การปฏิรูปการอาชีวศึกษา
โดย
 
ดร
.พยุงศักดิ์   จันทรสุรินทร์

อธิบดีกรมอาชีวศึกษา

เอกสารประกอบคำบรรยายในการประชุมสัมมนา

ผู้บริหารสถานศึกษา  สังกัดกรมอาชีวศึกษา

วันที่   6   พฤศจิกายน    2544      เวลา    9.00 -  12.00  . 

 

คำนำ 

          การศึกษาเป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศและเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอาชีวศึกษา เป็นรากฐานอันสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพราะความเจริญของประเทศขึ้นอยู่กับทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ สามารถตอบสนองความต้องการของการขยายตัวด้านธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมทั้งรู้จักนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ และเมื่อโลกเป็นสากลมากขึ้น การที่ประเทศไทยจะแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้นั้น การอาชีวศึกษาจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการนำประเทศไทยเข้าสู่การแข่งขันในโลกยุคคลื่นแห่งความรู้ หรือยุคแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology)

          เนื่องจากรัฐบาลจะต้องใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (..2545-2549) เป็นแผนแม่บทในการพัฒนาประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้า ประชาชนมีความอยู่ดีมีสุขโดยทั่วหน้า กรมอาชีวศึกษาซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของรัฐที่มีหน้าที่หลักในการจัดการศึกษาวิชาชีพให้แก่             นักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชน จึงจำเป็นจะต้องจัดทำแผนพัฒนาการอาชีวศึกษา ระยะที่ 9 (..2545-2549) เพื่อเป็นแนวทางในการผลิตและพัฒนากำลังคนทั้งในระดับกึ่งฝีมือ ระดับฝีมือ ระดับเทคนิค และระดับเทคโนโลยีที่มีคุณภาพ และเพื่ออนุวัฒน์ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.. 2540 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ..2542 และนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544 ตลอดจนความสอดคล้องของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศและสังคมโลกในยุคโลกาภิวัตน์ นั้น  จึงขอกำหนดวิสัยทัศน์นโยบาย ตลอดจนแนวทางการดำเนินการ เพื่อปฏิรูปการอาชีวศึกษา ดังปรากฏในเอกสารฉบับนี้ 

          “การศึกษาเป็นเครื่องมืออันสำคัญในการพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติ ทัศนคติ ค่านิยม และคุณธรรมของบุคคล  เพื่อให้เป็นพลเมืองดี มีคุณภาพและประสิทธิภาพ เมื่อบ้านเมืองประกอบไปด้วยพลเมืองที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ การพัฒนาประเทศชาติก็ย่อมทำได้โดยสะดวก ราบรื่น ได้ผลที่แน่นอนและรวดเร็ว”

         พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชทานแก่ครูใหญ่โรงเรียนและนักเรียน ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต เมื่อวันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม 2530

วิสัยทัศน์กรมอาชีวศึกษา

           กรมอาชีวศึกษาเป็นองค์กรที่มุ่งมั่นในการบริหารจัดการอาชีวศึกษาสู่ความเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้  โดยรวมสถานศึกษาขึ้นเป็นสถาบันการอาชีวศึกษา ให้เป็นศูนย์แห่งความสมานฉันท์ ที่จะเกื้อกูลทรัพยากรต่อกัน  ให้เกิดความแข็งแกร่งในทุกสาขาวิชาชีพ เพื่อสร้างคุณภาพในการผลิตกำลังคนตั้งแต่ระดับกึ่งฝีมือ ระดับฝีมือ ระดับเทคนิค และระดับเทคโนโลยี ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล  สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ความต้องการของตลาดแรงงาน  และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี 

         นโยบายกรมอาชีวศึกษาตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษา

พันธกิจการอาชีวศึกษา 

การอาชีวศึกษาเป็นการจัดการศึกษาและฝึกอบรมวิชาชีพ  เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนทั้งในระดับกึ่งฝีมือ ระดับฝีมือ ระดับเทคนิค  และระดับเทคโนโลยี ในทุกสาขาวิชาชีพ อย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน  ให้มีความสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม  และความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี            สามารถสนองความต้องการของตลาดแรงงานและการประกอบอาชีพอิสระ

 

          เนื่องจากการอาชีวศึกษาหรือการศึกษาวิชาชีพเป็นรากฐานอันสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม  เพราะความเจริญของประเทศจะต้องเริ่มจากพื้นฐานของการประกอบอาชีพ สร้างผลผลิตและรายได้ของประชาชน

          การจัดการอาชีวศึกษาหรือการศึกษาวิชาชีพให้เป็นที่พึ่งของเยาวชนและประชาชน เพื่อนำพาไปสู่การสร้างงานสร้างอาชีพอย่างแท้จริงนั้น  มีแนวทางที่สำคัญ 2 ประการ ได้แก่

          1.  ความสอดคล้อง   การจัดการอาชีวศึกษาต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนและสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยพิจารณาจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมเป็นตัวตั้ง มิใช่ความต้องการของสถานศึกษาเป็นตัวตั้ง ในปัจจุบันการพัฒนาเศรษฐกิจจะต้องเริ่มจากประชาชน สถาบันครอบครัว ตลอดจนองค์กรต่างๆ ในชุมชน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า ซึ่งเป็นเศรษฐกิจในระดับจุลภาพให้มีความเข้มแข็ง  อันจะส่งผลต่อความมั่นคงของเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศหรือเศรษฐกิจในระดับมหภาคต่อไป

          2.  คุณภาพ   คุณภาพของผู้สำเร็จการอาชีวศึกษามีตัวชี้วัดที่สำคัญประการหนึ่งคือ  ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถประกอบอาชีพหรือสามารถทำงานได้จริง โดยไม่ต้องฝึกอบรมเพิ่มเติม ซึ่งการฝึกทักษะต้องให้ความสำคัญประเด็นต่อไปนี้

 

              2.1  ฝึกทักษะวิชาชีพในทุกระดับในเชิงบูรณาการ ไม่มองการศึกษาวิชาชีพเป็นแบบแยกส่วน เนื่องจากในสภาพความเป็นจริงนั้นการประกอบอาชีพมิได้มีการแยกส่วน  เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพก็ไม่มีการแยกส่วนเช่นกัน  ดังนั้นองค์ความรู้หรือทักษะวิชาชีพที่ผู้เรียนเรียนรู้จึงควรจัดให้มีการบูรณาการ  ซึ่งอาจเป็นการบูรณาการระหว่างประเภทวิชาหรือระหว่างสาขาวิชาที่เชื่อมโยงกันตามลักษณะของอาชีพหรือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง  ดังนั้นหลักสูตรการอาชีวศึกษาในแต่ละหลักสูตรจึงไม่ควรใช้หลักสูตรสำเร็จเพียงชุดเดียว  อาจจัดได้หลายๆ ชุดตามความเหมาะสม  มีความยืดหยุ่น หลากหลาย แต่อยู่บนพื้นฐานของมาตรฐานวิชาชีพที่กำหนด

 

              2.2  เพิ่มทักษะในส่วนของการบริหารจัดการ เนื่องจากในการประกอบอาชีพจริงในสถานการณ์จริงนั้น นอกเหนือจากทักษะเชิงวิชาชีพแล้ว ผู้ประกอบการจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการเชิงการตลาด การเงิน การบัญชี รวมทั้งการบริหารงานบุคคลตามสมควร  ทักษะดังกล่าวเป็นส่วน             ส่งเสริมความสำเร็จในการประกอบอาชีพเป็นอย่างมาก จึงควรจัดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามสมควร เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่อาชีพ

 โยบายข้อที่ 1   ปฏิรูประบบการบริหารจัดการ อาชีวศึกษา 

       การบริหารจัดการอาชีวศึกษาต้องเป็นไปอย่างมีเอกภาพด้านนโยบาย มีองค์กรระดับชาติรองรับ มีการกระจายอำนาจสู่ระดับปฏิบัติ เร่งรัดผลักดันการรวมกลุ่มสถานศึกษาเพื่อร่วมกันบริหารจัดการในรูปแบบสถาบันการอาชีวศึกษา และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคเอกชน ชุมชน และสังคม

 แนวดำเนินการ

          เนื่องจากการอาชีวศึกษาเป็นการศึกษาที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างไปจากการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษา  การจัดการอาชีวศึกษาจึงควรเป็นลักษณะเฉพาะโดยจะต้องผลักดันให้เกิดเป็นองค์กรอีกหนึ่งองค์กรของกระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม นอกเหนือจากองค์กรหลัก 4      องค์กร ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.. 2542 คือ  คณะกรรมการอาชีวศึกษา  บริหารจัดการอาชีวศึกษาแบ่งเป็น 3 ระดับ               ดังนี้

        1.  คณะกรรมการอาชีวศึกษา

              เป็นคณะกรรมการระดับชาติ มีองค์กรที่เป็นนิติบุคคลคือ สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษารองรับการดำเนินงาน  มีภาระหน้าที่หลักดังนี้

              1.1  กำหนดนโยบายการจัดอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพของประเทศ

              1.2  การจัดสรรทรัพยากรในการจัดการอาชีวศึกษาไปยังสถาบันการอาชีวศึกษา

              1.3  การกำหนดมาตรฐานกลางและควบคุมคุณภาพการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ

              1.4  การจัดระบบความร่วมมือกับภาคเอกชน  ชุมชน และสังคม ในการพัฒนาการอาชีวศึกษา

        2.  สถาบันการอาชีวศึกษา

              มีลักษณะที่สำคัญดังนี้

              2.1  เป็นการรวมกลุ่มของวิทยาลัยในสังกัดกรมอาชีวศึกษาในเขตบริการที่กำหนด

              2.2  การบริหารสถาบันการอาชีวศึกษาให้ดำเนินการในรูปของคณะกรรมการสภาสถาบันการอาชีวศึกษา โดยให้จัดตั้งสำนักงานอธิการบดี ณ วิทยาลัยใดวิทยาลัยหนึ่ง

          ภาระหน้าที่ที่สำคัญของสถาบันการอาชีวศึกษา

          2.1  สำรวจความต้องการกำลังคนของตลาดแรงงานในพื้นที่บริการที่กำหนด เพื่อนำมาใช้ในการวางแผนการจัดการอาชีวศึกษา ผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ในแต่ละภูมิภาคนั้นๆ

          2.2  กำหนดภาระหน้าที่ของแต่ละวิทยาลัยในสถาบันการอาชีวศึกษา ว่าจะจัดการศึกษาในระดับและประเภทใดบ้างที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน

          2.3  กำหนดแผนการรับนักเรียน นักศึกษา ของแต่ละวิทยาลัยหรือวิทยาเขตในสถาบันนั้นๆ

          2.4  จัดให้มีการวัดผลประเมินร่วมกัน

          2.5  จัดทำหลักสูตรอาชีวศึกษาของแต่ละสถาบัน โดยอาจมีความแตกต่างจากหลักสูตรของสถาบันการอาชีวศึกษาอื่น เพื่อตอบสนองความต้องการของแต่ละภูมิภาคนั้น

          2.6  จัดให้มีการเคลื่อนย้ายทรัพยากรในการจัดการอาชีวศึกษา เช่น คน  วัสดุอุปกรณ์ เทคโนโลยีต่างๆ ให้สามารถไปสนับสนุนซึ่งกันและกันได้ ระหว่างวิทยาเขตต่างๆ ภายในสถาบัน

          2.7  กำหนดมาตรฐานและควบคุมคุณภาพการอาชีวศึกษา และการ             ฝึกอบรมวิชาชีพให้สอดคล้องกับมาตรฐานกลาง

        3.  สถานศึกษา

              เป็นการจัดการศึกษาในวิทยาลัยต่างๆ ในสถาบันการอาชีวศึกษา  ดังนั้น  วิทยาลัยจึงยังคงมีสถานภาพ และภาระหน้าที่ในการจัดการอาชีวศึกษาสนองความต้องการของตลาดแรงงานในระดับท้องถิ่นต่อไป  โดยมีรูปแบบการบริหารจัดการสถานศึกษาไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก  แต่มุ่งเน้นการรวมกลุ่มกันเพื่อการกำหนดเป้าหมายการจัดอาชีวศึกษาร่วมกัน และการสร้างมาตรฐานร่วมกัน  การใช้ทรัพยากรร่วมกัน

    นโยบายข้อที่  2  ปฏิรูปหลักสูตรอาชีวศึกษา     

     หลักสูตรอาชีวศึกษาต้องเป็นหลักสูตรที่เอื้อต่อการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง  มีลักษณะที่เป็นสหวิทยาการ (Multi-Disciplinary) เพื่อให้ผู้เรียนมีสมรรถนะ (Competency) ตามมาตรฐานอาชีพที่ตลาดแรงงานต้องการ

 แนวดำเนินการ

          หลักสูตรอาชีวศึกษาต้องมีการปรับปรุงใหม่โดยเน้นให้ผู้เรียนมีความรู้ลึกและกว้าง เพื่อให้ปฏิบัติงานได้จริง  (Solid Knowledge to Solid Practice) ดังนั้นหลักสูตรการอาชีวศึกษาที่ปรับปรุงใหม่จึงควรมีลักษณะดังนี้

          1.  เพิ่มการฝึกทักษะวิชาชีพให้มากขึ้น

          2.  เน้นการฝึกในสถานประกอบการจริงภายใต้สภาพแวดล้อมการทำงานจริง  ดังนั้นในปีการศึกษา 2545 สถานศึกษาทุกแห่งจะต้องจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี (DVT.) ให้ได้อย่างน้อย 1 สาขาวิชา เพราะขณะนี้ยังมีสถานศึกษาอีก 1 ใน 3 ของกรมอาชีวศึกษาที่ยังไม่สามารถสนองนโยบายดังกล่าวได้

          3.  จัดหลักสูตรการอาชีวศึกษาในลักษณะของการบูรณาการ ซึ่งควรเป็นการบูรณาการความรู้และทักษะวิชาชีพทั้งในระหว่างประเภทวิชา หรือสาขาวิชา เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ลึกและกว้าง สามารถประกอบอาชีพได้อย่างหลากหลาย

นโยบายข้อที่ 3  ปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอนอาชีวศึกษา

                    สังคมไทยจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการเรียนรู้ เพราะเหตุผลดังต่อไปนี้

          1)  ปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพของเด็กไทย  2) ปฏิรูปการเรียนรู้เพิ่มพูนความเข้มแข็งของสังคมไทย  3) ปฏิรูปการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมการเรียนรู้ยุคโลกาภิวัตน์  4) ปฏิรูปการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน ครู บิดามารดา ผู้ปกครอง และสังคมไทย  5) ปฏิรูปการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับกฎหมาย คือ พ...การศึกษาแห่งชาติ พ..2542 และร่าง พ...การอาชีวศึกษา

 

แนวดำเนินการ
          เพื่อให้การปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอนอาชีวศึกษาเป็นไปตามความต้องการของสังคม ควรดำเนินการดังนี้

          1.  การจัดการเรียนอาชีวศึกษา การเรียนในห้องเรียน มิใช่การเรียนรู้อย่างแท้จริง เพราะการเรียนเฉพาะในห้องเรียนย่อมไม่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนการสอนทางด้านอาชีวศึกษาจะต้องปฏิบัติจริงจากสถานการณ์จริง สิ่งแวดล้อมจริง จากบุคคลที่มีความรู้จริง และสังคมจริง

          2.  ไม่จัดการเรียนการสอนภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติที่แยกกันโดยสิ้นเชิง  ควรมีการบูรณาการเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยง เนื่องจากในการประกอบอาชีพจริง ไม่มีการแยกส่วนเพราะเทคโนโลยีและศาสตร์แต่ละสาขาวิชาไม่สามารถแยกกันได้อย่างชัดเจน

          ในการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งครูและผู้เรียน จะต้องปฏิรูปด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ดังนี้

          บทบาทครู   ครูจะต้องพัฒนากระบวนการเรียนการสอนและกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง  ครูจะต้องเป็นผู้แสวงหาความรู้ ใฝ่รู้ เข้าไปเรียนรู้ในสถานประกอบการพร้อมกับนักเรียน นักศึกษา ด้วยเหตุผลที่สำคัญคือ 

          1.  เพื่อตามให้ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

          2.  เพื่อนำไปถ่ายทอดแก่นักเรียน นักศึกษา อย่างมีประสิทธิภาพ

 

          บทบาทของผู้เรียน  ตัวผู้เรียนเองในฐานะที่ถือได้ว่ามีความสำคัญที่สุดสำหรับการจัดการเรียนการสอน จะต้องมีบทบาทอย่างน้อย 5 ประการ ได้แก่

          1.  ได้คิดเอง ทำเอง ปฏิบัติเอง และสรัางความรู้ด้วยตนเอง จากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย

          2.  มีส่วนร่วมในการกำหนดจุดมุ่งหมาย กิจกรรม และวิธีการเรียน                 รู้ สามารถเรียนรู้ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข

          3.  มีส่วนร่วมในการประเมินผลอย่างมีความสุข

          4.  เน้นกระบวนการคิดและการปฏิบัติจริง นำไปใช้ประโยชน์ได้

          5.  เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน  โดยมีผู้เรียน ครู และผู้มีส่วน     เกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมจัดบรรยากาศให้เอื้อต่อการเรียนรู้

          หากมีการจัดกระบวนการเรียนรู้เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวม หรือที่เรียกว่า บูรณาการ ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นนั้น  ย่อมส่งผลให้ได้คนไทยที่เป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุข และเป็นนักวิชาชีพที่มีคุณภาพอย่างแน่นอน  คุณสมบัติ 3 ประการ ต่างเป็นปัจจัยเกื้อกูลอาศัยซึ่งกันและกัน

 นโยบายข้อที่4  ปฏิรูปสถานศึกษา 

          สถานศึกษาสังกัดกรมอาชีวศึกษาจะต้องเป็นผู้นำในสังคมทั้งด้านเทคโนโลยีและเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

 แนวดำเนินการ

          1.  การเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี เนื่องจากสังคมปัจจุบันเป็นยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) สถานศึกษาจะต้องสร้างความพร้อมในการจัดการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต เป็นต้น

          2.  การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) สถานศึกษาต้องพัฒนาให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ดังนี้

              2.1  เปิดรับความเปลี่ยนแปลงของสังคม และให้บุคคลอื่นเข้ามาศึกษาหาความรู้ โดยสถานศึกษาต้องพัฒนาสื่อแห่งการเรียนรู้ สนองตอบต่อความต้องการของชุมชนและสังคม เช่น สร้าง IT Network ที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างเครือข่ายในท้องถิ่นกับระดับชาติตลอดจนนานาชาติได้ รวมทั้งร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ผลิตสื่อแห่งการเรียนรู้ สำหรับพัฒนาครูอาจารย์ของสถานศึกษา

              2.2  ครู อาจารย์ ต้องเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ เป็นผู้ใฝ่รู้ แสวงหาความรู้เพื่อการเรียนการสอน โดยนโยบายของกรมอาชีวศึกษา คือ ครูอาจารย์ทุกคนต้องได้รับการศึกษาอบรม อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง  ดังนั้น ผู้ประกอบอาชีพครูต้องปรับแนวคิดและแนวทางปฏิบัติงานที่สำคัญดังนี้

                      2.2.1   ปรับวิสัยทัศน์ โดยคิดใหม่ว่าการศึกษาเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาวิกฤตของสังคมไทยได้

                      2.2.2   ปรับวิธีการปฏิบัติงาน โดยถือว่านักเรียนคือศูนย์กลางของการเรียนการสอน   

                      2.2.3   พัฒนาความก้าวหน้าของวิชาชีพครู โดยการเพิ่ม     ศักยภาพของวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง

นโยบายข้อที่ 5  ปฏิรูประบบคุณภาพ  และมาตรฐานการอาชีวศึกษา

             การจัดการอาชีวศึกษาต้องทำให้ผู้สำเร็จการศึกษามีความสมบูรณ์พร้อมด้วยทักษะพื้นฐาน (Basic Skill)  เช่น ภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์ ทักษะวิชาชีพ (Technical Skill)   และทักษะความเป็นมนุษย์ (Human Skill) จำเป็นต้องมีระบบการควบคุม ประเมิน และเสริมสร้างคุณภาพมาตรฐานการอาชีวศึกษา ทั้งในระดับชาติ ระดับสถาบันการอาชีวศึกษา และสถานศึกษา

 แนวดำเนินการ

          ให้จัดระบบคุณภาพและมาตรฐานการอาชีวศึกษาเป็น 3 ระดับคือ

1.  ระดับชาติ ให้มีคณะกรรมการมาตรฐานการอาชีวศึกษาที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพต่างๆ
                กำหนดมาตรฐานกลาง เพื่อเป็นกลไกในการกำกับและ
ประเมินมาตรฐานของสถาบันการอาชีวศึกษาทุกแห่ง

2.  ระดับสถาบันการอาชีวศึกษา   ให้มีคณะอนุกรรมการมาตรฐานการอาชีวศึกษาของสถาบันการอาชีวศึกษา  ทำหน้าที่

     2.1  ติดตาม ตรวจสอบ และควบคุมมาตรฐานอาชีวศึกษาของสถานศึกษาในสถาบันฯ ตามที่คณะกรรมการมาตรฐานระดับชาติกำหนด และรายงานต่อคณะกรรมการระดับชาติ

     2.2  จัดระบบประเมินคุณภาพภายในสถานศึกษาและสถานประกอบการที่จัดอาชีวศึกษาในเขตบริการ

     2.3  จัดระบบเทียบโอนความรู้ และประสบการณ์ของสถาบันฯ

     2.4  ส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาภายในสถาบันฯ  ให้เป็นไปตามมาตรฐานกลาง        

     2.5  เตรียมความพร้อมสำหรับการประเมินจากภายนอก

3.  ระดับสถานศึกษา ให้มีการประเมินคุณภาพในทุกปีและทำรายงาน
เสนอต่อคณะกรรมการสภาสถาบันการอาชีวศึกษา ทั้งนี้โดยให้ยึดหลัก

     3.1  ให้ถือว่าการประกันคุณภาพภายในเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารที่สถานศึกษาทุกแห่งต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

     3.2  การดำเนินการประกันคุณภาพภายในทุกขั้นตอน ควรเน้นการประสานงานและการมีส่วนร่วมของทุกกลุ่มทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

     3.3  สถานศึกษาควรจัดทำรายงานการประกันคุณภาพภายในให้เรียบร้อยก่อนเริ่มปีการศึกษาใหม่ของทุกปี

 

สรุป

          โลกในยุคปัจจุบันเป็นยุคโลกาภิวัตน์ที่มีความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นที่แต่ละประเทศต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และเตรียมพร้อมที่จะเชิญกับความท้าทายจากกระแสโลกาภิวัตน์ โดยปัจจัยสำคัญที่จะเผชิญการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายดังกล่าว ได้แก่            คุณภาพของคน

          การมอบวิสัยทัศน์กรมอาชีวศึกษา นโยบาย ตลอดจนแนวดำเนินการของกรมอาชีวศึกษาตามแนวทางการปฏิรูปการอาชีวศึกษาให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดกรมอาชีวศึกษาในครั้งนี้ มีเป้าหมายที่สำคัญที่สุดคือ เพื่อให้เกิดจุดเริ่มต้นสำหรับการจัดทำแผนพัฒนาการอาชีวศึกษา ระยะที่ 9 (.. 2545-2549) เพื่อนำไปสู่การกำหนดพันธกิจ               เป้าหมาย/ตัวชี้วัด กลยุทธ์และการจัดทำแผนงาน/โครงการต่อไป

          สุดท้ายขอฝากข้อคิดสำหรับผู้บริหารทุกท่านเอาไว้ว่า การเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่หรือผู้นำที่ประสบความสำเร็จได้ บุคคลนั้นจะต้องบริหารปัจจัยที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่

          1.  การบริหารตนเองหรือพัฒนาตนเอง  เพื่อให้เป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพ

        2.  การบริหารผู้อื่น ให้ตั้งใจและเต็มใจทำงานอย่างเต็มความสามารถ

        3.  การบริหารงาน เพื่อให้เกิดผลงานบรรลุตามวัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่กำหนดไว้

 

                ฯพณฯ พลเอกเปรม  ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ กล่าวไว้เมื่อ 13 กันยายน 2543 ความตอนหนึ่งว่า  “ขอให้คิดอย่างที่ครูสอน แต่อย่าทำอย่างที่ครูทำ บุคคลนั้นคือ ผู้มีอาชีพครูแต่มิใช่ครูอาชีพ”

 

© 2001  นำเสนอข้อมูล และพัฒนาระบบโดย  หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
ปรับปรุงข้อมูลครั้งสุดท้ายเมื่อ วันที่ 09 January 2002     จดหมายถึงผู้ดูแลระบบ