วงศ์ Marattiaceae วงศ์กีบแรด

Angiopteris evecta
กีบแรด อยู่ริมตลิ่งข้างลำธารน้ำตก กาญจนบุรี |
เฟินในวงศ์นี้ เป็นเฟินขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ จัดเป็นเฟินดิน มีเหง้าเป็นแท่งสั้นหรือเป็นก้อน
เนื้ออ่อนและอวบน้ำ ฝังตัวอยู่ที่ผิวดิน ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น
ก้านใบยาวและอ้วยอวบน้ำ ใบย่อยหนา ผิวใบเป็นมันเงา ในธรรมชาติจะพบในป่าเขตร้อนและกึ่งร้อนที่มีอากาศชื้น
จากรายงานการค้นพบซากฟอสซิลของเฟินในวงศ์นี้ ทำให้ทราบว่า เฟินนี้เป็นเฟินโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยคาร์บอนิเฟอรัส
คือประมาณ 350 ล้านปีมาแล้ว ในซากฟอสซิลเฟินในวงศ์นี้มีลำต้นสูงใหญ่ถึง
10 เมตร แต่สายพันธุ์ที่ยังเหลือรอดมาถึงในยุคปัจจุบัน ลำต้นเป็นเพียงแท่งสั้นๆ
ฝังตัวอยู่กับดิน ดูเหมือนเป็นหัวว่านยา
ลักษณะของกลุ่มอับสปอร์เรียงตัวกันเป็นแถวถี่ๆ ไปตามความยาวของก้านใบย่อย
อยู่เกือบริมขอบใบย่อย อับสปอร์ มีขนาดใหญ่เห็นได้ชัด รูปร่างรีกลม
เมื่อแก่ เยื่อจะเปิดออกตามรอยยาว เพื่อให้สปอร์ปลิวออกไปได้ (ดูภาพอับสปอร์ของเฟินวงศ์นี้ที่
Links ตอนท้ายหน้านี้)
จำนวนสมาชิกของเฟินในวงศ์นี้ ปัจจุบันแบ่งเป็น 5-7 สกุล มี Angiopteris,
Marattia, Christensenia, Archangiopteris, Danaea, Macroglossum,
และ Protomarattia คือ บางแห่ง รวมเอาบางสกุลเข้าไว้ด้วยกันทำให้มีจำนวนสกุลไม่เท่ากัน
สำหรับในไทย พบเฟินในวงศ์นี้ 3 สกุล ในลำดับแรกที่กล่าว
|
รายละเอียดที่น่าสนใจ ในวงจรชีวิตเฟินในวงศ์ MARATTIEACEAE นี้ กล่าวคือ
ในช่วงที่สปอร์เจริญเติบโตเป็นแผ่นโปรธัลสัส ซึ่งมีรูปร่างเป็นโครงสร้างแบบขนนก
(pinnate structure) ในช่วงระยะนี้จำเป็นต้องมีเชื้อรา mycorrhizal ชนิดหนึ่งอยู่ร่วมด้วย
จึงจะพัมนาเกิดเป็นโคโรฟิลด์และมีการสังเคราะห์แสงเกิดขึ้นได้ โปรธัลลัสเหล่านี้มีรากเทียม
rhizoids ช่วยยึดเกาะดินเอาไว้ มีอวัยวะสร้างเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ (antheridia)
เกิดอยู่ที่ผิวบนและผิวล่าง อวัยวะเซลล์สืบพันธุ์เพศเมีย (archegonia) เกิดอยูที่ผิวล่างเท่านั้น
เมื่อเชื้อตัวผู้ว่ายน้ำออกจาก antheridia ไปหาเซลล์สืบพันธุ์เพศเมีย จึงเกิดการผสมพันธุ์กันแล้วจึงเกิดเป็นต้นอ่อนเฟิน
(ระยะ sporophyte) ที่เริ่มมีโครงสร้างคล้ายใบ มีสีเขียว และเริ่มมีรากแท้เกิดขึ้น
จากนั้นโปรธัลลัสจะสลายไป แสดงให้เห็นว่า การผสมพันธุ์กันนั้นเป็นการยับยั้งการเจริญเติบโตของโปรธัลลัส
และยังพบว่า หากไ่ม่มีการผสมพันธุ์เกิดขึ้น โปรธัลลัสของเฟินวงศ์นี้ สามารถมีอายุอยู่ได้นานถึง
6 ปี ถ้ามันไม่ถูกฝังกลบไปซะก่อน และมีขนาดยาวได้ถึง 5 ซ.ม.อีกด้วย
สกุล Angiopteris
Hoffm.
กีบแรด
[ Image : ZUP ]
|
สกุลนี้ มีอยู่ร่วม 100 ชนิด ส่วนใหญ่พบอยู่ในประเทศจีน ในไทยพบเพียงชนิดเดียวที่หลายคนคุ้นเคย
คือ เฟินกีบแรด ใน สกุล Angiopteris
หมายเหตุ บางสำนัก แยก Angiopteris เป็นอีกวงศ์ Angiotiaceae
|
สกุล Marattia J. Sm.
สกุลนี้มีราว 60 ชนิด ในไทยมีรายงานพบชนิดเดียว คือ
Marattia sambucina Blume พบที่นครศรีธรรมราช
สกุล Christensenia
ในไทย มีรายงานพบชนิดเดียว คือ
Christensenia aesculifolia (Blume) Maxon
ชื่อพ้อง : Aspidium aesculifolium Blume, Kaulfussia assamica Griff.
พบที่ นครศรีธรรมราช
หมายเหตุ บางแห่ง แยก Angiopteris และChristensenia เป็นวงศ์ใหม่ เป็น Angiotiaceae,
Christensiniaceae แต่ไม่มีคำอธิบาย
เล็กๆ น้อยๆ สำหรับนักเรียน : วงศ์นี้จำง่าย เฟินกีบแรดอยู่ในวงศ์ ม้า-แรด-เทีย-ซี-เอ้
Marattiaceae (Ma-rat-tia-ce-ae)
|