fernSiam.com : หน้าแรก > โลกของเฟิน > Classification > Taxonomy > Gallery

การจำแนกประเภทเฟิน

รูปแบบการจำแนกประเภทของเฟิน นักพฤกษศาสตร์ แบ่งเฟินเป็นกลุ่ม ตามลักษณะกว้างๆ ดังนี้

(A) ลักษณะของนิเวศวิทยา โดยยึดตามลักษณะของถิ่นที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม

(B) ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ โดยการจัดหมวดหมู่ของเฟินเป็น อันดับ (Order) วงศ์ (Family) สกุล (Genus) และชนิด (Species) โดยอาศัยลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของเฟินแต่ละชนิด ซึ่งเหมือนกันกับการจัดหมวดหมู่ทั่วไปของพืชนั่นเอง
สามารถเลือกเปิดดู การจำแนกชนิดเฟิน ได้ 2 แบบ คือ แบบตาราง Taxonomy และ แบบเลือกจากภาพ Fern Gallery

การจำแนกเฟินตามลักษณะนิเวศวิทยา

โดยยึดตามลักษณะของถิ่นที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม ส่วนนี้นับว่ามีความสำคัญมาก สำหรับผู้ที่จะปลูกเลี้ยงเฟินไว้เป็นไม้ประดับ เฟินแต่ละชนิดที่คุณได้มาใหม่ คุณควรพยายามสืบค้นให้ทราบว่า เป็นเฟินในกลุ่มใด ในธรรมชาติเขาอยู่อย่างไร เมื่อนำมาปลูกเลี้ยงจะได้จัดสภาพแวดล้อมให้ใกล้เคียง หรือคล้ายคลึงกับธรรมชาติของเฟินชนิดนั้น รวมไปถึงการเลือกเฟินที่คุณจะหามาปลูกเลี้ยงหรือจัดสวน ก็ต้องให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่คุณจะปลูก

การจำแนกเฟินตามลักษณะนิเวศวิทยามีดังต่อไปนี้

1. กลุ่มเฟินดิน-ทนแดด (Terrestial-Sun-Ferns)
2. กลุ่มเฟินดิน-ชอบร่มเงา (Terrestial-Shade-Ferns)
3. กลุ่มเฟินเถาเลื้อย (Climbing Ferns)
4. กลุ่มเฟินเกาะอาศัย หรือไม้อากาศ (Epiphytes)
5. กลุ่มเฟินผา (Lithophytic Ferns หรือ Rock Ferns)
6. กลุ่มเฟินน้ำ (Aquatic Ferns)
7. กลุ่มเฟินภูเขา (Mountain Fern)


กลุ่มเฟินดิน-ทนแดด (Terrestial-Sun-Ferns)

เฟินในกลุ่มนี้ ในธรรมชาติพบอยู่ตามพื้นดิน ในบริเวณที่ได้รับแสงแดดจัด แต่มีความชุ่มชื้นในอากาศสูง ดินเป็นดินที่ระบายน้ำได้
ลักษณะของเฟินกลุ่มนี้ มักมีลักษณะใบหนาและมี cuticle layer ปกคลุมผิวใบด้านบน เพื่อกันการสูญเสียน้ำทางใบ เมื่อโดดแสงแดดหรือลมพัด
ตัวอย่างของเฟินในกลุ่มนี้ เช่น


โชน (dicranopteris linearis)

โชน (dicranopteris linearis) ในภาพซ้ายมือ ถ่ายจากเนินดินข้างถนน บนเนินเขา ทางไป อ.สังขละ กาญจนบุรี สภาพแวดล้อมที่บริเวณนั้น มีความชื้นในอากาศสูง และโชนได้รับแสงแดดจัดเต็มที่ทั้งวัน

ในบริเวณนั้น นอกจากโชนแล้ว ยังพบเฟินหลังเงิน (Pityrogrammar calomelanos) เฟินสามร้อยยอด (Lycopodium cernuum) ซึ่งจัดเป็นญาติของเฟิน (Fern Allied) และ กูดดอย (Bleachnum oriental) ก็พบมากทั่วประเทศ โดยเฉพาะบริเวณหน้าผาดินปนหิน และบริเวณเชิงเขาทั่วไปและอีกหลายชนิดที่ขึ้นอยู่รวมๆ กัน

เห็นได้ชัดว่า เฟินเหล่านี้นี้มีประโยชน์ในแง่ของการอนุรักษ์หน้าดิน ป้องกันการชะล้างพังทะลาย


กลุ่มเฟินดิน-ชอบร่มเงา (Terrestial-Shade-Ferns)

เฟินกลุ่มนี้ ในธรรมชาติจะพบอยู่ตามพื้นดิน ในบริเวณที่ได้รับแสงน้อย อากาศมีความชื่นสูง อุณหภูมิของพื้นดินไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก อย่างเช่นในป่าดิบชื้น ซึ่งเฟินระดับพื้นดินด้านล่างจะได้รับแสงน้อย ไม่มีลมพัดแรง
ลักษณะเฟินในกลุ่มนี้ส่วนมาก มักมีใบบาง และใบปกติ (sterile frond) กับใบสปอร์มักมีลักษณะไม่เหมือนกัน คือ ใบสปอร์มักจะผอมเรียวและก้านใบยาวกว่าใบปกติ เพื่อให้อับสปอร์สามารถกระจายพันธุ์ไปได้ไกล
เฟินบางชนิด จัดอยู่ได้ทั้งกลุ่มทั้งเฟินดินทนแดด กับเฟินดินชอบร่ม ตัวอย่างเช่น เฟินนาคราช (Davllia sp.)


กลุ่มเฟินเถาเลื้อย (Climbing Ferns)

เฟินกลุ่มนี้ จะพบมีหง้าเลื้อยพันเกาะอยู่ตามต้นไม้ เฟินกลุ่มนี้เริ่มเกิดจากสปอร์ที่พื้นดินก่อน จากนั้น เจริญเติบโตเป็นเหง้า ปีนเกาะขึ้นต้นไม้ที่ใกล้เคียง แต่ระบบรากยังคงดูดน้ำและแร่ธาตุอาหารจากพื้นดินเป็นหลัก เฟินเลื้อยมีทั้งชนิดที่ต้องการร่ม และชนิดที่ต้องการแดดจัด
ตัวอย่างเฟินในกลุ่มนี้ ได้แก่ ย่านลิเภา

ย่านลิเภา Lygodium sp.


กลุ่มเฟินเกาะอาศัย หรือไม้อากาศ (Epiphytes)

เฟินกลุ่มนี้ เจริญเติบโตอยู่บนต้นไม้ แต่ไม่ได้เป็นประเภทกาฝาก (parasite) เพราะอาศัยเกาะอยู่ตามกิ่งตามลำต้นของต้นไม้ รากจะเกาะอยู่เฉพาะที่ผิวหรือเปลือกไม้เท่านั้น แร่ธาตุอาหาร ก็ได้จากเศษเปลือกไม้ผุ หรือใบไม้ที่หล่นทับถมลงมา และมักพบเฟินจำพวกนี้อาศัยอยู่รวมกับพวกมอส ซึ่งจะช่วยกันรักษาความชื้นให้กันและกัน
เฟินในกลุ่มนี้ บางชนิดชอบอยู่ร่ม และบางชนิดที่ชอบแดดจัด และมีการพัฒนาปรับตัว เพื่อดำรงชีวิตเกาะอยู่บนต้นไม้ให้
ในกลุ่มที่ชอบร่มเงา มีการพัฒนาปรับตัวรูปแบบต่างๆ กัน บางชนิดปรับตัวได้ดี เมื่อถึงฤดูแล้ง ด้วยการงอหรือหุบใบลง บางชนิดพัฒนาใบเป็นใบหนาอวบน้ำและผิวใบมัน เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง อีกอย่าง เฟินกลุ่มนี้สังเกตุระบบรากจะมีขนฟูเหมือนฟองน้ำ เพื่อช่วยกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งได้อีกด้วย
ส่วนกลุ่มที่ชอบแดด ก็มีการพัฒนาปรับตัวให้สามารถทนทานต่อสภาพในฤดูแล้งได้ดีในหลายๆ รูปแบบเช่นกัน เช่น เฟินข้าหลวง เฟินชายฟ้าสีดา กระแตไต่ไม้ เฟินเจ้างูเขียว และเกล็ดนาคราช
กลุ่มเฟินผา (Lithophytic Ferns หรือ Rock Ferns)

กลุ่มเฟินผา จะเป็นกลุ่มที่เจิรญเติบโตเฉพาะบนหิน โขดหิน หรือตามหน้าผา เท่านั้น จะไม่พบเฟินกลุ่มนี้ไปเจริญเติบโตบนไม้ใหญ่อย่างเฟินเกาะอาศัย ซึ่งต่างจากเฟินเกาะอาศัยบางชนิด สามารถปรับตัวอยู่บนไม้ใหญ่ หรือบนหินแบบเฟินผาได้
ลักษณะเฉพาะที่สำคัญของเฟินกลุ่มนี้ คือ ระบบรากของเฟินกลุ่มนี้ที่แผ่เกาะอยู่กับหินนั้น ต้องการการถ่ายเทของอากาศได้ดี และน้ำไม่ขังแฉะ
เฟินกลุ่มนี้ จะปรับตัวเองเพื่อให้เข้าสภาพแวดล้อมในแต่ละฤดูกาล อย่างเช่น ในช่วงฤดูแล้ง มันจะพักตัว ด้วยการทิ้งใบ หรือห่อใบเอาไว้ เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำจากลำต้น หรือพัฒนาระบบรากให้เป็นฟองน้ำ เพื่อดูดซับความชื้นจากอากาศเอาไว้ ตัวอย่างของเฟินในกลุ่มนี้ เช่น เฟนปีกแมลงทับไทย (Eglenolfia appendiculata)

กลุ่มเฟินน้ำ (Aquatic Ferns)

ต้นไม้ที่เราเคยพบเห็นกันทั่วไป หลายคนอาจไม่เคยนึกมาก่อนว่า เป็นพวกเฟิน อย่างเช่น แหนแดง จอกหูหนู ซึ่งจัดเป็นเฟินน้ำ

7. กลุ่มเฟินภูเขา (Mountain Fern)

คุยกันก่อนปิดท้ายหน้านี้ :

ช่วงแรกที่ผมเริ่มหาซื้อเฟินมาปลูก คนขายไม่ได้บอกข้อมูลอย่างละเอียดว่า เป็นเฟินชนิดไหน หรือกลุ่มไหน บอกแต่เลี้ยงร่ม รดน้ำธรรมดา เช้า-เย็น ซึ่งตอนนั้นยังไม่รู้จักเฟินสักเท่าไร ก็ทำตามที่คนขายบอก บางชนิดก็เจริญเติบโตดี แต่ก็มีหลายชนิดที่ตายไป โดยไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร เมื่อได้ศึกษาหาความรู้เรื่องเฟินมากขึ้น หลังๆ มา จึงเข้าใจแล้วว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เฟินที่ซื้อมาปลูกต้องตายไปอย่างน่าเสียดายนั้น เพราะเราขาดความรู้ความเข้าใจว่า เฟินแต่ละต้นนั้นเป็นเฟินกลุ่มไหน บางต้นเป็นเฟินเกาะอาศัย เราก็นำไปปลูกลงดิน บางต้นที่ซื้อมา เขาเลี้ยงในกระถางแขวน เราก็นึกว่าเป็นเฟินเกาะอาศัย ก็ถอดออกจากกระถาง ไปผูกติดกับต้นไม้ใหญ่ มารู้ทีหลังว่าเป็นเฟินดิน บางชนิดเป็นเฟินชอบแดด ก็นำไปเลี้ยงอยู่ใต้ร่มเงา ไม่ได้แดด ซึ่งไม่ตรงกับนิสัยในธรรมชาติของเขา สุดท้ายก็ตายไปเยอะ ท้อแท้ แทบจะเลิกซื้อเฟินชนิดนั้นเลี้ยงชนิดนั้นกันไปเลย

แต่ก็ไม่ได้ละความพยายาม หลังๆ มานี้ เฟินแต่ละต้นที่ซื้อมา ก็พยายามสืบค้นให้ได้ว่า เป็นเฟินในสกุลไหน ในธรรมชาติเขาอยู่อย่างไร เพื่อที่เราจะได้เลี้ยงให้ถูกต้อง จึงได้พยายามศึกษาจากหนังสือ และบ่อยครั้งพอมีเวลาว่างในวันหยุด จะไปเที่ยวตามป่าตามเขา เพื่อดูเฟินในป่า ไปดูให้เห็นกับตาว่า เขาอยู่กันยังไง บ้างครั้งก็ไปดูสวนที่บ้านเพื่อนบ้าง หมั่นคอยสังเกตุและจดจำตลอด ซึ่งกว่าจะทำความเข้าใจเฟินแต่ละชนิดได้ ต้องเสียเฟินสวยๆ มากมาย แหละครับ!!!!!

ปัจจุบันนี้ ผมก็ยังมีเฟินอีกหลายชนิด ที่ได้มาโดยยังไม่รู้ว่า ในธรรมชาติเขาอยู่อย่างไร เป็นเฟินชนิดใด เพราะซื้อมาจากคนขายที่ไปรับมาขายอีกทอดหนึ่ง หรือซื้อจากคนที่ปลูกขายเอง แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรมามากมาย ก็จำเป็นต้องทดลองปลูกไปก่อน แล้วพยายามสืบค้นข้อมูลต่อไป ผมคิดว่า เพื่อนๆ อีกหลายคน ก็คงเหมือนกัน ลำพังผมเอง ความรู้เกี่ยวกับเฟินก็ไม่ได้มากมายอะไร ยังมีที่ต้องศึกษาค้นหาข้อมูลอีกมากมหาศาล ยิ่งค้นคว้ามากเท่าไร ยิ่งทำให้เรารู้ว่า ยังมีอะไรอีกมากมายที่เรายังไม่รู้ ต้องศึกษาค้นคว้าต่อไปอีก และที่สำคัญข้อมูลจากพวกเราทุกคนนี่แหละครับ เข้ามาแบ่งปันและแลกเปลี่ยนข้อมูลให้กันและกัน ดังนั้น ผมจึงหวังให้เวปนี้ เป็นชุมนุมของชุมชนคนรักเฟินทุกคน ได้มารวมกลุ่มกัน แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กัน เพื่อที่พวกเราจะได้เลี้ยงเฟินชนิดต่างๆ ได้ดี และดีตลอดไป

หากเพื่อนคนไหน มีข้อมูลที่เกี่ยวกับเฟิน หรือถาพสวยๆ ที่อยากแบ่งปัน ไม่จำเป็นต้องเป็นเฟินแปลกหายาก แม้แต่เฟินธรรมดา ก็จะเป็นประโยชน์สำหรับคนรักเฟินทุกระดับ ตั้งแต่เริ่มต้น ถึงระดับมือ Prof. ส่งไปให้ได้เลยครับ ทางเรายินดีเป็นอย่างยิ่ง

fernSiam.com : หน้าแรก > โลกของเฟิน > Classification > Taxonomy > Gallery