก่อมะเร็งในมนุษย์

ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้พิษชนิดนี้เป็นอาวุธชีวภาพมากนัก แต่เนื่องจากสารพิษอะฟลาทอกซินนี้เป็นสารก่อมะเร็งในระยะยาว ดังนั้นจึงไม่ใช่อาวุธที่ให้ผลในฉับพลัน แต่เป็นการสังหารเหยื่อแบบตายผ่อนส่งมากกว่า

มีรายงานว่าพบสารพิษชนิดนี้ถูกบรรจุในระเบิดและหัวรบเรียบร้อยแล้วในแหล่งผลิตอาวุธชีวภาพของอิรัก

ไรซิน

ไรซิน (ricin) เป็นสารพิษที่สกัดจากเมล็ดละหุ่ง ใช้เป็นยาปราบศัตรูพืช ไรซินจะไปยับยั้งการผลิตโปรตีนของเซลล์อันเป็นกระบวนการพื้นฐานของร่างกาย ผู้ที่ได้รับสารพิษไรซินจะเสียชีวิตเนื่องจากร่างกายไม่สามารถผลิตโปรตีนที่จำเป็นในการดำรงชีวิตได้ ไม่มีวิธีการรักษา แต่อาจป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อพิษของไรซิน แต่ในทางปฏิบัติจะทำได้ยากเพราะต้องมีการเตรียมการล่วงหน้าซึ่งอาจไม่ทันต่อเหตุการณ์

ยังไม่เคยมีรายงานเกี่ยวกับการใช้ไรซินในสงครามชีวภาพ แต่เคยมีคดีฆาตกรรมเกิดขึ้นในกรุงลอนดอนโดยผู้เสียชีวิตถูกสังหารอย่างแยบยลโดยฆาตกรใช้ร่มปลายแหลมที่เคลือบไรซินไว้ทิ่มใส่ร่างเหยื่อขณะอยู่ที่ป้ายรถประจำทาง

หน้ากากป้องกันก๊าซพิษเป็นอุปกรณ์สำคัญ
ที่ใช้ช่วยกรองเชื้อแบคทีเรียและสารพิษ
ไม่ให้เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจเมื่อถูก
โจมตีด้วยอาวุธชีวภาพ

อาวุธชีวภาพที่อิรักครอบครองอยู่นี้เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความประหวั่นพรั่นใจให้แก่สหรัฐอเมริการวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านของอิรักด้วย นักวิเคราะห์ทางด้านการทหารเชื่อว่าสงครามในอนาคตจะมีการนำอาวุธชีวภาพออกมาใช้กัน โดยเฉพาะประเทศที่ไม่ร่ำรวยนัก เนื่องจากอาวุธชีวภาพผลิตได้ไม่ยาก

ปัจจุบันความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพก้าวหน้าไปมาก อาวุธชีวภาพเหล่านี้อาจถูกพัฒนาให้มีความร้ายกาจมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น อาวุธเชื้อแอนแทรกซ์อาจถูกพัฒนาให้ได้สายพันธุ์ใหม่ที่ดื้อยาปฏิชีวนะ ทำให้ยากแก่การรักษา หรืออาจพัฒนาจนได้สายพันธุ์ที่วัคซีนที่มีอยู่ป้องกันไม่เป็นผลก็เป็นได้ ฯลฯ ข้อดีของอาวุธชีวภาพคือผลิตได้ง่าย ราคาถูก แต่ก็มีข้อเสียคือเสื่อมสภาพได้ง่าย การเก็บรักษา การขนส่ง หรือสภาพการใช้งานที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้อาวุธเหล่านี้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร รวมทั้งหากไม่ระวังหรือเกิดการพลาดพลั้ง เช่น ลมพัดเปลี่ยนทิศทาง ฯลฯ อาวุธเหล่านี้อาจย้อนกลับมาทำร้ายผู้ใช้เสียเอง

นอกจากอาวุธชีวภาพที่กล่าวมาแล้วยังมีเชื้อโรคอีกหลายชนิดที่สามารถนำมาผลิตเป็นอาวุธชีวภาพได้ เช่น เชื้อกาฬโรค เชื้ออหิวาตกโรค รวมทั้งในยุคต่อไปอาจมีการพัฒนาอาวุธชีวภาพที่ทำจากเขื้อไวรัสขึ้นมา ซึ่งยากแก่การรับมือยิ่งขึ้นไปอีก

จะเห็นได้ว่าอาวุธชีวภาพนั้นมีความหลากหลายอยู่มาก ดังนั้นจึงยากแก่การป้องกันล่วงหน้า ยกตัวอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาที่กำลังเตรียมการป้องกันอาวุธโรคแอนแทรกซ์อยู่ในขณะนี้โดยการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ก็เพียงทำได้กับทหารเท่านั้น มิหนำซ้ำยังผลิตวัคซีนได้ไม่ทันต่อความต้องการ ต้องทยอยดำเนินการ และหากต้องการฉีดวัคซีนป้องกันอาวุธชีวภาพสัก 4-5 ชนิดก็ยิ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นสหรัฐอเมริกาจึงเลือกใช้วิธีตัดไฟแต่ต้นลมกับอิรักมากกว่า

นอกจากอาวุธชีวภาพแล้วยังมีอาวุธเคมีอีกประเภทหนึ่งซึ่งเรียกได้ว่าเป็น นุกของคนยาก เช่นกัน การผลิตอาวุธเคมีนั้นทำได้ยากกว่าอาวุธชีวภาพ แต่อาวุธที่ได้มีเสถียรภาพสูงกว่า ซึ่งอิรักก็มีทั้งอาวุธชีวภาพและอาวุธเคมีไว้ในครอบครอง และยังไม่ทราบว่ามีอีกกี่ประเทศที่แอบพัฒนาอาวุธร้ายราคาประหยัดเหล่านี้เอาไว้บ้าง

ก็ได้แต่หวังว่าอาวุธเหล่านี้จะไม่ถึงวันที่ถูกนำออกมาใช้งานตลอดไป