ปทุมธานี

จังหวัดปทุมธานี เป็นจังหวัดในภาคกลางของประเทศไทย มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน ตัวเมืองอยู่ห่างกรุงเทพฯประมาณ 46 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1,565.856 ตารางกิโลเมตร แบ่งเขตการปกครองเป็น 7 อำเภอ คือ อำเภอเมืองปทุมธานี อำเภอสามโคก อำเภอลาดหลุมเเก้ว อำเภอธัญบุรี อำเภอหนองเสือ อำเภอคลองหลวง และอำเภอลำลูกกา

อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสระบุรี

ทิศใต้ ติดกับจังหวัดนนทบุรี และกรุงเทพมหานคร

ทิศตะวันออก ติดกับจังหวัดนครนายก และฉะเชิงเทรา

ทิศตะวันตก ติดกับจังหวัดนนทบุรี

ภูมิประเทศ

พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มอันอุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านใจกลางจังหวัดในเขตอำเภอเมืองและอำเภอสามโคก มีลำคลองธรรมชาติและคลองชลประทานหลายสาย เช่น คลองควาย คลองเชียงรากน้อย คลองบางเตย คลองบางโพธิ์ คลองแม่น้ำอ้อม คลองบางหลวง คลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองรพีพัฒน์ คลองหกวา ฯลฯ

ประวัติศาสตร์

จังหวัดปทุมธานีเดิมชื่อ “เมืองสามโคก” เป็นเมืองที่ตั้งมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อปี พ.ศ. 2175 มาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้โปรดเกล้าฯ ให้ครอบครัวมอญที่ถูกอพยพต้อนมาจากเมืองเมาะตะมะ ไปทำมาหากินที่บ้านสามโคกนี้ใกล้กับวัดสิงห์ เขตอำเภอสามโคกปัจจุบัน ในปัจจุบันยังมีโคกดินโบราณสำหรับเผาโอ่ง อ่างของชาวมอญในสมัยโบราณเหลืออยู่เพียง 2 โคก การอพยพชาวมอญมาอยู่ที่เมืองนี้ยังมีในสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (พ.ศ. 2317) และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (พ.ศ. 2358) ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น พระองค์ได้เสด็จประพาสเมืองสามโคก ได้มีพสกนิกรจำนวนมากสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ นำดอกบัวหลวงขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอย่างเนืองแน่น จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเมืองใหม่เพื่อให้เป็นสิริมงคลว่า “ประทุมธานี” และต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนการสะกดนามจังหวัดเป็น “ปทุมธานี”

การเดินทาง

ทางรถยนต์ จากกรุงเทพมหานครสามารถเดินทางไปจังหวัดปทุมธานีได้ 3 เส้นทาง ดังนี้

กรุงเทพฯ-บางเขน-รังสิต-ปทุมธานี

กรุงเทพฯ-นนทบุรี-ปากเกร็ด-ปทุมธานี

กรุงเทพฯ-บางใหญ่-บางบัวทอง-ลาดหลุมแก้ว-ปทุมธานี

ทางรถประจำทาง มีรถประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ มาจังหวัดปทุมธานี ดังนี้

สาย 33 สนามหลวง-ปทุมธานี

2) สาย 90 สวนจตุจักร-หัวถนน-ติวานนท์ (ต่อเรือข้ามฝั่ง หรือต่อรถสายรังสิต-ปทุมธานี)

3) สาย 29, 34, 39, 59, 95, ปอ.3, ปอ.10, ปอ.13, ปอ.29 และ ปอ.39 จอดรถที่รังสิต (แล้วต่อรถสายรังสิต-ปทุมธานี)

4) สาย 104 อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-ปากเกร็ด แล้วต่อรถสาย 33 และ 90 ไปจังหวัดปทุมธานี

ทางรถไฟ มีบริการรถไฟออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพงทุกวัน โดยไปลงได้ที่สถานีรถไฟตลาดรังสิตแล้วต่อรถยนต์โดยสารมายังจังหวัดได้ ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ หน่วยบริการเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ โทร. 223-7010, 223-7020

สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอำเภอเมือง

ศาลหลักเมือง เป็นปูชนียสถานที่สำคัญยิ่งของจังหวัดปทุมธานี เป็นที่ประดิษฐานเจ้าพ่อหลักเมือง ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดปทุมธานี ศาลหลักเมืองนี้ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าศาลากลางจังหวัด สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2520 เป็นศาลาแบบจตุรมุขยอดกลาง มีลักษณะคล้ายก้านดอกบัวหลวง เหนือขึ้นไปเป็นฐานกลีบบัวรองรับมณฑป ภายในมณฑปประดิษฐานหลักเมือง และมีรูปหล่อพระนารายณ์สี่กรทรงเหนือหลังนกฮูกและพระวิษณุหล่อด้วยสัมฤทธิ์ ด้านหลังของมณฑปบรรจุพระยอดธงวัดไก่เตี้ย อีกทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมายประกอบด้วยเครื่องรางของขลังที่รวบรวมมาจากวัดต่างๆ ในจังหวัดปทุมธานี

วัดโบสถ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านกลาง ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างเมื่อ พ.ศ. 2164 โดยชาวมอญที่อพยพมาจากเมืองหงสาวดี และเอาชื่อหมู่บ้านที่ตนอพยพมาอาศัยอยู่ ตั้งเป็นชื่อวัด และได้สร้างเสาหงส์ขึ้นไว้เป็นสัญลักษณ์แห่งเมืองหงสาวดี สิ่งสำคัญในวัดโบสถ์คือ พระแสงอาญาสิทธิ์ ของเก่าแก่จากรามัญ ช้างสี่เศียรใช้ติดตั้งประดับหัวเสา อายุเก่าแก่ถึง 150 ปี สร้างด้วยทองคำสัมฤทธิ์ พระทรงเครื่องอยู่ในโบสถ์เก่าของวัด และรูปปั้นสุนัขย่าเหลหล่อด้วยตะกั่วที่เจ้าอาวาสได้รับพระราชทานมาจากรัชกาลที่ 6

วัดชินวราราม เป็นวัดเก่าแก่และเป็นพระอารามหลวงชั้น โทชั้นวรวิหาร เดิมชื่อ “วัดมะขามใต้” บริเวณรอบพระอารามกว้างขวาง ในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงาม พร้อมคำบรรยายเป็นโคลงสี่สุภาพเกี่ยวกับเรื่องพระเจ้าสิบชาติ นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ เช่น พระวิหาร มณฑป หอระฆัง ศาลาการเปรียญ ศาลาท่าน้ำ และตำหนักชินวรสิริวัฒน์ ฯลฯ วัดนี้ได้รับการปฏิสังขรณ์ โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวรสิริวัฒนา สมเด็จพระสังฆราชเจ้าอดีตเจ้าอาวาสราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดชินวรารามตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เยื้องปากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ไปทางเหนือเล็กน้อย ในเขตอำเภอเมืองปทุมธานี จากทางแยกถนนสายกรุงเทพฯ-ปทุมธานี ก่อนถึงสะพานนนทบุรีประมาณ 500 เมตร ทางฝั่งซ้ายจะมีทางแยกเข้าไปประมาณ 1 กิโลเมตร การเดินทางสะดวกทั้งทางรถยนต์ และทางเรือ

สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอำเภอสามโคก

วัดสิงห์ ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตอำเภอสามโคก สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อครั้งที่ชาวมอญอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองนี้ ในบริเวณวัดมีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ควรค่าแก่การศึกษาในด้านประวัติศาสตร์และศิลปะ มีหลวงพ่อโตเป็นพระพุทธรูปลงรักปิดทองปางสะดุ้งมารสมัยกรุงศรีอยุธยา พระพุทธไสยาสน์ (หลวงพ่อเพชร) โกศบรรจุอัฐิหลวงพ่อพญากราย ซึ่งเป็นพระมอญธุดงค์มาจำพรรษาที่วัดสิงห์นี้ บนกุฏิจัดเป็นพิพิธภัณฑ์มีโบราณวัตถุที่เป็นศิลปะมอญ เช่น หม้อข้าวแช่ มีรอยพระพุทธบาทจำลองทำด้วยไม้สัก พร้อมทั้งแท่นบรรทมของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองสามโคกและมีอิฐมอญแบบเก่าที่มี 4, 6, 8 รู ในแถบวัดนี้ยังมีการทำอิฐมอญซึ่งเป็นอุตสาหกรรมพื้นบ้าน การเดินทางไปได้ทั้งทางเรือ และทางรถยนต์ โดยถนนสายปทุมธานี-สามโคก เพียง 3 กิโลเมตร และมีทางแยกซ้ายเข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร

วัดไผ่ล้อม เป็นวัดโบราณที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัย ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตอำเภอสามโคก เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ในความสนใจของนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างประเทศเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากบริเวณวัดนั้นเป็นที่อาศัยของ “นกปากห่าง” จำนวนมาก “นกปากห่าง” เป็นนกที่อยู่ในตระกูลนกกระสา มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ลังกา อัสสัม พม่า ไทย ลาว เขมร และเวียดนาม “นกปากห่าง” เป็นนกประจำถิ่นแต่มีบางพวกที่อพยพเปลี่ยนที่หากินไปตามฤดูกาล จะเริ่มอพยพมาอาศัยอยู่ที่วัดไผ่ล้อมในระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี โดยจะเริ่มจับคู่ทำรังและผสมพันธุ์จนกระทั่งวางไข่ และเลี้ยงลูกอ่อน เมื่อลูกนกโตขึ้นจนสามารถช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว พอเข้าฤดูฝนประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม นกส่วนมากจะอพยพ จากวัดไผ่ล้อมทยอยบินขึ้นไปทางเหนือยังประเทศอินเดีย หลังจากนั้นในเดือนพฤศจิกายน นกก็จะเริ่มบินกลับมาทำรังที่วัดไผ่ล้อมอีก อาหารที่นกปากห่างชอบคือหอยโข่ง นอกจากนี้ยังมีกุ้งและปลา ปัจจุบัน "นกปากห่าง" เป็นสัตว์ป่าสงวนในความดูแลของกองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้

การเดินทางไปชมนกปากห่างนั้น ไปได้ทางเรือโดยใช้เส้นทางถนนสายปทุมธานี-สามโคก เลยที่ว่าการอำเภอสามโคกถึงวัดสามัคคิยาราม แล้วลงเรือข้ามฟากไปวัดไผ่ล้อม หรือจะนั่งรถสองแถวสายไปวัดไผ่ล้อม จากหัวถนนติวานนท์ (ทางหลวงหมายเลข 306) ถึงสามแยกเลี้ยวขวาเข้าถนนหมายเลข 346 ประมาณ 1 กิโลเมตร ทางซ้ายมือมีทางราดยางเข้าสู่วัดเสด็จ (ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร) และวัดไผ่ล้อมระยะทาง 15 กิโลเมตร ไปลงที่หน้าวัดไผ่ล้อม หรือโดยรถประจำทาง ขสมก. สาย 32 และ ปอ.6 จากสนามหลวง หรือสาย 104 จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปท่าเรือเทศบาลเมืองปทุมธานีแล้วข้ามเรือในราคา 5 บาท ไปยังวัดไผ่ล้อมอีกทอดหนึ่ง นอกจากนี้ บริษัทสุภัทรา ยังมีบริการเรือนำเที่ยว กรุงเทพฯ-วัดไผ่ล้อม-ศูนย์ศิลปาชีพ ไป-กับ ทุกวันอาทิตย์ อัตราค่าโดยสาร 280 บาท ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ท่ามหาราช โทร. 222-5330, 225-3002-3 ในบริเวณวัดไผ่ล้อมมีร้านจำหน่ายอาหารเครื่องดื่มและของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยวในวันเสาร์และอาทิตย์

วัดเจดีย์ทอง ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลคลองควาย อำเภอสามโคก ในวัดนี้มีเจดีย์ทรงรามัญ สร้างมาประมาณ 160 ปี เป็นสถาปัตยกรรมมอญที่เลียนแบบมาจากเจดีย์จิตตะกองของพม่า และยังมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างขึ้นด้วยหยกขาว เป็นที่เคารพสักการะของชาวไทยรามัญ การเดินทางนั้นใช้เส้นทางสายปทุมธานี-สามโคก วัดเจดีย์ทองอยู่ห่างจากจังหวัดไป 8 กิโลเมตร แยกขวาเข้าวัดอีกประมาณ 500 เมตร

สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอำเภอลำลูกกา

วัดพืชอุดม ตั้งอยู่ที่ตำบลลำไทร ในบริเวณวัดมีศาลารูปปั้นต่างๆ แสดงถึงนรกภูมิและสวรรค์ภูมิชั้นต่างๆ มีหลวงพ่อโสธรจำลองประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถ นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุ

การเดินทางไปมาสะดวกทั้งทางรถยนต์และทางเรือ ทางรถยนต์มีรถสองแถวรับจ้างวิ่งเข้าออกทั้งวัน โดยเส้นทางสายกรุงเทพฯ-มีนบุรี-หนองจอก-วัดพืชอุดม หรือจากตัวจังหวัดปทุมธานี-อำเภอลำลูกกา-ถนนสายฉะเชิงเทรา-อำเภอหนองจอก-วัดพืชอุดม ระยะทางประมาณ 57 กิโลเมตร และทางเรือโดยลงเรือที่สะพานใหม่ดอนเมือง ใช้เวลาประมาณ 45 นาที

สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอำเภอลาดหลุมแก้ว

วัดบัวขวัญ เป็นวัดที่อยู่ในเขตอำเภอลาดหลุมแก้ว ในบริเวณวัดมีพระพุทธรูปปางพระผอม เป็นพระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยา ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 พร้อมกับพระพุทธรูปตามระเบียงวัดเบญจมบพิตร นอกจากนี้ยังมีพลับพลาที่ประทับแรกนาขวัญ ในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่เรียกว่า "ศาลาแดง" เดิมตั้งอยู่ที่วังพญาไท ในกรุงเทพฯ สร้างเป็นพลับพลาไม้สักทั้งหลังแม้แต่หลังคา นับเป็นพลับ พลาที่สวยงามและทรงคุณค่าทางสถาปัตยกรรมชิ้นหนึ่ง

วัดเจดีย์หอย ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลบ่อเงิน อำเภอลาดหลุมแก้ว ใช้ทางหลวงหมายเลข 346 (ปทุมธานี-บางเลน) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 21-22 แล้วแยกเข้าวัดไปอีก 10 กิโลเมตร วัดนี้เป็นแหล่งเก่าแก่ของหอยนางรมยักษ์ มีอายุกว่า 1,000 ปี มีเจดีย์ที่ก่อสร้างขึ้นจากการนำเอาหอยนางรมมาสร้างเป็นรูปเจดีย์ จึงเรียกว่า “เจดีย์หอย”

วัดลำมหาเมฆ ตั้งอยู่ที่ บ้านลำมหาเมฆ หมู่ที่ 5 ตำบลบ่อเงิน อำเภอลาดหลุมแก้ว ห่างจากจังหวัดตามเส้นทางถนนปทุมธานี-บางเลน ประมาณ 14 กิโลเมตร สิ่งที่น่าสนใจคือ บริเวณบึงน้ำไหลของวัดมีนกหลากหลายชนิดอาศัยสร้างรัง ฟักไข่ตามธรรมชาติจำนวนมาก ได้แก่ นกกระยางขาว นกกระสา นกกาน้ำ และนกชนิดอื่นๆ

สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอำเภอธัญบุรี

วัดมูลจินดาราม ตั้งอยู่ริมคลองรังสิตประยูรศักดิ์ บริเวณคลองห้า อำเภอธัญบุรี ห่างจากถนนพหลโยธิน ไปตามเส้นทางถนนปทุมธานี-นครนายก ระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร มีสิ่งที่น่าสนใจคือ ปลาสวายอาศัยอยู่ในคลองรังสิตประยูรศักดิ์ บริเวณหน้าวัดซึ่งได้เลี้ยงไว้ มีขนาดใหญ่ตัวละ 3-5 กิโลกรัม จำนวนมาก แต่ละวันมีผู้ไปเที่ยวชมและให้อาหารปลาอยู่เสมอ

การละเล่นและประเพณีท้องถิ่น

เปิดสงกรานต์ เป็นประเพณีสงกรานต์ ข้าวแช่ของชาวไทยรามัญ (มอญ) มีการนำข้าวสุกแช่ลงในน้ำเย็นลอยดอกมะลิ พร้อมกับจัดอาหารคาว หวาน จัดเป็นสำรับแล้วนำออกขบวนแห่ไปถวายพระและญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือในวันสงกรานต์ พอตอนบ่ายก็จะมีการก่อพระทรายและร่วมปล่อยนกปล่อยปลา นำน้ำหอมไปสรงน้ำพระ ขอพรจากพระและยกขบวนไปรดน้ำอวยพรผู้ใหญ่ ตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่ได้ยึดถือกระทำกันมา

การเล่นสะบ้า ในโอกาสวันสงกรานต์ตอนบ่ายๆ จะมีหนุ่มสาวพบปะสมาคมกันอย่างใกล้ชิด พวกผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายจะเปิดโอกาสให้ลูกหลานของตนแต่งกายให้สวยงามเป็นพิเศษ มาชุมนุมเล่นทอยลูกสะบ้ากัน สำหรับลูกสะบ้านั้นทำจากแก่นไม้ประดู่หรือไม้มะค่า มีลักษณะรูปทรงกลม เป็นรูปจานขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4-5 นิ้ว การทอยลูกสะบ้า ผู้เล่นจะทอยไปยังหลักซึ่งอยู่ห่างจากที่ทอยประมาณ 13 วา ให้ล้มลง

มอญรำ เป็นประเพณีของชาวรามัญโบราณตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการใช้ปี่พาทย์มอญเล่นประกอบการรำและการร้อง ใช้หญิงสาวจำนวน 8-12 คนขึ้นไปรำในงานพิธีมงคล จะแต่งกายชุดสดสวยของชาวมอญห่มสไบเฉียงเสื้อแขนยาวทรงกระบอกคอกลม เกล้าผมมวยรัดด้วยดอกมะลิสด ทัดดอกไม้สดข้างหูและสวมกำไลที่ข้อเท้า เว้นแต่พิธีมงคลศพจึงจะแต่งชุดซิ่นสีดำเชิงห่มสไบสีขาว ปัจจุบันการแสดงมอญรำยังนิยมใช้แสดงในงานต้อนรับแขกและงานศพของผู้มีเกียรติ

ทะแยมอญ เป็นการละเล่นพื้นเมืองของหนุ่มสาวชาวมอญ มีลักษณะคล้ายหมอรำของภาคอีสาน หรือลำตัดของคนไทยภาคกลาง มีการร้องเพลงเกี้ยวพาราสีต่อปากต่อคำกัน เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบในการเล่นก็มีไวโอลินและซอ ทะแยมมอญใช้เล่นได้ทั่วไปในทุกโอกาสที่ต้องการความสนุกสนานครึกครื้น ไม่จำเป็นต้องเป็นงานพิธี เช่น มอญรำ

การรำพาข้าวสาร เป็นประเพณีของชาวมอญ นิยมทำกันหลังจากการออกพรรษา เป็นช่วงการทอดกฐินและทอดผ้าป่า โดยคณะผู้รำพาข้าวสารจะพายเรือไปขอรับบริจาคข้าวสาร เงินทองและสิ่งของแล้วนำไปร่วมในการทอดกฐิน

การตักบาตรพระร้อย เป็นประเพณีของชาวมอญที่ทำในเทศกาลออกพรรษา ด้วยการนำอาหารคาวหวาน ลงเรือมาจอดเรียงรายริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อรอตักบาตร

การจุดลูกหนู เป็นประเพณีเผาศพพระภิกษุ-สามเณร ใช้ดอกไม้เพลิงเป็นชนวน ลำตัวเจาะร้อยเชือกชนวน เมื่อจุดฉนวนไฟจะวิ่งตามฉนวนไปยังดอกไม้เพลิง ดอกไม้เพลิงจะวิ่งไปจุดไฟที่เมรุ

ข้อมูลรายละเอียดในเอกสารนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้

สำนักงานจังหวัดปทุมธานี โทร. 581-6038

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

สำนักงานภาคกลาง เขต 6

108/22 หมู่ 4 ต.ประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา 13000

โทร. (035) 246-076-7 โทรสาร (035) 246-078

พื้นที่รับผิดชอบ : พระนครศรีอยุธยา สระบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ปทุมธานี นนทบุรี