นครนายก
นครนายก สันนิษฐานว่าเคยเป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดี หลักฐาน คือแนวกำแพงเนินดินและสันคูเมืองที่ตำบลดงละคร แต่ชื่อ นครนายก นั้นปรากฏหลักฐานในสมัยอยุธยาว่าป็นเมืองหน้าด่านทางทิศตะวันออก สมัยพระเจ้าอู่ทอง ในพ.ศ. 2437 รัชกาลที่ 5 ทรงจัดลักษณะการปกครอง เป็นมณฑลนครนายกได้เข้าไปอยู่ในเขตมณฑลปราจีนบุรี จนกระทั่ง พ.ศ. 2445 ทรงเลิกธรรมเนียมการมีเจ้าครองเมือง ให้มีตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ขึ้นแทน และในช่วง พ.ศ. 2486-2489 ได้โอนนครนายกไปรวมกับจังหวัด ปราจีนบุรีและสระบุรี หลังจากนั้นจึงแยกเป็น จังหวัดนครนายก
จังหวัดนครนายกเดิมชื่อว่า บ้านนา เล่ากันว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา ดินแดนของนครนายกเป็นป่ารกชัฏเป็นที่ดอน ทำนาหรือเพาะปลูกอะไร ไม่ค่อยได้ผลและมีไข้ป่าชุกชุม ผู้คนจึงอพยพไปอยู่ที่อื่นจนที่นี่กลายเป็นเมืองร้าง ต่อมาพระมหากษัตริย์ทรงทราบความเดือนร้อนของชาวเมืองจึงโปรดเกล้าฯ ให้เลิกภาษีนาเพื่อ จูงใจชาวเมืองให้อยู่ที่เดิมทำให้มีผู้คนอพยพมาอยู่เพิ่มมากขึ้น จนเป็นชุมชนใหญ่และเรียกเมืองนี้กันติดปากว่า เมืองนายก
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดสระบุรีและนครราชสีมา
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดฉะเชิงเทรา
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดปราจีนบุรี
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดปทุมธานี
การเดินทาง
รถยนต์ จากกรุงเทพฯ ไปได้ 2 เส้นทาง ได้แก่
- เส้นทางแรก ไปตามทางหลวงหมายเลข 305 เลียบคลองรังสิตผ่านอำเภอ องครักษ์ ระยะทางประมาณ 107 กิโลเมตร
- เส้นทางที่ 2 ไปตามทางหลวงหมายเลข 1 เลี้ยวขวาที่แยกหินกองไปตาม ถนนสุวรรณศร (ทางหลวงหมายเลข 33) จนถึงนครนายกระยะทางประมาณ 137 กิโลเมตร
รถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด บริการรถโดยสาร ประจำทางทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ ออกจากสถานีขนส่ง สายเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวันวันละหลายเที่ยว มีเส้นทาง เดินรถ 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-หินกอง-นครนายก และ กรุงเทพฯ-รังสิต-องครักษ์-นครนายก สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 537-8055 และ 936-2841 นอกจากนั้นยังมีบริการ รถสายพิเศษ เป็นรถปรับอากาศชั้น 2 สายกรุงเทพฯ-องครักษ์-โรงเรียนนายร้อย จปร. (ไม่ผ่านตัวอำเภอเมือง)
ระยะทางจากอำเภอเมืองไปยังอำเภอต่าง ๆ
อำเภอปากพลี 9 กิโลเมตร
อำเภอบ้านนา 17 กิโลเมตร
อำเภอองครักษ์ 32 กิโลเมตร
การเดินทางจากจังหวัดนครนายกไปยังจังหวัดใกล้เคียง
สถานีเดินรถโดยสารประจำทางมีบริการเดินรถไปยังจังหวัดใกล้ เคียง เช่น จังหวัดปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สระบุรี และจันทบุรี สอบถาม รายละเอียดการเดินทางได้ที่ บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร. (037) 311932
สถานที่น่าสนใจ
อำเภอเมือง
ศาลหลักเมือง เดิมเป็นเสาไม้ ยาวประมาณ 1 เมตรเศษ ปลายเสา แกะสลักเป็นรูปดอกบัวตั้งอยู่บริเวณกำแพงเมืองเก่า ปัจจุบันคือบริเวณ บ้านพักผู้ช่วยที่ดินจังหวัดและศูนย์บริการ สาธารณสุขเทศบาล ประมาณ พ.ศ. 2453 ทางราชการเห็นว่า ศาลหลักเมืองเดิมชำรุดมากจึงได้ย้าย หลักเมืองไปประดิษฐานที่ตึกแดงในโรงเรียนสตรีประจำจังหวัด คือ โรงเรียน ศรีนครนายก ภายหลังได้ย้ายมาสร้างใหม่ ณ สถานที่ปัจจุบันโดยสร้าง เป็นศาลาจตุรมุข เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวเมืองจนถึงทุกวันนี้
โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ตั้งอยู่ที่ตำบลพรหมณี ห่างจาก ตัวจังหวัดประมาณ 14 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพฯตามเส้นทาง องครักษ์ประมาณ 75 กิโลเมตร บริเวณโรงเรียนติดกับเขาชะโงก มีพื้นที่ ประมาณ 3,000 ไร่ เป็นสถานที่ ให้การศึกษาแก่ผู้ที่จะรับราชการเป็น นายทหารสัญญาบัตรแห่งกองทัพไทย ภายใน บริเวณโรงเรียนมีสถานที่ น่าสนใจหลายแห่งสามารถขับรถเที่ยวชมได้ แต่หากอยากจะสัมผัสกับ ความสงบและใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้นก็นำจักรยานไปขี่เที่ยวชมได้เช่นกัน ที่ศูนย์บริการท่องเที่ยว รร. จปร.มีบริการให้เช่าจักรยานด้วย
รร.จปร. มีสถานที่ท่องเที่ยว ได้แก่
ระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานอยู่หน้าบริเวณกองบัญชาการรร.จปร.บนเขาชะโงกเพื่อความเป็น สิริมงคลในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นผู้พระราชทานกำเนิด รร.จปร. พระบรมรูป อยู่ในฉลองพระองค์เครื่องแบบจอมทัพไทยแห่งกองทัพบกเต็มยศประทับเหนือ พระราชอาสน์
ศาลาวงกลม ตามประวัติศาลาวงกลมหรือศาลาลม จอมพลสมเด็จ พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ ทรงดำริให้จัดสร้างขึ้น เพื่อเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของนักเรียนนายร้อย ภายในศาลาวงกลมประดิษฐาน พระบรมรูปรัชกาลที่ 5
อาคารพิพิธภัณฑ์โรงเรียนนายร้อย จปร. 100 ปี เป็นที่ แสดงนิทรรศการ ผู้จบจากโรงเรียนนายร้อยที่ทำประโยชน์ให้บ้านเมือง และนิทรรศการเกี่ยวกับ สงครามต่างๆ จัดแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เคยใช้ทำสงครามในอดีต เครื่องแบบ นายทหารของกองพลต่างๆรวมทั้ง พระบรมรูปหุ่นขี้ผึ้งรัชกาลที่ 5 เปิดให้เข้าชม ทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. ค่าเข้าชมคนละ 10 บาท
ศาลเจ้าพ่อขุนด่าน เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มีประชาชนเคารพนับถือมาก ตามประวัติท่านเป็นนายด่านเมืองนครนายกสมัยอยุธยา วีรกรรมของท่านคือ การต่อต้านเขมรที่แปรพักตร์ เมื่อปีพ.ศ.2130ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร มหาราชขณะที่ไทยติดพันศึกกับพม่าเขมรได้เข้ามารุกรานและกวาดต้อนผู้คน แถบปราจีนบุรีเพื่อนำกลับไปเขมรและได้ยึดเมืองปราจีนบุรีและเมืองนครนายก ขุนด่านได้รวบรวม ชาวเมืองถอยไปตั้งหลักที่เขาชะโงกแล้วยกกำลังเข้าขับไล่เขมร ออกจากนครนายกจนเขมรแตกพ่ายไป ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ ของท่านอีกว่าในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นนำกำลังพลไปตั้งที่เขาชะโงก และได้รื้อศาลเจ้าพ่อขุนด่านท่านจึงแสดงอภินิหารทำให้ทหารญี่ปุ่นล้มตาย เป็นจำนวนมาก
พระพุทธฉาย หรือวัดพระฉาย แต่เดิมชื่อว่า วัดเขาชะโงก เป็นภาพ เขียนสีติดอยู่กับชะโงกผาบนภูเขาเตี้ยๆถัดจากเขาชะโงก พระพุทธฉายนี้ ประวัติเดิมเป็นอย่างไรไม่ปรากฏแต่เล่ากันว่าสภาพเดิมเป็นภาพพระพุทธรูปปางต่างๆ เมื่อ พ.ศ. 2485 กรมแผนที่ทหารบกเข้าไปตั้งโรงงานหินอ่อนที่เชิงเขานี้ และได้เขียนตามรอยพระพุทธรูปเดิมให้ชัดเจนขึ้น ชาวบ้านนับถือกันว่า เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่ง ทุกกลางเดือน 3 จะมีงานนมัสการเป็นประจำทุกปี
เดินไปทางด้านหลังวัดจะพบ น้ำตกพระฉาย เป็นน้ำตกเล็กๆตกลงมา เป็นสายจากผาสูงประมาณ 30 เมตร มายังแอ่งน้ำเบื้องล่างเล่นน้ำได้จะมีน้ำมาก ในช่วงฤดูฝนนอกจากการเที่ยวชมสถานที่น่าสนใจดังกล่าวแล้วที่นี่ยังมีกิจกรรมกีฬา ที่เปิดให้บุคคลภายนอกใช้บริการได้ เช่น ยิงปืน โดยมีสนามยิงปืนมาตรฐาน เรือแคนูและเลื่อนช่วยชีวิต ใช้สถานที่อ่างเก็บน้ำในโรงเรียน กอล์ฟ โดยมีสนาม กอล์ฟ 18 หลุม และสำหรับผู้ที่ต้องการจัดกิจกรรมกลุ่ม เช่น เดินป่าและพักแรม ที่เขาชะโงก กิจกรรมไต่หน้าผาจำลองและหน้าผาจริง ต้องติดต่อล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน มีบ้านพักรับรอง ร้านอาหารสโมสรนายทหาร สอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์บริการท่องเที่ยว อาคารสมาคม แม่บ้านทหารบกสาขา จปร. ทุกวันระหว่าง เวลา 08.00-16.00 น. โทร. (037) 393010-5 ต่อ 62961-2
หลวงพ่อเศียรนคร ประดิษฐานอยู่ ณ วัดบุญนาค รักขิตาราม (วัดต่ำ)ตำบลนครนายก เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่เลื่อมใสศรัทธาของ ชาวจังหวัดนครนายก สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูป สมัยพระร่วง ขุดพบเมื่อ พ.ศ. 2495 บริเวณโรงกลั่นสุราจังหวัดนครนายก ซึ่งตั้งอยู่ใกล้วัดนางหงษ์ ตำบลท่าช้าง โดยขุดพบแต่เศียรไม่มีองค์ และได้นำไปไว้ที่โรงเรียนนายก พิทยา (ปัจจุบันยุบไปแล้ว) ต่อมานำไปประดิษฐานที่วัดบุญนาครักขิตาราม มาในปี พ.ศ. 2511 นางผล รอดอุไร มีศรัทธาสร้างองค์พระและโบสถ์ถวาย และถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า หลวงพ่อ เศียรนคร ตั้งแต่นั้น เป็นต้นมา
รอยพระพุทธบาทจำลองเขานางบวช อยู่ในมณฑปบนยอดเขา นางบวชตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลสาริกาห่างจาก ตัวจังหวัดประมาณ 9 กิโลเมตร เขานางบวช สูงประมาณ 100 เมตร ทางขึ้นมีบันไดคอนกรีตจากเชิงเขาถึง มณฑป 227 ขั้น รอยพระพุทธบาทนี้สร้างไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2401 แรม 8 ค่ำ เดือน 12 ปีระกา มีงานเทศกาลนมัสการรอยพระพุทธบาทในกลาง เดือน 5 ของทุกปี
แหล่งโบราณคดีบ้านดงละคร หรือเมืองดงละคร ตั้งอยู่ที่ตำบล ดงละคร ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศใต้ ประมาณ 9 กิโลเมตร แต่เดิมเรียก กันว่า เมืองลับแล เป็นสถานที่ตั้งเมือง โบราณสมัยขอมมีอำนาจมีแนว กำแพงเป็นเนินดินและคูเมือง ปรากฏอยู่ ชาวบ้านเรียกกันว่า สันคูเมือง เป็นกำแพงเมืองสองชั้น และมีคูน้ำล้อมรอบ ซึ่งเป็นแบบเมืองทวารวดีทางภาค กลางของไทย ความรุ่งเรืองที่เด่นชัดแบ่งเป็นสองช่วง ช่วงแรกเริ่มพุทธ ศตวรรษที่ 14-16 เป็นวัฒนธรรมแบบทวารวดี ช่วงที่สองราวพุทธศตวรรษ ที่ 17-19 เป็นวัฒนธรรมเขมร และวัฒนธรรมก่อนอยุธยา พุทธศตวรรษที่ 19 ชาวบ้านดงละคร คงจะอพยพไปตั้งถิ่นฐานตามลำน้ำสายหลักในจังหวัด นครนายก สันนิษฐานว่าน่าจะมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับเมืองศรีมโหสถ เมืองทั้งสองอยู่ห่างกัน 55 กิโลเมตร โบราณวัตถุที่ค้นพบ เช่น เศียรพระพุทธรูป กะไหล่ทองขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย ตราประทับหัวแหวนรูปปู รูปช้าง แหวน สำริด ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหิน ตุ้มหูสำริด
สำหรับตำนานเมืองลับแลนั้นเล่ากันว่า เมืองนี้เคยเป็นเมืองของราชินี ขอมซึ่งเป็นที่รโหฐานผู้อื่นไม่สามารถเข้าออกได้ง่ายนัก ประกอบกับลักษณะ ของบริเวณเมืองมีต้นไม้สูงขึ้นอยู่ทั่วไปใครเข้าไปแล้ว อาจหาทางออกไม่ได้ จะต้องวนเวียนอยู่ในดงนั้นเอง และในวันโกนวันพระ วันดีคืนดี จะได้ยินเสียง กระจับปี่ สีซอ ปี่พาทย์ มโหรีขับกล่อมคล้าย ๆ กับมีการเล่นละครในวัง ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า ดงละคร หรืออีกนัยหนึ่งคำว่า ดงละคร นั้นอาจ เพี้ยนมาจากดงนคร กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนที่นี่เป็นโบราณ สถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478
อนุสรณ์สถานกองพลทหารญี่ปุ่นที่ 37 อยู่ที่วัดพรหมณี ตำบลสาริกา ประมาณกิโลเมตรที่ 5 ทางไปน้ำตกสาริกา-นางรอง สมัย สงครามมหาเอเชียบูรพา พ.ศ. 2482-2488 กองพลทหาร ญี่ปุ่นที่ 37 เคยมาตั้งทัพอยู่ที่วัดนี้ สมาคมทหารสหายสงคราม กองพลญี่ปุ่น ที่ 37 จึงสร้างอนุสรณ์สถานขึ้นที่นี่ เมื่อปี พ.ศ. 2535 เพื่อเป็นที่ระลึกถึงดวงวิญญาณ ของบรรดาทหารสังกัดกองพลญี่ปุ่นที่ 37 จำนวน 7,920 นาย ซึ่งเสียชีวิต ในระหว่างสงคราม โดยนำอัฐิที่ฝังอยู่ในบริเวณวัดมาบรรจุในแท่นที่จัดสร้างขึ้น
นอกจากนี้ภายในโบสถ์วัดพราหมมณียังมีพระพุทธรูปเก่าแก่ทรงเครื่อง ดอกพิกุล พระโอษฐ์แดง เล่ากันว่าชาวลาวอพยพได้อัญเชิญมาเมื่อสมัย เวียงจันทน์แตก เรียกกันว่า พระพุทธรูปปากแดง ปกติโบสถ์ไม่เปิดแต่หาก ประสงค์จะชมติดต่อขออนุญาตได้ที่เจ้าอาวาส
น้ำตกสาริกา ตั้งอยู่ที่ตำบลสาริกา ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศ ตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ สายน้ำไหลตกจากหน้าผาเป็นทอดๆ สูงถึง 9 ชั้น ผาที่สูงที่สุดสูงประมาณ 200 เมตร แต่ละชั้นมีอ่างรับน้ำมีน้ำมากในฤดูฝนส่วนฤดูแล้งน้ำจะแห้ง บริเวณด้านล่างของน้ำตกมีบริการร้านอาหาร และร้านจำหน่ายของที่ระลึก สินค้าพื้นเมือง เช่น ไม้กวาด ดอกไม้ที่ทำจากไม้โสนป่า ฯลฯ การเดินทาง สะดวกมากไปตามทางหลวงหมายเลข 3049 เป็นระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าทางหลวง 3050 อีกประมาณ 3 กิโลเมตร
ในบริเวณใกล้เคียงกันมี ถ้ำสาริกา อาจารย์มั่น ภูริฑตฺโต เคยมา บำเพ็ญศาสนธรรมที่นี่ระหว่าง พ.ศ. 2460-2463 สภาพเป็นเนินเขา ภายในบริเวณประกอบด้วยกุฏิของสงฆ์และชี เรือนบูชาหลวงปู่มั่น และโบสถ์ ซึ่งอยู่ตอนสุดทางเดินเท้าขึ้นเขา
น้ำตกลานรักหรือน้ำตกตาดหินกอง ตั้งอยู่ในตำบลพรหมณี ใช้เส้นทางเดียวกับทางไปน้ำตกสาริกาและน้ำตกนางรอง โดยแยกซ้ายที่ สี่แยกประชาเกษม ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 8 (ไปทางเดียวกับอ่างเก็บน้ำ ทรายทอง) และเดินทางต่อด้วยถนนลูกรัง อีกประมาณ 5 กิโลเมตรก็จะถึง บริเวณตัวน้ำตกซึ่งเกิดจากสายธารเล็กๆ ไหลผ่านลานหินในช่วงสุดท้าย ไหลพุ่งเป็นทางยาวผ่านลานหินที่กว้างเลียบตรงเชิงเขาเตี้ย ๆ อย่างสวยงาม และแปลกไปจากน้ำตกแห่งอื่นๆ มีน้ำเฉพาะในฤดูฝน
วังตะไคร้ ตั้งอยู่ที่ตำบลหินตั้ง ใกล้กับน้ำตกนางรอง อยู่ห่างจาก ตัวเมืองประมาณ 16 กิโลเมตร เป็นของกรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิ์พินิจ และหม่อมราชวงศ์หญิงพันธุ์ทิพย์บริพัตร เป็นอุทยานที่ได้รัการตกแต่งด้วย พันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับนานาพันธุ์ ในเนื้อที่ 1,500 ไร่ มีถนนให้นำรถยนต์ เข้าชมในบริเวณได้ เปิดรับนักท่องเที่ยวทั่วไปทั้งประเภทเช้าไปเย็นกลับ และประเภทค้างแรม โดยคิดค่าผ่านประตูดังนี้
-รถบัส 500 บาท
-รถตู้, ปิคอัพ (ไม่เกิน 10 คน) 100 บาท
-รถยนต์ส่วนบุคคล (ไม่เกิน 5 คน) 50 บาท
-บุคคล 5 บาท
น้ำตกนางรอง ตั้งอยู่ที่ตำบลหินตั้ง ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวัน ออกเฉียงเหนือประมาณ 20 กิโลเมตร น้ำตกนางรองอยู่ในเขตอุทยาน แห่งชาติเขาใหญ่เป็นน้ำตกขนาดกลางที่ไหลลดหลั่น ลงมาเป็นชั้นๆไม่สูงนัก มีความสวยงามเป็นธรรมชาติ การจัดบริเวณ เป็นระเบียบสะอาดตา และมีบ้านพักบริการ การเดินทาง ไปตาม ทางหลวงหมายเลข 3049
การเข้าชมน้ำตกนางรองนักท่องเที่ยวจะต้องเสียค่าบำรุง สถานที่ดังนี้
รถยนต์โดยสาร (รวมบุคคล) 100 บาท
รถยนต์เล็ก (รวมบุคคล) 50 บาท
รถตู้ 100 บาท
รถจักรยานยนต์ 10 บาท
บุคคล 3 บาท
อ่างเก็บน้ำห้วยปรือ ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาพระ แยกซ้ายมือจากถนน ไปน้ำตกสาริกา-นางรอง ตรงหลักกิโลเมตรที่ 1 ไปตามถนนเขาทุเรียน ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก แต่มีผิวน้ำกว้าง มีน้ำตลอดปีมีถนนดินรอบอ่าง ภูมิประเทศโดยรอบยังมีความงามตามธรรมชาติ ททท.กำลังสนับสนุนให้การพัฒนาให้ป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับพักผ่อน หย่อนใจของประชาชนและใช้เป็นศูนย์กีฬาทางน้ำของจังหวัดเนื่องจาก มีศักยภาพในการเล่นเรือกรรเชียง เรือแคนูน้ำเรียบ เรือใบ และวินด์เซริฟ ในบางฤดู
อ่างเก็บน้ำทรายทอง ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาพระ ไปทางเดียวกับอ่างเก็บน้ำ ห้วยปรือเลยมาอีก 4 กิโลเมตร เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กภูมิประเทศเป็น ภูเขาคงความสวยงามตามธรรมชาติ เหนืออ่างเก็บน้ำ ขึ้นไปประมาณ 2 กิโลเมตร มีน้ำตกชื่อ น้ำตกทรายทอง เป็นน้ำตกขนาดเล็กแต่มีน้ำ เกือบตลอดปีต้องเดินเท้าเข้าไปจากอ่างเก็บน้ำใช้ เวลาประมาณ 30 นาที
อำเภอบ้านนา
น้ำตกกะอาง ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาเพิ่มจากตัวเมืองไปตามถนน สุวรรณศรถึงอำเภอบ้านนาเยื้องกับสถานีตำรวจภูธร อำเภอบ้านนา มีถนนแยกไปน้ำตกกะอางระยะทาง 11 กิโลเมตร เป็นน้ำตกเล็กๆ ลักษณะ เป็นลานหินกว้างมีน้ำตกไหลผ่านตาม ช่องหินในบริเวณยังไม่มีสิ่งอำนวย ความสะดวกใดๆ บริเวณใกล้เคียงมีสถานีเพาะชำกล้าไม้ของกรมป่าไม้ ตั้งอยู่ด้วย และมีเนินเขาเป็นที่ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย
พระพุทธบาท 4 รอย ประดิษฐาน ณ มณฑปวัดทองย้อย เป็นโบราณสถานอันเก่าแก่ มีคุณค่าทางศิลปะซึ่งแสดงถึงความประณีตงดงาม ในการประดิษฐ์การหล่อของฝีมือช่างไทยสมัยโบราณ มีงานนมัสการทุกวัน ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี
อำเภอปากพลี
น้ำตกวังม่วง ตั้งอยู่ที่ตำบลนาหินลาด มีทางแยกซ้ายมือจากถนน สุวรรณศรที่อำเภอปากพลีไปยังน้ำตกวังม่วง ระยะทาง 16 กิโลเมตร เส้นทางสะดวกไปจนถึงบริเวณน้ำตก มีน้ำไหลผ่านแนวหินเป็นระยะๆ แล้วไหลลงมายังอ่างรับน้ำสุดท้ายบริเวณโดยรอบเป็นป่าร่มรื่น ต้องเดินเท้า ขึ้นเขาไปประมาณ 2 กิโลเมตร จึงจะสุดน้ำตก
ธุดงคสถานถาวรนิมิติ ตั้งอยู่ที่บ้านบุ่งเข้ ตำบลหนองแสง จากตัวเมืองแยกซ้ายมือจากถนนสุวรรณศรไปตามทางหลวงสาย นครนายก-ท่าด่าน (ถนนสาย 3239) ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร มีทางแยกขวามือเข้าไปอีกประมาณ 6 กิโลเมตร บริเวณธุดงคสถานถาวร นิมิตมีเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ อยู่ติดกับเทือกเขาใหญ่ที่รายล้อมด้วยภูเขา ขนาดเล็กและปานกลาง บริเวณมีไม้ยืนต้นร่มรื่นและเงียบสงบมีกุฏิปฏิบัติ ธรรม นับร้อยหลัง สำหรับพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา และประชาชน ผู้สนใจปฏิบัติธรรมทั่วไป ธุดงคสถานถาวรนิมิตนี้อยู่ในความอุปถัมภ์ ของมูลนิธิถาวรจิตตถาวโรวงศ์มาลัย ติดต่อที่ (037) 313-596
น้ำตกเหวนรก ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นน้ำตกขนาดใหญ่มีทั้งหมด 3 ชั้น ชั้นแรกสูงประมาณ 60 เมตร เมื่อน้ำไหล ผ่านน้ำตกชั้นนี้จะพุ่งไหลสู่หน้าผาชั้นที่สองและชั้นที่ สาม ที่อยู่ถัดลงไปใกล้ ในช่วงฤดูฝนน้ำจะไหลแรงมากจนน่ากลัว ดิ่งลงมาทำมุม 90 องศา ไหลทะลัก ไปสู่หุบเหวเบื้องล่าง
การเดินทาง จากตัวเมืองไปตามถนนสุวรรณศร ถึงสี่แยก เนินหอมหรือวงเวียนนเรศวรที่จังหวัดปราจีนบุรี เลี้ยวซ้าย เข้าทางหลวง 3077 ซึ่งเป็นทางขึ้นเขาใหญ่ ไปจนถึงกิโลเมตรที่ 24
สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด มีบริการรถประจำทาง สายกรุงเทพฯ-ปราจีน ออกจากสถานีขนส่ง สายเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 ไปลงที่สี่แยกนเรศวรแล้วต้องเหมารถรับจ้าง ต่อขึ้นไป
อำเภอองครักษ์
ศาลเจ้าพ่อองครักษ์ ตั้งอยู่ฝั่งแม่น้ำนครนายกในเขตตำบลสันทรายมูล มีเรื่องเล่าว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลย์ ราชสมบัติได้เสด็จประพาสจังหวัดปราจีนบุรี โดยเสด็จผ่านมาตามลำแม่น้ำ นครนายกและได้มาประทับแรมบริเวณ ที่ตั้งศาลเจ้าพ่อองครักษ์ในปัจจุบัน ในระหว่างประทับแรมอยู่นั้นนาย ทหารราชองครักษ์ป่วยและเสียชีวิตลง เพื่อเป็นที่ระลึกแก่ราชองครักษ์ ทรงมีพระราชประสงค์ให้สร้างศาลขึ้นเป็น อนุสรณ์ ศาลแห่งนี้จึงมีชื่อเรียกว่าศาลเจ้าพ่อองครักษ์ และใช้เป็นชื่อของ อำเภอองครักษ์ ในปัจจุบันด้วย บริเวณหน้าศาลเจ้าพ่อองครักษ์นี้ เป็นวังน้ำวน น้ำไหลเชี่ยวมาก สำหรับทางราชการถือว่าน้ำตรงวังน้ำเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ จึงนำไปทำพิธีสรงน้ำมูรธาภิเษก เมื่อคราวประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน
ศูนย์ไม้ดอก ไม้ประดับ ตลอดแนวคลอง 15 เป็นแหล่งเพาะขยาย พันธุ์พืชทั้งไม้ดอกไม้ประดับต่างๆนับว่าที่นี่เป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับจากที่นี่จะจัดส่งไปยังแหล่งจำหน่ายต่างๆทั่วประเทศ นักท่องเที่ยวสามารถแวะชมและเลือกซื้อได้ ในราคาขายส่ง และที่ศูนย์ สาธิตการตลาดหมู่ 11มีวัสดุเพาะชำต้นไม้ขายในราคาถูก หาไม่ยากจาก ปากคลองตรงไปตามถนนเรื่อยๆ และเลี้ยวขวาตรงวัดสันติธรรมไปประมาณ 8 กิโลเมตร
กิจกรรมนันทนาการ
ล่องแก่งในลำน้ำนครนายกด้วยเรือแคนู ช่วงที่เหมาะกับการ ล่องแก่งจะเริ่มประมาณเดือนมิถุนายน-ตุลาคม จุดเริ่มต้นอยู่ที่บริเวณ เชิงสะพานวังตะไคร้ คลองนางรอง บริเวณบ้านป่าหมากเรื่อยมาตาม ลำน้ำ นครนายก ผ่านเกาะ แก่งต่าง ๆ (แก่งที่น้ำเชี่ยวที่สุดคือแก่งสามชั้น) มีจุดนำเรือขึ้นฝั่ง และออกมายังถนนใหญ่ ได้หลายจุด เช่น ที่บ้านดง แก่งสามชั้น วังกุตภา และวังยาว ระยะทางในการล่องแก่งแต่ละช่วง ประมาณ 2-5 กิโลเมตร การล่องแก่งเป็นการท่องเที่ยวผสมผสานไปกับ การกีฬาทางน้ำที่สนุกตื่นเต้นท้าทาย เป็นการพักผ่อน และการออก กำลังกาย ซึ่งได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติโดยการพายเรือแคนู (เรือแคนู คือ เรือที่มีหัวท้ายเพรียวมีหลายประเภทแต่ประเภทที่เหมาะกับน้ำเชี่ยว คือเรือคายัค) สอถามรายละเอียดได้ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภาคกลางเขต 8 โทร. (077) 312282, 312284 ชมรมเรือแคนูสาริกา เชิงสะพานวังตะไคร้ โทร. (037) 393245 และ บริษัท ซีสปอร์ต โทร. 316-9150, 316-9382
จักรยานเสือภูเขา เป็นกิจกรรมที่สามารถทำได้ทั้งปี การปั่น จักรยานควรเริ่มตั้งแต่เช้ามืด เพราะการปั่นแต่ละเส้นทางใช้เวลาอย่าง น้อย 2 ชั่วโมงขึ้นไป นอกจากแดดไม่ร้อนแล้วยังได้ดื่มด่ำกับธรรมชาติ สวยๆยามเช้าได้อย่างเต็มที่ ททท.จัดเส้นทางไว้ ทั้งหมด 4 เส้นทาง ได้แก่
เส้นทางที่ 1 วังตะไคร้-วังยาว ระยะทาง ประมาณ 22 กิโลเมตร เริ่มต้นที่บริเวณเชิงสะพานวังตะไคร้ มองเห็นวิวทิวทัศน์ และผ่านที่ตั้งแค้มป์
เส้นทางที่ 2 เขาชะโงก-เขาทุเรียน ระยะทางประมาณ 24 กิโลเมตร เริ่มต้นที่จักรดาวรีสอร์ท และมองเห็นวิวทิวทัศน์ของ รร.จปร. เทือกเขาและอ่างเก็บน้ำ
เส้นทางที่ 3 วัดพราหมณี-เขามดดำ ระยะทาง 31 กิโลเมตรเริ่มต้น ที่บริเวณวัดพราหมณี มองเห็นวิวทิวทัศน์ของเทือกเขา และสวนนก
เส้นทางที่ 4 วัดคีรีวัน-วัดเนินหอม ระยะทาง 55 กิโลเมตร เริ่มต้นที่ วัดคีรีวันผ่านอ่างเก็บน้ำคลองสีเสียด วัดเขาพระธรรมขันธ์ไปถึงแยกเนินหอม จังหวัดปราจีนบุรี ทิวทัศน์เป็นทุ่งนา บ้านพักอาศัย และเทือกเขา เส้นทางนี้ปั่น ได้ในเวลาเย็นอีกด้วย
มีภาคเอกชนที่จัดเส้นทางจักรยานท่องเที่ยวแต่ละแห่งจัดเส้นทาง ที่ต่างกันไปโดยมีคนท้องถิ่นนำ เช่น แพ แคนู แคมป์ โทร. 931-6048 สโมสรแคนูสาริกา โทร. (037) 393245 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภาคกลางเขต 8 โทร. (037) 312282, 312284
ท่องไพรเขาใหญ่-นครนายก จัดในช่วงเดือน ธันวาคม-มิถุนายน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้มีการศึกษาธรรมชาติและระบบนิเวศน์ วิทยาสร้างความรู้ความเข้าใจอันดีงามและช่วยการอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเป็นการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการ ท่องเที่ยว เสริมสร้างอาชีพ และเพิ่มพูนรายได้แก่ประชาชนในท้องถิ่น
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ นครนายก นครราชสีมา ปราจีนบุรี และสระบุรี มีเนื้อที่ ประมาณ 2,168 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,355,396 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศ ประกอบด้วย ป่าดิบ ป่าโปร่ง ธารน้ำ น้ำตก สัตว์ป่า และพันธุ์ไม้ป่านานาชนิด ไปเที่ยวได้ทุกฤดูกาล แต่ช่วงที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเที่ยว มากที่สุดคือในช่วงฤดูหนาวประมาณ เดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ ซึ่งในตอนกลางคืนอากาศหนาวเย็นจนถึงเช้า ยอดเขาที่สูงที่สุดในเทือกเขาใหญ่ คือ ยอดเขาร่ม มีความสูงจาก ระดับน้ำทะเล 1,351 เมตร และที่นี่ยังได้รับสมญานามว่าเป็น อุทยาน มรดกของอาเซียน ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2505 นับเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศ
สำหรับเส้นทาง ในการเดินป่าท่องไพร มีด้วยกัน 4 เส้นทาง ทุกเส้นเริ่มต้นที่น้ำตกนางรอง
เส้นทางที่ 1 ผ่านน้ำตกนางรอง-น้ำตกตาดตาโม่ง-น้ำตกตาด ตาคง-น้ำตกตาดตาภู่-น้ำตกมะนาว ไปจนถึงอุทยานฯ ระยะทาง ประมาณ 25 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 3 วัน 2 คืน
เส้นทางที่ 2 ไปตามลำคลองวังตะไคร้จนถึงน้ำตกแม่ปล้อง รวมระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 2 วัน
เส้นทางที่ 3 เดินลัดเลาะตามลำคลองไปถึงน้ำตกเขาช่องลม ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 2 วัน
เส้นทางที่ 4 เดินลัดเลาะไปตามลำคลองนางรองผ่านกลุ่มน้ำตก ไทรยองหิน ถ้ำค้างคาว ชมน้ำตกเหวมหศักดิ์ และเดินกลับเส้นทางเดิม ระยะทาง 4 กิโลเมตร ใช้เวลา 1 วัน
จุดท่องเที่ยวที่สวยงามตามเส้นทางท่องไพร
น้ำตกแม่ปล้อง เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามอีกแห่งหนึ่ง มีทั้งหมด 7 ชั้น ลดหลั่นกันลงมา ชั้นสูงสุดไม่เกิน 12 เมตร มีลักษณะคล้ายคลึงกับน้ำตกเหวนรก หรือเหวสุวัต น้ำตกแห่งนี้ เกิดจากห้วยตะเคียนหรือห้วยสมพุงใหญ่ซึ่งไหลมาจาก เขาฟ้าผ่า
น้ำตกตาดตาภู่ เป็นน้ำตกอีกแห่งหนึ่งที่เกิดจากห้วยระย้า อยู่ห่างจาก น้ำตกมะนาวประมาณ 2 กิโลเมตร มีความสูงประมาณ 30 เมตร ลักษณะของ น้ำตกเป็นโขดหิน และลานหินที่มีน้ำไหลลดหลั่นลงไป มีน้ำไหลอยู่ตลอดปี ใกล้ๆกับน้ำตกมีทุ่งหญ้าซึ่งเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่าหลายชนิด เราอาจพบเห็น สัตว์เหล่านี้ได้บริเวณทุ่งหญ้า
น้ำตกตาดตาคง เป็นน้ำตกที่เกิดจากห้วยระย้าเช่นกัน อยู่ห่างจากน้ำตก ตาดตาภู่ประมาณ 4 กิโลเมตร ลักษณะของน้ำตกไหลเทลงมาจากหน้าผาที่สูงชัน มากในฤดูฝนจะมีน้ำไหลแรงและบริเวณน้ำตกจะลื่นมากจนไม่สามารถลงไปยัง ตอนล่างของน้ำตกได้ แต่ในฤดูแล้งจะมีน้ำไหลอยู่ไม่มากนักและยังไปชมความ สวยงามตอนล่างของน้ำตกได้ บริเวณใกล้เคียงกับน้ำตกแห่งนี้ มีสัตว์ป่าอยู่เช่นเดียว กับน้ำตกตาดตาภู่ และเหมาะที่จะเปิดเป็นสถานที่พักแรม
น้ำตกวังมะนาวหรือน้ำตกมะนาว เป็นน้ำตกขนาดเล็ก ที่มีความงาม ของธรรมชาติอีกรูปแบบหนึ่ง น้ำตกสูงประมาณ 3 เมตร มีน้ำไหลตลอดปี บริเวณนี้เป็นป่าดิบชื้นมีพันธุ์ไม้เล็กใหญ่ และสมุนไพรที่น่าสนใจ
ตามเส้นทางเดินป่าจะได้พบไม้นานาพันธุ์ และยังอาจได้เห็นสัตว์ป่า หลายชนิด เช่น ชะนี ลิง นกแก๊ก นกเงือก เก้ง กวาง ชะมด อีเห็น เม่น ไก่ป่า ชะมด หรือช้างป่า เป็นต้น
ทางจังหวัดจัดคนนำทาง ลูกหาบ และอุปกรณ์ในการพักแรมไว้บริการ สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. (037) 311273
การเตรียมตัวในการเที่ยวป่า
- ศึกษาข้อมูลของสถานที่ที่จะไปให้มากที่สุด เพื่อจะได้เตรียมอุปกรณ์ ต่างๆ ให้พร้อมเนื่องจากแต่ละสถานที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก แตกต่างกันไป
- เตรียมชุดที่รัดกุมแต่ใส่สบาย นำหมวก ถุงเท้า แจ็คเก็ต ไปด้วย และใช้โทนสีที่กลมกลืนกับธรรมชาติ เช่นเขียวน้ำตาล น้ำเงิน เทา หรือดำ
- เตรียมอุปกรณ์เดินป่าที่เบา คล่องตัว และจำเป็น ได้แก่ เป้หลัง เต็นท์หรือเปลนอน ถุงนอน อาหาร น้ำดื่ม ผ้ายางกันฝน ยารักษาโรค ไฟฉาย มีดพก เข็มทิศ เสื้อกันหนาว รองเท้าผ้าใบ หรือรองเท้าเดินป่า ยาไล่แมลง ยากัน ทาก และอื่นๆที่เห็นสมควร
- ไม่ใช้เครื่องหอมใดๆในระหว่างเดินป่าเพราะอาจกลายเป็นการล่อ แมลงเช่นผึ้งโดยเข้าใจผิดว่าเป็นน้ำหวานก่อให้เกิดอันตรายแก่ตัวท่านเอง หรือถ้าสัตว์ป่าได้กลิ่นฉุนที่ผิดธรรมชาติอาจจะไม่ กลับมาหากินแถวนั้นอีกเลย
ข้อพึงปฏิบัติในการเดินป่าของนักท่องเที่ยว
* ใช้เฉพาะเส้นทางหรือพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่จัดไว้เท่านั้นเพื่อป้องกันการเสีย หายของธรรมชาติ การหลงทางหรืออันตรายที่อาจ เกิดขึ้นได้
* ไม่เก็บหรือทำลายสิ่งของใดๆที่มีอยู่ในธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น หิน ดิน ทราย พรรณไม้ หรือสิ่งมีชีวิตใดๆ
* ระมัดระวังมิให้เกิดไฟป่าจากการก่อไฟ ทิ้งก้นบุหรี่ หากจำเป็นต้องก่อไฟ ให้ใช้พื้นที่ที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ให้เท่านั้นต้องดับให้สนิทเมื่อเสร็จ สิ้นภาระกิจแล้ว
*ไม่ก่อเสียงดังใดๆทั้งสิ้นเพราะอาจไปทำให้สัตว์ป่าตื่นตกใจ และอาจทำให้ เกิดอันตรายถึงชีวิตของทั้งสัตว์ป่า และตัวนักท่องเที่ยวเอง
* ช่วยกันรักษาความสะอาดของพื้นที่โดยไม่ทิ้งสิ่งปฏิกูล และขยะมูลฝอย ไว้ในป่าเพราะเพียงแค่เปลือกลูกอมชิ้นเล็กๆก็อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ของสัตว์ป่าที่กินเข้าไปได้ และหากพบเศษขยะใดๆ ช่วยกันเก็บออกมาทิ้งข้างนอก
* อย่าให้อาหารสัตว์
เทศกาล และงานประเพณี
งานประเพณีตักบาตรเทโวโรหนะ จัดช่วงแรม 1 ค่ำ เดือน 11 หรือตรงกับวันออกพรรษาของทุกปี จะมีพระสงฆ์จำนวน 109 รูป มารับบิณฑบาตโดยเดินลงมาจากมณฑปวัดเขานางบวช
งานวันมะปรางหวานและของดีนครนายก จัดขึ้นช่วงเดือน กุมภาพันธ์-เมษายนของทุกปีบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด วัตถุประสงค์เพื่อ แนะนำเผยแพร่มะปรางหวาน ผลิตผลทางการเกษตร และสินค้าหัตถกรรม ในงานจะมีการประกวดขบวนแห่ผลิตผลทางการเกษตร ประกวดมะปราง และพืชผลทางการเกษตร ประกวดธิดามะปรางหวาน การแสดงของนักเรียน และการออกร้านจัดนิทรรศการของหน่วยงานราชการและเอกชน และจำหน่าย สินค้าราคาถูก
งานประเพณีสารทไทยและแข่งเรือยาวประเพณี จัดในช่วงเดือน ตุลาคมของทุกปี บริเวณริมคลอง 29 ที่วัดทวีพูลรังสรรค์ อำเภอองครักษ์ ในงานมี การแข่งขันเรือยาวประเภทต่างๆ ประกวดการกวนกระยาสารท การทำบุญวัน สารทไทย และในตอนกลางคืนมีมหรสพ
งานมหกรรมไม้ดอกไม้ประดับองครักษ์ จัดช่วงเดือนเมษายน ของทุกปี บริเวณคลอง 15 ตำบลบางปลากด อำเภอองครักษ์ภายในงาน มีการประกวดไม้ดอกไม้ประดับ ประกวดการจัดสวนหย่อมและการแสดง นิทรรศการทางวิชาการ
สินค้าพื้นเมือง และของที่ระลึก
มะปราง เป็นผลไม้ที่ขึ้นชื่อที่สุดของจังหวัดนครนายก (มะปราง คือผลไม้ที่มีรสหวาน ในขณะที่ผลไม้ สายพันธุ์เดียวกันแต่มีรสเปรี้ยว เรียกว่า มะยงชิด) มะปรางจะออกผลผลิตช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม มีหลายสวน ที่ปลูกตามเส้นทางนครนายก-น้ำตกสาริกา หากไปในฤดูออกผลพอดีแวะ ไปซื้อที่สวนได้
ดอกดาหลา ตามส้นทาง 3049 และเลี้ยวซ้ายไปทางวังรีรีสอร์ท มีเกษตรกรที่ทำสวนดอกดาหลาอยู่สิบกว่าราย แต่หากนักท่องเที่ยวต้องการ จะไปเยี่ยมชมสวนหรือแวะไปซื้อและอยากจะลองตัดดอกเองที่ สวนดาหลา แสงทอง (จากทางหลวง 3049 เลี้ยวซ้ายเข้าไป 12 กิโลเมตร) พร้อมที่จะ เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยว ฤดูออกดอกของดอกไม้ชนิดนี้อยู่ระหว่างเดือน พฤศจิกายน-พฤษภาคม
ผลิตภัณฑ์หินอ่อน แหล่งผลิตอยู่ใกล้โรงพยาบาลนครนายกอำเภอเมือง และที่ทางแยกเข้าโรงเรียนายร้อยจปร. สินค้าที่ผลิตได้แก่ แจกัน กาน้ำ นาฬิกา กำไล โคมไฟ ป้ายชื่อ เป็นต้น
ผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ มีแหล่งผลิตอยู่ที่ตำบลสาริกา อำเภอเมือง ทำเป็นเรือใบ นกยูง รูปหน้าคน มีขายบริเวณน้ำตกสาริกา นางรอง และวังตะไคร้
ไม้กวาด มีแหล่งผลิตอยู่ที่ตำบลสาริกา อำเภอเมือง ตำบลนาหินลาด ตำบลโคกกรวด ตำบลหนองแสง อำเภอปากพลี ไม้กวาดนี้ทำด้วยหญ้า พงช้าง ด้ามทำด้วยไม้โมกและไม้ไผ่หิน หาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไปในจังหวัด
พรมทอจากเศษผ้า มีแหล่งผลิตอยู่ที่ตำบลเขาเพิ่ม อำเภอบ้านนา ทำเป็นพรมเช็ดเท้า พรมปูที่นอน มีหลายขนาดหาซื้อได้ตามร้านเฟอร์นิเจอร์ ในตลาดบ้านนา และอำเภอเมือง
ขนมเปี๊ยะ แหล่งทำอยู่ที่ตลาดบ้านนา อำเภอบ้านนา เป็นขนมเปี๊ยะ เชลล์ชวนชิม หาซื้อได้ตามร้านค้า ในจังหวัดนครนายก
กล้วยฉาบ มันฉาบ เผือกฉาบ มีแหล่งผลิต อยู่ที่ตำบลสาริกา อำเภอเมือง มีขายที่บริเวณน้ำตกสาริกา และน้ำตกนางรอง
ผลไม้แช่อิ่ม ได้แก่ มะเฟือง มะดัน มะขาม มะม่วง กระท้อน มะนาว มะกรูด เป็นต้น มีวางขายอยู่บริเวณทางแยกบ้านใหญ่ อำเภอเมืองนครนายก หรือที่กลุ่มแม่บ้านบ้านดงโชคดี ที่บ้านดง ตำบลสาริกา อำเมือง ใช้ผลไม้ ที่ เก็บได้ ในฤดูจากสวนของสมาชิกในกลุ่มที่แบ่งส่วนหนึ่งขายสดและนำมา แปรรูปส่วนหนึ่ง แต่ละฤดูกาลผลผลิตจะผลัดเปลียนหมุนเวียนกันไป เช่น มะม่วงดอง ขนุนเชื่อมแห้ง สับปะรด เชื่อมแห้ง มะเฟืองเชื่อมแห้ง มะขาม แช่อิ่ม มะดันเชื่อมแห้ง เป็นต้น
สิ่งอำนวยความสะดวกในจังหวัดนครนายก
สถานที่พัก (รหัสทางไกล 037)
(ราคาห้องพักในเอกสารนี้เปลี่ยนแปลงได้โปรดสอบถามจากโรงแรมก่อนเข้าพัก)
อำเภอเมือง
กอบเกื้อพาเลซ 420 ถนนธงชัย หน้าตลาดสด เทศบาล โทร.311633, 311644 จำนวน 125 ห้อง ราคา 200-900 บาท
จักรดาวรีสอร์ท 182 หมู่ 3 ถนนสุวรรณศร ปากทาง เข้าโรงเรียน นายร้อย จปร. ตำบลพรหมณี โทร. 393162-3 จำนวน 35 ห้อง ราคา 900-6,000 บาท
ช่อชะมวงรีสอร์ท 92 หมู่ 2 ตำบลสาริกา โทร. 328298 บังกะโล 1 หลัง ห้องพัก 20 ห้อง ราคา 800-3,000 บาท
ทันสมัย ถนนเสนาพินิจ ข้างวัดโพธิ์นายก โทร. 311388 จำนวน 30 ห้อง ราคา 70-180 บาท
นอธบังกะโล 145 หมู่ 5 ถนนบ้านใหญ่ โทร. 311814, 311938 จำนวน 40 ห้อง ราคา 200-400 บาท
บ้านพักน้ำตกนางรอง อยู่ในบริเวณน้ำตกนางรอง ติดต่อองค์การ บริหารส่วนจังหวัด นครนายก โทร. 311286 มีบ้านพัก 7 หลัง ราคา 700-1,500 บาท
ปันใจ 342/1 ถนนสุวรรณศร ตรงข้ามโรงพยาบาลนครนายก โทร. 311399 จำนวน 60 ห้อง ราคา 180-350 บาท
โพธิ์แดงรีสอร์ท 124 หมู่ 2 ถนนสาริกา-นางรอง ตำบลสาริกา โทร. 328265-6 โทรสาร 327267บ้านพัก 23 หลัง ราคา 500-3,500บาท เรือนรับรองสโมสรนายทหารโรงเรียนนายร้อย จปร. เขาชะโงก ตำบลพรหมณี โทร. 393126, 393119 จำนวน 27 ห้อง ราคา 600-1,500 บาท
ไวท์เฮ้าส์ 140/1หมู่ 1 ตำบลท่าช้าง โทร. 313152 จำนวน 35 ห้อง ราคา 350-600 บาท
วังตะไคร้ หมู่ 1 ตำบลสาริกา ถนนสาริกา-นางรอง ก่อนถึงน้ำตกสาริกา โทร. 312275 บ้านพัก 28 หลัง (พักได้หลังละ10-15 คน) ราคา 600-1,500 บาท
วังรีรีสอร์ท 143 หมู่ 12 ตำบลเขาพระ โทร. 313576 กรุงเทพฯ โทร. 641-4816-9 จำนวน 100 ห้อง ราคา 1,000-1,200 บาท
สีดารีสอร์ท 120 หมู่ 3 ถนนสาริกา-นางรอง ตำบลหินตั้ง (ถึงก่อน น้ำตกนางรอง) โทร. 311600, 313560-1 กรุงเทพฯ โทร. 223-9328, 226-6425 บ้านพัก 22 หลัง ราคา 3,700 บาท ห้องพัก 206 ห้อง ราคา 1,600-2,300
อำเภอบ้านนา
ชลพฤกษ์รีสอร์ท 64 หมู่ 10 ถนนรังสิต-นครนายก โทร. 382092 กรุงเทพฯ โทร. 513-1351 มีบ้านพัก และบังกะโล จำนวน 50 ห้อง ราคา 1,400-3,000 บาท
ค่ายพักแรม
ค่ายลูกเสือสาริกา หมู่ 11 ตำบลสาริกา อำเภอเมือง เรือนพัก 4 หลัง กระโจม 10 หลัง บริเวณสำหรับกางเต็นท์มีเรือนพักสำหรับผู้ควบคุม หรือวิทยากร ห้องประชุมขนาดใหญ่ ผู้ใหญ่คนละ 10 บาท เด็กคนละ 5 บาท การติดต่อขอใช้ สถานที่ให้ทำหนังสือถึงศึกษาธิการจังหวัดนครนายก โทร. 311481
สวนเพื่อนกัน บ้านท่าชัย ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง มีบ้านพักและ สถานที่กางเต้นท์ จุคนได้ประมาณ 150 คน บุคคลทั่วไป 100 บาท/คืน นักเรียน นักศึกษา เยาชน 50บาท/คน ติดต่อได้ที่ โทร. 211182 กรุงเทพฯ โทร. 537-8361, 936-1051
ร้านอาหาร (รหัสทางไกล 037)
อำเภอเมือง
โกสุม ถนนธงชัย หน้าตลาดสดเทศบาล โทร. 311424
ไก่ย่างดีดี ทางหลวง 3051 ก่อนถึงประตูทางเข้า รร. จปร.(ส้มตำ ไก่ย่าง)
ครัวมะนาว กิโลเมตรที่ 9 ถนนสาริกา-นางรอง โทร. 328327, 328313
ช่อชะมวง กิโลเมตรที่ 14 ถนนสาริกา-นางรอง โทร. 328298
ดู๋ดี๋ ซอยวัดอุดมธานี โทร. 312412 (ก๋วยเตี๋ยวหมู)
น้องเปิ้ล ถนนเสนาพินิจ ตรงข้ามธนาคารกสิกรไทย
นกกระตั้ว ถนนสุวรรณศร ตรงข้ามตลาดศรีเมือง
นัฏฐ์-ทิพ กิโลเมตรที่ 9 ถนนสาริกา-นางรอง โทร. 328318
นครเพชร ถนนสุวรรณศร ใกล้โรงพยาบาลนครนายก
ลาบปลาตะเพียน ทางหลวง 3051 ก่อนถึงประตูทางเข้า รร.จปร.
ลุงเหงี่ยม เยื้องปากทางเข้าน้ำตกวังตะไคร้ (อาหารตามสั่ง)
ศักดิ์ศรีเจริญถนนสุวรรณศร เลยจากโรงพยาบาลนครนายก ไปทางน้ำตก นางรอง โทร. 311162 (อาหารตามสั่ง ไทย จีน)
ศรีสุนีย์ ทางแยกบ้านใหญ่ ถนนน้ำตกสาริกา-นางรอง โทร. 311529 (อาหารตามสั่ง ไก่ย่างหนังกรอบ)
สาริกา 239 หมู่ 3 ถนนสาริการ-นครนายก โทร. 328101
สามสาว ถนนรังสิต-นครนายก ตรงข้ามปั๊มน้ำมัน ปตท. จิตรัตน์ โทร. 312108 (อาหารตามสั่ง)
อำเภอองครักษ์
จันทร์เพ็ญ ใกล้ปั๊ม ปตท. แยกองครักษ์ โทร. 391278
อำเภอปากพลี
ประนอม ข้างวัดเกาะหวาย ตำบลเกาะหวาย โทร. 399550
อำเภอบ้านนา
ลอมฟาง ถนนสุวรรณศร ตำบลป่าขะ โทร. 381397
สวนอาหารเรือนไทย 88 หมู่ 10 ถนนสุวรรณศร ตำบลบ้านนา โทร. 318820
หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ (รหัสทางไกล 037)
ศาลากลางจังหวัด โทร. 311273
ประชาสัมพันธ์จังหวัด โทร. 313615
สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมือง โทร. 311285, 311535
สถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านนา โทร. 382013-4
สถานีตำรวจภูธรอำเภอปากพลี โทร. 399600, 399601
สถานีตำรวจภูธรอำเภอองครักษ์ โทร. 391301
โรงพยาบาลนครนายก โทร. 311219, 311239, 311150
โรงพยาบาลบ้านนา โทร. 381833
โรงพยาบาลปากพลี โทร. 399504
โรงพยาบาลองครักษ์ โทร. 391399
สถานีเดินรถโดยสารประจำทาง โทร. 311932
ชมรมการท่องเที่ยวนครนายก โทร. 312282-4
________________________________________________
ข้อมูลรายละเอียดในเอกสารนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้
สงวนลิขสิทธิ์ หากนำไปจัดพิมพ์เพื่อการจำหน่าย
________________________________________________
จัดทำโดย
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
สำนักงานภาคกลาง เขต 8
182/88 ถนนสุวรรณศร ตำบลท่าช้าง
อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก 26000
โทรศัพท์ (037) 312282, 312284 โทรสาร 312286
พื้นที่ความรับผิดชอบ : นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา
มิถุนายน 2542