สระแก้ว
สระแก้ว เป็นจังหวัดชายแดนด้านตะวันออก อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 220 กิโลเมตร ในอดีตเคยเป็นชุมชนสำคัญที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อน มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุวรรณภูมิ และอาณาจักรทวาราวดี เดิมมีฐานะเป็นเมืองบริวารของปราจีนบุรี (เมืองประจิมในสมัยโบราณ) และปราจีนบุรีได้รับการยกฐานะให้เป็นจังหวัด เมื่อปี พ.ศ. 2476 เมื่อยกเลิกระบบเทศาภิบาล สระแก้วจึงกลายเป็นอำเภอหนึ่ง ของจังหวัดปราจีนบุรี ต่อมาได้แยกตัวออกมาจากปราจีนบุรี และได้รับการประกาศให้เป็นจังหวัดอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2536
จังหวัดสระแก้วแบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ และ 2 กิ่งอำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอวัฒนานคร อำเภออรัญประเทศ อำเภอตาพระยา อำเภอเขาฉกรรจ์ อำเภอวังน้ำเย็น อำเภอคลองหาด กิ่งอำเภอโคกสูง และกิ่งอำเภอวังสมบูรณ์ มีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 7,195 ตารางกิโลเมตร หรือ 4,496,961 ไร่
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับราชอาณาจักรกัมพูชา
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอกบินทร์บุรี อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี และอำเภอ สนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา
การเดินทาง
รถยนต์ การเดินทางไปจังหวัดสระแก้วสามารถใช้เส้นทางได้ 3 เส้นทาง ได้แก่
1. จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางสายพหลโยธินมาถึงรังสิต แล้วให้ชิดซ้ายโดยใช้สะพานวงแหวนข้ามมาลงที่เส้นทางหมายเลข 305 ผ่านอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก จากนั้นเข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 33 ผ่านอำเภอกบินทร์บุรี ไปจนถึงจังหวัดสระแก้ว ระยะทางประมาณ 214 กิโลเมตร
2. จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 แล้วเลี้ยวขวาที่แยกหินกองไปตามทางหลวงหมายเลข 33 ผ่านจังหวัดนครนายก อำเภอกบินทร์บุรี ระยะทางประมาณ 245 กิโลเมตร
3. จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 304 ผ่านเขตมีนบุรี ผ่านจังหวัดฉะเชิงเทรา จากนั้นให้ใช้เส้นทางไปอำเภอพนมสารคาม พอถึงประมาณกิโลเมตรที่ 35 ให้เลี้ยวขวาไปทางอำเภอกบินทร์บุรี โดยใช้เส้นทางหมายเลข 304 พอถึงประมาณกิโลเมตรที่ 95 ให้เลี้ยวขวาอีกครั้ง เข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 33 ไปจนถึงจังหวัดสระแก้ว
รถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด มีบริการรถโดยสารประจำทางทั้งรถธรรมดา และรถปรับอากาศ ออกจากสถานีขนส่งหมอชิต ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 537-8055
รถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทย มีบริการขบวนรถโดยสารสายกรุงเทพฯ -สระแก้ว-อรัญประเทศ
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หน่วยบริการเดินทาง โทร. 223-7010, 223-7020
ระยะทางจากอำเภอเมืองไปยังอำเภอใกล้เคียง
อำเภอเมือง-อำเภอเขาฉกรรจ์ 19 กิโลเมตร อำเภอเมือง-อำเภอวัฒนานคร 38 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอวังน้ำเย็น 50 กิโลเมตร อำเภอเมือง-อำเภออรัญประเทศ 54 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอคลองหาด 65 กิโลเมตร อำเภอเมือง-อำเภอตาพระยา 100 กิโลเมตร
ระยะทางจากจังหวัดสระแก้วไปยังจังหวัดใกล้เคียง
จังหวัดสระแก้ว-จังหวัดนครราชสีมา 184 กิโลเมตร
จังหวัดสระแก้ว-จังหวัดปราจีนบุรี 188 กิโลเมตร
จังหวัดสระแก้ว-จังหวัดจันทบุรี 258 กิโลเมตร
จังหวัดสระแก้ว-จังหวัดฉะเชิงเทรา 286 กิโลเมตร
สถานที่น่าสนใจ
อำเภอเมือง
สระแก้ว สระขวัญ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่หมู่ 6 และหมู่ 7 ตำบลสระแก้ว อยู่ทางทิศตะวันตกของตัวเมือง หรือก่อนเข้าตัวเมืองเล็กน้อยจะมีทางแยกทางขวามือตรงกิโลเมตรที่ 246 เชื่อกันว่าน้ำในสระแห่งนี้ เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่เคยนำไปใช้ในราชพิธีราชาภิเษก และในสมัยกรุงธนบุรีเมื่อคราวสมเด็จพระมหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพไปตีเขมร ได้แวะพักที่บริเวณสระน้ำทั้งสองแห่งนี้ และอาศัยน้ำจากสระทั้งสองแห่งสำหรับใช้สอย และใช้ในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาด้วย จึงเป็นที่มาของชื่อจังหวัดสระแก้ว
อุทยานแห่งชาติปางสีดา มีพื้นที่ครอบคลุมอำเภอเมือง อำเภอวัฒนานคร อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 844 ตารางกิโลเมตร หรือ 527,500 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 สภาพป่าเป็นภูเขาสูงชันสลับซับซ้อน เป็นป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง และป่าทุ่งหญ้า เป็นต้น เป็นป่าที่มีความสมบูรณ์ประกอบด้วยสัตว์ป่า เช่น กระทิง ช้าง วัวแดง หมู่ป่า นกเงือก นกยูง เป็นแหล่งจระเข้น้ำจืดที่ยังเหลืออยู่ และเป็นต้นกำเนิดของห้วยโสมง ห้วยน้ำเย็น ห้วยพระปรง ห้วยพลับพลึง ฯลฯ ก่อนที่จะไหลลงสู่แม่น้ำบางปะกง หรือแม่น้ำปราจีนบุรี ภายในอุทยานฯ มีสถานที่ที่น่าสนใจ ได้แก่
น้ำตกปางสีดา อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 800 เมตร เป็นน้ำตกที่ทิ้งตัวจากหน้าผาสูง 10 เมตร เบื้องล่างเป็นแอ่งน้ำกว้างใหญ่ บรรยากาศร่มรื่น และจะมีน้ำมากในช่วงฤดูฝน
น้ำตกผาตะเคียน อยู่ห่างจากที่ทำการประมาณ 3 กิโลเมตร และห่างจากน้ำตกปางสีดาประมาณ 2.5 กิโลเมตร สามารถเดินทางเท้าได้ 2 เส้นทาง ตลอดเส้นทางขึ้นสู่น้ำตกร่มรื่นด้วยแมกไม้หนาทึบ เป็นน้ำตกชั้นสุดท้ายที่อยู่ในสายเดียวกับน้ำตกปางสีดา น้ำตกทิ้งตัวลงมาจากหน้าผาสูงประมาณ 10 เมตร เหมาะสำหรับเดินศึกษาธรรมชาติ
อ่างเก็บน้ำท่ากระบาก เป็นอ่างเก็บน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่จะปรับปรุงระบบชลประทานในเขตพื้นที่ราบเชิงเขา ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลท่าแยก ห่างจากตัวเมืองประมาณ 32 กิโลเมตร เป็นเขื่อนดินสูง 17.50 เมตร ยาว 720 เมตร บริเวณโดยรอบเป็นป่าโปร่ง ปลูกต้นไม้พันธุ์ต่าง ๆ ทั้งไม้ยืนต้น และไม้ประดับ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีทิวทัศน์สวยงาม เหมาะสำหรับพักผ่อน
น้ำตกท่ากระบาก อยู่ใกล้กับอ่างเก็บน้ำท่ากระบาก ตัวน้ำตกมีถึง 3 ชั้น แต่ละชั้นห่างกันประมาณ 400 ถึง 500 เมตร เบื้องล่างของแต่ละชั้นเป็นแอ่งน้ำลงเล่นน้ำได้
กลุ่มน้ำตกแควมะค่า จากที่ทำการอุทยานฯ ถึงหลักกิโลเมตรที่ 40 ให้เดินเท้าต่ออีกประมาณ 6 กิโลเมตร ตัวน้ำตกทิ้งตัวจากหน้าผาสูงประมาณ 70 เมตร เหมาะสำหรับเดินป่า และสามารถกางเต็นท์ได้ ใกล้ ๆ กันยังมีน้ำตกรากไทรย้อย ห่างจากน้ำตกแควมะค่า ประมาณ 500 เมตร น้ำตกลานหินใหญ่ ห่างจากน้ำตกแควมะค่า ประมาณ 1.5 กิโลเมตรเมตร น้ำตกสวนมั่น สวนทอง ห่างจากน้ำตกแควมะค่า ประมาณ 3 กิโลเมตร และน้ำตกม่านธารา ห่างจากน้ำตกแควมะค่า ประมาณ 4 กิโลเมตร กลุ่มน้ำตกแห่งนี้ใช้ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ 2-3 วัน เนื่องจากเป็นกลุ่มน้ำตกที่อยู่ลึกเข้าไปในผืนป่า
น้ำตกถ้ำค้างคาว จากที่ทำการถึงหลักกิโลเมตรที่ 22 ให้เดินเท้าต่อไปอีกประมาณ 10 กิโลเมตร บริเวณน้ำตกมีค้างคาวอาศัยอยู่ในถ้ำมากมาย
จุดชมวิว เป็นหุบเขากว้าง ห่างจากที่ทำการไปประมาณ กิโลเมตรที่ 25 และกิโลเมตรที่ 35 สามารถชมภูมิประเทศโดยรอบ และชมพระอาทิตย์ขึ้น-ตกได้
แหล่งจระเข้น้ำจืด ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 5 กิโลเมตร แล้วแยกเข้าทางไปหมู่บ้านคลองผักขม-ทุ่งโพธิ์ อีกประมาณ 50 กิโลเมตร เป็นแหล่งจระเข้น้ำจืดที่ได้สำรวจพบตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2534 ที่ยังเหลืออยู่ที่บริเวณป่าห้วยน้ำเย็น
ที่พัก อุทยานฯ มีบริการบ้านพัก ในอัตราคืนละ 500-600 บาท และมีสถานที่ให้กางเต็นท์ ในอัตรา คืนละ 5 บาท/คน บริการแก่นักท่องเที่ยว ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติปางสีดา ตู้ ปณ. 55 ตำบลท่าแยก อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว 27000 โทร. (01) 947-5948 หรือที่ อุทยานแห่งชาติกรมป่าไม้ บางเขน กรุงเทพฯ โทร. 561-4292 ต่อ 724-725, 579-5734, 579-7223
การเดินทาง โดยรถส่วนตัว จากตัวเมืองสระแก้วใช้ทางหลวงหมายเลข 3462 ขึ้นไปทางทิศเหนือระยะทางประมาณ 27 กิโลเมตร อุทยานฯ จะอยู่ทางขวามือ หรือหากนักท่องเที่ยวประสงค์ที่จะเดินทางไปอุทยานฯ โดยรถโดยสารประจำทาง ก็สามารถใช้บริการรถสองแถวโดยสารสายสระแก้ว-บ้านคลองน้ำเขียว เข้าไปประมาณ 27 กิโลเมตร จนถึงที่ทำการอุทยานฯ และอีกเส้นทางหนึ่งสามารถที่จะเดินทาง โดยทางรถไฟ สายกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ แต่ต้องลงที่สถานีรถไฟจังหวัดสระแก้ว แล้วจากนั้นจะต้องต่อรถโดยสารประจำทางสายสระแก้ว-บ้านคลองน้ำเขียว ไปประมาณ 27 กิโลเมตร จนถึงที่ทำการอุทยานฯ
อำเภอวัฒนานคร
สถานีเพาะเลี้ยวสัตว์ป่าช่องกล่ำบน ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองหมากฝ้าย มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 430 ไร่ การเดินทาง ใช้เส้นทางเดียวกันกับอุทยานฯ ปางสีดา ผ่านอ่างเก็บน้ำท่ากระบากไปประมาณ 500 เมตร และแยกซ้ายมือเข้าไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร สถานีแห่งนี้เป็นหน่วยงานของส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2526 ตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชนีนาถ เพื่อเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์สัตว์ป่าที่หายาก และใกล้จะสูญพันธุ์ เป็นสถานีศึกษา วิจัยเกี่ยวกับสัตว์ป่า และแหล่งบริการด้านความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสัตว์ป่า และสถานที่พักผ่อน ภายในสถานีฯ จัดแบ่งพื้นที่เพาะเลี้ยงเป็นสัดส่วนตามชนิดของสัตว์ต่าง ๆ เช่น นกเงือก นกเงือกปากย่น นกกาฮัง นกขุนทอง เป็ดก่า ละมั่ง หมาจิ้งจอก หมีขอ เป็นต้น
ปราสาทบ้านน้อย ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลผักขะ เป็นปราสาทที่มีกำแพง 2 ชั้น ชั้นนอกเป็นกำแพงดิน ส่วนชั้นในทำด้วยศิลาแลง ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีทางเข้าทางเดียว คือ ทางทิศตะวันออก ด้านหน้าปราสาทตรงมุมทางทิศเหนือมีสระน้ำกรุด้วยก้อนศิลาแลง ตรงกลางด้านทิศตะวันตกมีซากโบราณสถานก่อด้วยอิฐไม่สอปูนตั้งอยู่บนศิลาแลง ห่างจากปราสาทไปทางทิศเหนือมีสระน้ำขนาดใหญ่
อำเภออรัญประเทศ
พระสยามเทวาธิราชจำลอง อยู่ในตัวอำเภออรัญประเทศ หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภออรัญประเทศ มีความสูงประมาณ 1.29 เมตร เป็นรูปจำลองพระสยามเทวาธิราช สร้างโดยพระอุทัยธรรมธารี เมื่อปี พ.ศ. 2518 ต่อมาราษฎรได้ร่วมกันสร้างบุษบกเป็นที่ประทับ โดยประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2528 เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้าน คู่เมืองของชาวอำเภออรัญประเทศ และชาวจังหวัดใกล้เคียง
ประตูชัยอรัญประเทศ ตั้งอยู่ระหว่างพรมแดนไทย-กัมพูชา ที่บ้านคลองลึก ตำลบท่าข้าม สร้างในปี พ.ศ. 2482 มีลักษณะเป็นป้อม 2 ป้อม อยู่กันคนละฟากถนน ตัวป้อมมีลักษณะเป็นรูปหกเหลี่ยมด้านเท่า สูงประมาณ 15 เมตร ฐานป้อมทำเป็นห้องรักษาการณ์ แต่ชำรุดทรุดโทรมจากภัยสงคราม จึงมีการบูรณะซ่อมแซม เมื่อปี พ.ศ. 2502 โดยยังคงรักษารูปลักษณ์เดิมไว้เฉพาะป้อมด้านซ้ายมือเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ทหารกล้าที่เสียชีวิต และบาดเจ็บจากการสู้รบบริเวณชายแดนด้านนี้ สำหรับทางด้านขวามือได้ก่อสร้างเป็นเสมาขนาดใหญ่หันออกไปทางประเทศกัมพูชา ทำด้วยหินอ่อนสลักรูปครุฑไว้ด้านบน ใต้ครุฑจารึกคำว่า ประเทศไทย
ตลาดชายแดนบ้านคลองลึก หรือที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า ตลาดโรงเกลือ อยู่ที่บ้านคลองลึก ตำบลท่าข้าม ห่างจากตัวอำเภออรัญประเทศไปทางทิศตะวันออกประมาณ 6 กิโลเมตร ติดชายแดนไทย-กัมพูชา โดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 33 เส้นสระแก้ว-อรัญประเทศ เป็นตลาดทางการค้าที่สำคัญของพรมแดนแถบนี้ ตลาดโรงเกลือ เป็นตลาดชายแดนทางฝั่งไทย ร้านค้าในตลาดสร้างเป็นแบบโรงเรือน แบ่งเป็นห้อง ๆ สินค้าส่วนใหญ่ที่วางขายเป็นสินค้าที่มาจากฝั่งเขมร เช่น เครื่องทองเหลือง เครื่องเคลือบ เครื่องกระเบื้อง ถ้วยชาม เสื้อผ้า ผ้าม่าน เครื่องใช้ไฟฟ้าจากประเทศรัสเซีย เครื่องจักสาน ปลาแห้ง เป็นต้น และจากตลาดคลองลึกไปอีกประมาณ 500 เมตร จะถึงด่านคลองลึกที่เป็นจุดผ่านแดนไปสู่ ตลาดปอยเปต ของประเทศกัมพูชา สำหรับ นักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างประเทศ จะต้องแสดงบัตรประชาชน และพาสปอสต์โดยขอวีซ่าจากสถานทูตราชอาณาจักรกัมพูชา ในประเทศไทย เพื่อที่จะเข้าไปท่องเที่ยวแบบไปเช้า-เย็นกลับ แต่เฉพาะคนไทยที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำเภอคลองลึก อำเภออรัญประเทศ อำเภอคลองหาด และอำเภอตาพระยา สามารถขอบัตรผ่านแดนชนิดไปเช้า-เย็นกลับได้ จากตลาดชายแดนบ้านคลองลึกจะมีรถตู้ รถปิ๊กอั๊พ ของบริษัทนำเที่ยวให้เช่าเหมาไปยังตลาดปอยเปต เมืองเสียมเรียบอันเป็นที่ตั้งปราสาทนครวัด-นครธม ติดต่อได้ที่บริเวณตลาดบ้านคลองลึก หมายเหตุ สำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าไปยังประเทศราชอาณาจักรกัมพูชา ควรติดต่อสอบถามข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมก่อนที่จะเดินทางได้จากสถานทูตราชาอาณาจักรกัมพูชา ในประเทศไทย สำนักงานจังหวัดสระแก้ว และสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภาคกลาง เขต 8 ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ของราชอาณาจักรกัมพูชาไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวนำกล้องถ่ายรูป หรือกล้องถ่ายภาพยนตร์เข้าไป รวมทั้งยังห้ามนำเข้าสินค้าบางประเภท เช่น ตาชั่ง สัตว์ป่า ผลิตผลจากสัตว์ป่า หอม และกระเทียม เป็นต้น ทั้งจากประเทศไทยเข้าไปยังราชอาณาจักรกัมพูชา และจากราชอาณาจักรกัมพูชาเข้ามายังประเทศไทย ด้วยเช่นกัน
วัดอนุบรรพต หรือ เขาน้อย ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านใหม่หนองไทร แยกจากถนนสุวรรณศร ไปตามถนนธนะวิถีทางไปทางอำเภอตาพระยา ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2468 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ภายในวัดมีพระอุโบสถที่สวยงาม และภายในอุโบสถประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองเนื้อทองเหลือง ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวอรัญประเทศ และชาวจังหวัดใกล้เคียง
ปราสาทเขาน้อย ตั้งอยู่ในวัดเขาน้อยสีชมพู ตำบลคลองน้ำใส ห่างจากตัวอำเภอไปทางทิศใต้ประมาณ 12 กิโลเมตร โบราณสถานตั้งอยู่บนยอดเขาเตี้ย ๆ สูงราว 80 เมตร มีบันไดทางขึ้น 254 ขั้น เดินต่อไปตามทางลาดไม่ไกลนักก็จะถึงบริเวณตัวปราสาท เป็นโบราณสถานไม่ก่ออิฐสอปูน ประกอบด้วยปรางค์ทิศเหนือ ปรางค์องค์กลาง และวิหารทิศใต้ แต่จะมีเพียงปรางค์องค์กลางเท่านั้นที่ยังคงสภาพเป็นองค์ปรางค์ ส่วนปรางค์ทางทิศเหนือ และวิหารทิศใต้เหลือเพียงฐานเท่านั้น ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2478 ปราสาทเขาน้อยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติจากกรมศิลปากร และได้มีการสำรวจขุดพบทับหลังหินทราย 5 ประติมากรรมหินทราย โบราณวัตถุทำจากโลหะเครื่องปั้นดินเผา สันนิษฐานว่าอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-13 มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ และคงความสำคัญจนถึงพุทธศตวรรษที่ 16 เชื่อว่าเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ส่วนโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้น และเก็บรักษา ได้ตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี
ปราสาทเมืองไผ่ ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองไผ่ สิ่งที่น่าสนใจคือ เจดีย์โบราณสร้างด้วยอิฐก่อทับกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีมุขยื่นออกมา 4 มุม แกะสลักลวดลายดอกไม้ ลายเครือวัลย์ และรูปคน สันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์สมัยทวาราวดี นอกจากนี้ยังพบศิลปวัตถุหลายอย่าง เช่น เสมาธรรมจักร ทำด้วยศิลาเขียว เทวรูปศิลปลพบุรี และพระพุทธรูปศิลปทวาราวดี ซึ่งโบราณวัตถุเหล่านี้ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร การเดินทาง ไปปราสาทเมืองไผ่นั้นใช้เส้นทางสายอรัญประเทศ-ปราจีนบุรี ไปจนถึงตำบลเมืองไผ่ แล้วต่อจากนั้นต้องเดินเท้าเข้าไปถึงตัวปราสาทเมืองไผ่ ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร
อำเภอเขาฉกรรจ์
เขาฉกรรจ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาฉกรรจ์ อยุ่ภายในวัดเขาฉกรรจ์ ห่างจากตัวอำเภอเมืองประมาณ 17 กิโลเมตร ตามถนนสายสระแก้ว-จันทบุรี ทางหลวงหมายเลข 317 ระหว่างกิโลเมตรที่ 131-132 และแยกซ้ายไปอีกเล็กน้อย ตัวเขาเป็นเขาหินปูน สันเขาด้านยาวทำมุม 90 องศา กับทิศเหนือ และทิศใต้ จุดสูงสุดของยอดเขาสูงประมาณ 240 เมตร มีถ้ำเล็กถ้ำน้อยอยู่ถึง 72 ถ้ำ ที่นิยมเข้าไปชม ได้แก่ ถ้ำมืด ถ้ำหนุมาน ถ้ำทะลุ ถ้ำมหาหิงส์ ถ้ำน้ำทิพย์ และถ้ำแก้วพลายชุมพล มีรอยพระพุทธบาทจำลอง ด้านหน้าเป็นสวนรุกขชาติเขาฉกรรจ์ ใช้เป็นสถานที่ปลูกป่าของกรมป่าไม้ ส่วนเชิงเขาเป็นที่ตั้งของวัดเขาฉกรรจ์ มีบันไดขึ้นไปถึงยอดเขา สามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกล
อำเภอตาพระยา
ปราสาทสด๊กก๊อกธม ตั้งอยู่ที่บ้านหนองเสม็ด ตำบลโคกสูง โบราณสถานประกอบด้วยองค์ปราสาท 3 หลัง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีคูน้ำล้อมรอบ 4 ด้าน มีกำแพงแก้ว 2 ชั้น ชั้นนอกทำด้วยศิลาแลง ชั้นในทำด้วยหินทราย ตัวปราสาทก่อสร้างด้วยหินทราย มีโคปุระ หรือซุ้มประตูเหลืออยู่เพียงด้านทิศตะวันออก และทิศตะวันตกเท่านั้น ภายในระเบียงคดมีบรรณาลัยก่อด้วยหินทราย 2 หลัง อยู่หน้าปราสาทหลังกลางซึ่งเป็นปรางค์ประธาน ปราสาทด้านซ้ายมือ และปราสาทองค์ประธานอยู่ในสภาพปรักหักพัง ด้านนอกปราสาททางทิศตะวันออกมีสระน้ำขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยม มีถนนปูด้วยหินจากตัวปราสาทไปจนถึงสระน้ำตลอดแนว ได้มีการค้นพบศิลาจารึก 2 หลัก จารึกด้วยอักษรขอมโบราณ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 15 เพื่อใช้ประดิษฐานรูปเคารพ และใช้ประกอบพิธีกรรมตามคติความเชื่อถือในลัทธิศาสนาฮินดู การเดินทาง สามารถใช้เส้นทางสายอรัญประเทศ-ตาพระยา แยกขวามือที่บ้านหนองเม็กไปจนถึงตัวปราสาท ระยะทางจากอรัญประเทศไปปราสาทสด๊กก๊อกธมประมาณ 36 กิโลเมตร
ปราสาทเขาโล้น ตั้งอยู่ที่บ้านเจริญสุข ตำบลทัพราช เป็นปราสาทที่ตั้งอยู่บนยอดเขาโล้น ซึ่งเป็นยอดเขาเตี้ย ๆ อยู่บนเชิงเขาสะแกกรอง มีปรางค์ 4 หลัง เหลืออยู่เฉพาะหลังกลาง ส่วนปราสาทด้านหน้า 2 หลัง และด้านหลัง 1 หลัง ได้ปรักหักพังไปแล้ว ลักษณะปราสาทคล้ายกับปราสาทเขาน้อย ก่อด้วยอิฐเผามีหินทรายเป็นพื้นฐาน มีส่วนชำรุดที่ยอดของปราสาท ที่กรอบประตูหินทรายมีจารึกด้วยอักษรโบราณ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวปราสาทมีสระน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง และมีแนวถนนโบราณทอดยาวจากตัวปราสาทถึงสระน้ำ รอบ ภูเขาลูกนี้มีร่องรอยเป็นหมู่บ้าน หรือชุมชนโบราณในอดีต การเดินทาง ไปปราสาทเขาโล้นสามารถใช้เส้นทางหมายเลข 3068 เส้นตาพระยา-บุรีรัมย์ แล้วเลี้ยวซ้ายทางไปบ้านเจริญสุขจนถึงเชิงเขาที่ตั้งปราสาท ระยะทางจากอำเภอตาพระยาถึงปราสาทเขาโล้นประมาณ 28 กิโลเมตร
เทศกาล และงานประเพณี
งานสืบสานวัฒนธรรมเบื้องบูรพา และงานกาชาดจังหวัดสระแก้ว จัดขึ้นที่โรงเรียนอนุบาลวัดสระแก้ว ประมาณช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ในงานจะมีขบวนแห่สืบสานประเพณีของดีเมืองสระแก้ว ชมการประกวดร้องเพลง นิทรรศการแสดง ผลงานของส่วนราชการ ชมการแสดง และมหรสพ
งานวันสถาปนาจังหวัดสระแก้ว จัดขึ้นในช่วงประมาณต้นเดือนธันวาคม ของทุกปี ในงานจะมีขบวนแห่ศิลปวัฒนธรรม การจัดนิทรรศการ และการออกร้านจัดแสดงสินค้า
งานวันแคนตาลูป จัดขึ้นที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภออรัญประเทศ ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตแคนตาลูปออกสู่ตลาด ในงานมีขบวนแห่รถแคนตาลูป การประกวดแคนตาลูป และผลิตผลทางการเกษตร นิทรรศการของหน่วยงานราชการต่าง ๆ การประกวดธิดาแคนตาลูป การออกร้านจำหน่ายสินค้า และมหรสพต่าง ๆ
สินค้าพื้นเมือง และของที่ระลึก
ผลิตภัณฑ์ไม้ ทำจากไม้มะค่า ไม้ประดู่ อาทิ โต๊ะอาหาร เก้าอี้ โต๊ะเครื่องแป้ง นาฬิกา กล่องใส่กระดาษทิชชู และของประดับบ้าน หาซื้อได้ที่ สหกรณ์หัตถกรรมผลิตภัณฑ์ไม้ และร้านเฟอร์นิเจอร์ ในตลาดอำเภอวังน้ำเย็น
ผลิตภัณฑ์ฝังมุก ทำเป็นโต๊ะ กรอบรูป นาฬิกา ตลับใส่ของ แหล่งผลิตอยู่ที่ บ้านห้วยโจด ตำบลห้วยโจด อำเภอวัฒนานคร
ข้าวหลาม ทำเป็นไส้สังขยา และไม่มีไส้ แหล่งทำอยู่ที่ บ้านพร้าว อำเภอวัฒนานคร หาซื้อได้ที่แหล่งทำ และที่ตลาด ในเขตอำเภอวัฒนานคร
แคนตาลูป ปลูกกันมากในท้องที่ตำบลคลองน้ำใส ตำบลทับพริก และท้องที่ทั่วไปในเขตอำเภอวัฒนานคร
สวนสิริพร ตั้งอยู่ที่ 129 หมู่ 4 ถนนสระแก้ว-จันทบุรี อำเภอวังน้ำเย็น ปลูก และจำหน่ายมะขามหวาน และผลไม้ตามฤดูกาล เช่น มะม่วง กระท้อน
ร้านโพธิ์แก้วแอนติค ตั้งอยู่ที่ 78 ถนนจิตต์สุวรรณ จำหน่ายของโบราณ ของเก่า ในอำเภออรัญประเทศ
นอกจากนั้นยังมีสินค้าที่เป็นของฝากจากจังหวัดสระแก้ว และจากตลาดโรงเกลือ ได้แก่ หน่อไม้ เครื่องทองเหลือง เครื่องกระเบื้อง ถ้วย ชาม ผ้าม่าน เครื่องสาน ปลาแห้ง ปลากรอบ เป็นต้น
สถานที่พัก รหัสทางไกล 037
อำเภอเมือง
กวี วิลล่า 557 หมู่ 2 หลังอนามัยสระแก้ว ถนนสถานีรถไฟ โทร. 241217 จำนวน 12 ห้อง ราคา 400 บาท
กวี โฮเต็ล 43 หมู่ 2 ถนนสุวรรณศร โทร. 241216 จำนวน 52 ห้อง ราคา 220-380 บาท
จันทรา 299 หมู่ 16 ถนนสุวรรณศร โทร. 241711-13 จำนวน 85 ห้อง ราคา 420-730 บาท
สระแก้ว โฮเต็ล 206 หมู่ 2 ถนนสุวรรณศร โทร 241024-5 จำนวน 42 ห้อง ราคา 230-350 บาท
อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานฯ มีบริการบ้านพัก ในอัตราคืนละ 500-600 บาท และมีสถานที่กางเต็นท์ ในอัตราคืนละ 5 บาท/คน ไว้บริการแก่นักท่องเที่ยว ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติปางสีดา ตู้ ปณ. 55 ตำบลท่าแยก อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว 27000 โทร. (01) 947-5948 หรือที่ อุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ บางเขน กรุงงเทพฯ โทร. 561-4292 ต่อ 724-725, 579-5734, 579-7223
อำเภอวัฒนานคร
เฉลิมพล บังกะโล 1182 หมู่ 10 ถนนสุวรรณศร โทร. 261215 จำนวน12 ห้อง ราคา 150-300 บาท
นครอินทร์ ศูนย์การค้าสุวิทย์พันธ์ โทร. 261041, 261305 จำนวน 38 ห้อง ราคา 250-800 บาท
พุทธรักษา บังกะโล 1186 หมู่ 10 ถนนสุวรรณศร โทร. 261425-6 จำนวน 10 ห้อง ราคา 350-500 บาท
ศรีวัฒนา โฮเต็ล 1130 หมู่ 10 ถนนสุวรรณศร โทร. 261002 จำนวน 40 ห้อง ราคา 150-350 บาท
อำเภออรัญประเทศ
เขาน้อย เกสท์เฮ้าส์ 273 หมู่ 2 ถนนธนะวิธี ตำบลบ้านใหม่-หนองไทร โทร. 223432-5, 231637 จำนวน 40 ห้อง ราคา 250-550 บาท
ฉายสุข บังกะโล ถนนสุวรรณศร โทร. 231148, 231175 จำนวน 26 ห้อง ราคา 250-500 บาท
พรสกุล รีสอร์ท 15/1 ถนนสุวรรณศร โทร. 232056 จำนวน 12 ห้อง ราคา 250-500 บาท
อินเตอร์ 108/7 ซอยบ้านอรัญ ถนนชาตะสิงห์ โทร. 231291, 231848 จำนวน 38 ห้อง ราคา 400-1,000 บาท
อรัญปาร์ค 152 ถนนสุวรรณศร ตำบลบ้านใหม่หนองไทร โทร. 232588-90 จำนวน 60 ห้อง ราคา 500-950 บาท
อรัญการ์เด้นท์ 1 59/1-7 ถนนราษฎร์อุทิศ โทร. 231836, 232588-9 จำนวน 30 ห้อง ราคา 150-200 บาท
อรัญการ์เด้นท์ 2 110 ถนนราษฎร์อุทิศ โทร. 231070, 231837, 231905-7 จำนวน 30 ห้อง ราคา 160-400 บาท
อรัญชัย โฮเต็ล 40 ถนนสุวรรณศร โทร. 231134 จำนวน 19 ห้อง ราคา 150-250 บาท
สถานที่พักสำหรับเยาวชน
วิทยาลัยเกษตรกรรมสระแก้ว อำเภออรัญประเทศ ลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้น จุคนได้ประมาณ 60 คน ราคา 30 บาท/คน/คืน ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรกรรม และเทคโนโลยีสระแก้ว ตู้ ปณ. 3 อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว 27120 โทร. 231296
ร้านอาหาร รหัสทางไกล 037
อำเภอเมือง
ครัวสมบูรณ์ 688/1-2 ถนนสุวรรณศร โทร. 232418
เจ๊จู 291 หมู่ 2 ตรงข้ามสถานีตำรวจภูธร โทร. 241356
บ้านเสบียง 525 หมู่ 3 บ้านหนองนกเขา ตำบลท่าเกษม ถนนสุวรรณศร โทร. 242522
ภาวัลย์ 213 ถนนสุวรรณศร ตรงข้ามวัดสระแก้ว โทร. 241256
สัญญา บริเวณตลาดสระแก้ว โทร. 241185 (อาหารไทย)
สวนอาหารฉวีวรรณ ข้างปั้มดาว หมู่ที่ 15 ตำบลสระแก้ว โทร. 241459 (อาหารไทย)
เสวย ชั้นล่างโรงแรมจันทรา 16/2 ถนนสุวรรณศร โทร. 241714 (อาหารไทย จีน ฝรั่ง)
อำเภอวัฒนานคร
นครอินทร์ ในโรงแรมนครอินทร์ โทร. 212641 (อาหารไทย)
วันเพ็ญ 36 ศูนย์การค้าสุวิทย์พันธุ์ โทร. 261073
รุ่งวัฒนา 140/2-3 ถนนปราจีนธานี โทร. 211203 (อาหารไทย)
สวนอาหารพุทธรักษา 1186 หมู่ 10 ถนนหนองคลอง โทร. 261425-6
อำเภออรัญประเทศ
เก๋ 31 ถนนจิตต์สุวรรณ โทร. 231464 (อาหารเวียตนาม)
คำทอง ถนนจิตต์สุวรรณ โทร. 231138 (อาหารไทย)
บีเตียง 127-129 ถนนราษฎร์อุทิศ โทร. 231008 (อาหารไทย จีน ฝรั่ง)
เพลิน 51/2-3 ถนนจิตต์สุวรรณ โทร. 231627 (อาหารไทย)
วาเลนไทน์เฮ้าส์ 4 ถนนสันติภาพ โทร. 231157 (อาหารไทย จีน ฝรั่ง)
สมบูรณ์กุ้งเผา ถนนมหาดไทย ข้างศูนย์ลูกเสือ โทร. 232485
สวนอาหารทับทิมทอง 1/14-15 ถนนมหาดไทย โทร. 231315 (อาหารไทย จีน ฝรั่ง)
หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
สำนักงานจังหวัดสระแก้ว โทร. 421136 สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมือง โทร. 241017
สถานีเดินรถโดยสารประจำทาง โทร. 242362 โรงพยาบาลจังหวัดสระแก้ว โทร. 241012
----------------------------------------------------------------------
ข้อมูลรายละเอียดในเอกสารนี้ อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้
สงวนลิขสิทธิ์ หากนำไปจัดพิมพ์เพื่อการจำหน่าย
----------------------------------------------------------------------
จัดทำโดย
งานพัฒนาข่าวสาร
กองบริการท่องเที่ยว
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
สำนักงาน ททท. ภาคกลาง เขต 8 (นครนายก)
182/88 หมู่ 1 ถนนสุวรรณศร ตำบลท่าช้าง
อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก 26000
โทร. (037) 312282, 312284 โทรสาร (037) 312286
พื้นที่ความรับผิดชอบ : นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา
กุมภาพันธ์ 2542