สมุทรสงคราม เป็นเมืองเก่าแก่ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าตั้งขึ้นเมื่อใด เดิมเข้าใจว่าเป็นแขวงหนึ่งของจังหวัดราชบุรี เรียกจังหวัดสมุทรสงครามว่า สวนนอก ครั้นต่อมาในราวปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาต่อกับสมัยกรุงธนบุรี จึงแยกออกจากจังหวัดราชบุรี เรียกว่า เมืองแม่กลอง
จังหวัดสมุทรสงครามมีพื้นที่ 416 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 3 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภออัมพวา และอำเภอบางคนที
อาณาเขต
ทิศเหนือ จดจังหวัดราชบุรี
ทิศใต้ จดจังหวัดเพชรบุรีและอ่าวไทย
ทิศตะวันตก จดจังหวัดเพชรบุรีและราชบุรี
ทิศตะวันออก จดจังหวัดสมุทรสาคร
การเดินทาง
รถยนต์ จากสามแยกบางปะแก้วไปตามถนนสายธนบุรี-ปากท่อ (ทางหลวงหมายเลข 35) ผ่านสี่แยกมหาชัย-นาเกลือ ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 64 มีทางแยกขวามือเข้าตัวเมืองสมุทรสงคราม ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร
รถประจำทาง บริษัทขนส่ง จำกัด เปิดบริการเดินรถกรุงเทพฯ-สมุทรสงคราม ทุกวัน จากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 435-5031 (รถปรับอากาศ) และโทร. 434-5558 (รถธรรมดา)
รถไฟ มีรถดีเซลรางออกจากสถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ทุกวัน สายวงเวียนใหญ่-มหาชัย แล้วข้ามเรือแม่น้ำท่าจีนไปต่อรถไฟที่สถานีบ้านแหลมอีกทอดหนึ่ง สอบถามรายละเอียดได้ที่ สถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ โทร. 465-2017
สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอำเภอเมือง
ดอนหอยหลอด เป็นสันดอนปากน้ำแม่กลอง ที่เกิดจากการตกตะกอนของดินปนทราย (ชาวบ้านเรียกทรายขี้เป็ด) มีอาณาบริเวณกว้างประมาณ 3 กิโลเมตร ยาว 5 กิโลเมตร มี 2 แห่งง คือ ดอนนอก อยู่บริเวณปากอ่าวแม่กลอง เดินทางไปได้โดยทางงเรือ ส่วนดอนในอยู่ที่ชายหาดหมู่บ้านฉู่ฉี่ ตำบลบางจะเกร็งและที่ชายหาดหมู่บ้านบางบ่อ ตำบลบางแก้ว สามารถเดินทางไปได้โดยทางรถยนต์ บริเวณสันดอนนี้มีหอยอาศัยอยู่หลายชนิด ไก้แก่ หอยลาย หอยปุก หอยปากเป็ด หอยแครง และโดยเฉพาะหอยหลอดมีมากที่สุด
หอยหลอดเป็นหอยชนิด 2 ฝา ตัวสีขาวขุ่น มีเปลือกคล้ายหลอดกาแฟ ฝังตัวอยู่ในทราย การจับหอยหลอดจะใช้ไม้เล็กๆ ขนาดก้านธูป จุ่มปูนขาว แล้วแทงลงไปในรูหอยหลอด หอยจะเมาปูนแล้วโผล่ขึ้นมาให้จับ
ดอนหอยหลอดนี้ ในเวลาน้ำมากจะถูกน้ำท่วม และในช่วงเวลาน้ำน้อย ขณะน้ำลงจะสามารถไปเที่ยวชม ทัศนียภาพได้ ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเที่ยวชมดอนหอยหลอดคือ ระยะเวลาเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ของทุกปี
ที่บริเวณใกล้เคียงดอนหอยหลอดหมู่บ้านฉู่ฉี่นี้เป็นที่ตั้งศาลกรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ และมีร้านอาหาร ร้านขายสินค้าพื้นเมือง เช่น หอยหลอดแห้ง อาหารทะเลสด น้ำปลา กะปิคลองโคน น้ำตาลปึก น้ำตาลสด ฯลฯ มีจำหน่ายอยู่หลายร้าน สถานที่จอดรถสะดวก
การเดินทางไปดอนหอยหลอด
1. ไปยังหาดหมู่บ้านฉู่ฉี่ ตำบลบางจะเกร็ง เลยทางแยกเข้าจังหวัดสมุทรสงคราม ไปประมาณ 3 กิโลเมตร ก่อนที่จะข้ามสะพานพุทธเลิศหล้านภาลัย ทางซ้ายมือตรงเชิงสะพานมีถนนเล็กๆ เข้าวัดศรัทธาธรรม-คลังน้ำมันเชลล์ ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร แล้วเดินลงชายหาดจนถึงดอนหอยหลอด
2. ไปยังหาดหมู่บ้านบางบ่อ ตำบลบางแก้ว เริ่มต้นตรงข้ามด่านชั่งน้ำหนักทางหลวง ริมถนนธนบุรี-ปากท่อ ก่อนถึงทางแยกเข้าจังหวัดสมุทรสงคราม ประมาณ 1 กิโลเมตร จะมีป้ายบอกทางเข้า เป็นถนนลูกรังระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร รถใหญ่ไม่สะดวกที่จะนำเข้าไป
3. ทางเรือ ไปยังดอนนอก มีเรือขนาดต่างๆ ไว้บริการที่ท่าริมน้ำแม่กลอง ถ้าเป็นคณะใหญ่กรุณาติดต่อสอบถามไปที่ โรงเลื่อยจักรซุ่นฮวดเฮง โทร. 711466 (ต้องจองล่วงหน้า) หรือติดต่อที่ห้องขายตั๋วเรือข้ามฟากริมแม่น้ำแม่กลอง
หมายเหตุ นักท่องเที่ยวที่ลองจับหอยหลอดแล้วมีปูนขาวเหลือ อย่าสาดปูนขาวทิ้งบนสันดอน เพราะจะทำให้หอยที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นตายหมด
วัดบ้านแหลม หรือ วัดเพชรสมุทรวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่กลอง เป็นวัดที่สำคัญที่สุดในจังหวัด ตั้งอยู่ในตัวเมือง เป็นที่รู้จักทั่วไป เพราะเป็นวัดที่มีพระพุทธรูปสำคัญคือ หลวงพ่อบ้านแหลม เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ มีผู้เดินทางมานมัสการกันเป็นประจำ สำหรับความเป็นมาของหลวงพ่อบ้านแหลมนั้น เป็นพระพุทธรูปซึ่งสร้างเมื่อใดไม่ปรากฏ ตามพงศาวดารฉบับราชหัตถเลขาว่า เมื่อ พ.ศ. 2307 พม่ายกทัพเข้ามาตีเมืองเพชรบุรี แต่กองทัพของกรุงศรีอยุธยาได้ยกทัพมาช่วยรักษาเมืองไว้ได้ ชาวบ้านแหลมในเขตเมืองเพชรบุรีได้อพยพหนีพม่ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ในตำบลแม่กลองเหนือวัดศรีจำปาขึ้นไป และเรียกหมู่บ้านนี้ว่า บ้านแหลม ตามชื่อบ้านเดิมของตนในเมืองเพชร ได้ช่วยกันบูรณะวัดศรีจำปา แล้วเรียกวัดศรีจำปาว่า วัดบ้านแหลม ชาวบ้านแหลมพวกนี้เป็นชาวประมง มีอาชีพจับปลาในทะเล คราวหนึ่งได้ออกไปลากอวนในอ่าวแม่กลองได้พระพุทธรูปติดอวนขึ้นมา 2 องค์ องค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปนั่ง อีกองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปยืน สำหรับพระพุทธรูปนั่งได้นำไปประดิษฐานไว้ที่วัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี เรียกว่า หลวงพ่อวัดเขาตะเครา สำหรับพระพุทธรูปยืนอุ้มบาตร สูงประมาณ 167 เซนติเมตร แต่บาตรนั้นสูญหายไปในทะเล ได้นำไปประดิษฐานไว้ที่วัดบ้านแหลม เรียกว่า หลวงพ่อบ้านแหลม มีความศักดิ์สิทธิ์และอภินิหารเป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวบ้านทั่วไป วัดบ้านแหลมซึ่งแต่เดิมเป็นวัดเล็กๆ ที่ทรุดโทรมก็กลับเจริญขึ้นเป็นวัดใหญ่ เพราะมีผู้คนมาทำบุญและนมัสการหลวงพ่อบ้านแหลมกันอยู่เรื่อยๆ ต่อมาวัดนี้ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นวรวิหาร ได้รับพระราชทานนามว่า วัดเพชรสมุทรวรวิหาร สำหรับบาตรของหลวงพ่อบ้านแหลมนั้น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภานุพันธ์วงศ์วรเดช ได้ถวายบาตรไว้ให้บาตรหนึ่ง เป็นบาตรแก้วสีน้ำเงิน ซึ่งยังคงปรากฏอยู่ทุกวันนี้
ภายในบริเวณวัดเพชรสมุทรยังมีพิพิธภัณฑ์สงฆ์ ซึ่งภายในมีพระพุทธรูปบูชาและพระเครื่องในสมัยต่างๆ โบราณวัตถุเครื่องลายครามและธรรมมาศน์บุษบกสมัยกรุงศรีอยุธยาไว้ให้ชมด้วย
สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอำเภออัมพวา
ด้วยเหตุที่อำเภออัมพวาเป็นสถานที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทย ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์อยู่มาก จึงขอนำรายละเอียดในส่วนที่เกี่ยวข้องมาสรุปไว้โดยย่อ ดังนี้
สมุทรสงครามอำเภออัมพวา สมัยก่อนเรียกกันว่า แขวงบางช้าง เป็นชุมชนเล็กๆ มีความเจริญทั้งในด้านการเกษตร และการพาณิชย์ มีหลักฐานเชื่อได้ว่า ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองนั้น แขวงบางช้างมีตลาดค้าขายเรียกว่า ตลาดบางช้าง นายตลาดเป็นหญิงชื่อน้อย มีบรรดาศักดิ์เป็นท้าวแก้วผลึก นายตลาดผู้นี้อยู่ในตระกูลเศรษฐีบางช้าง ซึ่งต่อมาเป็นราชินิกุล ณ บางช้าง
เมื่อ พ.ศ. 2303 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย รัชสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ โปรดเกล้าฯ ให้นายทองด้วย (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ซึ่งเป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา ต่อมาหลวงยกกระบัตรได้แต่งงานกับคุณนาค บุตรีเศรษฐีบางช้าง และได้ย้ายบ้านไปอยู่หลังวัดจุฬามณี ต่อมาเมื่อไฟไหม้บ้านจึงได้ย้ายไปอยู่ที่หลังวัดอัมพวันเจติยาราม อีก 3 ปี
พ.ศ. 2310 พม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตก หลวงยกกระบัตรจึงตัดสินใจอพยพครอบครัวเข้าไปอยู่ในป่าลึก ในระหว่างนี้ ท่านแก้ว (สมเด็จกรมพระศรีสุดารักษ์) พี่สาวของหลวงยกกระบัตร ได้คลอดบุตรหญิงคนหนึ่งตั้งชื่อว่า
บุญรอด (ต่อมาได้เป็นสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ 2) ครั้งเมื่อพระยาวชิรปราการได้รวบรวมกำลังขับไล่พม่าออกไปหมดแล้ว ได้สถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าตากสิน หลวงยกกระบัตรจึงได้อพยพครอบครัวกลับภูมิลำเนาเดิมในช่วงนี้เอง คุณนาคก็ได้คลอดบุตรคนที่ 4 เป็นชาย ชื่อฉิม (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) หลังจากนั้นหลวงยกกระบัตรก็ได้กลับเข้ารับราชการอยู่กับพระเจ้าตากสิน ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระราชวรินทร์เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา จนกระทั่งเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ต้นราชวงศ์จักรี คุณนาค ภรรยาก็ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ คุณสั้น มารดาคุณนาค ก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระรูปศิริโสภาค มหานาคนารี
แต่เนื่องจากสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ทรงเป็นคนพื้นบ้านบางช้างมาก่อน จึงมีพระประยูรญาติที่สนิท ประกอบอาชีพทำสวนต่างๆ อยู่ที่บางช้างนี้มาก เมื่อได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระอมรินทรามาตย์จึงนับเป็นราชินีกูลบางช้าง พระประยูรญาติจึงเกี่ยวดองเป็นวงศ์บางช้างด้วย และสมเด็จพระอมรินทร์ฯ มักทรงเสด็จเยี่ยมพระประยูรญาติเสมอ จึงมีคำเรียกว่า สวนนอก คือ สวนบ้านนอก ที่เป็นของวงศ์ราชินีกูลบางช้าง ส่วนบางกอก ซึ่งเป็นส่วนของเจ้านายในราชวงศ์ก็เรียกว่า สวนใน หรือมีคำกล่าวว่า บางช้างสวนนอก บางกอกสวนใน จนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 จึงยกเลิกไป
วัดจุฬามณี เป็นวัดโบราณริมฝั่งคลองอัมพวา ต่อเนื่องกับคลองผีหลอก สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง สันนิษฐานว่า ท้าวแก้วผลึก (น้อย) นายตลาดบางช้าง ต้นวงศ์ราชินีกูลบางช้าง เป็นผู้สร้างขึ้นบริเวณหลังวัด เดิมเป็นนิวาสสถานของคุณนาค และบุญรอด (สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ และสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2)
วัดอัมพวันเจติยาราม เป็นวัดของตระกูลราชินีกูลบางช้าง สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระรูปศิริโสภาค มหานาคนารี พระชนนีของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ หลังวัดนี้ก็เคยเป็นนิวาสสถานเก่าของหลวงยกกระบัตร และคุณนาค เชื่อกันว่าบริเวณพระปรางค์ของวัดอัมพวันฯ เดิมเป็นเรือนที่คุณนาคใช้เป็นที่คลอดฉิมบุตรชาย ซึ่งต่อมาได้เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ต่อมา วัดอัมพวันฯ ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันวัดอัมพวันเจติยารามเป็นพระอารามหลวงชั้นโท พระอุโบสถ ตลอดจนถาวรวัตถุในวัดอัมพวันฯ นี้ ส่วนใหญ่เป็นศิลปะและสถาปัตยกรรมในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งนับเป็นพระอุโบสถที่มีความงดงามอยู่มาก
วัดอัมพวันฯ ตั้งอยู่ติดกับอุทยานพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย การเดินทางจากจังหวัดสมุทรสงครามตามทางหลวงหมายเลข 325 ระยะทาง 6 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายไปอีก 1 กิโลเมตร มีรถโดยสารประจำทางวิ่งผ่านตลอดเวลา
วัดภุมรินทร์กุฎีทอง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ตรงปากคลองประชาชื่นฝั่งตะวันตก สิ่งที่น่าสนใจในวัดได้แก่ กุฎีทอง มีประวัติเล่าว่า เศรษฐีบิดาของคุณนาค ให้สมภารวัดบางลี่ตรวจดูดวงชะตาคุณนาค ได้รับคำทำนายว่าจะได้เป็นพระราชินี เศรษฐีบิดาคุณนาคจึงให้คำมั่นว่า ถ้าเป็นจริงจะสร้างกุฎีทองถวายให้วัดบางลี่ จึงได้ชื่อว่าวัดบางลี่กุฎีทอง ต่อมาวัดบางลี่ถูกน้ำเซาะที่ดินพังลงน้ำหมด จึงรื้อกุฎีทองมาสร้างไว้ที่วัดภุมรินทร์ วัดนี้จึงได้ชื่อว่า วัดภุมรินทร์กุฎีทอง
ปัจจุบันไม่สามารถเดินทางเข้าถึงโดยรถยนต์ได้ ต้องข้ามเรือบริเวณวัดอัมพวันฯ หรือท่าเทียบเรือบริเวณอุทยาน ร.2
อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยของมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานศิลปวัฒนธรรมอันงดงามไว้เป็นมรดกแก่ชาติ บริเวณที่ก่อสร้างอุทยานพระบรมราชานุสรณ์นี้ พระราชสมุทรเมธี เจ้าอาวาสวัดอัมพวันเจติยารามเป็นผู้น้อมเกล้าฯ ถวาย มีทั้งหมด 11 ไร่ ซึ่งที่บริเวณนี้มีความสำคัญเพราะเป็นที่พระราชสมภพของรัชกาลที่ 2
ภายในอุทยานพระบรมราชานุสรณ์ มีสิ่งที่น่าสนใจได้แก่ พิพิธภัณฑ์พระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นอาคารทรงไทย 4 หลัง จัดแสดงศิลปวัตถุในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ความเป็นอยู่ของชาวไทยในสมัยรัชกาลที่ 2 มีสิ่งที่น่าสนใจดังนี้ หอกลาง ประดิษฐานพระบรมรูปรัชกาลที่ 2 และโบราณวัตถุ หอนอนชาย แสดงให้เห็นลักษณะความเป็นอยู่ของชายไทย หอนอนหญิง แสดงให้เห็นลักษณะความเป็นอยู่ของหญิงไทยโบราณ ชานเรือน จัดแสดงตามแบบบ้านไทยโบราณ ห้องครัวและห้องน้ำ แสดงลักษณะครัวไทยและห้องน้ำของชนชั้นกลาง นอกจากนี้ยังมีโรงละครกลางแจ้ง สวนพฤกษชาติ เป็นสวนพันธุ์ไม้ในวรรณคดีนานาชนิด และร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองและผลไม้ ตั้งอยู่บริเวณลานจอดรถและบริเวณแม่น้ำท้ายอุทยานฯ
การเดินทางไปอุทยานฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 ถึงกิโลเมตรที่ 63 เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 325 เข้าจังหวัดสมุทรสงคราม 6 กิโลเมตร ถึงบริเวณอุทยานฯ (มีป้ายบอกตลอดทาง) จากตัวเมืองมีรถประจำทางสายบางมูลนากผ่าน ขึ้นได้ที่ตลาดเทศบาลเมืองอุทยานฯ เปิดให้ชมทุกวันเวลา 09.00-18.00 น. พิพิธภัณฑ์เปิดวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น. ค่าเข้าชมเด็ก 5 บาท ผู้ใหญ่ 10 บาท
วัดบางกะพ้อม ตั้งอยู่ที่อำเภออัมพวา ห่างจากตัวเมืองประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ในบริเวณวัดมีสิ่งที่ควรชม คือ วิหารเก่า ภายในวิหารมีภาพจิตรกรรมฝาผนังนูน เป็นภาพเกี่ยวกับพระพุทธประวัติ เป็นของเก่าแก่ที่สวยงามหาดูได้ยากมาก เรียงรายอยู่รอบผนังวิหารทั้ง 4 ด้าน และยังมีช่องเจาะเป็นซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปโดยรอบอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีรอยพระพุทธบาทจำลองสี่รอย ซึ่งสร้างในสมัยกรุงธนบุรี เป็นรอยพระพุทธบาทขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่กลางวิหารเดิมมีแผ่นเงินหุ้ม แต่ถูกขโมยไปเมื่อครั้งสงคราม ถึงกระนั้นที่รอยพระพุทธบาทรอยลึกที่สุดนั้นเป็นไม้ประดับมุก มีความงดงามมาก
วัดเขายี่สาร ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา เป็นวัดเก่าแก่สันนิษฐานว่าสร้างมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย กรมศิลปากรได้จดทะเบียนขึ้นเป็นโบราณสถาน สิ่งที่น่าสนใจได้แก่ พระวิหารบนยอดเขามีลักษณะเป็นรูปเรือ ประดิษฐานพระพุทธบาทสี่รอย พระมณฑปและบานประตูไม้นับเป็นงานประณีตศิลป์ชั้นสูง นอกจากนี้ยังมีศาลประดิษฐานหลวงพ่อปู่ศรีราชา ที่มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านทั่วไป จะมีงานนมัสการหลวงพ่อปู่อยู่ทุกวันกลางเดือนอ้ายของทุกปี
ตลาดน้ำท่าคา ตำบลท่าคา อำเภออัมพวา (มีในวันขึ้นหรือแรม 2 ค่ำ 7 ค่ำ และ 12 ค่ำ ช่วงเวลา 07.00-12.00 น.)
ตลาดน้ำอัมพวา หรือตลาดน้ำบางจากหน้าวัดบางจากเทศบาล ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา (มีนัดทุกวันช่วงเวลา 06.00-11.00 น.)
สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอำเภอบางคนที
ตลาดน้ำบางน้อย สุขาภิบาลกระดังงา อำเภอบางคนที (มีในวันขึ้นหรือแรม 3 ค่ำ 8 ค่ำ และ 13 ค่ำ ช่วงเวลา 06.00-11.00 น.)
วัดเจริญสุขารามวรวิหาร มีองค์พระประธานอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถประชาชนถวายนามว่า หลวงพ่อโต เป็นพุทธปฏิมากรศิลาแลงที่ใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งในลุ่มแม่น้ำแม่กลอง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย ทางกรมศิลปากรได้พิจารณารับเข้าไว้เป็นปูชนียวัตถุโบราณขนาดหน้าพระเพลากว้าง 1.79 เมตร ส่วนสูงจากพื้นรองรับประทับนั่งถึงยอดพระจุฬามณี 2.09 เมตร ตามประวัติพระพุทธรูปองค์นี้ได้อัญเชิญมาจากวัดร้างแห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรี ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถหลังใหม่ นับเป็นพระพุทธรูปที่คนไทยและคนจีนนับถือกันมากที่สุดองค์หนึ่ง
เที่ยวชมทางน้ำ จากตัวเมืองสมุทรสงคราม สามารถที่จะนั่งเรือชมริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองไปเรื่อยๆ สองฝั่งแม่น้ำจะเป็นสวนมะพร้าวและยังมีบ้านแบบโบราณ ซึ่งหาดูได้ยากในปัจจุบันนี้ นอกจากสวนมะพร้าว ยังมีสวนลิ้นจี่ซึ่งปลูกกันมากในบริเวณ ตำบลแควอ้อม และตำบลเมืองใหม่ เขตติดต่อระหว่างอำเภออัมพวา และอำเภอบางคนที ในทุกๆ ปีประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม จะมีการประกวดลิ้นจี่เป็นประจำ จากอำเภออัมพวาผ่านไปถึงอำเภอบางคนที สิ้นสุดที่ปากคลองบางนกแขวก ทางขวามือมีโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำมองเห็นแต่ไกล สามารถที่จะแวะชมได้
ผลิตผลพื้นเมืองจังหวัดสมุทสงคราม
ลิ้นจี่ ส้มแก้ว องุ่น และส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ จังหวัดสมุทรสงครามเป็นจังหวัดที่อุดมสมบูรณ์ มีผลไม้หลายชนิด บริเวณที่ปลูกกันมากได้แก่ เขตอำเภอบางคนที มีสวนลิ้นจี่ ส้มแก้ว ส้มโอ และองุ่นอยู่มาก นักท่องเที่ยวสามารถหาซื้อได้ทั่วไป หรือหากจะต้องการชมสวนก็ควรเดินทางโดยเรือหางเข้าไปชมตามสวนต่างๆ ได้ ติดต่อเรือที่ท่าเรือหน้าเมืองฯ
กะปิคลองโคน เป็นกะปิที่ขึ้นชื่อที่สุดของจังหวัดสมุทรสงคราม สามารถหาซื้อได้ทั่วไป นอกจากนั้นยังมีสินค้าประเภทอาหารทะเลแห้งจำหน่ายอีกมากมาย
น้ำตาลมะพร้าว บริเวณสองข้างทางสายสมุทรสงคราม-บางคนที มีการทำน้ำตาลมะพร้าวเป็นอาชีพสำคัญอย่างหนึ่ง ปัจจุบันมีเตาเคี่ยวน้ำตาลมะพร้าวที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว 5 แห่ง คือ 1. เตาหวาน 2. เตาตาลดี 3. เตาทวี 4. เตากาหลง 5. เตาไทยเดิม ช่วงเวลาที่มีการเคี่ยวน้ำตาล ประมาณ 08.30-12.00 น. ตอนเช้าชาวบ้านจะออกไปเก็บน้ำตาลจากต้นมะพร้าวที่ทำภาชนะรองรับไว้แล้วนำมาเคี่ยวในกระทะใบใหญ่จนแห้ง นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้ชมวิธีการเคี่ยวน้ำตาลมะพร้าวแล้ว ยังสามารถชมสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านได้ด้วย
งานประเพณีที่สำคัญ
งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จัดขึ้นในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ณ อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ รัชกาลที่ 2
งานวันลิ้นจี่ จัดขึ้นในช่วงต้นเดือนเมษายน ที่อำเภออัมพวา (จัดเป็นบางปี ขึ้นอยู่กับผลผลิตของลิ้นจี่)
งานนมัสการและสรงน้ำหลวงพ่อบ้านแหลม จัดขึ้นในวันที่ 13-19 เมษายน ที่วัดเพชรสมุทรวรวิหาร
งานตะวันรอนที่ดอนหอยหลอด จัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ที่หมู่บ้านฉู่ฉี่ หมู่ที่ 4 ตำบลบางจะเกร็ง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม
ร้านขายของที่ระลึก
ปิ่นสุวรรณ เบญจรงค์ 32 หมู่ 7 ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา โทร. 751322
ข้อมูลรายละเอียดในเอกสารนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้
สำนักงานจังหวัดสมุทรสงคราม โทร. (034) 711997
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคกลาง เขต 1
ถ.แสงชูโต อ.เมือง จ.กาญจนบุรี 71000
โทร. (034) 511-200 โทรสาร (034) 511200
พื้นที่รับผิดชอบ : กาญจนบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม