> VITTARIACEAE > Vittaria || Back
สกุล Vittaria J.Sm.
วงศ์ VITTARIACEAE

เฟินในสกุลนี้ มีชื่อสามัญเดียวกับชื่อวงศ์ เรียกว่า shoe's string fern หรือเฟินเชือกผูกรองเท้า หรือเฟินริบบิ้น เพราะลักษณะของใบที่เป็นเส้น แถบยาวห้อยย้อย มองเผินๆ คล้ายหญ้า มักพบตามคาคบต้นไม้ระดับสูง ลักษณะเด่นของเฟินสกุลนี้ คือ ลำต้นเป็นเหง้าสั้นๆ ใบหนา บางชนิดผิวใบด้านบนเป็นมัน มักมีขนสีน้ำตาลปกคลุม ใบยาวเรียว ขอบเรียบ เห็นเส้นกลางใบชัดเจน เส้นใบย่อย จัดเรียงตัวเฉียงกับขอบใบ หรือโค้งจรดไปหาขอบใบ บางชนิดอาจมองเห็นไม่ชัดเจน กลุ่มของอับสปอร์เกิดเป็นแถวเดียวโดดๆ ที่ขอบใบ บางชนิดแถวอับสปอร์จมอยู่ในเนื้อใบ
เฟินในสกุลนี้มีจำนวน ราว 80 ชนิด จำแนกความแตกต่างได้ยาก ในไทยพบ 9 ชนิด เป็นเฟินที่ปลูกเลี้ยงได้ยาก และส่วนใหญ่หายาก

เฟินในสกุลนี้ ชนิดที่พบในบ้านเรา

Vittaria amboinensis
มีก้านใบชัดเจน ยาวกว่า 15 ซ.ม. สีดำ เห็นครีบเล็กๆ ชัดเจน ใบยาวเป็นเส้นเรียวเล็ก รูปร่างคล้ายหอก ปลายใบเล็กเรียวลง ใบหนา ใบยาวถึง 80 ซ.ม. (รวมก้านใบ)
ในไทยพบที่ดอยสุเทพ เชียงใหม่ เขาสอยดาว จันทบุรี เขาเขียว นครราชสีมา เขาช่อง ตรัง พบในระดับปานกลาง-สูง ตามคาคบไม้


Vittaria angustifolia
เฟินชนิดนี้มีเหง้าเลื้อยไปตามคาคบไม้ มีขนาดเล็ก มีใบประจายไม่แน่น ใบกว้าง 1.5-3 มม. ยาว 6-25 ซ.ม. ใบยาวโค้งห้อยลง อับสปอร์มักเกิดเฉพาะตอนปลายใบ ในไทยพบบนเขาระดับสูง ที่เขาสนะบาป เขาสอยดาว จันทบุรี เขาพนมเบญขา กระบี่ เขาคาลาคีรี ยะลา และในมาเลเซีย ชวา นิวคาลิโดเนีย


Vittaria elongata Sw.
ชื่อสามัญ : Stiff Shoestring Fern

ชนิดนี้ ใบห้อยลง ใบยาวได้ถึง 50 ซ.ม. แต่ใบแคบ มีความกว้างเพียง 1.5-2.0 ซ.ม. ใบหนาเป็นมัน ก้านใบสั้นสีดำ อับสปอร์เกิดเป็นแถวในร่องขนานไปกับขอบใบ พบทั่วไปแทบทุกภาคของไทย เกิดบนคาคบไม้ ที่ระดับ 300-500 ม. MSL นอกจากนี้ยังพบที่อินเดีย สิกขิม ไฮนาน และภาคใต้ของญี่ปุ่น โอกินาวา


Vittaria ensiformis Sw.
ขนาดเล็ก ใบตั้งขึ้น ต่างจากชนิดแรกที่ ไม่เห็นเส้นกลางใบ ไม่มีก้านใบและร่องของอับสปอร์ไม่เกิดที่ขอบ แต่เกิดไม่แน่นอน พบทางภาคตะวันออกและภาคใต้ เกิดตามคาคบไม้ในป่าดิบชื้นระดับต่ำ-ปานกลาง


Vittatia flexuosa
ลักษณะใบแคบยาว ก้านใบมีครีบ แถวของอับสปอร์เกิดห่างจากขอบใบ เข้าไปทางเส้นกลางใบ ก้านใบทางด้านล่างของตัวใบมักนูน พบทั่วไปทุกภาคของไทย ตามคาคบไม้ระดับสูงกว่า 1000 ม. MSL ขึ้นไป

Vittaria forrestiana
คล้าย V. amboinensis แตีขนาดสั้นกว่า ใบแคบยาวเป็นเส้นคล้ายริบบิ้น ปลายแหลมคล้ายหอก พบเพียง 2-3 แห่งในภูเขาสูง ที่เชียงใหม่

Vittaira scolopendria
ไม่มีก้านใบ ใบยาว 80 ซ.ม. กว้าง 3 ซ.ม. ใบด้ายบนจะนูนสูง ใบอวบน้ำ อับสปอร์เกิดในร่องตื้นๆ ในขอบใบกว้าง 2 มม.ขอบใบม้วนพับลงมาคลุมอับสปอร์ พบที่ เขาเขียว สตูล เขาคีรีวงศ์ นครศรีธรรมราช ในระดับปานกลาง
Vittaria sikkimensis
ลักษณะเด่นของเฟินชนิดนี้ คือ ไม่เห็นก้านใบ ใบแคบมาก ยาว 5-14 ซ.ม. ใบบาง อับสปอร์เกิดในร่องใกล้ขอบใบเกือบตลอด ในไทยพบที่ดอยอินทนนท์ ดอยสุเทพ ดอยปุย เชียงใหม่ ที่ภูกระดึง และยังพบที่ สิกขิม ยูนนาน พบขึ้นตามลำต้นไม้ที่มีมอสปกคลุมในระดับต่ำ ตั้งแต่ 800-2000 ม. MSL

Vittaria taeniophylla
ชนิดนี้มีขนบนเหง้า ใบยาว ห้อยย้อยลงมา ใบสีเขียวเข้มเป็นเงามัน อับสปอร์อยู่ที่ริมขอบใบ เส้นกลางใบเห็นได้ชัดเจน พบเพียงตัวอย่างเดียวในไทย
 
> VITTARIACEAE > Vittaria || Back